ภาพ/ข่าว : นักข่าวพลเมือง เครือข่ายประชาชนผู้เป็นเจ้าของแร่
นักปกป้องสิทธิมนุษยชนกลุ่มรักษ์อำเภอวานรนิวาส จังหวัดสกลนคร ได้จัดงานบุญสืบชะตาอ่างเก็บน้ำห้วยโทง ครั้งที่ 6 เมื่อวันที่ 2 เมษายนที่ผ่านมา ที่บริเวณอ่างเก็บน้ำห้วยโทง อำเภอวานรนิวาส จังหวัดสกลนคร เพื่อแสดงออกถึงการคัดค้านนายทุนที่จะเข้ามาดำเนินการสำรวจหาแหล่งแร่โปแตชในพื้นที่ นอกจากนี้ก็ยังเป็นการรวมเครือข่ายชาวบ้านผู้ได้รับผลกระทบจากการทำเหมืองแร่ ในนาม “เครือข่ายประชาชนผู้เป็นเจ้าของแร่” ที่ได้รับผลกระทบจากการทำเหมืองทั่วประเทศเข้าร่วมงาน
อาทิ กลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิด 6 หมู่บ้านรอบเมืองแร่ทองคำ จังหวัดเลย , กลุ่มอนุรักษ์ป่าชุมชนเขาเหล่าใหญ่-ผาจันได จังหวัดหนองบัวลำภู , กลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิดด่านขุนทด จังหวัดนครราชสีมา , กลุ่มรักษ์ลำคอหงษ์ จังหวัดนครราชสีมา , กลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิดบำเหน็จณรงค์ จังหวัดชัยภูมิ , กลุ่มอนุรักษ์น้ำซับคำป่าหลาย จังหวัดมุกดาหาร , กลุ่มฅนเหล่าไหงามไม่เอาเหมืองแร่ จังหวัดกาฬสินธุ์ จังหวัดกาฬสินธุ์ รวมถึงองค์กรเครือข่าย ได้แก่ มูลนิธิศูนย์ข้อมูลชุมชน มูลนิธินิธรรมสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนคร และประชาชนทั่วไปเข้าร่วมกิจกรรมงานบุญในครั้งนี้
โดยภายในงานมีกิจกรรมทำบุญตักบาตรช่วงเช้า มีพิธีกรรมบายศรีสู่ขวัญและผูกข้อมือ มีการจัดแสดงนิทรรศการประวัติศาสตร์ขบวนการเคลื่อนไหวต่อสู้คัดค้านการขุดเจาะสำรวจแร่โปแตช ของนักปกป้องสิทธิมนุษยชน อำเภอวานรนิวาส จังหวัดสกลนคร ที่บอกเล่าเส้นทางการต่อสู้ของชาวบ้านอำเภอวานรนิวาส ตั้งแต่แรกเริ่มที่มีการทราบข่าวการเข้ามาของบริษัทเหมืองแร่โปแตช จนนำมาสู่การต่อสู้เรียกร้องเพื่อยุติการขุดเจาะสำรวจและการถูกข่มขู่คุกคามด้วยการฟ้องคดี รวมถึงชัยชนะในการต่อสู้ของชาวบ้าน
นอกจากนี้ยังมีการจัดเวทีเสวนาในหัวข้อ “อดีต ปัจจุบัน อนาคต โปแตชอีสาน กับขบวนการเคลื่อนไหวภาคประชาชนและการพัฒนาอีสาน” โดยมีตัวแทนนักป้องป้องสิทธิในหลายจังหวัดในพื้นที่ภาคอีสาน ที่ได้รับผลกระทบจากการทำเหมืองแร่โปแตช นักวิชาการ และทนายความเข้าร่วมเสวนาด้วย
สุดตา คำน้อย ผู้หญิงนักปกป้องสิทธิมนุษยชนกลุ่มรักษ์อำเภอวานรนิวาส กล่าวว่า เราเป็นอีกพื้นที่หนึ่งที่มีการสำรวจแร่ เพื่อเตรียมออกประทานบัตร แต่โชคดีที่ชาวบ้านเรารู้เร็ว ตั้งแต่ตอนเริ่มสำรวจ เมื่อรู้เร็วเราก็เริ่มรวมกลุ่มหาข้อมูลในการต่อสู้ว่าเราจะสู้อย่างไร หาข้อมูลว่าเหมืองโปแตชคืออะไร และชาวบ้านจะได้ประโยชน์อะไรกับการทำเหมืองนี้ และเราจะได้รับผลกระทบอะไร เราสู้ตั้งแต่ปี 2560 จนมาถึงการขุดหลุมที่ 4 จากเป้ากว่า 50 หลุม ซึ่งถือเป็นจุดพีค ที่เรายอมแลกกับคดีมา จนทำให้การสำรวจแร่ยุติในที่สุด
“เราร้องไปยังเจ้าหน้าที่รัฐที่เกี่ยวข้องก็ไม่ใด้คำตอบ สุดท้ายต้องแลกมาด้วยคดีความ แต่ศาลก็ระบุว่า ชาวบ้านมีสิทธิปกป้องทรัพยากรธรรมชาติ ปกป้องพื้นที่ของตัวเอง ถือว่าเราได้รับชัยชนะแต่ไม่ถึงที่สุด เพราะตอนนี้ทางบริษัท มีการยื่นอาชญาบัตรพิเศษ เพื่อทำการสำรวจเรียบร้อยแล้วรอเพียงรัฐบาลใหม่จะอนุญาตหรือไม่เท่านั้น”
ด้าน ธนาวรรณ ไกนอก ผู้หญิงนักปกป้องสิทธิมนุษยชนกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิดด่านขุนทด กล่าวว่า พื้นที่ด่านขุนทด นับเป็นพื้นที่ 1 ใน 3 ที่มีการออกเป็นประทานบัตรทำเหมืองแร่โปแตช ซึ่งหลังการทำเหมือง ชาวบ้านในพื้นที่ได้รับผลกระทบมาก ทั้งปัญหาดินเค็มที่ไม่สามารถปลูกพืชได้ รวมถึงปัญหาน้ำประปา ที่ตอนแรกเราใช้น้ำประปาหมู่บ้าน พอน้ำมีปัญหาเรื่องความเค็ม เหมืองกลับแก้ปัญหาให้ชาวบ้านใช้น้ำประปาแหล่งเดียวกันกับเหมือง ซึ่งจากเดิมเราจ่ายค่าน้ำประปาเพียงหน่วยละ 5-7 บาท แต่กลับต้องเพิ่มเป็น หน่วยละ 25 บาท ถือเป็นการเพิ่มภาระรายจ่ายและซ้ำเติมความทุกข์ยากให้กับชาวบ้านเป็นอย่างมาก เท่านั้นยังไม่พอยังส่งผลให้ ตัวบ้านหลายหลัง รวมถึงวัดบางแห่ง มีการทรุดตัวจากปัญหาความเค็มกัดกร่อนด้วย
“ปัญหาผลกระทบหลายอย่าง พวกเราไปทวงถามเหมืองแร่ก็ปัดความรับผิดชอบ หนำซ้ำยังถูกฟ้องกลับจนทุกวันนี้คนที่ร่วมกันต่อสู้ต่างรู้สึกหวาดกลัว ใครสู้ก็ถูกขู่ฟ้องจับติดคุก ชาวบ้านกลัวกันมาก เพราะพวกเขาเองก็ไม่รู้กฎหมาย ที่สำคัญชาวบ้านกลัวเสียเงินสู้คดี เพราะชาวบ้านเองก็ต่างยากจนหาเช้ากินค่ำ” ธนาวรรณ กล่าวทั้งน้ำตา
ดร.พสุธา โกมลมาลย์ อาจารย์ประจำสาขาพัฒนาชุมชน คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ กล่าวว่า ที่ผ่านมารัฐบาลบังคับพัฒนาให้กับคนอีสานผ่าน ความคิดที่ว่า คนอีสานเป็นคนที่ไม่รู้ ขอย้ำว่าชาวบ้านเขารู้ แต่ภาครัฐก็ยัดเยียดว่าเขาไม่รู้ ทำตัวเหมือน คุณแม่รู้ดี เช่น แร่โปแตชทำให้ความเป็นอยู่ดีขึ้น มีงานทำ ใช้ปุ๋ยถูกลง ซึ่งเหมือนนิทานหลอกเด็ก
“รัฐต้องฟังเสียงคนในพื้นที่ในฐานะเจ้าของทรัพยากร เขาคือผู้กำหนดว่าพื้นที่เขาควรเป็นอย่างไร รัฐบาลไม่เคยถอดบทเรียน ถ้าพื้นที่ไหนไม่มีส่วนร่วมของประชาชนล้มเหลวตลอด เมื่อไหร่รัฐใช้อำนาจบีบบังคับให้พัฒนา ทำให้คนไม่สามารถใช้ศักยภาพที่ดีของตัวเองได้ ทำให้เสียโอกาส รัฐบาลนี้ทำให้เราเจ็บปวด วันนี้มาบอก ทำแล้ว ทำอยู่ ทำต่อ จึงเป็นคำถามว่า เราจะทน กับคำว่า ทำแล้ว ทำอยู่ ทำต่อ แบบนี้อีกหรือไม่ ” ดร.พสุธา กล่าว
ในส่วนของ เลิศศักดิ์ คำคงศักดิ์ นักปกป้องสิทธิมนุษยชนเครือข่ายประชาชนผู้เป็นเจ้าของแร่ กล่าวว่า ก่อนที่มีการทำรัฐประหารปี 2557 รัฐธรรมนูญปี 2540 ที่ถูกฉีกไปก็ดี รวมถึงแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 8 ที่มีมาก่อนหน้าก็ดี ล้วนแต่ดึงและเปิดโอกาสให้ภาคประชาชนเข้ามามีส่วนร่วม แต่เมื่อมีรัฐประหารกลับตัดภาคประชาชนออกไป ตรงกันข้ามกลับเอาผู้เชี่ยวชาญ ผู้ชำนาญการ มาคิดแทนประชาชน
“การผลักดันทำเหมืองแร่โปแตซ ต้องยอมรับว่ามีการผลักดันมาในหลายรัฐบาล แต่มาสุกงอมเต็มที่ ในสมัย คสช. ยุค พล.อ.ประยุทธ จันทร์โอชา ทั้งสิ้น มีการออกประทานบัตรให้ รวม 3 แห่ง ทั้งที่ ชัยภูมิ นครราชสีมา และล่าสุดอุดรธานี” เลิศศักดิ์ กล่าว
เมื่อถูกถามว่า แล้วอีสานควรถูกพัฒนาไปในทิศทางใด? เลิศศักดิ์ ตอบว่า อีสานควรพัฒนาไปในแนวทางเทคโนโลยีที่เหมาะสม แม้กระทั่งตัว พ.ร.บ.แร่ ปี 2560 ยังเขียนไว้ว่า แหล่งแร่ที่มีศักยภาพแหล่งแร่สูงมากๆ แต่เทคโนโลยีที่นำแร่ขึ้นมายังไม่พัฒนาให้เหมาะสมอย่านำขึ้นมา ขอให้เก็บเอาไว้ก่อน ถ้าเทคโนโลยีในการนำแร่ชนิดนั้นๆ ขึ้นมายังไม่เหมาะสมยังไม่ทันสมัยพออย่าเพิ่งพัฒนามัน
“ถ้าตอบคำถามนี้ให้สู่กับสังคมและการเมืองปัจจุบัน เพราะเรากำลังจะมีการเลือกตั้ง ต้องถามว่า อย่างที่วานรนิวาส รวมทั้งในหลาย ๆ จังหวัดที่มีแหล่งแร่โปแตช พรรคการเมืองไหนบ้าง จะสานต่อนโยบาย ทำแล้ว ทำต่อ ทำอีก ที่พรรคการเมืองบางพรรคชูสโลแกนนี้ขึ้นมา คือขณะนี้ถือเป็นการพัฒนาที่ไม่เหมาะสมอย่างยิ่งเราสามารถเก็บมาคิดทบทวนได้ เพราะยังมีเทคโนโลยีที่เหมาะสมเต็มไปหมดกลับไม่คิดเก็บมาพัฒนา” เลิศศักดิ์ กล่าวทิ้งท้าย