ฟังเสียงประเทศไทย : คนเหนือมองอนาคตประเทศไทย หลังเลือกตั้ง

ฟังเสียงประเทศไทย : คนเหนือมองอนาคตประเทศไทย หลังเลือกตั้ง

“เสียงประชาชน” ควรจะเป็นต้นทางของการออกแบบ “อนาคตประเทศไทย”  โดยเฉพาะในช่วงเวลาสำคัญที่ประเทศไทยกำลังจะเข้าสู่การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร 14 พฤษภาคม 2566 นี้

แต่ 4 วินาทีของการหย่อนบัตร กับคะแนนเสียงของผู้แทนในสภา คงไม่ใช่คำตอบเดียว ต่อการกำหนด อนาคตประเทศ  

เวทีฟังเสียงประเทศไทย Post Election ภาพอนาคตประเทศไทยหลังเลือกตั้ง โดยไทยพีบีเอส  ที่ตระเวณไปทั่วประเทศ เพื่อเป็นอีกพื้นที่หนึ่งที่ให้ประชาชนได้รับฟังข้อมูล และร่วมส่งเสียงกำหนดอนาคตของประเทศ โดยเวทีภาคเหนือครั้งที่ 1 จัดขึ้นที่ศูนย์วัฒนธรรมจังหวัดเชียงใหม่  

ตัวแทนประชาชนซึ่งเป็นทั้งผู้นำชุมชน นักธุรกิจ ตัวแทนส่วนราชการ นักศึกษา หลากอาชีพหลากวัย จาก 8 จังหวัดภาคเหนือตอนบน 50  ท่านมาร่วมกันมอง

  • “อนาคตภาคเหนือหลังเลือกตั้ง” ว่าจะเป็นเช่นไร และจะต้องทำอะไรอีกบ้าง ?

10 ปีข้างหน้าคุณคิดว่าอนาคตภาคเหนือเป็นแบบไหน ?

เริ่มต้นด้วยการชวนคิด 1 คำที่คิดว่าอนาคตภาคเหนือจะเป็นเช่นไร  ซึ่งไม่เหนือความคาดหมาย ที่คำสำคัญจะเป็นเรื่องของ ฝุ่น อากาศ  และที่น่าสนใจคือ คนแก่ และกระจายอำนาจ  รวมทั้งอีกหลายคำที่สะท้อนความคิดแรก

“ผมหวังจะให้มีอากาศดี โดยเห็นว่าเราทุกคนมีส่วนทำให้เกิดฝุ่นควันและการก่อมลภาวะต่าง ๆ ถ้าจะทำให้ดีได้ ต้องเริ่มจากตัวเราก่อนแล้วขยับไปในระดับภูมิภาค ประเด็นที่สำคัญคือเรื่องของสุขภาวะด้านอากาศและโลกร้อนที่ต้องมีการแก้ไขปัญหาร่วมในระดับประเทศและระหว่างประเทศ” 

“ผมนึกถึงคำว่า ท้องถิ่นจัดการตนเอง  เพราะเห็นว่า ชุมชนท้องถิ่นเป็นเจ้าของปัญหาจึงมีแนวทางในการแก้ไขปัญหาในท้องถิ่นที่ตรงจุด ดังนั้นต้องมีการกระจายอำนาจให้ท้องถิ่นจัดการปัญหาของตัวเอง โดยส่วนกลางสนับสนุนในเรื่องงบประมาณ คนและเครื่องมือ”  

“ผมอยากเห็นคนเหนือมีการศึกษาที่ดีการศึกษาเป็นยาที่รักษาทุกโรค หากมีการศึกษาที่ดีจะช่วยในเรื่องการดูแลสิ่งแวดล้อม สุขภาพ และเป็นต้นทุนของการสร้างคนในสังคมที่มีคุณภาพและทำให้มีเศรษฐกิจ มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีได้”

เป็นความคิดความฝันถึงอนาคตของภาคเหนือ ที่ผู้ร่วมวงพูดคุยแบ่งปันกันพอเป็นน้ำจิ้ม ก่อนที่จะได้ร่วมรับฟังข้อมูลสถานการณ์ ความเป็นจริงของภาคเหนือ ณ วันนี้

เหลียวหลัง ก่อนแลหน้า : ภาคเหนือ ณ พ.ศ.นี้

ทีมฟังเสียงประเทศไทย เรียบเรียง “ภาคเหนือในกระแสความเปลี่ยนแปลง”  โดยรวมข้อมูลในมิติต่างๆ ของภาคเหนือมาเพื่อให้ผู้ร่วมพูดคุยได้เห็นสถานการณ์สำคัญของภาค

“ภาคเหนือ” ภูมิภาคที่เต็มไปด้วยเทือกเขาสลับซับซ้อน ป่าไม้  เป็นแหล่งกำเนิดต้นน้ำสำคัญของประเทศ

ภูมิภาคที่เต็มไปด้วยความหลากหลายของผู้คนทั้งจากชนเผ่าพื้นเมืองดั้งเดิม จากพรมแดนติดประเทศ เพื่อนบ้านทั้งลาว เมียนมา  และเชื่อมไปในภูมิภาคลุ่มน้ำโขง   

พื้นที่กว่า 100 ล้านไร่ของภาคเหนือ  กว่าครึ่ง หรือร้อยละ 53 เป็นป่าไม้  ที่เหลือเป็นพื้นที่ทำการเกษตรร้อยละ 30 และพื้นที่ใช้ประโยชน์อื่นร้อยละ 16  ซึ่งมีผลต่อชีวิตของผู้คน   สังคมและเศรษฐกิจของคนภาคเหนือ อย่างมีนัยยะสำคัญ

เศรษฐกิจเล็ก พึ่งภาคบริการ

เศรษฐกิจของภาคเหนือมีขนาดเล็กที่สุดในประเทศ และขยายตัวช้า เนื่องจาก การลงทุนโครงสร้าง พื้นฐานทางเศรษฐกิจขนาดใหญ่ยังกระจายสู่ภาคเหนือไม่มากนัก  ภาคบริการมีบทบาทสำคัญในเศรษฐกิจของ ภาคเหนืออย่างต่อเนื่องโดยมีสัดส่วนกว่าครึ่งในโครงสร้างเศรษฐกิจของภาค   รองลงมาเป็นภาคเกษตรและ ภาคอุตสาหกรรม

ภาคเหนือมีความพร้อมต่อการพัฒนาเชื่อมโยงด้านการค้าและบริการกับนานาชาติ และกลุ่มประเทศในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขงและมีเมืองสำคัญที่เป็น ฐานการพัฒนาที่เชื่อมโยงกับนานาชาติ อย่างเช่น เชียงใหม่ เชียงราย และตากและการเส้นทางคมนาคม ส่งผลให้เกิดโอกาสในการขยายตัวของตลาดการค้า การท่องเที่ยว ทำให้ภาคเหนือเป็นประตูเชื่อมโยง การขนส่งสินค้าและนักท่องเที่ยวที่คาดว่าจะมีปริมาณเพิ่มขึ้น และมีโอกาสในการขยายธุรกิจบริการด้านต่างๆ เช่น บริการทางการแพทย์ การศึกษา การประชุมและ แสดงสินค้านานาชาติ การท่องเที่ยว ซึ่งเป็นภาคเศรษฐกิจที่สำคัญของภาคเหนือ โดดเด่นด้านวัฒนธรรม และธรรมชาติ และเริ่มเจาะกลุ่มเป้าหมายเฉพาะกลุ่ม มากขึ้น  แต่รายได้ยังกระจุกตัวอยู่ในเมืองท่องเที่ยวหลักและ ปัญหาฝุ่นควันเริ่มส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจและการท่องเที่ยว

เกษตรมีศักยภาพแต่เจอโจทย์ที่ดิน

พื้นที่ใช้ประโยชน์ทางการเกษตรของคนเหนือส่วนใหญ่อยู่ในภาคเหนือตอนล่างผลิตพืชสำคัญ คือ ข้าว อ้อยโรงงาน และมันส่าปะหลัง  ขณะที่ภาคเหนือตอนบนเป็นพื้นที่สำคัญในผลิตพืชผัก ผลไม้ เช่น ลำไย ลิ้นจี่ แต่มีโจทย์ใหญ่คือสิทธิการเข้าถึงทรัพยากรโดยเฉพาะเรื่องที่ดินเนื่องจากเป็นพื้นที่ป่า และเกษตรกรภาคเหนือตอนล่างเป็นผู้เช่าพื้นที่ ไม่ได้เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดิน

กระบวนการผลิตของเกษตรกรภาคเหนือเริ่มปรับเปลี่ยนสู่การเกษตรสร้างมูลค่าเช่น เกษตรปลอดภัย เกษตรอินทรีย์ และมีการใช้เทคโนโลยีในกระบวนการผลิตมากขึ้น แต่ความเปลี่ยนแปลงของสภาพ ภูมิอากาศความผันผวนของราคาผลผลิตในตลาดโลก และการไหลเข้าของสินค้าจากต่างประเทศที่มีราคาถูกกว่า อาจส่งผลกระทบต่อระบบ การผลิตของภาค

ภาคอุตสาหกรรมมีบทบาทในเศรษฐกิจภาคเหนือน้อย แต่สามารถยกระดับสู่อุตสาหกรรมสร้างสรรค์ได้โดย

การใช้อัตลักษณ์ด้านวัฒนธรรม เทคโนโลยีและนวัตกรรมต่อยอด  ส่วนการค้าชายแดน- แม้จะมีความพยายาม พัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดนภาคเหนือ และมีการพัฒนาเส้นทางเชื่อมต่อไปยังจีนตอนใต้ แต่ยังไม่สามารถ ดึงดูดอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ยังคงเป็นเพียงทางผ่านของสินค้า

คนเหนือรายได้น้อย คนสูงวัยเพิ่ม

ภาคเหนือมีประชากรประมาณ 12 ล้านคน  คนเหนือรายได้น้อย จำนวนคนสูงอายุเพิ่มขึ้น ความยากจนลดลงแต่มีความเหลื่อมล้ำด้านรายได้ โดยจังหวัดแม่ฮ่องสอนเป็นจังหวัดที่มีสัดส่วนคนจนสูงสุด ถึงร้อยละ 25.26 รองลงมา เป็นจังหวัดตาก และจังหวัดน่าน ร้อยละ 21.13 และ ร้อยละ 9.48 ตามลำดับ

โครงสร้างประชากรของภาคเหนือเปลี่ยนแปลงเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างสมบูรณ์ เมื่อปี 2562 โดยมีสัดส่วนผู้สูงอายุ กว่าร้อยละ 21.79 ซึ่งทำให้วัยแรงงานต้องดูแลผู้สูงอายุมากขึ้น จากประชากรวัยแรงงาน 2.6 คน ดูแลผู้สูงอายุ 1 คน การเตรียมความพร้อมของรัฐเพื่อรองรับสังคมผู้สูงอายุยังมีน้อย แม้ว่าในระดับชุมชน จะมีอยู่บ้าง ไม่ว่าจะเป็นความตื่นตัวและเข้ามามีบทบาทในการจัดสวัสดิการและการดูแลผู้สูงอายุเพิ่มมากขึ้น ในรูปของชมรมผู้สูงอายุ

การศึกษาที่ไม่เท่าเทียม ไม่ตอบสนองท้องถิ่น

ภาคเหนือมีสถาบันอุดมศึกษา 29 แห่ง เกือบครบทุกจังหวัด ประชาชนมีโอกาสเข้าถึงการศึกษาเพิ่มมากขึ้น ยกเว้นพื้นที่ห่างไกลยังมีปัญหาในการเข้าถึงการศึกษา โดยพบว่าระบบการศึกษาที่ไม่เท่าเทียม ไม่ ตอบสนองท้องถิ่น และไม่เท่าทันความเปลี่ยนแปลง  ระยะ10 ปีที่ผ่านมามีรูปแบบการจัดการศึกษา หลายลักษณะเกิดขึ้นในภาคเหนือ ทั้งบ้านเรียน ศูนย์การเรียน หรือการศึกษาทางเลือก เพื่อสร้างทางเลือกใหม่ให้ผู้เรียน และการศึกษาที่พยายามเน้นการเพิ่มทักษะด้านอาชีพ ให้ผู้เรียนเป็น ฝีมือแรงงานที่มีคุณภาพ

ระบบสาธารณสุขเหลื่อมล้ำกระจุกตัวเมืองหลัก

การให้บริการสาธารณสุขในภาคเหนือมีความครอบคลุมมากขึ้น แต่ยังคงมีความเหลื่อมล้ำ ระหว่างพื้นที่ โดยสัดส่วนแพทย์ต่อประชากรกระจุกตัวในจังหวัดที่เป็นเมืองศูนย์กลางและเมืองหลัก

มีจำนวนโรงพยาบาล 195 แห่ง และ โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) 2,227 แห่ง และมีสัดส่วนแพทย์ต่อประชากรของภาคเหนือมี แนวโน้มดีขึ้น โดยในปี 2562 มีสัดส่วนแพทย์ต่อประชากร 1 ต่อ1,843 คน ซึ่ง WHO กำหนดอัตราที่เหมาะสมไว้ คือแพทย์ 1 ต่อ 1000 คน

และเป็นที่น่าสนใจว่าการฆ่าตัวตาย มีแนวโน้มเป็น ปัญหาเพิ่มขึ้น ภาคเหนือ มีอัตตราการฆ่าตัวตายสูง 3 จังหวัดแรก คือ จังหวัดตาก แม่ฮ่องสอน และเชียงใหม่ ซึ่งมีอัตรา การฆ่าตัวตายสูงกว่าภาพรวมของ ประเทศถึงเกือบ 2 เท่า ด้านทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม

ฝุ่นหนักแต่ขาดมาตรการจัดการที่ตอบโจทย์

ภาคเหนือมีความโดดเด่นด้านป่าไม้ที่มีความหลากหลาก แต่เริ่มลดลง อยู่ในสภาพที่ทรุดโทรมลงมาก ปัญหาฝุ่นควันและมลพิษทางอากาศเป็นโจทย์ใหญ่สำหรับคนภาคเหนือที่จริงแล้วไม่ใช่ปัญหาใหม่ แต่เป็นผลสืบเนื่องมาจากสภาพพื้นที่ วิถีชีวิตทางการเกษตรซึ่งพึ่งพาการ เผา  สภาพของพื้นที่ป่าเต็งรังและ ป่าเบญจพรรณที่มีเศษใบไม้ร่วงสะสม ลักษณะภูมิประเทศที่เป็นแอ่งกระทะและมีภูเขาล้อมรอบ

ปัญหาการถือครองที่ดินและสิทธิการเข้าถึง  บวกกับฝุ่นควันจากประเทศเพื่อนบ้าน ที่พัดเข้ามามากขึ้นจากการขยายพื้นที่เกษตรข้ามพรมแดน  ขณะที่มาตรการการจัดการกับปัญหายังขาดระบบการจัดการร่วม โดยเฉพาะในการพัฒนาพื้นที่ป่าและแก้ปัญหาไฟป่า แม้จะมีวาระแห่งชาติ  

โอกาสและข้อท้าทายของภาคเหนือ

ภายใต้ความท้าทาย ภาคเหนือยังมีโอกาสการพัฒนา อยู่ไม่น้อย ภาคเหนือตอนบนมีศักยภาพ ด้านเกษตรประณีต เกษตรอินทรีย์ โดยเฉพาะพืชผักและดอกไม้เมืองหนาวสำหรับตลาดเฉพาะที่มีกำลังซื้อสูง ภาคเหนือตอนล่างมีศักยภาพด้านการผลิต ข้าว มีฐานทรัพยากรด้านการท่องเที่ยวที่หลากหลาย ทั้งท่องเที่ยวเชิง ประวัติศาสตร์ เชิงวัฒนธรรมและวิถีชีวิตชุมชน เชิงนิเวศน์ และเชิงสุขภาพ มีสถานบันการศึกษาเป็นศูนย์กลาง ทางการศึกษา มีผลงานวิจัยและพัฒนา และสร้างองค์ความรู้เทคโนโลยีที่มีศักยภาพ และยังเป็นหนึ่งในจุดหมาย ปลายทางของการท่องเที่ยวหลายด้านจากการเปิดเส้นทางเชื่อมโลก

แต่อย่างไรก็ตาม จากสถานการณ์โลกที่ได้รับผลกระทบการเปลี่ยนด้านเทคโนโลยี ทำให้หลายส่วน ต้องปรับตัวอย่างรวดเร็วให้ความสําคัญกับการใช้ เทคโนโลยีดิจิทัลมากขึ้น ในขณะที่แรงงานเอง ควรต้องพัฒนาทักษะทั้ง reskill upskill และ newskill เพื่อให้พร้อมรับกับการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้น

ทั้งนี้สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ศึกษาพบภาพรวมโจทย์ที่ท้าทาย ของภาคเหนือตามกรอบการพัฒนาที่ยั่งยืน 5 เรื่อง คือ

1.สิทธิการเข้าถึงทรัพยากร

2.การพัฒนาเศรษฐกิจให้สอดคล้องกับภูมินิเวศ

3.ระบบการศึกษาที่ไม่ตอบโจทย์การเปลี่ยนแปลง

4.ฝุ่นละอองที่มีขนาดเล็กกว่า 2.5 ไมครอน และ

5.การบริหารบ้านเมืองขาดผู้นำที่ทำงานอย่างเข้าใจต่อเนื่อง และขาดหลักธรรมาภิบาล

ชวนคิดกับความเป็นจริงของพื้นที่เหนือ

 ดร.สมคิด แก้วทิพย์ จากมหาวิทยาลัยแม่โจ้ หัวหน้าทีมวิจัยภาคเหนือ สกสว.

มาร่วมเติมข้อมูลโดยบอกว่า

“จากการวิจัยลงพื้นที่ภาคเหนือ พบจุดเจ็บปวดของคนเหนือที่หนักหนาสาหัส เรื่องแรกคือฝุ่นควัน ที่เป็นมานานและยังไม่รู้จะหาทางออกอย่างไรดี เศรษฐกิจไม่เป็นธรรม เป็นการผูกขาดจากกลุ่มทุน มีปัญหาหนี้สิน ปัญหาการศึกษาที่ไม่ตอบโจทย์ และ เรื่องที่เป็นหัวใจสำคัญ เป็นสาเหตุสำคัญคือการบริหารจัดการที่ไม่ได้เรื่องได้ราว  บริหารโดยผู้ที่ไม่เข้าใจ ผู้กุมขบวนเป็นคนจรเข้ามา ไม่ใช่คนพื้นที่ ทำให้ไม่เข้าใจ ไม่ต่อเนื่อง ทำไปเช่นนั้นแหละ  ซึ่งเรื่องนี้เป็นเรื่องระบบการจัดการบ้านเมืองซึ่งสำคัญมาก”

นอกจากนั้น ข้อมูลหรือภาพรวมที่คนรับรู้ของภาคเหนือบางข้อสรุป ก็เป็นภาพลวงตา เป็นมายาคติหรือไม่ เช่น ข้อมูลของจังหวัดแม่ฮ่องสอนมีระบุว่าเป็นจังหวัดที่มีความสุขที่สุด ขณะที่ข้อเท็จจริงพบว่ายากจนที่สุด คนฆ่าตัวตายมากที่สุด ซึ่งถ้าเราเข้าไปในพื้นที่จังหวัดแม่ฮ่องสอนจริงๆ แล้วจะเห็นว่า พื้นที่ห่างไกลบางแห่ง มีเสาไฟฟ้า แต่ไม่มีสายไฟ  เด็กไม่มีอาหารเช้า โรงเรียนไม่มีน้ำสะอาดดื่มกิน คุณภาพการศึกษาพบเด็กหลุดออกนอกระบบมาก มีครูที่หลุดจากระบบอีกเป็นจำนวนมากเพราะอยู่ไม่ได้

ซึ่งถ้าเราย้อนโจทย์เชิงระบบหรือโครงสร้าง โดยกลับไปมากว่า 20 ปีพบว่า ทุนเดิมของภาคเหนือที่มีระบบการวิจัยท้องถิ่น ชุมชนเป็นฐาน ในการสร้างความรู้และการปรับตัวของชุมชนท้องถิ่น ซึ่งในอดีตดีกว่าปัจจุบัน แต่ปัจจุบันกลับเป็นความก้าวหน้าขาลง แม้จะมีความพยายามเคลื่อนตัวของการลุกขึ้นมาแก้ปัญหาของกลุ่มต่าง ๆ ในรูปแบบต่างๆ แต่ยังไม่ค่อยเข้มแข็ง ยังนิ่งๆ ยังขาดการสร้างขบวนให้แรงเคลื่อน มีเป้าหมายและทิศทางร่วม โจทย์ใหญ่คือทำอย่างไร องค์กรภาคีของท้องถิ่นจะสร้างพลังร่วม สร้างความเคลื่อนไหวให้เชื่อมโยงหากัน เพื่อตอบโจทย์ใหญ่ๆ ของภาคเหนือ สร้างพลังร่วม จัดการเรียนรู้ร่วม เพื่อให้การพัฒนาความสามารถ ในการคิดอ่านการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นเห็นภาพรวมอย่างเข้าใจร่วมกัน มีระบบการเรียนรู้ที่สร้างใหม่ การลุกขึ้นมาจัดการศึกษาของท้องถิ่นด้วยตัวเอง สร้างการเรียนรู้เพื่อการเปลี่ยนแปลงเชิงระบบ       

คุณอาคม สุวรรณกันทา ประธานสมาพันธ์เอสเอ็มอีภาคเหนือ

เติมข้อมูลโดยมองอนาคตภาคเหนือ 5 ด้าน เศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม การศึกษา และสิ่งที่ท้าทาย         

เราได้ยินว่าภาคเหนือมีความเหลื่อมล้ำสูง มีรายได้น้อยที่สุดในประเทศ มีคนยากจนสูงเช่นแม่ฮ่องสอน รองลงมาคือตาก เป็นจุดเจ็บปวด  ดังนั้นอัตราการเติบโตของภาคเหนือคือปัญหาใหญ่ แต่สภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติและภาคเอกชนศึกษามาแล้วว่า  จุดขายของภาคเหนือคือ 4 C  คือ Creative ความสร้างสรรค์ การประดิษฐ์ที่จะเพิ่มคุณค่าสินค้าหัตถกรรม  Connection การเชื่อมระหว่างประเทศ  มีไฟล์ทบิน  มีการเชื่อมโยงโครงข่ายคมนาคมระหว่างประเทศ  Care คุณภาพสุขภาพ โดยเฉพาะของผู้สูงอายุ การดูแลสุขภาพสูงวัย และ Clean อาหาร สิ่งแวดล้อม พลังงาน  ถ้าเราผลักดัน 4 ด้านให้ครบภาคเหนือจะไปได้ 

แต่เนื่องจากเรามีความเหลื่อมล้ำสูง รายได้ต่ำ ธนาคารแห่งประเทศไทยและภาคเอกชนคิดรูปแบบ 5 รูปแบบ คือ

1.เกษตรอัฉริยะ 

2.อาหารแห่งอนาคตที่มาจากผลิตผลของท้องถิ่นเพื่อยกระดับด้วยนวัตกรรม

3.ความยั่งยืนของเศรษฐกิจการใช้พลังงานสะอาดยั่งยืน

4.การดูแลผู้สูงอายุ wellnes

5.การท่องเที่ยวสร้างสรรค์ เศรษฐกิจสร้างสรรค์มีหลากหลาย  

แผนงานคนไทย 4.0 ได้ศึกษาเสาหลัก 4 ด้านที่จะขับเคลื่อนภาคเหนือได้

1.การผลักดันเชียงใหม่มรดกโลก ให้มีการท่องเที่ยวเชิงเทศกาล  การประชุมระดับโลก 

2. จุดหมายปลายทางศิลปด้านอาหารท้องถิ่นที่สร้างมูลค่าระดับโลก

3.ส่งเสริมเชียงใหม่เป็นเมืองสุขภาพ พำนักระยะยาว  

4. ส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงสันทนาการและครอบครัว

          อย่างไรก็ตาม ปัญหาอุปสรรค  การรุกเข้ามาของทุนจีนและทุนข้ามชาติเป็นสิ่งที่จะต้องระมัดระวังจะเป็นจุดที่ทำลายหรือเอื้อต่อการเติบโตของเรา เพราะเป็นตัวอย่างกรณีประเทศเพื่อนบ้านมาแล้ว

3 ฉากทัศน์กับอนาคตประเทศไทยหลังเลือกตั้ง

          ก่อน และหลังการรับฟังข้อมูลภาพรวมของประเทศไทยและภาคเหนือ  ทีมฟังเสียงประเทศไทยชวนผู้เข้าร่วมเวทีเลือก ฉากทัศน์หรือภาพที่น่าจะเป็นของประเทศไทยในอีก 10 ปีข้างหน้าหรือ พ.ศ.2575 เพื่อประเมินด้วยตนเองว่า  หลังจากฟังอย่างเปิดใจรับข้อมูลแล้ว  ข้อมูลมีผลต่อการตัดสินใจวิเคราะห์สถานการณ์มากน้อยเพียงไร

โดยฉากทัศน์ทั้ง 3 เปรียบได้กับดวงอาทิตย์ดังนี้

1.สุริยุปราคา  ประเทศไทยยังวนเวียนอยู่ในกับดักรายได้ปานกลางและความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจแบบสุดขั้ว แม้ว่าภาคท่องเที่ยวจะกลับมาเฟื่องฟู แต่ยังเน้นใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติจนสภาพแวดล้อมทรุดโทรม ภาคเกษตรตกไปอยู่ในมือทุนใหญ่จากต่างชาติ ขณะที่รัฐยังคงมีวิธีคิดแบบรวมศูนย์ไม่ยอมกระจายอำนาจ การทุจริตคอรัปชั่นฝังรากลึกเกินเยียวยา 

          ด้านการศึกษาถือเป็นยุคล่มสลายของระบบท่องจำและการกำกับเนื้อหาจากส่วนกลาง ขณะที่ลูกหลานคนรวยมีทางเลือกไปศึกษาต่อในต่างประเทศ ด้านสังคมและคุณภาพชีวิต เปราะบางถึงขั้นวิกฤตจากปัญหามลภาวะทั้งอากาศ ดินและน้ำ รวมถึงปัญหาความไม่มั่นคงทางอาหาร  ต้นทุนทางสุขภาพของคนไทยสูงลิ่ว คนจำนวนมากเข้าไม่ถึงและบุคลากรทางการแพทย์ยังขาดแคลน กลุ่มคนสูงวัยและอาชีพอิสระขาดหลักประกันทางสังคมและไร้เงินออม กลายเป็นอีกปัญหาของสังคม

2.แสงแดดรำไร ประเทศไทยประคับประคองเศรษฐกิจให้อยู่รอดท่ามกลางเทคโนโลยีที่เติบโตแบบก้าวกระโดด ทุนใหญ่ใช้ฐานข้อมูล Big data และการเป็นเจ้าของแพลตฟอร์มครอบงำตลาด ขณะที่คนรุ่นใหม่ปรับตัวกลายเป็นแรงงานอิสระที่อยู่นอกระบบประกันสังคมและกฎหมายแรงงาน แต่ขาดความมั่นคง  

          ด้านการศึกษา เทคโนโลยีเข้ามามีบทบาทในการเรียนรู้ที่เปิดกว้างกว่าในห้องเรียน โรงเรียนขนาดเล็กยังต้องเผชิญการยุบควบรวม เพราะคนเรียนและงบประมาณน้อย ส่วนในระดับอุดมศึกษากลายเป็นมหาวิทยาลัยแพลตฟอร์ม และเน้นการเปิดสาขาในพื้นที่ต่าง ๆ                 

          สังคมและคุณภาพชีวิต แม้มีเทคโนโลยีเข้ามาช่วยอำนวยความสะดวก แต่ก็ต้องจ่ายแพง ขณะที่ความสัมพันธ์กลับเหินห่างกลายเป็นสังคมปัจเจกเต็มรูปแบบ คนสูงวัยมีแนวโน้มใช้ชีวิตตามลำพัง และต้องพบกับความเจ็บป่วยที่ได้รับจากช่วงวัยทำงาน สวัสดิการรักษาพยาบาลที่ได้รับจากรัฐไม่ใช่หลักประกันที่จะทำให้เข้าถึงการรักษาที่ดีและทันท่วงที 

3.พระอาทิตย์ทรงกลด ประเทศไทยพุ่งทะยานไปข้างหน้าจากวิสัยทัศน์ของรัฐที่ส่งเสริมการกระจายอำนาจให้ท้องถิ่น มีการลงทุนวิจัยและพัฒนาที่มุ่งสร้างความแตกต่างในทรัพยากรมนุษย์และผลิตภัณฑ์ที่มีเอกลักษณ์ ประชาชนสามารถใช้ภูมิปัญญาท้องถิ่นพัฒนาชุมชน เกิดระบบเศรษฐกิจหมุนเวียนที่สร้างรายได้พึ่งพาตนเองในชุมชน        

          มีการยกระดับความรู้จนเกิดเป็นปัญญารวมหมู่ ส่งผลให้คนในสังคมเท่าทันและใช้เทคโนโลยีเพื่อสมดุลของชีวิต มีการใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสมกับการจัดการปัญหาสิ่งแวดล้อม ในมิติสุขภาพมีการใช้ระบบฐานข้อมูลและเทคโนโลยีเพื่อสุขภาพของประชาชนอย่างเท่าเทียม       

          ด้านการศึกษาการเรียนรู้ของคนไทย  คนทุกวัยสามารถใช้แพลตฟอร์มและช่องทางออนไลน์ทั่วโลกได้ทุกที่ทุกเวลา ครูทำหน้าที่เป็นผู้ให้คำปรึกษา ผู้เรียนสามารถเลือกได้ว่าจะปรึกษากับคนหรือปัญญาประดิษฐ์ การศึกษาในท้องถิ่นได้รับความนิยมจากคนรุ่นใหม่ ทำให้มีความแตกต่างหลากหลายของวัฒนธรรมและภาษาที่ถูกส่งต่อจากรุ่นสู่รุ่นอย่างสร้างสรรค์        

ซึ่งผลโหวตในแต่ละรอบสะท้อนว่าข้อมูลมีผลต่อการตัดสินใจอย่างมาก 

คุณวิเชียร เชิดชูตระกูลทอง จากสภาอุตสาหกรรมเชียงใหม่ กล่าวว่า รอบแรกมองในทางสายกลาง เลือกภาพที่ 2  เพราะคิดว่าสถานการณ์คงจะไปเรื่อยๆ  เป็นเรื่องปกติของบ้านเรา แต่โหวตรอบที่ 2  เลือกฉากทัศน์ที่ 3 พระอาทิตย์ทรงกลด เพราะต้องมองไปข้างหน้า มองเชิงรุก โดยสร้างและปัญหา เรามีการวิจัย รู้แล้วว่าปัญหาคืออะไร รู้ว่าสามารถแก้ได้ และแนวทางที่จะเปลี่ยนจากฉากทัศน์ 2 ไปที่ 3 ได้โดย 3 คำ คำแรกคือร่วมมือกัน โดยการร่วมมือกันผลักดัน มีเป้าหมายร่วม คำที่สองคือความยั่งยืนที่ไปด้วยกัน และคำที่ 3 คือ การใช้ภูมิปัญญาของล้านนาและนวัตกรรมในการจัดการปัญหา ซึ่งวิธีการโดยมีการรวม 3 Generation  ไม่มอบภาระให้รุ่นใดรุ่นหนึ่ง มี Gen รุ่นใหม่ที่เพิ่งจบการศึกษา มีความรู้และเทคโนโลยี  รุ่นกลาง เป็นคนบอกว่าจะไปข้างหน้าไปต่อหรือถอย และรุ่นผู้มีประสบการณ์ เป็นโค้ชให้คำปรึกษา โดยทำในเสาหลักของภาคเหนือ 4 ด้าน ในการขับเคลื่อน

คุณพัลลภ แซ่จิว ประธานสภาอุตสาหกรรมและการท่องเที่ยวเชียงใหม่  กล่าวว่า รอบแรก เลือกภาพอนาคตที่ 1 สุริยุปราคา  แต่ต่อมาเปลี่ยนใจเป็นฉากทัศน์ 3 อาทิตย์ทรงกลด ที่เป็นเช่นนี้เพราะวิธีคิดเปลี่ยน รอบแรก มองคนอื่นทำ ชี้ให้คนอื่นทำ แต่ก็เห็นแต่อุปสรรคและอยากมีหลายอย่างที่อยากให้เปลี่ยน เช่น สิทธิของการเรียนรู้ตลอดชีวิตจากรัฐเพราะสังคมเปลี่ยนไวมาก  สิทธิตั้งแต่แรกเกิด ในการมีที่ดิน ของตนเอง เด็กแรกเกิดควรมีต้นทุนชีวิตในที่ดิน ที่อยู่ เพราะเป็นต้นทุนชีวิต ควรจัดสรรที่ดินทั่วถึง  สิทธิเรื่องสุขภาพ สุขภาพดี ย้อนไปถึงหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ผมอยากได้ 3 สิ่ง มองไปที่รัฐบาลแล้วจึงเลือกฉากทัศน์ที่ 1 แต่เมื่อกลับมามองตัวเอง  ถ้าไม่ทำอะไร สังคมอยู่ในมือของเรา ถ้ามันแต่ชี้นิ้วไปที่คนอื่นก็ไม่เกิดการเปลี่ยนแปลงอะไร   และนึกถึงตนเองที่ผ่านปัญหาหนักหน่วงในช่วงที่ผ่านมาแต่ก็ผ่านมาได้  ตราบที่ไม่มีความหวังก็จะไปได้ไม่ไกล  เลยเลือกภาพอนาคตที่สาม คือการมองไปข้างหน้า ลุกขึ้นมาเปลี่ยนแปลงตัวเอง ไม่ชี้นิ้วไปที่คนอื่นว่าต้องทำอะไร โดยมองความหวังและเห็นภาพอนาคตที่เห็นความหวังของภาคเหนือของประเทศไทย

คุณลักษณ์ชยาภรณ์ ตันสิริ จากสถาบันนโยบายสาธารณะ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวว่า รอบแรก เลือกภาพอนาคตที่ 3 อาทิตย์ทรงกลดจ้ามาเลย เพราะคิดว่า ระบบการศึกษาที่มีความพร้อมในการสร้างพื้นที่การเรียนรู้ตลอดชีวิต เป็นฉากทัศน์ที่เราต้องการ  แต่มาฟังข้อมูลแล้ว ถอยลงมารอบสอง เลือกภาพอนาคตที่สอง ค่อยเป็นค่อยไป เพราะมีบริบทหลายอย่างที่ต้องจัดการ โดยเฉพาะภาครัฐ  ความพร้อมในด้านต่าง ๆ ทักษะที่มีอยู่จะไปได้หรือ รอบแรกเป็นฉากทัศน์ที่ต้องการ จึงคิดว่าจะต้องเตรียมความพร้อมให้ไปถึงอนาคตที่ต้องการเห็น

และเห็นว่าการจะไปให้ถึงฉากทัศน์ที่ต้องการ ควรนำเรื่องการมีส่วนร่วมทางประชาธิปไตยโดยประชาชนผ่านเทคโนโลยี  อาจเป็นจุดที่ สร้างการมีส่วนร่วมและการใช้แพลทฟอร์มในการเปิดให้แสดงความคิดเห็นนโยบายและสามารถติดตามนโยบายที่เสนอไปได้ เป็นการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยี

คุณพฤ โอ่โดเชา ชาวบ้านป่าคาใน อ.สะเมิง จ.เชียงใหม่ กล่าวว่า รอบแรก เลือกภาพอนาคตที่ 2 คือไปเรื่อย ๆ  แต่รอบ2 เลือกฉากทัศน์ที่ 1 สุริยุปราคา เพราะมองว่าการศึกษายังทำให้คนเข้ามาในเมือง ไม่ได้เป็นการศึกษาให้อยู่กับพื้นที่   เมืองยังกระจุกไม่กระจายตัว มีการเอารัดเอาเปรียบ  พื้นที่ห่างไกลมีต้นทุนสูงกว่าคนในเมือง  โอกาสทางการศึกษา สุขภาพ เศรษฐกิจ ความเป็นอยู่ที่แย่กว่าคนในเมือง  มีปัญหาในเรื่องยาเสพติด การศึกษาไม่ได้สอนให้เข้าใจชีวิต

ตัวผมสู้มาตลอดในการทำความเข้าใจกับคนในเมือง  เรียกร้องปัญหาสิทธิในที่ดินทำกิน แต่ยากขึ้น นักการเมือง พูดถึงชาติพันธุ์มากขึ้น แต่ไม่ค่อยพูดถึงสิทธิของคนอยู่ในป่า ด้านการท่องเที่ยวผู้ได้รับผลประโยชน์ก็จะเป็นคนในเมือง แต่คนในพื้นที่สูงทำอะไรก็ผิด กรณีม่อนแจ่มเป็นต้น

กรณีของคนที่อยู่ในเขตป่า  ไม่มีใบรองรับการออกเอกสารสิทธิ์ จะพัฒนาอะไรต่อได้ แต่คนในเมืองเข้าไปใช้ประโยชน์จากทรัพยากรท่องเที่ยวในเขตป่าและกลับไปนอนในเมืองได้ ความแตกต่างระหว่างคนในเขตป่ากับคนในเมืองยังไม่ถูกยอมรับ  สถานการณ์เช่นนี้จึงคิดว่า ยังเปลี่ยนผ่านไม่ได้   

คุณเปรมศักดิ์ สุริวงศ์ใย กลุ่มฮักกรีน กล่าวว่า เลือกภาพอนาคตที่หนึ่ง แต่ต่อมาเปลี่ยนมาเลือกภาพอนาคตที่สาม เพราะยังมีความหวัง ใน 10 ปีว่าไม่ควรอยู่แบบนี้อีกต่อไป ตนเองทำงานกับผู้สูงอายุในชุมชน โดยพยายามทำด้าน Aging Economy  ซึ่งผู้สูงอายุยังมีศักยภาพ แต่จะต้องมีการจัดการที่เหมาะสม  ทั้งในเรื่องการรองรับสังคมสูงวัย การศึกษา สุขภาพ การเข้าถึงเทคโนโลยี ถ้าจะปรับไปถึงฉากทัศน์ที่ 3 คือทำให้มีเครื่องมือที่ดีสำหรับคนรุ่นใหม่ในการพัฒนาสังคม/ชุมชน อย่างต่อเนื่อง 

คุณสมยศ ธรรมใจ สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) ภาคเหนือ กล่าวว่า เลือกภาพอนาคตที่หนึ่ง ที่อยู่คาบเกี่ยวระหว่างหนึ่งกับสอง เป็นภาพที่เห็นในปัจจุบัน แต่เปลี่ยนมาเป็นสาม เพราะต้องการเห็นอนาคตที่ดีของสังคมไทย โดยการมีการสร้างข้อตกลงร่วมกัน มองและช่วยกันคิด ทำให้ไปถึงจุดหมายปลายทางถึงพระอาทิตย์ที่ฝันไว้  มีการศึกษาที่ดี มีการแบ่งปัน อยู่แบบมีส่วนร่วมและมองว่าปัญหามีไว้เพื่อแก้ไข

คุณคำอิ่ง ลุงเเสง เครือข่ายเยาวชนชาติพันธุ์เพื่อการพัฒนา/เยาวชนไร้สัญชาติ กล่าวว่า เลือกภาพอนาคตที่สอง ไปเรื่อยๆ ทั้งสองรอบ โดยมองว่าในกลุ่มชาติพันธุ์ยังมีปัญหาในเรื่องความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ เทคโนโลยีที่ก้าวกระโดด แต่บางพื้นที่ที่ห่างไกลกลับยังไม่เข้าถึงการพัฒนาขั้นพื้นฐาน รวมถึงโอกาสทางการศึกษา  ฝากให้มีการปรับในเรื่องการพัฒนาประสิทธิภาพด้านการศึกษา   ส่วนในอีก 20   ปีข้างหน้าคือสุริยุปราคาที่เป็นภาพฝันที่ต้องการเห็น

คุณมนัสวัฑฒก์ ชุติมา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการโอลด์เชียงใหม่ กล่าวว่า เลือกภาพอนาคตที่สาม ทั้งสองรอบ ในฐานะคนรุ่นใหม่และผู้นำองค์กร ต้องมีความเชื่อมั่นว่าอนาคตของเราภาพจะออกมาในฉากทัศน์ที่สาม แม้ว่าปัจจุบันอาจอยู่ในฉากทัศน์ที่หนึ่ง

          ในฐานะผู้นำต้องกล้าที่จะก้าวผ่าน คนที่อยู่ในที่นี่เป็นคนที่สามารถเป็นกระบอกเสียงสะท้อนปัญหาและ นำข้อมูลมารวมกันสร้างเป็นฉากทัศน์ที่ต้องการเห็นในฉากทัศน์ที่สาม ว่าจะบรรลุได้อย่างไร โดยมีการวางแผน ใช้ศักยภาพที่มีของทุกคนช่วยกันทำให้บรรลุเป้าหมายที่วางไว้ อยู่ที่ตัวเราในการสร้างการเปลี่ยนแปลง ตัดสินใจและลงมือทำ

คุณต้นกล้า ตัวแทนกลุ่มผู้พิการ กล่าวว่า เลือกภาพอนาคตที่หนึ่ง ในฐานะผู้พิการยังมีปัญหาในเรื่องการใช้บริการสถานที่ต่าง ๆ หรื ที่ไม่เอื้อต่อผู้พิการ ที่เป็นอุปสรรค ทำให้หลายครั้งไม่มีโอกาสในการเข้าไปเลือกตั้งได้

คุณเจนวิทย์ วิโสจน์สงคราม มูลนิธิพัฒนางานผู้สูงอายุ กล่าวว่า เลือกภาพอนาคตที่สาม ทั้งสองรอบ เพราะเห็นทิศทางของการพัฒนา เทรนของสังคมที่ไม่ปล่อยให้ใครทำอะไรตามใจ การไม่หลงลืมใครไว้ข้างหลัง และเห็นความแตกต่างของคนในการทำงานร่วมกันได้ มีโอกาสการพัฒนาในด้านสุขภาพ การดูแลสุขภาพ การให้บริการสุขภาพ มีตลาดแรงงานในการรองรับสูงจากความต้องการของตลาด 

ข้อเสนอความต้องการของประชาชนมีช่องทางในการแสดงความคิดเห็น สิ่งที่ต้องการเห็นคือการเข้าถึงการศึกษาและสิทธิสุขภาพและการบริการ และการเตรียมความพร้อมด้านสุขภาพ การผลักดันนโยบายให้เชียงใหม่เป็นเมืองที่พึงประสงค์

คุณฟ้าใส ตัวแทนเยาวชน ReThink Urban Spaces – RTUS (ริทัศน์) กล่าวว่า เลือกภาพอนาคตที่สอง สองรอบ เพราะมองว่าบางเรื่องยังไม่สามารถก้าวข้ามได้ คือเรื่อง mental health ด้านสุขภาพพื้นฐาน การเข้าสูงสังคมสูงวัย ทำให้คนมีความเสี่ยงต่อปัญหาสุขภาพจิตแบบญี่ปุ่น เรื่องเทคโนโลยีแม้จะมีการพัฒนาไปไกลแต่คนส่วนหนึ่งยังเข้าไม่ถึง หรือถูกกีดกันออกไป  เรื่องสิ่งแวดล้อมและทรัพยากร ทำอย่างไรให้เชียงใหม่สามารถที่จะมีพื้นที่ทำกินที่อยู่อาศัย โดยไม่มีวาทะกรรมที่ไปลดทอน   ซึ่งการได้มารวมกลุ่มพูดคุยกันในวันนี้เป็นเรื่องที่ดี แต่ควรมีการเปิดพื้นที่เฉพาะกลุ่มในการแสดงพลังโดยไม่ถูกกดทับ

การฟังข้อมูล และฟังกันและกันของตัวแทนจากภาคเหนือวิเคราะห์อนาคตประเทศไทยอีก 10 ปีข้างหน้าอย่างเปิดใจ ทำให้คนในวงได้เข้าใจแง่มุมที่รอบด้านมากขึ้น  ไม่มีใครรู้ว่าอนาคตจะเป็นฉากทัศน์ไหน  แต่พวกเขาล้วนอยากจะกำหนดอนาคตด้วยตนเอง  จึงได้ร่วมกันแลกเปลี่ยนสถานการณ์และออกแบบแนวทางไปสู่อนาคตที่มุ่งหวังในเรื่องสำคัญของภาคเหนือกันต่อ

เปิดข้อเสนอ 6 ประเด็น : เสียงประชาชนเลือกอนาคตภาคเหนือ (ตอนบน)

ด้านการศึกษาและทักษะ

กลุ่มมองว่าการศึกษามีความสำคัญเพราะเชื่อมโยงกับชีวิตความเป็นอยู่ ฐานะทางสังคม  การศึกษาคือชีวิต  การศึกษาเป็นรากฐาน เป็นสิทธิตั้งแต่เกิดจนตาย แต่การศึกษาปัจจุบันถูกออกแบบมาก้อนเดียวจากส่วนกลาง ไม่หลากหลาย ไม่สอดคล้องกับวิถีและบริบทของท้องถิ่นชุมชน ในขณะที่ภาคเหนือที่มีความหลากหลายทางชาติพันธุ์ วัฒนธรรมและภาษา 

วงย่อยประเด็นการศึกษาและทักษะมองว่า การศึกษายังไม่ใช่สวัสดิการขึ้นพื้นฐานที่แท้จริง  มีเด็กหลุดออกจากระบบการศึกษาจำนวนมาก โดยเฉพาะสถานการณ์โควิด 19 ครอบครัวที่มีปัญหาด้านเศรษฐกิจ ทำให้เด็กต้องออกจากการเรียนกลางทางโอกาสทางการศึกษาของผู้เรียนไม่เท่ากัน สังคมยังติดกับดักค่านิยมทาง การศึกษา การจัดการศึกษาเพื่อตอบสนองความต้องการของตลาด  รัฐเน้นเรื่องการผลิตคน มากกว่าการตอบสนองการใช้ชีวิตของคน และ input ข้อมูลในสิ่งที่รัฐต้องการผ่านระบบการ ศึกษา ทำให้ได้คนที่ไม่หลากหลาย มีการปรับเปลี่ยนนโยบายการศึกษากลางคัน ทำให้เกิดปัญหาความไม่ต่อเนื่องในการจัดการศึกษา แผนการศึกษาของผู้เรียน

ข้อเสนอของการศึกษา คือ

1.ปรับนิยามการศึกษาใหม่ให้สอดคล้องกับพื้นที่ เน้นการจัดการศึกษาที่เอาชีวิตเป็นตัวตั้งและให้ท้องถิ่นมีส่วนร่วมในการออกแบบจัดการศึกษาที่มีความหลากหลาย สอดคล้องกับวิถีชีวิต ตามบริบทของชุมชนท้องถิ่น เน้นการเรียนรู้ที่รอบด้าน

2.คืนอำนาจการจัดการศึกษาให้กับท้องถิ่น โดยรัฐทำหน้าที่เป็นพี่เลี้ยงและสนับสนุนด้านงบประมาณ

3.สร้างกลไกการมีส่วนร่วมของภาคประชาสังคมในการออกแบบหลักสูตรผู้เรียน .รัฐแก้กฎหมาย

4.การศึกษาที่เท่าเทียมทุกระดับทั้งในชนบทและในเมือง  

5.ท้องถิ่นมีกองทุนการศึกษาของตนเอง

6.รัฐบาลทบทวนเรื่องงบประมาณด้านการศึกษา

7.พัฒนาครูและมีนโยบายครูคืนถิ่น

8. ปลดล็อคนโยบายที่เป็นอุปสรรค

ด้านสุขภาพ/สาธารณสุข

สุขภาพมีความเกี่ยวข้องกับมนุษย์ทุกช่วงวัยตั้งแต่ครรภ์มารดาถึงสูงวัย  การสูญเสียศักยภาพบางอย่าง ทางร่างกาย เมื่อเจ็บป่วยหรือพิการ จากปัจจัยต่าง ๆ  ทำให้เกิดผลกระทบหรือสูญเสียโอกาสทั้งด้านการศึกษา เศรษฐกิจ และสังคม

  • ครอบครัวที่มีขนาดเล็กลง ส่งผลให้ลูกหลานไม่สามารถดูแลผู้สูงอายุได้หรือแบ่งเบาภาระได้ เมื่อเจ็บป่วยมีค่าใช้จ่ายในการดูแลเพิ่ม ทั้งทางตรงและทางอ้อม
  • ปัญหาด้านการเดินทางของผู้ป่วยที่อยู่ในพื้นที่ห่างไกลโดยเฉพาะกลุ่มที่อยู่บนดอย เดินทางลำบาก บางครั้งไปไม่ถึงมือหมอ มีการเสียชีวิตกลางทาง   ในการเข้าไปรับบริการในโรงพยาบาลต้องใช้เวลานาน
  • การเข้าถึงการรักษา มีความเหลื่อมล้ำด้านสิทธิในการรักษาและเข้าถึงยาที่แตกต่างกันในแต่ละสิทธิ์
  • ขาดแคลนบุคลากรในการรักษาพยาบาล โดยเฉพาะในระดับชุมชน ขาดผู้ดูแลผู้สูงอายุ และยังพบปัญหาด้านมาตรฐานการบริการ การรักษาโรคและวินิจฉัยโรคที่ยังมีความผิดพลาด 
  • ประชาชนยังขาดข้อมูลความรู้ด้านสุขภาพ เข้าไม่ถึงข้อมูลที่ถูกต้อง หรือรับข้อมูลจากสื่อที่ทำให้เกิดความเข้าใจผิดหรือมีการหลอกลวง
  • ประชาชนขาดการดูแลรักษาตัวเองที่เหมาะสม รวมถึงการป้องกันตนเอง และการดูแลที่ต่อเนื่องโดยเฉพาะในกลุ่มผู้สูงอายุและกลุ่มผู้เจ็บป่วยเรื้อรัง นอกจากนี้ยังพบว่าผู้สูงอายุที่เจ็บป่วยหรืออยู่ลำพังคนเดียวมีปัญหาสุขภาพจิต เป็นโรคซึมเศร้า ขาดกำลังใจการมีชีวิต
  • สภาพแวดล้อม มลภาวะทางอากาศ การปนเปื้อนของสารพิษ สารเคมีในอาหาร ผลผลิตทางการเกษตร การใช้สารเร่งในเนื้อสัตว์ พืช GMO ทำให้เกิดการเจ็บป่วยก่อนเวลา มีโรคภัยที่มากับอาหารการกิน จากวิถีชีวิตและพฤติกรรมการบริโภคที่เปลี่ยนไปจากในอดีต (มีการบริโภคอาหารหวาน มัน เค็ม เด็กกินหวานมากขึ้น)
  • สภาพแวดล้อมสถานที่สาธารณะ ชุมชน ในบ้านที่ยังไม่เอื้อต่อการใช้ชีวิตของผู้สูงอายุ ผู้พิการ ทำให้มีความเสี่ยงต่อการบาดเจ็บ พลัดตกหกล้ม  
  •  ความเหลื่อมล้ำจากนโยบายการรักษาพยาบาล ทำให้คนมีสิทธิการรักษาที่แตกต่างกัน นอกจากนี้ในเรื่องสังคมสูงวัย การดูแลสุขภาพของผู้สูงอายุ มุ่งเน้นเฉพาะกลุ่มผู้สูงอายุแต่ยังไม่ได้ให้ความรู้ความเข้าใจกับกลุ่มรุ่นใหม่ให้มีการเตรียมความพร้อมตั้งแต่เริ่มต้น

ข้อเสนอของวงสุขภาพ/สาธารณสุข คือ

1.ทุกกลุ่มวัยมีการปรับ mind set ในเรื่องสุขภาพ มีการดูแลตัวเองไม่ให้อยู่ในภาวะพึ่งพิง รวมถึงทัศนคติต่อสูงวัย ไม่จำเป็นที่คนแก่จะต้องเจ็บป่วยหรือตายก่อนลูกหลาน สุขภาพไม่เท่ากับอายุ

2.คนทุกกลุ่มวัย ตระหนักและเห็นประโยชน์ในการป้องกันตนเอง รับรู้ประโยชน์ในการดูแลตนเองไม่ให้เกิดโรค เริ่มต้นจากการดูแลตนเองเบื้องต้น ในเรื่องการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการบริโภคอาหารและการดูแลสุขภาพสม่ำเสมอ

3.ประชาชน คนในชุมชนเกิดความรอบรู้ในด้านสุขภาพและการดูแลรักษาตนเองที่ถูกต้อง สามารถเข้าถึงสื่อความรู้ด้าน ความรู้เรื่องสิทธิในการรักษา , การดูสุขภาพที่ปลอดภัย และเหมาะสมในแต่ละกลุ่มวัย  โดยหน่วยงานสาธารณะสุข อสม.และสื่อ ทำหน้าที่ให้ความรู้ด้านสุขภาพและการดูแลสุขภาพตนเอง  มีสื่อที่ปลอดภัย เหมาะสมแต่ละวัย และสื่อสารหลากหลายช่องทาง

4.สร้างมาตรฐานในการรักษาพยาบาล , พัฒนาช่องทางการรักษาพยาบาลที่เข้าถึงคนในชุมชน , สิทธิในการรักษาพยาบาลที่เท่าเทียม มีจริยธรรมทางการแพทย์และเพิ่มจำนวนบุคลากรทางแพทย์ให้ทั่วถึงในทุกระดับ  โดยกระทรวงสาธารณะ ,  สปสช.มีการจัดบริการเชิงรุก และการรักษาพยาบาลในพื้นที่ห่างไกล มีโครงการหมอคืนถิ่นหรือบรรจุหมอพยาบาลในท้องถิ่นมากขึ้นรวมถึงสร้างมาตรฐานวิชาชีพของบุคลากรด้านสาธารณะสุข และพัฒนาระบบการบริการรักษาทางไกล tele med เพื่อลดขั้นตอนในการเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล 

5.ลดภาวะเสี่ยงต่อสุขภาพด้านสภาพแวดล้อม โดยให้ทุกคนเข้ามามีส่วนร่วมในการแก้ปัญหา สร้างความรู้ความเข้าใจทำให้คนในสังคมมีการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในการบริโภคใหม่

6.การออกแบบสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมสำหรับคนทุกวัย เอื้อต่อการใช้ชีวิตของผู้สูงอายุและผู้พิการ 

7.ท้องถิ่นและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องด้านสาธารณสุข สิ่งแวดล้อม มีมาตรการ กฎหมาย ที่ดูแล ควบคุมคุณภาพอาหาร ให้มีความปลอดภัย

8.มีกลไกเผ้าระวังด้านการใช้ นำเข้า และการปนเปื้อนสารเคมีทางการเกษตรในผลผลิตทางการเกษตรและอาหาร ในระดับจังหวัด รวมถึงสร้างความรู้ความเข้าใจด้านอาหารปลอดภัยให้กับประชาชน

มิติด้านเศรษฐกิจ/รายได้

ประชาชนเป็นฐานรากของการพัฒนาประเทศ แต่ระบบเศรษฐกิจปัจจุบันสร้างผลกระทบทั้งเรื่องการดำรงชีวิต ความเป็นอยู่ ค่าครองชีพ การประกอบอาชีพ และปัจจัยสี่ ต่อประชาชนในพื้นที่

  • เศรษฐกิจที่ดีมีผลต่อการพัฒนาและการขับเคลื่อนประเทศ ถ้าคนมีรายได้ดี สุขภาพและคุณภาพที่ดีก็จะตามมา
  • ประชาชนประสบปัญหาการดำรงชีวิต ความเป็นอยู่และค่าครองชีพ  จากรายได้ที่ลดลงและค่าครองชีพที่สูงขึ้น 
  • ปัญหาสุขภาพจากโควิดทำให้เศรษฐกิจหยุดชะงัก คนตกงาน ขาดรายได้ เกิดภาวะหนี้สิน การลงทุนใหม่ๆ ทำได้ยาก 
  • นโยบายของรัฐแบบเสื้อโหล่ไม่ตอบโจทย์ความต้องการชุมชนคนในพื้นที่ รวมถึงการส่งเสริมของรัฐไปไม่สุดทาง
  • มีความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงทรัพยากรและแหล่งทุนต่าง ๆ ที่กระจุกตัวอยู่ในกลุ่มคนรวย/ทุนขนาดใหญ่
  • ด้านการเกษตรรัฐยังขาดการสนับสนุนและส่งเสริมการตลาด เทคโนโลยี ความรู้ เฉพาะด้านให้กับเกษตรกร รวมถึงการประกันความเสี่ยงจากผลผลิตที่เสียหายจากภัยต่าง ๆ
  • ชุมชนมีการปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์โดยการใช้เทคโนโลยีที่ช่วยในการดำรงชีพ ทั้งด้านการผลิต การประกอบอาชีพต่าง ๆ มีการเข้าถึงแหล่งความรู้ต่าง ๆ มากขึ้น
  • เรื่องเศรษฐกิจมีความเกี่ยวข้องกับเรื่องสุขภาพ และสังคม โดยเฉพาะประเด็นในเรื่องสังคมสูงวัย ที่ยังขาดการเตรียมความพร้อมในการรองรับสังคมสูงวัย ที่อาจมีปัญหาในเรื่องเศรษฐกิจในอนาคต    รัฐร่วมราษฎร์ ราษฎร์ร่วมรัฐ

ข้อเสนอด้านเศรษฐกิจ/รายได้ คือ

1.สร้างชุมชนที่เข้มแข็ง ส่งเสริมให้คนในชุมชนรักถิ่นฐานบ้านเกิด กลับมาพัฒนาชุมชนของตนเอง รวมถึงสร้างกติการ่วมของคนในชุมชน 

2.สร้างสมดุลในชีวิต  ไม่ทำให้เป็นหนี้สิน

3.ในการพัฒนาโครงการต่าง ๆ ในชุมชน ควรมีการเชื่อมโยงบูรณาการกับหน่วยงานต่าง ๆ โดยรัฐเป็นพี่เลี้ยงให้กับชุมชน 

4.ทิศทางการพัฒนาที่ถูกฝากถูกตัวกับชุมชน สอดคล้องกับความต้องการของชุมชน

5.มีการสนับสนุนหรือส่งเสริมการเกษตรอินทรีย์ และมีตลาดในการรองรับผลผลิต

6.มีแนวทางในการรองรับสังคมสูงวัย โดยเริ่มต้นการวางแผนตั้งแต่ในกลุ่มประชากรรุ่นใหม่

ด้านสังคม/พื้นที่/วิถีชีวิต

ชีวิตและสังคม มีความสำคัญ เพราะคือการอยู่ร่วมกันของสังคม จึงต้องมีกติกาในการอยู่ร่วมกัน เพื่ออยู่ร่วมกันได้อย่างมีชีวิตที่ดี ในสังคมที่ดี อยู่ภายใต้ความเสมอภาคและความเท่าเทียม และได้รับการยอมรับร่วมกันว่าคนมีความแตกต่างหลากหลาย มีกลุ่มชาติพันธุ์ มีภาษาและวัฒนธรรมที่แตกต่างกัน การอยู่ร่วมในสังคมจึงต้องยอมรับความแตกต่างหลากหลาย มีการกระทำหรือการปฏิบัติร่วมกันที่มีการแบ่งปันซึ่งกันและกัน เพื่ออยู่ร่วมกันได้ภายใต้กติกาที่มาจากการตกลงร่วมกัน โดยทั้งสังคมและชีวิตต้องไปควบคู่กัน

  • คนในสังคมยังขาดอิสรภาพในการคิด การปฏิบัติ แม้จะเป็นสังคมที่มีการเปิดกว้างมากขึ้น แต่ยังถูกครอบงำทุนและอำนาจเหนือที่ซ้อนทับ ทำให้คนในสังคม/ชุมชนไม่มีอำนาจในการคิดหรือปฏิบัติได้ด้วยตัวเอง
  • กติกาที่มีในสังคมไม่ได้เกิดจากการมีส่วนร่วมของคนในสังคม มองว่ากติกาไม่เหมาะสม ทำให้คนเกิดการต่อต้าน ไม่อยากปฏิบัติหรือทำตามกติกาที่มาจากข้างบน
  • รัฐไม่สนับสนุนภูมิปัญญา วิถีชีวิตที่สอดคล้องกับกลุ่มต่าง ๆ หรือให้อำนาจในการจัดการและมีการลิดรอนสิทธิในสังคมของกลุ่มต่าง ๆ เช่นกลุ่มชาติพันธุ์ 
  • ความสัมพันธ์ของคนในครอบครัว/ชุมชนลดลง มีการใช้ชีวิตร่วมกันน้อยลง มีความสัมพันธ์ที่ห่างเหินมากขึ้น เป็นสังคมก้มหน้า 
  • การแบ่งแยกของคนในสังคมชุมชนจากปัจจัยทางการเมือง 
  • กลุ่มคนรุ่นใหม่ในหลายจังหวัด เริ่มมีการออกแบบสังคมในการอยู่ร่วมกันแบบใหม่ การสร้างชุมชนแบบใหม่ที่เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ การรวมกลุ่มของกลุ่มต่าง ๆ เป็นพื้นที่สร้างสรรค์หรือพื้นที่เรียนรู้ร่วมกัน

ข้อเสนอของวงด้านสังคม/พื้นที่/วิถีชีวิต

1.ตัวเรา ครัวเรือน ชุมชน สังคม ประเทศชาติ ต้องทำทุกระดับทำไปพร้อมกัน ในการสร้างสังคมที่สามารถออกแบบวิถีชีวิตที่สอดคล้องกับนิเวศวัฒนธรรมของตัวเองภายใต้การจัดการตัวเองที่ทำได้

2.สร้างวัฒนธรรมแบบใหม่ที่มีการรับฟังกันโดยไม่ตัดสินกัน มีวัฒนธรรมที่มีกิจกรรมร่วมกันและสร้างสังคมส่วนรวมที่เห็นความดีความงาม มีการช่วยเหลือดูแลกันและกัน

3,เป็นพลเมืองของสังคมที่มีความเป็น Active  Citizen สามารถรับข้อมูลข่าวสารอย่างรู้เท่าทัน การออกแบบชีวิตและพัฒนาสังคมที่ดี โดยเริ่มต้นจากตัวเรา   

4.กระจายอำนาจให้กับคนในชุมชนสังคม สามารถออกแบบวิถีชีวิตตนเอง

ด้านสิ่งแวดล้อมและทรัพยากร

สิ่งแวดล้อมและทรัพยากรเป็นเรื่องเกี่ยวข้องกับการดำรงชีวิตของทุกคนในทุกมิติ โดยเฉพาะด้านเศรษฐกิจปากท้อง ความอยู่รอดความยั่งยืน สุขภาพ และสิทธิในชุมชน

  • ชุมชนยังไม่มีสิทธิในการจัดการดูแลทรัพยากรสิ่งแวดล้อมในชุมชนของตนเอง โดยเฉพาะในกลุ่มชาติพันธุ์ที่อยู่ในพื้นที่ป่า
  • การพัฒนาที่ไม่ต่อเนื่องการพัฒนาพื้นที่หน่วยงานไม่ศึกษาภูมิสังคมของพื้นที่
  • พื้นที่ทรัพยากรในการปลูก เช่น ไผ่ สามารถเก็บผลผลิตขายได้ต่อเนื่อง
  • ชุมชนในพื้นที่ป่า ยังวนเวียนกับการหาของป่า และมีการเผาอยู่  ขาดการดูแลทรัพยากรในชุมชน
  • ปัญหาฝุ่นควันมีความซับซ้อน การแก้ไขปัญหาในช่วง 10 ปีที่ผ่านมายังไม่สามารถจัดการได้โดยเฉพาะการจัดการเชิงระบบในพื้นที่ แม้จะมีความพยายามของหลายหน่วยงานร่วมกับชาวบ้านในพื้นที่ในการดูแลและจัดการทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมด้วยกัน  
  • กฎหมายการกันคนออกจากป่า
  • การเข้าไม่ถึงทรัพยากร ธรรมชาติที่ไม่เป็นธรรมและเกิดความเหลื่อมล้ำในพื้นที่
  • การแก้ไขปัญหาที่ไม่สอดคล้องกับวิถีชีวิตของคนในชุมชน  

ข้อเสนอของวงด้านสิ่งแวดล้อมและทรัพยากร

1.สร้างธรรมาภิบาล กระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น และถ่ายโอนการบริหารการจัดการในการดูแลทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม

2.ยุบหน่วยงานและให้ภาครัฐสนับสนุนประชาชนในพื้นที่

3.หน่วยงานการศึกษา มีการทำการศึกษาในเรื่องสิ่งแวดล้อมให้ชัดเจน มีการออกนโยบายในการส่งเสริมพลังงาน 

4.การวางผังเมืองชุมชน การจัดการพื้นที่ในชุมชน พื้นที่ชุ่มน้ำ พื้นที่สีเขียว พื้นที่อุตสาหกรรมและที่อยู่อาศัย

5.การสร้างทรัพยากรมนุษย์ในชุมชนให้เกิดมูลค่า ใช้ภูมิสังคมในการพัฒนาตลาดไปด้วยกัน  โดยรัฐบาลมีการส่งเสริมให้หน่วยงานในจังหวัดหรือในพื้นที่เข้ามาบูรณาการร่วมกัน (ไม่ปล่อยให้ชาวบ้านทำเองตามลำพัง) 

6.เชื่อมโยงการจัดการปัญหาสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรกับทุก ๆ มิติ

7.มีการแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการจัดการทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม

8.สร้างความเข้าใจเรื่องทรัพยากร ธรรมชาติและให้ประชาชนมาออกแบบร่วมกัน 

ด้านรัฐ/ราชการ/ไทยในเวทีโลก

การกระจายอำนาจคือการปกครองตัวเอง ทำให้อำนาจใกล้ตัวประชาชน มีอำนาจในเชิงคำแต่เชิงปฏิบัติการยังไม่มี และการกระจายอำนาจที่ได้มาจากส่วนกลางไปต่อไม่ได้

  • ธรรมาภิบาลกลายเป็นคำกล่าวอ้างเป็นตัวกำกับควบคุมท้องถิ่นให้ไปต่อไม่ได้
  • กฎระเบียบที่ออกแบบโดยส่วนกลางทำให้ท้องถิ่นยังไม่สามารถตอบสนองความต้องการของประชาชน ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
  • มีการใช้งบประมาณของชุมชนท้องถิ่นของหน่วยงานส่วนกลาง
  • มีความเหลื่อมล้ำระหว่างพื้นที่ในเมืองกับนอกเมือง ของอปท.ในแต่ละพื้นที่ แม้จะมีรายได้จากเศรษฐกิจการค้าข้ามพรมแดน แต่ ภาษีถูกเก็บเข้าสู่ส่วนกลาง ทำให้ท้องถิ่นมีเงินไม่พอในการนำพัฒนาดูแลพื้นที่

โดยกลุ่มมองว่า รัฐประหารปี 57 กลายเป็นตัวบอนไซที่ทำให้การกระจายอำนาจที่มีในอดีตไปต่อไม่ได้ ไม่ได้คืนอำนาจมาจริง แต่มีระเบียบคำสั่งมากำกับท้องถิ่น ทำให้อำนาจถูกแช่แข็ง เนื่องจากรัฐไม่ไว้วางใจท้องถิ่นต้องคืนอำนาจที่มีตั้งแต่ดั้งเดิมคืนมาให้กับท้องถิ่น มีจัดการตนเอง โดยกระจายอำนาจให้ชุมชนที่มาพร้อมกับการบริหารจัดการของท้องถิ่น”

ข้อเสนอของวงด้านรัฐ/ราชการ/ไทยในเวทีโลก

1.กระจายอำนาจทั้งสามส่วน งาน เงิน คน ให้กับท้องถิ่นในการจัดการเอง รวมถึงการกระจายอำนาจให้ชุมชนในการดูแลทรัพยากรที่มีในพื้นที่

2.แก้รัฐธรรมนูญเพื่อกำกับการกระจายอำนาจให้เป็นจริง โดยองค์กรภาคีต่าง ๆ ผู้นำชุมชน อปท.ร่วมกันผลักดันนำเสนอต่อรัฐ

3.กฏหมายที่มีอยู่เดิมไม่ได้สะท้อนการกระจายอำนาจ จึงต้องใช้กรอบร่างรัฐธรรมนูญฉบับปรับปรุงของอาจารย์บวรศักดิ์ เป็นต้นร่างในการพูดคุย

4.ทำให้มีองค์ประกอบของการกระจายอำนาจและกลไกต่าง ๆ มีการคอมมิทกัน  โดยครม.ให้ท้องถิ่นสามารถกำหนด ออกเทศบัญญัติหรือมีระเบียบต่าง ๆ เพื่อมีการจัดการได้

5.รัฐสภารับปากให้ประชาชนเข้ามาเป็นหุ้นส่วนในการแก้ไขรัฐธรรมนูญทุกกระบวนการ

6.กระบวนการออกแบบนโยบายสาธารณะโดยท้องถิ่นและสร้างการมีส่วนร่วมในการจัดการ

7.พรรคการเมืองกำหนดให้การกระจายอำนาจเป็นนโยบายเร่งด่วน

8.ใช้พลังทางสังคมของภาคีเครือข่ายร่วมผลักดันและติดตามนโยบายการกระจายอำนาจหลังการเลือกตั้ง 

9.ให้คนรุ่นใหม่มีบทบาทมีสิทธิมีเสียงในการร่วมจัดการ

เสียงของคนภาคเหนือตอนบน และการรับฟังกันอย่างใส่ใจ ในวันนี้เป็นส่วนหนึ่งในการมีส่วนร่วมเลือกอนาคตภาคเหนือ และอนาคตประเทศไทย เพื่อหวังแก้โจทย์ของพื้นที่ซึ่งมีความเฉพาะตัว และต่อยอดต้นทุนที่มีอยู่ให้ทุกคนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น

คุณก็สามารถติดตามร่วมโหวตเลือกฉากทัศน์ที่น่าจะเป็นหรือแสดงความเห็นเพิ่มเติมได้ที่ www.thecitizen.plus

หรือร่วมเสนอประเด็นเพื่อให้เกิดเวทีฟังเสียงประเทศไทยกับไทยพีบีเอส และเรื่องราวกับแฟนเพจTheNorth องศาเหนือ

หรือท่านไหนสนใจอยากฟังเนื้อหาของวงเสวนาฟังเสียงประชาชนเลือกอนาคตภาคเหนือแบบเต็มรูปแบบได้ที่นี่ ฟังเสียงประเทศไทย : เสียงประชาชน เลือกอนาคตภาคเหนือ ณ ศูนย์วัฒนธรรมเชียงใหม่ จ.เชียงใหม่

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ