โรงพยาบาลแม่สอด อบรมผู้ดูแลผู้สูงอายุ 70 ชั่วโมง พัฒนาการดูแลอย่างเป็นระบบ
ที่ห้องประชุมเพชรชมพู ชั้น 5 อาคารเฉลิมพระเกียรติ 6 รอบ พระชนมพรรษา โรงพยาบาลแม่สอด นายแพทย์ธวัชชัย เศรษฐศุภพนา รองผู้อำนวยการฝ่ายการแพทย์โรงพยาบาลแม่สอด เป็นประธานเปิดการอบรมผู้ดูแลผู้สูงอายุโครงการพัฒนาระบบการดูแลระยะยาว สำหรับผู้สูงอายุที่มีภาวะพึ่งพิงในชุมชนอำเภอแม่สอด เพื่อให้อาสาสมัครผู้ดูแลผู้สูงอายุมีความรู้ ความเข้าใจและสามารถให้บริการหรือคำแนะนำเบื้องต้นในการดูแลสุขภาพผู้สูงอายุติดเตียงในชุมชนได้อย่างมีคุณภาพ ตลอดจนการประสานงานกับสถานพยาบาลในพื้นที่ เพื่อให้การดูแลผู้สูงอายุอย่างเป็นระบบ โดยการอบรมในครั้งนี้มีอาสาสมัครสาธารณสุข และประชาชนชนในแต่ละหมู่บ้านและชุมชน เข้าร่วมอบรมจำนวน 60 คน
นายชิด บุญมาก นักวิชาการสาธารณสุขชำนาญการพิเศษ หัวหน้ากลุ่มงานสุขศึกษา โรงพยาบาลแม่สอด กล่าวว่า ประเทศไทยได้ก้าวสู่สังคมผู้สูงอายุ มาตั้งแต่ปี 2548 ในปัจจุบันมีประชากรผู้สูงอายุถึงร้อยละ 14.57 ของประชากรทั้งประเทศ และมีอายุยืนยาวขึ้น ผู้ชายมีอายุเฉลี่ย 71.3 ปี ผู้หญิงมีอายุเฉลี่ย 78.2 ปี จากแนวโน้มของกลุ่มผู้สูงอายุที่เพิ่มมากขึ้นนี้ นำมาซึ่งภาวะสี่ยงและปัญหาด้านสุขภาพ โดยเฉพาะการเจ็บป่วยด้วยโรคเรื้อรัง เนื่องจากวัยสูงอายุมีธรรมชาติการเปลี่ยนแปลงในทางที่เสื่อมลงทั้งทางด้านร่างกาย จิตใจ และสังคม ภาวะโรคเรื้องรังเหล่านี้เป็นเหตุให้ผู้สูงอายุสูญเสียสุขภาวะ และนำไปสู่การเป็นผู้สูงอายุที่อยู่ในภาวะพึ่งพิงในที่สุด ซึ่งมีแนวโน้มเพื่อมากขึ้น ด้วยเหตุดังกล่าวผู้สูงอายุจะต้องได้รับการดูแลคัดกรองสุขภาพเบื้องต้นจากบุคลากรสาธารณสุขและการดูแลอย่างต่อเนื่องโดยอาสาสมัครดูแลผู้สูงอายุ เพื่อการมีคุณภาพชีวิตที่ดีของผู้สูงอายุโรงพยาบาลแม่สอดจึงได้จัดโครงการอบรมผู้ดูแลผู้สูงอายุหลักสูตร 70 ชั่วโมง โดยได้รับงบประมาณจากสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดตาก คณะวิทยากรจากศูนย์อนามัยที่ 9 พิษณุโลก และทีมสหสาขาวิชาชีพวิชาชีพโรงพยาบาลแม่สอด
นายแพทย์ธวัชชัย เศรษฐศุภพนา รองผู้อำนวยการฝ่ายการแพทย์โรงพยาบาลแม่สอด กล่าวว่า การเปลี่ยนแปลงทางด้านสังคมของประเทศไทยที่เข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ส่งผลต่อปัญหาด้านสุขภาพของผู้สูงอายุ ซึ่งต้องเตรียมความพร้อมเพื่อรับรองปัญหาต่างๆ ที่อาจจะเกิดขึ้นตามมาในอนาคต การดูแลสุขภาพผู้สูงอายุนั้นมีการให้บริการในรูปแบบที่หลากหลายทั้งด้านการส่งเสริมสุขภาพ การรักษาพยาบาล การฟื้นฟูสมรรถภาพ และการป้องกันโรค การพัฒนาศักยภาพของผู้ให้บริการผู้สูงอายุในสถานพยาบาลเพียงอย่างเดียวนั้นไม่เพียงพอ จะต้องมีการพัฒนาในส่วนของชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมในการให้การดูแลผู้สูงอายุในรูปแบบอาสาสมัคร การอบรมวันนี้เป็นกิจกรรมหนึ่งที่จะช่วยกันดูแลสุขภาพของผู้สูงอายุในชุมชนให้ได้รับการดูแลอย่างทั่วถึง อันจะนำไปสู่ระบบการดูแลผู้สูงอายุระยะยาวอย่างมีคุณภาพต่อไป
//////////////////////////////////////////////////