บทความจากประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ที่จะอธิบายว่า การประมูลคลื่นไม่ได้ทำให้ผู้บริโภคต้องรับภาระเพิ่มขึ้น ไม่กระทบต่อประโยชน์สาธารณะ และยังเป็นวิธีที่ส่งเสริมการแข่งขันที่เป็นธรรมที่สุด
สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์
สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ)
1.บทบัญญัติว่าด้วยการประมูลคลื่นในร่างกฎหมาย
ในช่วงหน้าสิ่วหน้าขวานว่าจะมีการประมูลคลื่น 4G หรือไม่ เมื่อไร และอย่างไรนั้น เกิดปรากฏการณ์ที่ทั้งร่างรัฐธรรมนูญ และร่างพ.ร.บ.กสทช. ฉบับปรับปรุงแก้ไข ต่างมีบทบัญญัติเกี่ยวกับการจัดสรรคลื่นความถี่ ที่มีเนื้อหาที่แปลกดังนี้
ร่างรัฐธรรมนูญ: “…การจัดสรรคลื่นความถี่ต้องให้ความสำคัญต่อการแข่งขันอย่างเสรีและเป็นธรรมและการให้บริการอย่างทั่วถึง ได้มาตรฐาน มีคุณภาพ และในราคาที่ประชาชนทั่วไปเสียค่าใช้จ่ายน้อยที่สุด มากกว่าการมุ่งหารายได้เข้ารัฐ หรือเข้า กสทช.”
ร่างกฎหมาย กสทช.: “…ในการประกอบการทางธุรกิจ การคัดเลือกให้ทำโดยวิธีประมูล แต่หลักเกณฑ์การประมูลต้องคำนึงถึงประโยชน์สาธารณะ และประโยชน์ที่ผู้บริโภคได้รับ โดยจะคำนึงถึงจำนวนเงินที่เสนอให้แต่เพียงอย่างเดียวมิได้”
แม้ร่างรัฐธรรมนูญไม่ได้กล่าวถึงการประมูลคลื่นโดยตรง แต่ก็กล่าวถึงวิธีการหารายได้เข้ารัฐ ซึ่งเป็นผลพลอยได้ที่สำคัญของการประมูล จึงน่าจะเข้าใจได้ว่า ร่างรัฐธรรมมุ่งหมายไม่ให้ใช้วิธีประมูลคลื่น ในขณะที่ร่างพ.ร.บ.กสทช. เดิมก็เปิดช่องให้ กสทช. ไม่ต้องประมูลคลื่น แต่ภายหลังเมื่อถูกวิพากษ์วิจารณ์มากก็ถูกแก้ไขให้ต้องประมูลคลื่น แต่ห้ามใช้ “รายได้จากการประมูลอย่างเดียว” มาเป็นเกณฑ์ตัดสิน ดังข้อความที่ยกมาข้างต้น
ทั้งร่างรัฐธรรมนูญ และ ร่างพ.ร.บ.กสทช. สะท้อนความเข้าใจผิดต่อการประมูลคลื่น 3 ประการคือ
1. การประมูลคลื่นทำให้ประชาชนเสียค่าบริการแพง
2. การประมูลคลื่นโดยดูจากมูลค่าอย่างเดียวไม่สอดคล้องกับประโยชน์สาธารณะ
3. การประมูลคลื่นขัดขวางการแข่งขันอย่างเสรีและเป็นธรรมและการให้บริการอย่างทั่วถึง ได้มาตรฐาน และมีคุณภาพ
การโหมสร้างความเข้าใจผิดต่อสังคมว่า การประมูลคลื่นไม่เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะและสร้างภาระแก่ผู้บริโภคนั้น เคยเกิดมาแล้วในช่วงการประมูลคลื่น 3G แต่ก็ไม่เกิดขึ้นในช่วงประมูลคลื่นทีวีดิจิทัล ทำให้น่าสงสัยว่าเกี่ยวข้องกับผู้ประกอบกิจการโทรคมนาคมบางรายหรือไม่
บทความนี้มีจุดประสงค์ที่จะอธิบายว่า การประมูลคลื่นไม่ได้ทำให้ผู้บริโภคต้องรับภาระเพิ่มขึ้น ไม่กระทบต่อประโยชน์สาธารณะ และยังเป็นวิธีที่ส่งเสริมการแข่งขันที่เป็นธรรมที่สุด
2.มูลค่าประมูลคลื่นไม่มีผลต่อค่าบริการ
มูลค่าประมูลคลื่นไม่มีผลต่อค่าบริการ เพราะค่าบริการขึ้นอยู่กับอุปสงค์ (demand) และอุปทาน (supply) ในตลาด เช่น เมื่อผู้ประกอบการประมูลคลื่น 3G มาได้ในราคาถูกมาก (ถูกกว่าราคาที่ กสทช. ประเมินไว้) ก็ไม่ปรากฏว่า ผู้ประกอบการลดราคาให้แก่ผู้บริโภค แม้ กสทช. จะแสดงท่าทีกดดันให้ลดราคาลงจากเดิม 15% ก็ตาม และต่อให้ผู้ประกอบการได้คลื่นไปฟรี ก็อย่าไปหวังว่าจะมีการลดราคาให้เรา เพราะการได้คลื่นฟรี ถือเป็น “ลาภลอย” ในทางตรงกันข้าม เมื่อผู้ประกอบการทีวีดิจิทัลเชิงธุรกิจ ประมูลคลื่นได้ในราคาที่สูง ก็ไม่ปรากฏว่า สถานีโทรทัศน์ดิจิทัลจะสามารถคิดค่าโฆษณาสูงกว่าฟรีทีวีที่ได้คลื่นไปถูกกว่าแต่อย่างใด
จะว่าไปแล้ว คลื่นความถี่ก็เป็นทรัพยากรธรรมชาติเหมือนทองคำ สมมติว่ามี ผู้ประกอบการ 2 ราย รายหนึ่งจ่ายค่าสัมปทานเหมืองทองคำไปในราคาสูงมาก อีกรายได้ไปฟรีๆ ทั้งสองรายก็จะยังคงขายทองที่ขุดได้ในราคาเดียวกันคือ ราคาตามตลาดโลก ซึ่งกำหนดจากอุปสงค์และอุปทานนั่นเอง
3.รายได้จากการประมูลคลื่นที่รัฐได้รับมาจากกำไรของผู้ประกอบการ
ถ้าการประมูลคลื่นไม่ได้ทำให้ผู้บริโภคต้องรับภาระเพิ่ม แล้วรายได้จากการประมูลมาจากไหน? เพื่อตอบคำถามนี้ ลองสมมติกันว่า ท่านผู้อ่านเป็นผู้ประกอบการที่เข้าประมูลคลื่น 4G คำถามคือ ท่านจะเสนอราคาประมูลเท่าไร? ท่านจะตอบคำถามดังกล่าวโดยทำแผนธุรกิจ (business plan) ดังนี้
1. ก่อนอื่น ท่านจะดูว่าตลาดมีคู่แข่งกี่ราย จะแข่งกันเพียงใด พร้อมกับดูว่า ผู้ใช้บริการจะยอมจ่ายสูงสุดเท่าไร ซึ่งจะทำให้รู้ว่าควรกำหนดราคาค่าบริการเท่าไรถึงจะได้กำไรสูงสุด
2. ท่านจะคำนวณดูว่า การได้คลื่น 4G จะก่อให้เกิดรายได้แก่ท่านเท่าไร ตามค่าบริการที่คิดมาแล้วในข้อแรก เช่นสมมติว่า ได้รายได้ 1 แสนล้านบาทในการให้บริการตลอดอายุใบอนุญาต
3. ท่านจะคำนวณต่อไปว่า ต้องลงทุนต่างๆ เท่าไรเพื่อให้ได้รายได้ข้างต้น เช่น ต้องลงทุน 3 หมื่นล้านบาทซึ่งทำให้ท่านมีกำไรขั้นต้นที่ 7 หมื่นล้านบาท (1 แสนล้านบาทลบ 3 หมื่นล้านบาท)
4. ท่านจะไม่มีทางประมูลคลื่นสูงกว่า 7 หมื่นล้านบาท เพราะจะขาดทุน แต่จะประมูลสูงเท่าไร ก็ขึ้นอยู่กับว่ามีการแข่งขันในการประมูลเพียงใด เช่น ถ้าแข่งขันกันน้อย ท่านก็อาจจะประมูลที่ราคาเพียง 5 พันล้านบาท และมีกำไรสุทธิ 6.5 หมื่นล้านบาท แต่ถ้ามีการแข่งขันในการประมูลมากขึ้น ท่านอาจต้องประมูลที่ 2 หมื่นล้านบาท และมีกำไรสุทธิลดลงเหลือ 5 หมื่นล้านบาท
5. ไม่ว่าท่านจะได้คลื่นมาที่ 5 พันล้านบาทหรือ 2 หมื่นล้านบาท ท่านก็จะคิดค่าบริการเท่าเดิมตามข้อ 1 ซึ่งเป็นราคาสูงสุดที่ผู้ใช้บริการยอมจ่าย
จากที่กล่าวมา จะเห็นว่า ถ้าราคาประมูลสูง ผู้ประกอบการจะได้กำไรลดลง ขณะที่รัฐได้รายได้มากขึ้น ทำให้รัฐลดความจำเป็นในการเก็บภาษีจากประชาชน การประมูลจึงเป็นการแบ่งกำไรระหว่างรัฐกับผู้ประกอบการ โดยผู้บริโภคไม่ถูกกระทบ การประมูลได้ราคาสูงๆ เป็นการดูดกำไรของเอกชนมาเป็นกำไรของรัฐ (หรือของประชาชนผู้เสียภาษี) นั่นเอง
4.การประมูลไม่ได้ขัดขวางประโยชน์สาธารณะ
ถ้าท่านยังห่วงว่า ผู้บริโภคอาจถูกเก็บค่าบริการสูงด้วยเหตุผลใดก็ตาม วิธีหนึ่งที่จะช่วยให้ท่านอุ่นใจก็คือ การที่ กสทช. กำหนดค่าบริการสูงสุดไว้ล่วงหน้าก่อนประมูล เช่น ห้ามคิดค่าบริการเกินนาทีละ 0.50 บาท เมื่อทำแผนธุรกิจ ผู้ประกอบการก็จะรู้เองว่า สมควรจะยื่นประมูลคลื่นเท่าไร จากค่าบริการสูงสุดที่จัดเก็บได้ดังกล่าว
เช่นเดียวกัน หาก กสทช. ต้องการให้บริการ 4G มีมาตรฐานคุณภาพดีเพียงใด และต้องให้บริการอย่างทั่วถึงอย่างไร ก็สามารถกำหนดเป็นเงื่อนไขให้ผู้ชนะการประมูลต้องปฏิบัติตามได้ โดยการประมูลยังคงสามารถใช้หลักเกณฑ์เดียวคือ มูลค่าการประมูลสูงสุด ซึ่งไม่ได้ขัดขวางประโยชน์สาธารณะแต่อย่างใด
การประมูลแบบยึดมูลค่าการประมูลสูงสุด ยังทำให้เกิดการแข่งขันที่เป็นธรรม เพราะทำให้ยากต่อการวิ่งเต้น ในทางตรงกันข้าม การจัดสรรคลื่นโดยไม่ประมูล แต่ใช้วิธีอื่นเช่น วิธีการคัดเลือก หรือประมูลโดยใช้หลายๆ เกณฑ์ จะไม่เป็นประโยชน์สาธารณะ เพราะจะทำให้เกิดการวิ่งเต้นกันขนานใหญ่ และลงท้ายด้วยการที่ กสทช. จัดสรรคลื่นความถี่ในราคาที่ต่ำมาก ให้ผู้ประกอบการนักวิ่งเต้นเอาไปทำกำไรมหาศาล