เคล็ดการใช้เสียงเพื่อดำเนินรายการ
วิทยากร รศ. จารุณี หงส์จารุ
สำนักเครือข่ายสื่อสาธารณะ ไทยพีบีเอส จัดการฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการผู้ดำเนินรายการ (ครั้งที่ 1 )แก่เครือข่ายสื่อชุมชน ผู้ดำเนินรายการที่สนใจพัฒนาทักษะการสื่อสารขึ้นเมื่อวันที่ 17 – 20 กรกฎาคม 2557 ซึ่งมีรายละเอียดเนื้อหามากมาย พัฒนาหลักสูตรโดย อ.นลินี สีตะสุวรรณ หนึ่งในเนื้อหาที่สำคัญคือ “ลมหายใจ การใช้เสียง การสื่อสารผ่านไมโครโฟน ความหมายของเสียง และการสื่อสารด้วยเสียง” วิทยากร รศ. จารุณี หงส์จารุ เนื้อหาต่อไปนี้คือเป็นการบันทึกจากการร่วมกระบวนการ และนำมาแบ่งปันผู้สนใจเรียนรู้
เสียงมีความสำคัญอย่างไร
สังเกตุเวลาที่เราพูดออกไป เสียงคือคลื่น คลื่นที่มองไม่เห็น จับต้องไม่ได้ เพราะฉะนั้น เสียงจึงเป็นสิ่งที่พูดยากที่สุดในด้านเทคนิค เวลาเกิดปัญหาคนมักจะไม่รู้ ไม่รู้ว่าอะไร แต่ว่ารู้ว่ามันมีปัญหา
ยกตัวอย่างการชมละครเวที เวลาที่มีการแสดง แล้วคนดูเกิดรู้สึกเบื่อๆ บางคนไม่รู้หรอกว่า เกิดอะไรขึ้น แต่รู้สึกว่าเบื่อ จริงๆก็เกิดจากเสียง เป็นส่วนหนึ่งว่าทำให้คนดูลดความสนใจลงได้ เหมือนกัน ดังนั้นเวลาที่เราจะสื่อสารผ่านเสียงผ่านไมโครโฟนด้วยเสียงของเรา ถ้าเสียงของเราน่าฟังคนดูหรือคนฟังก็จะรู้สึกอยากดูอยากฟังตามไปด้วย แต่ในขณะเดียวกัน บางคนก็รู้ว่าเสียงมีความสำคัญ แต่ไม่รู้จะทำอย่างไร ก็เลยใช้วิธีเล่นกับเสียง ทำให้คนดูตื่นเต้นตลอดเวลาก็จริง แต่ดีจริงหรือ ? จริงๆไม่จำเป็นต้องทำขนาดนั้น เวลาที่เราเล่นกับเสียงมันทำให้บุคลิกหรืออะไรหลายๆอย่างเปลี่ยนไปที่ไม่ใช่ตัวเรา และกลายเป็นคนที่พยายามดึงดูความสนใจด้วยการใช้เสียงแทน
เสียงมี 4 แบบ
1. ไม่มีพลัง เบา
2. มีพลัง เบา
3. มีพลัง ดัง
4. ไม่มีพลัง ดัง
ทำอย่างไรให้เสียงดีและน่าฟัง
บางคนพูดแล้วลิ้นพันกัน ซึ่งอาจจะเกิดจากสรีระข้างใน เช่นกล้ามเนื้อข้างในบางส่วนไม่ได้ทำงานประจำที่ของมันตั้งแต่เกิด แต่ไม่ต้องตกใจ เรื่องนี้แก้ได้ แต่ต้องใช้เวลา
เสียงเป็นเอกลักษณ์ของเรา เช่น พอเรารับโทรศัพท์เพื่อน เราจะรู้เลยว่าใครโทรมา เพราะว่าเสียงบ่งบอกถึงความเป็นตัวเรา แต่พอเวลาเราเรียนฝึกเสียง หลายคนอาจเกิดคำถามว่า “นี่ใช่หรือ ?… เสียงของเราเป็นอย่างนี้หรือ?” จนเกิดความสับสนกับตัวเองว่า ถ้าหากเราฝึกเสียงแล้วมันไม่ใช่เสียงของเราทำอย่างไรดี? อันนี้แก้ได้ ถ้าเรารู้ว่ามันมีทางที่จะดีขึ้นแค่แก้ตรงนี้นิดตรงหน่อยเท่านั้น และพอเสียงดีขึ้นเรารู้สึกดี เสียงเราก็ดีขึ้น เวลาเสียงดีขึ้น เราก็รู้สึกดีขึ้น มันจะเป็นวัฏจักรแบบนี้
หลายครั้งเราไม่รู้หรอกว่าปัญหาของเราคือปัญหาด้านเสียง เราคิดว่าเสียงของเราใช้ได้อยู่แล้ว แต่เวลาที่คนฟังอาจจะรู้สึกว่าดังเกินไปหรือว่าแสบแก้วหูอันนี้คือปัญหา ลองสังเกตว่าคนที่หูตึงมักจะพูดเสียงดัง ซึ่งความดังไม่ใช่จุดสำคัญที่เราจะเอามาฝึกเรื่องเสียง แต่ว่าพลังเสียงต่างหากที่เราต้องการ
ทดลองฝึกปฏิบัติ
อาจารย์จารุณีให้แต่ละคนแนะนำตัว และพูดโดยไม่ใช้ไมโครโฟน เพื่อฟังเนื้อเสียงแบบไม่ผ่านไฟฟ้า โดยสรุปผู้เข้าร่วมอบรมมีเสียงดีอยู่แล้ว เสียงเพราะก็ยิ่งต้องทำให้เสียงของเราออกไปให้ชัดยิ่งขึ้น แต่จะทำอย่างไร?
แนวทางปรับปรุงเสียง
1. เรื่องของพลังเสียง พลังเสียงมาจากการหายใจ เราจะให้เสียงของเราที่เพราะๆ ออกไปให้คนได้ยินจริงๆ โดยการหายใจ “ลมหายใจออกของเรา คือเสียงของเรา” ดังนั้นลมหายใจเข้าจึงสำคัญ เมื่อลมหายใจเข้า เข้าไปได้อย่างเต็มที ลมหายใจออกก็จะออกไปอย่างเต็มที่และมีพลัง พลังเสียงไม่ได้แปลว่าเราต้องเสียงดัง แต่คือฟังแล้วเนื้อเสียงมันเต็ม
สาธิตการเปล่งเสียง – ออกเสียง คำว่า “ละ” แบบเบาๆ กับ คำว่า “ละ” แบบดังๆ ซึ่งถ้าออกเสียงถูกต้องไม่ว่าจะออกเสียงดังหรือเบามันจะมีเสียงสะท้อนกลับมา (ให้ลองสังเกตตัวเองดู)
2. ความชัดเจนของเสียง เพราะหากว่าเราต้องใช้เสียงผ่านสื่อ บางทีเราก็พูดชัดอยู่แล้ว แต่มันไม่ชัดเท่าที่ควร แค่มีคำไหนหลุดไป 1 คำ คนฟังก็จะฟังเพี้ยนไปเลย
เรื่องของพยัญชนะ สระทำอย่างไรให้ชัด อย่างเรามาจากคนละจังหวัด คนละที่ แน่นอนวิธีการเน้นคำจะไม่เหมือนกัน แต่ไม่สำคัญ อยู่ที่ว่าเราสามารถใช้เสียงของเราได้อย่างสบายใจไหม เพราะอย่างเวลาพูดถึงคำๆนี้มันพูดติดทุกครั้งเลย เราจะทำอย่างไรจะแก้อย่างไร วิทยากรจะเฉลยให้ผู้ร่วมอบรมได้ลองทำ
3.การวอร์มเสียง ทำได้โดยให้แต่ละคนต้องหาเซ็นเตอร์ หมายถึงจุดศูนย์กลางของเราให้ได้ เหมือนเสียงของเราเปล่งจากศูนย์กลางของเราได้แล้ว เสียงจะมีลักษณะฟังแล้วเต็ม หรือเมื่อเรารู้สึกว่าเสียงมาจากศูนย์กลางของเราแล้ว เราจะมีพลัง อีกอย่างคือเสียงเป็นตัวบอกได้ว่าข้างในตัวเราเป็นอย่างไร เรารู้สึกอย่างไร เราคิดอย่างไรกับตัวเราสามารถรู้หมดเลย หรือเสียงบอกบุคลิกของเรานั้นเอง
4. จัดวางท่าทางก่อนฝึกหายใจ เราจะต้องรู้ท่าทางของเราก่อน เนื่องจากพูดกันไว้แล้วว่า ร่างกายของเราคือตัวกำเนิดเสียง ดังนั้น ท่าทางของเราจึงเป็นสิ่งที่สำคัญมาก วิธีจัดท่าทางก่อนเริ่มฝึก คือ “ฝาเท้าห่างเท่าหัวไหล่ จับเชือกขึ้นไปมองตรงไปข้างหน้า หายใจเข้าผ่าหว่างคิ้ว” โดยผู้เข้าร่วมฯ ลุกขึ้นยืน ทำท่าทางตัวตรง หลังเป็นแผ่น ยืดตัวขึ้น สูงขึ้น แล้วค่อยๆลงมา แบบสบายๆ (ไม่ล็อคเข่า) นี้คือท่าที่ถูกต้อง จำความรู้สึกนี้ไว้ เพราะถ้าเราฝึกจนเราได้จุดโฟกัสแล้ว ต่อให้คลานไปร้องไปเราก็ทำได้ ก่อนอื่นเราต้องจำความรู้สึกนี้ให้ได้ก่อน หลังจากนั้นยกไหล่ขึ้นติดหู เอาลงแล้วออกเสียง “ซู่”
5.วิธีจัดท่าทางฝึกหายใจ ถ้าหายใจถูกต้องพลังมันจะมาเอง และเสียงมันจะดีขึ้น เริ่มจากลองก้มมาข้างหน้า แล้วหายใจเข้า (เอวจะเล็กลง) กลั้นไว้แล้วหายใจออก (เอวจะขยาย) ค่อยๆปล่อยเสียง “ซู่”แบบดังๆ ข้อสังเกต ถ้าเราหายใจสั้นๆแค่ช่วงบน จะทำให้เรารู้สึกตื่นเต้น พยายามหายใจลึกๆ คือการหายใจในลงท้อง(ช่วงเอว) แล้วเราจะรู้สึกสบายขึ้น ฝึกให้เป็นชีวิตประจำวัน
ทั้งนี้ลมต้องเข้าทางหว่างคิ้ว ลงไปจนถึงท้อง กักไว้ 4 วินาทีแล้วปล่อยออกมาให้หมด สามารถฝึกได้หลายรูปแบบ เช่นการปล่อยเป็นคำว่า “อา-อี-เอ-โอ-อู” ค่อยๆ ปล่อยทีละคำ โดยนับจังหวะเข้า 8 วินาที กักไว้ 4 วินาที แล้วปล่อยให้หมด ใน 8 วินาที นอกจากนี้ยังมีวิธีฝึกอีกแบบ คือการปล่อยเสียงลมให้ออกมาระหว่าง ฟันบน-ลิ้น-ฟันล่าง จะเป็นเสียงซ่าๆ แบบลมพัด ให้หายใจเข้า 8 วิ กักลม 4 วิ แล้วปล่อยเสียงลมออกมา (จะดังประมาณ ซื่อ) ส่วนใหญ่เวลาปล่อยออกมาเสียงจะเบา เพราะไม่มีพลัง ให้ฝึกดันเสียงออกมาให้ได้ดังที่สุดบ่อยๆ
5. การออกเสียง การออกเสียงนั้น เกิดจากลม และลมที่ดีต้องมาจากหน้าท้อง ไม่ใช่ปอด การหายใจ ต้องหายใจให้เข้าถึงท้อง แล้วค่อยๆ ปล่อยออกมาทางจมูกหรือปาก การหายใจสั้น-ยาว มีผลต่อพลังของเสียงทั้งหมด ดังนั้นต้องฝึกหายใจให้เป็น โดยเฉพาะ การหายใจเข้า เพราะเสียงที่เราพูด คือเสียงของลมหายใจออก หากเข้าได้มาก การปล่อยออกไปก็ยิ่งมีพลังมาก ดังนั้น ต้องฝึกหายใจให้เป็น “หายใจให้ทั่วท้อง” และการพูดออกไป ต้องไม่ใช่การพยายามให้เสียงไปข้างหน้า แต่ให้เสียงอยู่ด้านบนศีรษะ ศูนย์กลางอยู่ที่ระหว่างคิ้ว เสียงจะมีพลังมากกว่าพยายามตะโกนออกไป
การเปล่งเสียงสระ ลองออกเสียงคำว่า “บา โบ บรา โบ บรา โบ บะ” ถ้าใครพูดไม่ต่อเนื่อง แสดงว่าการออกเสียงยังติดขัดอยู่บ้าง และออกเสียงคำว่า “ละๆๆๆ โละๆๆ” เพื่อต้องการให้ได้ยินเสียงตัวเอง ต่อไปลองออกเสียงคำว่า “โฮะๆ” เวลาที่เราเปล่งเสียงไม่จำเป็นที่ต้องผลักเสียงออกไปข้างหน้า หรือไม่ต้องพยายามทำเสียงดัง
“เสียงของเราเป็นตัวสะท้อนให้เห็นว่าเราได้ยินอย่างไร เวลาที่เราได้ยินเสียงของเรา แล้วเราไม่ชอบ เราก็จะเปลี่ยนเป็นอีกแบบนึง จนกระทั่งสิ่งที่เปล่งออกมาเป็นเสียงที่เราเลือกแล้ว เราคิดว่าเป็นเสียงที่หล่อและเพราะที่สุดแล้วล่ะ เพราะฉะนั้นเสียงของเราคือสิ่งที่เราได้ยิน หูของเราจึงสำคัญมาก เวลาที่ฟังต้องได้ยินเสียงของเราจริงๆ และเสียงของคนอื่นด้วย”
การเปล่งเสียงพยัญชนะ การออกเสียงพยัญชนะสำคัญมาก ชัดไม่ชัดคนฟังรู้เรื่องหรือไม่อยู่ที่พยัญชนะลิ้นเป็นส่วนสำคัญในการออกเสียงและอักขระ หลายคำเราพูดผิดๆ แบบไม่รู้ตัว ตัวอักษรที่มักเป็นปัญหาบ่อยๆ แก่ไขได้ แต่ต้องวอร์มลิ้นกันก่อนด้วยการพูด: ลา ลา ลา
– “ส” สาว สวย เสียง ใส ใส่ เสื้อ สีส้ม (คำว่า “ส” ให้ลิ้นอยู่หลังฟันเฉยๆ โดยลิ้น ต้องอยู่ต่ำกว่าฟันล่าง จึงจะเป็นการออกเสียงที่ถูก ปกติ เราจะพูด ส เสือ แบบลิ้นอยู่ระหว่างฟันล่างและบน ต้องปรับ และฝึก โดยพูดคำว่า ลา ให้ลิ้นอยู่ล่างฝันล่าง แล้วค่อยๆ ปล่อยลมออกมาก่อนเปล่งเสียง แรกๆ ลิ้นจะเกร็ง ต้องพยายามฝึกบ่อยๆ เพื่อผ่อนคลายลิ้นให้ได้
– “ช” ช่ำชอง เชี่ยวชาญ โชกโชน (ออกเสียงเหมือนช้างย่ำพื้น เวลาพูด ต้องไม่มีหรือ มีลม แต่ออกมาน้อยที่สุด)
– “ห” หิ้ง (เสียงออกจมูก) หา เหา ใส่ หัว ส่วนใหญ่จะออกเสียงคำว่า “หัว” ไม่ชัด โดยวิธีการฝึกให้พูด คำว่าหัวจะเป็นปัญหา เพราะมักขึ้นจมูก ลองพูดคำว่า “โอ้โห หัว” กับ “หัว” ธรรมดา เสียงจะแตกต่างกัน “โอ้โห หัว” ห หีบในประโยคนี้ คือ การออกเสียงที่ถูกต้อง
– “ร” โรงเรียน ประปา ตระตรา (กระดกลิ้นให้ยาวขึ้นจะช่วยได้ บริเวณที่กระดกคือด้านข้างส่วนปลายลิ้น หากใครรู้สึกกระดกตรงโคนลิ้น จะรัวได้ไม่นาน ฝึกโดบพูดคำว่า “ประ” “ ตระ” แรกๆ ให้ค่อยๆ กระดกรัวลิ้นไป อาจได้แค่ 1-2 ครั้ง แต่พอฝึกนานๆ เข้าจะรัวได้ยาวๆ เอง
– “ท” ทิด ธง ถาม ทาง ท่องเที่ยว ทุกทิศทั่วไทย เวลาพูด ลิ้นจะอยู่ตำแหน่งเดียวกับตัวสะกดแม่กด คือ 3 ตัวนี้ลิ้นจะอยู่ตำแหน่งเดียวกัน คือหลังลิ้นแตะหลังฟันบน “ท-ด-ล”
6. การใช้เสียงผ่านไมโครโฟน
– การจับไมให้ห่างพอดี พอดี ไม่ต้องไปสนใจมัน ถ้าเกิดเราฝึกเสียงมาดีแล้ว เสียงดีอยู่แล้ว ไมค์อยู่ตรงไหนมันก็รับได้หมด
– การที่ใช้ปลายนิ้วจับ มันจะทำให้เสียงออกมาได้ดีด้วย
– พวกเราเริ่มฝึกตัวเองด้วยการฟังเสียงที่เป็นอะคูสติก พยายามที่จะไม่ใช้เสียงดังจนเกินไป เพื่อรักษาหูของเรา พวกเราซึ่งต้องใช้เสียงเยอะ ฉะนั้น “หู” จึงสำคัญมาก “หู” ของเรามันคือตัวบอกตัวกำหนดว่าเสียงของเราจะเป็นยังไง ถ้าหูของเราบอกว่ายังดังไม่พอ เราก็จะพูดดังมากขึ้น หรือเริ่มตะแบงเพราะเราไม่ได้ยินเสียงของตัวเอง
7. กรณีเสียงเหน่อ สาเหตุหนึ่ง เกิดจากสำเนียงพื้นถิ่นของเรา หรือสอง มาจากครอบครัวที่บ้านเราคุยกันสำเนียงแบบนี้ วิธีแก้ไข คือให้ฟังคนที่ไม่เหน่อ แล้วเรียนแบบเสียงเขา อันนี้ก็เป็นส่วนที่ช่วยได้
8. การรักษาเสียง หลายคนเกิดอาการเสียงยังไม่ตื่น เช่น ตอนเช้า เสียงแหบ ตอนเย็น เสียงดี หรือตอนเช้า เสียงดี ตอนกลางคืนเสียงแหบ ซึ่งปัญหาของเสียงทั้งคู่ ทางแก้ก็คือการวอร์มร่างกาย, เตรียมเสียงตัวเองไว้ให้พร้อม เรื่องของเสียงเกี่ยวข้องกับร่างกายด้วย เหมือนเปียโน 1 ตัวมันเปล่งเสียงออกมาได้ เราก็เป็นเครื่องดนตรีเหมือนกันเราสามารถร้องเพลงได้ ฉะนั้นเราก็ต้องดูแลเครื่องดนตรีของเรา ตัวของเราให้ดีด้วย
สิ่งต้องห้ามทำ 1.อย่าตะโกน การตะโกนทำให้เส้นเสียงทำงานหนัก เสียงอาจแตก แหบพร่า
เหมือนคนเป็นหวัดได้
2.อย่ากระซิบ เพราะจะทำให้การออกเสียงไม่เต็มที่ ลมจะตีขึ้นไปยังเพดานปาก และทำให้เส้น
เสียงอักเสบได้
3.อย่ากินน้ำแข็ง, ของเย็น หรือน้ำอุ่น ใช้น้ำอุณหภูมิห้องดีที่สุด 4.อย่าอมลูกอม, บุหรี่, แอลกอฮอล์ 5. นอนให้พอ , ดื่มน้ำให้พอ 6. อาหาร(มัน,ทอด ,เค็มจัด เปรี้ยวจัด หวานจัด)
กรณีเสียงแหบแห้ง บางคนรักษาตัวเองด้วยการจิบน้ำเยอะๆ แต่ก็ยังทำให้คอเราแห้ง น้ำอุ่นก็ยังไม่ช่วย หรือบางคนดื่มน้ำหวาน เสียงก็ยังไม่มาอีก หลายๆ คนเข้าใจผิด เรื่อง น้ำมะนาวผสมน้ำผึ้ง หรือ น้ำอุ่น ว่าจะช่วยรักษาเสียงได้ แท้จริงสิ่งเหล่านี้กลับทำให้เสียงยิ่งแย่ลงต่างหาก เพราะมะนาวมีรสเปรี้ยว เป็นกรด ทำใก้กัดเส้นเสียง ส่วนน้ำผึ้งนั้นหวาน ทำให้คอแหบ เนื่องจากน้ำตาลเกาะเส้นเสียง ส่วนน้ำอุ่น จะทำให้คอแห้ง เสียงแหบ เพราะฉะนั้น น้ำที่ดีที่สุด สำหรับการรักษาเสียงคือ “น้ำอุณหภูมิปกติ น้ำอุณหภูมิห้อง” หรือ “น้ำเปล่า” เพราะอุณหภูมิปกติของอากาศรอบตัวคือ 25 องศา ใกล้เคียงกับอุณหภูมิร่างกาย ไม่ร้อนไป ไม่เย็นไป ดีที่สุด