ตื่นมาแต่ละวันถ้าไม่ทำงานก็ไม่มีกิน ต้องหาเงินเข้าครัวเรือนให้ได้ 300 – 400 บาทต่อวัน ไว้ซื้อข้าวกินเดือนละ 2 กระสอบ ประมาณ 3,000-4,000 บาทต่อเดือน มีสมาชิกในครัวเรือน 4 คน ไม่มีที่ดินทำกิน รับจ้างทั่วไปตามฤดูกาล ได้แก่ ดำนา เกี่ยวข้าว ปลูกมันสำปะหลัง ก่อสร้างต่อเติมบ้าน พึ่งทรัพยากรจากธรรมชาติเพื่อดำรงชีพและสร้างรายได้ เช่น หาเห็ดป่า หาหน่อไม้ หาปลา เป็นต้น เสียงสะท้อนจากครัวเรือนบางส่วนที่มีลักษณะอยู่ยาก จากการลงพื้นที่มอบของช่วยเหลือสังคม บ้านดงสาร ตำบลโพนงาม อำเภออากาศอำนวย จังหวัดสกลนคร
“ขอบคุณที่ให้โอกาสลูกหลานคนบ้านนอกคนหนึ่งได้พัฒนาศักยภาพของตัวเองครับ จะไม่ยอมหยุดเท่านี้แน่นอนครับ คุณภาพชีวิตของคนรากหญ้าต้องดีขึ้นต้องยืนหยัดด้วยความภาคภูมิใจครับ ขอบคุณแทนพ่อแม่พี่น้องคนไทบ้านด้วยครับ” นายณรงฤทธิ์ ขวาวงษา ประธานวิสาหกิจชุมชนปลูกเห็ดไร้สารบ้านเสาวัด กล่าวตอกย้ำว่าอยากทำธุรกิจเพื่อสังคมจริงจริง พร้อมกับคณะทำงานโค้งคำนับฟาร์ม จัดโครงการมัชรูมมัดใจสร้างสายใยไออุ่นทุนสังคม ครั้งที่2 ประจำเดือน มิถุนายน 2566
ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านดงสาร เล่าการมีส่วนร่วมในครั้งนี้ว่า ได้รับการประสานจากคณะโค้งคำนับฟาร์มบ้านเสาวัด ร่วมกับ มหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนคร จะลงมามอบของช่วยเหลือครัวเรือนยากจนยากไร้ จำนวน 20 ครัวเรือน ขอให้ทางหมู่บ้านคัดเลือกและพาไปมอบของถึงบ้านในช่วงบ่ายวันเสาร์ที่ 17 มิถุนายน 2566 รู้สึกดีใจแทนคนในชุมชน ผมอยากประกาศให้ชาวบ้านได้รับรู้ว่ามีคณะไหนมาช่วยเหลือบ้าง แต่กลัวว่าครัวเรือนอื่นที่ไม่ได้รับการคัดเลือกจะน้อยใจ เนื่องจากครัวเรือนยากจนหาเช้ากินค่ำในหมู่บ้านมีมาก เป็นโครงการที่อยากให้ดำเนินการต่อ
นายนวพันธ์ วงษ์ธาตุ วิศวกรสังคม ปี 4 ได้มาร่วมกิจกรรมครั้งนี้กล่าวว่า พวกเราแบ่งกันเป็นสองทีม ผมอยู่ทีมที่สอง ได้ลงไปมอบสิ่งของให้ครัวเรือนยากจน สังเกตเห็นว่าครัวเรือนส่วนใหญ่ได้ซื้อข้าวกิน บางครัวเรือนข้าวไม่พอกิน บางครัวเรือนบ่นว่าข้าวแข็ง มียายอายุมากอยู่กับหลานและเหลน ลักษณะบ้านเรือนเป็นไม้ไม่ค่อยแข็งแรงในบริเวณบ้านเป็นพื้นดินทราย เส้นทางในหมู่บ้านเป็นดินเวลาฝนตกมีโคลนตม ได้สัมผัสบริบทชุมชนจริงได้เห็นอะไรใหม่เพิ่มเติม ทั้งการเป็นอยู่ของคนในชุมชน มองเห็นวิถีชีวิตที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะของชุมชนนั้น ที่สำคัญภูมิใจที่ได้มีส่วนช่วยเหลือครัวเรือนเหล่านั้นได้ทันที
อาจารย์สายฝน ปุนหาวงค์ หัวหน้าโครงการวิจัยแก้จนด้วยเกษตรมูลค่าสูงฯ ได้นำ “วิศวกรสังคม” คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนคร มาร่วมกิจกรรมครั้งนี้ด้วย กระบวนการวิศวกรสังคมเป็นการจัดการเรียนการสอนบูรณาการกับงานวิจัย นำเครื่องมือสู่การพัฒนาชุมชนจากสถานการณ์จริง บ้านดงสารเป็นพื้นที่เป้าหมายในงานวิจัยฯ อยู่นิเวศน์ลุ่มน้ำสงคราม อาชีพส่วนใหญ่ชาวบ้านทำนาปรังบนพื้นที่ทุ่งพันขัน 4,000 ไร่ ปัญหาสำคัญ คือ ซื้อเมล็ดพันธุ์ข้าวแพง ข้าวแข็งจำเป็นต้องขายข้าวเปลือกในราคาอาหารสัตว์ จึงนำนวัตกรรมกระบวนการปลูกเมล็ดพันธุ์ข้าวพันธุ์พื้นเมือง มาใช้ทดลองปลูกจำนวน 40 ไร่ เกิดกองทุนเมล็ดพันธุ์ข้าวเพื่อให้ชาวบ้านกู้ยืมแลกเปลี่ยนได้ในรอบการผลิตครั้งต่อไป
ครูสุวรรณ บงศ์บุตร อดีตผู้อำนวยการโรงเรียน แจ้งข้อมูลสถานการณ์ฐานทรัพยากรในบ้านดงสารปัจจุบันว่า หน่อไม้ ปลา เห็ด มันแซง เริ่มลดลงหายากแล้วเนื่องจากคนนอกพื้นที่เข้ามาใช้ประโยชน์จำนวนมาก แต่โชคดีชาวบ้านได้สร้างพื้นที่ขยายและอนุรักษ์พันธุ์ปลาไว้ 2 วัง ได้แก่ วังอนุรักษ์หนองหมากแซว พื้นที่ 125 ไร่ และวังอนุรักษ์กุดสิ้ว พื้นที่ 12 ไร่ ในช่วงปี พ.ศ.2547 ผลกระทบอีกอย่างที่ทำให้ชาวบ้านขาดแคลนข้าวคืออุทกภัยช่วงฤดูน้ำหลากพื้นที่ทุ่งพันขัน 4,000 ไร่ ท่วมหมดเลย จึงได้เปลี่ยนวิถีทำนาปรังแทน
บ้านดงสาร มีปัญหาหลายอย่างที่ทับซ้อนทั้งภูมิรัฐศาสตร์และภูมิศาสตร์ ทางออกปัญหานี้คือความเข้มแข็งของชุมชนกับการพัฒนาแบบมุ่งเป้าจากทุกหน่วยงาน ด้วยการเพิ่มรอบวัฏจักรเศรษฐกิจชุมชนหมุนเวียนให้ได้หลายรอบ พัฒนาบนฐานทุนวัฒนธรรม แต่ดูเหมือนว่าเป็นภาพฝันที่ห่างเหินเกินจริงไปสำหรับครัวเรือนยากจนที่ต้องกินต้องใช้ทุกวัน แต่อย่างไรโครงการมัชรูมมัดใจสร้างสายใยไออุ่นทุนสังคม ที่กำลังดำเนินการอยู่นี้สามารถช่วยบรรเทาความหิวได้ในระยะสั้นเป็นอย่างดี
ที่มา : www.1poverty.com
เรียบเรียงโดย : สมชาย เครือคำ (แตงโม สกลนคร)
ดำเนินการ : โครงการพัฒนาระบบห่วงโซ่การผลิตเกษตรมูลค่าสูง ด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรม เพื่อยกระดับเศรษฐกิจชุมชน มหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนคร ติดตามได้ที่ blogOnePoverty และ blockdit และ Facebook
แหล่งทุนวิจัย : หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) ติดตามได้ที่ งานยุทธศาสตร์ขจัดความยากจนแบบเบ็ดเสร็จและแม่นยำ