“แม่น้ำโขง แม่น้ำใคร ?” คนน้ำโขงตั้งคำถามอำนาจเขื่อนจีน

“แม่น้ำโขง แม่น้ำใคร ?” คนน้ำโขงตั้งคำถามอำนาจเขื่อนจีน

ท่ามกลางภาวะภัยแล้ง การปล่อยน้ำจากเขื่อนแม่น้ำโขงของจีน ถูกกล่าวถึงในฐานะ “ความเอื้อเฟื้อ” เพื่อบรรเทาภัยแล้งให้กับประเทศเพื่อนบ้าน แต่ในขณะเดียวกันประชาชนริมฝั่งแม่น้ำโขง ต่างได้สะท้อนผลกระทบจากระดับน้ำที่เพิ่มขึ้น และลดลงอย่างผิดธรรมชาติ จึงนำมาสู่การตั้งคำถามต่อการควบคุมน้ำโขงของจีน ที่อาจเปรียบกับการมี “ก๊อกน้ำ” เปิด-ปิดได้ตามต้องการ แต่ทว่าสำหรับประเทศเพื่อนบ้าน แท้จริงแล้ว “แม่น้ำโขง แม่น้ำของใคร?  น้ำโขงจากจีน น้ำโขงของใคร ?”

เรื่อง: รัฐโรจน์ จิตรพนา
ภาพ: อวยพร คำมี

23 มี.ค. 2559 ตัวแทนเครือข่ายประชาชนไทย 8 จังหวัดลุ่มน้ำโขง ประกอบด้วย มนตรี จันทวงศ์ เจ้าหน้าที่โครงการฟื้นฟูนิเวศในภูมิภาคแม่น้ำโขง พร้อมด้วย อ้อมบุญ ทิพย์สุนา ตัวแทนสภาองค์กรชุมชนตำบลลุ่มแม่น้ำโขง 7 จังหวัดภาคอีสาน และจิรศักดิ์ อินทยศ ตัวแทนประชาชนกลุ่มรักษ์เชียงของ จ.เชียงราย นำเสนอสถานการณ์เขื่อนบนแม่น้ำโขง และกระแสแปรปรวนจากเขื่อนในจีนที่ส่งผลกระทบต่อประชาชน ทั้ง 8 จังหวัดของประเทศไทย ณ อาคารมูลนิธิอาสาสมัครเพื่อสังคม โดยมีสื่อมวลชน และผู้สนใจเข้าร่วมรับฟังการแถลงข่าว

20162403112543.jpg

มนตรี จันทวงศ์ เจ้าหน้าที่โครงการฟื้นฟูนิเวศในภูมิภาคแม่น้ำโขง ได้ชี้ถึงความแตกต่างของระดับน้ำที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างเห็นได้ชัด จากข้อมูลกราฟเปรียบเทียบระดับน้ำโขงที่สถานีวัดระดับน้ำเชียงแสน จ.เชียงราย ซึ่งค่าเฉลี่ยระดับน้ำระหว่างปี 2526-2535 มีการขึ้นลงตามธรรมชาติ (เส้นหนาสีเขียว) แต่เมื่อประเทศจีนมีการก่อสร้างเขื่อนม่านวาน ในปี 2536 และต่อด้วยการสร้างเขื่อนเรื่อยมาจนปัจจุบันมีจำนวน 6 เขื่อน ซึ่งรวมมีความจุน้ำทั้งสิ้น 41,204 ล้านลูกบาศก์เมตร ส่งกระทบต่อระดับน้ำโขง จนกระทั่งกราฟแสดงระดับน้ำล่าสุดในปี 2559 การขึ้นลงของน้ำเปลี่ยนแปลงไปอย่างเห็นได้ชัด (เส้นหนาสีแดง)
 
“น้ำโขงที่ไหลมาจากประเทศจีน ไหลผ่านสถานีวัดน้ำที่เชียงแสน คิดเป็นปริมาณ 95%  อีก 5 % คือมาจากลาวและพม่า เพราะฉะนั้นสถิติต่าง ๆ ที่เชียงแสนไม่ว่าจะเป็นปริมาณตะกอน หรือระดับน้ำ สะท้อนว่าอะไรเกิดขึ้นที่ต้นน้ำ จีนปล่อยน้ำหรือกักน้ำไว้เท่าไร สถิติที่เชียงแสนจะเป็นตัวบอกที่สำคัญ” มนตรี กล่าว

20162403112716.jpg

ในขณะเดียวกันความแปรปรวนของระดับน้ำโขงที่ไม่เป็นไปตามธรรมชาติ ส่งผลกระทบต่อ ประชาชนในพื้นที่ลุ่มน้ำโขง โดยมีคำที่พูดติดปากเสมอว่า “น้ำขึ้น 5 วัน แห้ง 4 วัน” แสดงถึงการขึ้นลงของระดับน้ำที่ขัดต่อฤดูกาลทำเกษตรกรรม การประมง และการท่องเที่ยวที่เคยเป็นมา 

ทั้งปรากฏการณ์ “น้ำท่วม” แปลงผักในฤดูแล้ง ไปจนถึง “ปลาหลงฤดู” อาจเป็นตัวอย่างหนึ่งที่สะท้อนผลกระทบจากความไม่แน่นอนของระดับน้ำโขง ส่งผลให้ปลาไม่สามารถผสมพันธุ์และวางไข่ได้ ซึ่งชาวประมงที่ อ.โพธิ์ไทร จ.อุบลราชธานี ยืนยันว่าระดับน้ำโขงที่ลดลงเพียง 10-20 เซนติเมตรในรอบสัปดาห์ ก็ส่งผลต่อปริมาณปลาที่จับได้ลดลง กระทบโดยตรงต่อรายได้จากการจับปลา 

นอกจากนี้ หาดทรายจากการลดระดับของแม่น้ำโขงตามฤดูกาลปกติ ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน และธันวาคม ไปจนถึงก่อนช่วงฤดูฝน ยังเป็นส่วนหนึ่งที่สร้างรายได้จากการท่องเที่ยวให้กับคนริมน้ำโขงทางภาคอีสานอีกด้วย 

อ้อมบุญ ทิพย์สุนา ตัวแทนสภาองค์กรชุมชนตำบลลุ่มแม่น้ำโขง 7 จังหวัดภาคอีสาน ได้สะท้อนว่า การแปรปรวนของระดับน้ำโขงกระทบต่อผู้ประกอบการร้านค้า โดยปกติในช่วงหน้าแล้ง จากการที่น้ำที่ค่อย ๆ ลดระดับลง การขายของริมหาดให้กับนักท่องเที่ยวคือรายได้ของคนริมโขง แต่พอปริมาณน้ำมามากกว่าปกติ ทำให้น้ำท่วมหาด หรือระดับน้ำขึ้น-ลงไม่เป็นไปโดยธรรมชาติ จึงเสียรายได้จากจุดนี้ไป  

“พี่น้องอีสานก็ไม่ได้ยอมรับกับชะตากรรมนี้หรอก ก็พยายามหาทางตั้งรับปรับตัวอยู่ อย่างพี่น้องหาดทรายสูง บ้านลาดเจริญ ต.นาแวง อ.เขมราฐ จ.อุบลราชธานี (พื้นที่เชื่อมต่อกับ จ.อำนาจเจริญ) ก็ได้พากันลงทุนทำซุ้ม ทำเรือนแพเพื่อให้สามารถขึ้นลงได้ตามระดับน้ำเวลานักท่องเที่ยวไปเที่ยว แต่มันใช้เงินลงทุนสูงมาก เกือบ 50,000 บาทต่อแพ 15 แพ ลงทุนกว่า 500,000 บาท มันคุ้มค่าไหม แล้วเวลานักท่องเที่ยวน้อยลง หรือใช้ไม่คุ้ม การลงทุนที่มากขึ้นนี้ก็ถูกผลักภาระให้ลูกค้า ให้นักท่องเที่ยวที่ไปเที่ยว ความรับผิดชอบตรงนี้ใครจะเป็นรับผิดชอบต่อพี่น้องที่ทำมาค้าขาย” อ้อมบุญ กล่าว

20162403112813.jpg

แม้จะเป็นผลกระทบในระดับประชาชนที่เป็นผู้ประกอบการ หรือเกษตรกรรายเล็ก แต่ต้องยอมรับว่าแม่น้ำโขง คือส่วนหนึ่งของวิถีชีวิตผู้คนกว่า 8 จังหวัดในประเทศไทย “การผูกขาดอำนาจเบ็ดเสร็จ” ในการจัดการแม่น้ำโขง ภายใต้แผนการก่อสร้างเขื่อนที่กำลังจะมีเพิ่มขึ้นอีกกว่า 12 เขื่อนในอนาคต จึงเป็นข้อกังวลของเครือข่ายประชาชนไทย 8 จังหวัดลุ่มน้ำโขง 

ปัญหาข้ามพรมแดนจากการผลิตไฟฟ้า และระบายน้ำเพื่อการเดินเรือของจีน ที่ส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศ และการใช้แม่น้ำโขงของชุมชนในประเทศท้ายน้ำ จึงนำมาสู่การออกแถลงการณ์เรียกร้องผู้นำ 6 ประเทศลุ่มน้ำโขง ให้ฟังเสียงประชาชน ซึ่งได้รับผลกระทบจากการระดับน้ำโขงที่แปรปรวนตามการปล่อยน้ำ หรือกักเก็บน้ำของเขื่อนในประเทศจีน (คลิกอ่านแถลงการณ์ฉบับเต็ม)

20162403220942.jpg

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ