“ตรัง” เราต่างคุ้นกันดีว่าเป็นเมืองที่ขึ้นชื่อเรื่องการกิน จนได้รับการขนานนามว่า “เมืองคนช่างกิน” ด้วยวัฒนธรรมการกินที่ฝังรากลึกลงในชีวิตประจำ สะท้อนให้เห็นถึงวัฒนธรรมและวิถีชีวิต ภูมิปัญญา เป็นเครื่องมือสำคัญของการกระตุ้นเศรษฐกิจตรังที่มาสามารถดึงดูดนักท่องเที่ยวให้มาสัมผัสความเป็นอยู่ของคนที่นี่
ที่สำคัญตรังมีต้นทุนทางทรัพยากรที่มีความอุดมสมบูรณ์ ของวัตถุดิบที่เป็นสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ GI หลายชนิด และหากย้อนกลับไป ก่อนหน้านี้เศรษฐกิจหลักภาคเกษตร ไม่ว่าจะเป็นยางพารา ปาล์ม ที่เคยเป็นฐานหลัก มีแนวโน้มหดตัวลง จากความไม่แน่นอนของราคาเกษตร ขณะที่ภาคบริการและอุตสาหกรรม มีแนวโน้มขยายตัวเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะภาคการท่องเที่ยวและบริการ จะทำอย่างไรที่จะเชื่อมวัตถุดิบจากท้องถิ่น เพิ่มมูลค่า สร้างโอกาสและขยายฐานเศรษฐกิจที่เอื้อต่อผู้คนทุกระดับ
เเละนี่เป็นโจทย์ที่รายการฟังเสียงประเทศไทย ชวนตัวแทนภาคเอกชน ผู้ประกอบการร้านอาหาร เชฟ เกษตกร ชาวประมง เเละคนที่เกี่ยวข้อในแวดวงอาหารตลอดจนแหล่งวัตถุดิบที่เป็นต้นทุนและศักยภาพของเมือง กว่า 30 คน มาล้อมวงพูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็น มองไปข้างหน้าถึงภาพอนาคตของเมือง “ด้านอาหาร” ที่คนตรังให้ความสำคัญ เป็นมุมสะท้อนให้เห็นถึงวัฒนธรรมและวิถีชีวิต และภูมิปัญญา เป็นเครื่องมือสำคัญของการกระตุ้นเศรษฐกิจตรัง
อะไรคือโอกาส และข้อท้าทาย ที่สำคัญของ อาหารตรัง ลองอ่านข้อมูลชุดนี้กัน
ตรังเป็นจังหวัดติดฝั่งทะเลอันดามัน มีขนาดพื้นที่ใหญ่เป็นลำดับที่ 4 ของภาคใต้ อยู่ห่างจากกรุงเทพมหานคร 828 กิโลเมตร ที่มีทำเลที่ตั้งทางภูมิศาสตร์เหมาะกับการท่องเที่ยว มีทั้งป่า ภูเขา ทะเล และมีเกาะน้อยใหญ่ที่มีชื่อเสียง จำนวน 46 เกาะ เช่น เกาะลิบง เกาะมุก เกาะกระดาน มีระบบคมนาคมขนส่งที่ครอบคลุมทุกเส้นทาง
หากย้อนดูอดีตแล้ว ตรังเคยเป็นเมืองท่าค้าขายกับต่างประเทศที่อุดมสมบูรณ์และรุ่งเรืองมากในอดีต มีทางรถไฟไปถึง อ.กันตัง ซึ่งเป็นจุดที่สามารถส่งสินค้ายังไปเกาะปีนัง ประเทศมาเลเซียได้ จากความสัมพันธ์ด้านการค้าพบว่ามีความหลากหลายทางเชื้อชาติวัฒนธรรมทั้งไทย จีน มุสลิม สังเกตได้ผ่านเมนูอาหาร ที่ถูกถ่ายทอดวัฒนธรรมจากรุ่นสู่รุ่น
วัฒนธรรมการกินของคนตรัง มีเสน่ห์และมีพิถีพิถันเรื่องอาหารการกิน จนได้ชื่อว่า เมืองอาหาร 9 มื้อ ที่สามารถกินได้ตลอดทั้งวัน
ข้อมูลจากงานวิจัยศักยภาพอาหารท้องถิ่น ในการส่งเสริมการท่องเที่ยวผ่านอาหารท้องถิ่น กรณีศึกษาจังหวัดตรังเมืองคนช่างกินปี พ.ศ.2562 พบว่า อาหารที่นักท่องเที่ยวชาวไทยส่วนใหญ่รู้จักและต้องการบริโภคมากที่สุดเมื่อไปถึงตรัง คือ หมูย่าง รองลงมาคือ อาหารใต้รสจัด เช่น แกงไตปลา แกงส้ม และขนมเค้ก
อาหารประจำท้องถิ่นของคนตรังแบ่งออกเป็น 3 ประเภท อาหารจีน ,อาหารใต้ และ อาหารมุสลิมสะท้อนเรื่องราวของการอยู่ร่วมกัน ซึ่งจะเห็นในงานเทศกาล ประเพณีและพิธีกรรมสำคัญๆ เช่น งานแต่งงาน งานศพ เทศกาลเช้งเม้ง เทศกาลตรุษจีน เทศกาลถือศีลกินเจ
วัตถุดิบที่นำมาปรุงอาหารส่วนใหญ่มาจากท้องถิ่น ซึ่งพื้นที่กว่าร้อยละ 50 เป็นแหล่ง เกษตรกรรม ยางพารา ปาล์ม และมีข้าวพันธุ์พื้นเมืองซึ่งได้รับรองมาตฐานอินทรีย์ 1154.25 ไร่และได้รับการรับรองสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ GI อาทิ ข้าวเบายอดม่วง พริกไทยปะเหลียน ด้วยความอุดมสมบูรณ์ทางธรรมชาติสูง โดยเฉพาะแหล่งน้ำ และระบบชลประทานที่มีอยู่ตลอดทั้งปี ทำให้ได้ผลผลิตที่มีคุณภาพ
ซึ่งล่าสุดมูลค่าเศรษฐกิจของจังหวัดตรังลำดับที่ 8 ของภาคใต้ โครงสร้างเศรษฐกิจหลักมาจากภาคเกษตรกรรม ซึ่งตอนนี้มีแนวโน้มหดตัวลงจากความไม่แน่นอนของราคาเกษตรและสภาพอากาศที่แปรปรวน ขณะที่ภาคบริการ มีแนวโน้มขยายตัวเพิ่มขึ้น ซึ่งหมวดสินค้าของฝาก อาหารและเครื่องดื่มสูงขึ้นกว่าร้อยละ 5.4
โอกาสสำคัญสำหรับการพัฒนาเศรษฐกิจ
- จังหวัดตรังมีพื้นที่ที่มีความหลากหลายทางภูมิศาสตร์เหมาะเป็นแหล่งผลิตผลผลิตทางการเกษตรที่มีคุณภาพ สอดคล้องกับการพัฒนาของโลกที่ให้ความสําคัญต่อการผลิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
- ทำเลที่ตั้งจังหวัดอยู่กึ่งกลางของภาคใต้ สามารถเชื่อมโยงกระจายสินค้า กับจังหวัดที่เป็นศูนย์กลางการค้าและท่องเที่ยว
- ตรังเป็นเมืองแห่งเทศกาลและประเพณีที่สามารถท่องเที่ยวได้ ตลอดทั้งปี
- ในช่วงสถานการณ์โควิด-19 เริ่มมีกระแสคนรุ่นใหม่กลับบ้านมาพัฒนาพื้นที่ของคนรุ่นพ่อแม่ และยกระดับสร้างมูลค่าต้นทุนของพื้นที่เกิดผู้ประกอบการหน้าใหม่
- ตรังมีสถาบันการศึกษา เปิดสอนหลักสูตรที่สอดคล้องกับต้นทุนของพื้นที่ เช่น วิชาเทคโนโลยีการประกอบอาหารและท่องเที่ยวบริการ การประมง บริหารธุรกิจ เติมองค์ความรู้และนวัตกรรม ซึ่งจะช่วยเพิ่มมูลค่าสินค้าและสร้างคนรุ่นใหม่ๆ เข้ามาในสายอาชีพ
- ทั้งหมดเป็นโอกาส แต่ก็มีโจทย์สำคัญว่าจะทำอย่างไร จะเชื่อมร้อยเมนูอาหารและเพิ่มโอกาสทั้งระบบ ให้เศรษฐกิจ เมืองตรัง ผู้คน เติบโตในวันที่ยุคสมัยเปลี่ยนไป
หลังจากอ่านชุดข้อมูลเเล้วทางรายการได้จัดทำฉากทัศน์ตั้งต้นให้ทุกท่านได้ลองเลือกกันดูว่า ฉากทัศน์ไหนที่ทุกคนอยากจะให้เกิดขึ้นจริง
ฉากที่ 1 ตรังศูนย์กลางวัตถุดิบอาหารเพื่อสุขภาพ Trang Hub Wellness Food chain
ด้วยความสมบูรณ์ทางธรรมชาติ ทำให้ตรังเป็นแหล่งผลิตอาหารสำคัญและได้รับการรับรองเป็นสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI) อาทิ แหล่งปลูกข้าวเบายอดม่วง ข้าวประจำถิ่นที่มีคุณค่าทางโภชนาการสูง น้ำตาลน้อย พริกไทยปะเหลียน รสชาติเผ็ดร้อนช่วยในการเผาผลาญและต่อต้านอนุมูลอิสระ ผักพื้นบ้านตามฤดูกาลที่ดีต่อสุขภาพ ทั้งหมดนี้สอดคล้องกับเทรนด์ท่องเที่ยวโลกที่เน้นการดูแลสุขภาพอาหารการกินและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
“ตรัง” ตั้งเป้าพัฒนาเป็นศูนย์กลางวัตถุดิบอาหารเพื่อสุขภาพ กระจายไปยังจังหวัดอันดามันและภาคใต้เพราะด้วยภูมิศาสตร์ที่อยู่กึ่งกลาง และมีระบบขนส่งสินค้ารองรับ
ซึ่งฉากทัศน์นี้ต้องให้ความสำคัญกับการดูแลระบบการผลิตห่วงโซ่อาหาร ที่ปลอดภัยต่อสุขภาพตั้งแต่ ต้นน้ำ ระบบการเพาะปลูกที่ไม่ใช้สารเคมี กลางน้ำ การแปรรูปผลิตภัณฑ์ให้คงรสชาติที่ดีต่อสุขภาพ และปลายทางในการส่งต่อไปกลุ่มเป้าหมาย ซึ่งต้องนำความรู้นวัตกรรมและเทคโนโลยีเข้ามาช่วยในการย่นระยะเวลาและคงคุณภาพไว้
ฉากทัศน์นี้เน้นต่อยอดจากฐานเศรษฐกิจเดิมของตรังภาคเกษตร ที่ดูเหมือนจะไม่ต้องลงทุนเพิ่มเติมแต่ก็ต้องใช้เวลาและปรับวิธีการผลิตที่ปลอดภัยตามมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ที่ซับซ้อน แต่ถ้าทำได้ก็จะสามารถกระจายรายได้และสร้างระบบเศรษฐกิจชุมชน ซึ่งรัฐต้องสนับสนุนนโยบายหลักๆ 3 ด้าน นโยบายช่วยเหลือด้านที่ดินทำกิน นโยบายด้านการเงินการคลัง และนโยบายด้านการตลาด ทั้งชุมชน เกษตรกร ผู้ประกอบการท่องเที่ยว สถาบันการศึกษา หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้ามามีส่วนสำคัญในการปรับเปลี่ยนความยั่งยืนในระยะยาว
ฉากทัศน์ 2 ตรังเมืองสร้างสรรค์ด้านอาหารท้องถิ่นร่วมสมัย Food Creative Economy
จากประวัติศาสตร์การเป็นเมืองท่าและเมืองค้าขาย ทำให้ตรังเป็นเมืองที่มีเสน่ห์ทางวัฒนธรรม และมีชื่อเสียงด้านอาหารการกิน สามารถยกระดับและสร้างสรรค์คุณค่าใหม่ให้มีความร่วมสมัย ต่อยอดเป็น เมนูฟิวชันผ่านฝีมือของ Chef table เช่น การนำข้าวเบายอดม่วง ข้าว GI มาแปรรูปเป็นสินค้าสุขภาพ หมึกผัดน้ำดำจากเกาะลิบง เมี่ยงหมูย่างใบกาแฟ สร้างประสบการณ์ใหม่ๆ ลูกค้าที่มีกำลังซื้อ
ซึ่ง Chef table จะต้องทำความเข้าใจที่มาของวัตถุดิบจากท้องถิ่น และคัดสรรเลือกมาใช้ ในเมนูอาหาร อาหารทุกคำที่กินเข้าไปจะช่วยพัฒนาระบบความต้องการของตลาดอาหาร ระบบการจ้างงานในชุมชน ทั้งหมดใช้วัตถุดิบในท้องถิ่นที่เป็นมิตรต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อม และต่อยอดสำหรับธุรกิจร้านอาหารและสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจอย่างครบวงจร
แต่ฉากทัศน์นี้ จำเป็นต้อง Up-Skill Re-Skill ตลาดแรงงานที่เกี่ยวข้อง และพื้นที่แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมอาหารร่วมสมัย ทั้งหมดนี้ต้องอาศัยความเข้มแข็งและความร่วมมือจากภาคเอกชน ผู้ประกอบการ ภาครัฐ และสถาบันทางวิชาการ สร้างสรรค์นวัตกรรมบนพื้นฐานวิทยาการด้านอาหารหลากหลายอย่าง เช่น ยกระดับขีดความสามารถของชุมชนต่างๆ อบรมผู้ประกอบการร้านอาหาร เชฟ พ่อครัว แม่ครัว นักศึกษาด้านคหกรรมและผู้สนใจมารังสรรค์เป็นเมนูอาหาร การนำเทคโนโลยีมาใช้เกิดแพลตฟอร์มใหม่ๆ ที่ทุกคนเข้าถึงและสนับสนุนให้ระบบนิเวศทั้งการท่องเที่ยวและการกินเติบโตไปด้วยกัน งานนี้ก็ไม่ง่าย ต้องใช้เวลาทำความเข้าใจและปรับตัวให้ทันกับความเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วและมีแผนนโยบายสนับสนุนที่ชัดเจน
ฉาก 3 เมืองศูนย์กลางเทศกาลอาหารนานาชาติ Tastes of The World of Trang
พัฒนาตรัง ตั้งเป้าพัฒนาเป็นเมืองศูนย์กลางเทศกาลอาหารนานาชาติ เพื่อส่งเสริมธุรกิจอาหารและเครื่องดื่ม ยกระดับคุณภาพงานเทศกาลเพื่อสร้างประสบการณ์ให้กับคนที่มาเยือน สร้างความเป็นชีวิตชีวา เพื่อดึงดูดการท่องเที่ยว และเชื่อมการลงทุนให้ประเทศอาเซียน ยกระดับอาหารพื้นถิ่นตรังให้มีความสากลระดับนานาชาติ เช่น เค้ก หมูย่าง อื่นๆ
กําหนดปฏิทินงานในแต่ละเดือน เพื่อดึงผู้คนให้มาเยือนตรังได้มีส่วนร่วม ในส่วนมิตินานาชาตินั้นจะกําหนดยุทธศาสตร์ที่ชัดเจน ให้เป็นจุดหมายปลายทางที่นานาชาติต้องมา บุกตลาดต่างประเทศระดับพรีเมี่ยมอย่างเต็มตัว พัฒนาสิ่งใหม่ๆ ที่น่าสนใจเกิดขึ้นในทุกวัน ใช้กลยุทธ์ขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้วยงานเทศกาลที่ต้องทำอย่างต่อเนื่อง โดยการนําซอฟต์พาวเวอร์ด้านวัฒนธรรม ประเพณี วิถีชีวิตของเมืองและชุมชนมามาผสานเข้ากับการออกแบบกิจกรรมที่จะสร้างประสบการณ์ใหม่ๆ
ฉากทัศน์นี้ ต้องเตรียมความพร้อมของเมือง เเละความหลากหลายของงานเทศกาล เป็นเครื่องมือกระตุ้นเศรษฐกิจในมิติต่าง ๆ รวมถึงการท่องเที่ยว ที่สามารถสร้างงาน สร้างอาชีพให้กับคนในพื้นที่ได้ เเละต้องอาศัย ความร่วมมือจากทุกฝ่ายทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน รวมถึงภาคประชาชน ในระดับท้องถิ่นและนโยบายในการร่วมผลักดันเมืองตรังให้น่าอยู่ น่าท่องเที่ยว เพื่อสร้างเศรษฐกิจและเม็ดเงินให้ประชาชนอย่างทั่วถึง
“การทำอาหาร ต้องใช้วิทยาศาสตร์ ใช้เทคโนโลยีเข้ามาเกี่ยวข้องสามารถทำให้ตัวอาหารเกิดเป็นองค์ประกอบใหม่ๆที่ครัวทั่วไปทำไม่ได้ มาเรียนรู้เพิ่มมูลค่าก็จะเพิ่มขึ้น” เป็นคำพูดของ ดร. ทรงศักดิ์ดา ชยานุเคราะห์ ผู้อำนวยการมหาวิทยาลัยสวนดุสิต ศูนย์การศึกษา ตรัง กล่าวว่า ในส่วนของมูลค่าของอาหารจะเป็นส่วนสำคัญอย่างมาก ตอนนี้มองว่า สถานการณ์ของจังหวัดตั้งแต่มีการปรับเปลี่ยนเรื่องเศรษฐกิจจากที่เน้นการเกษตร พอการเกษตรไปไม่ได้ เราถอยกลับไปที่การใช้วัฒนธรรมทางอาหารที่มีอยู่มาเป็นทางรอด ด้วยวัฒนธรรมที่หลากหลายการผลิตก็หลากหลายวัตถุดิบก็หลากหลายซึ่งมีอยู่เเล้วตั้งแต่อดีต เอาสิ่งเหล่านี้มาสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจ ผมพูดถึงย้อนไปสัก 10 – 20 ปีตอนนั้นเราทุกคนอาจจะเข้าใจว่ามันเป็นแมสอยู่ ก็คือผลิตให้มากเพื่อขายออกไปอันนั้นคืออดีต
แต่ปัจจุบันไม่เป็นแบบนั้นแล้ว ร้านอาหารเกือบทั้งหมดเอาของดีเข้ามาปรุงเพื่อนำเสนอออกไป ตอนนี้ทุกการผลิตไม่ว่าจะเป็นแปลงเล็ก แปลงใหญ่การผลิตมีมาตรฐานในเรื่องของความปลอดภัย สินค้าที่ผลิตออกมาเริ่มขายได้ตั้งแต่ต้นน้ำมีมูลค่าสูง พอมาอยู่กลางน้ำมีบ้างธุรกิจเข้าไปบริหารจัดการกระจายส่งออกไปนอกพื้นที่ ทำให้ต้นทางที่เป็นวัตถุดิบมันเริ่มลดลง มีข้อมูลชัดว่าต่อให้เราผลิตและใช้เองทั้งหมดก็ยังไม่พอ
มองว่าเราก็ต้องกลับมาดูเรื่องวัตถุดิบที่ดีๆเข้ามาสู่การประกอบการ หลายร้านในตรังตอนนี้ปรับตัวไปสู่การนำสินค้าจากวัตถุดิบต้นทาง ปรับแต่งสร้างเป็นมูลค่าที่มีราคาสูง ก็เป็นเรื่องที่ส่งเสริมเศรษฐกิจได้
เราจะยกระดับเราต้องมาดูว่าสินค้าวัฒนธรรมอะไรที่เป็นตัวหลักๆที่เรามี เเละทำไงให้Highขึ้น ทางมหาลัยฯก็เข้าไปส่งเสริมเรื่องการทำอาหาร ที่ต้องเรียนเรื่องวิทยาศาสตร์ การใช้เทคโนโลยีความรู้เข้ามาเกี่ยวข้อง สามารถทำให้ตัวอาหารเกิดเป็นองค์ประกอบใหม่ๆที่ครัวทั่วไปทำไม่ได้ ก็ทำให้เกิดการเพิ่มมูลค่าได้
เพราะฉะนั้นผมมองว่าเศรษฐกิจที่เกี่ยวข้องกับอาหารเรากำลังอยู่ในจุดเริ่มต้น ที่จะก้าวไปเป็นสินค้าที่มีมูลค่าสูง
อาหาร จังหวัดตรังถ้าเทียบกับหลายๆ จังหวัดตอนนี้มองว่า จำนวนร้านอาหารใหม่ๆที่เกิดขึ้นสไตล์ของอาหาร มักจะเป็นอาหารที่เชื่อมโยงกับความเป็นท้องถิ่นแต่ยกระดับไปสู่ความเป็นสากล ซึ่งทางภาควิชาการทางด้านการอาหาร เรามีหลักคิดอยู่ว่า จะต้องเอาความเป็นอินเตอร์เนชั่นแนล นำอาหารสากลในหลายประเทศหลายวัฒนธรรมเข้ามาให้ความรู้กับท้องถิ่นผ่านการศึกษา ขณะเดียวกันเราต้องนำอาหารท้องถิ่นที่เรามียกระดับไปสู่สากล
ซึ่งฉากทัศน์ที่ 1 เรามีความพร้อมตั้งแต่ทรัพยากรพื้นฐานส่วนของปลายทางเรามีเรื่องขององค์ความรู้เข้ามาใช้ในการจัดการเรื่องของอาหารที่ดี ไปสู่ผู้บริโภค เเละเชื่อมโยงกับวัตถุดิบที่เกิดขึ้น ยกระดับเพื่อให้นานาชาติรับรู้และสามารถต่อยไปได้ไกล
นางสาวลดาวัลย์ ช่วยชาติ ผอ.ททท.ตรัง กล่าวว่า ในส่วนของงบรายได้จากการท่องเที่ยวจะบอกได้เลยว่ามันหมวดอาหาร คือหมวดที่มีรายได้มากที่สุดของจังหวัดตรัง ซึ่งต่างจาก จ.ภูเก็ต จ.พังงา จ.กระบี่ ที่รายได้จากการท่องเที่ยว มาจากหมวดของที่พัก ก็จะสูงหลายร้อยเปอร์เซ็นต์
สำหรับเศรษฐกิจของจังหวัดตรังเรื่องอาหารล้อกับภาคการเกษตร ภาคประมงพื้นบ้าน ภาคปศุสัตว์ อันนี้จะช่วยได้เยอะ เพียงแต่ว่าทำอย่างไรให้นโยบายหน่วยงานท้องถิ่นเข้าไปซัพพอร์ตภาคการผลิต เอาความต้องการของตลาดนำการผลิต เเละต้องใส่ใจในเรื่องของสุขภาพดี กินแล้วต้องสุขภาพดี
ในช่วงโควิดความต้องการของตลาดทั่วโลกก็คืออาหารที่สร้างภูมิคุ้มกันโตขึ้นมาก นี่เป็นโอกาสที่ดี เราจะทำอย่างไรให้การเกษตร ภาคเกษตรปศุสัตว์ ประมง ผลิตอาหารที่ดี ที่ปลอดภัย เเละกินอาหารกินแบบมีศาสตร์และศิลป์กินยังไงสุขภาพดี
เเละทำอย่างไรที่เราจะนำผลลิต จากเกษตรกร ประมงพื้นบ้าน ปศุสัตว์ ไปยังโรงเเรม ร้านอาหารได้อย่างเพียงพอ จำเป็นต้องมีคนกลางไปช่วยจัดระบบที่จะส่งวัตถุดิบเหล่านี้ไปยังร้านอาหารร้านอาหารในตรัง ถ้าเกินเราสามารถส่งไปยังในจ.ในอันดามัน ภูเก็ตพังงากระบี่ ที่นักท่องเที่ยว 20 ล้านคน
ซึ่งระบบการขนส่งไม่ได้ไกลมากเพราะฉะนั้นถ้าเราผลิตอาหารที่ดีกับสุขภาพ คนกินมีความสุข กินเสริมภูมิคุ้มกันให้กับร่างกาย สุขภาพดี นักท่องเที่ยวที่มาก็มีความสุข เพราะเรามีเป็นแหล่งที่อากาศดี ส่งผลให้วัตถุดิบของเราดีกว่าจังหวัดใกล้เคียง
“ปัจจุบันจีดีพีของตรังมันหดตัวลง เนื่องจากภาคเกษตรมันไม่ได้โตตามที่เราคาดหวัง” เป็นคำพูดของ ศิริพจน์ กลับขันธ์ ประธาน YEC ตรัง กล่าวว่า จีดีพีของเรามันถูกขับเคลื่อนด้วยภาคเกษตรที่เป็น ยางพารา ปาล์มน้ำมันซึ่งสองพืชเศรษฐกิจหลักๆก็แปรผันไปตามวัฏจักรของกลไกของตลาดโลก ซึ่งในอดีตเราเคยเฟื่องฟูทำให้เงินในกระเป๋าของคนตรังมันอู้ฟู่ ในช่วงนั้นจีดีพีอยู่ต้นๆของภาคใต้
แต่พอมาดูในปัจจุบันจีดีพีของตรังมันหดตัวลง เนื่องจากภาคเกษตรมันไม่ได้โตตามที่เราคาดหวัง เกษตรกรที่เราเคยมีคุณภาพชีวิตที่ดี มีความเป็นอยู่ที่ดี ก็ต้องปรับ การปรับตัวในเชิงเศรษฐกิจง่ายๆ ถ้ามองในภาพใหญ่ว่าถ้าเกษตรไม่ดี แล้วเราจะไปกระตุ้นอะไรที่มันจะทำให้ความเป็นอยู่ของคนตรังดีขึ้น คิดง่ายๆคือการท่องเที่ยว เพราะว่าเรามีต้นทุนทางทรัพยากรที่ดี มีเขา ป่า นา เล
แต่ก็มีอุปสรรคบางอย่างที่ทำให้การพัฒนาด้านการท่องเที่ยวทำได้ยาก ไม่เหมือนกับจังหวัดใกล้เคียงอื่นๆ อย่างกระบี่หรือ ภูเก็ต เขามีต้นทุนทางด้านทรัพยากรที่ดีใกล้เคียงกับตรัง แต่องค์ประกอบปัจจัยอื่นๆที่เอื้อให้เกิดการลงทุนหรือการกระตุ้นทางด้านเศรษฐกิจด้านการท่องเที่ยวได้ดีกว่าจังหวัดตรัง แสดงว่าตรังเรามีอุปสรรคบางอย่าง
ถ้าเราอยากจะโปรโมตด้านการท่องเที่ยว เราก็มองว่าสิ่งที่เรามีดี มันจะเสริมด้านการท่องเที่ยวได้ด้วยคือ อาหารการกินเพราะว่าวัฒนธรรมการกินของตรังมีมาอย่างยาวนาน มีความหลากหลาย จีน มุสลิม เราก็มีผู้เชี่ยวชาญอยู่มาก ไม่แพ้กับจังหวัดอื่นๆใกล้เคียง แต่จะมาต่อยอด เล่าเรื่องเหล่านี้ออกมาให้เห็นภาพชัดได้อย่างไร
มองว่า เรื่องของWellness จำเป็นต้องทำเพราะว่าเทรนด์โลก เกษตรกร ผู้ประกอบการ ต้องปรับตัวทำงานร่วมกันเพราะตอนนี้ปัญหาคือข้อมูลมันไม่เชื่อมกันทั้งฝั่งผลิตเเละผู้ใช้ต้องการใช้ มันเป็นเรื่องของ DATA MANAGEMENT ที่ต้องมีเรื่องของข้อมูล ว่าซีซั่นนี้จะมีอะไรออกมาเพื่อไม่ให้มากหรือน้อยเกินไป เกษตรกรจะปลูกอะไร ผู้ประกอบการจะเลือกใช้อะไรต้องบาลานซ์ แต่ไม่มีคนทำตรงนี้ ผมว่าเรื่องของการบูรณาการร่วมกันระหว่างภาครัฐและเอกชนต้องทำร่วมกัน เพราะว่าคนที่ใช้ข้อมูลก็คือคนในพื้นที่
เเละผมคิดว่าอีกเรื่องที่ทำได้ทันทีแล้วควรจะทำคืออีเว้นท์อาหาร เพราะว่าเรื่องนี้เรามีอยู่เดิมอยู่แล้ว เรื่องของอีเว้นท์มันกระตุ้นการท่องเที่ยวและเห็นผลลัพธ์ได้จริง
แต่ทำยังไงให้อีเว้นท์ที่เรามีอยู่เดิมมันยกระดับเป็นอินเตอร์เนชั่นแนลได้คงไม่ง่าย แต่ว่าถ้าไม่สตาร์ทวันนี้มันก็ไม่รู้ว่าเมื่อไหร่จะสำเร็จ
เราเคยมีอีเว้นท์ที่เราทดลองงานสเกลเล็กๆที่จะรวมกลุ่มมาออกร้านกันหรือแม้กระทั้งล่าสุดเราทำอีเว้นท์เทศกาลดื่มตรัง เป็นอีเว้นท์เกี่ยวกับเครื่องดื่ม นำกลุ่มคนสร้างสรรค์มาจากทั่วประเทศมาเทคโอเวอร์บาร์ สร้างInspirational ขยายจากจุดเล็กๆให้มันค่อยๆใหญ่ขึ้น
เรามีแนวคิดที่จะยกระดับงานหมูย่าง ขนมเค้กให้มันมีความเป็นอินเตอร์เนชั่นแนลมากขึ้น เราอยากจะเล่าเรื่องหมูย่างของเราให้มันมีความอินเตอร์มากขึ้น มันไม่จำเป็นต้องเป็นหมูย่างเมืองตรังอย่างเดียว แต่ว่าเอาหมูย่างเมืองตรังเป็นไฮไลท์ของงาน เเละมีหมูเกาหลี หมูญี่ปุ่น หมูเยอรมันต่างๆมารวมกัน
ถ้าเราลองทำอีเว้นท์เดิมด้วยมุมมองใหม่ๆด้วยแนวคิดสร้างสรรค์ใหม่ๆ มีความน่าสนใจ ก็กระตุ้นเศรษฐกิจได้เเต่เราต้องทำไปพร้อมๆกัน
คณพร จันทร์เจิดศักดิ์ เชฟเจ้าของร้านในจ.ตรังกล่าวว่า เราใช้วิธีเดิมๆคือเพาะปลูก พืชพรรณที่เป็นต้นทุนด้านวัตถุดิบ อยากจะให้หน่วยงานหรือฝ่ายที่เกี่ยวข้องมาพัฒนาเรื่องเกษตรกรรม เรื่องความมั่นคงทางด้านของพืช สวน ข้าว อาหารทะเล ตอนนี้ส่วนที่เราอยากได้ไม่พอจัดจำหน่าย เวลาเราหาวัตถุดิบตามฤดูกาลหรือนอกฤดูกาล ของในฤดูกาลเราก็ใช้ ของนอกฤดูกาลแล้วก็อยากได้ ตรังก็มีพื้นที่ที่มากที่สุดแล้วในภาคใต้ฝั่งอันดามัน แต่ผลผลิตยังไม่พอกับความต้องการเพื่อมาสนองต่อคนที่ทำร้านอาหาร เรามีปัญหาเรื่องการใช้วัตถุดิบในพื้นที่
วัตถุดิบบางอย่างที่เคยใช้ ก็ไม่มีมันหายไป พอในตลาดเนี่ยเราไม่ได้สะท้อนความต้องการของมันเขาก็ไม่ผลิตตามออกมา พอหายไปเราฟื้นฟูอยากจะส่งต่อให้เด็กๆหรือว่าเกษตรกรรุ่นใหม่ปลูก เเต่ก็เข้าใจว่าเรื่องผลผลิตมันต้องใช้เวลา
ซึ่งอาหารดั้งเดิมอาหารโมเดิร์นหรือว่าฟิวชั่น เราพัฒนาไปถึงว่าอาหารฤดูกาลพื้นถิ่นในภูมิศาสตร์ตรัง มีหลายอย่าง อยากให้เอามาใช้ แทนการนำเข้า ทำอย่างไรพืชในท้องถิ่นสามารอยู่ได้
เป็นเพียงส่วนหนึ่ง จากวง อาหารตรัง กับโอกาสการพัฒนาเศรษฐกิจ สามารถพัฒนาสร้างสรรค์และต่อยอดทุนทางวัฒนธรรม ไปสู่โอกาสใหม่ๆ ได้หลากหลาย ซึ่งวันนี้ ก็เชื่อว่าหลายท่านที่กำลังดูอยู่ จะได้ไอเดีย ได้แนวคิดที่สามารถนำไปประยุกต์ใช้เพื่อพึ่งตนเองได้ ที่สำคัญมีหลายโจทย์หลายข้อเสนอที่ต้องขบคิดกันต่อคะ
ร่วมโหวตฉากทัศน์ : ได้ที่นี่