เสียงจากริมแม่มูล “เบิ่งให้เห็น แนมให้ซอด” วิถีคนลุ่มน้ำท่ามกลางภัยพิบัติ

เสียงจากริมแม่มูล “เบิ่งให้เห็น แนมให้ซอด” วิถีคนลุ่มน้ำท่ามกลางภัยพิบัติ

ภาพ : วิภาดา ฉุนกล้า

ผลกระทบจากน้ำท่วมใหญ่ในปีนี้ 2565 ต่าง “เพ” “พัง” วิถีชีวิตพี่น้องและแหล่งอาหารสำคัญลุ่มน้ำมูล ทั้ง นาข้าว ไร่สวน พืชผัก ไม้ผลต่าง ๆ ให้เสียหายเป็นจำนวนมาก นั่นทำให้เครือข่ายเกษตรกรและภาคีเครือข่ายในลุ่มน้ำมูลภาคอีสานและทั่วประเทศร่วมเว้าจาโสเหล่แลกเปลี่ยนเพื่อสะท้อนและหาทางออกในการปรับตัว “ทางข้างหน้า เบิ่งให้เห็น แนมให้ซอด วิถีคนลุ่มน้ำ” เมื่อวันที่  7 พฤศจิกายน 2565 ณ สันเขื่อนราษีไศล ศูนย์เรียนรู้ทามมูล จ.ศรีสะเกษ

“ภายใต้การเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ เกษตรกรจำต้องปรับเพื่อความอยู่รอด มีแผนการผลิตที่สอดรับกับสภาพพื้นที่”  

สวาท อุปฮาด กลุ่มเกษตรกรบ้านโนนหนองลาด จ.ขอนแก่น หนึ่งในผู้ที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมลุ่มน้ำพองในพื้นที่ จ.ขอนแก่น ซึ่งร่วมเสวนาได้สะท้อนถึงแนวทางการปรับตัวภายใต้สถานการณ์ภัยพิบัติ 

“ปรับตัวเบื้องต้น พอมันท่วมเรามีประสบการณ์ ทุกสิ่งหายไปหมด ไม่ว่าจะเป็นข้าวปลา พืชผัก ปีนี้เราเลยคิดกันที่เริ่มทำเราจะต้องสร้างอาหารในพื้นที่ คือ “ผักแพ” ทำแพลอยน้ำปลูกผัก ให้พี่น้องมีทางเลือก หากซื้อก็แพง เริ่มปลูกผักแพมันจะเกิดการเรียนรู้ พึ่งพาตัวเองในสถานการณ์แบบนี้ เราตั้งเป้าทำให้ได้ 15 แพ ซึ่งหลายกลุ่มที่เจอก็อยากมาเรียนรู้ ซึ่งเราก็ยังไม่มีประสบการณ์ที่ชัดเจน แต่สิ่งที่เกิดขึ้น คือความรู้นำไปสู่การยกระดับพัฒนา เพื่อที่จะใช้พื้นที่ให้ชุมชนได้พึ่งตัวเองมากที่สุด ในอนาคตน้ำท่วมไม่มีทางจะหายไป ไม่มีทางที่น้อยลง การปรับตัวเรื่องเดียวคงไม่พอ เราจะต้องออกแบบกับชุมชน เพื่อให้ชุมชนออกแบบการผลิตเองได้ด้วย”

นอกจากการปรับตัวหาแนวทางแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น การมีข้อมูล การเข้าใจพื้นที่ จะช่วยสร้างเครือข่ายการทำงานที่เพิ่มมากขึ้น  สุมธ ปานจำลอง เครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือกภาคอีสานย้ำถึงความสำคัญอีกครั้ง “การสร้างเครือข่ายของพี่น้อง ผมคิดว่าเราจะต้องฟื้นฟูภายใต้การร่วมมือเป็นเครือข่าย ถ้าเดือดร้อนต้องเรียกหากัน ถ้าอยู่ดีมีแฮง บ่ต้องเอิ้นหากัน อยู่ใครอยู่มัน อันนี้ตกทุกข์ได้ยากก็ต้องมาหากัน มาแบ่งปันกัน มีเมล็ดพันธ์ มีข้าว มีปลา ก็แลกกัน เป็นวัฒนธรรมเดิม แต่ว่าไม่พอ แต่สิ่งที่ต้องทำเพิ่มก็คือ ถ้าน้ำไม่ท่วมเสร็จแล้วจะดำรงชีพอย่างไร สิ่งที่ต้องทำคือ ทำตลาดเขียวผลิตเพื่อขาย เป็นเครือข่าย แลกเปลี่ยน อนาคตเราต้องทำมาหากินกับพื้นที่ของตัวเอง  ความเป็นเครือข่ายจะคลีคลายความทุกข์”

สุเมธ ปานจำลอง ยังเล่าถึงข้อเสนอภาคประชาชนในการจัดการน้ำหลังไปทำข้อมูลในพื้นที่ ต.วังหลวง อ.เสลภูมิ จ.ร้อยเอ็ด  “คนที่อยู่ในเขตพื้นที่น้ำท่วม หลังน้ำท่วมแล้วจะแล้ง ข้อมูลวังหลวงที่เสลภูมิ ข้อเสนอดีมาก  อปท.หรือหน่วยงานรัฐต้องจัดระบบชลประทานให้ ท่วมแล้วก็ยินดีให้ท่วม แต่หลังท่วมให้มีโอกาสได้ทำไร่นา โดยเฉพาะข้าว เพราะฉะนั้นแล้วระบบชลประทานเอาน้ำที่เกิดจากการท่วมย้อนกลับไปในหลังฤดูท่วม โดยการทำชลประทาน โซล่าเซลล์ เพื่อให้เขาได้ทำการผลิต รวมทั้งการขุดบ่อขนาดเล็ก เพื่อสต๊อกน้ำไว้ ให้ชาวบ้านได้ประโยชน์”

นอกจากชุดความรู้เรื่องภัยพิบัติ จากผู้มีประสบการณ์ที่มีข้อมูลพื้นฐานของชุมชน ในเรื่องการจัดการน้ำก็ต้องใช้ความรู้วิทยาศาสตร์ประกอบร่วม เพื่อใช้ในการจัดการข้อมูลอย่างเป็นระบบ ในการแก้ไขปัญหา บุญรันต์ จงดี นักวิชาการอิสระ ย้ำถึงความสำคัญของข้อมูล “องค์ความรู้เกี่ยวกับเรื่องข้าวมีความจำเป็น เรื่องการทำนาหลังน้ำลดทำอย่างไร ผมเข้าใจว่าการปรับตัวเราจำเป็นต้องใช้ความรู้ทางวิทยศาสตร์มาช่วย เราเกิดการทดลอง เราใช้ข้าว 6000  ขาวดำมะลิ กข6 กข15 กข12 ปลูกไปแล้วหนึ่งแปลง มาดูว่าแต่ละพื้นที่ปรับตัวอย่างไร ถ้าเราจะปลูกให้หนีน้ำท่วมจะทำอย่างไร แล้วจะต้องใช้ข้าวอะไร เป็นการทดลอง ต้องการวิจัย แต่ละพื้นที่ไม่เหมือนกัน การปรับตัวของเราเราจะต้องใช้วิจัย ทำความเข้าใจสภาพพื้นที่ตัวเอง ทำความเข้าใจสภาพอากาศ ต้องลงมือ เป็นทิศทางในการปรับตัวของเรา”

“ทางข้างหน้า เบิ่งให้เห็น แนมให้ซอด วิถีคนลุ่มน้ำ” ด้วยสภาพพื้นที่และระบบนิเวศที่แตกต่างกัน การมองทะลุ หรือ “ส่องซอด” อาจจะยังไม่สามารถเกิดขึ้นในทันที แต่นี่เป็นอีกโจทย์และความท้าทายที่เครือข่ายชาวบ้านประชาชนในลุ่มน้ำอีสานจะร่วมผลักดัน ทดลอง แสวงหาความรู้ ท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นที่ถาโถมเข้าสู่กลุ่มเกษตรกรลุ่มน้ำมูลภาคอีสานที่นี่ ที่ต่างต้องลุกขึ้นมาปรับเพื่อความอยู่รอดของหลายปากท้อง  ทั้งคนในครอบครัว ชุมชน เครือข่าย ที่ร่วมกันถอดบทเรียน ประสบการณ์ความรู้ เพื่อนำมาออกแบบเครื่องมือในการทำความเข้าใจการเปลี่ยนแปลง และการปรับตัวที่เกิดขึ้น ที่จะนำไปสู่การเรียนรู้ให้ชุมชน และเกิดการขยายความร่วมมือซึ่งจะนำไปสู่ความพร้อมรับมือความเปลี่ยนแปลงของวิถีคนลุ่มน้ำท่ามกลางภัยพิบัติ ฝนแล้ง-น้ำท่วม ซึ่งไม่มีทีท่าว่าจะจบสิ้น

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ