คลื่นโควิดสู่วิกฤตอาหารทะเล
วิกฤตอาหารทะเล อันเป็นผลมาจากการระบาดของเชื้อโควิด-19 ที่ตลาดทะเลไทยหรือตลาดกลางกุ้ง จังหวัดสมุทรสาคร เมื่อปลายปี 2563 ส่งผลให้ตลาดอาหารทะเลแหล่งใหญ่ของประเทศปิดตัวเพื่อกำจัดควบคุมเชื้อ ซึ่งการถูกปิดของตลาดนี้ นับเป็นคลื่นลูกใหญ่ที่กระทบต่อห่วงโซ่อาหารทะเลทั่วประเทศ นับตั้งแต่ผู้ค้า ผู้ประกอบการ ผู้บริโภค ไปจนถึงคนต้นทางอย่างชาวประมงผู้เลี้ยงชีพด้วยการจับสัตว์ทะเล เช่นเดียวกับชาวประมงพื้นบ้านอ่าวยอ อ.ปะทิว จ.ชุมพร ก็เป็นอีกหนึ่งชุมชนที่ไม่อาจเลี่ยงพ้นคลื่นแห่งวิกฤตครั้งนี้ได้ กระแสความหวาดกลัวของผู้บริโภค ได้ส่งผลทำให้ราคาอาหารทะเลดิ่งลงต่ำจนไม่คุ้มกับการออกเรือ ทำให้ชาวประมงหลายรายหันหลังให้กับทะเลไปขายแรงงานบนฝั่ง
หมู่บ้านสามเสียม เป็นชุมชนชาวประมงที่ทำประมงพื้นบ้านเรือเล็ก ด้วยความอุดมสมบูรณ์ของท้องทะเลอ่าวยอ หน้าบ้านที่เดินลงทะเลไม่กี่ก้าวก็สามารถจับสัตว์น้ำอย่างกุ้งปูปลาได้เป็นกอบเป็นกำตลอดทั้งปี จึงนับเป็นแหล่งอาหารสำคัญและเป็นแหล่งรายได้สร้างเศรษฐกิจหลักให้กับคนในชุมชนมาตั้งแต่อดีต ไม่ว่าจะเป็นกุ้งแชบ๊วย ปูม้า ปลาอินทรีย์ ปลาลัง ปลากระบอก ปลาสีกุน ปลาสากเหลือง ปลาสากดำ ปลากระทุงเหว ปลาน้ำทอง ปลากโฉมงาม ปลาตะคองเหลือง ปลาอังเกย ปลามง ปลาเก๋า ปลากระพงแดง ปลาทู ปลาจาระเม็ด ปลาสุจิน เป็นต้น
เรือเล็ก ไร้อำนาจต่อรอง
จากวิกฤติโควิดนี้ โจน จันได หนึ่งในผู้ก่อตั้งธรรมธุรกิจ วิสาหกิจเพื่อสังคมและวริสร รักษ์พันธุ์ ผู้จัดการทั่วไปฐานธรรมธุรกิจชุมพรคาบาน่า ได้เข้าไปพูดคุยกับชาวประมง กลุ่มประมงพื้นบ้านอ่าวยอ ได้รับรู้ปัญหาหลายอย่างที่ชาวประมงต้องประสบ แม้วิกฤติโควิด-19 จะทำให้พวกเขาเผชิญกับปัญหาใหญ่ ทว่าที่ผ่านมาพวกเขาก็ประสบปัญหาที่มองไม่เห็นทางออกมาโดยตลอด นั่นก็คือปัญหาด้านราคารับซื้อที่ถูกกำหนดมาจากแพปลาหรือพ่อค้าคนกลางเพียงไม่กี่เจ้า
ชัยรัตน์ สุตราม กลุ่มประมงพื้นบ้านอ่าวยอ
เช่นเดียวกับ ชัยรัตน์ สุตราม กลุ่มประมงพื้นบ้านเรือเล็กหมู่บ้านสามเสียมสะท้อนให้ฟังว่า ราคารับซื้ออาหารทะเลจะถูกกำหนดมาจากแพปลาหรือพ่อค้าคนกลางเท่านั้น บ่อยครั้งราคาก็ถูกลงเรื่อยๆ ด้วยข้ออ้างว่าของมีมาก ทำให้ชาวประมงแม้จับสัตว์ทะเลได้มากกลับยิ่งมีรายได้ลดน้อยลง จะไปขายที่อื่นที่ให้ราคาสูงกว่าก็เป็นการเพิ่มภาระค่าใช้จ่ายในการเดินทางและอาจถูกปฏิเสธการรับซื้อจากแพปลาเดิม ชาวประมงพื้นบ้านเรือเล็กไม่มีอำนาจต่อรองใดๆอย่างพวกเขา จึงต้องจำยอมขาย แม้จะถูกกดราคาจนถูกแสนถูกก็ตาม
ตลาดที่เป็นธรรม
จากที่หวังจะบรรเทาความลำบากในช่วงวิกฤติ เมื่อได้รับฟังปัญหาของชาวประมง โจน จันไดเห็นว่า ด้วยแนวทางการดำเนินกิจการของธรรมธุรกิจ วิสาหกิจเพื่อสังคม ที่เอาธรรมนำธุรกิจน่าจะเป็นทางออกในการแก้ปัญหาให้แก่ชาวประมงได้ จึงได้ตัดสินใจเปิดตลาดรับซื้ออาหารทะเลจากจากชาวประมง
โดยให้ชาวประมงเป็นผู้ร่วมกำหนดราคาของอาหารทะเลแต่ละชนิดตามที่ชาวประมงเห็นว่าเป็นธรรมสำหรับพวกเขา เป็นราคาที่ทำให้เศรษฐกิจในครอบครัวของพวกเขาอยู่ได้อย่างไม่ลำบาก และเป็นราคาที่คนกลางอย่างธรรมธุรกิจเองพอมีกำไรสามารถดำเนินกิจการต่อไปได้และต้องไม่แพงจนเกินไปสำหรับคนกิน จึงเกิดการพูดคุยเปิดใจกางตัวเลขให้เห็นชัดทุกฝ่ายจนได้ราคาที่พึงพอใจ
ซึ่งราคาที่มีการตกลงร่วมกันนี้สูงกว่าราคารับซื้อของแพปลาราว 10-20 บาท ทั้งนี้ราคาที่ตกลงร่วมกันจะเป็นราคาตายตัวไม่ผันผวนตามราคาตลาด แต่หากที่อื่นให้ราคาที่สูงกว่าพวกเขาก็สามารถนำไปขายได้ ไม่ได้มีพันธะผูกขาดกับธรรมธุรกิจแต่อย่างใด กำหนดสถานที่รับซื้อคือที่ชุมพรคาบาน่า ซึ่งเป็นที่ตั้งของร้านอาหารยักษ์กะโจน ร้านอาหารในเครือข่ายของธรรมธุรกิจ
พันธะสัญญาเพื่อความยั่งยืน
ชาวประมงใช้ทางมะพร้าวในการทำซั้งปลา การทำซั้งปลาเป็นภูมิปัญญาของชาวบ้านเพื่อดึงดูดสัตว์น้ำให้เข้ามาอาศัยอยู่
อย่างไรก็ตาม แม้จะมีการเปิดตลาดรับซื้ออาหารทะเลทั้งหมดจากชาวประมง แต่มีเงื่อนไขก็คือ พวกเขาจะต้องเป็นส่วนหนึ่งในการร่วมอนุรักษ์ฟื้นฟูทรัพยากรทางทะเล ไม่ว่าจะเป็นวิธีการทำประมงที่ไม่ผลาญทำลายธรรมชาติ การจับสัตว์น้ำในปริมาณและในช่วงเวลาที่พอเหมาะพอสม รวมถึงการใช้เครื่องมือที่เหมาะสมกับการจับสัตว์น้ำแต่ละชนิดด้วย นอกจากนี้เพื่อให้ได้อาหารทะเลที่สดสะอาดปลอดภัยสำหรับคนกิน จะต้องไม่ใช้สารเคมีใดๆในการเก็บรักษาอาหารทะเล ซึ่งเงื่อนไขเหล่านี้ชาวประมงมีความยินดีปฏิบัติเพราะเป็นแนวทางที่กลุ่มประมงพื้นบ้านอ่าวยอของพวกเขาถือปฏิบัติมาอย่างเคร่งครัดอยู่แล้ว ซึ่งพวกเขามองว่าเป็นเรื่องที่ดีอย่างยิ่งที่ผู้ประกอบการและผู้บริโภคตระหนักถึงความสำคัญของทรัพยากรทางทะเล
อาหารทะเลที่ได้จากการทำประมงพื้นบ้านเรือเล็ก ซึ่งชาวประมงจะนำมาขายที่ชุมพรคาบาน่าทันทีที่ขึ้นฝั่งเพื่อแปรรูปเก็บในห้องเย็น เพื่อรักษาคุณภาพของอาหารทะเล
ปลายทางของอาหารทะเลเหล่านี้จะถูกกระจายออกไปผ่านช่องทางการขายของธรรมธุรกิจ อาทิ ตลาดนัดธรรมชาติที่จัดขึ้นทุกวันเสาร์-อาทิตย์ ที่ถนนพระรามเก้า เป็นตลาดอาหารอินทรีย์จากลูกศิษย์กสิกรรมธรรมชาติทั่วประเทศ รถเร่ของธรรมธุรกิจ ที่วิ่งกระจายทั่วกรุงเทพฯ บริการอาหารอินทรีย์ถึงหน้าบ้านผู้บริโภค ร้านอาหารยักษ์กะโจนทุกสาขา และช่องทางออนไลน์ทั้งไลน์และเพจธรรมธุรกิจ
ตลาดอาหารอินทรีย์ จำหน่ายอาหารทะเลจากกลุ่มประมงพื้นบ้านอ่าวยอ ตลาดอาหารอินทรีย์ จำหน่ายอาหารทะเลจากกลุ่มประมงพื้นบ้านอ่าวยอ
คุณค่าและศักดิ์ศรีของชาวประมง
การเกิดขึ้นของตลาดรับซื้ออาหารทะเลของธรรมธุรกิจ วิสาหกิจเพื่อสังคม จากความตั้งใจที่อยากช่วยเหลือชาวประมงพื้นบ้าน ซึ่งเป็นประมงเรือเล็กของชาวบ้านคนเล็กคนน้อย ไม่เพียงสร้างความภาคภูมิใจให้แก่พวกเขาในฐานะที่เป็นผู้ลิตอาหารทะเล เป็นต้นทางในการสร้างระบบอาหารที่ปลอดภัยและเป็นธรรม สิ่งนี้ยังเป็นการกระจายอำนาจไปสู่ชาวประมงรายย่อยให้พวกมีปากมีเสียง มีอำนาจต่อรองในการกำหนดราคาในสินค้าที่พวกเขาลงทุนลงแรง ซึ่งชัยรัตน์ สุตราม ได้เปิดใจว่า
เป็นเรื่องที่ดีมาก ๆ ยี่สิบสามสิบปีที่ทำประมงมา มีแต่ต้องคอยถามว่าเขาว่าวันนี้จะรับซื้อเท่าไหร่ เรามันชาวประมงหาเช้ากินค่ำ จะแพงจะถูกก็ต้องขาย จับขึ้นจากทะเลแล้วก็ต้องขายให้หมด เช่นนั้นแหละ ชัยรัตน์ สุตราม กลุ่มประมงพื้นบ้านอ่าวยอ กล่าวทิ้งท้าย
พวกเขายอมรับว่าการมีตลาดแบบนี้ทำให้พวกเขามีความสบายใจมากขึ้น เพราะรู้รายได้ของตัวเองในแต่ละวัน ทำให้สามารถวางแผนการทำงานได้ จัดการชีวิตได้ดีขึ้น ไม่ต้องคอยห่วงหน้าพะวงหลังว่าจะมีรายได้พอเลี้ยงครอบครัวหรือไม่เหมือนแต่ก่อน อีกทั้งในช่วงฤดูมรสมที่ออกทะเลไม่ได้ พวกเขายังสามารถเข้าไปทำงานภายในชุมพรคาบาน่า ทั้งที่ร้านอาหารยักษ์กะโจนหรือที่ศูนย์กสิกรรมธรรมชาติเพลินได้อีกด้วย