เครือข่ายวิชาการเพื่อการพัฒนาพื้นที่ริมคลองเสนอทางออก ‘คนอยู่ร่วมกับคลอง’ แนะโครงการไล่รื้อริมคลองแก้ปัญหาน้ำท่วมของ กทม. แค่ย้ายชุมชนขึ้นฝั่งลดกีดขวางทางระบายน้ำ
เฟซบุ๊ก: Khon-Kool-Klong
16 ต.ค. 58 เครือข่ายวิชาการเพื่อการพัฒนาพื้นที่ริมคลอง เปิดเผยถึงกรณีเรื่องการไล่รื้อริมคลองลาดพร้าวเพื่อก่อสร้างเขื่อนคอนกรีตเสริมเหล็ก (คสล.) และประตูระบายน้ำ ของกรุงเทพมหานคร เพื่อป้องกันการเกิดน้ำท่วมในระยะยาว โดยเริ่มจากคลองลาดพร้าวนั้น เบื้องต้นได้รับการยืนยันว่า กรุงเทพมหานครจะดำเนินการไล่รื้ออย่างแน่นอนเนื่องจากงบประมาณได้รับการอนุมัติมาแล้ว แต่ยังไม่มีกำหนดการแน่ชัดว่าจะเริ่มไล่รื้อจากจุดไหน ซึ่งจากการสำรวจพบว่าเฉพาะแค่ในรัศมีที่ใกล้กลับระบบขนส่งมวลชน อาทิ สถานีรถไฟฟ้า BTS มีครัวเรือนต้องย้ายออก 763 หลังคาเรือน
เครือข่ายวิชาการเพื่อการพัฒนาพื้นที่ริมคลองมีข้อเสนอต่อการจัดการพื้นที่ริมคลองโดยไม่จำเป็นต้องย้ายคนออกจากที่อยู่อาศัยเดิมคือ ให้ยกชุมชนริมคลองขึ้นริมฝั่ง โดยย้ายบ้านเรือนที่ปัจจุบันสร้างล้ำริมคลองออก ถอยร่นขึ้นมาตั้งที่อยู่อาศัยใหม่บนพื้นที่ริมคลอง เพื่อไม่ให้กีดขวางเส้นทางระบายน้ำ
อีกทั้งคลองสามารถเป็นได้ทั้งทางสัญจร ทางระบายน้ำ และเป็นพื้นที่ที่มูลค่าทางเศรษฐกิจต่อสังคมเมือง ด้วยการแบ่งให้มีพื้นที่สาธารณะ โดยเบื้องต้นเครือข่ายวิชาการฯ ได้ทำการศึกษาพื้นที่ๆ เหมาะสมทั้งสายคลองลาดพร้าวเอาไว้แล้ว
สำหรับกรณีการก่อสร้างเขื่อนและประตูระบายน้ำของกรุงเทพมหานคร เพื่อป้องกันการเกิดน้ำท่วมในระยะยาว ที่คลองลาดพร้าว คลองบางบัว คลองถนน คลองสอง และคลองบางซื่อ เครือข่ายวิชาการฯ ได้ศึกษาทางออกต่อการสร้างเขื่อนริมคลองว่า ไม่จำเป็นต้องใช้วัสดุก่อสร้างอย่างคอนกรีต เนื่องจากใช้งบประมาณในการก่อสร้างเป็นจำนวนมาก
เบื้องต้นกรุงเทพฯ ตั้งงบประมาณการก่อสร้างในสัญญาจ้างประมาณ 2,400 ล้านบาท ซึ่งการสร้างเขื่อนริมคลองนั้นสามารถใช้วัสดุทดแทนประเภทอื่นที่เป็นมิตรต่อระบบนิเวศและยังใช้งบประมาณน้อยกว่า เช่น การใช้ geo bag หรือ ถุงนิเวศ ซึ่งจะนำมาเรียงเป็นชั้นๆ เพื่อป้องกันน้ำกัดเซาะริมตลิ่ง