งานถอดบทเรียนของสำนักข่าวชาวบ้าน จากประสบการณ์นักวิชาการลูกชาวนา “ประภาส ปิ่นตบแต่ง” นักข่าวพลเมืองรุ่นบุกเบิกของประเทศไทย เมื่อปี 2551
ที่มา – สารตั้งต้น ฉบับที่ 1 : ตุลาคม 2551
“มอง” ลูกชาวนา นักข่าวพลเมืองคลองโยง จ.นครปฐม
ชาวนาไทยไม่ได้สูญหายเพราะลูกหลานไปขายแรง งานเท่านั้น “กรรมสิทธิ์ที่ดิน” ก็เป็นเหตุสำคัญให้ละทิ้งถิ่นและอาชีพ ที่ ต.คลองโยง จ.นครปฐม นากว่าพันแปดร้อยไร่ ชาวบ้านส่วนใหญ่เป็นชาวนาดั้งเดิม เข้าใจมาตลอดว่าเป็นกรรมสิทธิ์ของสหกรณ์เช่านา ต.คลองโยง จึงผ่อนจ่ายค่าเช่าซื้อต่อเนื่องนานหลายสิบปี โดยหวังว่าวันหนึ่งจะกลายเป็นที่นาของตนเอง จู่ๆ ผืนนาดังกล่าวก็กลายเป็นที่ดินราชพัสดุ ภายใต้การดูแลของกรมธนารักษ์ เมื่อรัฐบาลสมัคร สุนทรเวช มีมติครม.สั่งให้สหกรณ์คืนที่ดินมาสู่การดูแลของกรมธนารักษ์ ตามนโยบายขอคืนที่ดินราชพัสดุ 1 ล้านไร่ เพื่อนำมาให้เกษตรกรเช่าทำการเกษตรของนพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี เจ้ากระทรวงการคลัง อันสืบเนื่องมาจากโครงการรัฐช่วยราษฎร์แก้ปัญหาความยากจน ที่มีรากการเวนคืนที่ดินทั่วประเทศมาตั้งแต่สมัยรัฐบาลทักษิณ ชินวัตร
กระทั่งกรมฯ เข้ามารังวัดและปรับค่าเช่าที่ดินใหม่ราคาสูงกว่าเดิมหลายเท่า ทำให้ชาวบ้าน ชุมชน ต้องหันหน้าปรึกษาหารือเพื่อบรรเทาความเดือดร้อน ไม่เพียงเพราะพวกเขาต้องจ่ายค่าเช่าแพงขึ้นเท่านั้น หากยังกังวลว่าวิถีเกษตรกรรมของพวกเขาจะล่มสลาย และท้ายที่สุดอาจต้องทิ้งถิ่นฐาน ด้วยรายได้ไม่พอกับรายจ่ายใหม่ที่เกิดขึ้น
การต่อสู้ของพวกเขา…ชาวนา ต.คลองโยง อ.พุทธมณฑล จ.นครปฐม จึงไม่ใช่เพื่อให้ได้มาซึ่งกรรมสิทธิ์บนที่ดิน แต่เป็นการสู้เพื่อให้มีที่ยืนอยู่ได้ในสังคมเกษตรกรรมใกล้เมือง
“ประภาส ปิ่นตบแต่ง” ในฐานะลูกชาวนาคลองโยงคนหนึ่ง ได้เล่าเรื่องราวเหล่านี้ผ่านข่าวพลเมืองจำนวนหลายตอน โดยให้ข้อมูลว่า ประเทศไทยมีที่ดินราชพัสดุทั่วประเทศราว 13 ล้านไร่ บางส่วนเป็นพื้นที่ทำงานของหน่วยงานราชการ บางส่วนให้ชาวบ้านเช่าทำการเกษตรและอยู่อาศัย โดยกรมธนารักษ์มีอำนาจหน้าที่ในการดูแลเก็บเกี่ยวผลประโยชน์ เดิมที่ดินใน ต.คลองโยง เป็นของขุนนางและเชื้อพระวงศ์ ทว่าเจตจำนงของเจ้าของที่ดินต้องการให้ชาวบ้านเช่าซื้อผ่านสหกรณ์ เพื่อว่าวันหนึ่งชาวบ้านจะได้มีที่ทำกินเป็นของตนเอง แต่เมื่อนโยบายรัฐเข้ามาพัฒนาโดยไม่เข้าใจที่มาที่ไปของท้องถิ่นและวิถีของ สังคมเกษตรกรรม ทำให้เกษตรกรราว 200 ครอบครัว ที่มีสมาชิกรวมกันกว่า 1 พันคน ถูกแขวนชีวิตไว้บนความไม่แน่นอนในสิทธิการเช่าที่ดินที่เคยทำกินมาตั้งแต่ บรรพบุรุษ
“ความเป็นอยู่ที่สงบสุขมาตลอดทำให้ชาวบ้าน ที่ไม่เคยคิดว่าจะต้องใช้สิทธิในการต่อรองกับหน่วยงานรัฐ ต้องลุกคนมาทำอะไรบางอย่าง และปัญหาที่เกิดขึ้นก็ทำให้ชาวบ้านเรียนรู้ เริ่มต้นจากการรวมตัวกันเข้าพบผู้ว่าฯ นครปฐม ซึ่งในวันนั้น มีลูกหลานในชุมชนทำหน้าที่นักข่าวพลเมืองส่งข่าวมาที่ทีวีไทย” ประภาส เล่ากระบวนการเคลื่อนไหว เคล้าเสียงหัวเราะ
“หลังจากนั้น ชาวบ้านก็มีความมั่นใจในการเคลื่อนไหวมากขึ้น ได้เข้าพบคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ในที่สุดกลไกการเจรจากับกรมธนารักษ์ก็เกิดขึ้น และนำไปสู่ขั้นตอนการตรวจสอบหลักฐาน เอกสารเกี่ยวกับการเช่าซื้อที่ดิน ขณะนี้กรมธนารักษ์ได้ชะลอการเก็บค่าเช่าที่ดินในอัตราใหม่ จนกว่าการพิจารณาอัตราค่าเช่าและสัญญาการเช่าที่ดินที่สอดคล้องกับความเป็น อยู่ของชาวบ้านจะแล้วเสร็จ เพราะเอกสารหลักฐาน ประวัติการตั้งถิ่นฐานของชาวคลองโยง ชี้ชัดว่าชาวบ้านอยู่ที่นี่มานาน ไม่ใช่เพิ่งเข้ามาอยู่ ชาวบ้านจึงค่อนข้างมั่นใจว่า จะสามารถกลับไปสู่ระบบการเช่าที่จากสหกรณ์เช่านาเช่นเดิมได้”
ส่วนที่มาของข่าวพลเมืองนั้น “ตอนเริ่มต่อสู้เรื่องนี้ ผมยังไม่รู้จักพื้นที่นักข่าวพลเมืองของทีวีไทย ทีวีสาธารณะ ไม่รู้ว่านักข่าวพลเมืองคืออะไร ความที่เคยดูทีวีเห็นชาวบ้านบางสะพาน จ.ประจวบคีรีขันธ์ เสนอเรื่องราวเกี่ยวกับปลาทูทั้งๆ ที่กำลังมีปัญหาต่อสู้กับโรงถลุงเหล็กสหวิริยา รู้สึกเข้าท่าดี ก็ถามน้องที่มาช่วยงานว่า รู้จักใครที่อยู่ข่าวพลเมืองไหม เพราะตัวเองรู้สึกเดือดร้อนมีปัญหา ปรากฏว่าเจอเปี๊ยก (สมเกียรติ จันทรสีมา บรรณาธิการโต๊ะข่าวพลเมือง) เฮ้ย ผมรู้จักเปี๊ยกนี่หว่า ก็เลยมานั่งคุยกัน แล้วทีมเขาก็ลงพื้นที่ มาสอนถ่ายวีดีโอ มาคุยเรื่องวิธีคิดกันอยู่นาน แล้วทิ้งกล้องวีดีโอไว้ให้ชาวบ้านใช้ด้วยตัวหนึ่ง”
“ประเด็นคือ ชาวบ้านมีปัญหาแล้วไม่มีช่องทาง ถ้าเราไปเจอเจ้าหน้าที่หรือนักการเมือง เขาไม่สนใจเราหรอก ประเด็นของเราถ้าเทียบเคียงกับสมัชชาคนจน คือเราต้องเดินขบวนถึงจะมีพื้นที่สื่อสารกับสังคม แต่ตอนนี้ดูเหมือนเรามีช่องที่จะสื่อออกไปให้คนอื่นได้เข้าใจ ได้รับรู้ปัญหา เพื่อจะได้สื่อสารไปถึงผู้ที่มีอำนาจตัดสินใจแก้ปัญหาได้โดยตรง”
เมื่อถอดประสบการณ์การทำข่าวของตัวเอง “ทำอย่างไรเพื่อที่จะสื่อสารกับคนได้อย่างมีพลัง?”
“คิดว่าเรื่องนั้นๆ ต้องไม่เป็นเรื่องเฉพาะที่ ไม่ใช่เรื่องประชาสัมพันธ์ การคิดประเด็นข่าวก็คิดจากว่าปัญหาชาวบ้านคืออะไร แล้วจะสื่อไปอย่างไรให้สังคมรู้ว่าเป็นปัญหาที่สาธารณะต้องฟัง”
“ผมคิดจากประเด็นปัญหาที่ดิน ที่ดินราชพัสดุเป็นเรื่องใหญ่ ตั้งแต่สมัยรัฐบาลทักษิณ พอต้องคิดประเด็นเพื่อให้เป็นข่าวได้ ก็ควรต้องแตะกับปัญหา จะเรียกว่าในระดับโครงสร้างหรือระดับนโยบายก็ตาม ต้องไม่ใช่ปัญหาเฉพาะตัวเรา และสังคม รัฐบาล คนที่มีอำนาจตัดสินใจต้องมาสนใจ นี่คือในเชิงเนื้อหา ยิ่งถ้าจะให้งานมีพลังด้วย ผมคิดว่าเรื่องนั้นต้องแตะกับเรื่องที่เป็นสาธารณะ สะท้อนผู้คนที่เกี่ยวข้องในเชิงของการแก้ปัญหา เสนอทางออกร่วมกัน คนที่มีอำนาจต้องมานั่งฟัง ต้องมานั่งดูด้วย”
ดังนั้น เรื่องราวของชาวคลองโยงจึงไม่ได้เป็นแค่เฉพาะเรื่องในคลองโยงอีกต่อไป ผู้ที่เกี่ยวข้องกับการแก้ปัญหาจึงหันมารับฟังชาวบ้านมากขึ้น
“ก่อนหน้านั้น เวลาเราไปเจรจากับเจ้าหน้าที่ระดับจังหวัด อำเภออะไรพวกนี้ แม้ว่าผมจะเป็นอาจารย์จุฬาฯ มันก็เพียงแต่ทำให้ผมไปเจอพวกเขาได้เท่านั้นเอง เพื่อนผมเป็นรองผู้ว่าฯ ที่จังหวัดอื่นโทรนัดให้ แต่ว่าเมื่อไปเจรจา ไม่เคยมีใครฟังเราจริงๆ เลย เขาก็ฟังแล้วเขาก็ด่าเราด้วยว่า คุณมีผลประโยชน์อะไรหรือเปล่า ฉะนั้นถ้าข้อมูล ข้อเท็จจริงไม่ได้ถูกเล่าออกไปสู่พื้นที่สาธารณะ ไอ้การรู้จักกับคนโน้นคนนี้มันไม่ได้ช่วยสักเท่าไหร่ แต่หลังจากที่ข่าวโดยนักข่าวพลเมืองออกไป 2-3 ตอน เสียงเขาเปลี่ยนไปเยอะเลย เหมือนว่าเรามีตัวตน มีพื้นที่ แล้วพอเราเสนอข่าวไป 6 ตอน หัวหน้าพัสดุก็บอกว่า ข้อร้องเถอะ อย่าออกอีกเลย ดูแล้วปวดหัวจริงๆ (หัวเราะ)”
เช่นนี้จึงกล่าวได้ว่า ข่าวพลเมืองได้เปิดพื้นที่สาธารณะให้ชาวบ้าน และทำให้ผู้มีอำนาจทั้งหลาย “ฟัง” เสียงคนตัวเล็กตัวน้อยมากขึ้น.