ไมตรี เจ้าของผลงานคลิปตกปลาโดยไม่ใช้เบ็ดของชาวลาหู่ ที่มียอดคนดูกว่า 6 ล้าน กับเส้นทางการสื่อสารเรื่องราวของชาติพันธุ์จนเป็นคดีความถูกฟ้อง ฐานความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ซึ่งล่าสุดศาลนัดตัดสินคดี 8 มี.ค. 2559
ไมตรี เจริญสุขสกุล หนุ่มวัย 32 ปี จากบ้านกองผักปิง ต.เมืองนะ อ.เชียงดาว จ.เชียงใหม่ พยายามสื่อสารเรื่องราวของชุมชนของเขา ผ่านการทำสื่อหลากหลายรูปแบบ ร่วมถึงการสื่อสารผ่านช่องทางไทยพีบีเอสด้วย ซึ่งผลงานของไมตรีที่ได้รับความนิยมสูงเป็นอันดับต้นๆ ของไทยพีบีเอส คือ ‘คลิปตกปลาของชาวลาหู่’ ที่มีคนดูกว่า 6 ล้านครั้ง https://www.youtube.com/watch?v=8BhOkke6_kQ
นอกจากนี้ เขายังเป็นผู้นำที่รวบรวมเยาวชนในหมู่บ้านกองผักปิ้งที่เสี่ยงต่อการข้องแวะกับยาเสพติด มารวมกันเป็น ‘กลุ่มเยาวชนรักษ์ลาหู่’ เมื่อปี พ.ศ. 2544 โดยเน้นการทำกิจกรรมเชิงศิลปวัฒนธรรม เช่น เล่นดนตรี ฟ้อนรำ รำดาบ ฝึกกังฟูลาหู่ และทำภาพยนตร์
ทีมข่าวพลเมืองภาคเหนือได้มีโอกาสพูดคุยกับ ไมตรี นักข่าวพลเมืองจากบ้านกองผักปิง ต.เมืองนะ อ.เชียงดาว จ.เชียงใหม่ เพื่อทำความรู้จักกับเขาให้มากขึ้น
“ใหม่ๆ เราก็ตื่นเต้น ว่าสิ่งที่เป็นวิถีชีวิตปกติของชาวลาหู่ ซึ่งชาวลาหู่มองว่าเป็นเรื่องปกติแต่ว่าอีกหลายคนมองว่านี่คือเรื่องพิเศษ เป็นเรื่องที่น่าดู ซึ่งในวิถีชีวิตของชนเผ่า มันมีความมหัศจรรย์แบบนี้ มีสิ่งดีงามแบบนี้เยอะมากที่ไม่ได้ถูกเผยแพร่ออกมา ซึ่งเรื่องมันมีอยู่แล้ว แต่ช่องทางในการเผยแพร่ของชนเผ่าอาจจะน้อยอยู่” ไมตรีบอกเล่าความรู้สึกของเขาต่อกระแสตอบรับจาก ‘คลิปตกปลาของชาวลาหู่’
ด้วยเรื่องราวของชาติพันธุ์นั้นมีความน่าสนใจมากมายและไมตรีเห็นความสำคัญนี้ ทำให้เขาสื่อสารเรื่องราวของพี่น้องชาติพันธุ์ลาหู่ จากพื้นที่บ้านกองผักปิงอย่างต่อเนื่อง และเขายังได้รับความไว้ใจจากคนในพื้นที่ให้คอยสื่อสารเรื่องราว เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในชุมชน โดยใช้พื้นที่การสื่อสารที่เขามีและทำได้อย่างง่ายๆ อย่าง เฟซบุ๊ก นั่นจึงนำมาซึ่งคดีความที่เขาต้องตกเป็นจำเลย
เมื่อวันที่ 2 – 4 ก.พ. 2559 ศาลจังหวัดเชียงใหม่นัดสืบพยานโจทก์และจำเลย คดีทหารที่ฐานบ้านอรุโณทัยกล่าวหาไมตรีในข้อหาความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 หลังเขาโพสต์เฟซบุ๊กเผยแพร่คลิปชาวบ้านโต้เถียงกับทหารว่ามีเหตุการณ์ทำร้ายชาวบ้าน โดยคดีนี้ศาลจังหวัดเชียงใหม่นัดฟังคำพิพากษาในวันที่ 8 มี.ค. 2559
เมื่อถามว่าการสื่อสารสำคัญอย่างไร ไมตรี ตอบว่าจริงๆ แล้ว สื่อสำหรับแต่ละพื้นที่นั้นให้ความหมายต่างกัน แต่สำหรับเขาแล้ว ที่บ้านกองผักปิง สื่อเป็นกระบอกเสียงให้กับชาวบ้าน เป็นกระบอกเสียงให้กับคนในชุมชน เวลาที่มีเหตุการณ์หลายๆ อย่างเกิดขึ้นในชุมชน ที่คนในสังคมต้องรู้ แต่ว่าไม่มีใครสื่อสารออกไป ซึ่งเขาลองทำตรงจุดนี้
“จริงๆ แล้ว ผมก็มีหน้าที่แค่ เหมือนเครื่องขยายเสียง ที่ค่อยขยายเสียงเอาเสียงของชาวบ้านออกมาเท่านั้น สิ่งที่ชาวบ้านพูด ผมแค่เอามามาสื่อสารให้ไปไกลกว่าปกติที่ทำเท่าที่ผมทำได้ อันนี้คือหน้าที่ของสื่อในมุมมองของผมที่ทำในชุมชน” ไมตรี กล่าว
ส่วนที่เป็นคดีความ ไมตรี เล่าว่า เขาได้เอาคลิปของเหตุการณ์วันที่เจรจากันระหว่างเจ้าหนี้ซึ่งเป็นคนในเครื่องแบบกับชาวบ้านที่บ้านกองผักปิง จึงทำให้ถูกฟ้องว่า “เขาพูดเท็จ” คือเอาเรื่องที่ไม่จริงไม่โพสต์ลงเฟซบุ๊ก ซึ่งเขาเองก็พยายามไม่อยากให้เป็นคดี โดยเบื้องต้นเขาพยายามไปปรึกษาหน่วยงานต่างๆ ที่คิดว่าจะสามารถให้ความช่วยเหลือได้ เพื่อที่จะไม่ให้เกิดเป็นคดีความ แต่ว่าสุดท้ายมันก็เป็นคดีความ ก็คือต้องสู้ตามกระบวนการยุติธรรม
ต่อคำถามเรื่องความกังวล ไมตรีบอกว่า จริงๆ ในพื้นที่ก็มีเพื่อน ไม่ได้โดดเดี่ยว มีเพื่อนแวะมาเยี่ยมและให้กำลังใจอยู่ตลอด ทำให้มีกำลังใจ
“ก่อนหน้าที่บอกว่าจะถูกฟ้อง เราก็กังวลมาก เพราะว่าสิ่งที่เราก็ทำ ก็แค่อยากจะเรียกร้องในสิ่งที่ชาวบ้านต้องการ ให้คนที่ทำผิดมารับผิดชอบด้วยการขอโทษกับผู้ใหญ่ของหมู่บ้านนั้นเอง แต่ว่าเรื่องมันก็บานปลายมาถึงขั้นการถูกฟ้อง” ไมตรีกล่าว
อย่างไรก็ตาม เขายังยืนยันที่จะทำสื่อเพื่อสื่อสารเรื่องราวต่อสังคมต่อไป
“เรื่องสื่อ ผมคิดว่าอย่างไรก็ทำ ถึงแม้จะโดนฟ้อง หรือไม่โดนฟ้อง เรื่องสื่อมันควรจะมีก็ต้องทำต่อ ไม่ใช่แค่ชุมชนกองผักปิ้งบ้านผม มันมีหลายที่ที่เหตุการณ์ ต่างๆ เกิดขึ้นมากมาย ทั้งเรื่องดีและไม่ดี สื่อก็ต้องทำหน้าที่ของสื่อด้วย เพื่อสื่อออกไปให้คนอื่นได้รับรู้ เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงกับสิ่งที่เกิดขึ้น” ไมตรีทิ้งท้าย