พอช. / พอช.จับมือภาคเอกชน บ.อสังหาริมทรัพย์เพื่อเตรียมออกแบบโครงการพัฒนาที่อยู่อาศัยในที่ดินสำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์รองรับชาวบ่อนไก่ที่โดนไฟไหม้เมื่อปี 2565 และชุมชนแออัดในย่านซอยโปโล-พระเจน เขตปทุมวัน รวม 300 ครอบครัว ในรูปแบบที่อยู่อาศัยแนวใหม่ Mixed – Use เป็นอาคารสูง ผู้อยู่อาศัยสามารถทำมาค้าขายได้ ส่วนชุมชนโรงปูนที่โดนไฟไหม้ช่วงสงกรานต์ที่ผ่านมา ขณะนี้ พอช.ส่งเจ้าหน้าที่ลงไปเตรียมกระบวนการรวมกลุ่มผู้เดือดร้อนเพื่อเตรียมสร้างบ้านใหม่
กรณีชาวชุมชนบ่อนไก่ เขตปทุมวัน กรุงเทพฯ บ้านเรือนประสบเหตุไฟไหม้ เมื่อเดือนมิถุนายน 2565 ได้รับความเดือดร้อนทั้งหมด 84 ครอบครัว โดยสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) หรือ ‘พอช.’ ได้ให้ความช่วยเหลือเบื้องต้นเพื่อนำไปจัดหาที่อยู่อาศัยชั่วคราว ครอบครัวละ 18,000 บาท (การช่วยเหลือกรณีชุมชนโดนไฟไหม้ ไล่รื้อ) รวมเป็นเงินทั้งหมดประมาณ 1.5 ล้านบาท และส่งเจ้าหน้าที่เข้าไปส่งเสริมให้ชาวบ้านรวมกลุ่มกันเพื่อเตรียมพัฒนาที่อยู่อาศัยใหม่นั้น
โมเดลที่อยู่อาศัยแนวใหม่-ค้าขายได้
ล่าสุดเมื่อวันที่ 22 เมษายน ผู้บริหาร พอช. ประกอบด้วย ดร.กอบศักดิ์ ภูตระกูล ประธานกรรมการสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน หรือ ‘บอร์ด พอช. ‘ นางสาวสมสุข บุญญะบัญชา ที่ปรึกษา พอช. นางสาวเฉลิมศรี ระดากูล รองผู้อำนวยการ พอช. ร่วมประชุมกับผู้แทนภาคเอกชน เช่น บริษัทแมกโนเลีย บริษัทอะตอม ดีไซน์ เพื่อหารือโครงการพัฒนาที่อยู่อาศัยรองรับชาวชุมชนบ่อนไก่ เขตปทุมวัน รวมทั้งชาวชุมชนแออัดที่อาศัยอยู่ในที่ดินใกล้เคียงที่มีความเสี่ยงที่อาจจะโดนไล่ที่ เนื่องจากที่ดินในย่านดังกล่าวมีราคาแพง
ที่ผ่านมา พอช. ได้หารือกับสำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์เพื่อขอใช้ที่ดินของสำนักงานทรัพย์สินฯ รองรับผู้เดือดร้อนในย่านใกล้เคียง และได้ที่ดินบริเวณใกล้จุดขึ้น-ลงทางด่วนถนนพระรามที่ 4 เนื้อที่ประมาณ 3 ไร่เศษ ซึ่งการประชุมในวันนี้ ผู้แทนบริษัทอะตอมดีไซน์ ได้นำเสนอรูปแบบการก่อสร้างที่อยู่อาศัยแนวใหม่ หรือ ‘Mixed-Use’ ผสมผสานระหว่างที่อยู่อาศัยรูปแบบอาคารสูงกับพื้นที่พาณิชยกรรม เพื่อให้ประชาชนสามารถทำมาค้าขาย สร้างอาชีพสร้างรายได้ เนื่องจากพื้นที่บริเวณโดยรอบโครงการเป็นที่ตั้งของอาคารสำนักงาน คอนโดมิเนียม และอยู่ระหว่างสวนเบญจกิตติ (ติดกับศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์) กับสวนลุมพินี มีศักยภาพในการพัฒนาได้หลายรูปแบบ
บริษัทอะตอมดีไซน์ได้เสนอแนวคิดการออกแบบ เป็นการพัฒนาที่อยู่อาศัยแนวสูง จำนวน 6 ชั้น รองรับผู้อยู่อาศัยได้ 300 ครัวเรือน ขนาดห้องเบื้องต้นต่อครัวเรือน 25 – 35 ตารางเมตร โดยขณะนี้อยู่ระหว่างการหารือเรื่องระบบการใช้ที่ดิน การพัฒนาที่อยู่อาศัย รวมถึงงบประมาณ (เบื้องต้นประมาณ 360 ล้านบาท) และการบริหารจัดการร่วม และจะต้องมีการหารือเรื่องการสร้างชุมชน ระบบสวัสดิการ ระบบเศรษฐกิจ ระบบความปลอดภัย ฯลฯ
นางสาวสมสุข บุญญะบัญชา ที่ปรึกษา พอช.กล่าวว่า การออกแบบที่อยู่อาศัยภายใต้สถานการณ์และบริบทใหม่นี้ ต้องวางแนวทางและระบบแบบใหม่ หากทำได้จะเป็นโมเดลสำคัญ ซึ่งต้องใช้ความละเอียดอ่อนประณีตในการดำเนินการ เป็นการจัดการสร้างโอกาสระหว่างคนจนผู้มีรายได้น้อยกับคนรวยในการพัฒนา ทั้งด้านที่อยู่อาศัยและการพัฒนาเศรษฐกิจร่วมกัน เพื่อให้ชุมชนสามารถสร้างอาชีพ มีรายได้ สามารถประกอบอาชีพในอาคารได้ โดยการออกแบบให้มี Street Life/Urban Farm และอื่นๆ เพื่อสร้างโอกาสให้กับชุมชนในด้านเศรษฐกิจในอนาคต รวมทั้งการพัฒนาคุณภาพชีวิตต่อไป
ทั้งนี้โครงการดังกล่าวนอกจากจะรองรับชาวชุมชนบ่อนไก่ที่ประสบเหตุไฟไหม้แล้ว ยังมีแผนรองรับชาวชุมชนต่างๆ ที่อยู่ในย่านใกล้เคียงถนนพระรามที่ 4 และถนนวิทยุ เขตปทุมวัน รวมทั้งหมดเกือบ 1,000 ครอบครัว เช่น 1.ชุมชนบ่อนไก่ 169 ครัวเรือน 2.ชุมชนกุหลาบแดง 50 ครัวเรือน 3.ชุมชนโปโล 470 ครัวเรือน 4.ชุมชนร่วมฤดี 132 ครัวเรือน 5.ชุมชนซอยพระเจน 178 ครัวเรือน
ประสบการณ์จากชุมชนสวนพลู
นางพรทิพย์ วงศ์จอม ผู้นำชุมชนบ้านมั่นคงสวนพลู เขตสาทร และผู้ประสานงานที่ดินและที่อยู่อาศัย กรุงเทพฯ โซนใต้ บอกว่า ชุมชนสวนพลูเดิมเป็นชุมชนแออัด อาศัยอยู่ในที่กรมธนารักษ์ ชุมชนประสบเหตุไฟไหม้ในปี 2547 บ้านเรือนได้รับความเสียหายประมาณ 200 หลัง
ต่อมามีเจ้าหน้าที่ พอช. เข้ามาให้คำแนะนำการรวมกลุ่มเพื่อแก้ไขปัญหา มีการสำรวจข้อมูลครัวเรือน ผู้เดือดร้อนในชุมชน และนำไปสู่การจัดตั้งกลุ่มออมทรัพย์เพื่อเป็นทุนในการสร้างที่อยู่อาศัยใหม่ เพื่อก่อสร้าง ‘บ้านมั่นคง’ โดยชาวบ้านร่วมกันออมทรัพย์เป็นรายครอบครัว เดือนละ 300-500 บาท ใครมีมากก็ออมมาก และแบ่งกลุ่มย่อยเพื่อช่วยเหลือดูแลกัน และต่อมาได้จดทะเบียนเป็นสหกรณ์เคหสถานเพื่อบริหารจัดการเรื่องที่อยู่อาศัย
ในปี 2550 จึงเริ่มสร้างบ้านมั่นคง มีผู้เดือดร้อนและครอบครัวขยายเข้าร่วมรวมทั้งหมด 264 ครัวเรือน โดยเช่าที่ดินในอัตราผ่อนปรนจากกรมธนารักษ์ (ตารางวาละ 9 บาท/เดือน) เนื้อที่ 6 ไร่ เศษ ระยะเวลาช่วงแรก 30 ปี โดย พอช.สนับสนุนงบประมาณสร้างสาธารณูปโภค 14 ล้านบาทเศษ สินเชื่อเพื่อสร้างบ้าน 46 ล้านบาทเศษ มีรูปแบบบ้านให้เลือกหลายแบบบตามความเหมาะสมของรายได้และสมาชิกครอบครัว เช่น บ้าน 2 ชั้น 3 ชั้น และห้องชุด ผ่อนชำระสินเชื่อกับ พอช.ประมาณเดือนละ 2,000 บาทเศษ ก่อสร้างบ้านเสร็จและเข้าอยู่อาศัยตั้งแต่ปี 2550 เป็นต้นมา
“ตอนนี้ชาวบ้านส่วนใหญ่ผ่อนชำระสินเชื่อกับ พอช.หมดแล้ว ชาวบ้านได้มีที่อยู่อาศัยที่มั่นคง ไปไหนก็สะดวกสบาย อยู่ในเมืองได้ ลูกหลานไม่ต้องไปเรียนหนังสือไกล จึงอยากฝากถึงพี่น้องชาวชุมชนในเมืองที่ยังอยู่ในที่ดินของคนอื่นว่า เราจะต้องเตรียมตัวรองรับเรื่องที่อยู่อาศัยตั้งแต่ตอนนี้ เพราะที่ดินในเมืองแพงขึ้น ชุมชนที่เช่าที่ดินหรืออาศัยที่ดินคนอื่นอยู่อาจจะถูกขับไล่ ต้องออกไปอยู่นอกเมือง เช่น ในเขตยานนาวา โดนไล่ไปแล้วหลายชุมชน” พรทิพย์บอก
พรทิพย์บอกด้วยว่า หากชุมชนยังไม่เตรียมตัว เมื่อที่ดินแพงขึ้น คนจนจะอาศัยอยู่ในเมืองไม่ได้ โดยขณะนี้มีหลายชุมชนในเขตยานนาวา เช่าที่ดินจากกรมธนารักษ์เพื่อสร้างบ้านมั่นคงแล้ว เช่น ชุมเชื้อเพลิง 2 ร่วมใจ ชุมชนเย็นอากาศ 2
ส่วนชุมชนบ่อนไก่ที่โดนไฟไหม้นั้น พรทิพย์บอกว่า เธอและทีมงานที่ดินและที่อยู่อาศัย กรุงเทพฯ โซนใต้ ได้ให้คำแนะนำ เป็นพี่เลี้ยงให้แก่ชาวชุมชนบ่อนไก่ในการรวมตัวเพื่อทำโครงการบ้านมั่นคง เช่น รวมกลุ่มกันจัดตั้งกลุ่มออมทรัพย์ แบ่งหน้าที่กันทำงาน เช่น ทำบัญชี แบ่งกลุ่มย่อยเพื่อดูแลช่วยเหลือกัน โดยนำประสบการณ์จากการจัดทำโครงการบ้านมั่นคงชุมชนสวนพลูมาใช้
พอช. หนุนชุมชนโรงปูนรวมกลุ่มพัฒนาที่อยู่อาศัยใหม่
ส่วนกรณีชุมชนโรงปูน (เป็นที่ดินเช่าการรถไฟแห่งประเทศไทย) เขตห้วยขวาง ที่เกิดเหตุไฟไหม้ เมื่อวันที่ 13 เมษายนที่ผ่านมา มีผู้เดือดร้อน บ้านเรือนเสียหาย รวม 47 ครอบครัวนั้น นายกฤษดา สมประสงค์ ผู้อำนวยการ พอช. และเจ้าหน้าที่ พอช. ได้ลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์เพื่อให้ความช่วยเหลือชาวชุมชนตั้งแต่เมื่อวันที่ 14 เมษายนที่ผ่านมา
ล่าสุดเมื่อวันที่ 22 เมษายนที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่สำนักงานภาคกรุงเทพฯปริมณฑลและตะวันออก พร้อมด้วยผู้แทนทีมผู้ประสานงานการพัฒนาที่อยู่อาศัยชุมชนริมราง (พทร.) ได้ลงพื้นที่ชุมชนโรงปูน เพื่อประชุมชี้แจงแนวทางการพัฒนาที่อยู่อาศัยตามโครงการบ้านมั่นคงของ พอช.
เช่น การช่วยเหลือเฉพาะหน้ากรณีไฟไหม้ พอช.จะสนับสนุนการจัดหาที่พักชั่วคราว ครอบครัวละ 18,000 บาท แผนงานการจัดทำโครงการบ้านบ้านมั่นคง โดยชาวบ้านจะต้องรวมกลุ่มกันจัดตั้งคณะทำงาน จัดตั้งกลุ่มออมทรัพย์ ร่วมกันรับรองข้อมูลผู้ที่ได้รับผลกระทบจริง ร่วมกันออกแบบการพัฒนาที่อยู่อาศัยใหม่ ฯลฯ
ทั้งนี้เจ้าหน้าที่ พอช. และพทร. จะลงพื้นที่เพื่อจัดประชุม ติดตามการทำงานร่วมกับชาวชุมชนโรงปูนอย่างต่อเนื่อง เพื่อพัฒนาโครงการที่อยู่อาศัยและก่อสร้างบ้านใหม่ให้ชาวชุมชนโรงปูนได้มีที่อยู่อาศัยใหม่โดยเร็ว
เรื่องและภาพ : สำนักพัฒนานวัตกรรมชุมชนจัดการความรู้และสื่อสาร สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์