7 สถานการณ์สิ่งแวดล้อมต้องจับตา ปี 2566

7 สถานการณ์สิ่งแวดล้อมต้องจับตา ปี 2566

ภาพรวม 7 สถานการณ์สิ่งแวดล้อมไทย จาก ปี 2565 สู่ 2566 ในมุมมองเครือข่ายภาคประชาชนใน  7 ประเด็นและข้อเสนอที่ต้องจับตา 

ในปี 2565 สถานการณ์สิ่งแวดล้อมไทยมีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นหลายประเด็น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการจัดการทรัพยากรธรรมชาติที่ยังมีข้อพิพาทระหว่างภาครัฐและประชาชน, การเดินหน้าพัฒนาเศรษฐกิจในพื้นที่ EEC, ความมั่นคงทางอาหารจากทรัพยากรทางทะเลที่ลดน้อยลงทุกวัน ฯลฯ  

ทีมข่าวพลเมืองได้รวบรวม 7 สถานการณ์สิ่งแวดล้อมไทย จาก ปี 2565 สู่ 2566 จากมุมมองเครือข่ายภาคประชาชน 7 คน ที่ทำงานคลุกคลีในประเด็น พร้อมข้อเสนอที่ต้องจับตา เพื่อเตรียมตั้งหลักรับมือสิ่งที่จะเกิดขึ้นในอนาคตอันใกล้ ประกอบด้วย 

  • สมนึก จงมีวศิน นักวิชาการจากกลุ่ม EEC Watch : สถานการณ์ระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC)
  • ณัฐพร อาจหาญ กป.อพช.ภาคอีสาน : ผลกระทบจากเหมืองแร่
  • ธนากร อัฏฐ์ประดิษฐ์ ​นักวิชาการอิสระ : สิทธิชุมชนชาติพันธุ์และชนเผ่าพื้นเมือง
  • วิโชคศักดิ์ รณรงค์ไพรี สมาพันธ์ชาวประมงพื้นบ้านแห่งประเทศไทย : วิกฤตทรัพยากรประมงทะเล
  • ณัฐวุฒิ อุปปะ กลุ่มภาคีเซฟบางกลอย : สิทธิชุมชนที่ถูกละเมิดสิทธิ
  • สุภาภรณ์ มาลัยลอย ผู้จัดการมูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม (EnLaw) : นโยบายเรื่องพลังงานและการจัดการขยะ
  • ส.รัตนมณี พลกล้า ทนายความมูลนิธิศูนย์ข้อมูลชุมชน : การประกอบธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน

-1-

เศรษฐกิจ EEC เน้นอุตสาหกรรม ไร้แนวทางประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม

EEC เปลี่ยนผังเมือง เพิ่มพื้นที่อุตสาหกรรม 66% พื้นที่เกษตรกรรมลดลง 10%  พบกลุ่มทุนใหญ่จากจีนร่วมลงทุนมากที่สุด นำเข้าแรงงานต่างชาติ จ้างงานคนไทยน้อย แนะถอดบทเรียน EEC ครบวาระ 5 ปี ก่อนเดินหน้าสู่ปี 2566 ควรมีการประเมินผลลกระทบสิ่งแวดล้อมอย่างจริงจัง 

สมนึก จงมีวศิน นักวิชาการจากกลุ่ม EEC Watch

ภาพรวม เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC)

สมนึก จงมีวศิน นักวิชาการจากกลุ่ม EEC Watch กล่าวว่าในช่วงโควิด – 19 จนถึงช่วงที่โควิด-19 เริ่มคลายตัว พบว่าการพัฒนาโปรเจกต์ต่าง ๆ เกิดขึ้นจำนวนมาก ซึ่งปัจจุบันนี้มี 4-5โปรเจกต์ได้เริ่มดำเนินการแล้ว และพบว่ากลุ่มที่เข้ามาร่วมลงทุนเป็นกลุ่มทุนใหญ่ที่มาจากจีนมาร่วมกับทุนไทย ซึ่งการเข้ามาค่อนข้างสร้างปัญหาในมิติการนำเข้าแรงงานต่างชาติ เช่น จีน กัมพูชา และพม่า ไม่ว่าจะระดับวิศวกร หรือระดับโฟร์แมน จึงทำให้ไม่ค่อยมีแรงงานไทยเข้าไปทำงานมากนัก   

นอกจากนี้ ยังมีการประกาศเขตพัฒนาที่เรียกว่า Special Economic Zone หรือ SEZ คือ บริเวณพื้นที่ที่คณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ (กนพ.) กำหนดให้เป็นเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษชายแดน ปัจจุบันประกาศไปทั้งหมด 35 เขตแล้ว ยิ่งประกาศมากเท่าไหร่ ชาวบ้านก็เสียที่ดินมากขึ้นเท่านั้น เพราะที่ดินที่ชาวบ้านเช่าเป็นพื้นที่ของเอกชนเป็นส่วนใหญ่ หากปล่อยขายเพื่อสร้างเขตนิคมอุตสาหกรรมจะมีราคาสูงมาก 

ดังนั้น ผลคือเอกชนส่วนใหญ่ยอมขายที่ดินให้ทุนใหญ่ ชาวบ้านจึงไม่มีที่อยู่อาศัย ก็ต้องออกมาจากพื้นที่ ซึ่งชาวบ้านส่วนใหญ่ที่ต้องออกจากพื้นที่เป็นพวกทำมาหากินเกี่ยวกับเกษตรกรรม 

ส่วนเรื่องของผังเมือง สมนึก เล่าว่า จากแผนการใช้ประโยชน์ที่ดินในภาพรวมในช่วง 20 ปี (พ.ศ.2560-2580) ทำให้ตอนนี้มีพื้นที่อุตสาหกรรมเพิ่มขึ้นประมาณ 66% พื้นที่ที่เป็นเมืองใหม่รองรับสำหรับคนที่จะมาอยู่ในเขตอุตสาหกรรมรวมถึงทุนต่างชาติด้วยเป็น 33% แล้วก็ไปลดพื้นที่เกษตรกรรมประมาณ 10% ถ้ารวมกับที่มีการซื้อที่ดิน เพื่อให้เป็นอุตสาหกรรมด้วยตอนนี้ประมาณ 20% ขึ้นไป พูดง่าย ๆ ประเทศกำลังสูญเสียนพื้นที่ความมั่นคงทางอาหารทั้งบกและในน้ำ ซึ่งในน้ำหมายถึงการถมทะเลลงไป 

สถานการณ์น่าจับตาปี 2566

สมนึก เล่าถึงกรณี แรงงานข้ามชาติที่จะเข้ามามีบทบาทมากกว่าแรงงานไทย ซึ่งกฎหมายแรงงานไทยไม่ได้ไปคุ้มครอง เนื่องจากแรงงานต่างชาติเป็น Outsource (จัดจ้างคนภายนอก) เข้ามาทำงานให้โรงงานอีกทีหนึ่ง ซึ่งนี่เป็นความท้าทายที่สื่อสาธารณะจะต้องไปถอดบทเรียนออกมาว่า ตกลงเเล้ว EEC ที่มีประกาศออกมาตั้งแต่ปี 2560 จนถึงสิ้นปี 2565 ทำให้เกิดอะไรขึ้นบ้าง อะไรที่เป็นข้อดีข้อเสีย อะไรที่เป็นข้อห่วงกังวล อะไรที่เป็นโอกาสเเละอุปสรรค เพื่อจะนำมาพัฒนาปรับปรุงนโยบาย

พ.ร.บ. เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก พ.ศ. 2561 (พ.ร.บ. EEC ) ปีหน้าก็จะครบ 5 ปี พ.ร.บ.นี้สร้างปัญหาหลายปัญหาขึ้นมาเหมือนกัน เช่น เปิดให้มีการใช้พื้นที่ ส.ป.ก. สำหรับเขตส่งเสริม EEC ได้ หรือเปิดให้ใช้พื้นที่ราชพัสดุสามารถนำมาเข้าเป็นเขตส่งเสริม EEC ได้ ซึ่งนี่เป็นอันตรายมาก ลำพังประชาชนที่อยู่ในเขตเหล่านี้เองก็ไม่ได้มีสิทธิประโยชน์อะไร ต้องกลับไปดูว่า การไล่ที่ ทำให้ที่ดินกลับไปสู่ประชาชนหรือกลับไปสู่มือนายทุนที่เข้ามาทำเรื่อง EEC 

ข้อเสนอเชิงนโยบาย

สมนึก ระบุว่า ปีหน้าจะครบ 5 ปี ในการประกาศใช้กฎหมาย EEC และคิดว่ามกราคม ปี 2566 ควรเป็นจุดเริ่มต้นที่มีการประเมินผลกระทบโครงการพัฒนาต่าง ๆ ในพื้นที่ EEC อีกทั้งเรื่องของเมกะโปรเจกต์ มีเพียงแค่โครงการเดียวที่มองว่ามันเป็นธรรมกับการเยียวยาและมีโอกาสได้ดูแล คือ โครงการท่าเรือแหลมฉบัง เพราะส่วนใหญ่โครงการถมทะเลมาบตาพุดเฟส 3 ชาวบ้านจะไม่ได้รับการเยียวยาที่เป็นธรรมเลย แล้วก็ในเขต EEC เมื่อต้นปี มกราคม 2565 ก็มีน้ำมันรั่วที่ระยอง หลาย ๆ อาชีพที่ได้รับผลกระทบจากน้ำมันรั่ว ก็ยังไม่ได้รับเงินค่าเยียวยาเลย สิ่งเหล่านี้ต้องนำมาประเมินผลกระทบ 

“ผมมีโครงการโครงการหนึ่ง ขอแหล่งทุนไว้แล้ว มีนักกฎหมายต่าง ๆ เข้ามาช่วยกันประเมินผลกระทบทางกฎหมาย EEC ในเชิงวิชาการ และประเมินจากข้อมูลชุมชนในพื้นที่ด้วย ตอนนี้อยู่ในระหว่างการวิจัยและเชื่อว่าผลที่ออกมาจะพบว่า พ.ร.บ. EEC ต้องมีการแก้ไข นโยบาย EEC อาจจะต้องลดระยะเวลาลงมา เพราะว่าไทยยังขาดฐานทรัพยากรอย่างหนักทั้งที่ดินและน้ำ เพราะตอนนี้น้ำในพื้นที่ EEC ไม่พอ ก็ต้องไปเอาจากพื้นที่ข้างเคียง ซึ่งมันจะเป็นความเดือดร้อนเพิ่มตามไปอีกของพื้นที่รอบ ๆ EEC ดังนั้น เรื่องนี้ต้องนำมาประเมินผลกระทบด้วย” สมนึก กล่าว 

-2- 

แผนแม่บทแร่ฉบับใหม่ ลดขั้นตอนการอนุญาตทำเหมือง ห่วงทิ้งผลกระทบให้ประชาชน

สถานการณ์เหมืองแร่ 2565 หนักหน่วงทั้งเหนือ อีสาน ใต้ ชวนจับตาแผนแม่บทแร่ฉบับใหม่ เริ่มใช้ 1 ม.ค. 66 ห่วงลดขั้นตอนการอนุญาตทำเหมือง ทิ้งผลกระทบไว้ให้ประชาชน เสนอทบทวนนโยบายและกฎหมายย้ำต้องมีการกระจายอำนาจการตัดสินใจสู่คนในพื้นที่

ณัฐพร อาจหาญ คณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอก (กป.อพช.) ภาคอีสาน

ภาพรวมสถานการณ์เหมืองแร่

ณัฐพร อาจหาญ  คณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอก (กป.อพช.) ภาคอีสาน เล่าว่า ปัญหาเหมืองแร่ในปัจจุบันนี้ค่อนข้างอยู่ในช่วงที่ท้าทาย เพราะว่าในหลายพื้นที่ ไม่ว่าจะเป็นภาคเหนือเองก็มีการรุกคืบเข้ามาเพื่อเตรียมที่จะขอประทานบัตรหวังเปิดเหมืองแร่ใหม่ เช่น ที่อมก๋อย, แม่ลาน้อย ส่วนภาคอีสานก็เป็นภาพใหม่ของการกลับมาของเหมืองแร่โปแตช ไม่ว่าจะเป็นเหมืองแร่โปแตชอุดร หรือว่าเหมืองแร่ที่มีการให้ประทานบัตรไปแล้วอย่างเหมืองแร่โปแตชที่โคราช ส่วนเหมืองแร่ที่อื่น ๆ ยังมีปัญหาเรื้อรังอยู่และยังไม่มีการแก้ไขอย่างเป็นรูปธรรม และยังไม่มีกระบวนการฟื้นฟูในพื้นที่ที่ดำเนินการทำเหมืองแล้วไปส่งผลกระทบกับพื้นที่ชุมชน 

ส่วนภาคใต้ ภาพรวมคือเกิดปัญหาจากการขอประทานบัตรเพื่อจะทำเหมืองหินอุตสาหกรรมในภูเขาหลายลูก และทางภาคกลางก็มีบางส่วนที่มีการกลับมาใหม่ของเหมืองแร่ อย่างเหมืองแร่ทรายแก้วในจังหวัดปราจีนบุรี 

สถานการณ์เหมืองแร่ในปีที่ผ่านมา ถือเป็นความท้าทายของเครือข่ายแร่ในประเทศไทย พ.ร.บ. แร่ พ.ศ. 2560 ซึ่งเป็น พ.ร.บ.ที่มีการออกข้อกำหนดที่ต้องทำประเมินศักยภาพแร่และมีแผนแม่บทแร่ แต่เราก็พบข้อจำกัดว่า ในเชิงปฏิบัติเจ้าหน้าที่ไม่ได้ดำเนินการณ์ตามกฎหมาย ยังมีข้อจำกัดที่ยังไม่สามารถดำเนินการพิจารณาประเมินศักยภาพพื้นที่ว่า พื้นที่เหล่านั้นมีความเหมาะสมในการที่จะทำเหมืองแร่หรือเปล่า ซึ่งก็เป็นข้อถกเถียงที่พบว่า ยังไม่ได้มีการประเมินศักยภาพพื้นที่แต่ทำไมมีการเดินหน้าให้ประทานบัตร เพราะการไม่มีประเมินศักยภาพพื้นที่ย่อมส่งผลกระทบต่อชุมชน ทำให้โครงการมีปัญหากับชุมชนค่อนข้างมาก 

“เราพบว่ากลไกของอำนาจหลักทุกวันนี้ เมื่อไม่มีคำว่าสิทธิชุมชนในรัฐธรรมนูญ แล้วประชาชนเป็นเพียงส่วนหนึ่งของกระบวนการเท่านั้น แต่ไม่มีอำนาจตัดสินใจในการพิจารณาว่าจะใช้ทรัพยากรในชุมชนไปทำเหมืองแร่ไหม ประชาชนไม่มีอำนาจในการตัดสินใจ เป็นเพียงแค่ผู้มีส่วนร่วมให้ความคิดเห็น สุดท้ายมันก็จะกลายเป็นแค่องค์ประกอบ อันนี้ก็เป็นปัญหาสำคัญที่ประชาชนถูกละเลยจากการถูกอนุมัติ อนุญาต จากเรื่องเหมืองแร่ในประเทศไทยที่เราพบว่ากำลังเผชิญปัญหาเหล่านี้อยู่” ณัฐพร ระบุ

สถานการณ์น่าจับตาปี 2566

ณัฐพร กล่าวว่า ในปีหน้าสถานการณ์เหมืองแร่ก็ยังเผชิญข้อท้าทายเรื่องแผนแม่บทในการจัดการแร่ฉบับใหม่ ฉบับที่ 2 ซึ่งจะเริ่มใช้ในวันที่ 1 มกราคม 2566 ซึ่งจะส่งผลกระทบกับหลายพื้นที่ ในส่วนกระบวนการอนุญาตจะเดินหน้าเร็วขึ้น ไม่มีการชะลอและรับฟังเสียงของประชาชน เราคิดว่าเป็นเรื่องสำคัญ ถ้าหากยังเดินหน้าอยู่ จะนำไปสู่การสร้างผลกระทบและปัญหาตามมาอีกหลายพื้นที่ 

ปัญหาเหล่านี้มันเกิดขึ้นจากการที่รัฐมีการกำหนดแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ซึ่งการกำหนดแบบนี้ เป็นการวางกลไกในการที่จะใช้ทรัพยากร แน่นอนว่าการกำหนดแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ข้อจำกัดคือ ประชาชนส่วนใหญ่ยังไม่ได้มีโอกาสกำหนดแผนนั้นด้วย และในความเป็นจริงมีน้อยมากที่ภาคประชาชนหรือคนธรรมดาทั่วไปจะเข้าถึงและมีโอกาสในการกำหนด มันทำให้แผนที่ออกมาไม่ได้สอดคล้องกับความต้องของประชาชนในพื้นที่ ถือเป็นอุปสรรคสำคัญ

ในอนาคตหากยังไม่มีการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างอำนาจ โครงสร้างการจัดการทรัพยากร จะทำให้ประชาชนเป็นผู้ที่ต้องมาแบกรับผลกระทบ แล้วการที่รัฐรวมศูนย์อำนาจการตัดสินใจในส่วนกลางและเป็นคนกำหนดแผนในการพัฒนา ก็เป็นอุปสรรคที่สำคัญ เพราะไม่สอดคล้องกับความต้องการของชุมชน

“เราคิดว่ามันต้องมีการกระจายอำนาจการตัดสินใจไปสู่พื้นที่ ไปสู่ชุมชนแล้วก็ทำให้ประชาชนเป็นผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสีย เข้ามามีส่วนร่วมในการกำหนดการใช้ทรัพยากรอย่างแท้จริง มันไม่ใช่แค่การกำหนดให้ประชาชนมีส่วนร่วมแค่เวทีรับฟังความคิดเห็น หรือว่าเป็นการรับฟังความคิดเห็นแค่ทางออนไลน์ ซึ่งมันไม่สะท้อนความเป็นจริง สุดท้ายแล้วมันนำไปสู่การเกิดปัญหาเหมือนเดิม เราคิดว่ารัฐต้องสร้างกลไกที่เป็นธรรมกับทุกส่วนทั้งภาคเอกชน และประชาชนด้วย” ณัฐพร กล่าว

ข้อเสนอเชิงนโยบาย

ณัฐพร กล่าวว่า ปัญหาเหมืองแร่เป็นปัญหาปรากฏการณ์ที่มีความขัดแย้งกัน ประชาชนได้รับผลกระทบจากการทำเหมืองและการเริ่มดำเนินการของรัฐ มันสะท้อนถึงแนวนโยบายที่มีปัญหา ดังนั้น มันจำเป็นที่ต้องกลับไปทบทวนนโยบายและกฎหมายหลายส่วน ที่ต้องนำไปสู่การปฏิบัติ เช่น แผนแม่บทการบริหารจัดการแร่ ซึ่งจะประกาศใช้ต้นปีหน้า ควรที่จะต้องหยุดเพื่อทบทวนก่อน เนื่องจากจะนำไปสู่การสร้างปัญหาต่อเนื่อง 

ทั้งนี้ อยากให้สื่อสาธารณะอย่างไทยพีบีเอส ได้ร่วมกันจับตาสถานการณ์ รวมทั้งสะท้อนปัญหาจากกฎหมายและนโยบายเพื่อนำไปสู่การแก้ไขที่ต้นทางปัญหา เพราะตัวกฎหมาย นโยบายนั่นเองที่นำไปสู่ปัญหาในระดับพื้นที่ที่เราเห็นปรากฏชัดอยู่ เพื่อทำให้การแก้ไขปัญหามีความยั่งยืนมากขึ้น 

การรายงานสถานการณ์มันช่วยให้ประชาชนที่ได้รับผลกระทบมีพื้นที่การส่งเสียง แต่ในปัจจุบันมันไม่เพียงพอ ประชาชนรู้สึกว่าสิ่งที่จะช่วยแก้ไขปัญหาได้คือสื่อต้องพูดถึงต้นตอของปัญหา ต้นทางและข้อเสนอในการแก้ไข ซึ่งมันมีหลายส่วนที่เสนอแนวทางการแก้ไขอยู่ไว้เยอะพอสมควรในระดับนโยบาย แต่การแก้เชิงกฎหมายจะทำให้เกิดการแก้อย่างเป็นรูปธรรมและครอบคลุมปัญหา

-3- 

สิทธิกลุ่มชาติพันธุ์และชนเผ่าพื้นเมืองยังวิกฤต ไร้ความมั่นคงด้านที่อยู่อาศัย รัฐยังเดินหน้าเพิ่มพื้นที่ป่า 40% 

10 ปี สถานการณ์สิทธิกลุ่มชาติพันธุ์และชนเผ่าพื้นเมือง ความขัดแย้งยังเข้มข้น กรณีพิพาทเกิดขึ้นต่อเนื่อง เหตุรัฐควบคุมฐานทรัพยากรเข้มข้นขึ้น ทั้งเดินหน้าเพิ่มพื้นที้ป่า 40% อ้างวิกฤตทางสิ่งแวดล้อมสากล แต่ยังมีหวังการเลือกตั้งครั้งใหม่ แก้ปมความเหลื่อมล้ำ

ธนากร อัฏฐ์ประดิษฐ์ ​นักวิชาการอิสระด้านสิทธิกลุ่มชาติพันธุ์

ภาพรวมสถานการณ์ปี 2565

ธนากร อัฏฐ์ประดิษฐ์ ​นักวิชาการอิสระด้านสิทธิกลุ่มชาติพันธุ์ กล่าวว่า ในระยะ 1 ทศวรรษที่ผ่านมา เรื่องสิทธิของกลุ่มชาติพันธุ์และชนเผ่าพื้นเมือง นี่คือสิทธิที่หมายรวมถึงเรื่องอำนาจของกลุ่มหรือชุมชนที่สัมพันธ์กับฐานทรัพยากรธรรมชาติของประเทศไทยด้วย ซึ่งเป็นความเคลื่อนไหวที่น่าสนใจมาก เพราะมีการเดิมพันอนาคตของคนเหล่านี้สูงมาก เนื่องจากช่วง 10 ปีที่ผ่านมา สังคมไทยมีการเปลี่ยนแปลงด้านนโยบายที่ดินและทรัพยากรธรรมชาติที่สำคัญ

มีกฎหมายฉบับใหม่หลายฉบับเกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็น พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ, พ.ร.บ.ป่าสงวน  หรือแม้แต่กลไกการจัดการที่ดินทรัพยากรของประเทศในนามของคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ ได้ออกนโยบายป่าไม้แห่งชาติโดยมีเป้าหมายเพิ่มพื้นที่ป่า 40% นโยบายเหล่านี้จะกระทบต่อสิทธิชุมชนในแง่มิติของการรับรองในตัวบทกฎหมายรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันที่อยู่ในระดับกฎหมายต่าง ๆ  ส่งผลกระทบต่อชีวิต ต่ออำนาจในการกำหนดวิถีชีวิตของกลุ่มคนเหล่านี้ที่มีลักษณะเฉพาะตัวมาก 

มักพบว่า ชุมชนชาติพันธุ์ ชุมชนชนเผ่าพื้นเมืองในพื้นที่ป่าไม้หรือท้องทะเลก็ตาม พวกเขาเหล่านี้ยังอยู่ภายใต้สถานการณ์ที่ไม่ได้ปกติสุข มีกรณีพิพาทเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องเสมอมา และความขัดแย้งมีความเข้มข้นขึ้นในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา เพราะว่ารัฐได้ขยายขอบอำนาจและเปลี่ยนแปลงการควบคุมจัดการฐานทรัพยากรอย่างเข้มข้นมากขึ้น ผลกระทบมักตกอยู่กับชุมชนชาติพันธุ์หรือกลุ่มชุมชนท้องถิ่นที่มีชีวิตสัมพันธ์อยู่กับทรัพยากรธรรมชาติในพื้นที่

“ภายใต้คุณภาพชีวิตที่มันก็ยังไม่ถึงขั้นปกติเลยของพวกเขา แต่กลับถูกเงื่อนไขใหม่จากอำนาจของรัฐบวกเขามา ผมคิดว่ามันทำให้สถานการณ์ของพี่น้องชาติพันธุ์อยู่ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อที่สำคัญอย่างมาก” ธนากร กล่าว 

อีกประเด็นที่ต้องจับตาคือ กระแสโลกหรือเทรนด์ด้านวิกฤตทางสิ่งแวดล้อม อย่างเรื่อง Global Crisis เรื่องของมลพิษต่าง ๆ ซึ่งเป็นปัญหาสิ่งแวดล้อมระดับสากล ซึ่งวิกฤตสิ่งแวดล้อมทำให้ฐานทรัพยากรธรรมชาติหรือพื้นที่ป่า พื้นที่ท้องทะเล ตกเป็นเป้าหมายในการใช้เพื่อตอบสนองกลไกที่สังคมโลกมุ่งหวังว่าอยากให้เป็นกลไกช่วยเหลือโลกใบนี้ ช่วยเหลือให้อุณหภูมิโลกลดลง 

กลไกเหล่านี้มันไปตกอยู่ในพื้นที่ของฐานทรัพยากรธรรมชาติ ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีชุมชนดั้งเดิม ท้องถิ่นที่ชนเผ่าพื้นเมืองทั่วโลกอาศัยอยู่ และยังมีกรณีพิพาทกันมากมาย เพราะฉะนั้น จึงเป็นคำถามสำคัญว่า อำนาจรัฐที่ขยายตัวมากขึ้น การจัดการทรัพยากรที่เพิ่มอำนาจการรวมศูนย์มากขึ้น บวกกับสถานการณ์กระแสโลกด้านสิ่งแวดล้อมที่ผนวกเข้ามา จะจัดการอย่างไรต่อ 

“สิ่งที่ชัดเจนในปัจจุบัน กรณีที่เกิดขึ้นจริงในสังคมไทย คือรัฐมีความพยายายามที่จะแย่งยึดที่ดินจากชนเผ่าพื้นเมืองและชุมชนชาติพันธุ์ เพื่อมุ่งตอบสนองต่อการปลูกป่า โดยอ้างเหตุผลการดูดซับกักเก็บคาร์บอน เพื่อตอบสนองเป้าหมายสิ่งแวดล้อมในระดับสากล” ธนากร กล่าว 

สถานการณ์น่าจับตาปี 2566

ธนากร กล่าวว่า ไทยกำลังจะมีการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง โดยเฉพาะทางการเมืองในระบบรัฐสภา หากมีการเลือกตั้งใหม่ ก็จะมีการเปลี่ยนตัวรัฐบาลใหม่ ซึ่งการเปลี่ยนแปลงอำนาจบริหารผ่านรัฐบาล ถือเป็นการเดิมพันหรือว่าชี้ชะตาการใช้นโยบายเกี่ยวกับฐานทรัพยากรธรรมชาติหรือว่าสิ่งแวดล้อมของสังคมไทยว่า ฝ่ายบริหารที่ถืออำนาจเข้ามาจะใช้อำนาจเพื่อตอบสนองการแก้ไขปัญที่ซ้ำซากของชุมชนชาติพันธุ์ที่ยังมีข้อพิพาทกับรัฐเรื่องทรัพยากรที่ดินอย่างไร หรือจะมุ่งแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำที่สะสมมายาวนานแต่ไม่ถูกแก้ไขอย่างไร

ข้อเสนอเชิงนโยบาย

ธนากร เสนอว่า ต้องสร้างสังคมที่มีความเป็นประชาธิปไตยมากกว่านี้ ตั้งแต่กลไกอำนาจ เราจำเป็นที่ต้องมีพื้นที่ความเป็นประชาธิปไตยมากกว่านี้ 

“รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันมันมีความจำเป็นที่ต้องปรับแก้ เพื่อให้ประชาชนมีความเป็นประชาธิปไตยและชอบธรรมมากกว่านี้ เพื่อจะทำให้กลไกการบังคับใช้บัญญัติในรัฐธรรมนูญที่กระจายตัวอยู่ในตัวกฎหมายต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง ให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมกำหนดนโยบายการพัฒนาเพื่อตอบสนองต่อคุณภาพชีวิตหรือปัญหาจริง ๆ แล้วลดปัญหาความเหลื่อมล้ำที่เป็นปัญหาของสังคม” ธนากร กล่าว

 

– 4-

ทรัพยากรทะเลลด ปลาเล็กถูกจับป้อนอุตสาหกรรม ประมงหวั่นกระทบความมั่นคงทางอาหาร 

การจับปลาในทะเลไทยปี 2564 ลดลงฮวบเหลือ 1 ล้านตันเศษต่อปี จากเฉลี่ยปีละ 2 ล้านตัน ส่วนตัวเลขปีนี้ยังต้องลุ้น ทั้งพบปัญหาการจับปลาเล็กป้อนอุตสาหกรรมอาหารสัตว์ หวั่นหากไม่ควบคุมการจับปลาเล็กอาจกระทบความมั่นคงทางอาหาร แนะรัฐผู้นำสร้างกติกาในการใช้ประโยชน์ทรัพยากรร่วมกัน

วิโชคศักดิ์ รณรงค์ไพรี สมาพันธ์ชาวประมงพื้นบ้านแห่งประเทศไทย

ภาพรวมทรัพยากรประมงในท้องทะเลไทย

วิโชคศักดิ์ รณรงค์ไพรี สมาพันธ์ชาวประมงพื้นบ้านแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ปกติคนไทยบริโภคอาหารทะเลประมาณ 30 กิโลกรัมต่อคนต่อปี แต่ปัจจุบันการบริโภคเหลือเพียง 20 กิโลกรัมต่อคนต่อปี ถ้าเทียบกับในประเทศกันเอง ไม่นับส่งออก 

ทรัพยากรประมงในปัจจุบัน ลดลงเยอะมาก เนื่องจากทั้งสังคมส่วนใหญ่ ยังเข้าไม่ถึงการทำประมงอย่างแท้จริง อาหารทะเลสามารถเป็นได้มากกว่าทรัพยากรประมง สามารถที่จะเป็นอาหารรองรับคนจนในชทบท คนเหนือ อีสาน ใต้ หรือคนทั่วโลก อาหารทะเลเป็นแหล่งโปรตีนที่สำคัญพอ ๆ กับนม 

“ไทยมีนมโรงเรียน แต่ปลาเป็นทรัพยากรที่มีอยู่ในทะเลไทยมีเยอะมาก เยอะกว่าฟาร์มโคนม แต่ทำไมไม่มีปลาโรงเรียน สังเกตไหม”

ในทางวิชาการ หากมีทรัพยากทางทะเลที่อุดมสมบูรณ์จะทำให้คนไทย ทั้งคนรวย คนจนสามารถเข้าถึงอาหารทะเล ซึ่งเป็นแหล่งโปรตีนที่สำคัญ น่าจะถึง 50 กิโลกรัมต่อคนต่อปี ตอบโจทย์ความหิวโหย ตอบโจทย์ปากท้อง เมื่อไหร่ก็ตามที่เรามีทรัพยากรตรงนี้อุดมสมบูรณ์มากขึ้นก้จะทำให้คนอดยากน้อยลง 

“ทิศทางอนาคต อาหารที่มาจากทะเล อาหารที่มาจากสัตว์น้ำ ไม่ว่าจะเป็นกุ้ง หอย ปู ปลา ยังมีความสำคัญต่อมนุษยชาติ รวมถึงคนไทย เราโชคดีที่อยู่ในประเทศที่มีทะเลเป็นพื้นที่ที่กว้างขวาง เกือบครึ่งประเทศ เรามีทะเลที่กว้างใหญ่ไพศาลทั้งอ่าวไทย และอันดามัน แต่เราไม่เคยคิดที่จะใช้ปลาในทะเลให้เป็นประโยชน์และก็เกิดความสมดุล” วิโชคศักดิ์ กล่าว 

สิ่งที่สำคัญจำเป็นต้องทำความเข้าใจร่วมกัน คือ เรื่องทะเล เรื่องอาหาร เรื่องทรัพยากรประมง ดังนั้น การสื่อสารต้องนำเสนอว่า มันไม่ใช่แค่เรื่องของชาวประมงที่เป็นแค่ผู้เล่นฝ่ายเดียวเท่านั้น เพราะไม่ว่าจะสื่อออนไลน์หรือสื่อกระแสหลัก มักจะมีอารมณ์ความรู้สึกที่ผ่านผู้เล่นระหว่างคนสองฝ่ายที่ทะเลาะกันเท่านั้น ซึ่งนี่คือปัญหาการนำเสนอข่าวที่ยังไม่ทำให้คนส่วนใหญ่เข้าใจเรื่องอาหารจากการประมง 

สถานการณ์น่าจับตาปี 2566

วิโชคศักดิ์ ระบุว่า สถานการณ์ปัจจุบัน มนุษย์เป็นกลุ่มที่ดึงทรัพยากรปลาตัวเล็กมาใช้มากที่สุด ซึ่งถือเป็นสัตว์น้ำที่เป็นห่วงโซ่อาหารชั้นต่ำสุดในทะเล แต่เราไปจับเอาตัวเล็กมากที่สุดมาใช้ประโยชน์มากที่สุด ในปริมาณแสนกว่าตัน/ปี ทั้งที่ควรจะจับตัวที่มันโตเต็มวัยเอามาทาน ตัวเล็กต้องปล่อยให้ไปโตก่อน 

ทะเลทั้งประเทศ ผลการจับปลาในทะเลลดลง จาก 2 ล้านตันต่อปี เมื่อ ปี 2564 เหลือ 1 ล้านตันเศษต่อปี และปีนี้ยังต้องลุ้นกันอีก ปีหน้าก็ลุ้นกันต่อไปว่าแหล่งอาหารทะเลจะลดลงกว่าเดิมไหม

“การที่สัตว์น้ำค่อย ๆ ลดลง แน่นอนมันเกิดจากหลายปัจจัย แต่ปัจจัยที่เราเห็นด้วยตาเปล่าและชัด คือ เกิดจากค่านิยมการบริโภคของเราเอง ความไม่รู้ของเราเอง หรือความไม่รู้ของเราก็ไปส่งเสริมให้คนจับ เขาก็ไปเร่งจับ คล้าย ๆ ไปสมประโยชน์กัน ซึ่งมันเป็นเรื่องยากและท้าทายสำหรับคนไทยทั้งหมด ผมว่านะ เราควรจะทำความเข้าใจเรื่องนี้ให้มากกว่าเดิม” วิโชคศักดิ์ กล่าว 

วิโชคศักดิ์ เล่าว่า ที่สำคัญที่สุด สิ่งที่เกิดขึ้นในช่วง 2-3 ปี และในปีหน้าจะเกิดอีกและน่าจะรุนแรงมากขึ้นก็คือ ผลจับปลาจำนวนสัดส่วนสูงสุดไม่ใช่จับเพื่อมนุษย์กิน แต่จับเพื่อการอุตสาหกรรม เช่น ปลาเล็กมาป่นเป็นอาหารสัตว์ แล้วสัตว์ที่กินอาหารปลาที่ป่นก็เอามาเป็นอาหารคนอีกที มันเป็นการเพิ่มวงจรการมาของอาหาร แทนที่จะจับสัตว์น้ำจากทะเลแล้วเอามาเลี้ยงเราโดยตรงเลย พอวงจรเพิ่มเราก็จ่ายเพิ่ม แทนที่จะจ่ายให้หลาย ๆ คนก็จ่ายให้คนเดียว

อัตราแลกในการเลี้ยงปลาสูงมากนะครับ เช่น ปลากระพง 7 ต่อ 1 นะ คือ เราจับในทะเลมา 7 กิโลกรัม เอามาเลี้ยงปลากระพงเพื่อให้ได้ 1 กิโลกรัม แล้วเอา 1 กิโลกรัม มาขายเรา แทนที่จะจับ 7 กิโลกรับ มาขายเรา ไม่ดีกว่าเหรอ เราจะได้มีกินตั้ง 7 กิโลกรัม แทนที่จะจับ 7 กิโลกรัม มาแลกปลา 1 กิโลกรัมทำไม คือ มันมีตัวอย่างพวกนี้เยอะมาก เพียงแต่ว่าคนไม่รับรู้ เพราะเราเพ่งความสนใจไปที่คนจับ เช่น ประมงพาณิชย์มาทะเลาะกับประมงพื้นบ้าน ส่วนใหญ่คนจะคิดแบบนี้ไปอย่างเดียวเท่านั้น

ข้อเสนอเชิงนโยบาย

วิโชคศักดิ์ อธิบายว่า อยากเสนอเรื่องการประมงพื้นบ้านทางทะเลถึงคน 4 กลุ่ม คือ 1.ผู้จับปลา ขอให้เปลี่ยนวิธีการจับปลาตัวอ่อนตัวเล็ก เพราะตอนนี้ไทยจับเอาตัวเล็กตัวอ่อนมาเกินไป หากเปลี่ยนตรงนี้จะทำให้การประมงไปได้ไกล 

2.ตลาด ช่วยพิจารณาเรื่องการซื้อขายปลา ไม่ใช่ประมงจับอะไรมาแม่ค้าพ่อค้าอยากจะขายก็ขาย จะสักแต่จะขายเพื่อให้ได้ตังค์ โดยไม่สนใจความถูกต้อง ผู้ขายต้องช่วยกันรับผิดชอบเรื่องนี้ 

3. คนกิน อยากให้เลือกบริโภค เพราะว่าผู้บริโภคเหมือนคนสุดท้ายที่เป็นคนตัดสินใจที่สำคัญ ถ้ากินโดยไม่เลือก เท่ากับทำลายอนาคตทางอาหารของตัวเอง 

4.รัฐบาล มีฐานะเหมือนเป็นผู้นำของผู้จับปลา ตลาด และผู้กิน รัฐบาลสำคัญในแง่ผู้นำทางความคิด ผู้นำในการจัดการ การจัดระเบียบ การออกกติกาต่าง ๆ ไม่ใช่ปล่อยให้ทุกอย่างเป็นไปตามธรรมชาติโดยไม่มีกติกาเลย มันก็เละ เพราะเราไม่ได้อยู่บนโลกนี้คนเดียว เรายังมีสัตว์โลก มีเพื่อนสังคมด้วย เราต้องมีกติกาในการใช้ประโยชน์ทรัพยากรร่วมกัน ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของบทบาทภาครัฐ 

– 5 –

สิทธิชุมชนถูกจำกัดโดยกฎหมาย รัฐผลักคนในชุมชนดั้งเดิมให้กลายเป็นผู้บุกรุก

ภาพรวมสิทธิชุมชนซบเซาต่อเนื่อง ผลพวงจากกฎหมายกว่า 500 ฉบับยุค สนช. ชุมชนยังถูกจำกัดสิทธิ์การเข้าถึงที่ดินและฐานทรัพยากร หวังแก้ปัญหารายกฎหมายแค่เฉพาะหน้า แต่ธงใหญ่รัฐธรรมนูญปี 2560 ต้องถูกแก้ไข เพื่อให้สิทธิชุมชนถูกรับรองในกฎหมายแม่ 

ณัฐวุฒิ อุปปะ กลุ่มภาคีเซฟบางกลอย

ภาพรวมของประเด็นสิทธิชุมชน ปี 2565

ณัฐวุฒิ อุปปะ กลุ่มภาคีเซฟบางกลอย กล่าวว่า นับตั้งแต่การเปลี่ยนแปลงทางกฎหมาย โดยเฉพาะหลังปี 2557 กฎหมายที่ออกในช่วง สนช. ประมาณ 500 กว่าฉบับ ได้ส่งผลกระทบต่อการทำงานด้านสิทธิชุมชนในหลากหลายรูปแบบ เช่น พ.ร.บ.การเปลี่ยนผังเมือง, พ.ร.บ. EEC และการออกกฎหมายที่เกี่ยวกับกฎหมายการอนุรักษ์, กฎหมายอุทยานแห่งชาติ, ป่าชุมชน เป็นต้น มันก็ก่อเกิดผลกระทบต่าง ๆ ไปสู่ชุมชน 

อย่างตัวกฎหมายอุทยานฯ ชุมชนถูกจำกัดสิทธิ์จากการเป็นเจ้าของที่ดินให้กลายเป็นผู้ขออนุญาตในการใช้พื้นที่ของรัฐ โดยเฉพาะ พ.ร.บ.อุทยานฯ ฉบับเดียว จากการสำรวจแล้วปรากฏว่ามีชุมชนทับซ้อนอยู่ในเขตอนุรักษ์ถึง 4,192 ชุมชน ซึ่งแต่เดิมประชาชนก็มีการตั้งคำถามกันเรื่องที่ว่า ป่ารุกคน หรือคนรุกป่ากันแน่ แต่ พ.ร.บ. ฉบับนี้ กลับไปเขียนนิยามให้เลยว่าชุมชนใดเข้าสู่การสำรวจก็เท่ากับการยอมรับโดยปริยายว่าเป็นผู้บุกรุก และเข้าสู่ระเบียบขั้นตอนขออนุญาต ซึ่งนี่คือการพลิกหน้าประวัติศาสตร์หนึ่งว่า เป็นการผลักคนที่เป็นชุมชนดั้งเดิมให้กลายเป็นผู้บุกรุกไป 

เรื่องการหาอยู่หากิน สังคมไทยเป็นพหุวัฒนธรรม ทั้งทำไร่หมุนเวียน การทำวิถีชีวิตที่หลากหลาย แต่กฎหมายกลับบีบให้ทำเกษตรเฉพาะรูปแบบ ไปกำหนดพื้นที่ที่ไม่สอดคล้องกับวิถีวัฒนธรรม รวมถึงสิ่งต่าง ๆ ต้องอยู่ภายใต้การอนุรักษ์ การอนุญาต อย่างชาวประมงก็เป็นอีกกลุ่มที่ได้รับผลกระทบ คือปลาอยู่ในทะเล แต่จะไปขีดเส้นทะเลไม่ได้ว่า ช่วงระบบนิเวศน์นี้หรือช่วงลมนี้ หาปลาตรงนี้ ช่วงมรสุมนี้ หาไม่ได้ ซึ่งการออกกฎหมายลักษณะนี้จะส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตชุมชน

นอกจากเรื่องสิ่งแวดล้อมแล้ว กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับแนวทางการพัฒนา อย่างโรงไฟฟ้าที่ต่ำกว่า 10 เมกะวัตต์ ก็ผุดขึ้นมาโดยตลอด โดยที่กฎหมายลดขั้นตอนต่าง ๆ เพื่อเอื้อให้โรงงานไฟฟ้าจัดตั้งได้ จะเห็นว่าโรงไฟฟ้าได้เกิดขึ้นในแทบจะทุกชุมชน ซึ่งขาดกระบวนการการมีส่วนร่วม หรืออย่างเรื่องการให้สัมปทานเหมืองแร่ ถ้าทำแล้วสอดคล้องกับยุทธศาสตร์เพื่อการดำเนินธุรกิจ ก็สามารถดำเนินการได้ง่ายขึ้น ทั้ง ๆ ที่ผลกระทบที่เคยเกิดขึ้นยังไม่ได้ถูกแก้ไข แต่การออกกฎหมายของรัฐก็นำมาสู่การลดขั้นตอน การให้สัมปทานเหมืองแร่มากขึ้น 

หลาย ๆ ประเด็นที่ไปละเมิดสิทธิชุมชน เกิดจากกฎหมายที่เอื้อให้กับทุน และมองมิติการพัฒนามิติเดียว แต่ไม่ได้คำนึงถึงสิทธิชุมชนและวิถีชีวิต 

“การสื่อสารประเด็นสำคัญที่ทำให้สังคมได้เห็นมิติรอบด้าน ไม่ได้มองเห็นว่า ชุมชนออกมาคัดค้านนโยบายการพัฒนา ไม่งั้นวาทกรรม โง่ จน เจ็บ ของชุมชนก็ยังคงอยู่ เมื่อออกมาเรียกร้องสิทธิเมื่อไหร่ ก็จะถูกตราหน้าว่าเป็นคนขัดขวางการพัฒนา ซึ่งเราไม่อยากให้เกิดภาพแบบนั้น ตอนนี้จึงมุ่งสู่การรวบรวมข้อมูลให้เห็นข้อมูลรอบด้าน เพื่อหวังให้สาธารณะได้รับทราบปัญหาของชาวบ้านที่พยายามจะส่งเสียงเรียกร้องถึงพรรคการเมืองในการปรับแก้นโยบายในการเลือกตั้งครั้งต่อไปด้วย” ณัฐวุฒิ กล่าว

สถานการณ์น่าจับตาปี 2566

ณัฐวุฒิ กล่าวว่า เรื่องของการออกกฎหมายที่ประชาชนไม่ได้มีส่วนร่วม มันส่งผลกระทบต่อชุมชน จึงต้องการเสนอกับหน่วยงานที่ต้องแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าก่อน แต่ธงใหญ่คือ ต้องแก้ที่ต้นตอ สิ่งหนึ่งที่เครือช่ายประชาชนต้องไปให้ถึงคือ รัฐธรรมนูญปี 2560 ต้องถูกแก้ เพราะสิทธิชุมชนถูกระบุเป็นหน้าที่ของรัฐ มันส่งผลกระทบถึงกฎหมายฉบับอื่น ๆ ที่เมื่อกฎหมายใหญ่ไม่รับรองสิทธิชุมชน กฎหมายย่อย ๆ ที่ออกมาก็ส่งผลให้ชุมชนได้รับผลกระทบ ไม่ให้ได้รับการรับรองสิทธิที่ควรจะเป็น 

ข้อเสนอเชิงนโยบาย

ณัฐวุฒิ ระบุว่า หลังรัฐออกนโยบายทวงคืนผืนป่า จะเห็นภาพของการตัดฟัน ยึดพื้นที่ชุมชน เกิดขึ้นเยอะมาก ประชาชนโดนคดีไม่ต่ำกว่า 46,000 คดี รวมถึงคดีที่เกิดแล้วไม่พบผู้กระทำผิดมี 1-2 หมื่นคดี ซึ่งคดีแห้ง เป็นคดีที่ไปตรวจจับไม่เจอคนบุกรุก แต่ถ้าชาวบ้านไปแสดงตัวก็โดนจับ จะเห็นได้ว่าการดำเนินนโยบายที่รัฐบาลบอกว่า ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง นโยบายทวงคืนผืนป่าเป็นนโยบายที่ชัดเจนว่าเกิดอะไรขึ้น 

พื้นที่ของชุมชนกว่า 4,192 ชุมชน ชาวบ้านถูกทำให้เป็นผู้บุกรุก ให้เป็นผู้ทำผิดกฎหมาย ทั้ง ๆ ที่กระบวนการในการสำรวจหรือพิสูจน์สิทธิ์ ไม่ได้เกิดขึ้นอย่างมีส่วนร่วมเลย แม้ชาวบ้านพิสูจน์แล้วว่าอยู่มาก่อน แต่ก็ถูกกฎหมายบอกว่าเมื่อถูกประกาศเป็นป่าอนุรักษ์ ชาวบ้านก็คือคนทำผิด อันนี้เป็นสิ่งที่ไม่ควรเกิดขึ้น ต้องมีการแก้ไขตัวบทกฎหมาย

ความย้อนแย้งอีกประการ คือ ในไทย กว่า 30 ล้านคนยังเข้าไม่ถึงที่ดิน รวมถึงคนที่เข้าถึงที่ดินก็ยังไม่เข้าถึงสิทธิ์ แต่รัฐบาลกลับพยายามผลักดันการขายที่ดินให้คนต่างชาติ มันสะท้อนว่า ความจริงใจในการจัดการนโยบายที่ดิน ยังเป็นปัญหาในสังคมไทยที่ต้องผลักดันในการที่จะกำหนดนโยบาย และสื่อสารถึงพี่น้องประชาชนในการเลือกพรรคการเมืองที่จะต้องมีจุดยืนในการแก้ไขปัญหานี้ 

– 6 –

เครือข่ายสิ่งแวดล้อมดัน กฎหมาย PRTR เพื่อเป้าหมายการมีชีวิตในสิ่งแวดล้อมที่ดี

EnLaw ชี้เป้านโยบายพลังงานทางเลือกหนุน โรงไฟฟ้าขยะ-โรงไฟฟ้าชีวมวล ที่กลายเป็นการกระจายปัญหาสู่ชุมชน เผยปี 2566 ต้องจับตาปัญหาฝุ่น PM2.5 เตรียมดันต่อกฎหมาย PRTR หวังกำกับแหล่งกำเนิดมลพิษอย่างมีประสิทธิภาพ 

สุภาภรณ์ มาลัยลอย ผู้จัดการมูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม (EnLaw)

ภาพรวมของสถานการณ์ด้านสิ่งแวดล้อมปี 2565

สุภาภรณ์ มาลัยลอย ผู้จัดการมูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม (EnLaw) กล่าวว่า นโยบายการบริหารจัดการพลังงานที่รัฐพยายามพูดถึงเป็นพลังงานทางเลือก ซึ่งปัจจุบันมี 2 ส่วนที่สำคัญ คือ 1.เรื่องโรงไฟฟ้าขยะ หรือ Roadmap การจัดการขยะ กับ 2.โรงไฟฟ้าชีวมวล ซึ่งสองส่วนนี้ถูกผลักดันเชิงนโยบายให้กระจายสู่ชุมชน

หลักฐานสำคัญที่คิดว่าเป็นปัญหาใหญ่ คือ การใช้นโยบายและกฎหมายเพื่อเอื้อให้กับธุรกิจโรงไฟฟ้าขยะ กทม.ในพื้นที่กลางชุมชน แต่ว่ามาตรการด้านสิ่งแวดล้อมถูกลดทอนลง อย่างเช่น คำสั่งที่ 4/2559 ที่บอกว่า การจัดการเกี่ยวกับขยะ ที่เป็นเรื่องฝังกลบขยะ หรือว่าโรงไฟฟ้าขยะไม่ต้องดูผังเมือง หรือกิจการเกี่ยวกับพลังงาน โรงไฟฟ้า ไม่ต้องดูผังเมือง หมายถึงว่า พื้นที่กลางชุมชนที่เคยเป็นสีเขียวตามผังเมืองหรือว่าเป็นพื้นที่สีชมพูที่เคยเขียนห้ามกิจการโรงไฟฟ้าหรือกิจการเกี่ยวกับขยะไว้ หลุมฝั่งกลบขยะ ก็สามารถสร้างได้ 

สิ่งเหล่านี้เป็นข้อห่วงกังวลว่า การเปลี่ยนพื้นที่ทางการเกษตร การเปลี่ยนพื้นที่ของชุมชนให้กลุ่มหรือธุรกิจที่เกี่ยวกับเรื่องพลังงานเข้าไปแทนที่ มันเป็นกิจการที่มีความเสี่ยงในด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ ดังนั้น การที่ยังมีคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 4/2559 บังคับใช้อยู่ ประกอบกับโรงไฟฟ้าขยะมีประกาศจากกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติฯ ที่บอกว่า โรงไฟฟ้าทุกขนาด ไม่ต้องทำ EIA อันนี้เป็นมาตรฐานทางด้านกฎหมายและนโยบายที่เราคิดว่ามันคือการเปิดพื้นที่หรือว่าเอื้อให้กับธุรกิจเหล่านี้ โดยลดทอนมาตรการด้านสิ่งแวดล้อม 

ไม่ปฏิเสธว่ามันต้องมีการบริหารจัดการขยะหรือว่าโรงไฟฟ้าชีวมวล แต่ว่ามันควรจะอยู่ในพื้นที่ที่เหมาะสม มีมาตรการด้านสิ่งแวดล้อมที่เป็นหลักประกันว่า ชุมชนจะไม่ได้รับผลกระทบจากกิจการเหล่านี้ อันนี้ก็คือส่วนสำคัญที่จับตามองอยู่ 

สถานการณ์น่าจับตาปี 2566

สุภาภรณ์ ระบุว่า สถานการณ์สิ่งแวดล้อมปีหน้าที่น่าจับตามอง คือ สถานการณ์วิกฤตสภาพภูมิอากาศ มันคือวิกฤตของโลก อย่างภาคเหนือ หรือคนกรุงเทพฯ ก็ถูกละเมิดสิทธิ์รายฤดูกาลจากฝุ่น PM2.5

เรื่องฝุ่นกับมาตรการตรวจสอบเพื่อดูว่ามลพิษมาจากแหล่งกำเนิดไหน อันนี้ก็เป็นสิ่งทีเราคิดว่าต้องจับตา  ทาง EnLaw  พยายามจับตา ผลักดัน เรื่องกฎหมาย PRTR คือ การเปิดเผยข้อมูลการปล่อยมลพิษ เราคิดว่า เรื่องนี้เป็นส่วนสำคัญ เพราะไทยพัฒนาอุตสาหกรรมมานานแต่ไม่มีเครื่องมือหรือว่าไม่มีมาตรการทางกฎหมายที่จะไปตรวจสอบหรือว่ากำกับแหล่งกำเนิดมลพิษที่มีประสิทธิภาพ 

ดังนั้น ไม่ว่าธุกิจที่รับผิดชอบมลพิษจะทำดีขนาดไหน แต่ถ้าไม่มีกลไกกำกับเรื่องแหล่งกำเนิดหรือว่า ธุรกิจที่ไม่รับผิดชอบ มันก็จะทำให้ธุรกิจทั้งหมดถูกมองว่าเป็นผู้ก่อมลพิษทั้งหมด เพราะฉะนั้น เครื่องมืออย่าง PRTR คือกฎหมายการเปิดเผยข้อมูลการปลดปล่อยมลพิษ มันจะช่วยทั้งในเชิงธุรกิจสำหรับกลุ่มธุรกิจที่รับผิดชอบต่อสังคมด้วย ช่วยรัฐในการที่กำกับควบคุมแหล่งกำเนิดมลพิษได้ตรงจุดและช่วยประชาชนให้อยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ดีได้ด้วย

ในปีหน้าทาง EnLaw และเครือข่ายด้านสิ่งแวดล้อมจะผลักดันขับเคลื่อน รวบรวมรายชื่อภาคประชาชนในการเสนอร่างกฎหมาย PRTR ขึ้นมา ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งที่ทำควบคู่กับ Roadmap การจัดการขยะ ซึ่งมันก็คือส่วนหนึ่งของเรื่องการตรวจสอบกฎหมาย หรือคำสั่งของหัวหน้า คสช. ที่ยังคงอยู่และเป็นกลไกที่เปิดทาง หรือว่าเป็นการลดทอนมาตรฐานด้านสิ่งแวดล้อม เป็นสื่งที่เราต้องจับตาดู

และอีกส่วนหนึ่ง คือ การผลักดันร่วมกับภาคประชาชนเรื่องรัฐธรรมนูญ ฉบับประชาชนที่มันจะต้องเดินหน้าเปลี่ยนแปลงโครงสร้างตั้งแต่ระดับการกระจายอำนาจ ในเรื่องของการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เพราะการกระจายอำนาจเป็นฐานสำคัญ ถ้าอำนาจการจัดการทรัพยากรธรรมชาติยังอยู่ในมือรัฐ ไม่ถูกกระจายไปสู่ประชาชนอย่างแท้จริง การเปลี่ยนแปลงในเชิงกฎหมายลูกระดับ พ.ร.บ. ที่จะเอื้อให้เกิดการมีส่วนร่วมอย่างแท้จริง ก็จะไม่เกิดขึ้น 

“ถ้ารัฐธรรมนูญรับรองเรื่องสิทธิ์การกระจายอำนาจ ถึงขั้นสิทธิในการตัดสินใจ การกำหนดอนาคตตัวเองในเรื่องการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระบวนการอื่น ๆ ในตัวกฎหมายลูกก็จะเกิดขึ้น” สุภาภรณ์ กล่าว

ข้อเสนอระดับนโยบายและกฎหมาย 

สุภาภรณ์ ระบุถึงข้อเสนอ ดังนี้ 1. รัฐธรรมนูญจะต้องรับรองสิทธิในการมีชีวิตอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ดี  ซึ่งหากมองในเชิงนโยบายการพัฒนาโครงการขนาดใหญ่ที่เห็นปัญหาสำคัญเลย อย่างเช่น EEC หรือ อุตสาหกรรมจะนะมักสะท้อนให้เห็นว่าโครงการเกิดจากรัฐ รัฐตัดสินใจ ดังนั้น ต้องเสนอการกระจายอำนาจ เพราะการพัฒนาควรจะอยู่ที่ท้องถิ่นริเริ่มว่าควรจะพัฒนาไปในทิศทางไหน ประชาชนสามารถมีส่วนร่วมการตัดสินใจก่อนสร้างโครงการ ไม่ใช่มีโครงการแล้วจึงไปรับฟังความคิดเห็นประชาชน 

2. การเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร ปัจจุบันสิทธิในการเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร มันกลายเป็นสิทธิ์ในการร้องขอไม่ว่าในระดับนโยบายหรือว่าว่าระดับโครงการ เมื่อภาคประชาชนต้องการเข้าถึงสิทธิข้อมูลข่าวสาร มันยากมาก เพราะฉะนั้น ถ้าประชาชนเข้าถึงข้อมูลข่าวสารยาก กระบวนการมีส่วนร่วมมันก็จะยากไปด้วย เพราะเราจะมาถกเถียงบนข้อมูลคนละชุด แต่ถ้ารัฐบาลเปิดข้อมูลเหล่านั้นอย่างแท้จริง ครบถ้วน มันก็จะมาถกเถียงบนข้อมูลชุดเดียวกัน ดังนั้น สิทธิในการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารเป็นสิ่งสำคัญก่อนที่กระบวนการมีส่วนร่วมจะมีความหมาย

3. เสนอว่าต้องยกเลิกแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีและแผนปฏิรูปประเทศ เพราะว่าส่วนนี้เป็นส่วนกำหนดทิศทางการพัฒนาที่มากำกับรัฐในเชิงการพัฒนาที่เป็นรูปธรรม และส่วนรูปธรรมเหล่านั้นที่กำหนดทิศทางโดยรัฐ ซึ่งมันไปละเมิดสิทธิ์และผลกระทบกับสิทธิชุมชนอย่างมาก 

4. คำสั่งหัวหน้า คสช. ต่าง ๆ ควรจะถูกยกเลิกทั้งหมด เพราะเป็นคำสั่งที่ออกมาโดยไม่เป็นอำนาจประชาธิปไตย แต่เป็นอำนาจที่ส่งผลกระทบระยะยาวกับพื้นที่ ยกตัวอย่างเช่น คำสั่งที่ 4/2559, คำสั่งที่ 3/2559 และมีอีกหลายคำสั่งทีเราเคยพยายามผลักดันเสนอผ่านรัฐสภาและยังไม่ผ่าน

5. นโยบายและทิศทางและนโยบายทางการพัฒนาขนาดใหญ่ ควรจะมีการประเมินผลกระทบเชิงยุทธศสตร์ ก่อนที่จะมีการกำหนดทิศทางการพัฒนาต่าง ๆ ดังนั้น สิ่งที่เกิดขึ้นไม่ว่าจะเป็น EEC หรือ เขตพัฒนาพิเศษต่าง ๆ ต้องถูกทบทวนว่า ตรงไหนมีปัญหาจะต้องถูกปรับปรุงแก้ไขและเยียวยากับผู้ได้รับผลกระทบอย่างเป็นรูปธรรม 

-7-

ภาคธุรกิจส่วนใหญ่ยังละเมิดสิทธิมนุษยชน รัฐบาลไทยยังไร้แผน NAP ที่เป็นรูปธรรม 

เผยภาพรวมธุรกิจและสิทธิมนุษยชนยังคงมีการละเมิดสิทธิฯ อยู่ ยกตัวอย่าง เอกชนเร่งยื่นคำขอประทานบัตรเหมืองก่อนแผนแม่บทแร่ใหม่บังคับใช้ และกรณีการฟ้องคดีปิดปาก ชี้ปี 2566 เตรียมจับตาความขัดแย้งเหมืองโพแทชอุดรธานี แนะรัฐต้องเร่งสร้างกลไกการมีส่วนร่วมของประชาชนให้ชัดเจน

ส.รัตนมณี พลกล้า ทนายความมูลนิธิศูนย์ข้อมูลชุมชน

ภาพรวมสถานการณ์ธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน

ส.รัตนมณี พลกล้า ทนายความมูลนิธิศูนย์ข้อมูลชุมชน เล่าว่า ในสถานการณ์โควิดภาคทุนยังคงดำเนินกิจกรรมต่างๆ อยู่ เช่น กระบวนการขออนุญาตทำเหมืองแร่ในพื้นที่ต่าง ๆ ก็มีการยื่นคำขอประทานบัตรเพื่อที่จะให้อยู่ในเขตแหล่งแร่ตามกฎหมายแร่ เพราะว่าตัวแผนแม่บทแร่มันจะหมดอายุปีนี้ และปีหน้าจะต้องมีแผนใหม่ และปีนี้ตามกระบวนการของกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (กพร.) จะมีการทำเรื่องให้พื้นที่ที่มีการยื่นคำขอประทานบัตรไว้แล้ว สามารถถือว่าเป็นแหล่งแร่ได้ 

ผู้ประกอบกิจการซึ่งอยู่ในหลายพื้นที่ ได้ยื่นคำขอกับ กพร.เท่ากับเป็นการจับจอง ในขณะที่ชุมชนไม่เคยรับรู้เลย แล้วชุมชนก็อยู่ในภาคเกษตรหรือพื้นที่สีเขียวเป็นส่วนใหญ่ การที่มีเหมืองอยู่ในพื้นที่มันก็มีปัญหา แบบนี้จะพบว่าภาคธุรกิจไม่เคารพต่อหลักการสิทธิมมนุษยชนจากการทำธุรกิจเลย  

แม้กระทั่งการฟ้องคดีปิดปาก ก็ยังมีคดีในข้อหาหมิ่นประมาทกับผู้ที่นำข้อมูลมาเผยแพร่ต่อที่สาธารณะ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของนักข่าวรายหนึ่งที่ปีนี้มีนักข่าว 2 ที่ถูกฟ้องในข้อหานำเอาข้อมูลภาคธุรกิจมาเผยแพร่ ปัจจุบันคดียังไม่สิ้นสุด และในส่วนของคดีที่มีการฟ้องนักปกป้องสิทธิฯ ก็ยังดำเนินต่อ และในกระบวนการกฎหมาย ก็พบว่าคำพิพากษาส่วนใหญ่ก็ยังมีข้อน่าสังเกตว่ายังไม่ได้รับการยอมรับในเรื่องของสิทธิมนุษยชน

อย่างในกรณีที่ดินจะนะยังเป็นปัญหาอยู่ที่มีการฟ้องร้องกันระหว่างชาวบ้านในพื้นที่กับบริษัท ปรากฏว่าคดีนั้นศาลพิพากษาให้ชาวบ้านแพ้คดี และต้องจ่ายค่าเสียหายเป็นหลักล้าน ซึ่งเรื่องนี้ก็ยังเป็นเรื่องที่น่าติดตามกันต่อว่าชั้นอุทธรณ์จะเป็นอย่างไร 

“ภาพรวมเรื่องของธุรกิจและสิทธิมนุษยชนในภาคธุรกิจยังมีการละเมิดสิทธิมนุษยชนอยู่ และยังไม่เห็นว่าภาครัฐจะมีความพยายามที่จะป้องกันไม่ให้เกิดการละเมิดสิทธิมนุษยชนในภาคธุรกิจแต่อย่างไร แต่จะเจอว่า ภาครัฐกลับไปส่งเสริมไปเอื้อกับทุนที่จะเปิดโอกาส โดยไม่ได้กลับมาถามว่าแล้วชุมชนสนใจหรือว่าต้องการให้พื้นที่ของตัวเองอยู่ในรูปแบบไหน ซึ่งเรื่องนี้เป็นปัญหามาก” ส.รัตนมณี กล่าว 

ส.รัตนมณี เล่าต่อในส่วนเรื่องของการลงทุนข้ามพรมแดน ก็มีปัญหาสำคัญคือ เขื่อนน้ำโขงที่บริษัทไทยเข้าไปมีส่วนร่วม ปัจจุบันรัฐบาลไทยยินยอม อนุญาตให้บริษัทเอกชน ไปทำสัญญาซื้อไฟในเขื่อนน้ำโขง เพิ่มเติมจากเขื่อนไชยะบุรี เขื่อนปากแบง และเขื่อนอื่น ๆ อีกหลายที่ ที่เราพบว่าไทยมีการไปลงทุนทั้งด้านไปก่อสร้าง ทำสัญญาซื้อไฟ 

ดังนั้น เรื่องนี้กลายเป็นว่ารัฐไทยไม่ได้มีความตระหนักที่จะเข้าไปกำกับดูแลในเรื่องการลงทุนข้ามพรมแดนที่จะไม่ทำให้เกิดการละเมิดสิทธิการลงทุนข้ามพรมแดน ทั้งที่ปีนี้ แผนปฏิบัติการธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน (National Action Plan on Business and Human Rights: NAP) ครบรอบแผนไปแล้ว โดยแผนที่ 2 ที่ต้องประกาศตั้งแต่ช่วงเดือนตุลาคม แต่ตอนนี้ก็ยังไม่เห็นตัวแผนฉบับที่ 2 ออกมา 

อย่างไรก็ตาม ร่างแผน 2 พบว่ายังเป็นเรื่องเดิม ๆ ที่ไม่ได้มีลักษณะของการพยายามที่จะทำให้กลายเป็นแนวปฏิบัติเพื่อทำธุรกิจที่เคารพสิทธิมนุษยชน ไม่ว่าจะเป็นการผลักดันหน่วยงานต่าง ๆ ให้ออกกฎ ออกระเบียบในการกำกับดูแลต่อภาคธุรกิจ

ยกตัวอย่าง กรณีเรื่องที่ทางเครือข่ายภาคประชาชนมีการเสนอแล้ว คือ ให้มีการเปิดเผยข้อมูลของภาคธุรกิจ โดยเฉพาะพวกโครงการที่จะมีมลพิษ หรือมีผลกระทบ เสนอให้มีการเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับเรื่องการใช้สารเคมี เรื่องการประกอบกิจการ แต่ก็ยังไม่มีเกิดขึ้นเลย 

แม้กระทั่งเรื่องของการที่จะได้รับข้อมูลข่าวสารอย่างเพียงพอในเรื่องของการพัฒนาโครงการต่าง ๆ ก็ยังเป็นปัญหาอยู่ว่า ไม่เคยมีแนวทางที่จะทำให้เกิดขึ้น แม้กระทั่งขอ EIA หากประชาชนจะถ่ายคัดลอกสำเนา แบบประเมิน EIA ก็ต้องจ่ายค่าถ่ายเป็นหลักหมื่น นี่คือสถานการณ์ในปีนี้ที่ผ่านมา ที่ก็ยังไม่เห็นอนาคตเหมือนกันว่าในปีหน้าจะเป็นอย่างไร

สถานการณ์น่าจับตาปี 2566

ส.รัตนมณี เล่าว่า เรื่องที่เกี่ยวกับการฟ้องคดีปิดปาก ยังคงต้องติดตามกันต่อว่า การฟ้องคดีปิดปากโดยภาคธุรกิจ หรือแม้กระทั่งภาครัฐที่มาเชื่อมโยงกับภาคธุรกิจมันจะมีเพิ่มขึ้นไหม 

อีกประเด็นที่น่าจับตาก็คือเรื่องเหมือง เนื่องจากภาคธุรกิจส่วนใหญ่ในปัจจุบันพยายามที่จะไปจับจองเพื่อทำเหมืองหลายพื้นที่ แล้วปีหน้าจะมีการประกาศตัวแผนแม่บทแร่ เพราะฉะนั้น ตรงนี้น่าจับตาว่าแล้วแผนแม่บทแร่ฉบับใหม่จะไปมีกระบวนการอนุมัติขอประทานบัตรให้กลายเป็นแหล่งแร่ไหม ซึ่งถ้าเป็นอย่างนั้นจะเท่ากับว่าได้สร้างความขัดแย้งในพื้นที่ 

หรือประเด็นที่อยากจะให้ติดตาม คือ เรื่องที่รัฐบาลมีประกาศให้ออกประทานบัตรเหมืองโพแทชอุดรธานี ซึ่งเป็นเหมืองที่ใหญ่มากของประเทศไทย สถานการณ์ปีหน้าจะเป็นอย่างไร เพราะว่าชาวบ้านก็ลุกขึ้นมาสู้ สู้มานานแล้วด้วย แล้วหยุดไปสักพักหนึ่ง แล้วก็ลุกมาสู้อีก แต่รัฐบาลก็ประกาศให้ประทานบัตรกับภาคธุรกิจอยู่ดี ก็น่าติดตามต่อว่าสถานการณ์ในพื้นที่ ความขัดแย้งจะเกิดความรุนแรงขึ้นไหม ซึ่งน่าเป็นห่วงมาก เท่าที่ฟังชาวบ้านมา เขาก็ไม่ยอมเหมือนกัน 

ข้อเสนอเชิงนโยบาย

ส.รัตนมณี ระบุถึงข้อเสนอเชิงนโยบายต่อภาครัฐ ดังนี้ 1.รัฐบาลต้องสร้างกลไกเรื่องการมีส่วนร่วมของประชาชนให้ชัดเจน โดย รัฐต้องออกมาตรการเรื่องการรับฟังความคิดเห็นใหม่ที่จะทำให้ประชาชนสามารถเข้าไปมีสิทธิ์ มีส่วนร่วมในการรับฟังความคิดเห็นได้ทั่วถึงทั้งออนไลน์และออฟไลน์ และมีโอกาสในการเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร

2. รัฐบาลต้องออกมาตรการในการกำกับภาคธุรกิจให้มันชัดเจนกว่านี้ ที่ไม่ใช่เพียงเฉพาะกฎหมายที่มีอยู่ แต่ว่าจะต้องคิดถึงเรื่องการกำกับบริษัทที่มาลงทุน เช่น ถ้าเป็นบริษัทที่มาลงทุนโครงการพัฒนาต่าง ๆ ทุนจดทะเบียนมันควรที่จะต้องมีจำนวนเพียงพอ ถ้าหากว่าเกิดมาทำธุรกิจแล้วส่งผลกระทบกับชุมชน บริษัทนั้น ๆ ก็จะสามารถมีทุนมาฟื้นฟู ไม่ใช่ปล่อยให้ล้มละลาย ซึ่งกระทรวงพาณิชย์ไม่ได้กำกับเรื่องนี้ไว้เลย ดังนั้น กระทรวงพาณิชย์ต้องออกมาตรการกำกับเรื่องพวกนี้

เรื่องของ human rights due diligence หรือว่าความรับผิดชอบการตรวจสอบรอบด้านด้านสิทธิมนุษยชนที่ไม่ใช่แค่บริษัทมหาชน เรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญมากที่อยากเสนอให้รัฐจะต้องมีมาตรการเรื่องนี้ชัดเจน

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ