‘ชาวนาชุมชนบ่อแก้ว’ จากผู้สูญเสียที่ดินทำกิน สู่ความร่วมแรงบนคราบเหงื่อไคล

‘ชาวนาชุมชนบ่อแก้ว’ จากผู้สูญเสียที่ดินทำกิน สู่ความร่วมแรงบนคราบเหงื่อไคล

20152711035512.jpg

เรื่อง/ภาพ: ศรายุทธ ฤทธิพิณ
สำนักข่าวปฏิรูปที่ดินภาคอีสาน

กลิ่นหอมๆ ที่ส่งกลิ่นกระจายฟุ้งไปทั่วผืนท้องนาของรวงข้าวสีทองที่สุกงอมชูยอดพลิ้วเอนไหวไปตามแรงลมยามต้องลมหนาวที่กำลังโชยเข้ามาเตะต้องกายอย่างเย็นเฉียบในช่วงระหว่างเดือนพฤศจิกายน เป็นการส่งสัญญาณว่าเข้าสู่ฤดูกาลของชาวนาในหลายพื้นที่ที่ต่างให้ความสนใจกับการร่วมลงแรงเกี่ยวข้าว

นอกจากเป็นช่วงวิถีชีวิตของชาวนาที่เริ่มเก็บเกี่ยวเพื่อให้ได้มาซึ่งเมล็ดข้าวงาม สาเหตุอีกอย่างคือ ด้วยเกรงว่าแรงลมจะกระชากเมล็ดข้าวร่วงหล่น หรือทำให้ต้นข้าวล้ม อีกทั้งต้องเฝ้าระวังหนูนา และฝูงนกที่คอยจ้องโฉบบินลงมาจิกกินเมล็ดข้าว ทำให้ชาวนาต้องเร่งเก็บเกี่ยว เช่นเดียวกับชุมชนบ่อแก้ว ต.ทุ่งพระ อ.คอนสาร จ.ชัยภูมิ นอกจากดำเนินวิถีชีวิตทำแปลงรวมเกษตรอินทรีย์ ช่วงฤดูเก็บเกี่ยว พวกเขายังได้ร่วมลงแรงเกี่ยวข้าวซึ่งเป็นแปลงของสมาชิกชุมชน เพื่อผลิตผลจากเมล็ดข้าวมาหล่อเลี้ยงชีวิตครอบครัว

วิชชุนัย ศิลาศรี  ชาวบ้านชุมชนบ่อแก้ว เล่าให้ฟังถึงเรื่องที่ดินว่า แม่บอกว่าเมื่อก่อนมีที่ดินทำนาข้าวอยู่ในบริเวณที่ถูกยึดที่ไปปลูกสวนป่ายูคาฯ ทางฝั่งตะวันออกที่เป็นชุมชนบ่อแก้วในปัจจุบัน โดยได้รับรู้ว่าช่วงนั้นเจ้าหน้าที่พยายามเข้ามาไล่ออกหลายครั้ง ทั้งข่มขู่ และถูกคุกคาม หลายคนทำได้เพียงได้แต่นั่งมองเขียงนาที่ถูกเผาทิ้งไปทีละหลังๆ เพราะทำอะไรพวกเขาไม่ได้ ส่วนคนที่ถูกมองว่าเป็นพวกดื้อและหัวแข็งมากๆ ก็ถูกลอบวางยาเบื่อควายตายลงไป เมื่อถูกเบียดเบียนหนักมากๆ ทำให้แม่จำต้องออกจากที่ไร่ที่นาให้พวกเขายึดไป หลังจากนั้นก็ไปอาศัยอยู่กับญาติพี่น้อง ที่อยู่ในตำบลทุ่งพระ ไปพลางๆ ก่อน

วิชชุนัย บอกอีกว่า ขณะนั้นตนเองเริ่มเข้าสู่ช่วงวัยที่เติบโตขึ้นมาในอีกระดับหนึ่ง ก็ได้ร่วมต่อสู้กับชาวบ้านพี่น้องที่เดือดร้อนเพื่อทวงสิทธิในที่ดินทำกินมาโดยตลอด กระทั่งสามารถกลับเข้าไปยึดที่ดินกลับคืนมาได้ จากพื้นดินที่เต็มไปด้วยสวนป่ายูคาฯ ได้ร่วมกันพลิกฟื้นผืนดินและบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมให้เกิดความสมบูรณ์ขึ้นมาอีกครั้ง ด้วยวิถีการผลิตในรูปแบบแปลงรวมเกษตรอินทรีย์ 

ส่วนที่นาที่ถูกยึดไปนั้น พอมีเงินเก็บได้บ้าง แม่ก็ร่วมลงทุนกับพี่สาวของแม่ (ยาย) เพื่อนำเงินมาซื้อที่ดินมาทำนาข้าวเพิ่ม และวิธีการปลูกข้าวก็ใช้ในรูปแบบเกษตรอินทรีย์ที่ยึดหลักในเรื่องสุขภาพที่ปลอดสารเคมี รวมทั้งเป็นการรักษาทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม ที่ชุมชนถือปฏิบัติกันมาโดยตลอด

“สมาชิกของพวกเราล้วนไม่มีที่ดินในการทำนาข้าว ส่วนผืนดินที่ยึดมาได้นั้นเพียง 80 กว่าไร่ ไม่เพียงพอสำหรับผู้เดือดร้อนที่มีมากกว่า 200 ครอบครัว ที่สำคัญพื้นที่นำร่องโฉนดชุมชนกว่า 1.500 ไร่ ที่พวกเราร่วมกันผลักดันมาแต่ช่วงปี 2553 ก็ยังไม่มีความชัดเจน และจากที่เห็นพี่ๆน้องๆในชุมชนของเรา ที่ออกไปหารับจ้างที่อื่น พอเข้าสู่ฤดูเก็บเกี่ยว ก็จะได้มาร่วมลงแรงเกี่ยวข้าว ซึ่งผืนนาข้าวนี้ถือว่าเป็นที่นาของสมาชิกชุมชน เพราะพวกเรามาช่วยกันไม่ได้หวังเงินค่าจ้าง แต่ตอบแทนกันด้วยการแบ่งให้คนที่มาช่วยกันนำข้าวไปหล่อเลี้ยงชีวิตครอบครัว อีกทั้งเราไม่ได้หวังผลจากการขายข้าว แต่หากเหลือพอที่จะขาย ก็จะขายให้แก่เฉพาะในพื้นที่นั้น ถือเป็นการช่วยเหลือกัน” วิชชุนัย เล่าทิ้งท้าย 

ทั้งนี้ชุมชนบ่อแก้ว เป็นอีกพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบ ภายหลังได้รับสัมปทานปลูกสวนป่ายูคาลิปตัส ในปี 2521 ส่งผลให้หลายร้อยครอบครัวถูกอพยพออกจากที่ดินทำกิน กระทั่งในวันที่ 17 ก.ค.52 ผู้เดือดร้อนร่วมบุกเข้ายึดผืนดินทำกินกลับคืนมาได้ พร้อมจัดตั้งชุมชนบ่อแก้วขึ้นมาอย่างมีระบบแบบแผน ร่วมกันพลิกฟื้นทั้งชีวิตและผืนดินให้เกิดความสมบูรณ์และเพื่อให้เกิดความปกติสุขในการดำเนินชีวิตของคนในชุมชนมาอย่างต่อเนื่อง

กระทั่งหลังมีนโยบายทวงคืนผืนป่า คำสั่ง คสช.ที่ 64/2557 และแผนแม่บทป่าไม้ฯ ทำให้ชาวชุมชนต้องเดินทางไปยื่นหนังสือเพื่อชี้แจงข้อเท็จจริงว่าบนพื้นที่พิพาทอยู่ในช่วงระหว่างการแก้ไขปัญหา รวมทั้งได้เข้าร่วมประชุมเพื่อยื่นข้อเสนอต่อรัฐบาลเพื่อหาทางออกร่วมกัน ช่วงระหว่างที่รอการดำเนินการแก้ไขอยู่นั้น ชุมชนบ่อแก้วได้มีการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในชุมชนที่มีอยู่อย่างจำกัดให้เกิดประโยชน์และมีคุณค่าต่อทั้งชีวิตและผืนดินให้ได้มากที่สุด โดยเฉพาะที่ดินทำกิน

สายตา ศรีสวัสดิ์ ชาวบ้านบ่อแก้ว บอกว่า มาร่วมลงแรงเกี่ยวข้าว ทุกขั้นตอนของการปลูกข้าวสมาชิกของเราต่างมาร่วมแรงกัน ตั้งแต่ ไถนา หว่านเมล็ด ดำนา ตลอดจนถึงฤดูกาลเก็บเกี่ยว แม้ข้าวแต่ละเม็ดกว่าจะได้มานั้น ล้วนเต็มไปด้วยหยาดเหงื่อจากการทำงานที่หนัก ทั้งเหนื่อย หลังก้มๆ เงยๆ สู้อยู่กับกลางแดดที่เผาผลาญผิวกายให้ดำเกรียมอยู่ทุกช่วงขณะ แต่ใครจะรู้ลึกถึงจิตวิญญาณชาวนาบ้างว่า หากพวกเราไม่ทำนา แล้วจะเอาข้าวที่ไหน 

คุณค่าและประโยชน์ของข้าว มีค่ามากมายมหาศาล หล่อเลี้ยงชีวิตทุกคนให้เติบวัยมาถึงทุกวันนี้ แต่ขณะเดียวกันภายหลังถูกยึดที่ดินทำกินไปปลูกสร้างสวนป่ายูคาฯ ผืนนาที่เคยทำกิน กลับมาถูกแย่ง กลายเป็นคนไร้ที่ดินทำกิน ทำให้หลายครอบครัวไม่มีที่ดินเพียงพอ ไม่มีแม้ผืนนาจะปลูกข้าว หลายรายก็ยังไม่ได้ที่ดินทำกิน ลำพังเพียงหารับจ้างไปวันๆ ไม่พอมาหล่อเลี้ยงครอบครัว และตนก็มีภาระที่ต้องรับผิดชอบลูกๆ อีก 2 คน ที่กำลังอยู่ในช่วงวัยเรียนในระดับชั้นประถมศึกษา

“ทั้งนี้พวกเราชุมชนบ่อแก้ว สิ่งที่เห็นเหล่านี้คือความร่วมแรงร่วมใจของผลผลิตจากข้าว นอกจากปลอดสารพิษแล้ว ข้าวที่นำมาแบ่งปันร่วมกัน ได้คำนึงถึงชุมชนในสมาชิกที่ไม่มีที่ดินทำนาข้าวก่อนนำออกขาย ถือเป็นการนำมาสู่สิ่งที่ดีทั้งในด้านเศรษฐกิจ สุขภาพ และเป็นการสร้างความมั่นคงทางอาหาร เหล่านี้คือความร่วมมือ ร่วมแรง ร่วมใจกันของพวกเราชาวชุมชนบ่อแก้ว ที่ไม่เคยยอมจำนนต่อความไม่เป็นธรรมมาโดยตลอด เป็นเส้นชีวิตทางเดียวที่เลือกให้พวกเราต้องต่อสู้เพื่อความอยู่รอด”

เสียงเคียวเกี่ยวข้าว สลับกับเสียงพูดคุย เสียงหัวเราะของชาวชุมชนบ่อแก้วที่มาร่วมกันเกี่ยวข้าว ดังเป็นระยะๆ ใครเหนื่อยก็นั่งพักร่มไม้ปลายนา หายเหนื่อยก็กลับมาควงเคียวเกี่ยวกันต่อ แสงแดดอ่อนๆที่ละเลงยามเช้า กระทั่งช่วงบ่ายจะเริ่มแรงขึ้น แต่ความเหนื่อยล้าบนคราบเหงื่อไคลที่ถูกแสงแดดเตะต้องกายจะทำให้ดูอบอ้าวไปทั่วเรือนร่าง แต่ความรู้สึกข้างในของพวกเขาดูช่างอบอุ่นบนความอิ่มเอิบใจของชาวนา

ทว่าท่ามกลางเปลวแดดที่ร้อนจัดจนไม่แน่ใจว่าเป็นช่วงลมหนาวหรือว่าฤดูร้อนกันแน่ ใครจะรู้บ้างว่าลึกลงไปสุดขั้วหัวใจของผู้ทำนาปลูกข้าวให้คนทุกระดับชั้นได้ลิ้มลองเป็นอาหารหลักที่ทรงประโยชน์และมีคุณค่าต่อชีวิตและร่างกายนั้น คราบหยาดเหงื่อไคที่ร่วงหยดรดผืนดิน กว่าจะเป็นข้าวแต่ละเม็ด คือความยากแค้นแสนสาหัส เป็นฉากหลังอันข่มขื่นที่ชาวนาคนจนๆ ล้วนได้รับการกระทำมาอย่างต่อเนื่อง

หากไม่มีชาวนาก็ไม่รู้ว่า จะมีข้าวกินหรือไม่  และหากที่ดินทำกินของเกษตรกร หรือชาวนาถูกยึดไปมากกว่านี้ แล้วอนาคตข้างหน้า ใครจะรับผิดชอบต่อชีวิตและครอบครัวของพวกเขา

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ