การบ้านให้พรรคการเมือง จากคนลุ่มน้ำยวม จ.แม่ฮ่องสอน

การบ้านให้พรรคการเมือง จากคนลุ่มน้ำยวม จ.แม่ฮ่องสอน

ทีมไทยพีบีเอสภาคเหนือมีโอกาสได้เดินทางไปยังจังหวัดแม่ฮ่องสอนเมืองสามหมอกเมืองชายแดนที่ติดกับสหภาพเมียนมา

และชุมชนที่เราได้เดินทางมาคือ ชุมชนลุ่มน้ำยวม ซึ่งประกอบไปด้วย 4 อำเภอคือ อำเภอขุนยวม อำเภอแม่สะเรียง อำเภอแม่ลาน้อย และอำเภอสบเมย วันนี้ที่เรามาเรามีโอกาสได้สนทนาพูดคุยกับคนพื้นที่ ถึงทิศทางอนาคตคนลุ่มยวมว่าคนที่นี่สนใจในการพัฒนาพื้นที่ในทิศทางไหน

ภาพคนกำลังมาเล่นเกม

ระหว่างคุยกัน เราได้ใช้เกม MY TAX (มายเเท็ก) ที่ชวนทุกคนลองโหวตเลือก ดูความต้องการของคนในพื้นที่ก่อนว่า  คนลุ่มน้ำยวมสนใจ เรื่องอะไรประเด็นไหนและนโยบายแบบไหนจากพรรคการเมืองและนักการเมืองที่จะอาสาเข้ามาพัฒนาพื้นที่ของเขา

กระบวนการของเกม  MY TAX อยากให้ ภาษีฉันแก้โจทย์เรื่องไหน หากมีเงินอยู่ 3ก้อนในมือ

โดยพวกเราแบ่งกันสำรวจออกเป็นช่วงวัยคือ อายุ 18-25 ปี ซึ่งมีผู้เข้าร่วม 15 คน อายุ 26-35 ปี ซึ่งมีผู้เข้าร่วม 5 คน อายุ 36-45 ปี ซึ่งมีผู้เข้าร่วม 9 คน และ คน อายุ 46 ปีขึ้นไป ซึ่งมีผู้เข้าร่วม 9 คน รวม 38 คน

โดยวันนี้เราสามารถสำรวจผู้เข้าร่วมออกได้เป็น 38 คน จากตัวแทนคนลุ่มน้ำยวมใน 4 อำเภอที่เข้ามาร่วมในกิจกรรมฟังเสียงประเทศไทยครั้งนี้

ผลการสำรวจเราแบ่งออกเป็น 6 กล่อง โดยมีกติกาว่าเราให้สติกเกอร์คนละ 3 ดวง ซึ่งแทนเงินภาษี จำนวน 3 ก้อน และมีคำอธิบายว่าเนื่องจากว่าจำนวนภาษีของประเทศเรามีค่อนข้างจำกัด เพราะฉะนั้นทำให้เราไม่สามารถทำอะไรหลาย ๆ อย่างได้พร้อมกัน ดังนั้นหากจะต้องเลือกให้ความสำคัญจากเงิน 3 ก้อน เราจะให้ความสำคัญเรื่องไหน มากที่สุด

ซึ่งในครั้งนี้ผลการสำรวจ พบว่าเรื่องที่คนลุ่มน้ำยวมใน 4 อำเภอ ให้ความสำคัญเรื่องการศึกษามากที่สุดถึง 28.94 เปอร์เซ็นต์ รองลงมาคือเรื่องสาธารณะสุข 22.80 เปอร์เซ็นต์ และลำดับที่ 3 ที่คนที่นี้ให้ความสำคัญคือ เรื่องสิ่งแวดล้อม โดยได้คะแนน 20.17 เปอร์เซ็นต์ 

เพราะอะไร ทำไมสัดส่วนการเลือกความสำคัญในการพัฒนาพื้นที่ ของคน 4 อำเภอ ถึงให้ความสำคัญเรื่องนี้?

ซึ่งเรามีคำอธิบายจากประชาชน ผู้มีสิทธิเลือกตั้ง ที่เป็นตัวแทนประเด็นสำคัญนี้

“แม่ฮ่องสอน พื้นที่ชายแดน คนไร้สัญชาติยังกังวลว่าจะเข้าถึงสิทธิทางการรักษา เพราะแม้แต่การรับรองเป็นพลเมืองของประเทศนั้นยังไม่ถูกรับรอง” แม้ว่ารัฐเองจะเคยบอกว่า การรักษาทุกคนเท่าเทียม แต่ในทางปฏิบัติและความรู้สึกของคนพื้นที่ไม่ได้เป็นเช่นนั้นและกังวลว่าจะเข้าถึงการรักษายาก และอีกประเด็นคือ บางคนที่เจ็บป่วยด้วยโรคมะเร็ง เบาหวาน ที่ต้องลงดอยหาหมอในเมือง แน่นอนว่าทุกการเดินทางนั้นคือภาระค่าใช้จ่ายในการเดินทางที่ต่อรอบสูง ซึ่งบางคนก็หยุดรักษา หรือเลือกรักษาด้วยตัวเอง 

ส่วนเรื่องการศึกษา ในพื้นที่มีการศึกษาขั้นพื้นฐาน แต่เมื่อเด็กอยากจะต่อในระดับที่สูงขึ้น ก็จะมีค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้น คือ ต้องเดินทางออกนอกพื้นที่ ต้องมีค่าที่พัก ทำให้พ่อแม่ต้องไปกู้หนี้ยืมสิน มาให้ลูกเรียน และหนำซ้ำ ช่วงเวลาเรียนก็ต้องทำงานพิเศษ เพื่อหารายได้เลี้ยงตัวเอง แทนที่จะได้ทำกิจกรรมหรือเรียนเสริมทักษะอื่น พอจบมาก็มีหนี้ก้อนโตที่ต้องใช้ นอกจากนี้ในพื้นที่ไม่มีระบบการศึกษารองรับทำให้เด็กต้องดิ้นรณออกไปหาโอกาสนอกพื้นที่ แล้วไม่กลับมา เพราะในพื้นที่ไม่มีอะไรรองรับการทำงาน

และเรื่องสิ่งแวดล้อม ทั้งเรื่องโครงการพัฒนาขนาดใหญ่ ทั้งเขื่อน ที่มีแนวโน้มจะเกิดขึ้น ปัญหาป่าไม้ทับที่ดินทำกิน ที่ชาวบ้านเข้าถึงสิทธิไม่เต็มร้อย จะมีแนวทางอย่างไร ที่จะทำให้การอนุรักษ์ของชาวบ้านได้ประโยชน์ เช่น ในที่ดิน แบบ คทช. ให้ชาวบ้านปลูกป่า และสามารถทำประโยชน์ได้ไหมและเมื่อไร ถ้ามีความชัดเจน นี้คือประโยชน์ที่ชาวบ้านจะได้ และเรื่องคาบอนร์เครดิต ที่น่าจะเชื่อมโยงกลับมาดูแลป่าดูแลชาวบ้าน

นี่คือส่วนหนึ่งของเหตุผลการเลือกความสำคัญของตัวแทนคน 4 อำเภอ แน่นอนว่าเรื่องอื่นๆ ที่สำคัญรองลงมา คนในพื้นมองว่าก็สำคัญเหมือนกัน แต่ถ้าลูกมีการศึกษาดี มีต้นทุนทางทรัพยกรสิ่งแวดล้อมที่ดีพอ ก็เชื่อว่าพอถึงช่วงที่ตัวเองสูงวัย ลูกก็จะดูแลได้ไม่น่าจะมีปัญหาอะไร

แม่ฮ่องสอน เป็นจังหวัดในภาคเหนือของประเทศไทยมีความโดดเด่นหลายลักษณะ โดยสภาพภูมิประเทศความหลากหลาย ด้านวัฒนธรรม และประชากรจากหลายกลุ่มชาติพันธ์ นับเป็นจังหวัดที่สถิติน่าสนใจหลายอย่าง เช่น มีประชากร 282, 786 คน น้อยเป็นอันดับ 72 ในขณะที่มีพื้นที่ 12,681.259 ตร.กม. มากเป็นอันดับ 8 ของประเทศ เป็นจังหวัดชายแดน ตั้งอยู่ทางภาคเหนือตอนบน ด้านตะวันตกของประเทศ 

มีทั้งหมด 7 อำเภอ คือ อำเภอเมืองแม่ฮ่องสอน อำเภอปางมะผ้า อำเภอปาย อำเภอขุนยวม อำเภอแม่ลาน้อย อำเภอแม่สะเรียง อำเภอสบเมย

มีพื้นที่ชายแดนทุกอำเภอติดต่อกับประเทศเมียนมา ระยะทางกว่า 483 กิโลเมตร โดยติดกับ 3 รัฐ คือรัฐฉาน รัฐคะยา และรัฐกะเหรี่ยง สามารถเดินทางไปยังกรุงเนปิดอร์(ระยะทาง 220 กิโลเมตร) และเมืองสำคัญทางเศรษฐกิจและการท่องเที่ยว คือ ลอยก่อ มัณฑะเลย์ และตองอู

ประชากรส่วนใหญ่กว่าครึ่งหนึ่งของจังหวัด เป็นชนเผ่าต่าง ๆ และอยู่อาศัยในพื้นที่สูง ซึ่งประกอบอาชีพเกษตรกรรมเป็นหลัก แต่ขณะเดียวกันที่มีเนื้อที่ถือ ครองทำการเกษตรแบบถูกต้องเพียงร้อยละ 2.5 ของเนื้อที่จังหวัด จึงมีข้อจำกัดการปรับระบบการผลิตให้มีรายได้เพิ่มสูงขึ้น

สภาพภูมิประเทศส่วนใหญ่เป็นภูเขาและพื้นที่สูง เป็นอุปสรรคในการพัฒนาด้านโครงสร้าง พื้นฐานโดยเฉพาะการคมนาคมและสาธารณูปโภค รวมทั้งพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นเขตป่าอนุรักษ์

การท่องเที่ยวจึงเป็นแหล่งสร้างรายได้สำคัญของจังหวัด แต่รูปแบบการท่องเที่ยวในปัจจุบัน นักท่องเที่ยวนิยมมาเฉพาะในฤดูหนาว ช่วงเดือนพฤศจิกายนถึงกุมภาพันธ์เท่านั้น ฤดูกาล ท่องเที่ยวมีระยะสั้นและค่อนข้างกระจุกตัว

เมื่อการเลือกตั้งกำลังจะมาถึง

ซึ่งการเลือกตั้งที่กำลังจะเกิดขึ้นของปี 2566 นี้ คณะกรรมการการเลือกตั้ง ได้มีการออกประกาศ แบ่งเขตการเลือกตั้งของ จังหวัดแม่ฮ่องสอน ออกเป็น 2 เขต โดยพิจารณาจากจำนวนราษฎรใน แม่ฮ่องสอนที่มีทั้งหมด 286,786 คน จำนวนราษฎรต่อสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร 1 คน ในจังหวัดแม่ฮ่องสอน เท่ากับ 143,393 คน ทำให้จำเป็นต้องแบ่งเขตการเลือกตั้งออกเป็น 2 เขต คือเขตเลือกตั้งที่ 1 ได้แก่ อ.ปาย , อ.ปางมะผ้า , อ.เมืองแม่ฮ่องสอน และ อ.ขุนยวม ส่วนเขตเลือกตั้งที่ 2 ได้แก่ อ.แม่ลาน้อย , อ.แม่สะเรียง และ อ.สบเมย  นั้นหมายความว่ารอบนี้ จังหวัดแม่ฮ่องสอนจะมี สมาชิกสภาผู้แทน หรือ ส.ส.เข้าไปทำงานในสภาผลักดันเสียงและการแก้ปัญหาของพื้นที่ถึง 2 คน

ซึ่งข้อมูลส่วนที่ทีมงานได้รวบรวมมานี้ น่าจะพอเป็นสารตั้งต้นให้ว่าที่ผู้สมัคร ส.ส. เป็นโจทย์ในการทำนโยบายให้สนองคนในพื้นที่ได้

ก่อนการเลือกตั้ง 66 โอกาสสำคัญ ชวนคุณผู้อ่าน ในฐานะประชาชนคนหนึ่งที่ต้องจ่ายภาษีให้รัฐ และมาลองจัดลำดับความสำคัญก่อนหลังด้วยตัวของคุณเองผ่าน My Tax My Future ภาษีฉัน อนาคตฉัน เราเลือกได้ 

ตามลิงก์ที่อยู่ด้านล่างนี้

https://mypolitician.csitereport.com/

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ