สถานการณ์บึงบอระเพ็ด จังหวัดนครสวรรค์
ณพล อนุตตรังกูร
นักวิชาการสิ่งแวดล้อม ศูนย์วิจัยและฝึกอบรมบึงบอระเพ็ด
ภูมิศาสตร์ทางกายภาพของบึงบอระเพ็ด
ลุ่มน้ำบึงบอระเพ็ดมีพื้นที่ประมาณ 4,486 ตารางกิโลเมตร เป็นส่วนหนึ่งของลุ่มน้ำเจ้าพระยา ซึ่งครอบคลุมพื้นที่บางส่วนของจังหวัดนครสวรรค์ เพชรบูรณ์ ลพบุรี และจังหวัดพิจิตร ส่วนพื้นที่บึงบอระเพ็ดซึ่งมีพื้นที่ประมาณ 212 ตารางกิโลเมตร (132,737 ไร่) ตั้งอยู่ในเขตอำเภอเมือง อำเภอชุมแสง และอำเภอท่าตะโก จังหวัดนครสวรรค์
การบริหารการประมงในบึงบอระเพ็ด เริ่มขึ้นเมื่อปี พ.ศ.2470 โดยกระทรวงเกษตราธิการ ได้สร้างทำนบและประตูระบายน้ำขึ้นเพื่อเก็บกักน้ำไว้ใช้ประโยชน์ทางด้านการประมง ซึ่งต่อมาใน ปี พ.ศ.2471 กระทรวงพระคลังมหาสมบัติ ได้ประกาศกำหนดเขตบึงบอระเพ็ดให้เป็นเขตรักษาพันธุ์สัตว์น้ำ และปี พ.ศ.2473 ได้กำหนดพื้นที่หวงห้ามเป็นเขตสถานีประมงไว้ประมาณ 250,000 ไร่ ต่อมารัฐบาลได้ตราพระราชกฤษฎีกา ลงวันที่ 4 สิงหาคม 2480 ถอนการหวงห้ามเหลืออยู่เพียง 132,737 ไร่จนถึงปัจจุบัน และในปี พ.ศ.2490 กระทรวงเกษตราธิการได้แบ่งเขตรักษาพันธุ์ออกเป็น 2 เขต คือ
เขตที่ 1 เป็นเขตหวงห้ามมิให้ผู้ใดทำการประมงโดยเด็ดขาด มีเนื้อที่ 38,850 ไร่
เขตที่ 2 เป็นเขตหวงห้ามที่อนุญาตให้ราษฎรทำการประมงได้โดยใช้เครื่องมือบางชนิดที่กำหนดให้ มีเนื้อที่ 93,887 ไร่
สำหรับภูมิประเทศของลุ่มน้ำมีลักษณะเป็นที่ราบเรียบ ที่ราบลอนคลื่น และภูเขาลูกเล็กๆ โดยมีลำน้ำสาขาที่สำคัญคือ คลองบอน และคลองท่าตะโก ซึ่งมีพื้นที่ลุ่มน้ำประมาณ 1,068 และ 3,418 ตารางกิโลเมตร ตามลำดับ โดยลุ่มน้ำย่อยนี้รับน้ำฝนแล้วระบายลงสู่บึงบอระเพ็ด ส่วนทางน้ำอีกเส้นทางหนึ่งรับน้ำจากแม่น้ำน่านเข้าสู่บึงบอระเพ็ดผ่านทางคลองบอระเพ็ด ซึ่งความสำคัญของคลองแห่งนี้จะเป็นการนำน้ำเข้าสู่บึงบอระเพ็ดแล้ว ยังเป็นทางเข้าออกของปลาชนิดต่างๆเข้าสู่บึงบอระเพ็ด เพื่อเป็นอู่ข้าวอู่น้ำของประชาชนรอบบึงบอระเพ็ดด้วย
การใช้ประโยชน์พื้นที่ลุ่มน้ำส่วนใหญ่เป็นการทำเกษตรกรรมประมาณร้อยละ 88 ของพื้นที่ลุ่มน้ำโดยเป็นนาข้าวและพืชไร่คิดเป็นร้อยละ 44.44 และ 37.17 ของพื้นที่เกษตรกรรม ที่เหลือเป็นไม้ยืนต้น ไม้ผล ไร่นาสวนผสม และเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ แหล่งน้ำเพื่อการเกษตรที่สำคัญคือ น้ำฝน (38.8 เปอร์เซ็นต์) น้ำจากคลองธรรมชาติ (47.6 เปอร์เซ็นต์) และน้ำชลประทาน (14.1 เปอร์เซ็นต์) ซึ่งในจังหวัดนครสวรรค์มีพื้นที่รับน้ำตามโครงการชลประทานเพียงร้อยละ 16.3 ของพื้นที่ทำการเกษตรทั้งหมด (กรมชลประทาน, 2547) บึงบอระเพ็ดมีลักษณะระบบนิเวศที่มีคุณค่าในธรรมชาติอย่างมีเอกลักษณ์ ทำให้ประชาชนในพื้นที่ได้รับประโยชน์ในด้านเศรษฐกิจและสังคม เช่น การประมง การใช้น้ำเพื่อทำการเกษตร อุปโภคบริโภค รวมทั้งการท่องเที่ยว เป็นต้น
ลุ่มน้ำบึงบอระเพ็ด
การใช้ประโยชน์จากบึงบอระเพ็ด
1.ทำนาข้าว จากการสำรวจ พ.ศ. 2557 มีประมาณ 22,000 ไร่ในพื้นที่ซึ่งอยู่ระหว่างพิสูจน์สิทธิ์ในบึงบอระเพ็ดและในบริเวณพื้นที่5 กิโลเมตรพบว่ามีนาข้าว 320,563 ไร่
2.ปลูกพืชไร่พืชสวน จากการสำรวจในระยะ 5กิโลเมตรพบว่ามีพืชไร่และพืชสวน ทั้งหมด251,415 ไร่และ 53,866 ไร่ ได้แก่ ข้าวโพด อ้อย แตงโม แตงกวา บวบ มะเขือ พริก เป็นต้น มีการดึงน้ำมาใช้และมีการใช้สารเคมีในการจัดการศัตรูพืช และปุ๋ยเคมีซึ่งจะมีบางส่วนตกค้างในสิ่งแวดล้อม
3.การทำนาบัว ในอดีตมีการทำนาบัวรอบบึง ปัจจุบันนาบัวลดลง ถูกแทนที่ด้วยนาข้าว
4.การทำประมง มีทั้งการจับปลาในธรรมชาติและบ่อเลี้ยงปลา กระชังปลา
6. การปศุสัตว์ เลี้ยงวัวและปล่อยให้แทะเล็มหญ้าในธรรมชาติ
7. การท่องเที่ยว ท่องเที่ยวตามธรรมชาติ ดูนก พัฯพืชและสัตว์น้ำในบึงบอระเพ็ด
8.แหล่งศึกษาวิจัย โดยเฉพาะเรื่องนก พันธุ์ไม้น้ำ และปลา
9.การใช้ประโยชน์ของหน่วยงานราชการ
2. เรื่่องวิกฤตที่เกิดขึ้นกับบึงบระเพ็ดมีอะไรบ้าง มีสาเหตุจากอะไร
วิกฤติของบึงบอระเพ็ดเกิดจากสถานการณ์ภัยแล้ง ส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศในบึงบอระเพ็ด ทั้งนี้มีสาเหตุโดยสนุปมาจากเรื่อง ขอบเขตบึงบอระเพ็ดที่ไม่ชัดเจน การถือครองและเข้ามาใช้ประโยชน์ของชุมชน การใช้ประโยชน์ที่ซ้อนทับกัน การบริหารจัดการของภาคส่วนต่างๆที่ขาดการบูรณาการร่วมกัน ตลอดจนปัญหาการใช้กฎหมายที่ซ้อนทับกัน และสภาพแวดล้อมที่ทรุดโทรมจากการใช้ประโยชน์มากเกินไป
ในช่วงปี 2558-2559 วิกฤติกาลภัยเกิดมีแนวโน้มรุนแรงมากขึ้น เนื่องจากปริมาณน้ำจากต้นน้ำลงมาไม่มา และระดับน้ำจากแม่น้ำน่านไม่สามารถเข้าบึงบอระเพ็ดได้ เนื่องจากระดับน้ำในแม่น้ำน่านสูงไม่พอกับระดับสันฝายหน้าประตูคลองบอระเพ็ด ซึ่งในอดีตที่ไม่มีประตูดังกล่าวระดับน้ำสามารถไหลเข้าบึงบอระเพ็ดได้ตามระดับพื้นคลองเดิม แต่สันฝายที่สร้างใหม่สูง 183 เซนติเมตร ทำให้การไหลเข้าบึงบอระเพ็ดจากแม่น้ำน่านต้องมีระดับน้ำที่สูงพอถึงจะไหลเข้าบึงบอระเพ็ดได้ จากปัญหาประตูดังกล่าวทำให้ภาคประชาชนเสนอเรื่องต่อผู้ว่าราชการจังหวัดให้ดำเนินการแก้ไข รวมทั้งศูนย์วิจัยและฝึกอบรมบึงบอระเพ็ดได้นำเสนอข้อมูลทางวิชาการแนบส่งไปด้วย ซึ่งแนวทางแก้ไขในระดับจังหวัดยังไม่มีแผนการดำเนินการใดๆเกี่ยวกับประตูนี้ ทำให้เรื่องดังกล่าวยังไม่สามารถหาบทสรุปได้
3. สถาณการณ์การปรับตัวของคนในพื้นที่ และชุมชน
เนื่องจากการเกษตรที่ไม่สามารถดำเดินการได้ ทำให้ชุมชนโดยรอบปรับตัวไปประกอบอาชีพอื่น เช่น หาปลาในบึงกันมากขึ้น ทั้งนี้เมื่อน้ำไม่เข้าบึงในปีที่ผ่านมา ประกอบกับปริมาณน้ำที่ลดลงทำให้จำนวนและชนิดปลาลดลงจามไปด้วย ทำให้การประกอบอาชีพหาปลาลำบากมากขึ้น หลายครอบครัวต้องไปหางานทำด้วยการรับจ้างในตัวเมืองนครสวรรค์และกรุงเทพฯ
ส่วนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นได้เตรียมแผนการรับภัยแล้งที่จะเกิดขึ้น โดยเตรียมการหาน้ำสำรองเพื่อให้ประชาชนได้อุปโภคบริโภค ส่วนภาครัฐได้ดำเนินการเตรียมการขุดลอกตะกอนดินเพื่อเพิ่มความจุน้ำของบึงบอระเพ็ดให้มากขึ้น ซึ่งอยู่ระหว่างการประชุมของงบประมาณเร่งด่วนต่อไป
4. แนวทางในการแก้ปัญหา
จัดตั้งศูนย์ข้อมูลบึงบอเพ็ด เพื่อเป็นแหล่งรวบรวมในระบบภาพรวมของบึงบอระเพด็ ทั้งหมดและเป็นฐานข้อมูลกลางที่ทุกฝ่ายสามารถเข้าถึงและใช้ประโยชน์ร่วมกันอย่างชัดเจน ซึ่ง ต้องเป็นระบบฐานขอ้มูลเดียวกันทั้งหมดและสามารถเชื่อมฐานข้อมูลของแต่ละหน่วยงานด้วยกันได้
สร้างระบบการจัดการบึงบอระเพ็ดที่ทุกฝ่ายมีส่วนร่วม เนื่องจากมีจากหน่วยงาน กระทรวง หลายภาคส่วน ทั้งภาครัฐองค์กรพัฒนาเอกชน (NGO) ภาคประชาสังคม เอกชน และประชาชน ได้เข้ามาเนินกิจกรรมในการใช้ประโยชน์ในบึงบอระเพ็ด จึงควรมีคณะกรรมการร่วมในการบริหารจัดการ ฟื้นฟูอนุรักษ์และพัฒนาบึงบอระเพ็ดทั้งในระดับชาติ และระดับจังหวัด
จัดระบบโครงข่ายน้ำทั้งตอนบนและตอนกลางของลุ่มน้ำให้มีระบบน้ำที่กระจายทั่วทุกพื้นที่ มีการทำพื้นที่รับน้ำเหมือนแก้มลิงในพื้นที่ที่เหมาะสม และจัดการกับตะกอนดินในบึงบอระเพ็ด
จัดขอบเขตบึงบอระเพ็ด และจัดทำให้สิ่งปลูกสร้างที่มีอยู่แล้วไม่ส่งผลกระทบต่อนิเวศของบึงบอระเพ็ด จัดการเรื่องสิทธิและแผนที่GPS ร่วมกับคนที่มีอยู่เดิมเพื่อที่จะได้มีการแบ่งขอบเขตให้ชัดเจน รวมถึงจัดการเรื่องสิทธิของคนในพื้นที่อย่างเหมาะสม
เสนอให้เป็นพื้นที่คุ้มครองสิ่งแวดล้อม และปรับปรุงกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับบึงบอระเพ็ด
จัดทำแผนแม่บทในการพัฒนาบึงบอระเพ็ด โดยการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน มีทั้งระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว การกระทำโครงการต่างๆต้องทำการศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมในทุกกรณี และผลักดันให้พื้นที่บึงพอระเพ็ดเป็นพื้นที่ชุ่มน้ำโลก (Ramsar Site)