‘จับตา สังเกต สื่อสาร’ พลังการมีส่วนร่วมของเครือข่ายพลเมือง We Watch

‘จับตา สังเกต สื่อสาร’ พลังการมีส่วนร่วมของเครือข่ายพลเมือง We Watch

“เราอยากให้การเลือกต้ังในทุกครั้งตอบสนองเจตนารมณ์ของประชาชนอย่างแท้จริงและเป็นไปด้วยความโปร่งใส สามารถตรวจสอบได้ เลยอยากเข้ามาสนับสนุนการทำงานของ We Watch เพื่อให้เป็นไปตามเจตนารมณ์ที่เราอยากเห็น”

ณัฐชลี สิงสาวแห หรือ เปิ้ล หนึ่งในทีมข้อมูลของ We Watch ที่ร่วมสังเกต จับตาการเลือกตั้งในวันที่ 14 พ.ค. 2566 บรรยากาศการเลือกตั้งครั้งนี้ถือเป็นประวัติศาสตร์ครั้งสำคัญ เพราะประชาชนจำนวนมากออกมาใช้สิทธิกว่า 80% อีกทั้งเกิดปฏิบัติการของภาคประชาชนหลากหลายในการจับตา ตรวจสอบการเลือกตั้งของเจ้าหน้าที่รัฐ

“เหตุผลที่เข้ามาทำงานกับ We Watch เพราะความกังวลต่อกระบวนการจัดการเลือกตั้งของเจ้าหน้าที่หรือกกต. ในปี 62 ทำให้ยังรู้สึกกังวลกับการเลือกตั้งครั้งนี้ อยากเห็นกระบวนการเลือกตั้งที่สะท้อนสิทธิและเสียงของในฐานะเจ้าของอำนาจอธิปไตยได้อย่างดีที่สุด”

We Watch มาจากไหน ?

We Watch คือกลุ่มเยาวชนอาสาสมัครภาคประชาชนมาตั้งแต่ปี 2562 โดยมีเป้าหมายคือสังเกตการณ์และจับตาการเลือกตั้งเพื่อให้เป็นกระบวนการของระบอบประชาธิไตยและสะท้อนเสียงของประชาชนในฐานะเจ้าของอำนาจอธิปไตย โปร่งใสและยุติธรรม (free and fair) และยังทำงานร่วมกับเครือข่ายประชาชนสังเกตการณ์เลือกตั้งปี 2566 ในหลายพื้นที่

ภาพจากเพจ We Watch

ในช่วงที่ผ่านมา ทั้งกระบวนการและการมีส่วนร่วมของเครือข่ายในแต่ละพื้นที่จากอาสาสมัครและประชาชนทั่วไป สิ่งที่เปิ้ลเห็นคือ ‘พลังของภาคประชาชน’ มีสิทธิในการสังเกตการณ์ ตรวจสอบการปฏิบัติงานของกระบวนการการเลือกตั้งนี้ พอมีหลาย ๆ ภาคส่วนจากเครือข่ายที่มาร่วมช่วยกันผลักดันให้การเลือกตั้งครั้งนี้ผ่านไปด้วยดี

“เห็น ความหวัง ว่า การปฏิบัติของเจ้าหน้าที่จะเป็นไปตามหลักปฏิบัติการที่ถูกต้อง พบความผิดพลาดน้อยที่สุดซึ่งการมาสังเกตการณ์ จับตาเลือกตั้งครั้งนี้เราไม่ได้มาเพื่อจับผิดแต่ว่าเป็นสิทธิที่สามารถทำได้คือการตรวจสอบเพื่อความโปร่งใสในทุก ๆ การเลือกตั้ง”

เปิ้ลกล่าว

มาดูกัน We Watch จับตาอย่างไร

เช้าของวันเลือกตั้งที่มูลนิธิอาสาสมัคร (มอส.) ตั้งแต่ช่วงเปิดหีบเวลา 08:00 น. มีสายจากอาสาสมัครหลากหลายโทรเข้ามาแจ้งความปิดปกติหรือความไม่พร้อมของการทำงานเจ้าหน้าที่ในหน่วยเลือกตั้ง เพราะมีหลายสายโทรเข้ามาจึงต้องตรวจสอบข้อมูลว่าจริงหรือเท็จ ผู้ร้องเรียนมีตัวตนก็จะรับเรื่องร้องเรียนและรวบรวมข้อมูล

แต่ถ้าหากไม่สามารถตรวจสอบแหล่งข้อมูลจากการเข้ามาแจ้งได้ ต้องใช้กระบวนการ “ม้าเร็ว” ลงพื้นที่การทำงานของ We Watch จะมีกระบวนการดังกล่าวเกิดขึ้นตลอดทั้งวันตั้งแต่เปิดหีบ 08:00 น. จนถึง 17:00 น. เวลาปิดหีบ

ทีม We Watch ทำงาน สรุปผลการรายงานกันอย่างเต็มที่ในช่วงสุดท้ายก่อนการปิดหีบ

We Watch นั้นให้ความสำคัญกับการฝึกฝนทักษะการสังเกตการณ์การเลือกตั้งตามหลักปฏิบัติทางสากล เปิดรับสมัครอาสาสมัครและอาสาสมัครในนามบุคคลทั่วไปเข้ามามีส่วนร่วม โดยกระบวนการการทำงานผ่านกลุ่มไลน์ของ We Watch ซึ่งเป็นพื้นที่กลางในการสื่อสาร มีเครือข่ายอาสาสมัครเข้าร่วมจากทุกภูมิภาคทั่วประเทศทำหน้าที่จับตาในแต่ละเขตหน่วยเลือกตั้ง เป็นจำนวนกว่า 9,000 กว่าคน

เลือกตั้ง’66 We Watch เจออะไร !!

“ขณะเดียวกันก็เกิดความสงสัยและการตั้งคำถามว่า ทำไมภาคประชาชนต้องมารวมตัวกันทำหน้าที่นี้ ทั้งที่เป็นบทบาทหน้าที่ของเจ้าหน้าที่รัฐหรือว่ากกต. ที่จะต้องจัดการเลือกตั้งให้เป็นไปด้วยความเรียบร้อย” เปิ้ลสะท้อนความรู้สึกสิ่งที่เจอระหว่างการทำงานครั้งนี้ ซึ่งข้อนค้นพบวันเลือกตั้งมีหลากหลายประเด็น

หลัก ๆ เลย คือ

  1. สถานที่ การอำนวยความสะดวกไม่เอื้อแก่ประชาชน ผู้พิการ ผู้สูงอายุที่มาเลือกตั้ง ในหลายหน่วยเลือกตั้ง อาทิ ทางลาด ด้านหลังคูหาไม่มีกำแพงมาบังด้านหลังทำให้เห็นการลงคะแนนเสียง
  2. เจ้าหน้าที่ขาดความเข้าใจในการปฏิบัติหน้าที่ การห้ามพับบัตรเลือกตั้งก่อนหย่อนหีบ การห้ามพกปากกามาใช้ในหน่วยเลือกตั้งด้วยตนเอง การติดประกาศเอกสารหน้าหน่วยเลือกตั้งที่ติดไม่ครบหรือไม่ติดเลยโดยอ้างว่าเป็นระเบียบที่พึงกระทำ ทำบัตรเลือกตั้งขาด ไม่ให้บัตรใหม่ แต่ใช้เทปกาวแปะ กกต.ตอบแล้วว่า ไม่เป็นบัตรเสีย
  3. ปัญหาเอกสารหน้าหน่วยเลือกตั้งเอกสาร สส.5/5 ไม่ติดประกาศหรือ ข้อมูลผิดพลาดไม่ครบถ้วน ข้อมูลผิดปกติ เช่น ข้อมูลจำนวนบัตรสองประเภทไม่เท่ากัน จำนวนบัตรเลือกตั้งสองประเภทมีจำนวนน้อยกว่าผู้มีสิทธิเลือกตั้งในหน่วย
  4. การมีส่วนร่วมของประชาชนในการสังเกตการณ์เลือกตั้ง เจ้าหน้าที่ปฏิเสธผู้สังเกตการณ์ที่ไม่ได้ถูกส่งมาในนามพรรคการเมือง แจ้งว่าต้องมีหนังสือเป็นเอกสารเท่านั้น โดยเจ้าหน้าที่ปฏิเสธหนังสือรับรองในไลน์ WeWatch กปน.ห้ามถ่ายภาพบริเวณหน่วยและเอกสาร 5/5 มีการข่มขู่ว่าหากถ่ายจะผิด กม.เลือกตั้ง ห้ามอาสาสมัครถ่ายรูปบอร์ดต่างๆ และขอถ่ายรูปบัตรอาสาสมัคร เป็นต้น

จับตาแล้ว จับตาอยู่ จับตาต่อ เลือกตั้งครั้งหน้าต้องเตรียมการอะไร

จากข้อค้นพบจากการสังเกตการณ์และการมีส่วนร่วมของประชาชน ตั้งแต่ส่งเรื่องร้องเรียนและปัญหาในการเลือกตั้ง นำมาสู่ข้อเสนอต่อเจ้าหน้าที่กกต. ในการจัดการการเลือกตั้งระยะเร่งด่วน วันที่ 16 พ.ค. 2566 ณ อาคารวิศิษฐ์ ประจวบเหมาะ สถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มี 2 ประการ ได้แก่

  1. กกต.ควรชี้แจงจำนวนบัตรเลือกตั้งล่วงหน้าตั้งแต่ที่มีการจัดการที่ผิดพลาดและชี้แจงวิธีการแก้ไขอย่างละเอียด พร้อมแสดงหลักฐานเพื่อสร้างความกระจ่างแก่ประชาชน
  2. เพื่อไม่ให้เกิดความเสียหายต่อการบริหารประเทศ และเพื่อสร้างความไว้วางใจต่อประชาชน กกต.ควรเร่งรัดให้เกิดการดำเนินการอย่างมีประสิทธิภาพ ในการตรวจสอบผลการเลือกตั้งในทุกเขตเลือกตั้ง และประกาศผลการเลือกตั้งอย่างเป็นทางการเร็วที่สุด โดยอาจยึดระยะเวลาตามกฎหมายเลือกตั้ง 2554 ซึ่งกำหนดให้ประกาศผลเลือกตั้งภายใน 7 วัน เป็นแนวทางปฏิบัติทั้งนี้ให้ครอบคลุมถึงการเปิดเผยคะแนนรายหน่วยเลือกตั้งด้วย

เปิ้ลทิ้งท้ายว่า พอการเลือกตั้งเสร็จแล้วคิดว่าประชาชนหรือ we watch เองยังมีภารกิจหรือสิ่งที่จะต้องติดตาม สังเกตการณ์อยู่หลังจากนี้ หมายความว่าหลังจากการนับคะแนนเสร็จสิ้นแล้ว we watch หรือประชาชนคนอื่น ๆ จะต้องจับตาว่า การลงคะแนนเจ้าหน้าที่มีการนับคะแนนถูกไหม แจ้งจำนวนผู้มาใช้สิทธิอย่างไร จำนวนบัตรดีบัตรเสียไหม รวมไปถึงการประกาศคะแนนผลเลือกตั้งหลังจากนี้ด้วยว่าเป็นไปตามความถูกต้องหรือเปล่า

เหล่าทีมงานที่ยังทำงาน ทำอยู่ ทำต่อไป

อ่านแถลงการณ์ We Watch สรุปสังเกตการณ์เลือกตั้ง 14 พ.ค. 2566อ่านฉบับเต็มได้ที่:

https://drive.google.com/drive/folders/1L96ElPgfie3rpvhjjpR8ICBIiD4fl-Ps?fbclid=IwAR2kR8Ykx0MD7f5-PFLZ-tWYsswsXOUW43SgLlxTbcwzOecGvgPQJcXPQkk

สัมภาษณ์ เรียบเรียง สังเกตการณ์ โดย อรกช สุขสวัสดิ์ กัณญาพัชร ลิ้มประเสริฐ

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ