ฟังเสียงประเทศไทย I ขอนแก่น CAN DO

ฟังเสียงประเทศไทย I ขอนแก่น CAN DO

เรียบเรียง : นาตยา สิมภา

ฟังเสียงประเทศไทย ยังคงออกเดินทางในทั่วประเทศอย่างต่อเนื่องเพื่อร่วมรับฟังเสียงของผู้คนด้วยหัวใจที่เปิดรับ เพื่อให้มีข้อมูลที่รอบด้านและหวังจะร่วมหาทางออกจากโจทย์ความท้าทายของผู้คนในแต่ละพื้นที่

ครั้งนี้รายการฟังเสียงประเทศไทย Next normal เดินทางมาถึงพิกัดที่ 9 แล้ว ณ สถานีขนส่งผู้โดยสารจังหวัดขอนแก่น แห่งที่ 1 หรือ ชาวที่ขอนแก่นเรียกว่า “บขส.เก่า” ตั้งอยู่ในเขตเทศบาลนครขอนแก่น อ.เมือง จ.ขอนแก่น และเพื่อให้ทุกคนได้ฟังกันอย่างใคร่ครวญ ได้ไตร่ตรอง ฟังโดยไม่ตัดสิน และชวนรับฟัง แลกเปลี่ยนถึงการมีส่วนร่วมออกแบบ “อนาคตของเมืองขอนแก่น” ที่อาจจะเกิดขึ้นผ่านการจัดวงคุยภายใต้แนวคิด  Citizen Dialogues ประชาชนสนทนา

เราเชื่อว่าการเดินทางทุกครั้งหัวใจของการมาเจอคือได้มา “ฟัง” แลกเปลี่ยนข้อมูล ได้รู้ในสิ่งที่ยังไม่เคยรู้ หรือได้เติมข้อมูลให้กัน และนำมาคิดไปข้างหน้า เพื่อร่วมออกแบบภาพอนาคต โอกาสและข้อท้าทายมาเพิ่มเติม เพื่อให้ผู้อ่านได้เข้าใจมากขึ้น รายการมีข้อมูลเพิ่มเติมของจังหวัดขอนแก่นมาแบ่งปันกัน

– มหานครขอนแก่น เมืองเสียงแดน ดอกคูณ-

“เมืองขอนแก่น” ตั้งอยู่ใจกลางภาคอีสานทำให้กลายเป็นศูนย์กลางที่สำคัญในด้านต่าง ๆ ทั้ง การศึกษา การเงินการธนาคาร การ ปกครอง การคมนาคมและเศรษฐกิจ โดยเมืองขอนแก่นเริ่มพัฒนาในช่วงที่มีการนำนโยบาย “เมืองศูนย์กลางระดับรอง” (Secondary Urban Centers) มาพัฒนาประเทศ ซึ่งนโยบายดังกล่าว มุ่งเสริมให้มีการผลักดันการกระจายการเติบโตของอุตสาหกรรมในเขตเมืองใหญ่ และพัฒนาเมือง ซึ่งเป็นช่วงระยะเวลา เดียวกันกับการก่อตั้งมหาวิทยาลัยขอนแก่น เมื่อช่วงปี 2507

จังหวัดขอนแก่น

จังหวัดขอนแก่น ห่างจากกรุงเทพมหานคร 445 กิโลเมตร  มีอาณาเขตติดต่อกับจังหวัดใกล้เคียง รวม 9 จังหวัด คือ อุดรธานี เลย หนองบัวลำภู นครราชสีมา บุรีรัมย์ กาฬสินธุ์ มหาสารคาม ชัยภูมิ  และเพชรบูรณ์ แบ่งการปกครองออกเป็น 26 อำเภอ มีประชากร 1,791,794 คน (ข้อมูล ณ 30 กันยายน 2564) เฉลี่ยความหนาแน่นของประชากรทั้งจังหวัดเท่ากับ 162 คน ต่อตารางกิโลเมตร

ขอนแก่นมีพื้นที่ 10,885.99 ตารางกิโลเมตร  หรือประมาณ 6 ล้าน 8 แสนไร่ คิดเป็นร้อยละ 2.12 ของพื้นที่ทั้งประเทศ เป็นอันดับที่ 15 ของไทย ซึ่งใช้พื้นที่ในการเกษตรกรรม / ป่าไม้ /พื้นที่ชุมชนและก่อสร้าง/ แหล่งน้ำ/ และเบ็ดเตล็ด

การบริหารราชการ ส่วนภูมิภาค ขอนแก่นแบ่งออกเป็น 26 อําเภอ 198 ตำบล 2,331 หมู่บ้าน 389 ชุมชน ส่วนท้องถิ่น มีองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น รวม 226 แห่ง แยกเป็น องค์การบริหารส่วนจังหวัด /เทศบาลนคร /เทศบาลเมือง /เทศบาลตำบล และองค์การบริหารส่วนตำบล และยังมีราชการส่วนกลางและรัฐวิสาหกิจ 227 หน่วยงาน

สถานศึกษา ในปี พ.ศ. 2560 จังหวัดขอนแก่นมีโรงเรียน จำนวน 1,272 แห่ง และมีสถานศึกษาในระดับอุดมศึกษา รวม 19 แห่ง

สถานบริการด้านสาธารณสุข ขอนแก่นมีโรงพยาบาล 31 แห่ง ประกอบด้วย สังกัดสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด / มหาวิทยาลัยขอนแก่น / กระทรวงกลาโหม/กรมอนามัย/กรมสุขภาพจิต/กรมการแพทย์ และเอกชน

เทศบาลนครขอนแก่น

•      ปี 2478 ได้รับการยกฐานะเป็นเทศบาลเมือง มีพื้นที่ 4.031 ตารางกิโลเมตร

•      ปี 2514 ขยายเขตเทศบาลออกครอบคลุมพื้นที่ 46 ตารางกิโลเมตร

•      และต่อมาได้จัดตั้งเทศบาลนครขอนแก่น เมื่อวันที่ 25 กันยายน 2538

มีพื้นที่ 46 ตารางกิโลเมตร หรือ ประมาณ 28,750 ไร่ มีข้อมูลประชากรในเขตเทศบาลนครขอนแก่น เมื่อธันวาคม 2561 ระบุจำนวน 118,080  คน มีความหนาแน่นประชากร 2,566 คน / ตารางกิโลเมตร

 ภูมิประเทศส่วนใหญ่เป็นพื้นที่ราบ ประมาณกว่า 16,215.29 ไร่ รองลงมามีความลาดเอียงไปทางทิศใต้ประมาณ 3,357.85 ไร่ มีแหล่งน้ำผิวดินในเขตเทศบาลนครขอนแก่น พื้นที่รวม 2,360.50 ไร่ คิดเป็นร้อยละ 8.21 ของพื้นที่เทศบาลฯ  ได้แก่  บึงทุ่งสร้าง บึงแก่นนคร บึงหนองใหญ่ บึงหนองแวง บึงหนองยาว บึงหนองบอน หนองสระพัง คลองร่องเหมือง คลองชลประทาน

แผนพัฒนาจังหวัดขอนแก่น ปี 2566-2570 

มีเป้าหมายเป็น “มหานครน่าอยู่ มุ่งสู่เมืองนวัตกรรม ศูนย์กลางเชื่อมโยงอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง” โดยมี 6 ประเด็นการพัฒนาจังหวัด คือ  การยกระดับเศรษฐกิจฐานราก / ส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ /ส่งเสริมนวัตกรรม เทคโนโลยี และดิจิทัล /พัฒนาสังคมสุขภาวะ / บริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม / เสริมสร้างความมั่นคง ปลอดภัย อย่างมีส่วนร่วม

1.การยกระดับเศรษฐกิจฐานรากและการพัฒนาอุตสาหกรรมมูลค่าสูง

2.การส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์เชื่อมโยงภูมิภาค

3.การส่งเสริมนวัตกรรม เทคโนโลยี และดิจิทัล เพื่อการพัฒนาขอนแก่นเมืองอัจฉริยะ

4.การพัฒนาสังคมสุขภาวะให้น่าอยู่อย่างยั่งยืน

5.การบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอย่างสมดุล

6.การเสริมสร้างความมั่นคงและความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินอย่างมีส่วนร่วม

แผนพัฒนาเทศบาลนครขอนแก่น

เทศบาลนครขอนแก่นมีแผนพัฒนาภายใต้วิสัยทัศน์ “พัฒนาเมืองสู่สากล สร้างสังคมแห่งความสุข” โดยมีพันธกิจ

-พัฒนาคุณภาพชีวิตและทุนทางสังคม

-เพิ่มศักยภาพของเมือง

-เพิ่มศักยภาพทางเศรษฐกิจมุ่งสู่มหานคร

-พัฒนาขีดความสามารถของการบริหารจัดการท้องถิ่นอย่างมีส่วนร่วม

ปัจจุบันขอนแก่นเป็นเมืองไมซ์ พร้อมด้วยศูนย์กลางการประชุมสัมมนา และสิ่งอำนวยความสะดวก แต่การเติบโตของเมืองอย่างก้าวกระโดด  อาจส่งผลต่อความเปลี่ยนแปลงในหลายมิติ ทั้ง เหตุการณ์น้ำท่วมที่ผ่านมา ความหนาแน่นของประชากร รวมถึงการใช้ประโยชน์ที่ดิน อะไรที่ “ขอนแก่น Can DO” อะไรที่ชาวขอนแก่นทำได้ ภายใต้ศักยภาพของเมืองและต้นทุนทรัพยากรที่มีทั้งโอกาสและข้อท้าทาย ทำให้ เครือข่ายภาคประชาสังคม นักเรียน นักศึกษา อาจารย์นักวิชาการ หน่วยงานท้องถิ่น และเครือข่ายชุมชนรถไฟเมืองขอนเเก่น (กลุ่มมิตรภาพ) พร้อมกับทีมงานฟังเสียงประเทศไทยพา “ไปเบิ่ง” “ไปซอม”ล้อมวงคุย กับ “ไทขอนแก่น” ถึงอนาคตของเมืองและมองภาพอนาคตร่วมกันถึงการมีส่วนร่วมออกแบบ เพื่อพัฒนาเมืองขอนแก่น และออกแบบการใช้ทรัพยากรในเขตเมืองอย่างคุ้มค่า และเกิดประโยชน์สูงสุด จาก สถานีขนส่งผู้โดยสารจังหวัดขอนแก่น (แห่งที่ 1) อ.เมือง จ.ขอนแก่น  ทางรายการจึงได้ประมวลฉากทัศน์หรือภาพอนาคตที่อาจจะเกิดขึ้นมาเพียง 3 แบบ เพื่อให้วงสนทนาได้พูดคุย ถึง “มหานครขอนแก่น” 

การคมนาคมเชื่อมต่อ ศิลปะวัฒนธรรมภูมิปัญญา และศักยภาพของทรัพยากรบุคคล คือ ต้นทุนที่จะนำไปสู่ฉากทัศน์ ภาพอนาคตที่หลากหลายเพื่อให้วงสนทนาได้แลกเปลี่ยนอย่างมีส่วนร่วม

ฉากทัศน์ขอนแก่น MICE city เมืองอุตสาหกรรมการค้าและบริการ

•  นครขอนแก่น เมืองศูนย์กลางคมนาคมเชื่อมต่อจังหวัดอีสานตอนกลาง และอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง ทั้ง ทางรถยนต์ รถไฟ และอากาศยาน เป็นเมืองศูนย์กลางการจัดประชุมและงานแสดงสินค้าระดับสากล รองรับการขยายตัวทางเศรษฐกิจของอาเซียน พร้อมยกระดับ Smart Health & Medical Hub เป็นศูนย์กลางการแพทย์และสาธารณสุข พร้อมก้าวสู่เมืองชั้นนำในระดับโลก (Global City) โดยต้องสร้างความร่วมมือการลงทุนจากภาคเอกชนร่วมกับหน่วยงานเพราะกระบวนการของรัฐมีความซับซ้อน ซึ่งโครงสร้างพื้นฐานส่วนใหญ่ใช้เงินลงทุนสูง แต่ผลตอบแทนจะอยู่ในภาคธุรกิจเป็นหลัก เมืองต้องปรับตัวรองรับนักท่องเที่ยวและผู้ใช้บริการจำนวนมาก อาจส่งผลกระทบต่อทรัพยากรที่มีอย่างจำกัด

ฉากทัศน์ ขอนแก่น Creative economy เมืองเศรษฐกิจสร้างสรรค์

•      นครขอนแก่นเมืองศิลปวัฒนธรรมอีสาน ส่งเสริมและสร้างโอกาสพัฒนาศักยภาพของบุคลากรในท้องถิ่น ที่สะท้อนการผสานสินทรัพย์ทางภูมิปัญญาเเละวัฒนธรรมเข้ากับความคิดสร้างสรรค์ ทั้งการออกแบบเเละนวัตกรรม รวมไปถึงอุตสาหกรรมบันเทิงอีสาน (Isan Entertainment Industry) อุตสาหกรรมการออกแบบและงานฝีมือ (Craft & Design Industry) และอุตสาหกรรมอาหารอีสาน (Isan Gastronomy Industry) โดยต้องสร้างความร่วมมือส่งเสริมให้มีพื้นที่จัดแสดงงานศิลปะ และกลุ่มผู้ประกอบการเศรษฐกิจสร้างสรรค์ที่เปิดกว้าง หลากหลาย  พร้อมเชื่อมโยงให้เป็นรูปธรรม ภายใต้การจัดสรรพื้นที่เมืองที่มีอยู่อย่างจำกัด ซึ่งต้องใช้เวลาเรียนรู้ พัฒนา เพื่อเพิ่มมูลค่าและกระจายผลตอบแทนไปยังคนในท้องถิ่น

ฉากทัศน์ C  ขอนแก่น Inclusive cities เมืองที่รองรับความหลากหลายของผู้คน

•      นครขอนแก่น เมืองแห่งการเติบโตและขยายตัวอย่างรวดเร็ว ในด้านกายภาพ สิ่งแวดล้อม เศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรม ซึ่งรองรับความแตกต่างหลากหลายของผู้คน ด้านการศึกษา รายได้ อาชีพ ให้มีคุณภาพชีวิตที่ดี มีความมั่นคง ปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินด้วยโครงสร้างพื้นฐาน ที่อยู่อาศัย การขนส่งสาธารณะ การเข้าถึงเทคโนโลยีสารสนเทศ และพื้นที่กลางของชุมชนท้องถิ่นเพื่อส่งเสริมสังคมสุขภาวะให้น่าอยู่ยั่งยืน โดยต้องสร้างความร่วมมือจากรัฐ เอกชน ท้องถิ่น ภาควิชาการ และภาคประชาสังคม มาร่วมออกแบบเมืองที่เป็นมิตรและรองรับการใช้ประโยชน์ของคนทุกกลุ่มอย่างมีส่วนร่วม ซึ่งต้องมีการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานจากรัฐและหน่วยงานของถิ่นค่อนข้างสูง ใช้เวลานาน แต่ให้ผลตอบแทนทางเศรษฐกิจน้อย

นอกจากข้อมูลพื้นฐาน แผนพัฒนาและศักยภาพของจังหวัดขอนแก่นที่รวบรวมมาแบ่งปันแล้ว ยังมีข้อมูลและมุมมองเพิ่มเติมจากผู้ที่เกี่ยวข้องทั้ง 3 ฉากทัศน์มาให้ร่วมตัดสินใจ โดย คุณกมล หอมกลิ่น ผู้อำนวยการมูลนิธิสื่อสร้างสุข เป็นผู้ดำเนินวงเสวนา เพราะเราเชื่อว่าหากทุกคนได้รับข้อมูลอย่างรอบด้าน ได้พูดคุยและรับฟังกันอย่างเข้าใจจะนำไปสู่การออกแบบภาพอนาคตได้เพราะเสียงของทุกคนมีความหมาย

  ข้อมูลและมุมมองเพิ่มเติมฉากทัศน์ A  

ขอนแก่น MICE city เมืองอุตสาหกรรมการค้าและบริการ

วรินทร์ เอกบุรินทร์ สมาชิกสภาเทศบาลนครขอนแก่น

“เรื่องของการเป็น MICE city เมืองของอุตสาหกรรมการค้าและบริการ จะต้องมองกลับไปถึงสิ่งที่เป็นศักยภาพของเมืองขอนแก่นก่อน ในความรู้สึกส่วนตัวของผม 4 ด้านที่เป็นศักยภาพของเมืองขอนแก่นก็คือ การศึกษา การแพทย์ โลจิสติกส์ และเศรษฐกิจ 4 อย่างนี้เป็นศักยภาพที่เมืองขอนแก่นมี 

เริ่มต้นจากการศึกษา เรามีมหาลัยขอนแก่น มีการจัดการศึกษาที่ครบทุกระบบทั้งอนุบาล ประถมศึกษา มัธยมศึกษาและอุดมศึกษารวมถึงสายอาชีพด้วย ในส่วนของการแพทย์ที่ขอนแก่นมีโรงพยาบาลศรีนครินทร์ มีคณะแพทย์ศาสตร์ มีระบบการบริการสาธารณสุขที่ดีมากไม่ใช่แต่เพียงโรงพยาบาลอย่างเดียวเรายังเป็นจังหวัดที่มีการผลิตแพทย์ออกมาได้ด้วยโดยมหาลัยขอนแก่น นอกจากนั้นกลุ่มที่เป็น PCU (Primary Care Unit) ทั้งหมดเป็นศูนย์แพทย์ทั้งหมด เราก็วางเครือข่ายได้ครอบคลุม เรามีศูนย์แพทย์มากมายในการดูแลก่อนที่จะเกิดโรค ในเรื่องของเศรษฐกิจเรามีการเคลื่อนตัวทางเศรษฐกิจในเชิงทั้งพาณิชยกรรม อุตสาหกรรม เกษตรกรรมในยุคนี้ผมก็มองว่าเป็นเรื่องของเศรษฐกิจด้วยเหมือนกัน แล้วในเรื่องของโลจิสติกส์การเป็นเมืองที่มีความได้เปรียบทางด้านโลจิสติกส์ก็คือเป็นจุดศูนย์กลางของภาคอีสานมีระบบทั้งรถไฟรางคู่ ระบบทั้งสนามบินทำให้เราเชื่อมต่อกับทุกที่ในเมืองไทยได้และอนาคตก็วางแผนว่าจะเชื่อมต่อถึงในระดับอินเตอร์เนชั่นแนลก็คือระดับต่างประเทศด้วย

เพราะฉะนั้นองค์ประกอบที่สำคัญ 4 อย่างนี้สำหรับผมเป็นศักยภาพของเมืองที่จะทำให้ความเป็น MICE city ความเป็นอุตสาหกรรมของการบริการมันเกิดขึ้น เพราะว่าการศึกษา การแพทย์ 2 สิ่งนี้จะดึงดูดคนให้เข้ามา ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าชีวิตของคนเรานะครับเริ่มต้นจากการเกิดแก่เจ็บตาย ทุกสิ่งเกิดขึ้นมาเรื่องของการแพทย์ทั้งหมดเกิดก็ต้องเกิดในโรงพยาบาล เจ็บป่วยก็ต้องเข้าโรงพยาบาล การดูแลเรื่องของสุขภาวะของเมืองขอนแก่นเรามีศักยภาพทางด้านเรื่องนี้มากบวกกับการศึกษาเราพยายามจะทำให้เมืองนี้เป็นเมืองที่น่าอยู่  น่าอยู่กับใครน่าอยู่กับคนที่อยู่ในเมืองด้วย คนที่อยากจะเข้ามาทำธุรกิจในเมืองด้วย คนที่อยากจะให้ลูกมาศึกษาเล่าเรียนในเมืองนี้

อย่างที่บอกมหาลัยขอนแก่นเองก็อยู่ใน Top Rank ของมหาลัยในประเทศไทยก็ผลิตนักศึกษาผลิตบุคลากรที่มีคุณภาพออกมามากมาย ดังนั้นในเรื่องของการศึกษาและเรื่องของการแพทย์ 2 สิ่งนี้จะเป็นส่วนที่ดึงดูดให้คนเข้ามาอยู่ในเมืองเมืองนี้และแน่นอนว่าเมื่อไรที่มีคนเข้ามาอยู่ในเมืองนี้มาก ๆ เศรษฐกิจก็จะถูกขับเคลื่อนตัวไปด้วยเช่นกัน จริงนะที่ว่าพอคนเข้ามาอยู่เยอะขึ้นปัญหาสังคมก็จะเยอะมากขึ้นด้วย แต่การที่เราจะมองถึงโอกาสของเมืองบางครั้งอาจจะต้องมองเรื่องของปัญหาข้ามไปก่อน คำว่าข้ามไปก่อนไม่ได้หมายความว่าเราจะละเลยสิ่งที่เป็นปัญหา เพียงแต่ว่าการมองไปข้างหน้าอาจจะต้องกระโดดข้ามปัญหาไปเพื่อที่จะให้เห็นภาพก่อนว่าเราจะเป็นไปแบบไหน ส่วนปัญหาเป็นเรื่องที่เราต้องแก้ไขอยู่แล้วทั้งหน่วยงานของเทศบาล ท้องถิ่นหรือหน่วยงานของรัฐที่จะต้องเข้ามาช่วยแก้ไขปัญหาให้กับเมืองนี้นะครับ

ปัญหาที่สำคัญที่สุดที่เราเจอตอนนี้ก็อย่างที่เราได้ยินจากวงเมื่อสักครู่คือความเหลื่อมล้ำเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นพร้อมกับการพัฒนาเมืองแน่นอน ยิ่งเมืองมีมิติในการพัฒนามากขึ้นปัญหาความเหลื่อมล้ำก็มากขึ้นด้วยเพราะฉะนั้นปัญหาเหล่านี้เป็นสิ่งที่เราจะต้องให้ความสำคัญแล้วก็หาวิธีการแก้ไขด้วยการบูรณาการกันระหว่างทั้งภาครัฐเอกชนและชุมชนครับ

ข้อมูลและมุมมองเพิ่มเติมฉากทัศน์ B

ขอนแก่น Creative economy เมืองเศรษฐกิจสร้างสรรค์

รศ.ดร.รวี หาญเผชิญ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น

“หลายคนคงรู้ว่า Creative economy มันสำคัญมันเป็นวิธีหนึ่งที่ทำน้อยได้มากคือการเป็นเมืองสร้างสรรค์ก็เป็นที่สนใจของทุกประเทศในโลกตอนนี้เพราะว่ามันง่าย มันถูกแล้วมันไปถึงการแก้ปัญหาเศรษฐกิจได้ สิ่งที่เรามีอยู่ผมว่าพร้อมไม่ว่าจะเป็นตั้งแต่ศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบ ภาควิชามหาวิทยาลัยแต่สิ่งหนึ่งที่ผมมาดูเรื่องของจุดอ่อนเลยคือเรามีความเหลื่อมล้ำในเรื่องของการเข้าถึงความรู้ด้านเศรษฐกิจสร้างสรรค์อันนี้คือนอกจากความเหลื่อมล้ำทั่วไป

ถ้าเราจะทำให้เกิดเศรษฐกิจสร้างสรรค์ความคิดในเรื่องเศรษฐกิจสร้างสรรค์จะต้องเกิดขึ้นในทุกระดับ จะต้องหาวิธีกลไกต่าง ๆ ก็คือพวกเราหรือแอคเตอร์หรือกลุ่มผู้ก่อการที่จะต้องลงไปหาวิธีทำให้เศรษฐกิจสร้างสรรค์มันเข้าไปในสายเลือดของพี่น้อง ชุมชนรางรถไฟสามารถทำ SE ได้ไหม ทำธุรกิจของตัวเองได้ไหมคือมีฐานคิดในเรื่องของการเป็นผู้ประกอบการเล็ก ๆ ผมว่าเศรษฐกิจสร้างสรรค์จะต้องเริ่มต้นจากการเป็นคือหนึ่งขายได้มั้ย หมอลำก็ต้องรู้ลูกค้าถูกไหม นักมวยก็ต้องรู้ว่าตลาดคืออะไร เพราะฉะนั้นผมคิดว่ามันเริ่มต้นที่ตัวคนเพราะงั้นเราต้องมานั่งทบทวนว่าลึกที่สุดเนี่ยก็คือผู้ผลิต ต้นน้ำของเศรษฐกิจสร้างสรรค์คือผู้ที่ให้บริการด้านเศรษฐกิจสร้างสรรค์ มันมีอยู่หลากหลายสาขามากอาหาร วัฒนธรรม ศิลปะการแสดง ดนตรี ศิลปะต่างทุกด้าน หนึ่งคือมันกระจุกตัวหรือเปล่า สองคือมันจะทำให้มันกระจายไปถึงแหล่งพื้นที่ที่เป็นแหล่งต้นทางได้ยังไงโดยที่ไม่เป็นแมทแล้วก็ไม่เป็นแบบ OTOP

ทำไม่มีกินฟาร์มถึงเข้าไปอยู่ในร้านอาหารมิชลิน ประสิทธิ์ถึงเข้าไปอยู่ในร้านอาหารมิชลิน เพราะเขาผ่านการเรียนรู้ผ่านการทดลองผ่านความอดทน มีฐานคิดเรื่องการเป็นผู้ประกอบการ วันที่เรายังไม่มีพื้นที่พวกนี้ให้คนให้โค้ชชิ่ง บรรดาเพื่อนๆพี่น้องของเราที่เข้าถึงเศรษฐกิจสร้างสรรค์เนี่ยผมคิดว่าอันนี้จะเป็นความท้าทายใหญ่

ขณะเดียวกันภาครัฐก็จะต้องเปิดพื้นที่มากกว่าเดิม พื้นที่แสดงสินค้า พื้นที่สาธารณะพวกเราได้พูดคุย พื้นที่แสดงเรื่องราวของเศรษฐกิจสร้างสรรค์ อีเวนต์ต่าง ๆ ต้องมากกว่านี้ต้องทำให้ทุกคนเข้าใจอันนี้ผมคิดว่าเป็นสิ่งที่เราจะเป็นได้ยังไงเราต้องมีสิ่งที่ผมกำลังพูดคือเราจะไปถึงการมีได้ยังไง การมีก็ต้องไม่ได้ให้รัฐทำอย่างเดียว ขอนแก่นโมเดลก็คือเราก็พยายามจะต้องบอกว่าเศรษฐกิจสร้างสรรค์เราจะพึ่ง TCDC หรือเรารออย่างเดียวไม่ได้ จะต้องมี TCDC ระดับตำบลด้วยซ้ำ ระดับอำเภอเทศบาลทุกเทศบาลก็จะต้องเข้าใจ องค์การบริหารส่วนท้องถิ่นก็ต้องลงมาSupport เรามี Function ที่ทำหน้าที่พวกนี้เราเลือกเขาเข้ามา ผมคิดว่าเราต้องใช้การเมืองในการผลักดันให้เศรษฐกิจบ้านเราดีด้วยในมิติของเศรษฐกิจสร้างสรรค์เพราะงั้นผมคิดว่ามันเป็นเรื่องที่โครงสร้างหลาย ๆ อันจะต้องมานั่งคุยกัน แต่เห็นด้วยและยินดีครับว่า เวทีพวกนี้จะเป็นเวทีที่ทำให้พวกเราเอาเรื่องต่าง ๆ ขึ้นมาพูดคุยกันแล้วก็พี่น้องก็เข้าใจแล้วก็ขับเคลื่อนขอบคุณครับ

ข้อมูลและมุมมองเพิ่มเติมฉากทัศน์ C

ขอนแก่น Inclusive cities เมืองที่รองรับความหลากหลายของผู้คน


ผศ.ดร.วิบูลย์
  วัฒนนามกุล หัวหน้าโครงการแก้ไขปัญหาคนไร้บ้าน

“เมืองมันมีความหลากหลายและความหลากหลายมันมีเสน่ห์แล้วมันเป็นสิ่งจำเป็น ถ้ามันไม่มีความหลากหลายเมืองมันจะดำเนินการต่อไปไม่ได้อันนั้นคือเรื่องจริง แต่ประเด็นมันคือท่ามกลางการจัดการเมืองผมไม่รู้ว่ามีการจัดการหรือเปล่านะหรือมันไม่มีการจัดการก็ไม่รู้นะ แต่ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันเราพบว่าความเหลื่อมล้ำมันมากขึ้นเรื่อย ๆ มันมากขึ้นเพราะอะไร มันมากขึ้นเพราะคนที่มีส่วนในการผลักดันให้เกิดนโยบายมันคือคนที่มีอำนาจ คนด้อยอำนาจจำนวนมากในความหลากหลายของขอนแก่นเข้าไม่ถึงเรื่องพวกนี้นี่คือความจริง อีกประเด็นนึงที่มันมีส่วนผลักดันการขับเคลื่อนของเมืองคือผลประโยชน์ ผลประโยชน์และคนที่มีอำนาจมันก็ไปผลักดันท่ามกลางการผลักดันลักษณะแบบนี้มันเลยทำให้คนบางกลุ่มเข้าไม่ถึงผลประโยชน์ของการเดินของเมืองนี่คือความเป็นจริง

ผมจะยกตัวอย่างมหาวิทยาลัยขอนแก่น ใหญ่มาก เจริญมาก ระบบของนักศึกษาที่จะเข้าไป มันถูกคัดเลือกโดยการสอบจริง ๆ แต่ถ้าเราไปใช้ชีวิตในมหาวิทยาลัยขอนแก่นเราจะรู้เลยว่านักศึกษาถูกคัดมาจากฐานะครอบครัวที่ส่วนใหญ่มีเงิน แต่ออกนอกรั้วมหาวิทยาลัยขอนแก่น 200-300 เมตร ถ้าเรายอมรับความจริงเราจะพบว่ามีเด็กน้อยติดสารเสพติด เด็กน้อยเข้าไม่ถึงการศึกษา เข้าไปคุยลึก ๆ พบว่าครอบครัวมีปัญหา มันเป็นภาพที่สะท้อนความเหลื่อมล้ำอย่างมากของสิ่งที่อยู่เทียบเคียงกัน ผมจะยกตัวอย่างอีกอัน เช่น เซ็นทรัลสวย ใหญ่ หรู แบรนด์เนมเยอะ ไม่ได้แปลว่าเซ็นทรัลไม่ดีนะครับ เซ็นทรัลดีแต่ติดกับเซ็นทรัลที่กั้นแค่รั้วอันเดียวคือชุมชนมิตรภาพ เป็นชุมชนแออัดซึ่งคนที่อยู่อาศัยไม่มีสิทธิในที่ดิน ฝนตกนิดเดียวน้ำท่วมนอนไม่ได้ ถ้าไม่มากก็นั่งเก้าอี้หลับ ลักษณะความแตกต่างแบบนี้มันสะท้อนอะไร มันสะท้อนว่ามันมีคนหลายกลุ่มท่ามกลางความหลากหลายมันไปไม่ได้ แล้วสถานการณ์แบบนี้มันรุนแรงขึ้น

ถ้าเราไม่เปลี่ยนถ้าเราไม่ทำอะไรความเหลื่อมล้ำที่มันมากขึ้นเรื่อย ๆ มันจะทำให้เมืองไม่น่าอยู่ เมืองมันจะแย่เมืองมันจะตาย มันจะเป็นเมืองที่เกิดความล้มเหลว ความหลากหลายจำเป็นแต่คนที่ด้อยโอกาสจำนวนหนึ่งไม่ควรจะต่ำมาก เขาควรจะมีคุณภาพชีวิตที่ดีกว่านี้ ไม่ใช่อยู่ในที่ที่ขอแม้กระทั่งเลขที่บ้านยังไม่ได้เลย ขอมิเตอร์ไฟฟ้าก็ไม่ได้ ขอมิเตอร์ประปาก็ไม่ได้ ต้องไปพ่วงแล้วจ่ายค่าไฟที่แพง แพงกว่าผมด้วย ความหลากหลายขอนแก่นเป็นเสน่ห์นะครับ แต่เราปล่อยให้สถานการณ์แบบนี้คงอยู่ต่อไปไม่ได้มันรุนแรงขึ้น เราต้องการการเปลี่ยนแปลงเพื่อให้ความหลากหลายเนี่ยเป็นเสน่ห์มันน่าอยู่อันนี้คือสิ่งที่เป็นจริง

เรามองรอบตัวเราดูในวงนี้มีความหลากหลาย ถ้ามองกว้างขึ้นเราก็จะเจอความหลากหลายมาก แล้วถ้าเรายอมรับความจริงไม่ใช่เห็นแล้วก็ทำเป็นเหมือนมองไม่เห็นเราก็จะพบว่ามีหลายเรื่องมันรุนแรงมันเป็นปัญหาที่ชาวบ้านรู้กันหมด ยาเสพติด เหล้า สารพัด เราจะให้ขอนแก่นเป็นอย่างนี้เหรอ ลูกเราจะโตมาในสังคมอย่างนี้หรอ มันไม่ดีแน่แล้วในที่สุดเมืองจะอยู่ไม่ได้ ให้คุณรวยแค่ไหนถ้าความเหลื่อมล้ำสูงมากคุณก็อยู่ไม่ได้เหมือนเดิมนั่นคือความจริงของขอนแก่น ผมคิดว่าขอนแก่นต้องปรับรูปแบบให้มันเจริญในลักษณะที่คนที่เปราะบางอยู่ได้ด้วยครับ”

ฟังด้วยหัวใจที่เปิดรับ ส่งเสียงแลกเปลี่ยนด้วยข้อมูลที่รอบด้าน

นี่เป็นเพียง 3 ฉากทัศน์ท่ามกลางฉากทัศน์ที่อาจจะเกิดขึ้นได้มากมายหรือบางครั้งก็อาจจะเกินกว่าจินตนาการได้ แต่อย่างไรก็ตามโจทย์และเงื่อนไข

โจทย์การพัฒนาเมืองขอนแก่น และออกแบบการใช้ทรัพยากรในเขตเมืองอย่างคุ้มค่า และเกิดประโยชน์สูงสุด  โดยมีหมุดหมายให้มหานครแห่งนี้สามารถรองรับความหลากหลายของผู้คน จำเป็นต้องฟังเสียงชุมชนและมีข้อมูลอย่างรอบด้าน ทั้งชุมชน หน่วยงาน เอกชน และคนรุ่นใหม่ ยังต้องหารือและขับเคลื่อนร่วมกัน ซึ่งนอกจากเสียงของคนขอนแก่นแล้ว ผู้ที่สนใจในพื้นที่อื่น ๆ สามรถร่วมเป็นส่วนสำคัญในการ “ซุกยู้” ผลักดันไปด้วยกัน  เพื่อให้การพัฒนาเมืองตอบโจทย์ของทุกคนได้ สามารถติดตามรายการเพิ่มเติมและร่วมโหวตเลือกฉากทัศน์หรือแสดงความเห็นเพิ่มเติมได้ที่ www.thecitizen.plus หรือร่วมเสนอประเด็นเพื่อให้เกิดเวทีฟังเสียงประเทศไทยกับไทยพีบีเอส และเรื่องราวในอีสานกับแฟนเพจอยู่ดีมีแฮง

เราหวังว่านี่จะเป็นอีกพื้นที่ ที่ “เสียง”ของประชาชนจะไปถึงผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง ที่จะออกแบบและจัดการตามข้อเสนอที่ผ่านการร่วมกันคิด ร่วมกันตัดสินใจ แบบ “ปัญญารวมหมู่”

ร่วมโหวตฉากทัศน์ ขอนแก่น CAN DO

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

Prev

May 2025

Next

Mon

Tue

Wed

Thu

Fri

Sat

Sun

28
29
30
1
2
3
4
5
6
7
8
9
10
11
12
13
14
15
16
17
18
19
20
21
22
23
24
25
26
27
28
29
30
31
1

20 May 2025

Nothing to show.

เข้าสู่ระบบ