แรงงานหญิงได้อะไรจาก กฎหมายประกันสังคมฉบับใหม่

แรงงานหญิงได้อะไรจาก กฎหมายประกันสังคมฉบับใหม่

บัณฑิต แป้นวิเศษ / หัวหน้าฝ่ายแรงงานหญิง และขับเคลื่อนนโยบายด้านสตรี มูลนิธิเพื่อนหญิง

นับเป็นเวลาเกือบ 25 ปี ที่ประเทศไทย มีกฎหมายประกันสังคมออกมาใช้เพื่อสร้างความมั่นคงในการทำงาน แรงงานหญิง นับเป็นเฝืองจักรสำคัญอีกส่วนหนึ่งในการสร้างเศรษฐกิจ สร้างสังคม โดยเฉพาะแรงงานหญิง ที่ทำงานอยู่ในโรงงาน หรือภาคบริการที่มีนายจ้าง มีการจ่ายค่าจ้าง โดยนายจ้างต้องแจ้งและส่งเงินสมทบเข้าประกันสังคม(มาตรา 33)  ส่วนแรงงานหญิงอีกสองกลุ่มใหญ่ ที่ต้องออกจากงานหรือถูกเลิกจ้างและต้องการประกันตนเองต่อ (ม.39) และอีกส่วนหนึ่งหนึ่งเป็นแรงงานนอกระบบ ที่ต้องการประกันตนเองโดยสมัครใจ(ม.40)

ที่ผ่านมาไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลโดยพรรคประชาธิปัตย์ หรือพรรคเพื่อไทย มีพี่น้องผู้ใช้แรงงานโดยการนำของคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย เครือข่ายนักวิชาการแรงงาน องค์กรพัฒนาเอกชนด้านแรงงาน เครือข่ายแรงงานข้ามชาติ กลุ่มรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ ได้เรียกร้องและเข้าชื่อ 14,000กว่าชื่อยื่นต่อรัฐบาลให้มีการปรับปรุงกฎหมายประกันสังคม ซึ่งต่อมาได้มีการดึง 7 สภาแรงงาน เข้าร่วม ด้วยสถานการณ์รัฐบาลที่เรียกตัวเองว่า “คณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ(คสช.)”ได้เข้าบริหารประเทศ ทำให้องค์กรการขับเคลื่อนต้องยกระดับและเรียกตนเองขึ้นมาใหม่ในนามเครือข่ายประกันสังคมคนทำงาน (คปค.) ซึ่งต้องการให้ประกันสังคมมีการเปลี่ยนแปลง โดยยึดหลักการ 4 ประการ เพื่อการปฏิรูปประกันสังคม ให้เป็นหลักประกันในการคืนความสุขสู่ประชาชน กล่าวคือ หนึ่ง ครอบคลุมคนทำงานที่มีรายได้ทุกคนในประเทศไทย เท่าเทียม เป็นธรรม สอง การบริหารจัดการต้องมีส่วนร่วม กระจายอำนาจ ตามหลักธรรมาภิบาล และบริหารแบบมืออาชีพ สาม มีรูปแบบการบริหารจัดการด้านสิทธิประโยชน์ การบริการ และการลงทุน ต้องสอดคล้องกับภาวะเศรษฐกิจ สังคม และปัญหาความต้องการของผู้ประกันตนในปัจจุบัน และสี่ ต้องมีความเสถียรภาพ ยั่งยืนของการบริหารจัดการกองทุนบำนาญชราภาพ

ปัจจุบันร่างพระราชบัญญัติประกันสังคม(ฉบับที่…) พ.ศ. …ได้ผ่านการพิจารณาจากสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.)ในวาระ 3 เมื่อวันที่ 5 มีนาคม 2558 รอนำขึ้นทูลเกล้าฯเพื่อประกาศใช้ต่อไปนั้น นับเป้นเรื่องที่น่าสนใจว่ามีการปรับปรุงอะไรบ้างในส่วนของประกันสังคมที่เกี่ยวกับแรงงานหญิง ที่ผู้หญิงควรรู้

หนึ่ง คำนิยาม ได้ให้ความหมายของคำว่าลูกจ้างครอบคลุมมากขึ้น โดย เขียนว่า “ลูกจ้าง” หมายความว่า ผู้ซึ่งทำงานให้นายจ้าง โดยได้รับค่าจ้าง” ทำให้แต่เดิมลูกจ้างที่เป็นคนทำงานรับใช้ในบ้านเข้าประกันสังคมไม่ได้ สามารถเข้าเป็นสมาชิกประกันสังคมได้แล้ว

สอง ผู้ประกันตนกับสิทธิประโยชน์การคลอดบุตร กฎหมายใหม่ให้คงสิทธิเดิมไว้ แต่ให้จำนวนครั้งของการได้รับสิทธิประโยชน์ไม่จำกัดจำนวน หมายถึงว่าจะคลอดกี่ครั้งก็ได้ ไม่จำกัดคลอดได้ 2 ครั้งตามกฎหมายเดิม เหตุผลเพราะประเทศไทยมีจำนวนประชากรน้อยลง แต่ผู้สูงอายุมากขึ้น จึงน่าจะเป็นแรงจูงใจต่อการเพิ่มประชากรให้มากขึ้นในอนาคต

สาม การสงเคราะห์บุตรของผู้ประกันตน กฎหมายใหม่ปรับให้การได้สิทธิประโยชน์ทดแทนสงเคราะห์บุตร ต้องชอบด้วยกฎหมาย ไม่รวมบุตรบุญธรรมหรือบุตรที่ยกให้เป็นบุตรบุญธรรมของบุคคลอื่น อายุ 0 – 6 ปี โดยเป็นการเหมาจ่ายรายเดือนๆละ 400 บาท จำนวนครางละไม่เกิน 3 คน จากเดิมได้เพียงไม่เกินคราวละ 2 คน

ทั้งนี้การจะใช้กฎหมายที่กล่าวมาในข้างต้นได้ จะต้องรอให้พ้นกำหนด 120 วัน นับแต่วันประกาศลงในราชกิจจานุเบกษา โดยสำนักงานประกันสังคม กระทรวงแรงงาน จะต้องมีการยกร่างทำกฎหมายลูก (ประกาศกฎกระทรวง) เพื่อรองรับกฎหมายภายใน 120 วัน จะเห็นได้ว่าการปรับสิทธิประโยชน์ส่วนของแรงงานหญิงในการเป็นผู้ประกันตน ครั้งนี้ยังมีบางเรื่องกับการใช้สิทธิการส่งเสริมป้องกันสุขภาพฯที่ต้องทำให้ครอบคลุม อาทิ เรื่องการลาไปฝากครรภ์ ให้ได้รับค่าจ้างเต็ม และถือว่าเป็นวันหยุด เรื่องนี้นับเป็นเรื่องการส่งเสริมสุขภาพและการป้องกันโรค และการจ่ายเงินช่วยเหลือเบื้องต้นกรณีผู้ประกันตนได้รับความเสียหายจากการบริการทางการแพทย์ (มาตรา63/1)ในกฎหมายประกันสังคมฉบับใหม่ ซึ่งกำลังเข้าสู่การประชุมคณะอนุกรรมการกลั่นกรองกฎหมายประกันสังคม ลำดับรองที่ตั้งโดยกระทรวงแรงงาน  สุดท้ายนี้คงต้องฝากคณะอนุกรรมการฯชุดนี้ได้ให้ความสำคัญกับการจัดทำกฎหมายลูกให้ผู้ประกันตนสามารถนำมาใช้ปฏิบัติใช้ได้จริง  เพราะนี่คือชีวิตที่มีคุณภาพของคนทำมาหากินอีกส่วนหนึ่งที่ถูกเรียกว่า “แรงงานหญิง”

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ