สถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา มหิดล ชี้กรณี ‘ไผ่ ดาวดิน’ รณรงค์เป็นสิทธิ์ฯ หยุดดำเนินคดีผู้เห็นต่าง

สถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา มหิดล ชี้กรณี ‘ไผ่ ดาวดิน’ รณรงค์เป็นสิทธิ์ฯ หยุดดำเนินคดีผู้เห็นต่าง

16 ส.ค. 2559 จากกรณีนายจตุภัทร์ บุญภัทรรักษา หรือไผ่ ดาวดิน ถูกฝากขังผลัดแรกในเรือนจำอำเภอภูเขียว คดี พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2559 โดยถูกนำตัวฝากขัง เมื่อวันที่ 8 ส.ค.2559 และได้อดอาหารประท้วง ด้วยเหตุผลความไม่เป็นธรรมในการจับกุมตัว ในความผิดข้อหาฝ่าฝืน พ.ร.บ.ประชามติ มาตรา 61 วรรค 2 จากการแจกใบปลิวรณรงค์ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ เมื่อวันที่ 6 ส.ค. ทำให้ล้มป่วยลงหลังการอดอาหารเป็นวันที่ 9 

สถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล เผยแพร่แถลงการณ์กรณีการเคลื่อนไหวของนายจตุภัทร์ บุญภัทรรักษา (ไผ่ ดาวดิน)  รายละเอียด ดังนี้

แถลงการณ์สถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล

กรณีการเคลื่อนไหวของนายจตุภัทร์ บุญภัทรรักษา (ไผ่ ดาวดิน) 

จากกรณีนายจตุภัทร์ บุญภัทรรักษา (ไผ่ ดาวดิน) และนายวศิน พรหมมณี ถูกจับกุมตัวขณะแจกเอกสารความเห็นประชามติที่จังหวัดชัยภูมิ ในข้อหาว่ากระทำความผิดตาม พ.ร.บ.ประชามติ มาตรา 61 วรรคสอง เมื่อวันที่ 6 สิงหาคม 2559 โดยนายวศินได้ยื่นขอประกันตัวและได้รับการประกันตัวออกไป ขณะที่นายจตุภัทร์ไม่ขอประกันตัวและได้อดอาหาร เพื่อประท้วงกระบวนการประชามติที่ไม่เสรีและการจับกุมที่ไม่ยุติธรรมนั้น สถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล ขอแสดงความเห็นและมีข้อเรียกร้องดังนี้

1. การรณรงค์ซึ่งเป็นการเผยแพร่ความคิดเห็นรูปแบบหนึ่งสามารถกระทำได้เท่าที่ไม่ขัดต่อกฎหมาย เพราะเป็นการใช้เสรีภาพตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2559 มาตรา 7 ซึ่งบัญญัติว่า “บุคคลย่อมมีเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและเผยแพร่ความคิดเห็นเกี่ยวกับการออกเสียงโดยสุจริตและไม่ขัดต่อกฎหมาย” 

2. การรณรงค์โดยมิได้มีการข่มขู่คุกคามผู้อื่นย่อมไม่ขัดต่อข้อบัญญัติในมาตรา 61 วรรคสองของพระราชบัญญัติดังกล่าว ความว่า “ผู้ใดดำเนินการเผยแพร่ข้อความ ภาพ เสียง ในสื่อหนังสือพิมพ์ วิทยุ โทรทัศน์ สื่ออิเล็กทรอนิกส์ หรือในช่องทางอื่นใด ที่ผิดไปจากข้อเท็จจริงหรือมีลักษณะรุนแรง ก้าวร้าว หยาบคาย ปลุกระดม หรือข่มขู่ โดยมุ่งหวังเพื่อให้ผู้มีสิทธิออกเสียงไม่ไปใช้สิทธิออกเสียง หรือออกเสียงอย่างใดอย่างหนึ่ง หรือไม่ออกเสียง ให้ถือว่าผู้นั้นกระทำการก่อความวุ่นวายเพื่อให้การออกเสียงไม่เป็นไปด้วยความเรียบร้อย”

3. การแสดงออกโดยมิได้ใช้ความรุนแรง ไม่ใช่ความผิดทางอาญาที่สมควรถูกจับกุมคุมขัง

4. สิทธิในการได้รับการรักษาพยาบาลเมื่อเกิดการเจ็บป่วยเป็นสิทธิขั้นพื้นฐาน บุคคลแม้ถูกจำกัดสิทธิเสรีภาพไม่ว่าโดยการควบคุมตัวหรือคุมขัง ย่อมมีสิทธิที่จะได้รับการรักษาพยาบาลโดยเร็วเมื่อเกิดการเจ็บป่วย

5. ขอเรียกร้องให้ยุติการดำเนินคดีต่อผู้แสดงความเห็นต่างทางการเมืองโดยสุจริต

6. ขอเรียกร้องต่อผู้มีอำนาจให้เปิดพื้นที่ในการแสดงออกอย่างเสรีบนพื้นฐานของการไม่ใช้ความรุนแรง เพื่อให้ทุกภาคส่วนของสังคมได้มีช่องทางในการสื่อสารแลกเปลี่ยน อันจะเป็นการลดเงื่อนไขความขัดแย้งที่อาจนำไปสู่ความรุนแรง

สถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา
มหาวิทยาลัยมหิดล
16 สิงหาคม 2559

20161708005601.jpg

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ