แนวร่วมการเงินที่เป็นธรรมประเทศไทย เผยแพร่ผลประเมินธนาคารไทยปีที่ 5 ชี้แนวร่วมฯ ประสบความสำเร็จในการสร้างวัฒนธรรมแข่งขันด้านนโยบายความยั่งยืน เห็นได้จากการแข่งกันทำคะแนนเพื่อช่วงชิงอับดับการประเมิน ผ่านการปรับปรุงและเปิดเผยนโยบายใหม่ของแต่ละธนาคาร
00000
17 เม.ย.2566 – แนวร่วมการเงินที่เป็นธรรมประเทศไทย (Fair Finance Thailand) ซึ่งประกอบไปด้วย บริษัท ป่าสาละ จำกัด มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค มูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม (EnLaw) มูลนิธิบูรณะนิเวศ (EARTH) และ International Rivers จัดทำการประเมินนโยบายของธนาคารไทยอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี พ.ศ. 2561 เป็นต้นมา โดยใช้เกณฑ์มาตรฐานของแนวร่วมการเงินที่เป็นธรรมนานาชาติ (Fair Finance Guide International) เพื่อผลักดันให้ภาคการเงินการธนาคารของไทยก้าวสู่แนวคิดและวิถีปฏิบัติของ ‘การธนาคารที่ยั่งยืน’ (sustainable banking) อย่างแท้จริง
ทั้งนี้ เกณฑ์มาตรฐานของแนวร่วมการเงินที่เป็นธรรมนานาชาติ (Fair Finance Guide International) คือ
ดัชนีและเครื่องมือสำหรับผู้บริโภคและภาคประชาสังคมในการเจรจาต่อรอง รณรงค์ ส่งเสริม และมีส่วนร่วมกับภาครัฐและสถาบันการเงิน เพื่อส่งเสริมความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมของสถาบันการเงิน โดยประเมินจากเนื้อหานโยบายและแนวปฏิบัติในการลงทุนและการให้บริการทางการเงินของสถาบันการเงิน ที่เปิดเผยต่อสาธารณะของแต่ละธนาคาร เปรียบเทียบกับมาตรฐานสากลด้านความยั่งยืนที่เกี่ยวข้อง
หมวดที่ใช้ในการประเมิน มีด้วยกัน 13 หมวด ได้แก่ 1.การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ 2.การทุจริตคอร์รัปชัน 3.ความเท่าเทียมทางเพศ 4.สุขภาพ 5.สิทธิมนุษยชน 6.สิทธิแรงงาน 7.ธรรมชาติ 8.ภาษี 9.อาวุธ 10.การคุ้มครองผู้บริโภค 11.การขยายบริการทางการเงิน 12.การตอบแทน และ 13.ความโปร่งใสและความรับผิด
สฤณี อาชวานันทกุล หัวหน้าคณะวิจัย แนวร่วมการเงินที่เป็นธรรมประเทศไทย (Fair Finance Thailand) กล่าวว่า สำหรับผลการประเมินธนาคาร ปี 2565 ธนาคารที่ได้คะแนนสูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่ ธนาคารทหารไทยธนชาต (42.6%) ธนาคารกสิกรไทย (34.0%) ธนาคารกรุงไทย (33.4%) ธนาคารไทยพาณิชย์ (32.0%) และ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา (29.7%) ตามลำดับ
โดยคณะวิจัยฯ ได้พิจารณามอบรางวัลประจำปี พ.ศ. 2565 ประกอบด้วย รางวัลคะแนนสูงสุด ประจำปี พ.ศ. 2565 แก่ ธนาคารทหารไทยธนชาต, รางวัลพัฒนาการสูงสุดประจำปี พ.ศ. 2565 หมวดธนาคารพาณิชย์ แก่ ธนาคารไทยพาณิชย์, รางวัลพัฒนาการสูงสุดประจำปี พ.ศ. 2565 หมวดสถาบันการเงินเฉพาะกิจ แก่ ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย และรางวัลพัฒนาการสูงสุด 5 ปี พ.ศ. 2561-2565 แก่ ธนาคารทหารไทยธนชาต
สฤณี ตั้งข้อสังเกตต่อนโยบายธนาคาร ประจำปี 2565 ว่า ธนาคารพาณิชย์หลายแห่งปรับปรุงนโยบายสินเชื่อและรายการธุรกิจที่ธนาคารจะไม่ให้การสนับสนุนทางการเงิน (exclusion list) ที่ชัดเจนกว่าทุกปีที่แล้วมา โดยเฉพาะการให้ความสำคัญมากขึ้นกับธุรกิจที่ส่งผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ อาทิ ธนาคารทหารไทยธนชาต ธนาคารไทยพาณิชย์ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา ประกาศไม่ให้การสนับสนุนทางการเงินแก่ธุรกิจผลิตไฟฟ้าจากถ่านหินและธุรกิจเหมืองถ่านหิน
ขณะที่ธนาคารกสิกรไทยประกาศเป้าหมายจะทยอยลดเงินกู้โครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินและเหมืองถ่านหินที่มีอยู่แล้วให้เป็นศูนย์ภายในปี พ.ศ. 2573 (ค.ศ. 2030) หรือธนาคารไทยพาณิชย์มีการกำหนดให้มีการประเมินความเสี่ยงด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในกระบวนการพิจารณาสินเชื่อสำหรับโครงการขนาดใหญ่ที่มีความเสี่ยงสูง
สฤณี กล่าวถึงพัฒนาการน่าสนใจจากธนาคารที่รัฐเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่และสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ อาทิ ธนาคารกรุงไทยประกาศเป็นนโยบายว่า ลูกค้าธุรกิจของธนาคารต้องไม่เกี่ยวข้องกับกิจกรรมการล็อบบี้ทั้งทางตรงและทางอ้อม ที่พุ่งเป้าไปยังการทำให้นโยบายการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของประเทศอ่อนแอลง รวมถึงยังเป็นธนาคารเพียงแห่งเดียวที่ประกาศเป็นนโยบายว่า ลูกค้าของธนาคารไม่เพียงแต่ต้องปฏิบัติตามมาตรฐานแรงงานตามกฎหมายแรงงานเท่านั้น แต่ต้องมีระบบการบริหารจัดการที่ชัดเจนในการติดตามและแก้ไขให้เป็นไปตามกฎหมายแรงงานด้วย
ขณะที่ธนาคารออมสินได้คะแนนเพิ่มขึ้นในหมวดความเท่าเทียมทางเพศ จากการประกาศนโยบายไม่ยอมรับความรุนแรงทางเพศทุกรูปแบบ (zero tolerance policy) ในที่ทำงาน รวมถึงมีการเปิดเผยช่องว่างค่าตอบแทน (gender pay gap) เป็นปีแรก
“เราสร้างวัฒนธรรมแข่งขันด้านนโยบายความยั่งยืน ธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่ 5 แห่ง แข่งกันทำคะแนนเพื่อช่วงชิงอับดับการประเมิน กระบวนการประเมินที่โปร่งใสและการรับฟังความคิดเห็นจากธนาคารอย่างต่อเนื่อง ทำให้แนวร่วมฯ มีส่วนผลักดันให้ธนาคารปรับปรุงและเปิดเผยนโยบายใหม่ไม่ต่ำกว่า 20 นโยบาย รวมถึงรายการสินเชื่อต้องห้าม (exclusion list)” สฤณี กล่าวถึงความสำเร็จของการดำเนินโครงการ “แนวร่วมการเงินที่เป็นธรรมประเทศไทย” (Fair Finance Thailand) ในช่วง 5 ปีแรก
สฤณี กล่าวด้วยว่า แนวร่วมฯ ยังผลักดันการธนาคารที่ยั่งยืนอย่างเป็นรูปธรรม ผ่านการจัดทำและรณรงค์กรณีศึกษาอย่างต่อเนื่อง อาทิ กรณีศึกษาสถานการณ์และความต้องการของลูกหนี้รายย่อยที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 แนวร่วมฯ ได้จัดทำข้อเสนอแนะเชิงนโยบายให้เปิดช่องทางฟื้นฟูหนี้สินสำหรับลูกหนี้รายย่อย ซึ่งได้รับการบรรจุเป็นนโยบายของธนาคารแห่งประเทศไทย และร่างแก้ไข พ.ร.บ. ล้มละลายผ่านวาระแรกในสภา หรือในประเด็นด้านการให้สินเชื่ออย่างรับผิดชอบ
แนวร่วมฯ ได้จัดทำกรณีศึกษาโครงการเขื่อนหลวงพระบางบนแม่น้ำโขงสายประธาน ที่ชี้ประเด็นความเสี่ยงด้านสังคมและสิ่งแวดล้อมของโครงการดังกล่าว และส่งผลให้ธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่ทบทวนกระบวนการกลั่นกรองสินเชื่อโครงการ นอกจากนี้ แนวร่วมฯ ยังมีการเผยแพร่องค์ความรู้เกี่ยวกับการธนาคารที่ยั่งยืน ผ่านการจัดอบรมในประเด็นที่เกี่ยวข้อง อาทิ climate strategy, taxonomy ซึ่งได้รับการตอบรับเป็นอย่างดีจากสถาบันการเงินและหน่วยงานกำกับดูแล โดยมีผู้เข้าร่วมกว่า 200 คน ระหว่างปี พ.ศ. 2562 – 2565
อนึ่ง ในวันที่ 18 เม.ย. ที่จะถึงนี้ แนวร่วมฯ จะจัดเวทีสาธารณะ เรื่อง “เปิดคะแนน ESG ธนาคารไทย ปีที่ 5 ก้าวต่ออย่างไรให้ยั่งยืนและเป็นธรรม” ที่ห้องประชุม @BOT ชั้น 5 ศูนย์การเรียนรู้ ธนาคารแห่งประเทศไทย เพื่อแถลงผลการประเมินธนาคาร ประจำปี 2565 พร้อมมอบรางวัลแก่ธนาคารที่ได้รับรางวัล
นอกจากนี้ ยังมีการเสวนา 2 หัวข้อจากมุมมองของผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งสองภาคส่วน คือ การเสวนา ในหัวข้อ “อนาคต ESG ธนาคารไทย” โดยผู้แทนจากธนาคารแห่งประเทศไทย ธนาคารทหารไทยธนชาต จำกัด (มหาชน) ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย และธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) และการ เสวนาในหัวข้อ “อนาคต ESG ธนาคารไทย ในมุมมองผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย” จากองค์กรสมาชิกของแนวร่วมฯ ด้วย
ผู้ที่สนใจสามารถลงทะเบียนเข้าร่วมงานได้ที่ https://forms.gle/2LaEuiayPbukP6KB7