เครือข่ายพัฒนาและขับเคลื่อนนโยบายผู้สูงอายุและสังคมสูงวัย จัดเวทีระดมความคิดเห็นเมื่อเดือนมีนาคม 2566 ที่ผ่านมา เพื่อรวบรวมข้อเสนอเชิงนโยบายรองรับสังคมสูงวัยและสร้างคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุต่อพรรคการเมือง ภายใต้ประเด็นปัญหาด้านเศรษฐกิจ สุขภาพ สังคม สภาพแวดล้อม เทคโนโลยีและการบริหารจัดการที่สามารถนำไปสู่การปฏิบัติได้ทันที
สังคมไทยสูงอายุอย่างสมบูรณ์
ในปี 2565 ประเทศไทยเข้าสู่ “สังคมสูงอายุอย่างสมบูรณ์” (Complete Aged Society) แล้ว โดยมีประชากรอายุมากกว่า 60 ปี กว่า 12.9 ล้านคน หรือ 20% จากประชากรทั้งหมดและมีการคาดประมาณว่า ในอีกไม่เกิน 15 ปีข้างหน้าประเทศไทยจะกลายเป็น “สังคมสูงอายุระดับสุดยอด” (Super Aged Society) เมื่อสัดส่วนของประชากรที่มีอายุมากกว่า 60 ปีสูงถึง 28% ของประชากรทั้งหมด
ภาวะสูงวัยนั้น จะมาพร้อมกับความเปราะบาง ทั้งทางด้านกายภาพ จิตใจและสังคม ผู้สูงวัยจึงต้องพึ่งพาคนอื่นมากขึ้นในหลายด้าน การที่ครอบครัว คนรอบข้างสังคม รวมไปถึงรัฐต้องเข้ามาประคับประคอง ผู้สูงวัยจำเป็นต้องใช้เวลา เงินทอง และทรัพยากรต่างๆ มากตามจำนวนผู้สูงวัย ถ้ายิ่งมากก็อาจจะกระทบต่อทั้งด้านส่วนตัวและองค์รวมทางเศรษฐกิจ สังคม และระบบโครงสร้างต่างๆ จึงจำเป็นต้องมีการเตรียมความพร้อมเพื่อรองรับสังคมสูงวัย
ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา ภาคีภาคส่วนทั้งต่างๆ ทั้งภาควิชาการร่วมกับเครือข่ายภาคประชาสังคม ได้ดำเนินการเตรียมความพร้อมศึกษาจัดทำข้อเสนอนโยบายผู้สูงอายุและการรองรับสังคมสูงวัยที่ครอบคลุมในทุกมิติ โดยผ่านเวทีขับเคลื่อนกลยุทธ์การพัฒนางานด้านผู้สูงอายุและสังคมสูงวัยอย่างต่อเนื่อง อันเป็นพลังความรู้ที่สำคัญที่พร้อมนำมาใช้เป็นนโยบายประเทศได้ โดยมีประเด็นปัญหาที่สำคัญ ดังนี้
- ด้านเศรษฐกิจ ให้ความสำคัญกับการสร้างหลักประกันด้านรายได้ โดยผ่านการจ้างงาน ทั้งแรงงานในระบบและแรงงานนอกระบบ การสร้างระบบบำนาญพื้นฐาน ระบบการออมเงิน(กองทุนการออมแห่งชาติ) เพื่อพัฒนาศักยภาพของผู้สูงอายุให้เป็นพลังที่สำคัญของสังคม
- ด้านสุขภาพ การสร้างมาตรการเพื่อส่งเสริมสุขภาพและแรงจูงใจให้คนไทยมีสุขภาพดีให้นานที่สุด พึ่งพาตนเองได้ยาวนานที่สุด พัฒนาการดูแลผู้ป่วยอย่างต่อเนื่องทั้งระยะกลาง ระยะยาว และระยะสุดท้าย โดยจัดให้มีกองทุนต่างๆ มารองรับอย่างเหมาะสม และสร้างศักยภาพองค์กรปกครองท้องถิ่นเข้ามามีบทบาทโดยตรง
- ด้านสังคม การดูแลเพื่อเสริมสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีสำหรับผู้สูงอายุ การสร้างกลไกการสานพลังทางสังคมทั้งหน่วยงานภาครัฐและภาคประชาชนหรือชุมชน ให้เข้มแข็งอย่างบูรณาการร่วมกัน
- ด้านสภาพแวดล้อม มุ่งการสร้างสภาพแวดล้อมที่ส่งเสริมสุขภาพ สภาพแวดล้อมที่ปลอดภัยสำหรับทุกคนและมีความยั่งยืน
- ด้านเทคโนโลยี เน้นการพัฒนาความรู้ และการเข้าถึงเทคโนโลยี
- ด้านการบริหารจัดการ ให้มีองค์กรหรือกลไกที่จะเข้ามากำกับ ดูแล การทำงานให้เป็นเอกภาพตามนโยบายต่างๆที่กำหนด
7 ข้อเสนอเชิงนโยบายเตรียมรองรับสังคมสูงวัย
1.สร้างระบบบำนาญพื้นฐานถ้วนหน้า ที่เป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่ผู้สูงอายุพึงได้รับทุกคน อย่างเพียงพอตามความต้องการด้านปัจจัย 4 หรือเส้นความยากจน โดยอาศัยหลักการ ร่วมทุกข์ร่วมสุขที่คำนึงถึงความเป็นไปได้ด้านการเงินการคลังของประเทศ
การเปลี่ยนแปลงด้านเศรษฐกิจและสังคมที่ผ่านมา มีผลให้ศักยภาพครัวเรือนซึ่งเป็นหลักในการเกื้อหนุนและดูแลผู้สูงอายุมายาวนานถดถอยลง เช่น ครัวเรือนมีขนาดเล็กลง ผู้หญิงมีบุตรน้อยลง แรงงาน วัยหนุ่มสาวเคลื่อนย้ายไปทำงานในเมืองมากขึ้น นอกจากนั้น ศักยภาพของชุมชนเองในการเกื้อหนุนผู้สูงอายุในชุมชนก็ถดถอยลงเช่นกันอันเนื่องมาจากการขยายตัวของสังคมเมือง
ปัจจุบันประชาชนไทยทุกคนที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป มีทั้งข้าราชการที่มีหลักประกันด้านรายได้เป็นเงินบำนาญ แรงงานในระบบที่ได้รับเงินบำนาญประกันสังคม ผู้สูงวัยที่มีเงินออมสามารถช่วยเหลือตนเองได้ ดังนั้นด้วยหลักการร่วมทุกข์ร่วมสุขที่คำนึงถึงความเป็นไปได้ด้านการเงินการคลังของประเทศ โดยผู้สูงอายุ ต้องมีหลักประกันด้านรายได้พื้นฐานตามกำหนดที่ครอบคลุมทุกคนอย่างทั่วถึง ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง หากผู้สูงอายุที่มีเงินฝากหรือเงินบำนาญที่ได้รับจากแหล่งต่าง ๆ อย่างใดอย่างหนึ่งไม่ถึงระดับที่กำหนดไว้ ก็จะได้รับเงินบำนาญพื้นฐานเพิ่มเติมให้ครบตามที่กำหนด
2. การส่งเสริมการจ้างงานผู้สูงอายุที่เหมาะสมกับวัยและประสบการณ์ ทั้งแรงงานในระบบ ในสถานประกอบการต่างๆและแรงงานนอกระบบ โดยให้ความสำคัญการพัฒนาทักษะ (Re-Skill, Up-Skill) และภาครัฐเป็นหน่วยงานนำร่องในการจ้างงานผู้สูงอายุ
แนวทางการขับเคลื่อนการจ้างงานผู้สูงอายุ แบบเดิมที่เน้นให้นายจ้างขยายอายุเกษียณ ค่อนข้าง ไม่ประสบความสำเร็จเนื่องด้วยนายจ้างต้องคำนึงถึงผลประโยชน์และต้นทุนของบริษัทเป็นสำคัญ จึงต้องปรับเปลี่ยนมามุ่งเน้นทางด้านการสร้างศักยภาพของลูกจ้างเป็นสำคัญ หากลูกจ้างยังมีประโยชน์ มีความสำคัญต่อบริษัทก็จะเกิดการขยายอายุการทำงานโดยปริยาย นโยบายจึงต้องหันมาเน้นพัฒนาทักษะ การทำงานให้รับกับตลาดแรงงานในปัจจุบัน คือ การ Re-Skill, Up-Skill เพื่อให้อยู่ในระบบให้นานที่สุด พร้อมปรับลักษณะการทำงานหรือการจ้างงานใหม่ให้เหมาะสมกับผู้สูงอายุ รวมทั้งการสร้างปัจจัยสนับสนุนส่งเสริมการปรับตัวเมื่อออกมาทำงานนอกระบบ ทั้งด้านทุน เครือข่าย ความรู้ และทักษะ
นอกจากนี้ยังมีกลุ่มผู้สูงอายุที่เปราะบาง ที่มีความจำเป็นต้องทำงานหาเลี้ยงชีพ จึงต้องสร้างงานรองรับเป็นพิเศษ โดยภาครัฐควรเป็นหน่วยงานนำร่องในการจ้างงานผู้สูงอายุ ซึ่งอาจเป็นการที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นต่างๆ ซึ่งมีอยู่ร่วมกันประมาณ 7,900 แห่ง จ้างงานผู้สูงอายุองค์กรละ 1 คนเข้าทำงาน ปัจจุบันหน่วยงานรัฐบางแห่งได้เริ่มดำเนินการแล้ว เช่น กองทุนสำนักงานประกันสังคม เป็นต้น นโยบายการจ้างงานอาจมีสภาพบังคับสำหรับกลุ่มผู้สูงอายุที่เปาะบางเช่นเดียวกับการบังคับจ้างงานคนพิการ
3. จัดตั้งกองทุนดูแลผู้สูงอายุในภาวะพึ่งพิง เพื่อเป็นกลไกด้านการเงินในการดูแลสุขภาพผู้สูงอายุในระยะยาวและระยะสุดท้าย
ผู้มีภาวะพึ่งพิงจำเป็นต้องได้รับบริการดูแลระยะยาวที่มีคุณภาพมาตรฐานอย่างต่อเนื่องและบูรณาการ โดยครอบครัวยังคงเป็นผู้ดูแลหลัก ภายใต้การสนับสนุนที่เหมาะสมและยั่งยืน จากภาครัฐ ท้องถิ่นและชุมชน
คณะทำงานเฉพาะกิจภายใต้คณะทำงานเพื่อพัฒนาบริการ สำหรับผู้ที่มีภาวะพึ่งพิงระยะยาว ในชุมชนภายใต้ระบบหลักประกันสุขภาพภาครัฐ (นพ.สัมฤทธิ์ ศรีธำรงสวัสดิ์ และคณะ,2564) ได้คาดการณ์ค่าใช้จ่าย ในการดูแลระยะยาวในชุมชนที่มีคุณภาพมาตรฐานต่อปี ระหว่างปี 2565 – 2569 เท่ากับ 2.6 – 4.1 หมื่นล้านบาท คิดเป็นค่าใช้จ่ายเฉลี่ยรวมทุกกลุ่มเท่ากับ 86,256 บาท/คน/ปีอันเป็นค่าใช้จ่าย ในการดูแลด้านสังคม (ค่าเสียโอกาสของผู้ดูแลและวัสดุสิ้นเปลืองทั่วไป) เท่ากับ 70,595 และค่าใช้จ่ายใน การดูแลด้านสุขภาพ (ค่าบริหารการดูแลและเยี่ยมบ้านของ CM และทีมสหวิชาชีพ วัสดุอุปกรณ์และวัสดุสิ้นเปลืองทางการแพทย์) เท่ากับ 15,660 บาท
ที่ผ่านมาการดูแลผู้สูงอายุที่มีภาวะพึ่งพิงระยะยาว เป็นงบประมาณสนับสนุนเพียงด้านการแพทย์ ผ่านสถานบริการ 6,000 บาท/หัว/ปี ซึ่งไม่เพียงพอและไม่ยั่งยืน จึงจำเป็นต้องจัดตั้งกองทุนการดูแลผู้สูงอายุในภาวะพึ่งพิง เพื่อให้เกิดความชัดเจนทั้งด้านแผนงานและกำลังคน ที่จะมาดูแลทั้งด้านสุขภาพและด้านสังคม ที่เพียงพอและมีคุณภาพมาตรฐาน โดยคำนึงถึงความเป็นไปได้ทางการคลังของประเทศ ด้วยการให้ประชาชนร่วมรับผิดชอบค่าใช้จ่ายด้วย ซึ่งคาดการณ์ว่าหากกำหนดให้ผู้มีอายุตั้งแต่ 40 ปีขึ้นไปจ่ายเงินสมทบเข้าระบบประกันระยะยาวในอัตราปีละ 300 บาทจะมีงบประมาณเพียงพอสำหรับการจัดบริการด้านสังคม
4) ปฏิรูประบบการดูแลผู้สูงอายุในระดับพื้นที่ ให้มีศูนย์สุขภาวะ/ศูนย์สร้างสุขภาพ/ศูนย์ชุมชนสุขภาพดี/ศูนย์อเนกประสงค์ 1 ศูนย์ต่อ 1 ตำบล และจัดให้มีเครือข่ายบริการในหลายลักษณะทั้งรัฐและเอกชนโดยมีหน่วยงานกลางหรือองค์การปกครองส่วนท้องถิ่น ในการประสาน ความร่วมมือจากองค์กรในชุมชนและหน่วยบริการสุขภาพ
เนื่องด้วยความซับซ้อนของการขับเคลื่อนงานด้านผู้สูงอายุในระดับพื้นที่ และมีผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง ที่หลากหลายทั้งหน่วยงานราชการส่วนกลาง หน่วยงานราชการส่วนภูมิภาค องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นระดับต่างๆ ภาคประชาสังคม ภาคเอกชน และภาควิชาการ ทำให้ขาดความเป็นเอกภาพและประสิทธิภาพ เพื่อให้ระบบการดูแลผู้สูงอายุมีการบูรณาการร่วมกันทั้งหน่วยงานภาครัฐ และภาคประชาชนหรือชุมชน สิ่งที่สำคัญที่สุดต้องมีองค์กรหลักในการเป็นศูนย์กลางการดำเนินงาน และประสานงานร่วมกัน เช่น ศูนย์พัฒนาคุณภาพชีวิตและส่งเสริมอาชีพผู้สูงอายุ (ศพอส.) ภายใต้การสนับสนุนการจัดตั้งจากกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ศูนย์บริการกลางวันสำหรับผู้สูงอายุ นักบริบาลชุมชนภายใต้การสนับสนุนจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ชมรมผู้สูงอายุ องค์กรชุมชนต่างๆ จึงควรต้องมีการปรับโครงสร้างและฐานคิดขององค์กรต่างๆ ที่เกี่ยวข้องให้มีความเป็นเอกภาพในการจัดการ
5) การสังคายนาบทบาทขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นด้านงานผู้สูงอายุและการรองรับสังคมสูงวัย
การปรับเพิ่มขอบเขตของบทบาทหน้าที่ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นด้านงานผู้สูงอายุ และทุกกลุ่มวัย ที่เป็นอยู่ในปัจจุบันและทิศทางที่ควรจะต้องก้าวต่อไปเพื่อรองรับสังคมสูงวัยในอนาคตในประเด็นต่างๆ ได้แก่ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจะอยู่ในฐานะองค์กรหลักของการขับเคลื่อนงาน (เจ้าภาพ เจ้ามือ เจ้าของ) ขอบเขตบทบาทหน้าที่ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ปฏิสัมพันธ์กับภาคส่วนอื่นที่ขับเคลื่อนงานผู้สูงอายุ และสังคมสูงวัยในระดับพื้นที่เป็นอย่างไร ในการดำเนินการนั้นควรที่ภาคส่วนต่างๆจะต้องมีความชัดเจน ในบทบาทหน้าที่ ได้แก่ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น กระทรวงมหาดไทย หน่วยงานราชการที่เป็นหน่วยงานหลักอื่นๆ หน่วยงานตรวจสอบ (ปปช. สตง.) คณะกรรมการกระจายอำนาจสู่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น คณะกรรมการผู้สูงอายุแห่งชาติ สำนักงบประมาณ และภาคส่วนอื่นที่เกี่ยวข้องเข้าร่วม รวมทั้งการเพิ่มงบประมาณเฉพาะให้ท้องถิ่น เพื่อการดูแลผู้สูงอายุด้วย
6) การสร้างสภาพแวดล้อมและระบบขนส่งสาธารณะที่เข้าถึงได้และปลอดภัยสำหรับผู้สูงอายุ
หมายถึงสถานที่ส่วนบุคคล สถานที่สาธารณะ และระบบขนส่งสาธารณะต่างๆ ได้แก่ บ้านพักอาศัย โรงแรม ร้านอาหาร อาคารสำนักงาน ห้างสรรพสินค้า สวนสาธารณะ ทางเท้า ถนน รถโดยสารประจำทาง รถไฟ เรือโดยสาร ให้มีสภาพเหมาะสมต่อการเดินทางได้เองสำหรับคนทุกวัยโดยเฉพาะในผู้สูงอายุและผู้พิการ เพื่อให้เกิดลักษณะ “อยู่ดี” (Universal Design) ทั้งนี้ ควรให้อำนาจองค์กรบริหารส่วนท้องถิ่นมีบทบาทสำคัญในการออกแบบสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมกับลักษณะของประชากรในแต่ละท้องที่ที่อาจมีความต้องการสภาพแวดล้อมในการดำเนินชีวิตที่แตกต่างกัน
7) การสร้างเสริมศักยภาพผู้สูงอายุในด้านเทคโนโลยี ให้ผู้สูงอายุสามารถใช้บริการสัญญาณอินเทอร์เน็ตได้ถ้วนหน้าโดยไม่มีข้อจำกัด
สังคมสูงวัยในยุคดิจิทัล ที่ผู้สูงอายุต้องใช้ชีวิตท่ามกลางการพัฒนาและการเปลี่ยนทางเทคโนโลยี ที่รวดเร็วและรุนแรง จำเป็นต้องเป็นผู้สูงอายุที่เปี่ยมด้วยพฤฒิพลัง (Active and Productive Aging) สามารถดำรงชีวิตได้อย่างมีคุณภาพและมีความมั่นคงในชีวิตอย่างมีศักดิ์ศรี
ผู้สูงอายุที่มีทักษะและความสามารถ ในการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้เสริมสร้างสุขภาพให้แข็งแรง มีความกระฉับกระเฉงในการดำเนินชีวิตประจำวัน มีความสัมพันธ์ที่ดีและมีส่วนร่วมทำกิจกรรมกับคนในครอบครัว ชุมชน มีความสามารถสร้างผลผลิตเพื่อความมั่นคงทางรายได้เพื่อการดำรงชีพของตนเอง รวมทั้งสามารถสร้างผลผลิตในชุมชน และสามารถใช้เทคโนโลยีดิจิทัลในการดำรงชีวิตประจำวันได้อย่างปลอดภัย สามารถปรับตัวนำเทคโนโลยีดิจิทัลที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วมาเสริมสร้างคุณภาพชีวิต ความมั่นคงทางรายได้ และสร้างผลผลิตชุมชนได้