เรื่อง : โกวิท โพธิสาร ภาพ : อริตา รัชธานี
เกริ่นเข้าเรื่องแบบกำปั้นทุบดินเลยว่า 14 มีนาคม ที่ผ่านมา เป็นวันหยุดเขื่อนโลก (International Day of Action against Dams) ซึ่งถูกกำหนดขึ้นมาเพื่อให้ผู้คนตระหนักถึงหายนะจากเขื่อน
แต่เหลียวหลังแลหน้า ณ สถานการณ์ปัจจุบัน วันหยุดเขื่อนโลกแทบจะไร้ความหมาย เฉพาะในประเทศไทย “โครงการเขื่อน” ผลุดๆ โผล่ๆ เป็นตุ๊กตาล้มลุกที่ผลักกันไปมาระหว่างรัฐกับประชาชนในทุกยุคสมัย
กระนั้นว่ากันตามหน้าเสื่อ เขื่อนในประเทศไทยในยุคสมัยนี้ยังพอสู้ทัดทานกันได้ แต่สำหรับสถานการณ์เขื่อนในแม่น้ำโขงนั้นหนักหน่วงกว่าหลายเท่า เพราะตัวละครไม่ใช่แค่รัฐหรือประชาชนของประเทศใดประเทศหนึ่งเท่านั้น แต่มันหมายถึงทุกประเทศตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ จากเทือกเขาหิมาลัยถึงทะเลจีนใต้
4,880 กิโลเมตร คือความยาวของแม่น้ำโขง ซึ่งยาวที่สุดเป็นอันดับ 8 ของโลก มันไหลผ่านทิเบต จีน พม่า ลาว ไทย กัมพูชา และเวียดนาม เป็นสายน้ำที่หล่อเลี้ยงระบบนิเวศอันหลากหลาย รวมทั้งผู้คนกว่า 60 ล้านคนจากหลายร้อยชาติพันธุ์
ทว่า ในระยะทางที่ทอดยาวของแม่น้ำนานาชาติเจ้าของฉายา “ดานูบแห่งตะวันออก” นั้น แม่น้ำโขงกว่าครึ่งหนึ่งในตอนบนซึ่งอยู่ในประเทศจีนกลับมีโครงการสร้างเขื่อนผลิตไฟฟ้า 28 เขื่อน โดยเสร็จไปแล้ว 6 เขื่อน ขณะที่แม่น้ำโขงตอนล่าง รัฐบาลลาว ไทย กัมพูชา และเวียดนาม ก็มีแผนสร้างเขื่อนผลิตไฟฟ้าพลังน้ำอีก 12 โครงการ
โดยเขื่อนไซยะบุรี ซึ่งอยู่ห่างจาก อ.เชียงคาน จ.เลย 200 กิโลเมตรเดินหน้าไปแล้ว ขณะที่ “เขื่อนดอนสะโฮง” ที่จะสร้างกั้นฮูสะโฮง สีพันดอน นครจำปาสัก ประเทศลาวนั้นก็จ่อคอหอย
ขณะที่ภาคประชาชนที่ต่อสู้เรื่องเหล่านี้ก็ยังคงยืนหยัดและยืนยันต่อไปว่า ทางเลือกด้านพลังงานไฟฟ้ามีมากกว่าการสร้างเขื่อน และเขื่อนก็ส่งผลด้านลบต่อระบบนิเวศมากกว่าด้านบวก
แต่อย่างที่เกริ่นไว้ในช่วงต้นว่ามันไม่ง่าย เพราะนี่คือการสู้กับรัฐบาลในระดับนานาชาติ ซึ่งมีมากกว่า 1 ประเทศ
นี่คือสถานการณ์โดยสังเขปของแม่น้ำโขง หลังวันหยุดเขื่อนโลก 1 วัน
และนี่คือบทสนทนากับสุภาพสตรีจากสถาบันลุ่มน้ำโขง เธอชื่อว่า “ไพรินทร์ เสาะสาย”
+ ในวันที่มีโครงการเขื่อนเต็มแม่น้ำโขงไปหมด การเคลื่อนไหวตอนนี้มีประโยชน์อะไร?
การเคลื่อนไหวของชาวบ้านเพื่อบอกให้โลกรู้ว่า “เขื่อน” ได้สร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและทำให้ชีวิตของชาวบ้านซึ่งพึ่งพาแม่น้ำโขงอย่างไร และมีความจำเป็นอย่างยิ่งในการติดตามและตรวจสอบกระบวนการก่อสร้างเขื่อน และผลักดันรัฐบาลและบริษัทผู้สร้างเขื่อน รวมถึงผู้ซื้อไฟฟ้าอย่าง กฟผ. ต้องรับผิดชอบต่อผลกระทบที่จะเกิดขึ้นต่อระบบนิเวศและวิถีชีวิตของชาวบ้านในลุ่มน้ำโขง รวมไปถึงการสร้างมาตรฐานด้านกฎหมายที่ควบคุมผลกระทบข้ามพรมแดนจากโครงการต่อประชาชน คิดว่าพลังของประชาชนเท่านั้นที่จะปกป้องและดูแลแม่น้ำโขงไม่ให้แย่มากไปกว่านี้
+ สิ่งที่ต้องทำเร่งด่วนในการปกป้องแม่น้ำโขงขณะนี้คืออะไร?
ข้อแรกคือ ทำอย่างไรก็ได้ให้ไม่ควรที่จะมีเขื่อนในแม่น้ำโขงตอนล่างมากไปกว่านี้ ขณะนี้มี 2 เขื่อนที่กำกำลังก่อสร้าง คือ เขื่อนไซยะบุรีและเขื่อนดอนสะโฮง ซึ่งถือว่า ประเทศไทยเราอยู่ในอ่างเก็บน้ำของสองเขื่อนนี้แล้ว
ข้อที่สองคือ การทำให้ภาคประชาชนมีสิทธิและมีส่วนร่วมในการตัดสินในการสร้างเขื่อนอย่างแท้จริง เพราะที่ผ่านมาเขื่อนที่เกิดขึ้นได้ เพราะประชาชนถูกกีดกันออกจากกระบวนการสร้างเขื่อนและเป็นเพียง “ผู้รับทราบ” ข้อมูลข่าวสารเท่านั้น ทั้งๆที่แม่น้ำโขงเป็นแม่น้ำนานาชาติ
ข้อที่สามคือ ต้องมีกฎกติกาหรือกฎหมายที่สามารถควบคุมการลงทุนในประเทศเพื่อนบ้านและการสร้างมาตรฐานที่ทำให้เอกชนต้องรับผิดชอบต่อผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมและสังคมข้ามพรมแดน เพราะตอนนี้ทุนเอกชนไทย ได้ข้ามไปลงทุนในโครงการพลังงานโดยเฉพาะอย่างยิ่ง การสร้างเขื่อนในแม่น้ำโขง เขื่อนไซยะบุรีที่มีแต่ทุนไทยล้วนๆเป็นผู้ลงทุนหลัก
+ พื้นที่ตรงไหนน่าห่วงที่สุดในตอนนี้?
บริเวณที่ก่อสร้างเขื่อนดอนสะโฮง เพราะมีระบบนิเวศที่มีความซับซ้อนและเป็นช่องทางสำคัญของปลาที่อพยพได้ง่ายตลอดทั้งปีและบริเวณใกล้เคียงยังเป็นแหล่งที่อยู่อาศัยและอนุบาลของพันธุ์สัตว์น้ำที่สำคัญ กระบวนการก่อสร้างเขื่อนที่จะต้องมีการระเบิดหิน การขุดร่องน้ำให้กว้างขึ้น จะทำให้เกิดการรบกวนต่อสภาพแวดล้อมแถบนั้นอย่างหนัก และส่งผลกระทบต่อวิถีการประมงของชาวบ้านซึ่งเป็นความมั่นคงทางอาหารและรายได้หลักของชาวบ้านในเขตสี่พันดอน และชาวบ้านที่อยู่ท้ายน้ำในเขตจ.สตรึงเตรงและเวียดนามที่อาจจะได้รับผลกระทบอย่างรุนแรง และเขื่อนแม่น้ำโขงที่เกิดขึ้นนี้จะเป็นฉนวนสำคัญให้เกิดความขัดแย้งที่รุนแรงมากขึ้นในประเทศลุ่มน้ำโขง เนื่องจากมีประเทศปากแม่น้ำโขงอย่างเวียดนามที่ไม่ได้ประโยชน์อะไรเลยจากการสร้างเขื่อนแม่น้ำโขงทั้ง 11 โครงการ
+ คนที่มีส่วนในโครงการต่างๆ รวมทั้งรัฐบาลของแต่ละประเทศ มักยกเหตุผลเรื่องน้ำ ไฟฟ้า เศรษฐกิจ มาอ้างในการสร้างเขื่อนอยู่เสมอ แล้วภาคประชาชนมีข้อเสนอต่อเรื่องนี้อย่างไรบ้าง?
การทบทวนเรื่องความต้องการพลังงานที่แท้จริงของประเทศไทยตอนนี้ และยอมรับว่า ประเทศไทยมีพลังงานสำรองที่เพียงพอและเกินพอในอีก 40 ปีข้างหน้า
การคำนวณความต้องการพลังงานที่สูงเกินความเป็นจริง เป็นเงื่อนไขสำคัญของการนำไปสู่การเซ็นสัญญาซื้อไฟฟ้าของไทยกับประเทศเพื่อนบ้าน และเมื่อมีการเซ็นสัญญาก็เหมือนกับเป็นช่องทางบังคับให้โครงการสร้างเขื่อนต่างๆต้องเดินหน้าไป
รวมไปถึงการเสนอให้มีปรับปรุงข้อกฎหมายที่ทำให้ผู้รับซื้อไฟฟ้าจากโครงการ ต้องมีส่วนร่วมในการรับผิดชอบต่อมูลค่าผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมและสังคมร่วมด้วย เพราะเท่าที่รู้คือ ผู้ซื้อไฟแทบจะไม่ต้องรับผิดชอบอะไรที่เกิดจากโครงการใดๆ เลย