คนมวกเหล็ก หวั่นผลกระทบ เดินหน้าค้านสัมปทานเหมืองหินรอบ 2

คนมวกเหล็ก หวั่นผลกระทบ เดินหน้าค้านสัมปทานเหมืองหินรอบ 2

ชาวบ้าน ต.ทับกวาง อ.แก่งคอย และ ต.มิตรภาพ อ.มวกเหล็ก จ.สระบุรีร่วมเวทีประชาพิจารณ์ครั้งที่ 2 กรณีสัมปทานเหมืองแร่ปูนซีเมนต์ ของบริษัท ทีพีไอ โพลีน จำกัด (มหาชน) จำนวน 230 ไร่ ในพื้นที่ป่าต้นน้ำ 1A ของมวกเหล็ก ชุมชนกังวลผลกระทบสิ่งแวดล้อม พร้อมยื่นข้อเสนอแนะ 10 ข้อ 

บรรยากาศเวทีประชาพิจารณ์ครั้งที่ 2

เมื่อวันที่ 23 พ.ย. 2565 ชาวบ้านในพื้นที่ ต.ทับกวาง อ.แก่งคอย และ ต.มิตรภาพ อ.มวกเหล็ก จ.สระบุรี  ร่วมเวทีประชาพิจารณ์คัดค้านการทำเหมือนแร่ปูนซีเมนต์ของ บริษัท ทีพีไอ โพลีน จำกัด (มหาชน) คำขอประทานบัตรที่ 100/2558 จำนวน 230 ไร่ ในพื้นที่ ต.ทับกวาง อ.แก่งคอย และ ต.มิตรภาพ อ.มวกเหล็ก จ.สระบุรี

คณิน รูมะปาน ประชาชนผู้ได้รับกระทบในพื้นที่ ต.มวกเหล็ก อ.มวกเหล็ก จ.สระบุรี และเป็นผู้ที่เคยออกมาเรียกร้องเรื่องฝุ่นควันต่อเลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพ ระบุว่า สิ่งที่ชาวบ้านกังวลหลัก ๆ ของการประชาพิจารณ์ครั้งนี้ คือ บริเวณ ต.มิตรภาพ ต.มวกเหล็ก และเขตเทศบาลมวกเหล็กมักได้ได้รับผลกระทบจากฝุ่น และกลิ่นจากการทำเหมืองแต่ก็ไม่ได้รับการแก้ไขปัญหาอย่างจริงจัง รวมถึงเสี่ยงสูญเสียความหลากหลายของชนิดสัตวป่าในพื้นที่แนวเขตสัมปทานเหมืองหินปูน ที่ชาวบ้านพบถึง 13 ชนิดซึ่งสะท้อนความอุดมสมบูรณ์ของ อย่างเลียงผา หมีควาย เสือลายเมฆ ซึ่งอยู่ในสถานะการอนุรักษ์และเข้าข่ายเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์อยู่แล้ว การจะย้ายสัตว์เหล่านี้ออกจากพื้นที่ตามที่บริษัท ทีพีไอ แจ้ง เป็นไปได้ยากมาก 

คณินให้ข้อมูลถึงข้อเสนอแนะเบื้องต้นต่อการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนครั้งที่ 2 ว่าประกอบด้วย 10 ข้อ  คือ 

1. โครงการทําเหมืองแร่หินอุตสาหกรรมชนิดหินปูนและหินดินดานเพื่ออุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ รัฐต้องเว้นการขออนุญาตประทานบัตรหรือสัมปทาทําเหมืองโดยสิ้นเชิง ในพื้นที่คําขอประทานบัตรที่ 100/2558

2. จากภาวะโลกรวน (ClimateChange) เห็นควรให้มีการดําเนินการเพิ่มเติมในเรื่อง     

       2.1 ตรวจวัดคุณภาพอากาศเป็นประจําทุกเดือน เพื่อเป็นข้อมูลฐาน (Baseline Data) ของแบบ แผน (Pattern) การฟุ้งกระจายทั้งฝุ่นละอองรวม (TSP) และฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 10 ไมครอน (PM-10) ครบ ทุกฤดูกาล ตลอดปี เพื่อเป็นข้อมูลสําหรับการป้องกันแก้ไขปัญหาในอนาคต โดยแสดงข้อมูลเป็นตารางค่าสูงสุด ต่ำสุด เฉลี่ย และกราฟเส้นเพื่อดูแนวโน้มความรุนแรงในแต่ละช่วงเวลา

      2.2 ตรวจวัดคุณภาพน้ําเป็นประจําทุกเดือน เพื่อเป็นข้อมูลฐาน (Baseline Data) ของแบบแผน (Pattern) การเปลี่ยนแปลงคุณภาพน้ําตลอดปี เพื่อเป็นข้อมูลสําหรับการป้องกันแก้ไขปัญหาในอนาคต โดย แสดงข้อมูลเป็นตารางค่าสูงสุด ต่ำสุด เฉลี่ย และกราฟเส้น 

      2.3 ประเมินค่าสมดุลน้ํา (Water Balance) ของปริมาณการใช้น้ําของบริษัทเทียบกับปริมาณ น้ําฝน น้ําท่า และน้ําใต้ดินที่นํามาใช้ในการดํ าเนินงาน เพื่อเป็นแนวทางในการป้องกัน/แก้ไขปัญหาขัดแย้งเรื่อง การจัดสรร/การใช้ทรัพยากรน้ํากับชุมชนในพื้นที่ในอนาคต

3. จัดทํารายงานการสํารวจและบัญชีชนิดพันธุ์พืชและสัตว์ในพื้นที่ โดยเฉพาะชนิดพันธุ์เฉพาะถิ่น (Endemic Species) ชนิดพันธุ์หายาก (Rare Species) ชนิดพันธ ชนิดพันธุ์ เปราะบาง (Vulnerable Species) ชนิดพันธุ์

4. แสดงแผนที่ภาพถ่ายทางอากาศที่ชี้ให้เห็นถึงพ้ืนท่ีดําเนินการ แนวการปลูกต้นไม้บริเวณปากขอบ เหมืองและพื้นที่ภายในเหมือง บ่อรวบรวมน้ํา (Sump) พร้อมทั้งพื้นท่ีใกล้เคียงต่างๆ เช่น พื้นที่ป่าชุมชน อย่าง ชัดเจนและเป็นปัจจุบัน

5. รายงานผลการดําเนินงานของ “กองทุนเฝ้าระวังสุขภาพ” และ “กองทุนพัฒนาหมู่บ้านรอบพื้นท่ีเหมือง” เพื่อแสดงถึงการมีส่วนร่วมของชุมชนในพื้นที่ ความโปร่งใสและเป็นธรรมในการดําเนินงาน

6. ด้านสุขภาพให้มีการติดตามประเมินผลและจัดทํารายงานในลักษณะที่เป็นผลกระทบสะสม (Accumulation Effect) อย่างต่อเนื่องด้วย

7. ให้มีการรวบรวมข้อมูลที่เกี่ยวข้องจากการศึกษาในพื้นที่ท้ังจากทางราชการ และภาคเอกชน ประกอบ ในการทํารายงาน

8. การประเมินผลกระทบในกรณีเลวร้ายควรดําเนินการทุก3-5 ปี มิใช่ปีที่30ซึ่งเป็นช่วงปีสุดท้ายตาม แผนการทําเหมือง ซึ่งจะทําให้การหาสาเหตุที่เป็นรากแห่งปัญหา (Root Cause) ทําได้ยาก และอาจส่งผลกระทบกว้างขวางเกินกว่าที่จะควบคุมได้ อันเนื่องมาจากปัจจัยภายนอก เช่น ภาวะโลกรวน ท่ีอาจสมทบทําให้ เกิดความรุนแรงมากขึ้น

9. จัดให้มีโครงการ “Open House” ที่ผู้มีส่วนได้เสียในพื้นที่สามารถเข้าเยี่ยมชมและประเมินผลการ ดําเนินงานแบบ “Walk Through” ในพื้นที่ดําเนินการ ปีละ 2 คร้ัง

10. เปิดให้มีการทวนสอบความครอบคลุม ถูกต้อง โปร่งใส ของ (ร่าง) รายงานฉบับสมบูรณ์จากนักวิชาการอิสระในพื้นที่ก่อนนําเสนอ สผ.

ท้ังนี้ ชุมชนต้องการขอทราบความก้าวหน้าในการพิจารณาข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะดังกล่าวข้างต้น ภายในเวลา 5 วันทําการ ภายหลังจากเสร็จส้ินรับฟังข้อคิดเห็นคร้ังที่ 2 นี้ โดยการส่งเอกสารคําชี้แจงไปที่ ผู้ใหญ่ทุกหมู่ที่ เกี่ยวข้อง อบต. มิตรภาพ และองค์กรคุ้มครองสิ่งแวดล้อมและอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ ป่ามิตรภาพ

ด้าน ดร.เรืองเกียรติ​ สุวรรณุโนภาส​ ประธานองค์กรคุ้มครองสิ่งแวดล้อมและอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติป่ามิตรภาพ เล่าว่า ถ้าดูแผนที่จาก Google Map จะเห็นว่าแปลงสัมปทานที่ 100/2558 ที่จะเป็นเหมืองนั้น ตั้งอยู่บนป่าต้นน้ำ 1A ซึ่งเป็นตัวชี้วัดชั้นคุณภาพลุ่มน้ำ (Watershed classification) ชั้น 1A ในทางวิชาการด้านสิ่งแวดล้อม จัดว่าเป็นพื้นที่ป่าต้นน้ำที่มีคุณภาพสมบูรณ์ที่สุด ควรสงวนรักษาไว้เป็นพื้นที่ต้นน้ำลำธาร

ดร.เรืองเกียรติ ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า แปลงที่ 100/2558 เป็นการขอใหม่และขอต่ออายุการทำเหมืองเพราะบริษัท ทีพีไอ ทำมาตั้งแต่ปี 2562 แล้ว ถึงมาทำเรื่องขอสัมปทานทีหลังเมื่อกลางปี 2565 ซึ่งทางบริษัทอ้างเหตุผลที่ขอแปลงนี้เพราะเป็นแปลงเชื่อมกันกับแปลงเดิมที่ทำเหมือง 

“ผมเคยสอบถามไปที่กรมป่าไม้แล้วว่า แปลง100/2558 มันมีการบุกรุกไหม หรือมีการทำอะไรไปบ้างหรือยัง เพราะชาวบ้านลองดูภาพจาก google map แล้วมันมีร่องรอยบุกรุกเข้าไปทำเหมือง ซึ่งคุณภาพลุ่มน้ำที่นี่เป็นลุ่มน้ำ 1A เป็นแหล่งน้ำที่อุดมสมบูรณ์มาก มันไม่ควรจะเปิดหน้าดินทำลาย เรื่องสัตว์ป่าด้วยที่ยังมีในบริเวณนี้หมดเลย ที่พบถึง 13 ชนิด ซึ่งแปลว่ามันมีความอุดมสมบูร์มาก บริษัทบอกจะจับย้ายสัตว์ออกมาจากแหล่งเดิม ซึ่งมันเป็นไปไม่ได้ อยู่ ๆ คุณไปย้ายถิ่นฐานของสัตว์มันก็เสียหมด สัตว์มันก็อยู่ไม่ได้ แล้วการรองรับความเสียหายก็ไม่มีความชัดเจนเลย” ดร.เรืองเกียรติ กล่าว 

ทั้งนี้ ดร.เรืองเกียรติ ยังเล่าว่า การเปิดรับฟังความคิดเห็นเมื่อวันที่ 23 พ.ย. นี้ ชาวบ้านเรียกร้องไปว่าอยากขอให้มีการทบทวนการสัมปทานพื้นที่แปลงที่ 100/2558 และอยากให้ถอนสัมปทานเพื่อปกป้องป่า

“การทำประชาพิจารณ์ครั้งนี้ สังเกตได้ว่าไม่มีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมด้วย อย่างกรมป่าไม่ได้เข้าร่วมเลย ส่วนผู้ที่เข้าร่วมก็เห็นด้วยกับการทำเหมือง เกิน 50% มันเป็นการกระทำที่ไม่ถูกต้อง มันไม่มีความโปร่งใส ” ดร.เรืองเกียรติ ระบุ 

000

ขอบคุณข้อมูลจาก

คณิน รูมะปาน ประชาชนผู้ได้รับกระทบในพื้นที่ ต.มวกเหล็ก อ.มวกเหล็ก จ.สระบุรี
ดร.เรืองเกียรติ​ สุวรรณุโนภาส​ ประธานองค์กรคุ้มครองสิ่งแวดล้อมและอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติป่ามิตรภาพ

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ