“ดอยซิลเวอร์” ช่างทำเครื่องเงินไม่หายไปจากปัว

“ดอยซิลเวอร์” ช่างทำเครื่องเงินไม่หายไปจากปัว

จังหวัดน่านเป็นแหล่งผลิตเครื่องเงินที่สำคัญแห่งหนึ่งในภาคเหนือของประเทศไทย มีชื่อเสียงด้านงานการผลิตเครื่องเงินและเครื่องประดับเงิน เครื่องเงินเมืองน่านจึงมีความโดดเด่น เป็นเอกลักษณ์ และประณีตสวยงามไม่แพ้แหล่งผลิตเครื่องเงินในจังหวัดอื่น ๆ จนกลายมาเป็นหนึ่งในสินค้าขึ้นชื่อของจังหวัดน่าน ทั้งยังได้รับการยอมรับในตลาดต่างประเทศด้วย หัตถกรรมเครื่องเงินเมืองน่าน สามารถแบ่งได้เป็น 2 แหล่ง ได้แก่ เครื่องเงินโบราณท้องถิ่นน่านและเครื่องเงินชาวเขา หรือที่ในปัจจุบันเรียกว่า “ชมพูภูคา” การทำหัตถกรรม เครื่องเงินของจังหวัดน่านได้มีการถ่ายทอดภูมิปัญญาและเทคนิคการผลิตจากรุ่นบรรพบุรุษมาสู่รุ่นปัจจุบัน

การเริ่มต้นของเครื่องเงินชาวเขา และเรียกว่า “ชมพูภูคา” ในพื้นที่จังหวัดน่านเริ่มต้นจากชนเผ่าต่าง ๆ โดยเฉพาะ ชาวอิ้วเมี่ยนหรือเย้า กลุ่มชาติพันธุ์ที่มีเครื่องแต่งกายค่อนข้างโดดเด่น โดยเฉพาะเครื่องแต่งกายของสตรี   ชาวอิ้วเมี่ยนนั้นถือว่าเครื่องเงินมีความสำคัญและเกี่ยวข้องกับวิถีชีวิตของพวกเขามาก ไม่ว่าจะเป็นการซื้อขายแลกเปลี่ยนสินค้า การนำมาทำเป็นเครื่องประดับ รวมทั้งใช้เป็นสินสอดและสิ่งของในการสู่ขอหญิงสาวมาเป็นคู่ชีวิตเพื่อสร้างครอบครัว ในสมัยก่อนที่ยังไม่มีเงินหรือธนบัตรเหมือนปัจจุบัน ชาวเมี่ยนจะใช้เครื่องเงินแทน เครื่องเงินจึงเป็นสิ่งที่มีความสำคัญ และเป็นการบ่งบอกฐานะหรือศักยภาพของแต่ละครอบครัวในชุมชน การทำเครื่องเงินส่วนใหญ่เป็นการถ่ายทอดเฉพราะในครอบครัวหรือตระกูลของตนและถือว่าเป็นวิชาที่หวงไม่ถ่ายทอดให้ผู้อื่นง่าย ๆ

อ.ปัว จ.น่าน คือแหล่งผลิตสำคัญของเครื่องเงินที่มีจุดเริ่มต้นเมื่อปี พ.ศ. 2511 ในสมัยก่อนมีคอมมิวนิสต์อยู่ในบริเวณเทือกเขาบนดอย ริมชายแดนของประเทศไทย และทางราชการให้ชุมชนต่างๆที่อยู่ด้านบนนั้นที่มีหลากหลายชาติพันธุ์หลายชนเผ่า เช่น ม้ง อิ้วเมี่ยน หรือเย้า ย้ายลงมาอยู่รวมกันที่บ้านป่ากลาง ในอำเภอปัว ให้ชาวบ้านย้ายมาอยู่ในพื้นที่ที่ทางรัฐกำหนดเป็นพื้นที่อพยพ และชนเผ่าที่มีฝีมือการทำเครื่องเงินที่ถ่ายทอดมาจากบรรพบุรุษเริ่มทำเครื่องประดับต่างๆจากงานชนเผ่ามาขายให้กับทางเจ้าหน้าที่หลากหลายหน่วยงานทั้งไทยและต่างประเทศที่มาดูแลชาวบ้านทั้งประจำและไม่ประจำที่เข้ามาช่วยเหลือในบ้านป่ากลาง จนทำให้เกิดการค้าขายเครื่องเงินเกิดขึ้น และสร้างรายได้จนทำให้ชนเผ่าอิ้วเมี่ยนที่มีพื้นฐานจากการทำเครื่องเงินเกือบทุกครอบครัวหันมาจับการทำเครื่องเงินเพื่อทำขายตามความต้องการของตลาดในขณะนั้น และเริ่มทำขายส่งต่อให้พ่อค้าตนกลางเพื่อนำไปขายตามจังหวัดท่องเที่ยวเช่น เชียงใหม่ (ไนท์บาร์ซ่า) ลักษณะงานก็เป็นสินค้าทั่วๆไปเช่น  แหวน สร้อย  กำไร เป็นงานในรูปแบบชนเผ่าเป็นส่วนใหญ่ จนบางครอบครัวพัฒนามาเป็นผู้ประกอบการ เมื่อสินค้าไม่ได้มีความจุดเด่นให้มีความต่างทำให้การค้าขายเริ่มลดลงส่งผลให้ชาวบ้านที่รับจ้างผลิตโดนลดค่าแรงจนแทบไม่คุ้มกับงานที่สืบทอดมาจากบรรพบุรุษ ในการทำจนหลายๆคนหันไปประกอบอาชีพอื่น จนช่างทำเครื่องเงินที่มีผีมือเริ่มลดลง ผู้ประกอบการบางรายก็พยายามประคองตัวประกอบการทำธุรกิจเครื่องเงินและปรับสภาพสินค้าพัฒนาเป็นเครื่องเงินร่วมสมัยขึ้น เน้นการทำเครื่องประดับของผู้หญิงเป็นหลัก จนทำให้อัตลักษณ์ของเครื่องเงินชนเผ่าเริ่มเลือนหายไปอย่างช้าๆ พร้อมกับการทำเครื่องเงินต้องใช้ทักษะและความปราณีตอย่างสูง ทำให้ช่างทำเครื่องเงินเริ่มน้อยลง

“ดอยซิลเวอร์” เพิ่มค่าภูมิปัญญาเครื่องเงิน โลคัล สู่ เลอค่า

ดอยซิลเวอร์มิวเซียม พิพิธภัณฑ์ขนาดกะทัดรัดที่ตั้งอยู่หน้าโรงงานของดอยซิลเวอร์ บอกเล่าประวัติความเป็นมาของเครื่องเงินชาวเขาชนเผ่าเย้า ผ่านการจัดแสดงเครื่องเงินและข้าวของเครื่องใช้ต่าง ๆ 

จากครอบครัวช่างทำเครื่องเงินชนเผ่าในพื้นที่ สู่แบรนด์ ดอยซิลเวอร์ ผู้ประกอบการที่ได้รับถ่ายทอดวิชา เครื่องเงินชนเผ่าเห็นถึงปัญหาที่จะเกิดขึ้น ในการสืบทอดภูมิปัญญาของรากเง้าตนเอง จึงได้ทำการทำความร่วมมือกับสถาบันการศึกษา กาญจนาภิเษกวิทยาลัย ช่างทองหลวง  สังกัดสำนักงานคณะกรรมการอาชีวศึกษา เปิดสอนวิชาการทำเครื่องเงินที่อำเภอปัว โดยมีวุฒิการศึกษาทั้ง ระดับประกาศวิชาชีพ (ปวช.) และระดับประกาศวิชาชีพชั้นสูง(ปวส.) โดยใช้ดอยซิลเวอร์เป็นสถานศึกษาให้โอกาสเด็กในพื้นที่ อ.ปัวและใกล้เคียง ถ่ายทอดวิชาความรู้ให้เด็กรุ่นใหม่ที่สนใจ โดยเด็กนักเรียนที่มาเรียนจะต้องจบชั้น มัธยมศึกษาปีที่ 3 ที่สนใจในวิชาเครื่องเงินได้รับทุนเรียนฟรี อยู่ฟรี จากผู้ประกอบการดอยซิลเวอร์ ปีละ 10 ทุน ในการสอนนั้นมีอาจารย์ผู้เชี่ยวชาญจาก กาญจนาภิเษกวิทยาลัย ช่างทองหลวง มาร่วมสอนให้กับน้องนักเรียน ทุกคนที่เรียนต้องเรียนวิชาสามัญพื้นฐานกับสถานศึกษา1วัน/สัปดาห์ ฝึกวิชาชีพในสถานประกอบการ 5 วัน /สัปดาห์ โดยเน้นนักเรียนที่มีปัญหาทางฐานะของครอบครัว มาเรียนวิชานี้ น้องๆนักรียนจะได้รับโอกาสให้ฝึกงานเป็นช่างทำเครื่องเงินจริงจัง ตั้งแต่การอบรม การฝึกหลอม การยืด จนถึงการตีเงิน เมื่อจบแล้ว พวกเขาสามารถเลือกทำงานที่นี่ต่อหรือไม่ก็ได้ ๆ  หรือจะเลือกไปทำเครื่องเงินกับผู้ประกอบการอื่นก็ได้ ไม่มีพันธะผูกพันใด แต่เงื่อนไขในการเรียนทุกคนที่เรียนต้องผ่านวิชาการทำเครื่องเงินชาติพันธุ์อิ้วเมี่ยนก่อน ถือว่าเป็นวิชาพื้นฐานการทำเครื่องเงินก่อนที่จะก้าวสู่วิชาทำเครื่องเงินที่ยากขึ้น

ทั้งนี้ความร่วมมือการสร้างวิชาชีพดังกล่าวทำมาแล้ว 8 ปี สามารถสร้างช่างทำเงินรุ่นใหม่ 38 คน ทั้งหมดนี้เพื่อเป็นการขอบคุณตอบแทนสังคม  และยังได้สืบสานภูมปัญญาชองชาติพันธุ์และยังได้ต่อยอดในการสืบสานการทำเครื่องเงินของจังหวัด เช่น การทำสลุงเงินชันเงิน ลวดลายต่างๆที่เสี่ยงต่อการสูญหาย เช่นลายดอกกระทิน ที่ทางจังหวัดน่านได้สืบค้นว่าเครื่องเงินน่านที่เป็นภาชนะต่างๆในสมัยก่อนมาการใช้ลายดอกกระทินมากที่สุด ทางจังหวัดก็จัดหาผู้เชียวชาญเฉพาะมาสอนจนช่างทำเงินรุ่นใหม่ได้เรียนรู้ การทำหัตถกรรมเครื่องเงินของจังหวัดน่านที่ได้มีการถ่ายทอดภูมิปัญญาและเทคนิคการผลิตจากรุ่นบรรพบุรุษมาสู่รุ่นปัจจุบัน จึงทำให้เครื่องเงินของจังหวัดน่านยังคงไม่สูญหายไปตามกาลเวลา

การสร้างช่างทำเงินรุ่นใหม่ ถือว่าประสบความสำเร็จในระดับหนึ่ง การมีบุคลากรที่มีคุณภาพสูงมีทักษะก็สามารถเป็นฟันเฟืองที่ทำให้ผู้ประกอบการได้สร้างตลาดมากกว่าเครื่องเงินของบรรพบุรุษจนกลายเป็นสินค้าร่วมสมัย สามารถส่งออกต่างประเทศ โดยสินค้าเครื่องเงินของดอยซิลเวอร์กว่า 80% ส่งออกตลาดสหรัฐฯ และยุโรป 

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ