ปี 2565 เป็นปีที่มีจำนวนผู้สูงอายุเพิ่มขึ้นกว่า 12 ล้านคนหรือคิดเป็น 18% ของจำนวนประชากรทั้งหมด โดยมีช่วงอายุ 60-69 ปีมากที่สุด จากข้อมูลสำนักงานสถิติแห่งชาติเมื่อปี 2564 พบว่าอัตราการเกิดของประชาชนลดลงอย่างต่อเนื่องเมื่อเทียบกับอัตราการเสียชีวิต ทำให้เห็นว่าคนสูงอายุจะมีจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ
กรุงเทพมหานครและปริมณฑล ที่เป็นศูนย์รวมการพัฒนาและเทคโนโลยีก้าวหน้าต่างๆ และกลุ่มคนหลากหลายอาศัยอยู่โดยเฉพาะผู้สูงอายุที่มีเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ด้วยปัจจัยที่ว่าเมืองสามารถหางานทำได้ มีสถานที่ เช่น ที่อยู่อาศัย โรงพยาบาล สถานที่สาธารณะที่เข้าถึงง่ายซึ่งช่วยให้ผู้สูงอายุมีคุณภาพชีวิตที่ดี แต่หากเมืองมีสภาพแวดล้อมที่ไม่เอื้อกับการใช้ชีวิต หรือแม้แต่บ้านที่เป็นที่อยู่อาศัยแล้วจะเป็นอย่างไร
ผู้สูงอายุมีมากขึ้นแต่เมืองไม่พร้อมให้อยู่
เมื่อเข้าสู่ช่วงสูงวัยการใช้ชีวิตแต่ละวันจึงต้องมีความระมัดระวังกว่าปกติ เพราะหากเกิดอุบัติครั้งหนึ่งอาจจะส่งผลกระทบในระยะยาว หรือจนถึงขั้นเสียชีวิตเลยได้เช่นกัน ซึ่งในแต่ละปีพบอุบัติเหตุผู้สูงอายุหกล้มเป็นจำนวนมาก เฉลี่ยประมาณ 3 คนต่อวัน และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องโดยเฉพาะกลุ่มอายุ 80 ปีขึ้นไป
สาเหตุการพลัดตกหกล้มมีหลายปัจจัยด้วยกัน ทั้งด้านร่างกายที่เปลี่ยนแปลงไป เช่น การมอง การเดิน การรับรู้และการเจ็บป่วยที่ตามมา รวมถึงสภาพแวดล้อมที่อยู่อาศัย สถานที่ต่างๆ เช่น พื้นหรือราวจับบันได ไม่เอื้อให้ผู้สูงอายุทำกิจกรรมต่างๆ ได้อย่างสะดวกและปลอดภัย
สำรวจจุดเสี่ยง หกล้ม ที่คุณหรือคนในครอบครัวเจอเมื่อตอนอยู่ที่บ้าน
รัฐมีโครงการปรับปรุงบ้านและสิ่งอำนวยความสะดวกแก่ผู้สูงอายุ ที่มีรายได้น้อยหรือที่อยู่อาศัยไม่มั่นคง จะได้รับเงินอุดหนุนซ่อมแซมบ้านทั้งแบบไม่ปรับโครงสร้างหลัง(ประตู,พื้น)ละไม่เกิน 22,500 บาท และซ่อมแซมบ้านแบบปรับโครงสร้างหลังละไม่เกิน 40,000 บาท (ข้อมูลจากกรมกิจการผู้สูงอายุ) แต่เกณฑ์ในการรับเงินสนับสนุนมีข้อจำกัดและหลายขั้นตอน บ้านพักคนชรา จึงเป็นอีกตัวเลือกของใครๆ หลายคนมองอยู่
บ้านพักคนชรา ปลายทางของวัยเกษียณจริงหรือ ?
บ้านพักคนชรา เป็นอีกทางเลือกหนึ่งในแผนการเกษียณอายุของใครหลายคน เพราะมีระบบการดูแลความปลอดภัยอย่างใกล้ชิด มีอยู่หลายแห่งทั้งในกรุงเทพฯและปริมณฑล เช่น บ้านบางแค สว่างคนิเวศ (สภากาชาดไทย) ซึ่งเป็นของรัฐ ส่วนของเอกชนจากข้อมูลกรมพัฒนาธุรกิจการค้าพบว่ามีการเติบโตอย่างมากในช่วงปี 2564 มีจำนวนมากกว่า 493 แห่ง ให้เลือกใช้เข้าบริการ ซึ่งค่าใช้จ่ายจะแตกต่างกันไปตามความต้องการดูแลผู้สูงอายุ
ยกตัวอย่างบ้านบางแคจะเริ่มต้นที่ 1,500 บาทต่อเดือนขึ้นไป และเอกชนจะเริ่มต้นที่ 20,000 บาทต่อเดือนขึ้นไปตามขนาดห้องและบริการที่เลือก แม้ค่าใช้จ่ายบ้านพักคนชราของรัฐจะน้อยกว่าของเอกชน แต่เมื่อมีจำนวนผู้สูงอายุที่เพิ่มมากขึ้น จำนวนบ้านพักคนชราของรัฐอาจไม่เพียงพอรองรับได้ทุกคน
ในขณะเดียวกันบ้านพักเอกชนที่มีราคาสูงเทียบกับรายได้ของคนแล้ว อาจจะไม่ใช่คนทุกกลุ่มที่สามารถเข้าถึงบริการนี้ได้ หากไม่ได้มีการวางแผนหรือออมเงินมาก่อน จึงทำให้หลายครอบครัวหันมาพึ่งพาตนเองอย่างการปรับเปลี่ยนบ้านให้เหมาะกับผู้สูงวัย
ในช่วงที่ผ่านมาจึงมีหลายหน่วยงานที่พยายามแก้โจทย์เหล่านี้ด้วยการทำโครงต่างๆ โดยหนึ่งในนั้นคือ คู่มือบ้านใจดี บ้านที่ออกแบบเพื่อทุกคน (Universal Design Home) ของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ที่เสนอทางเลือกวิธีการปรับสภาพแวดล้อมบ้านให้เหมาะและปลอดภัยกับผู้สูงอายุ ที่ทุกคนสามารถปฏิบัติตามกันได้
ปรับบ้านยังไงให้เหมาะกับผู้สูงอายุ
ตัวอย่างการปรับบ้านสภาพแวดล้อม เช่น ห้องนอน เป็นที่ที่ผู้สูงอายุใช้ชีวิตเป็นส่วนใหญ่จึงควรจะอยู่ชั้นล่างและอยู่ใกล้กับห้องน้ำเพราะผู้สูงอายุมักเข้าห้องน้ำบ่อย มีเตียงขนาดพอดี ไฟฟ้าส่องสว่างเพียงพอโดยเฉพาะพื้นที่อันตรายอย่างห้องน้ำ บันได หรือ ห้องน้ำ หลักๆ คือพื้นห้องน้ำต้องมีระดับเสมอกันและไม่ลื่น โถส้วมมีราวจับเพื่อพยุงตัว อ่างล้างหน้าไม่ควรสูงเกินไป เป็นต้น
การปรับสภาพแวดล้อมบ้านจึงเป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่หน่วยงานเสนอให้คนทั่วไปปฏิบัติ อย่างไรก็ตามวิธีนี้ก็มาพร้อมกับค่าใช้จ่าย จึงไม่ใช่คนทุกกลุ่มจะทำตามและมีบ้านที่ดีเหมือนอย่างในคู่มือได้ นอกจากวิธีการปรับบ้านข้างต้นแล้ว สามารถเสนอไอเดียหรือแนวทางอื่นๆ เพิ่มเติมกันได้ที่เว็บไซต์ yourpriorities
ที่มา
คู่มือบ้านใจดีบ้านที่ออกแบบเพื่อทุกคน