ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา บทความหนึ่งที่ได้รับการเอ่ยถึงมากที่สุดในหมู่ผู้ติดตามประเด็นแม่น้ำโขง คือบทความ “เพลงสวดแห่งความตายของแม่น้ำ: หนึ่งในมหานทีของโลกจะรอดพ้นการพัฒนาหรือไม่?” (Requiem for a River: Can one of the world’s great waterways survive its development?) เผยแพร่โดย ดิ อีโคโนมิสต์ เมื่อวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2559
สิ่งที่แตกต่างไปจากบทความอื่นๆ คือการใช้เสียงของสายน้ำและสิ่งที่ผู้เขียนพบเจอมาช่วยดำเนินเรื่อง มีภาพวาดสีน้ำประกอบฉากของแต่ละบท ร้อยเรียงรายละเอียดดั่งวรรณกรรมชิ้นงาม เพื่อจัดฉากให้สอดคล้องกับเรื่องเล่าผ่านตัวละครระหว่างการเดินทางตลอดแม่น้ำโขง รวมทั้งสอดแทรกความจริงอันขมขื่นที่มหานทีแห่งนี้กำลังถูกท้าทายภายใต้คำว่า “พัฒนา”
“สายน้ำสีน้ำตาลที่ไหลตัดผ่านผาหินข้างล่างนั้นเต็มไปด้วยน้ำจากหิมะที่ละลาย เสียงของรถผ่านไปมาไม่กี่คันดังก้องไปทั่วอากาศ มองออกไปสุดสายตา เทือกเขาเหิงต้วนที่ปกคลุมด้วยทุ่งหิมะ อย่างกับมันต้องคอยแบกรับน้ำหนักมโหฬารของทุ่งหิมะเอาไว้จนยู่ยี่”
“The ribbon of brown water cutting swiftly through the gorge below is rich with snowmelt. With few cars passing, its echoing sound fills the air. In the distance, the Hengduan mountains slump under their snowpack as if crumpled beneath its weight.”
เจ้าของบทความ “เพลงสวดแห่งความตายของแม่น้ำ” เริ่มเล่าเรื่องราวของมหานทีที่นายโกว พื้นเพเดิมเป็นคนเซี่ยงไฮ้แต่กลับเลือกที่จะมาปักหลักอยู่ร่วมกับเจ้าสาวของเขาในหมู่บ้านสือจ๋งทางตอนเหนือของยูนนาน มณฑลทางตอนใต้ของจีนที่รัฐจีนมักเอ่ยอ้างว่าเป็นมณฑลที่จนและกันดารที่สุดมณฑลหนึ่ง
แม่น้ำโขง หรือแม่น้ำหลานซาง เริ่มปรากฏกายครั้งแรกบนเทือกเขาสูงชิงไห่ในทิเบต จากการบรรจบกันของน้ำจากหิมะที่ละลายจนเป็นสายธารเล็กๆ แล้วค่อยๆ เพิ่มความเชี่ยวตามเส้นทางที่ตัดผ่านยูนนานลงมาอุษาคเนย์ แล้ววาดเส้นพรมแดนระหว่างพม่า-ลาว ระหว่างลาว-ไทย เชื่อมลาวกับกัมพูชาด้วยเกาะแก่งมากมายตระการตาที่สีทันดอน แบ่งกัมพูชาเป็นสองห้องของหัวใจ ก่อนที่จะกระจายตัวเป็นสายน้ำมากมายที่เวียดนามใต้ดั่งหางของมังกรทั้งเก้าที่สะบัดไปมาเมื่อเจอความเค็มของทะเล
เจ้าของบทความยังสอดแทรกความหลากหลายทางชีวภาพที่ไม่เป็นที่สองรองใคร (นอกจากอเมซอน) และศักยภาพของธรรมชาติในการหล่อเลี้ยงชีวิตผู้คนมากมายจนผลักให้เป็นพื้นฐานทางเศรษฐกิจที่สำคัญของนานาประเทศแห่งลุ่มน้ำโขง อาทิ จำนวนพืชกว่า 20,000 ชนิดและพันธุ์สัตว์อีกเกือบ 2,500 สายพันธุ์ ที่ลืมไม่ได้ก็คงเป็น ปลาข่า (โลมาอิรวดี) และปลาบึกน้ำโขง อุโมงค์หินปูนที่โดนน้ำโขงเจาะจนกลายเป็นแกรนด์แคนยอนเมืองไทย สถิติจากปี 2557 ระบุว่า จำนวนข้าวที่ห้าประเทศของลุ่มน้ำโขงตอนล่างสามารถผลิตได้คือ มากกว่า 10 ล้านตัน หรือประมาณร้อยละ 15 ของโลก ตะกอนที่เต็มไปด้วยสารอาหารที่ไหลมาตั้งแต่จีนและระบบนิเวศย่อยที่เป็นแหล่งที่อยู่อาศัยและสืบพันธุ์ของพันธุ์ปลามากมายจนทำให้แม่น้ำโขงเป็นแหล่งปลาน้ำจืดที่ใหญ่ที่สุดของโลก เปรียบเทียบได้เท่ากับ 1 ใน 4 ของจำนวนปลาน้ำจืดของโลกทั้งหมด
แถมยังมีประวัติศาสตร์และอาณาจักรเก่าแก่อีกมากมายที่สะท้อนให้เห็นอารยธรรมและเอกลักษณ์ของลุ่มน้ำโขง ตั้งแต่เสียงสวดของหมู่พระทิเบต การค้าที่ชายแดนพม่า เมืองแห่งวัดอย่างหลวงพระบาง ความมั่งคั่งทางประมงน้ำจืดที่โตนเลสาบเขมรและความอลังการของนครวัด นครธมอันเป็นหลักฐานของอำนาจอาณาจักรขอมที่ครั้งหนึ่งเคยแผ่ไปทั่วลุ่มน้ำโขงเป็นร้อยๆ ปีก่อนที่ยุโรปจะเข้ามาแย่งอาณานิคม
ถึงกระนั้น การปฏิวัติอุตสาหกรรมก็เปลี่ยนวิถีของคนลุ่มน้ำโขงไปพอสมควร จากที่เคยพึ่งเรือในการเดินทาง ก็เปลี่ยนมาขับรถมอเตอร์ไซค์ รถกระบะเพื่อสัญจร มาตอนนี้ ก็ถึงหน้าของโครงการเขื่อนผลิตไฟฟ้าพลังน้ำที่กำลังเข้าครองอาณาเขต เปลี่ยนกระแสน้ำให้อยู่ภายใต้การควบคุมของกำแพงคอนกรีต คงเป็นไปไม่ได้ที่ความเปลี่ยนแปลงนี้จะไม่จบลงด้วยความทุกข์ทรมาน ในเมื่อสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นถูกตัดสินใจโดยจิตใจที่ไม่เคยจะแยแสความรู้สึกของคนริมโขง
ในช่วง 60 ปีที่ผ่านมา จีนสร้างเขื่อนไปแล้วอย่างน้อย 86,000 เขื่อน รวมกำลังผลิตกว่า 282,000 เมกะวัตต์ และก็เป็นไปได้ว่าทางการจีนจะสร้างเขื่อนเพิ่มเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกตามที่ได้ประกาศไว้ จีนยังมีแผนจะผลิตไฟฟ้าจากเขื่อนอีกอย่างน้อย 350,000 เมกะวัตต์ ถ้าจะเทียบ กำลังผลิตขนาดนี้สามารถเลี้ยง 3 ใน 4 ของไฟฟ้าที่สหภาพยุโรปต้องการ
เจ้าของบทความยังอัปเดตเกี่ยวกับเขื่อนที่จีนกำลังสร้างบนแม่น้ำโขงตอนบนคือ เขื่อนอู่น่งหลง (Wunonglong Dam) ขนาด 990 เมกะวัตต์ มีความสูงกว่า 100 เมตรและมีกำแพงที่ทอดยาวกั้นลำน้ำยาวกว่า 300 เมตร เขื่อนอู่น่งหลงเป็น 1 ใน 14 เขื่อนที่จีนวางแผนจะสร้างอีกบนน่านน้ำโขง และอาจจะเป็นเขื่อนแห่งที่ 7 หลังจากที่จีนสร้างเขื่อนแห่งแรกคือ เขื่อนม่านวาน เสร็จเมื่อปี 2538
แต่ในอีกมุมมองหนึ่ง ผลกระทบจากเขื่อนในจีนปรากฏขึ้นแล้ว องค์กรพัฒนาเอกชนประเมินว่า ประชากรจีนกว่า 20 ล้านคน ถูกโยกย้ายเพราะเขื่อน และมีหลายพันคนในจำนวนนั้น (ส่วนมากเป็นเกษตรกรชนบท) ที่ถูกเขื่อนบนแม่น้ำโขงตอนบนปัดไล่ออกจากบ้าน แม้ทางรัฐมีนโยบายให้ค่าชดเชยแก่ผู้ที่ต้องอพยพประมาณ 430,000 บาท (80,000 หยวน) แต่ก็มีหลายคนที่โดนส่งไปอยู่บนเขาสูงชัน ซึ่งมักเป็นพื้นที่ที่มีดินไม่เหมาะแก่การเพาะปลูกหรือมีน้ำไม่เพียงพอ และถ้าไม่ระวัง ก็อาจพลาดพลัดตกลงมาได้
การสร้างเขื่อนอาจช่วยในการจัดการปัญหาน้ำท่วม แต่เขื่อนบนแม่น้ำโขงตอนบนก็กักตะกอนที่ควรไหลผ่านตอนล่างไปทะเลจีนใต้ไว้กว่าครึ่ง หากคนท้ายเขื่อนกว่าล้านคนยังคงพึ่งพากระแสน้ำที่ไหลตามฤดูกาลและตะกอนดินที่มาเสริมตลิ่งที่โดนพัดไปช่วงน้ำหลากในการทำเกษตรริมโขง การควบคุมกระแสน้ำให้ไหลอย่างสม่ำเสมอก็คงมิได้ตอบโจทย์การพัฒนาของคนท้องถิ่นจริงๆ
ปัจจุบัน นอกจากจะบังคับและควบคุมการอพยพ (ให้ออก) ของคนแล้ว การสร้างเขื่อนบนแม่น้ำโขงยังจัดวางการอยู่อาศัยของปลาอย่างไร้ความเมตตา แผนพัฒนาเขื่อนได้ก้าวพ้นพรมแดนจีนมาทางตอนล่างของลุ่มน้ำ ตั้งแต่ลาว ไทย กัมพูชาและเวียดนาม แต่ละประเทศต่างวาดแผนเขื่อนไว้รวม 11 เขื่อน ซึ่งจะปิดกั้นเส้นทางอพยพของปลาประมาณร้อยละ 70 ของปลาเศรษฐกิจที่ยังว่ายเวียนในลำน้ำโขง หากความเป็นจริงคือ คนริมโขงบริโภคปลากว่า 60 กิโลกรัมต่อปี ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นคงไม่มีอะไรมาทดแทนแหล่งโปรตีนและแหล่งอาหารที่สำคัญของคนริมโขงได้
เดินทางจากหมู่บ้านสือจ๋งและนายโกวตามลำน้ำโขงมาทางตอนล่างอีก 1,000 กิโลเมตร ลดระดับจากเทือกเขาสูงในยูนนานลงมา 3,000 เมตรเพื่อให้ชิดใกล้กับระดับน้ำทะเลมากขึ้น เจ้าของบทความพาผู้อ่านมาล่องน้ำโขงบริเวณที่ราบลุ่มในลุ่มน้ำโขงตอนล่าง โดยเริ่มจากห้วยทราย ในแขวงบ่อแก้วของ สปป.ลาว ก่อนที่จะผ่านหลวงพระบางมาไซยะบุรี
“เสียงเครื่องของเรือแจวดังตะกุกตะกักปึงปังก่อนจะจามเสียงสนั่นแล้วพ่นควันดำออกมา คนเก็บตั๋วพูดจาห้วนๆ เรียกตั๋วจากผู้โดยสาร บงการให้แต่ละคนนั่งตามที่นิ้วชี้ ก่อนจะตะโกนบอกคนขับเรือให้ออกเดินทาง แล้วกระโดดขึ้นฝั่งไปสูบบุหรี่ เธอยังคงตะโกนอยู่ตลอดเวลา”
“a sampan’s tubercular engine kicks in with a wheeze, a gag and a violent sneeze of black smoke. As the motor stammers a tiny conductor terrorises the boat, calling brusquely for tickets, chastising people for where and how they sit, shouting at the pilot to get a move on. As the boat pulls away she jumps off, smoking and yelling the whole time.”
ลาววาดฝันตัวเองให้เป็น “แบตเตอรีแห่งเอเชีย” โดยวางแผนว่ากำไรที่ได้จากการผลิตไฟฟ้าพลังน้ำจะเป็นรายได้หลักเข้าประเทศภายในปี 2568 และจะสร้างเขื่อนบนแม่น้ำโขงสายหลักจำนวน 9 เขื่อน ขณะนี้ เขื่อนไซยะบุรี ขนาด 1,280 เมกะวัตต์ เป็นเขื่อนแห่งแรกบนแม่น้ำโขงสายหลักของลุ่มน้ำโขงตอนล่าง กำลังถูกก่อสร้างโดยบริษัทไทย ใช้เงินทุนกว่า 3.5 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือประมาณ 124 แสนล้านบาทจากธนาคารของไทยอย่างน้อย 6 แห่ง รัฐบาลไทยตกลงที่จะรับซื้อร้อยละ 95 ของไฟฟ้าที่ผลิตเข้าไทย ในขณะเดียวกัน ลาวกำลังเตรียมการสร้างเขื่อนดอนสะโฮงในสีพันดอนอีกด้วย
แม้ลาวจะตระหนักถึงผลกระทบของเขื่อนต่อการไหลของตะกอนและการอพยพของปลา และทางบริษัทสร้างเขื่อนได้ออกแบบประตูเขื่อนใหม่เพื่อให้ตะกอนผ่านมากขึ้นและทำให้ทางปลาผ่านกว้างขึ้น แต่จากประสบการณ์ที่ผ่านมา นักอนุรักษ์และองค์กรพัฒนาเอกชนยังไม่สามารถยอมรับแผนแบบใหม่ที่ว่าได้ ในเมื่อทางปลาผ่านของเขื่อนไม่เคยสามารถทำตามคำสัญญาที่เคยโฆษณาไว้ และถ้าลาวจะสร้างเขื่อนมากถึง 9 เขื่อน แถมยังมีเขื่อนบนแม่น้ำโขงสายสาขาอีกเป็นร้อยเขื่อน จะเป็นไปได้ไหมที่ปลาน้ำโขงจะว่ายผ่านดังเดิม
หลายๆ คนมักเห็นว่า การผลิตไฟฟ้าพลังน้ำจากการสร้างเขื่อนนั้นดูเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากกว่าและปล่อยก๊าซเรือนกระจกน้อยกว่าการผลิตไฟฟ้าโดยพลังงานฟอสซิล แต่เจ้าของบทความอยากให้มุมมองนี้ลองตระหนักถึงต้นทุนอื่นๆ ของการสร้างเขื่อนที่มักโดนมองข้าม เช่น ค่าใช้จ่ายในการอพยพย้ายชุมชนในเขตโครงการเขื่อนและค่าชดเชย ผลผลิตทางการเกษตรที่สูญเสียไป ความหลากหลายทางชีวภาพที่ลดลง คุณภาพน้ำที่ย่ำแย่ลง ถึงแม้การสร้างเขื่อนจะเอื้อการพัฒนาภูมิภาคลุ่มน้ำโขง แต่ไฟฟ้าประมาณ 14,000 เมกะวัตต์ที่ได้จากเขื่อนบนแม่น้ำโขงสายหลักทั้ง 11 แห่ง คิดเป็นเพียงร้อยละ 6-8 ของไฟฟ้าที่ต้องการทั้งหมดที่เคยประเมินไว้ และไฟฟ้าส่วนใหญ่ก็จะส่งเข้าประเทศไทย
“เพียงเพื่อไฟฟ้าแค่นั้น คุณยอมที่จะฆ่าแม่น้ำโขง?” นายริชาร์ด โครนิน ผู้เชี่ยวชาญภูมิภาคแม่น้ำโขงของสถาบันสติมสัม (Stimson Centre) กล่าว
แรงกดดันจากประเทศท้ายน้ำและองค์กรพัฒนาเอกชนนานาชาติทำให้ลาวชะลอแผนการสร้างเขื่อนดอนสะโฮงและเขื่อนปากแบ่ง และผลักดันให้บริษัทสร้างเขื่อนลงทุนในการศึกษาผลกระทบต่อพื้นที่ท้ายน้ำมากขึ้น แต่ลาวเป็นประเทศที่มองว่าตัวเองมีทรัพยากรธรรมชาติน้อยและคิดว่าการพัฒนาเขื่อนจะเป็นเส้นทางสู่การพัฒนา รัฐบาลประเทศท้ายน้ำและประชาชนที่กังวลต่อผลกระทบของเขื่อนคงทำได้แค่ชะลอการสร้างเขื่อนของลาว
“อย่างไรก็ตาม ตอนนี้แม่น้ำโขงยังคงไหลอย่างอิสระ ปราศจากสิ่งกีดขวาง จากพรมแดนลาวไปยังกัมพูชา จะมีก็แต่เกาะเล็กๆ น้อยๆ มากมายที่บานสะพรั่งที่สีทันดอน (สี่พันเกาะ) มีชุมชนอาศัยบนไม่กี่ดอนเท่านั้น บางคนเปิดบ้านต้อนรับนักท่องเที่ยวที่มาล่องแก่งหรือมานั่งฟังเสียงน้ำตก สายน้ำโขงที่เห็น บางทีก็เป็นเพียงกองหินและเนินเลนที่ปกคลุมด้วยสาหร่ายน้ำจืดและพืชไม้ที่เป็นพุ่มๆ เล็กๆ เป็นความเขียวที่พยายามเจิดจรัสทวนกระแสน้ำสีน้ำตาล ผ่านพ้นบริเวณน้ำตกแห่งนี้ไป น้ำโขงก็กลับมาไหลนิ่งสงบอีกครั้ง ในวันที่ท้องฟ้าแจ่มใส ความสว่างบนผิวน้ำของแม่น้ำโขงดูพร่ามัว แต่ยังคงเห็นร่องรอยว่านี่คือกระจกเงาที่พยายามสะท้อนสีฟ้าสดใสของท้องฟ้าเบื้องบน”
“For now the Mekong remains blissfully unobstructed as it passes from Laos into Cambodia—except for the bloom of tiny islands that give Si Phan Don its name. People live on just a few of these islands. Some cater to tourists happy to spend a few days rafting the occasional rapids and listening to the Mekong rush past. But many are little more than a clump of rock and mud on which sprays of rivergrass and shrubs have taken root, still green against flowing brown. Past the waterfalls roiling the water into spume the river relaxes again. On clear days it becomes a hazy mirror, the stark blue above turning to indistinct brightness below.”
ณ จุดนี้ เจ้าของบทความเดินทางมาถึงทะเลสาบน้ำจืดที่ใหญ่ที่สุดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ อยู่ห่างจากไซยะบุรี 800 กิโลเมตร น้ำในโตนเลสาบ (ทะเลสาบเขมร) จะไหลเข้าเลี้ยงแม่น้ำโขงในช่วงหน้าแล้ง แต่ในช่วงมรสุมแม่น้ำโขงจะนำพาตะกอนมากับน้ำเข้าสู่โตนเลสาบ
ชาง นา (Chang Naa) และครอบครัวเป็นหนึ่งในประชากรของชุมชนลอยน้ำในโตนเลสาบ ตอนนี้ชาง นาอายุ 33 ปี เขาหาปลามานานกว่า 15 ปี พ่อของเขาก็เป็นคนหาปลาในน่านน้ำนี้เช่นกัน และเขาก็คิดว่า ชาง ทัง (Chang Thung) ลูกชายวัย 4 ขวบของเขาก็จะออกหาปลาเช่นกัน
“สำหรับพวกเรา ไม่ว่าพ่อจะทำอะไร ลูกชายก็จะทำอย่างนั้น” ชาง นากล่าว
ปลาที่ชาง นาได้เป็นปลาสีเงินตัวเล็กๆ เขาเรียกมันว่า ชะกก และ ออนปุน (Chkok และ Onpun) แต่ละวันจะจับได้ 2-3 กิโลกรัม บางทีก็เอาปลาไปให้ภรรยาแกง บางทีก็เอาไปขายเพื่อทำปลาร้าและน้ำปลา ชาวประมงบางคนหารายได้เสริมด้วยกันทำนา แต่ชาง นาไม่มีที่นา เงินที่หาได้ก็เอามากลบหนี้ดอกเบี้ยสูงที่ไปกู้ยืมมาเพื่อจ่ายค่าอาหาร ค่าน้ำมันและค่าอุปกรณ์ เหมือนกับคนหาปลาหลายๆ คนที่ชาง นารู้จัก บางคนถึงกับต้องทำงาน 4-5 เดือนเพื่อมาจ่ายหนี้
โตนเลสาบนับเป็นแหล่งประมงที่สำคัญที่สุดของกัมพูชา ในแต่ละปี จะมีการซื้อขายปลาที่โตนเลสาบกว่า 300,000 ตัน ข้อมูลจากคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง (MRC) ประเมินว่า ในแต่ละปี น้ำหนักรวมของพันธุ์ปลาในแม่น้ำโขงมีมากถึง 2.6 ล้านตัน คิดเป็นมูลค่ากว่า 2 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือประมาณ 71.2 หมื่นล้านบาท นอกจากนี้ ยังมีอุตสาหกรรมอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องเช่น ผลิตภัณฑ์จากปลา ตลาดปลา การค้าขายน้ำมันและอุปกรณ์ และการสร้างเรือ มูลค่ารวมของการประมงจากแม่น้ำโขงจะอยู่ประมาณ 5.6-9.4 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือ 199-335 แสนล้านบาท
ประมงขนาดเล็กยังคงเป็นวิธีจับปลาหลักในแม่น้ำโขง แต่ในช่วงที่ผ่านมา การเลี้ยงปลากระชังเริ่มมีมากขึ้น โดยเฉพาะในบริเวณปากแม่น้ำโขงที่เวียดนามที่มีการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำมากกว่าการทำประมงในน้ำจืดและน้ำเค็มรวมกัน อย่างไรก็ตาม ปลาที่จับได้ในแม่น้ำโขงก็ยังได้ราคาสูงขึ้นกว่าและสูงกว่าแต่ก่อน ไค รัตนา คนหาปลาแม่น้ำโขงเล่าว่า ตอนนี้เขาได้ประมาณ 12,000 เรียล (100 บาท) ต่อปลาหนึ่งกิโลกรัม ซึ่งเมื่อ 5 ปีก่อนได้แค่ 3,000 เรียล (25 บาท) แต่มันก็เป็นเพราะปลาน้ำโขงนั้นเริ่มหายากกว่าเดิมมาก
เขื่อนสุดท้ายที่อยู่ในแผนเขื่อนลุ่มน้ำโขงตอนล่างคือ เขื่อนซำบอ ตั้งอยู่เหนือบ้านของชาง นา 300 กิโลเมตร อนาคตการประมงของกัมพูชาจึงเป็นประเด็นทางการเมืองที่สำคัญของประเทศลุ่มน้ำโขงต่อแผนการพัฒนา เพราะประเทศท้ายน้ำจำต้องแบกรับภาระในขณะประเทศเหนือเขื่อนเพลิดเพลินกับผลประโยชน์
จากนั้น เจ้าของบทความโยงสถานการณ์เขื่อนในลุ่มน้ำโขงกับสภาพทางภูมิศาสตร์และความสัมพันธ์ทางการเมืองระหว่างประเทศในลุ่มน้ำโขงกับประเทศอื่นๆ
มันเป็นเช่นนี้กับแม่น้ำทุกสาย และแม่น้ำโขงก็ไม่ได้ต่างอะไร เพราะลำดับชั้นที่ตั้งเชิงภูมิศาสตร์ (geographical hierarchy) มักสะท้อนลำดับชั้นเชิงภูมิศาสตร์การเมือง จีน ในฐานะประเทศที่มีอิทธิพลมากที่สุด มีพื้นที่ต่อรองและความเป็นไปได้ในการผลิตไฟฟ้าพลังน้ำมากที่สุด แถมยังเป็นประเทศที่พึ่งพาแม่น้ำในลักษณะอื่นๆ น้อยที่สุดอีกด้วย (ถึงแม้ว่าจีนจะมีแผนผันน้ำไปใช้ในภาคตะวันออกของจีนด้วยก็ตาม) แถมยังเป็นประเทศที่ไม่ค่อยจะรู้สึกรู้สาอะไรกับแรงกดดันของภาคประชาสังคมและไม่ค่อยจะสนใจในการทำตามกฎระเบียบของนานาชาติเช่นกัน
มันเลยไม่แปลกที่ประเทศท้ายน้ำจะกังวลต่อท่าทีของจีน ประวัติศาสตร์ความสัมพันธ์อันดีงามระหว่างจีนและไทยนั้นมีมานานแสนนาน จีนเองก็สามารถซื้อความเชื่อใจของลาวและกัมพูชาด้วยการลงทุนโครงการโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่มากมาย แต่เมียนมายังคงพยายามต้านอิทธิพลของจีนไว้ โดยเฉพาะในช่วง 5 ปีที่ผ่านมาที่เมียนมาเปิดประตูต้อนรับประเทศตะวันตกมากขึ้น เวียดนามก็ใช่ว่าจะไม่เกรงใจประเทศเพื่อนบ้านอย่างจีนที่เคยรุกรานเข้ามาเมื่อปี 2522 แถมยังมีข้อพิพาทเรื่องพรมแดนกันอีกในบริเวณทะเลจีนใต้ รวมทั้งเสียงต่อต้านจีนที่ดังขึ้นเรื่อยๆ ในลาว ในขณะที่จีนพยายามเข้ามามีบทบาทมากขึ้นในภูมิภาคลุ่มน้ำโขง ลาวและเวียดนามก็พยายามเชื่อมความใกล้ชิดกับสหรัฐฯ มากยิ่งขึ้น แต่มันก็คงไม่สามารถที่จะห้ามปรามไม่ให้จีนสร้างเขื่อนอีก ซึ่งก็ไม่ต่างอะไรกับที่เวียดนามไม่สามารถหยุดยั้งลาวจากการสร้างเขื่อนไซยะบุรีได้
แต่ความขัดแย้งเหล่านี้จะถูกตรวจสอบตลอดเวลา เพราะแต่ละประเทศยังคงปรารถนาสิ่งเลอค่าสองสิ่ง นั่นคือ น้ำและสันติภาพ เป็นเวลานานมากที่ภูมิภาคนี้ขาดแคลนสันติภาพ ไม่ว่าจะเป็นสงครามที่ยืดเยื้อหลายทศวรรษความขัดแย้งทางการเมืองและความโหดร้ายของเขมรแดง ที่ในอีกแง่หนึ่ง กลับเป็นเกราะกำบังไม่ให้แม่น้ำโขงถูกทำลายจากการแสวงหาประโยชน์ คงไม่มีใครอยากจะลงทุนสร้างเขื่อนเพื่อโดนระเบิด แต่ความรู้สึกเหล่ามันจบลงแล้ว ไม่มีใครอยากเห็นเหตุการณ์เหล่านั้นอีก ปัญหาคือ ภูมิภาคลุ่มน้ำโขงจะจัดการอย่างไรให้เกิดความเท่าเทียม โดยที่ไม่ทำลายธรรมชาติและความรุ่งเรืองที่สันติภาพจะนำมา
ประมาณ 100 กิโลเมตรทางตะวันออกเฉียงใต้ของพื้นที่หาปลาของชาง นา นักท่องเที่ยวในพนมเปญกำลังนั่งจิบโมฮิโตอยู่หน้าร้านกาแฟ บนท้องถนนสีโสวัทเควนั้นเต็มไปด้วยขบวนพาเหรดรถยนต์รุ่นใหม่ล่าสุดและรถตุ๊กตุ๊กพ่นควันดำ พนมเปญเป็นเมืองใหญ่ เป็นเมืองที่พลุกพล่าน แต่ยังมีสีสันความสละสลวยของยุคอาณานิคมที่ชำรุดแล้วหลงเหลืออยู่บ้าง มีสลัมที่แออัดไปด้วยคนชนบทเขมรที่ย้ายเข้ามาและหวังว่าตนจะได้ลิ้มรสความมั่งคั่งของสังคมเมืองบ้างสักนิด ชาง นาหวังว่าชาง ทัง ลูกชายตัวน้อยจะเติบโตเป็นพรานปลาอย่างที่เขาเป็น และลูกชายก็อาจจะต้องการเช่นั้น แต่ดั่งลูกชายคนอื่นๆ ชาง ทังอาจจะต้องก้าวข้ามไปอยู่ในแม่น้ำอีกสาย หรืออาจจะเป็นอีกฝั่งหนึ่งของแม่น้ำ
ประชากรในกรุงพนมเปญในปี มีแค่ 189,000 คน แต่ตัวเลขนี้อาจสูงเกิน 2.5 ล้านในปี 2563 มันก็เป็นไปได้ที่ชาง ทังจะเป็นหนึ่งในนั้น มันอาจเป็นความต้องการของเขาจริงๆ ก็ได้ ผู้คนเลือกเปลี่ยนเมืองที่ตัวเองต้องการจะอยู่ตลอดเวลา แต่มันก็อาจจะไม่เป็นเช่นนั้น กว่าชาง ทังจะเข้าสู่วัยทำงาน ความกลัวของกลุ่มที่ไม่เห็นด้วยกับเขื่อนอาจเป็นจริงแล้ว มันอาจจะไม่มีปลาอะไรหลงเหลือให้ชาง ทังออกหา
เจ้าของบทความเดินทางต่อมาทางปากแม่น้ำโขงที่คานโธ อันเป็นเมืองที่ใหญ่ที่สุดในบริเวณปากแม่น้ำโขง แสงสีเสียงของเมืองในยามมืด สว่างจ้าไปพร้อมกับดนตรีเพลงป๊อปของเวียดนาม หน้าตาของหนุ่มสาวเวียดนามเห็นได้ชัดในความมืดเพราะประกายแสงหน้าจอโทรศัพท์ที่พวกเขาก้มจ้อง รถมอเตอร์ไซค์ยังคงครองพื้นที่ถนน การค้ายังคงสะพัด ไม่เหลือพื้นที่ให้บริษัทยักษ์ใหญ่มาเปิดสาขาได้ นักท่องเที่ยวต่างชาติก็แทบจะไม่มีให้เห็น คานโธเงียบกว่าและเป็นมิตรกว่ากรุงพนมเปญ แต่มันมีความรู้สึกเศร้าๆ ที่ผู้คนในกรุงพนมเปญจะไม่รู้สึกเลย เพราะในขณะที่กรุงพนมเปญเติบโตและแออัดขึ้นเรื่อยๆ จนกระทั่งกลายเป็นเมืองที่ไม่สามารถจัดการกับความเจริญของตัวเองได้ในเวลาอีกไม่กี่สิบปีข้างหน้า คารโธอาจจะหายไป
ราวกับว่าเส้นกั้นระหว่างแผ่นดินกับผืนน้ำถูกทำให้จางหายไป บนถนนระหว่างกรุงพนมเปญกับคานโธ สายน้ำเส้นเรียวประกายระยิบระยับไหลตัดผ่านแปลงนา ห้วย คลอง และเส้นทางของสายน้ำจำนวนนับไม่ถ้วนไหลเข้าสู่ป่าเขียวชอุ่ม ในขณะที่แม่น้ำโขงค่อยๆ หาทางลงทะเลอย่างเกียจคร้าน ชาวกัมพูชามักบอกผู้ที่มาเยือนว่า พื้นที่ปากแม่น้ำโขงเป็นของเขมรก่อนที่ฝรั่งเศสจะเข้ามายึดอาณาเขตในปี 2492 แต่ชาวเวียดนามจะโต้แย้งคำกล่าวนี้ จะว่าไป ความอุดมสมบูรณ์ของดินในบริเวณปากแม่น้ำโขงถูกถกเถียงกันมานาน กระทั่งสู้รบกันเพื่อครอบครองผืนดินแห่งนี้ก็คงมีมาแล้วเช่นกัน
ตลาดน้ำที่มีชื่อเสียงของปากแม่น้ำโขงอยู่ห่างจากเมืองคานโธไปไม่เท่าไหร่ สินค้าจำนวนมากวางแผ่อยู่บนท้องถนนของเมือง แม่ค้ารุ่นใหญ่นั่งอยู่หลังกองผลไม้นานาชนิด ดูๆ แล้วก็ไม่ต่างอะไรกับสายรุ้งที่เต็มไปด้วยแก้วมังกร ส้มโอ ทุเรียนและขนุน อีกฟากหนึ่งคือภาพของชายหนุ่มหลายคนกำลังสานแหเตรียมออกไปหาปลาชะโด ประชากรเวียดนามประมาณ 1 ใน 5 อาศัยอยู่ในบริเวณปากแม่น้ำโขง (ประมาณ 18.6 ล้านคน) ร้อยละ 75 ของประชากรที่นี่ ทำเกษตรบนพื้นที่ประมาณ 4 ล้านเฮคตาร์ (25 ล้านไร่) โดยเฉลี่ยแล้ว พื้นที่นาแต่ละผืนมีขนาดแค่ 1.2 เฮคตาร์เท่านั้น (7.5 ไร่) แม้บริเวณปากแม่น้ำโขงจะคิดเป็นแค่ร้อยละ 12 ของพื้นที่ทั้งหมดของเวียดนาม แต่พื้นที่ตรงนี้นี่แหละที่เป็นแหล่งอาหารที่ใหญ่ที่สุดของประเทศ ทั้งปลา ทั้งผลไม้ รวมทั้งจำนวนข้าวกว่าครึ่งที่เวียดนามผลิตได้ก็มาจากปากแม่น้ำโขง ชาวนาที่นี่ปลูกข้าวได้ 7 ครั้งในรอบ 2 ปี
“ถ้าคุณอยากจะมีชีวิตที่สบาย ไปอยู่ที่ปากแม่น้ำโขง มันยากที่อดตายที่นั่น” ดัง คิว นัน (Dang Kieu Nhan) นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยคานโธยกสำนวนความเชื่อเก่าของเวียดนามมาเปรียบเปรย
แต่คานโธก็คงไม่สามารถกลับไปเป็นดั่งเก่าได้อย่างที่หลายคนเคยเข้าใจ เจ้าของบทความชี้ให้เห็นถึงความเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศที่กำลังเปลี่ยนคานโธและปากแม่น้ำโขงไป อุณหภูมิเฉลี่ยที่นี่สูงขึ้น 0.5 องศาเซลเซียสในช่วง 30 ปี นับตั้งแต่ปี 2522 ถึงปี 2552 กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติเวียดนามคาดการณ์ว่าอุณหภูมิเฉลี่ยจะสูงขึ้นอีก 1.1-3.6 องศาเซลเซียสภายในปี 2643 และอาจเกิดพายุที่รุนแรงยิ่งกว่าที่เวียดนามเคยเผชิญ ฤดูฝนก็จะมีฝนมากกว่าเดิม ช่วงแล้งก็จะแล้งยิ่งกว่าเดิม และพื้นที่ที่จะได้รับผลกระทบมากที่สุดก็คือ ตอนใต้ของเวียดนาม
แม้ว่าข้าวจะชอบอากาศร้อนชื้น แต่ก็ใช่ว่ามันจะชอบอะไรที่มากเกินไป หากจมอยู่ใต้น้ำนานเกินไป ข้าวก็จะตาย น้ำท่วมยังเป็นอุปสรรคต่อการเพาะปลูกและการเก็บเกี่ยว มีการประเมิณว่า ทุกๆ 1 องศาเซลเซียสที่สูงขึ้น ผลผลิตข้าวจะด้อยลงร้อยละ 10 การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ (หรือที่หลายคนเรียกติดปากว่า “โลกร้อน”) อาจทวีคูณปัญหาวัชพืชในนาอีกด้วย
ระดับน้ำทะเลที่สูงขึ้นไม่เพียงแต่จะกระทบต่อผลผลิตทางเกษตร แต่จะกระทบแปลงเกษตรด้วย งานวิจัยโดยองค์กรที่ปรึกษานามว่า สถาบันนานาชาติด้านการจัดการสิ่งแวดล้อม (International Centre for Environmental Management) คาดว่า ภายในปี 2593 ระดับน้ำทะเลที่เวียดนามจะสูงขึ้น 28-33 เซนติเมตร และสูงขึ้น 65-100 เซนติเมตรภายในปี 2643 ปัจจัยสำคัญที่ทำให้ระดับน้ำทะเลที่เวียดนามสูงขึ้นกว่าที่อื่นคือ ปริมาณตะกอนจากต้นน้ำที่น้อยลง ระดับน้ำทะเลที่สูงขึ้นเพียง 1 เมตรก็สามารถท่วมปากแม่น้ำโขงไปได้กว่า 1 ใน 4 ส่วนและทำให้ประชากรกว่า 5 ล้านคนสูญเสียที่อยู่อาศัย เพราะคานโธอยู่เหนือระดับน้ำทะเลเพียงแค่ 80 เซนติเมตรเท่านั้น
แต่กว่าจะไปถึงจุดนั้น น้ำเค็มจากมหาสมุทรก็คงทำให้ผืนนาจำนวนไม่น้อยเค็มเกินที่จะปลูกอะไรได้ น้ำเค็มที่หนุนเข้ามาในแผ่นดินจะเข้าไปพื้นที่ชายขอบอย่างพื้นที่ชุ่มน้ำและแหล่งน้ำบาดาล ความเค็มของเกลือจะทำลายนาข้าวและผลผลิตทางเกษตร พื้นที่เกษตรกว่าร้อยละ 70 ของปากแม่น้ำโขงจะโดนปัญหาจากน้ำทะเลที่หนุนขึ้นมา ปัจจุบัน เกษตรกรบางรายเปลี่ยนอาชีพไปเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำแทน ที่เห็นได้มากคือ การเลี้ยงกุ้ง ซึ่งทำได้ดีในบริเวณน้ำกร่อย แต่ถ้าน้ำทะเลหนุนเข้ามามากขึ้น การเลี้ยงกุ้งก็คงลงเอยอย่างการทำนาข้าว เพราะน้ำนั้นเค็มเกินกว่าที่กุ้งจะทนได้
กาลครั้งหนึ่ง ป่าชายเลนเคยทำหน้าที่เป็นเสมือนเกราะกำบังน้ำใต้ดินจากความเค็มของน้ำทะเลและลมแรงที่พยายามพัดน้ำเค็มให้รุกรานเข้ามาในแผ่นดิน แต่ ณ ปัจจุบัน ประชากรที่เพิ่มมากขึ้นและการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำที่กำลังขยายตัวอย่างรวดเร็วทำให้พื้นที่ป่าชายเลนลดลง ชุมชนปากแม่น้ำโขงจึงจำเป็นต้องพึ่งพาระบบชลประทานและคันนาในการป้องกันน้ำทะเลหนุนมากขึ้น แม้ว่ามันจะเป็นทางเลือกราคาแพงก็ตาม หากเวียดนามเลือกที่จะทำเกษตรน้อยลง มันก็อาจจะบรรเทาปัญหาไปได้พอควร แต่ประชากรเวียดนามกำลังเติบโตและเวียดนามก็ต้องส่งออกข้าว ปลา กุ้งและผลไม้ ตะกอนที่ไหลมากับแม่น้ำอาจช่วยป้องกันการทรุดของพื้นที่ชายฝั่ง แต่เขื่อนขนาดใหญ่ดันกั้นตะกอนเอาไว้ในอ่างเก็บน้ำ ดัง คิว นัน บอกว่าการทำเกษตรเชิงผสมผสานอาจช่วยได้ หากสลับกันระหว่างการทำนาข้าวกับฟาร์มกุ้งในพื้นที่ราบลุ่มที่มีน้ำกร่อย สวนผลไม้และผักตรงกลาง ส่วนข้าวราคาดีที่จะปลูกไว้เพื่อส่งออกก็ควรอยู่ทางตอนบนของปากแม่น้ำโขง วิธีนี้ก็อาจช่วยได้ จนกระทั่งภัยแล้งมาเยือนแล้วทำลายนาข้าวและเปิดทางให้น้ำทะเลไหลเข้าสวนผลไม้
ณ ตอนนี้ แม่น้ำโขงที่เริ่มจากสายธารเล็กๆ บนเทือกเขาทิเบต แล้วตัดผ่าดงป่าร้อนชื้นเขียวขจีมาเป็นเครือข่ายแม่น้ำน้อยใหญ่มากมายจนได้ชื่อว่าเป็น “ปากแม่น้ำเก้ามังกร” ก่อนจะไหลบรรจบกับทะเลจีนใต้ ก็ยังเป็นแม่น้ำโขงดั่งที่เคยเป็นเหมือนแต่ก่อน สำหรับนักท่องเที่ยวแล้ว เขาคงคิดว่า ภาพหญิงสาวต่อรองราคาตะกร้าที่เต็มไปด้วยมังคุดและปลาสดในตลาดน้ำหรือชาวนาหมวกกุบปักดำ เป็นภาพที่ไร้กาลเวลา ชีวิตยังคงเป็นเหมือนอย่างที่เคยเป็น มีจังหวะของมัน จะช้าจะเร็วก็ขึ้นอยู่กับฤดูกาล ผืนดินและทะเล ถึงแม้ว่าสิ่งที่พวกเขาเห็นจะเป็นภาพวิถีชนบท แต่จริงๆ แล้ว ภาพที่เขามองเห็น เป็นฉากเปิดของโศกนาฏกรรม เป็นช่วงที่ตัวละครแสดงในบทบาทที่แต่ละคนเคยเป็นเสมอมา ก่อนที่จุดจบของแต่ละคนจะเผยโฉม
ท้ายที่สุดแล้ว แม่น้ำทุกสายก็ไหลลงสู่ทะเล ยังไงๆ น้ำก็จะเดินทางเข้าหากัน แต่สำหรับแม่น้ำสายนี้ ณ ปากแม่น้ำแห่งนี้ ความรู้สึกแห่งการหวนกลับคืนมานั้นกำลังจางหายไป จุดจบกลับกำลังคืบใกล้เข้ามามากยิ่งขึ้น การพัฒนาอุตสาหกรรมที่เกิดขึ้นทั่วโลกมานานหลายศตวรรษผลักให้ระดับน้ำทะเลสูงขึ้น ในขณะเดียวกัน ของขวัญจากแม่น้ำถูกใช้อย่างสุรุ่ยสุร่ายเพียงเพื่อเสริมกำลังการพัฒนาอุตสาหกรรมขนาดขี้เล็บ
ชีวิตที่จะเป็นจะไม่เป็นดั่งชีวิตที่เคยเป็น
วันเวลาที่เราต้องเดินกลับสู่แม่น้ำเหลืออยู่อีกไม่นาน
หมายเหตุ – เนื้อหาบางส่วนของบทความไม่ได้ถูกแปลหรือเป็นการแปลรวมหรือแบบสรุป
ที่มา “Requiem for a River: Can one of the world’s great waterways survive its development?” The Economist. http://www.economist.com/news/essays/21689225-can-one-world-s-great-waterways-survive-its-developmen
ข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับโครงการเขื่อนบนแม่น้ำโขง ติดตามได้ที่
- หนังสือนิเวศ เศรษฐกิจ วัฒนธรรมลุ่มน้ำโขง: จากแก่งคุดคู้ถึงผาชันในกระแสการเปลี่ยนแปลง
- เพจ หยุดเขื่อนไซยะบุรี
- ลำดับเหตุการณ์ที่เกี่ยวข้องกับการเคลื่อนไหวคัดค้านโครงการเขื่อนไซยะบุรี
- ชาวบ้านริมน้ำโขงเดินหน้าสู้ยื่นอุทธรณ์ศาลปกครองสูงสุด หลังคำพิพากษายกฟ้อง ร่วมสร้างมาตรฐานผลกระทบข้ามแดน ชาวเวียดนามสนใจคดี ชี้น้ำขึ้น-ลงผิดปกติ โดย คนชายข่าว คนชายขอบ