ในช่วงวันหยุด ใครหลายคนคงคิดอยากจะเดินทางออกต่างจังหวัด เพื่อพักผ่อนจากชีวิตที่วุ่นวายและเหนื่อยล้าจากการทำงาน ป่าเขาและสายธารคือหนึ่งในแหล่งท่องเที่ยวที่มักถูกพูดถึงอยู่บ่อยครั้ง ด้วยความร่มเย็นของผืนป่า เสียงนกร้อง และความชุ่มฉ่ำของลำน้ำธรรมชาติ
น้ำตกคลองมะเดื่อ ต.สาริกา อ.เมืองนครนายก จ.นครนายก สถานที่ท่องเที่ยวใกล้กรุงเทพฯ ด้วยระยะทางประมาณ 120 กิโลเมตร ใช้เวลาเดินทางไม่เกิน 2 ชั่วโมงครึ่ง เราก็จะได้สัมผัสกับสายน้ำ ผืนป่าและวิถีชีวิตที่ยังคงพึ่งพาธรรมชาติ ที่นี่จึงเป็นอีกหนึ่งที่ท่องเที่ยวยอดนิยมของคนที่ต้องการผักผ่อนแบบใกล้ชิดธรรมชาติ
แต่เมื่อก้าวย่างเข้าไปในชุมชน นอกจากความหนาแน่นของต้นไม้สีเขียว ภูเขาซ้ายขวาและเสียงน้ำไหลแล้ว สิ่งที่เราพบเจอคือบ้านเรือนหลายสิบหลังในระหว่างทางเข้า ติดป้ายคัดค้านการก่อสร้างเขื่อนคลองมะเดื่อ บนพื้นที่ติดอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ ซึ่งจะทำให้ชุมชนต้องจนหายไปกับอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่
จุดเริ่มต้นของอ่างเก็บน้ำมากจากไหน?
อ่างเก็บน้ำคลองมะเดื่อ เป็นโครงการโดยกรมชลประทาน ตั้งแต่เมื่อ พ.ศ. 2536 เริ่มต้นขึ้นพร้อม ๆ กับ “เขื่อนหน้าด่าน” หรือ “เขื่อนขุนด่านปราการชล” ตามที่หลาย ๆ คนรู้จัก เป้าหมายของโครงการฯ เพื่อลดผลกระทบจากปัญหาน้ำท่วม น้ำแล้งและแก้ไขปัญหาดินเปรี้ยว
ต่อมาปี 2550 การศึกษาผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม (EIA) เสร็จสิ้นและในปี 2564 มีการแก้ไขเพิ่มเติมนำเสนอต่อคณะกรรมการการผู้ชำนาญการ (คชก.) เพื่อพิจารณา แต่ถูกคัดค้านโดยชาวบ้านในพื้นที่และคชก.มีมติไม่เห็นชอบ ทำให้สถานะปัจจุบันอยู่ในระหว่างการทำรายงานชี้แจงต่อคชก.อีกครั้ง
เมื่อมาดูข้อมูลของโครงการฯ จะมีการสร้างอ่างเก็บน้ำปิดเส้นทางน้ำคลองมะเดื่อทั้งหมด โดยมีความสูงของสันเขื่อนอยู่ที่ 80 เมตร และกว้าง 705 เมตร ปิดปากทางโดยมีเขาขนาบสองข้าง ทำให้พื้นที่ด้านในคือแหล่งรับน้ำทั้งหมดกินพื้นที่ถึง 1,800 ไร่ ซึ่งรวมหมู่บ้าน ลำคลองและผืนป่าหลังสันเขื่อนทั้งหมด
ฟังเสียง “คนใน”
จากที่ได้พูดคุยกับชาวบ้านในพื้นที่หมู่ที่ 1 ต.สาริกา แทบทุกหลังยังยืนยันอย่างหนักแน่นที่จะ “คัดค้าน” การสร้างอ่างเก็บน้ำคลองมะเดื่ออย่างสุดความสามารถ โดยมี 2 เหตุผลสำคัญ คือ ทรัพยากรธรรมชาติ และวิถีชีวิตที่จะสูญเสียไป
พื้นที่คลองมะเดื่อเชื่อมกับพื้นที่ป่าดงพญาเย็น-เขาใหญ่ ซึ่งประกาศเป็นผืนป่ามรดกโลก ใน พ.ศ. 2548 ถือเป็นแหล่งน้ำธรรมชาติที่สมบูรณ์ หนึ่งในเรื่องสำคัญที่คณะกรรมการมรดกโลกเห็นชอบ ชี้ชัดว่าผืนป่าดงพญาเย็น-เขาใหญ่อยู่ในความสนใจของสายตาคนทั้งโลกคือ
“ เป็นถิ่นที่อยู่อาศัยของชนิดสัตว์และพันธุ์พืชที่หายากหรือที่ตกอยู่ในสภาวะอันตราย แต่ยังคงสามารถดำรงชีวิตอยู่ได้ ซึ่งรวมถึงระบบนิเวศอันเป็นแหล่งรวมความอุดมสมบูรณ์ของพืชและสัตว์ที่ทั่วโลกให้ความสนใจด้วย ”
มติประชุมคณะกรรมการมรดกโลกสมัยสามัญ ประกาศผืนป่าดงพญาเย็น-เขาใหญ่ เป็นผืนป่ามรดกโลก
หนึ่งตัวชี้วัดความสมบูรณ์ในพื้นที่คือ ตะกอง หรือกิ้งก่ายักษ์ ลำตัวสีเขียวที่มีอยู่ทั่วไปตามลำคลองในทุกค่ำคืน ยังไม่รวมไปถึงบรรดานกเงือก นกแก๊ก หมีควาย เก้งหรือช้างป่ามีมักลงมาหาอาหารและลงเล่นน้ำให้ชาวบ้านเห็นอยู่บ่อยครั้ง
ชาวบ้านยังให้ข้อมูลด้วยว่า ภายใน EIA ของกรมชลประทานแสดงข้อมูลของสัตว์ป่าและพืชพรรณว่ามีอะไรบ้าง จำนวนเท่าไหร่แต่ขาดข้อมูลความสัมพันธ์ระหว่างพืช สัตว์ป่ากับผืนป่าและลำน้ำคลองมะเดื่อ ไม่เพียงแค่นั้นยังขาดข้อมูลของพืชและสัตว์เฉพาะที่พบได้เพียงในพื้นที่เท่านั้นด้วย
ในมิติวิถีชีวิต ชาวบ้านแทบทุกคนที่ได้พูดคุยล้วนแต่เป็นคนดั้งเดิมในพื้นที่ ดำรงชีพด้วยการหาของป่าเป็นหลักมาตั้งแต่สมัยเด็ก อาหารส่วนใหญ่ที่ได้มาจะเป็นหน่อไม้สด เห็ดป่า ปลาจากลำธาร ซึ่งเป็นของพื้นฐานที่สามารถเข้าไปเก็บได้แทบทุกวันในป่า ซึ่งหลายครั้งก็เก็บออกมาได้จำนวนมากจนสามารถเอามาแบ่งขายให้กับนักท่องเที่ยวได้ โดยตั้งเป็นเพิงไม้เล็กๆ หน้าบ้านที่เจอได้ตลอดเส้นทางการเข้า
สินค้าอย่างหนึ่งที่อยากแนะนำให้รู้จักนั่นคือ หอยหอม ถือได้ว่าเป็นนางงามหน้าฝนของคลองมะเดื่อเลยก็ว่าได้ ลักษณะคล้ายหอยทากขนาดใหญ่แต่มีเปลือกแข็งกว่า หอยหอมจะเก็บได้ในเฉพาะช่วงฤดูฝนและในยามค่ำคืนเท่านั้น หอยพวกนี้จะอาศัยอยู่ตามไหล่เขาเป็นหลักหากใครขึ้นไปจะพบกับเปลือกหอยหอมทั่วพื้นที่ วิธีการจะนำมาทานหรือขายก็ไม่สามารถทำเลยได้จำเป็นต้องให้พวกเขาขับสิ่งสกปรกออกมาก่อนโดยให้กินพืชผักที่เรากินกันต่อกันอย่างน้อยสองวัน ราคาของหอยหอมถือว่าทำรายได้ให้กับชาวบ้านได้ดีเลยทีเดียวปัจจุบันอยู่ที่กิโลกรัมละ 150-250 บาท
สำหรับชาวบ้านความผูกพันต่อผืนป่าและคลองมะเดื่อแนบแน่นเรียกว่ารู้จักรู้ใจกันเลยทีเดียว จนสามารถคาดการณ์สถานการณ์จากสัญชาตญาณได้อย่างแม่นย่ำ เช่น สัญญาณช้างป่าจะลงจากเขาหรือฝนจะตก เป็นต้น ความสัมพันธ์นี้อาจเรียกได้ว่าระบบพึ่งพาอาศัยกันไม่สามารถที่จะขาดออกจากกันได้ เพราะผืนป่าและลำน้ำคือลมหายใจและบ้านอันแสนอบอุ่นของผู้คนไปแล้ว
หากอ่างเก็บน้ำคลองมะเดื่อเกิดขึ้น สิ่งแรกที่จะหายไปในทันทีคือพื้นที่ทำกินและอาศัยของชาวบ้าน พื้นที่ปลอดภัยที่พวกเขาอาศัยมาตั้งแต่เกิด ภาพความทรงจำที่สวยงามที่เคยเห็น อีกทั้งลมหายใจและชีวิติของพวกเขากำลังจะถูกทำลายลง ทำให้ชาวบ้านคัดค้านโครงการฯและ EIA มาโดยตลอดถึงแม้ว่าหน่วยงานรัฐเสนอแนวทางการเยียวยาแก้ไขแล้วก็ตามที
ยายแดง อายุกว่า 70 ปี มีอาชีพคือการหาของป่าและปลูกผลไม้นำมาขายกับนักท่องเที่ยวบริเวณหน้าบ้านของตัวเอง อาศัยอยู่เพียงลำพังภายในบ้านไม่มีไฟฟ้าใช้อาศัยน้ำประปาจากธารน้ำธรรมชาติบนเขาทีมีอยู่เกือบตลอดปี มีสุนัขสองตัวคอยเป็นเพื่อนคู่กายและทั้งสองตัวยังเป็นมิตรกับพวกเรามากๆ มาคอยคลอเคลียในระหว่างที่เรานั่งคุยกับยายแดงตลอดเวลา
ถ้ารู้สึกหิวอะไรตีนเขาและลำคลองก็มีให้เราหาได้อยู่เสมอ ถ้าอยากกินเห็ด กินหน่อไม้ก็เดินเข้าป่าไปหาหลังบ้าน อยากกินปูกินปลาก็เอาลอบออกไปจับในคลองก็ได้แล้ว บางครั้งถ้าเหลือก็เอาทาเกลือตากแห้งหรือดองก็ไว้มีกินอีกหลายมื้อ ถ้าเหลือมากก็เอาออกมาขายนักท่องเที่ยวที่เข้ามา
ยายแดง ชาวบ้านคลองมะเดื่อ
คุณยายเล่าให้ฟังว่าตั้งแต่อดีตจนปัจจุบันยังคงหาของป่ามากินมาขายอยู่เหมือนเดิม ถ้ารู้สึกหิวอะไรตีนเขาและลำคลองก็มีให้เราหาได้อยู่เสมอ ถ้าอยากกินเห็ด กินหน่อไม้ก็เดินเข้าป่าไปหาหลังบ้าน อยากกินปูกินปลาก็เอาลอบออกไปจับในคลองก็ได้แล้ว บางครั้งถ้าเหลือก็เอาทาเกลือตากแห้งหรือดองก็ไว้มีกินอีกหลายมื้อ ถ้าเหลือมากก็เอาออกมาขายนักท่องเที่ยวที่เข้ามา ถ้าเกิดว่ามีเขื่อนเข้ามาตัวเองก็อยู่คนเดียว อายุเท่านี้แล้วรู้สึกผูกพันกับผืนป่าและลำน้ำมานานไม่อยากที่จะย้ายออกไป ผลไม้ที่ปลูกถ้าต้องออกไปต้องใช้เวลาเท่าไหร่กว่าจะได้ลูกผลมากินมาขายอีกครั้ง
จากที่ได้สัมผัสกับความเขียวของป่าและความเย็นสบายของสายน้ำคลองมะเดื่อด้วยตัวเอง อีกทั้งเสียงคำบอกเล่าของชาวบ้านที่มีความรัก ความผูกพันธ์กับพื้นที่แล้ว ทำให้อดคิดไม่ได้ว่าถ้าหากอ่างเก็บน้ำหรือเขื่อนคลองมะเดื่อเกิดขึ้นมาจริงๆก็จะมีคำว่า เสียดาย ผุดขึ้นมาเต็มไปหมด
เสียดายที่เราจะไม่ได้เห็นสีเขียวที่เย็นสบายตาแบบตอนนี้ เสียดายที่จะไม่ได้กินหน่อไม้สดปลอดสารพิษ เสียดายที่เราจะต้องออกไปหาอากาศบริสุทธิ์ที่ไกลขึ้นกว่าเดิม เสียดายที่เราจะไม่ได้เล่นคลองที่เหมือนลำธารน้ำตก เสียดายที่เราจะได้น้ำผึ้งป่าราคาดีและสิ่งที่น่าเสียดายที่สุดจากโครงการฯ นี้คือเราจะสูญเสียภาพความทรงจำร่วมทั้งเราและชาวบ้านที่มีต่อป่าและคลองมะเดื่อ แทนที่ด้วยผนังคอนกรีตขนาดใหญ่
คลองมะเดื่อไม่ได้ทำหน้าที่ต่อระบบนิเวศป่าดงพญาเย็น-เขาใหญ่เท่านั้น ทว่ายังสร้างคุณค่าต่อชีวิตมนุษย์ทั้งต่อชาวบ้านและชาวเมืองอีกด้วย หากอ่างเก็บน้ำหรือเขื่อนทำได้สำเร็จก็ทำให้อดคิดไม่ได้ว่าในอนาคตผืนป่าที่ทางหน่วยงานรัฐไทยพยายามรักษาจะเหลือให้เราทุกคนได้ไปสัมผัสกันอีกเท่าไหร่ ?