หลังรัฐประหารปี 2534 รัฐบาลของนายอานันท์ ปันยารชุน ที่แต่งตั้งโดยคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (รสช.) แสวงหาการยอมรับจากประเทศพัฒนาแล้ว ด้วยการแก้ไข พรบ.สิทธิบัตร ยอมให้สิทธิบัตรผลิตภัณฑ์ยา ก่อนหน้าที่ไทยต้องผูกพันตาม WTO ถึง 5 ปี และก่อนหน้าที่อินเดียจะปฏิบัติตาม WTO (โดยที่ใช้ช่วงเวลาเปลี่ยนผ่านที่อนุญาตอย่างเต็มเหยียด) ถึง 13 ปีเต็ม
ผลกระทบ คือ ยาที่ขายในไทยมีราคาแพงจากการติดสิทธิบัตร และทำลายอุตสาหกรรมยาในประเทศซึ่งเมื่อ 20 กว่าปีที่แล้วเคยมีศักยภาพเหนืออินเดีย
หลังรัฐประหารปี 2549 รัฐบาลของพล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ ที่แต่งตั้งโดยคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (คมช.) แสวงหาการยอมรับจากประเทศพัฒนาแล้ว ด้วยการลงนามความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจไทย-ญี่ปุ่น (JTEPA) ที่ รัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ดำเนินการไว้ โดยไม่ได้ทบทวนสาระใดๆ
ผลกระทบ คือ การลดภาษีขยะนำเข้าจากญี่ปุ่นทุกประเภท ลงเหลือ 0% เพื่อเปิดโอกาสให้ญี่ปุ่นนำขยะสารพิษมาทิ้งในประเทศไทย ไม่ว่าจะเป็น ขยะอิเล็คทรอนิค ขยะพิษ ตะกอนน้ำเสียจากโรงงานอุตสาหกรรมและเตาเผาขยะซึ่งมีไดอ๊อกซินสูง ขยะติดเชื้อจากโรงพยาบาล กากปรมาณู ฯลฯ จนเป็นหนึ่งในสาเหตุการลอบทิ้งขยะหลายจุดทั่วประเทศไทยในขณะนี้
รัฐประหารปี 2557 รัฐบาลที่มีอำนาจเต็ม หรือ คณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (ครส.) ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทรโอชา ปฏิบัติหน้าที่นายกรัฐมนตรี จะแสวงหาการยอมรับจากประเทศพัฒนาแล้วด้วยการเอาอะไรไปแลกอีก จึงเป็นเรื่องต้องติดตามว่า นี่จะเป็นประวัติศาสตร์ซ้ำรอยแล้วซ้ำรอยเล่าหรือไม่
เมื่อวานนี้ ในการประชุมวงปิด ณ ส่วนราชการแห่งหนึ่ง ตัวแทนจากสภาอุตสาหกรรมกล่าวเสนอแนะผู้เจรจาเอฟทีเอ ไทย-สหภาพยุโรป “ควรไปบอกทางอียูว่า ให้กลับมาเจรจากับเราเถอะ เพราะตอนนี้การเจรจากับเรา เขาจะมีอำนาจต่อรองมากกว่าในสภาพเช่นนี้ เขาจะได้เปรียบมาก อย่าเลิกเจรจากับไทยเลย”