การแสดงที่ทำให้ผู้ชมได้รู้สึกถึง ความสมจริง เข้าถึงอารมณ์ หรือรู้สึกว่าอยู่ในสถานการณ์และสถานที่ในเรื่องนั้นจริง ๆ ก็คงไม่พ้น “ละครเวที” ที่แตกต่างกับภาพยนต์ที่เราดูกันเป็นประจำ ไม่ว่าจะบรรยากาศ การมีปฏิสัมพันธ์ระหว่างนักแสดงและคนดู ทำให้ผู้ชมที่ได้รับชม “ละครเวที” จะเหมือนตกอยู่ในภวังค์โลกเนรมิตรที่ถูกรังสรรค์ขึ้นมาผ่านการแสดงบนเวที ซึ่งดิฉันเองก็ตกอยู่ในภวังค์นั้นเช่นเดียวกันค่ะ
โลกคือละคร ทุกตอนต้องแสดง ทุกคนทนไป
อย่าอาลัย ยิ้มกันสู้ไปจะได้สบาย
สุขกันเถอะเรา
เพลงโดย สุนทราภรณ์
สิ่งที่ฉันไม่เคยคิดและนึกถึงมาก่อนตั้งแต่ได้มาเรียนยังมหาลัยแห่งนี้ก็คือการที่ได้แสดงละคร ยิ่งละครเวที ดิฉันเองก็ไม่เคยคิดฝันถึง เพียงได้แต่เต้นรำและร้องเพลงท่อนหนึ่งจากบทหนึ่งของละครเวทีอันแสนโด่งดัง “สี่แผ่นดิน เดอะมิวสิคัล” ซ้ำวนเวียนไปมา อยู่อย่างนั้น
เสด็จ : เรื่องอะไรถึงขึ้นมาหา
ช้อย : มาสวดมนต์เย็นมังคะ เวลาบ่าย ที่พระที่นั่ง ตำหนักบนรับสั่งมา
ว่าเสด็จ จะทูลเสด็จ ว่าจะเสด็จ หรือไม่เสด็จ ถ้าแม้เสด็จ เย็นนี้เสด็จ ก็พร้อมจะเสด็จกัน
เสด็จ : ไปทูลเสด็จ ว่าจะเสด็จ ถ้าแม้เสด็จ เย็นนี้เสด็จ เสด็จจะดีพระทัย มาก
ส่วนหนึ่งของบทเพลง ชาววัง จากละครเวทีเรื่อง สี่แผ่นดิน เดอะมิวสิคัล
พอเราได้มีโอกาสสักครั้งในการทำในสิ่งที่ชอบ ดิฉัน “เรญา” ก็พร้อมที่จะทำและสนุกสนานไปกับมัน และเมื่ออาจารย์ของเราได้หมอบหมาย Project ครั้งนี้ให้พวกเรา พวกเราก็ไม่รอช้าที่จะหารือเลือกละครวิทยุที่พวกเราทุกคนได้จัดทำขึ้นมาก่อนหน้านี้ เพื่อนำบทมาต่อยอดเป็นละครเวทีของพวกเรา และในไม่ช้าเสียงการพูดคุยของทุกคนก็เงียบสงัดลง พวกเราเริ่มยกมือให้คะแนนแก่เรื่องที่ตนชอบ และผลลัพธ์ที่ออกมาก็ทำดิฉันแอบตกใจอยู่เล็กน้อย เพราะเรื่องที่ทุกคนเลือกนั้น ก็คือเรื่อง ไข(WHO?) ตอน The Cham Cha ซึ่งเป็นละครวิทยุที่ดิฉันและเพื่อนๆได้เป็นคนจัดทำขึ้นมา (หากทุกคนอยากรับฟังละครวิทยุเรื่องนี้ ดิฉันก็ได้นำละครเรื่องนี้อัปโหลดลงบน Youtube เพื่อให้ทุกท่านสามารถรับฟังละครเวทีของพวกเราใน เวอร์ชั่นดั่งเดิมได้ค่ะ)
เมื่อพวกเราตกลงกันได้ความ ถึงละครตั้งตนที่เราจะนำมาเป็นละครเวทีของพวกเรา และภายในวันนั้น ในวันที่ 16 มกราคม พ.ศ. 2566 พวกเราก็เริ่มที่จะวางตำแหน่งหน้าที่กันอย่างคร่าวๆ ยิ่งละครเวทีในครั้งนี้ อาจารย์ก็ได้มีโจทย์ใหญ่แก่พวกเรา คือการที่จะต้องมีการทำเสียงประกอบ (Foley) และ เสียงพากษ์ประกอบการแสดง ซึ่งทำเสียงประกอบสดและพากษ์สดไปพร้อมกับการแสดงจริง ทั้งนี้ยังต้องมีการทำดนตรีประกอบขึ้นมาใหม่สำหรับละครในครั้งนี้ ยิ่งละครเวทีในครั้งนี้ เป็น Final Project ของ รายวิชาการสร้างเสียงประกอบสื่อดิจิทัล ด้วยแล้ว การทำเสียงประกอบ (Foley) ก็นับว่าเป็นหนึ่งในจุดขายของละครเวทีของพวกเราเลยทีเดียวค่ะ
ทันทีที่ได้เริ่มการซ้อมละครเวที ตัวดิฉันเองนั้นสนุกสนานมากคล้ายกับเด็กวัยประถมที่วิ่งเล่นสนุกสนานได้ทั้งวันโดยไม่มีวี่แววแม้แต่จะหยุดพัก ทำให้ฉันนึกถึงคำพูดคำหนึ่งของอาจารย์ที่ฉันเคารพรัก ที่เคยบอกให้ ทุกคนสนุกไปกับการเรียน ซึ่งเมื่อฉันได้ลองก็พลันทำให้ความเครียดและความกดดันจางหายไป โชคดีที่ละครเรื่องนี้เป็นของกลุ่มดิฉันและเพื่อน การเขียนบทเพื่อนำมาทำเป็นละครเวทีจึงมีแต่ความสนุก ความตลกขบขัน และไอเดียแปลกใหม่ผลุดขึ้นมา ยิ่งสำหรับมุกตลกในเรื่องที่ได้มาจาก กุ๊กกิ๊ก (โปรดิวเซอร์) เพื่อนคนสนิทของดิฉัน ที่ฟังครั้งแรกก็สามารถตอบได้ทันทีเลยว่า “ฟังยังใงก็รู้ว่ามุกนี้ของกุ๊กกิ๊ก”
Your stress and anxiety will disappear. If you enjoy what you do and you gonna do it well.
Phattar Burarak
หลังจากเราฝึกซ้อมและเตรียมความพร้อมกันมานานเกือบ 1 เดือน ไม่ว่าจะเป็นการทำเพลงต่างๆที่เราใช้ร่วมกับการแสดง หรือการซ้อมการทำเสียง Foley พร้อมกับนักแสดง จนต้องบอกได้เลยว่า พวกเราซ้อมกันบ่อยจนเพื่อนๆของดิฉันเริ่มจะกลายเป็นนักทำ Foley มือทองของสาขาไปเสียแล้ว และละครเวทีก็คงต้องไม่พลาดที่จะต้องมี Prop และของประกอบฉากที่จะช่วยให้การแสดงสมจริงและเข้าถึงคนดูมากขึ้น เหล่าเพื่อนๆของดิฉันก็ได้ช่วยกันเนรมิตต้นฉำฉา กันขึ้นมาถึง 3 ต้นด้วยกัน รวมไปถึง ชั้นหนังสือ กล่องร้องบรรเทาทุกข์ จอบปลอม เสียบปลอม ก็ถูกสร้างขึ้นมาโดยเวลาอันสั้นเพียงไม่ถึงเดือน
เมื่อเข้าใกล้วันจริงเข้าทุกวัน รุ่นพี่ปี 3 ของดิฉันก็ได้มีการนัดหมาย ถ่ายรูปสำหรับโปรโมทละครเวที ในครั้งนี้ ซึ่งสำหรับตัวดิฉันก็เริ่มตื่นเต้นขึ้นไปมากกว่าเดิม ยิ่งรู้ตัวว่าการมาถึงของวันที่จะได้แสดงและเผยแพร่ต่อสาธารณะจะใกล้เข้ามาในอีกไม่นาน ดิฉันจำได้ดีว่าดิฉันกับเพื่อนนัดกันเพื่อแต่งหน้าและทำผมสำหรับการถ่ายรูปในครั้งนี้ตั้งแต่ 7 โมงเช้า (ซึ่งในวันแสดงจริงพวกเรานัดเช้ากว่านี้อีกค่ะ)
และเมื่อวันเวลาเดินทางมาถึง ในวันที่พวกเราจะได้มาลองซ้อมกันในสถานที่จริงสำหรับการแสดงละครเวที และการถ่ายทอดสด (ลืมบอกทุกท่านไปค่ะ ในครั้งนี้พวกเรามีละครเวทีทั้งหมดสองเรื่อง คือส้มตำกลับใจ และ ไข(WHO?) เรื่องของดิฉันและเพื่อนๆค่ะ) จากห้องอันกว้างใหญ่ที่ดูไม่มีทางที่จะทำให้ดูเต็มได้ กลับกลายเป็นอัดแน่นด้วยนิสิตสาขาวิชาการสื่อสารสื่อใหม่ด้วยเวลาอันสั้น ซึ่งการซ้อมนี้ก็รวมถึงการซ้อมและทดลองการLive Streaming ถ่ายทอดสดผ่านเพจ “ลองของ NMC UP” โดยเป็นการทำงานร่วมมือกันระหว่างทีม Production รุ่นพี่ปี 3 และละครเวทีของรุ่นน้องปี 2 นั่นเองค่ะ
วันซ้อมใหญ่
มีการทดลอง Live Streaming
4 มีนาคม 2566วันซ้อมใหญ่เสมือนจริง
เรญา รับบท พิธีกรพูดเปิด
6 มีนาคม 2566
หลังจากฝึกซ้อมกันมาอย่างยาวนาน ก็ใกล้ที่สิ้นสุดเส้นทางของรถไฟขบวนนี้ เมื่อการซ้อมใหญ่เสมือนจริงมาถึง และตัวเอกของการพูดเปิดละครเวที เรื่อง ไข(WHO?) ก็คือดิฉันเองค่ะ โดยก่อนหน้านั่นดิฉันจะได้ใส่ชุดสูทคล้ายกับนักมายากล แต่ก็ได้อาจารย์ที่ดิฉันรักและให้ความเคารพได้ชี้แนะให้ฉันได้รู้ว่าควรจะแต่งตัวแบบไหนถึงจะเข้ากับละครเรื่องนี้ (จริงๆแล้วเรื่องนี้มันก็คือละครเวทีสืบสวนนะ ทำไมกันนะตัวดิฉันถึงจะไปใส่ชุดนักมายากล) เมื่อได้ชุดที่ดูเหมือนนักสืบแล้ว ก็มาถึงท่าทางในการเดินเปิดตัว ก็ได้อาจารย์คนเดิมนี่แหละค่ะ ที่สอนดิฉันทีละท่วงท่าลีลาในการเดิน หรือแม้กระทั่งการพูดลิปซิงค์เสียงของตัวดิฉันเองที่จะต้องมีการ Over Acting ให้สมกับการเป็นละครเวที
กลอน 8 สุภาพ : ตำนานต้นฉำฉา
แต่งโดย เรญา
หนึ่งใน Easter Egg ของละครเวทีเรื่องนี้การซ้อมใหญ่เสมือนจริง
เรญา รับบท คุณครูภาษาไทย
6 มีนาคม 2566
แต่ถึงกระนั้นดิฉันก็ยังคงมีลูกเล่นเพิ่มเติมเข้าไปอีกในละครเวทีครั้งนี้อยู่หลายอย่างด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็นกลอนที่ฉันแต่งขึ้นมาโดยสอดคล้องกับเนื้อเรื่องของละครเวทีเรื่องนี้
ต้นฉำฉาโรยราดั่งความรัก ตำนานจักเล่าขาลวันวานก่อน
ถูกตัดตอนข่าวเสนอเจอเพื่อนฆ่า ผ่านเวลาความจริงล่วงเลยหาย
ใจสลายหายมลายคล้ายโดนทิ่ม ปริ่มน้ำตาตกซึมรินรดหน้า
หลั่งน้ำตาตกในไม่ทันลา ล่วงชีวาเพื่อนสนิทติดตรึงใจ
แต่งโดย เรญา : พิธีกร,นักแสดง (ละครเวที ไข(WHO?) ตอน The Cham Cha )
หรือจะเป็นการที่ดิฉันเปลี่ยนชุดกลับมาเป็นนักแสดงในช่วงเวลาอันสั้น ซึ่งตัวดิฉันก็หวังว่าสิ่งนี้น่าจะสร้างความตื่นตาตื่นใจและประทับใจให้กับท่านผู้ชมได้บ้าง
วันแสดงจริง
ละครเวทีเรื่อง ส้มตำกลับใจ
7 มีนาคม 2566วันแสดงจริง
ละครเวทีเรื่อง ส้มตำกลับใจ
7 มีนาคม 2566
และในท้ายที่สุด ก็ใกล้ที่จะถึงสถานีสุดท้ายของรถไฟขบวนนี้ ในวันแสดงจริงดิฉันกับเพื่อนได้มีการนัดกันแต่งหน้าและทำผมกันตั้งแต่ฟ้ายังไม่รุ่งสาง เพื่อให้ทุกคนออกมาดูดีและเหมาะสมกับคาแรคเตอร์ ระหว่างที่ดิฉันกำลังแต่งหน้าให้เพื่อนนั้น ใจของฉันก็เริ่มสั่นไหวถึงการแสดงจริงในครั้งนี้ และเมื่อเรามาถึง ณ ห้องUB002 ห้องที่เราจะจบการเดินทางในครั้งนี้และส่งผู้โดยสารทุกคนลงสถานี เมื่อเพื่อนทุกคนมากันพร้อมหน้า ไม่นานนักเพื่อนสนิทของฉันก็เริ่มนำทุกคนสวดมนต์ (ใช่ค่ะ พวกเรามีที่พึ่งทางกายแล้ว ที่พึ่งทางใจก็สำคัญไม่แพ้กัน) โดยคนที่นำสวดนั้นก็ไม่ใช่คนอื่นไกล แต่ก็คือ กุ๊กกิ๊ก เพื่อนสนิทของดิฉันเองค่ะ เมื่อละครเวทีกลุ่มแรกเริ่มแสดง (ละครเวทีเรื่อง ส้มตำกลับใจ) ระหว่างที่รับชมการแสดงของละครเวทีเรื่องแรก พวกเราก็ได้แต่มองหน้ากันละให้กำลังใจซึ่งกันและกัน และเมื่อละครเวทีเรื่อง ส้มตำกลับใจได้จบลง พวกเราทุกคนก็ต่างลุกขึ้นโดยพร้อมเพรียงกัน และเข้าประจำตำแหน่งเหมือนอย่างที่ซ้อมกันมา
วันแสดงจริง
ละครเวทีเรื่อง ไข(WHO?) ตอน The Cham Cha
7 มีนาคม 2566
เมื่อเสียงสัญญาณดังขึ้น “3 2 1 คิว!!!” ตัวฉันก็สวมบทบาทของนักสืบเดินย่องขึ้นไปบนเวทีและทำเหมือนดั่งวันซ้อม เสมือนกับว่าฉันทำสิ่งนี้มาแล้วนับ 100 ครั้ง และเมื่อฉันเดินลงจากเวที ฉันก็วิ่งไปด้านหลังห้องอันสูงชันเพื่อรีบเปลี่ยนเสื้อผ้าเพื่อเข้า Scene ที่รับบทเป็นครูภาษาไทยในฉากต่อไป แต่การเปลี่ยนชุดในครั้งนี้นานออกไป ดิฉันไม่รู้ว่าเวลาเดินเร็วขึ้นหรือหัวใจของฉันมันเต้นถี่จนรู้สึกว่าทุกสิ่งทุกอย่างดูเคลื่อนไหวแบบรวดเร็วและเงียบงัน ดิฉันวิ่งลงไปถึงตรงเวทีพอดีก่อนจะเข้า Scene แต่แล้วก็มีปัญหากับชุดของดิฉันที่เกิดการซิปแตกที่กระโปรง ขอบคุณพระเจ้า ที่โชคดียังคงเข้าข้างดิฉันให้ดิฉันไม่ตื่นตระหนก ดิฉันได้รวบรวมสติแก้ปัญหาเฉพาะหน้า เลือกที่จะขยับกระโปรงให้ซิปหมุนไปยังอีกฝั่งที่จะไม่เข้ากล้อง และเดินขึ้นเวทีไปด้วยความมั่นใจ ถึงแม้เหตุการ์ณนี้จะผ่านไปแล้วแต่ขณะที่พิมพ์อยู่ดิฉันก็ยังคงรู้สึกประหม่ากับเหตุการณ์นั้นไม่หายจนมือของดิฉันเย็นไปหมด แต่แล้วก็มีสิ่งที่ทำให้ฉันต้องหยุดนิ่งไปอีกครั้ง เมื่อ Prop ที่ใช้ในการแสดงไม่อยู่ในจุดที่ควรจะอยู่ ระหว่างที่เพื่อนพยายามมุดตัวลอดผ่านเก้าอี้ไปอีกฝั่งของเวที ดิฉันที่รู้ถึงเหตุการณ์ข้างหน้าว่าเวลาเดินไวกกว่าที่คิดในสถานการ์ณแบบนี้ ดิฉันจึงหยิบกล่องสีม่วงเตะตา ที่ถูกวางอยู่ปลายหางตาของดิฉันยื่นให้นักแสดงและบอกพวกเขาให้ใช้สิ่งนี้แทนและขึ้นเวทีเพื่อแสดงต่อไป และทุกอย่างก็ผ่านไปด้วยดีถึงวินาทีสุดท้ายของการแสดง ที่นักแสดงทุกคนได้ขึ้นมาขอบคุณทุกท่านพร้อมกัน พร้อมกล่าวคำว่า “พวกเรา ชมรมไข(WHo?) ขอบคุณค่ะ!!!” จากนั้นรอยยิ้มของพวกเราก็เบ่งบานพร้อมกันกับเสียงปรบมือที่ก้องดังขึ้นมา พาให้หัวใจของดิฉันหยุดไปชั่วขณะกับภาพขณะนั้น จนความเครียดและความกังวลที่สั่งสมมาและเพรียกบอกในหูฉันอยู่ตลอดเวลาได้ถูกเสียงปรบมือกลบจนไม่สามารถได้ยินเสียงเพรียกหาเหล่านั้นอีกต่อไป
สิ้นสุดการเดินทางกับขบวนรถไฟสายนี้
ละครเวทีเรื่อง ไข(WHO?) ตอน THE CHAM CHA
นิสิตชั้นปีที่ 2 สาขาวิชาการสื่อสารสื่อใหม่ มหาวิทยาลัยพะเยา
และในที่สุดรถไฟขบวนนี้ก็จอดเทียบท่าชานชาลา และพร้อมให้ผู้โดยสารทุกท่านที่อิ่มหนำสำราญกับเรื่องราวนี้ได้ลงแวะพักผ่อนกายและใจ สุดท้ายนี้การเดินทางไม่ได้จบลงอย่างแท้จริง จะยังคงมีเส้นทางสายใหม่ เรื่องราวบทใหม่ ให้ทุกท่านได้อ่านกันอีกอย่างแน่นอนค่ะ สำหรับครั้งนี้ ดิฉัน “เรญา” คงต้องขอตัวลาผู้โดยสารทุกท่าน แล้วพบกันในการเดินทางของพวกเราในครั้งถัดไป ขอให้ทุกท่านเพลิดเพลินค่ะ
สามารถติดตามข้อมูลข่าวสารเพิ่มเติมได้จากช่องทางดังนี้