ภาพรวมสิ่งแวดล้อมไทย 2565 สู่ข้อเสนอนโยบายในการเลือกตั้ง 2566

ภาพรวมสิ่งแวดล้อมไทย 2565 สู่ข้อเสนอนโยบายในการเลือกตั้ง 2566

Ted Talk Climate Change ฉายภาพรวมสถานการณ์สิ่งแวดล้อมปี 65 ความมั่นคงทางอาหารแย่ลง งบแก้น้ำท่วมไม่มีประสิทธิภาพ ระบบยุติธรรมทางสิ่งแวดล้อมยังหลวม พร้อมให้ข้อเสนอกับพรรคการเมืองที่เตรียมเดินหน้าสู่การเลือกตั้งรอบใหม่

Thai Climate Justice for All ร่วมกับสมัชชาองค์กรเอกชนด้านการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมและอนุรักษ์ทรัพยากร และศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) จัดเวที Ted Talk Climate Change สิ่งแวดล้อม ประจำปี 2565 เมื่อวันที่ 19 ธ.ค. 2565 นำเสนอภาพรวมของสถานการณ์สิ่งแวดล้อมในปีที่ผ่านมา พร้อมประเมินสถานการณ์ปัจจุบัน และข้อเสนอที่น่าจับตาสำหรับอนาคต ทั้งด้านนโยบายและยุทธศาสตร์

เวที Ted Talk Climate Change

– 1 –

นิเวศเกษตรและความมั่นคงทางอาหาร

วิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ เลขาธิการมูลนิธิชีววิถี หรือ BIOTHAI กล่าวว่า สังคมที่มีความมั่นคงทางอาหารต้องอธิปไตยทางอาหาร กล่าวคือ อาหารจะยั่งยืนได้ก็ต่อเมื่อประชาชนทุกคนมีอำนาจในการจัดการฐานทรัพยากร ในการพัฒนาการผลิต การกระจายอาหาร และที่สำคัญที่สุดคือ ประชาชนมีส่วนร่วมในการออกนโยบายที่เกี่ยวข้องด้วย 

วิฑูรย์ ระบุเพิ่มเติมว่า ความมั่นคงทางอาหารและนิเวศเกษตร ในช่วง 6-7 ทศวรรษที่ผ่านมา ยืนอยู่บนพื้นฐานที่อาหารไม่มีความมั่นคงอย่างยิ่ง องค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) ประเมินว่า พันธุ์พืชที่คนเราใช้อยู่ในปัจจุบัน มีแค่เพียงแค่ 10% เท่านั้นจากที่เคยใช้เมื่อ 100 ปีก่อน ส่วนที่เหลือได้สูญหายไปจากการขยายเกษตรกรรมเชิงเดี่ยว นั่นเกิดขึ้นจากอุตสาหกรรมการเกษตรที่พัฒนาไปอย่างรวดเร็วภายใต้การผลักดันของบรรษัทขนาดใหญ่ทั้งหลาย สิ่งนี้ทำให้เกิดปัญหามากมาย 

ยกตัวอย่าง งานวิจัยที่น่าสนใจที่สุดและมีการเผยแพร่ปีนี้ โดยมหาวิทยาลัยวอชิงตันร่วมกับมหาวิทยาลัยปักกิ่ง ประเมินว่าท่ามกลางการปล่อยก๊าซเรือนกระจกโดยเฉพาะคาร์บอนมีผลอย่างไรต่อ โภชนาการ พบว่า เรื่องข้าว ผลกระทบของสภาพภูมิอากาศเปลี่ยนแปลง ทำให้คุณค่าของสารอาหารในธัญพืชถดถอยลดลง คือวิตามิน B9 ลดลงมา 30% นี่คือผลที่ก่อในระยะยาวในความมั่นคงทางอาหารจากการเปลี่ยนแปลงนิเวศเกษตรและสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะเรื่องโลกร้อน 

วิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ เลขาธิการมูลนิธิชีววิถี หรือ BIOTHAI

วิฑูรย์ ระบุว่า สำหรับวิกฤตความมั่นคงทางอาหารในปี 2565 ที่ประจักษ์ชัดเจน เกิดขึ้นจากจุดเริ่มต้นการระบาดของโควิด-19 แล้วนำไปสู่เรื่องภาวะถดถอยของเศรษฐกิจ ซึ่งมีผลอย่างยิ่งต่อกำลังซื้อของการเข้าถึงอาหาร 

“วิกฤตความมั่นคงอาหารคราวนี้ ผมอยากเรียนว่าเป็นวิกฤตที่แทบจะใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์เท่าที่มีการบันทึกกันมา องค์การสหประชาชาติประเมินสาเหตุที่ทำให้เกิดวิกฤตอาหารที่ร้ายแรงยิ่งขึ้นที่สุดในประวัติศาสตร์นั้นมีสาเหตุมาจาก 3 เรื่องใหญ่ ๆ คือ 1.ความขัดแย้งระหว่างประเทศ เช่น ความมั่นคงเรื่องสงคราม 2.เศรษฐกิจที่ถดถอย 3.การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ” วิฑูรย์ กล่าว 

วิฑูรย์ กล่าวเพิ่มเติมว่า วิกฤตอาหาร 2565 ในกรณีประเทศไทยราคาอาหารแพงที่สุดในรอบ 13 ปี ในขณะที่ราคาเนื้อสัตว์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งราคาเนื้อหมูซึ่งเป็นโปรตีนหลักราคาแพงขึ้นแทบจะมากที่สุดในโลก ฉุดให้ราคาเนื้อสัตว์อื่นๆ แพงตามไปด้วย ค่าใช้จ่ายในการดำรงชีพโดยเฉพาะในหมวดอาหารในเมืองของคนไทยซึ่งเคยได้ชื่อว่าเป็นมหานครของอาหารราคาถูก เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว โดยสถิติในปี 2565 เมื่อเปรียบเทียบกับ กัวลาลัมเปอร์ มนิลา จาร์กาตา และโฮจิมินห์ซิตี้ ราคาเนื้อสัตว์และแม้แต่ข้าวสารในเมืองหลวงของไทยมีราคาแพงมากกว่า 

ทั้งนี้ ในช่วงปี 2566  เป็นช่วงการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง นั้นคืออาจเกิดเลือกตั้ง ดังนั้น ข้อเสนอของพรรคการเมือง ต้องมีการปลุกกระตุ้นให้มีการทบทวนและเสนอยุทธศาสตร์ของการพัฒนาที่มุ่งไปสู่เรื่องความมั่นคงทางอาหารและความยั่งยืนอย่างแท้จริงด้วย 

เลขาธิการมูลนิธิชีววิถี อธิบายถึงผลกระทบจากสถานการณ์โลกรวนที่มีต่อความมั่นคงทางอาหาร

วิฑูรย์ ระบุข้อเสนอเรื่องความมั่นคงทางอาหารในปี 2566 ที่ควรจะเกิดขึ้น มีดังนี้ 

1.พรรคการเมืองที่เสนอตัวต่อการเลือกตั้งจำเป็นต้องประกาศจุดยืนว่า พรรคตนเองเห็นด้วยกับการที่ให้พื้นที่ของรัฐ 16 ล้านไร่ เพื่อให้บริษัทเอกชนขนาดใหญ่นำไปปลูกป่าหรือไม่ หรือจะส่งเสริมให้โฉนดที่ดินสามารถทำกิจกรรมที่ยั่งยืน

2.พรรคการเมืองและผู้เสนอตัวในการบริหารประเทศต้องให้คำมั่นว่า การลงนามหรือเจรจาในกรอบการค้าระหว่างประเทศใดๆ ต้องไม่ยอมรับอนุสัญญา UPOV 1991 หรือมีข้อความใดๆในความตกลงที่จะสร้างผลกระทบต่อการเก็บรักษาพันธุ์ไปปลูกต่อ การแลกเปลี่ยนเมล็ดพันธุ์ระหว่างเกษตรกร ซึ่งจะสร้างผลกระทบต่อการพัฒนาพันธุ์พืชที่หลากหลายโดยเกษตรกรรายย่อยและชุมชนท้องถิ่น อันเป็นฐานรากของความมั่นคงทางอาหารและความหลากหลายทางวัฒนธรรมของเรา

3.ท่ามกลางความมั่นคงทางอาหาร เรื่องสำคัญที่ต้องมีคือ ประเทศไทยจะต้องมีสิทธิในเรื่องอาหาร และควรจะระบุเรื่องนี้ไว้ในสิทธิตามรัฐธรรมนูญเช่นเดียวกับหลายประเทศทั่วโลก ที่มีประเทศ 16-20 ประเทศมีเรื่องนี้ในรัฐธรรมนูญแล้ว อย่างน้อยที่สุด เพื่อที่ตอนไม่มีอาหารเลยก็เป็นหน้าที่ของรัฐที่จะต้องทำให้ประชาชนเข้าถึงอาหารในฐานะผู้เป็นผูลิตรายใหญ่

4.ความมั่นคงทางอาหารที่ยั่งยืน จะเกิดขึ้นได้ จำเป็นต้องเปลี่ยนแปลงตัวภูมิทัศน์ของเกษตรกรรมเชิงเดี่ยวใหม่ แล้วมุ่งไปสู่เรื่องกิจกรรมในนิเวศรูปแบบต่าง ๆ ยกตัวอย่าง ประเทศในแถบสหภาพยุโรป มีสิ่งที่เรียกว่า Green Deal ซึ่งระบุชัดเจนเลยว่าจะเพิ่มพื้นที่เกษตรเชิงนิเวศในยุโรปทั้งหมดให้เป็น 25% ของพื้นที่เกษตรกรรม ลดการใช้สารเคมีอันตราย และสารเคมีทั้งหมดลดลงครึ่งหนึ่ง เป็นต้น นี่คือสิ่งที่เรียกว่าการเปลี่ยนแปลงภูมิทัศน์ แล้วก็ปรับระบบอาหารไปสู่ความยั่งยืนอย่างแท้จริง ไม่ใช่เพียงวาทกรรมที่จะเปิดโอกาสให้บริษัทขนาดใหญ่เข้ามาครองฐานทรัพยากร และทำลายระบบนิเวศต่อไป 

– 2 –

สารเคมีกำจัดศัตรูพืช และความปลอดภัยด้านอาหาร

ปรกชล อู่ทรัพย์ เครือข่ายเตือนภัยสารเคมีกำจัดศัตรูพืช (Thailand Pesticide Alert Network: Thai-PAN)

ปรกชล อู่ทรัพย์ เครือข่ายเตือนภัยสารเคมีกำจัดศัตรูพืช (Thailand Pesticide Alert Network: Thai-PAN) พูดถึงข้อเสนอในหัวข้อ “สารเคมีกำจัดศัตรูพืช และความปลอดภัยด้านอาหาร” ถึงรัฐบาลสมัยหน้าที่จะมาจากการเลือกตั้งว่า Thai-PAN เสนอให้มีการตั้งเป้าหมายอย่างชัดเจน ทั้งในทางนโยบายและทางปฏิบัติ โดยให้มีการเลิกใช้หรือลดใช้สารเคมีลง 50% โดยเสนอให้มียุทธศาสตร์ในการจัดการอยู่ 3 ยุทธศาสตร์ คือ

1.เสนอยกเลิกการใช้สารเคมีที่มีอันตรายร้ายแรงสูง อย่างสารคาร์เบนดาซิมและสารไกลโฟเซต ซึ่งเป็นสารกำจัดศัตรูพืชที่มีอันตรายสูง และเสนอให้มีการจัดทำเกณฑ์ บัญชีรายชื่อสารเคมีที่มีอันตรายร้ายแรงสูงของประเทศไทย พร้อมมีแผนในการจัดการอย่างต่อเนื่อง 

2.สร้างระบบการเฝ้าระวังและแจ้งเตือนภัยอย่างมีส่วนร่วมทุกภาคส่วน ทั้งเป็นการเฝ้าระวังสารตกค้างของสารพิษในผลผลิต ในสิ่งแวดล้อม และผลกระทบต่อสุขภาพของเกษตรกรและผู้ที่มีโอกาสใกล้ชิดหรือสัมผัสสารเคมีกำจัดศัตรูพืช 

3.เสนอว่าต้องมีการปฏิรูปเชิงระบบ โดยมีการสนับสนุนให้เกษตรกรปรับเปลี่ยนการปลูกพืชเชิงเดี่ยว ที่เป็นการปลูกพืชที่มีการพึ่งพาและมีการใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืชในปริมาณสูง ไปสู่การผลิตในระบบเกษตรกรรมยั่งยืนหรือว่าเกษตรนิเวศ 

รัฐบาลจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีนโยบายหรือมาตรการในการสนับสนุนเกษตรกรรายย่อย ซึ่งในกรณีนี้ Thai-PAN เสนอให้มีมาตรการทางการเงินสำคัญ ๆ เช่น สนับสนุนให้มีการปรับเปลี่ยนอย่างต่อเนื่องและชัดเจน โดยให้มีเงินอุดหนุนโดยตรงเพื่อทำการเกษตรที่ลดการใช้สารพิษหรือว่าสารเคมีที่อันตรายร้ายแรงสูง 

มีเงินอุดหนุนเพื่อปรับเปลี่ยนโครงสร้างพื้นฐานของฟาร์ม สามารถซื้อทรัพย์สินฟาร์ม ไปจนถึงปัจจัยการผลิตทางการเกษตรที่ไม่ใช้สารเคมี มีเงินสนับสนุนงบวิจัยการพัฒนาการผลิตทดแทน มีเงินสนับสนุนทุนพัฒนาตลาด และการลดหย่อนภาษีสำหรับผู้ประกอบการทางการเกษตรที่ไม่ใช้สารเคมี 

– 3 –

ปัญหามลภาวะอุตสาหกรรมและขยะ

เพ็ญโฉม แซ่ตั้ง ผู้อำนวยการมูลนิธิบูรณะนิเวศ (EARTH)

เพ็ญโฉม แซ่ตั้ง ผู้อำนวยการมูลนิธิบูรณะนิเวศ (EARTH) กล่าวถึงข้อเสนอนโยบายในหัวข้อ “ปัญหามลภาวะอุตสาหกรรมและขยะ” ว่า

1. ประเทศไทยควรจะมีกฎหมายเรื่องการฟื้นฟูพื้นที่ปนเปื้อนมลพิษ 

2.มีการปรับปรุงกฎหมายเพื่อแก้ไขโครงสร้างและมาตรการกำกับการบริหารจัดการของเสีย การรีไซเคิล การหมุนเวียนวัสดุใช้แล้ว

3.มีกฎหมายปลดปล่อยและเคลื่อนย้ายมลพิษ (Pollutant Release and Transfer Register หรือ PRTR) ซึ่งเป็นกฎหมายที่จะบังคับให้โรงงานอุตสาหกรรมเปิดข้อมูลการปล่อยมลพิษที่เกิดจากการผลิตภายในโรงงานสู่สิ่งแวดล้แมไม่ว่าเป็นดิน น้ำ อากาศ เพื่อให้ประชาชนสามารถเข้าถึงข้อมูลและตรวจสอบที่มาของมลพิษที่อยู่ใกล้ตัวที่อาจส่งผลต่อสภาพแวดล้อมที่ตนอาศัยอยู่ และรัฐบาลก็จะมีฐานข้อมูลในการกำกับดูแลที่แม่นยำด้วย 

4.มีการกระจายอำนาจพร้อมกระจายทรัพยากรความรู้ ความสามารถแก่ท้องถิ่น และส่วนภูมิภาค

5.การพัฒนาระบบและกลไกของกระบวนการยุติธรรม เพื่อสร้างกลไกที่ดีในการปกป้องสิ่งแวดล้อม และทำให้ประชาชนเข้าถึงง่ายมากขึ้น เพราะทุกวันนี้เข้าถึงยากมาก 

เพ็ญโฉม กล่าวว่า สถานการณ์ปัญหาสิ่งแวดล้อมด้านมลพิษและขยะอุตสาหกรรมที่เป็นอยู่ในปัจจุบันไม่แตกต่างอะไรกับการพาสังคมไทยเคลื่อนเข้าสู่ Free Zone ของการก่ออาชญากรรมอำพรางทางสิ่งแวดล้อม ซึ่งอาชญากรรมคือผู้ก่อมลพิษ แต่ผู้ที่สนับสนุนไม่ว่าจะเป็นทางนโยบายและกฎหมาย คือผู้ที่สมคบคิดในการก่ออาชญากรรม ถึงเวลาที่เราจะต้องรู้เท่าทัน ทุกวันนี้หลายคนรู้ทันแต่รู้ไม่เท่าเพราะประชาชนส่วนใหญ่ไม่สามารถเข้าถึงข้อมูล และไม่สามารถเข้าถึงกลไกหลาย ๆ อย่าง จนเป็นข้อจำกัดของภาคประชาชน 

– 4 –

การประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม EIA และ SEA

รศ.ดร. เรณู เวชรัตน์พิมล นักวิชาการอิสระ

รศ.ดร. เรณู เวชรัตน์พิมล นักวิชาการอิสระ ที่ขึ้นพูดในหัวข้อ “การประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม EIA และ SEA” กล่าวถึงแนวทางการปฏิรูประบบและกลไก EIA ที่ควรจะเป็นว่า ต้องแยกเจ้าของโครงการและผู้รับจ้างทำรายงานประเมินออกจากกันให้ได้ 

ต่อมาขั้นกลั่นกรองโครงการต้องไม่ทำโดยเจ้าของโครงการหรือผู้ประเมิน จะต้องมีคณะทำงานในเชิงวิชาการขึ้นมาและทำกำหนดเป็น TOR แล้วทำการประเมินตามที่ตกลงกัน โดยที่ในขั้นการพิจารณาโดยคณะกรรมการผู้ชำนาญการ ประชาชนต้องมีสิทธิ์ที่จะเสนอตัวแทนชุมชนเข้าไปร่วมฟังและให้ข้อมูล

ที่สำคัญต้องมีการปรับปรุงบัญชีที่ต้องทำรายงานประเมิน EIA อยู่เสมอ และเรื่องการพิจารณานั้นของคณะกรรมการต้องมีความโปร่งใส ประชาชนต้องมีสิทธิอย่างแท้จริง 

– 5 –

ความยั่งยืนและเป็นธรรมระบบพลังงานที่เกื้อกูลสิ่งแวดล้อม

ผศ.ประสาท มีแต้ม กรรมการนโยบายด้านบริการสาธารณะพลังงานและสิ่งแวดล้อม สภาองค์กรของผู้บริโภค

ผศ.ประสาท มีแต้ม กรรมการนโยบายด้านบริการสาธารณะพลังงานและสิ่งแวดล้อม สภาองค์กรของผู้บริโภค ระบุว่าสถานการณ์ด้านพลังงานที่ผ่านมา อยากชวนให้ประชาชน จับตามติ ครม.ที่ออกมาเมื่อ 27 ก.ย. 2565 โดยเป็นคำสั่งจาก ชุด ครม.พลเอกพลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี สมัยที่รักษาการนายกรัฐมนตรี ว่าให้มีการรับซื้อไฟฟ้าจากโซล่าเซล์บนหลังคาบ้านด้วยระบบ Net metering หรือ การวัดพลังงานสุทธิ ซึ่งเป็นระบบหักลบกลบหน่วยอัตโนมัติจากไฟฟ้าที่ผลิตใช้เองจากจากโซลาร์รูฟท็อป (Solar Rooftop) 

ผู้ใช้ไฟฟ้าจะจ่ายค่าไฟฟ้าตามจำนวนหน่วยไฟฟ้าที่หักลบแล้ว เพื่อช่วยส่งเสริมความมั่นคงด้านพลังงาน, ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก, ลดการพึ่งพาการนำเข้าเชื้อเพลิงจากต่างประเทศ และลดค่าใช้จ่ายค่าไฟฟ้าให้ประชาชน พร้อมมีมติให้กระทรวงมหาดไทย (การไฟฟ้าส่วนภูมิภาคและหารไฟฟ้านครหลวง) เร่งรัดการดำเนินโครงการดังกล่าวในระยะต่อไป 

แต่ผลคือทุกวันนี้ยังไม่ได้ทำอะไรเลย สภาองค์กรผู้บริโภคจึงได้เชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้ามาสอบถามปรึกษาหารือร่วมกัน ผลปรากฏว่ายังไม่มีความคืบหน้าใด ๆ ทั้งสิ้น 

– 6 –

ประเมินระบบยุติธรรมสิ่งแวดล้อม

สุรชัย ตรงงาม ทนายความและเลขาธิการ มูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม

สุรชัย ตรงงาม ทนายความและเลขาธิการ มูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม พูดในหัวข้อ “ประเมินระบบยุติธรรมสิ่งแวดล้อม” ว่า สถานการณ์ด้านกฎหมายสิ่งแวดล้อมที่ผ่านมามีทั้งประสบความสำเร็จ ท้าทาย และมีส่วนที่ยังต้องทำงานกันต่อไป ทั้งนี้ สุรชัย ได้เสนอความเป็นธรรมด้านสิ่งแวดล้อมที่ควรจะเกิดขึ้นกับประเทศไทยต่อรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งสมัยหน้าว่า

1.สิทธิในสิ่งแวดล้อมที่ดีต้องถูกผลักดันอย่างเข้มแข็งและชัดเจนในรัฐธรรมนูญ เพื่อที่ประชาชนจะสามารถมีสิทธิในการมีส่วนร่วมอย่างมีความหมาย

2.ผลักดันสนับสนุนนโยบายและกฎหมายที่สร้างความเข้มแข็งให้ประชาชน โดยประชาชนสามารถลุกขึ้นมาใช้สิทธิตัวเอง ตรวจสอบ เรียกร้องสิทธิ์ เพื่อที่จะทำให้เกิดบรรทัดฐานความเข้มแข็งของการใช้สิทธิด้านสิ่งแวดล้อม ดังนั้น การสร้างพื้นที่ให้ประชาชนเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมได้อย่างมีประสิทธิภาพ เป็นสิ่งที่ประชาชนต้องเรียกร้องให้เกิดขึ้น

3.พรรคการเมืองควรประกาศข้อเสนอนโยบายและกฎหมายที่ชัดเจนในการสนับสนุนสิทธิและความเป็นธรรมด้านสิ่งแวดล้อมให้มีผลในเชิงปฏิบัติ เพื่อที่ประชาชนจะได้เลือกและมีความเห็นต่อการผลักดันนโยบาย เพราะที่ผ่านพรรคการเมืองหลายพรรคมักมีนโยบายสิ่งแวดล้อมที่คลุมเครือ ไม่ชัดเจน  

“ในต่างประเทศมีงานวิจัยยืนยันว่า ร้อยละ 70 กว่าประเทศ มีการบัญญัติเรื่องสิทธิในการมีสิ่งแวดล้อมที่ดีในรัฐธรรมนูญ คำถามคือว่า ของไทยควรจะต้องมีการบัญญติสิ่งแวดล้อมที่ดีไว้ในรัฐธรรมนูญหรือไม่ และสิทธิในสิ่งแวดล้อมที่ดี ต้องตอบสนองต่อสถานการณ์ปัจจุบันและไม่ละเมิดสิทธิ์ของคนรุ่นต่อไป” สุรชัย กล่าว 

– 7 –

นโยบายจัดการน้ำ

ผศ.ดร. สิตางศุ์ พิลัยหล้า วิศวกรรมทรัพยากรป่า ม.เกษตรฯ

ผศ.ดร.สิตางศุ์ พิลัยหล้า วิศวกรรมทรัพยากรป่า ม.เกษตรฯ ระบุว่า ปัจจุบันประเทศไทยมีแผนด้านน้ำที่เรียกว่าแผนยุทธศาสตร์ด้านการจัดการน้ำ โดยแบ่งการพัฒนาและใช้งบประมาณเป็น 6 ด้าน คือ 

  1. เรื่องการอุปโภคบริโภค 
  2. การพัฒนาแหล่งน้ำและจัดหาน้ำให้เพียงพอสำหรับการเกษตรและอุตสาหกรรม 
  3. การใช้งบประมาณเพื่อแก้ปัญหาด้านน้ำท่วม 
  4. การใช้งบประมาณเพื่อฟื้นฟูแหล่งน้ำในฤดูการจัดการน้ำเสีย และระบบนิเวศ 
  5. เรื่องของการฟื้นฟูป่า 
  6. เรื่องของการบริหารจัดการ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเรื่องบริหารจัดการน้ำ และการใช้เงินกับลุ่มน้ำ 

ผศ.ดร.สิตางศุ์ กล่าวว่า การใช้งบประมาณแก้ปัญหาน้ำในปี 2565 ของประเทศไทย ใช้งบไปกับข้อ 2 มากที่สุด คือ การพัฒนาแหล่งน้ำและจัดหาน้ำให้เพียงพอสำหรับการเกษตรและอุตสาหกรรม แปลว่าประเทศไทยน้ำไม่เคยพอจริงหรือ แล้วน้ำท่วมที่เกิดขึ้นซ้ำกันทุกปี มันคือคำว่าน้ำไม่พอหรือเปล่า แต่เราใช้งบไปกับเป้าหมายที่ 2 ถึง 60% ของงบในปี 65 ซึ่งคิดเป็น 38,000 ล้านบาท เพื่อใช้ในการจัดหาน้ำ ซึ่งงบประมาณเหล่านี้มักลงทุนไปกับโครงการสร้างเขื่อน แต่ทั้งนี้การสร้างเขื่อนไม่ผิดถ้ามีความจำเป็น สร้างถูกที่และกันน้ำท่วมได้ รองลงมาคือเป้าหมายที่ 3 การใช้งบประมาณเพื่อแก้ปัญหาด้านน้ำท่วม แต่ 10 ปีที่ผ่านมาพนังกั้นน้ำที่สร้างขึ้นมาก็พังอยู่ดี 

ส่วนงบประมาณในปี 2566 ยังคงใช้งบประมาณ 61% กับ การพัฒนาแหล่งน้ำและจัดหาน้ำให้เพียงพอสำหรับการเกษตรและอุตสาหกรรม ใช้งบอีก 30%กับการแก้ปัญหาด้านน้ำท่วม ซึ่งแทบไม่ต่างกันเลยระหว่างปี 2565 และ ปี 2566 นั่นแปลว่าไทยทุ้มงบส่วนใหญ่ของประเทศไปในเรื่องของการจัดหาแหล่งน้ำ ในเรื่องของการหาน้ำมาเติม เพราะผู้มีอำนาจมักพูดตลอดว่าน้ำไม่พอ เราใช้งบในการที่จะป้องกันน้ำท่วม ป้องกันได้จริงหรือเปล่า สิ่งที่เห็นตอนนี้เป็นเชิงประจักษ์อยู่แล้ว

และส่วนที่ใช้งบน้อยมากที่สุดคือ เป้าหมายข้อที่ 4 การใช้งบประมาณเพื่อฟื้นฟูแหล่งน้ำในฤดูการจัดการน้ำเสีย และระบบนิเวศ โดยใช้งบบเพียง 1% และเป้าหมายที่ 5 เรื่องการฟื้นฟูป่าเพียง 0.031%

ผศ.ดร.สิตางศุ์ อธิบายเทียบงบประมาณปี 2565 กับ 2566 ที่ใช้ในการจัดการน้ำ

“ถึงเวลาแล้วหรือยังที่เราจะหยุดการคอรัปชั่นเชิงนโยบาย การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศมันเลวร้ายขนาดไหน มันคือของจริง มันเกิดขึ้นจริง มันเกิดขึ้นทุกที่ในประเทศไทยและในโลก วันนี้โลกเปลี่ยน ภูมิอากาศเปลี่ยน ประเทศไทยก็เปลี่ยน เราถึงต้องเปลี่ยนการจัดการน้ำ เราถึงต้องมองน้ำเป็นทรัพยากรสาธารณะที่มีต้นทุน น้ำทุกหยุดมีต้นทุนทั้งสิ้น มองน้ำให้เชื่อมโยงกับวิถีชีวิต สัตว์ ป่า คน นิเวศน์ หยุดมองน้ำเป็นแค่สสาร” ผศ.ดร. สิตางศุ์ กล่าว

– 8 –

ทะเลและชายฝั่ง

ภาคภูมิ วิธานติรวัฒน์ จากมูลนิธิอันดามัน

ภาคภูมิ วิธานติรวัฒน์ จากมูลนิธิอันดามัน กล่าวว่าปัญหาที่ผ่านมาของ “ทะเลและชายฝั่ง” คือ ปัจจุบันไทยตกลงกันว่าจะมีพื้นที่คุ้มครองทางทะเลร้อยละ 30 แต่ปัจจุบันเรามีร้อยละ 5 เท่านั้น ทั้งที่ประโยชน์ ระบบนิเวศและบริการนิเวศมีส่วนช่วยค้ำจุ้นการพัฒนาคุณภาพชีวิตของเรา รวมทั้งในสถานการณ์ที่เกิดวิกฤต 

ภาคภูมิ ยกตัวอย่างหญ้าทะเลที่จังหวัดตรัง ว่าสภาพปัจจุบันหญ้าทะเลเสื่อมโทรมจากการทับถมของตะกอนทราย ซึ่งมาจากการขุดลอกแม่น้ำตรังและทิ้งในทะเล ทำให้หญ้าทะเลเสียหายประมาณ 7,000 ไร่ ซึ่งตอนนี้ยังไม่มีวิธีการที่จะฟื้นฟูหญ้าทะเลกลับคืนมา 

สภาพหญ้าทะเลเสื่อมโทรมจากการทับถมของตะกอนทราย ซึ่งมาจากการขุดลอกแม่น้ำในจ.ตรังและทิ้งในทะเล
ทำให้หญ้าทะเลเสียหายประมาณ 7,000 ไร่

ภาคภูมิ ยกข้อเสนอต่อการจัดการประมงทะเลไทย ซึ่งมาจากกลุ่มสมาคมชาวประมงพื้นบ้านแห่งประเทศไทยว่าผู้บริหารทะเลไทยควรปิดหน้าต่างให้ครบ 3 บาน คือ

1.คุมคน คุมเรือ คุมแรงงานผ่านระบบใบอนุญาต

2.คุมเครื่องมือและตั้งเงื่อนไขการทำประมงของเครื่องมือ เช่น การกำหนดเขตชายฝั่ง การกำหนดปิดอ่าวตามฤดูกาล วางไข่ (คุมการจับแม่ปลา) ห้ามจับสัตว์น้ำหายาก

3.การควบคุมผลการจับสัตว์น้ำตัวอ่อน การจับสัตว์น้ำผิดประเภทและก็การคุมการตลาดที่มีการซื้อขายลูกสัตว์น้ำ 

“ผลสรุปเรื่องการประมงไทยตอนนี้ยังไม่ยั่งยืน และก็มีแนวโน้มที่ปลาตัวใหญ่จะลดลงเรื่อย ๆ และที่เราจับได้มากขึ้นก็จะเป็นปลาตัวเล็กลงเรื่อย ๆ” ภาคภูมิ กล่าว 

สำหรับ ปี 2566 ความท้าทายและข้อเสนอทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ภาคภูมิ ชี้แจงเป็นข้อ ๆ ว่า 

1.เราจะไม่สามารถแก้ปัญหาได้ หากเรายังใช้แนวคิดสร้างขยะอย่างเสรีในปัจจุบัน เสนอให้เปลี่ยนแนวคิดให้กลายเป็นผู้ก่อผลพิษคือผู้จ่าย เพราะพลาสติกที่คนเราใช้มีผลกระทบต่อระบบนิเวศและห่วงโซ่อาหาร ซึ่งเจ้าของผลิตภัณฑ์และผู้บริโภคต้องร่วมกันรับผิดชอบ โดยจะต้องนำระบบการคลังหรือภาษีเข้ามาใช้ตามหลักความรับผิดชอบของผู้ก่อมลพิษ 

2.ทบทวนกฎหมายด้านทะเลและชายฝั่งในระดับที่การปฏิรูปให้เกิดความยุติธรรมและชุมชนอยู่ภายใต้กฎหมายฉบับเดียวกัน 

3.ประกาศกำหนดขนาดของชนิดพันธุ์สัตว์น้ำที่ห้ามทำการประมง เริ่มและนำร่องที่ ปลาทู-ลัง ปูม้า 

4.ปรับปรุงมาตรการคุ้มครองพื้นที่หญ้าทะเลและฟื้นฟูหญ้าทะเลที่เสื่อมโทรม

5.คณะอนุกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ (คทช.) ต้องมีการรับรองที่ดินทำกิน ยุติการทวงคืนผืนป่า 

6.ดำเนินการกำหนดพื้นที่อนุรักษ์และใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืนตามกฎหมายแห่งชาติ 

7.เร่งดำเนินการตามความรับผิดชอบต่อโลกว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ 

-9-

ปัญหาป่าไม้ ที่ดิน

ประยงค์ ดอกลำใย ที่ปรึกษา P-Move

ประยงค์ ดอกลำใย ที่ปรึกษา P-Move ระบุถึงสถานการณ์พื้นที่ป่าในประเทศไทยว่า คณะกรรมการนโยบายป่าไม้แห่งชาติตั้งเป้าให้ประเทศมีพื้นที่ป่าอย่างน้อย 40% ของประเทศ ซึ่งปัจจุบันมีแล้ว 31% ต้องการป่าอีก 26 ล้านไร่ เพื่อให้ครบเป้าหมาย 40% จึงเป็นที่มาของการเร่งรัดประกาศป่าอนุรักษ์ทั่วประเทศให้ครบ 25% ซึ่งเท่ากับ 80 ล้านไร่  

ประยงค์ เล่าว่า รัฐมักให้เหตุผลว่าที่ดินปลูกป่าหายาก ประชาชนจึงจำเป็นต้องถูกบุกรุกเพื่อเพิ่มพื้นที่ป่าอีก 26 ล้านไร่ แต่เราพบว่าเมื่อปีที่แล้วในขณะที่ชาวบ้านออกมาทวงคืนผืนป่า แต่กลับมี มติ ครม. เมื่อวันที่ 5 ตุลาคม 2565 ประกาศ “ปล่อยผีบริษัทเอกชน และทุนเช่าที่ดินป่าสงวนแห่งชาติ เพื่อการปลูกสร้างสวนป่า” ซึ่งไปยกเลิกมติ ครม. ปี 2533 และ ปี 35 ที่ห้ามไม่ให้และไม่อนุญาตเอกชนปลูกป่าในพื้นที่ป่าสวงนแห่งชาติ ทั้งนี้ การกลับมาอนุญาตให้เอกชนปลูกสร้างในพื้นที่ป่าได้ด้วยเหตุผล 3 เรื่อง คือ 1. เพื่อเข้าสู่เป้าหมายเป็นกลางทางคาร์บอนในปี 2593 2.บรรลุเป้าหมายก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ในปี 2608 และ 3.เศรษฐกิจสีเขียว ทั้งนี้ ประยงค์ ยังไม่มีข้อเสนออะไรเกี่ยวกับปัญหาป่าไม้ ที่ดินในประเทศไทย แต่ฝากความหวังไว้ที่รัฐบาลสมัยหน้าว่าจะมีแนวทางแก้ไข

-10-

ปัญหาฝุ่น pm 2.5 และไฟป่า

ชัชวาลย์ ทองดีเลิศ สภาลมหายใจเชียงใหม่

ชัชวาลย์ ทองดีเลิศ สภาลมหายใจเชียงใหม่ กล่าวถึงจุดตั้งต้นของการแก้ปัญหาฝุ่น pm 2.5 และไฟป่าว่า จำเป็นต้องมีข้อเสนอเชิงนโยบาย ดังนี้ 

  1. ต้องมีนโยบายพลังงานสะอาดและยั่งยืน ทั้งมิติขนส่งสาธารณะ และโรงงานปลอดมลพิษ ซึ่งปัจจุบันนี้ทั้งประเทศมีเครื่องวัดการปล่อยมลพิษจากโรงงานอยู่แห่งเดียวคือ จ.สระบุรี 
  2. นโยบายเศรษฐกิจสีเขียว จะต้องควบคู่กับนโยบายเศรษฐกิจฐานรากหรือเศรษฐกิจท้องถิ่น /มีกระบวนการให้เศรษฐกิจของชาวบ้านแข็งแรงและปลดล็อกการจำกัดการพัฒนาต่าง ๆ ออก/ เพิ่มพื้นที่เกษตรกรรมที่ยั่งยืนที่สอดคล้องในแต่ละภูมิภาค/มีนโยบายจัดการที่ดินที่มั่นคงและเสนอให้มีการปฏิรูปการจัดทรัพยากรใหม่ 
  3. นโยบายการป้องกัน รักษา เยียวยา สุขภาพประชาชน ซึ่งที่ผ่านมามีการสื่อสารเรื่องการเฝ้าระวังสุขภาพจากค่าฝุ่นมีน้อยมากและไม่มีระบบเยียวยาอะไรเลย
  4. กฎหมายการบริหารอากาศสะอาด 
  5. นโยบายกระจายอำนาจ ชุมชน อปท. จังหวัดบริหารสามารถจัดการแก้ไขปัญหาที่สอดคล้องกับบริบทพื้นที่ 

-11-

ประเมินนโยบายโลกร้อน และกระบวนการฟอกเขียว

ดร.กฤษฎา บุญชัย จาก Thai Climate Justice for All

ดร. กฤษฎา บุญชัย จาก Thai Climate Justice for All ระบุถึงข้อเสนอและเป้าหมายของประชาชน ในหัวข้อ “ประเมินนโยบายโลกร้อน และกระบวนการฟอกเขียว” ว่าการออกนโยบายสีเขียวต้องสร้างกระบวนการนโยบายสาธารณะอย่างมีส่วนร่วมอย่างทั่วถึงและเท่าเทียม โดยเสนอแนวทางถึงรัฐบาลสมัยหน้า ดังนี้ 

1.เปลี่ยนผ่านจากพลังงานฟอสซิล ไปสู่พลังงานหมุนเวียนทั้งหมดภายในปี 2050 

2.เปลี่ยนผ่านจากเกษตรเชิงเดี่ยว ที่ขับเคลื่อนโดยกลุ่มทุนขนาดใหญ่ไปสู่เกษตรนิเวศภายในปี 2050 

3.ทบทวนนโยบายการเพิ่มพื้นที่ป่า ไม่เอาภาคป่าไม้ไปแบกรับการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของภาคทุน 

4.ภาคธุรกิจเอกชนที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกหลักของประเทศต้องรับผิดชอบด้วยการลด เลิก การปล่อยก๊าซเรือนกระจกในกระบวนการกิจกรรมการผลิตเศรษฐกิจของตนเอง โดยลดได้ไม่ต่ำกว่าร้อยละ 50 ภายในปี 2030 และเหลือร้อยละ 20 ในปี 2050 โดยไม่ใช้ระบบตลาดคาร์บอน หรือเทคโนโลยีกักเก็บคาร์บอนฯ เบี่ยงเบนเป้าหมาย 

ดร.กฤษฎา อธิบายถึงรากปัญหาของนโยบายรัฐต่อปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

“เสนอว่าให้มีการยุติฟอกเขียวโดยทบทวนนโยบายตลาดคาร์บอน คาร์บอนเป็นกลาง คาร์บอนเครดิต ที่กำลังนำไปสู่กระบวนการฟอกเขียว พร้อมมีแผนประเมินผลกระทบทางยุทธศาสตร์สิ่งแวดล้อมแก่โครงการภาครัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้องกับสภาพภูมิอากาศเปลี่ยนแปลง และมีแผนปรับตัวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ แก่ประชาชนทุกกลุ่มในทุกพื้นที่อย่างมีส่วนร่วมโดยทันที” ดร. กฤษฎา กล่าว 

000

คลิกดูคลิป : TED TALK Climate Change สิ่งแวดล้อม ประจำปี 2565 

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ