เรียบเรียงโดย สถานีฝุ่นปี 2
ช่วงฤดูหนาวภาคเหนือเป็นหนึ่งสัญญาณของการท่องเที่ยว ที่หลายคนต่างต้องมาสัมผัสบรรยากาศอากาศที่หนาวเย็น แต่อีกด้านหนึ่งก็เป็นช่วงเริ่มต้นของฤดูฝุ่นควันไฟป่า และจะยาวไปช่วงหน้าแล้ง (ตั้งแต่เดือนมกราคมถึงเมษายน) ซึ่งหลายพื้นที่เริ่มมีสัญญาณความเเห้งเเล้ง สภาพความความกดอากาศ และอากาศแห้งแล้ง เรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่เป็นปัญหาเรื้องรัง และเป็นเรื่องใหญ่ที่เป็นวาระแห่งชาติซึ่งต้องอาศัยพลังและการทำงานร่วมของหลายภาคส่วน
วันที่ 25 พฤศจิกายน 2565 เวลา 11.00 น. กลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนบน 1 จัดงานประชุม ณ ห้องประชุมเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา ศูนย์ราชการจังหวัดเชียงใหม่ ในหัวข้อ “การประชุมหารือแนวทางในการป้องกันและแก้ไขปัญหาหมอกควันไฟป่าของกลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนบน 1 ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566”
การประชุมหารือกันระหว่าง 4 จังหวัด ภาคเหนือตอนบน 1 ได้แก่ จังหวัดเชียงใหม่ จังหวัดแม่ฮ่องสอน จังหวัดลำปาง และจังหวัดลำพูน ร่วมกับภาคประชาสังคม สภาลมหายใจ เพื่อร่วมกันหาแนวทางการป้องกันและแก้ไขปัญหาหมอกควันไฟป่าอย่างยั่งยืน โดยมีผู้เข้าร่วมประชุมหลักคือ นายนิรัตน์ พงษ์สิทธิถาวร ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่, นายเชษฐา โมสินรัตน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดแม่ฮ่องสอน, นายชัชวาลย์ ฉายะบุตร ผู้ว่าราชการจังหวัดลำปาง และนายสันติธร ยิ้มละมัย ผู้ว่าราชการจังหวัดลำพูน
สภาพปัญหาของกลุ่ม 4 จังหวัดภาคเหนือตอนบน 1 ในช่วงปี 2562 – 2565
เมื่อเทียบสภาพปัญหาคุณภาพอากาศ (PM 2.5) จุดความร้อนสะสม(Hotspot) และจำนวนพื้นที่เผาไหม้สะสมในพื้นที่กลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนบน 1 (จังหวัดเชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน ลำปาง และลำพูน) ระหว่างวันที่ 1 มกราคม – 31 พฤษภาคม ในช่วงเวลาตั้งแต่ปี 2562 – 2565 นับว่าสถานการณ์ในปี 2565 ดีขึ้นเมื่อเทียบกับปีก่อน ๆ
จากข้อมูลค่าคุณภาพอากาศ (PM 2.5) เฉลี่ย 24 ชั่วโมง พบว่าเมื่อวันที่ 27 มีนาคม ปี 2563 จังหวัดลำปาง มีค่าเกินมาตรฐาน (50 มคก./ ลบ.ม.) มากที่สุดจำนวน 85 วัน ปริมาณสูงสุด 263 มคก./ลบ.ม และวันที่ 14 กุมภาพันธ์ ปี 2565 จังหวัดลำพูน มีค่ามาตรฐาน (50 มคก./ ลบ.ม.) น้อยที่สุด จำนวน 11 วัน ปริมาณสูงสุด 68 มคก./ลบ.ม
จากข้อมูลจุดความร้อนสะสม (Hotspot) พบว่าปี 2563 มีจุดความร้อนสูงสุดสะสมสูงสุด จำนวน 50,001 จุด มากที่สุดในพื้นที่เชียงใหม่ มากที่สุดในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ จำนวน 21,658 จุด และ ปี 2565 มีจำนวนจุดความร้อนสะสมน้อยที่สุด จำนวน 21,658 จุด มากที่สุดในพื้นที่จังหวัดแม่ฮ่องสอน จำนวน 5,214 จุด
จากข้อมูลจำนวนพื้นที่เผาไหม้สะสมในพื้นที่กลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนบน 1 พบว่าในปี2563 รวม 4 จังหวัด มีพื้นที่เผาไหม้ทั้งหมด จำนวน 5,562,165 ไร่ มากที่สุด และปี 2565 มีพื้นที่เผาไหม้ทั้งหมด จำนวน 1,561,087 ไร่
จากสถิติข้างต้น ทำให้เห็นว่าในปี 2565 มีสภาพปัญหาคุณภาพอากาศ (PM 2.5) จุดความร้อนสะสม (Hotspot) และจำนวนพื้นที่เผาไหม้สะสมในพื้นที่กลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนบน 1 ที่ลดลงเมื่อเทียบกับ ปี 2563 ซึ่งเป็นปีที่หนักที่สุด
การหลอมรวมทรัพยากรในการแจ้งเตือน ให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน ทั้ง 4 จังหวัดคือหัวใจสำคัญ
นายกริชสยาม คงสตรี ผู้อำนวยการสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดเชียงใหม่ กล่าวว่า ด้าน มาตรการของกระทรวงทรัพย์และสิ่งแวดล้อม นั้น เน้นไปที่ “การสื่อสารเชิงรุก ยกระดับปฏิบัติการ สร้างการมีส่วนร่วม” เป็นหลัก เร่งรัดเชิงรุก 7 วัน พร้อมทั้งยกระดับ การดำเนินงาน แก้ไขปัญหามลพิษด้านฝุ่นละออก ทั้งกลุ่มที่ได้รับผลกระทบ และกลุ่มที่ได้รับผลกระทบ
มีการชิงเก็บ ลด เผา และเบรินเช็ค ติดตามอย่างต่อเนื่อง ลดจุดความร้อนป้องกันควบคุมไฟในทุกพื้นที่ ผลักดันกลไกระหว่างประเทในเรื่องฝุ่นควันข้ามแดน และให้ทุกภาคส่วนมีส่วนร่วมในการวางแผนร่วมกัน ทั้งภาคเอกชน ประชาสังคม มหาวิทยาลัย
การบูรณาการร่วมกันของกลุ่มจังหวัดเหนือตอนบน 1 ซึ่งมองเรื่องสภาพภูมิอากาศ บริบทสังคม ที่มีความคล้ายคลึงกัน มีการตกลงการทำ MOU ร่วมกันทั้ง 4 จังหวัด เจตนารมณ์คือ ร่วมกำหนดการเผาในที่โล่งในเวลาเดียวกัน ประกาศห้ามเผา 15 กุมพาพันธ์ – 16 เมษายน 2566 เป็นเวลาทั้งสิ้น 75 วัน
ร่วมกำหนดแนวทางพื้นที่รอยต่อ จัดการเดินลาดตระเวน และการทำแนวกันไฟ ปฏิบัติการดับไฟป่าร่วมกัน กำหนดรายอำเภอแนบท้ายแนวข้อตกลง การใช้เทคโนโลยีเข้ามา ด้านแอปพลิเคชัน ถ่ายทอดข้อมูลสถิติ PM 2.5 เป็นไปในทิศทางเดียวกัน เข้มงวดปัจจัยอื่น ๆ ที่ทำให้เกิดฝุ่น เช่น รถยนต์ โรงงาน ให้เข้มงวดยิ่งขึ้น
หัวใจสำคัญคือการเปลี่ยน KPI จากไม่เผาเลย เป็นการเข้าใจบริบทพื้นที่
ในช่วงที่ผ่านมา เราจะเห็นว่ารัฐมีการจัดการกับปัญหาฝุ่นละออง PM 2.5 โดยการที่มุ่งเน้นไปที่การห้ามเผาโดยเด็ดขาด ซึ่งในความเป็นจริงแล้ว มาตรการนี้ไม่สามารถนำมาใช้ได้ในทุกพื้นที่ เนื่องจากในบางพื้นที่มีความจำเป็นที่จะต้องเผาเพื่อการเกษตร หรือเป็นวิถีชีวิตของชาวบ้าน 4 จังหวัด จึงมีการตกลงร่วมกันกำหนดช่วงเวลาการห้ามเผาในที่โล่งทุกชนิดให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน จากเดิมคือ ห้ามเผาเด็ดขาด เปลี่ยนเป็นให้ผู้ที่มีความจำเป็นสามารถทำเรื่องขอเผาได้ โดยจะมีการบริหารจัดการเชื้อเพลิงโดยหน่วยงานรัฐ และในพื้นที่ที่มีการลงทะเบียนของจังหวัดเท่านั้น เพื่อเป็นการปรับไปตามบริบทให้สอดคล้องกับวิถีชีวิตของพื้นที่ในบริเวณนั้น
ไฟข้ามเขต ไม่ได้มองแค่ไหนพื้นที่ของตัวเอง แต่มองเป็นพื้นที่เดียวกัน
“หมอกควันมันไม่มีพรมแดน มันกระจายไปทั้งหมด”
นายเชษฐา โมสินรัตน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดแม่ฮ่องสอน ได้แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับประเด็นไฟป่าบริเวณเขนรอยต่อไว้ว่า มาร่วมกันทุกจังหวัดเพราะว่าปัญหาฝุ่นควันไฟป่ามันกระทบทั่วทั้งภูมิภาค การแก้ปัญหามันต้องร่วมมือกัน และในปีนี้ก็มีโอกาสได้มาพูดคุยร่วมกันและมีแผนการทำงานด้วยกัน ทางเลือกในการปฏิบัติการประสานงานกัน และการแลกเปลี่ยนข้อมูล ซึ่งทำให้มีการแก้ปัญหาที่มันคาบเกี่ยวระหว่างจังหวัด มีประสิทธิภาพมากขึ้น เราจะร่วมมือกับทุกจังหวัดที่มีชายแดนติดกัน รวมถึงประเทศเพื่อนบ้านด้วยนะครับ เราก็ขอความร่วมมือกับเขาอยู่ ส่วนภายในของเราในการดำเนินการร่วมกันต่างๆเราก็ทำร่วมกันอยู่ เพียงแต่ว่าเราจะสื่อสารกันมากขึ้นเพื่อไม่ให้ปัญหาลุกลาม “หมอกควันมันไม่มีพรมแดนมันกระจายไปถึงการทั้งหมด” ความร่วมมือนี่ก็เป็นสิ่งสำคัญ ถ้าได้ผลคนทั้งภูมิภาคก็จะได้ประโยชน์ เราจะมีอากาศที่บริสุทธิ์มากขึ้นสุขภาพอนามัยจะดีขึ้น ที่สำคัญบรรยากาศการท่องเที่ยวของเราก็จะดีขึ้นด้วย ทำให้คนอยากจะมาเที่ยวภาคเหนือของเรา เศรษฐกิจก็จะดีขึ้นผู้คนภาคเหนือของเราก็จะมีความสุข
ความคิดเห็นของภาคประชาสังคมต่อมาตรการ
ในการประชุมหารือครั้งนี้ ก็มีตัวแทนของภาคประชาสังคมเข้ามารับฟังเช่นกัน โดยนายวิทยา ครองทรัพย์ ผู้ประสานงานสภาลมหายใจ ได้ให้ความคิดเห็นไว้ว่า ในแต่ละจังหวัดก็มีปัญหาพื้นที่การเผาซ้ำซากเหมือนกัน และไม่เห็นว่ามีการระบุไว้ในเอกสารจึงอยากให้ท่าน ให้ความสนใจด้วย อย่างเช่นในจังหวัดเชียงใหม่ก็มีพื้นที่เขื่อนแม่กวงที่มีการเผาซ้ำซากทุกปี ในจุดเดิมเดิมทุกปี อยากให้ท่านให้ความใส่ใจในเรื่องนี้ซึ่งท่านก็รับฟัง เรียนอีกครั้งว่าในฐานะที่เป็นตัวแทนของภาคประชาชน ผมรู้สึกพึงพอใจกับการเริ่มต้นครั้งนี้นะครับ ปัญหาเหล่านี้ก็จะไม่หายทันทีในปีนี้นะครับ แต่ถือว่าเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีนะครับ เมื่อไหร่ก็ตามที่มีการเริ่มต้นร่วมกันอย่างจริงจังและลงมือทำไปสักพัก เป็นคณะทำงานในระดับภาคทั้งแปดจังหวัด หรือว่ารวมจังหวัดตากอีกหนึ่งจังหวัดเป็นเก้าจังหวัดเพิ่มขึ้นมา สิ่งเรานั้นก็จะเป็นประโยชน์กับพี่น้องภาคเหนือของเรา ซึ่งก็คือการบริหารแก้ไขปัญหาฝุ่นควัน ก็จะเป็นระบบทั้งหมดเลย ก็จะทำให้พวกเราทุกคนรอดพ้นจากวิกฤตนี้ได้
จากการประชุมหารือแนวทางในการป้องกันและแก้ไขปัญหาหมอกควันไฟป่าของกลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนบน 1 ในครั้งนี้ได้ข้อสรุปถึงประเด็นการแก้ไขปัญหาที่เปลี่ยนไปจากเดิม มุ่งเน้นเป็นการร่วมมือกันระหว่างกลุ่มจังหวัด ผนึกกำลังกันแก้ไขปัญหาให้สามารถดำเนินงานไปในทิศทางเดียวกัน ช่วยกันสอดส่องและเตือนภัยปัญหาไฟป่า และฝุ่นละออง PM 2.5 ซึ่งมีการปรับเปลี่ยนวิธีการให้สอดคล้องตามบริบทของพื้นที่นั้น ๆ โดยขอความร่วมมือในการบูรณาการจากภาคส่วนต่าง ๆ ทั้งจากภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน นับว่าเป็นก้าวแรกที่น่าจับตามองว่ามาตราการที่ออกมานี้จะสามารถลดปัญหาไฟป่า และฝุ่นควัน PM 2.5 ที่มีมานานนับทศวรรษ ได้ตามความหวังที่คนภาคเหนือจะกลับมามีอากาศบริสุทธ์เพื่อหายใจได้มากน้อยเพียงใด