“รักษาประวัติศาสตร์ วิถีชีวิตบนคลองคลองสายนี้ให้ครบถ้วน เติมในสิ่งที่ควรเติม และตัดบางอย่างที่ไม่สวยงามออกไป”
ดนัย โต๊ะเจ ผู้ประกอบการท่องที่ยว
“พัฒนาปรับปรุงภูมิทัศน์คลองสำโรงแต่ยังคงสภาพเดิมของบ้านเรือนไว้”
บุญบังอร ชนะโชติ เครือข่ายพัฒนาเมืองสงขลา
“พัฒนาคลองสำโรง ชุมชนและทุกภาคส่วนต้องเข้ามามีส่วนร่วมในการออกแบบ”
กรวิชญ์ มาระเสนา เครือข่ายพัฒนาคุณภาพชีวิต ต.เขารูปช้าง
นี่เป็นเสียงสะท้อนบางส่วนของชาวบ้านในพื้นที่ริมคลองสำโรง อ.เมือง จ.สงขลา ที่พยายามส่งเสียงถึงการพัฒนาออกแบบฟื้นฟูคลองสำโรงให้สอดคล้องกับคุณภาพชีวิตคนริมคลอง เพราะนี่เป็น 1 ใน 4 ลำคลองสายหลักในประเทศไทยที่กำลังจะได้รับการฟื้นฟู ที่สำคัญกลายเป็นวาระเร่งด่วนของจังหวัดสงขลาที่บรรจุอยู่ในแผนพัฒนาและแก้ไขปัญหาชุมชนริมคลองสำโรง
หากย้อนกลับไปน้อยคนนักที่จะรู้จักคลองสำโรง ซึ่งเป็นคลองประวัติศาสตร์สำคัญของเมืองสงขลา เชื่อมระหว่างทะเลสาบสงขลาและทะเลอ่าวไทย อดีตคลองแห่งนี้เป็นเส้นทางเดินเรือและขนส่งสินค้าสู่เมืองท่าสําคัญรอบทะเลสาบสงขลา และเป็นแหล่งอนุบาลของสัตว์น้ำที่มีนิเวศเฉพาะ 3 น้ำ น้ำทะเล น้ำจืดและน้ำกร่อย มีกุ้ง หอย ปู ปลา อุดมสมบูรณ์
แต่ปัจจุบัน “คลองสำโรง” เปลี่ยนแปลงไปพร้อมกับการพัฒนาเมือง ทำหน้าที่รองรับน้ำเสียจากเมือง ลำคลองตื้นเขิน และแคบลงจากในอดีต เรือไม่สามารถแล่นผ่านได้ตลอดสาย รวมถึงปัญหาด้านที่อยู่อาศัยของคนริมคลอง กลายเป็นโจทย์สำคัญของคนทั้งเมืองสงขลา
“เป็นวาระของคนสงขลาทั้งเมือง เพราะมีส่วนได้เสียกับคลองนี้ ปริมาณน้ำ 60 ถึง 70 เปอร์เซ็นต์ มาจาก 2 ฝั่ง ดังนั้นเราขยับคนริมคลองแต่น้ำยังดำอยู่ คนริมคลองยังใช้ชีวิตแบบเดิมอยู่ เราจะพัฒนาไปทำไม” กรวิชญ์ มาระเสนา ผู้ประสานงานเครือข่ายพัฒนาคุณภาพชีวิต ต.เขารูปช้าง เล่าถึงมุมมองการพัฒนาคลองสำโรงว่า ชุมชนและทุกภาคส่วนต้องเข้ามามีส่วนร่วมในการออกแบบ ปลูกบ้านตามผู้อยู่อาศัย ช่วยกันรักษาและรักคลองสำโรงให้เหมือนครอบครัวเดียวกัน รวมถึงจิตสำนึกของคนริมคลอง และคนสงขลาทั้งเมือง เพื่อพัฒนาคลองเส้นนี้ให้เป็นแม่น้ำสายหลัก และเป็นแลนด์มาร์กในการท่องเที่ยว แต่หากไม่มีการพัฒนาคลองแล้วคนริมคลองย้ายออกไป เชื่อว่าอนาคตพื้นที่ตรงนี้จะกลายเป็นที่จับจ้องของนายทุน
ด้านณัฐพร จันทร์ดวง ตัวแทนเยาวชนชุมชนบ่อยาง เล่าว่า ภาคประชาสังคมและทุกภาคส่วน ไม่ว่าจะเป็นสถาปนิก นักกฎหมาย หรือแม้แต่หน่วยงานต่าง ๆ เป็นส่วนสำคัญที่ชาวบ้านในพื้นที่ และคนสงขลาทุกคนจะต้องมีส่วนร่วมในเรื่องนี้ เพราะธรรมชาติ คน วิถีชีวิตริมคลองสำโรงสัมพันธ์กัน ฉะนั้นอย่างแรกที่ต้องมองคือ คนที่อาศัยอยู่ หากเขาต้องออกไปแล้วเขาจะไปอยู่ที่ไหน แต่หากแก้ไขเรื่องที่อยู่อาศัยเเล้วชาวบ้านออกจากพื้นที่ไปแล้ว แต่น้ำยังคงเน่าเสียอยู่ คนก็อยู่ไม่ได้ สุดท้ายเเล้วกลับมาสู่สภาพเดิม ซึ่งต้องแก้ไขที่คนและแก้ไขที่น้ำ แล้วถึงจะมาแก้ไขสิ่งปลูกสร้าง
จากการฟื้นฟูคลองและคุณภาพชีวิตคนริมคลองที่หลายหน่วยงานรวมถึงชาวบ้านในพื้นที่ริมสำโรงกว่า 15 ชุมชน กำลังหาแนวทางพัฒนาและฟื้นฟู “คลองสำโรง” ไปพร้อม ๆ กับการพัฒนาคุณภาพชีวิต มีโจทย์ท้าทายมากมาย ครั้งนี้ทีมงานรายการฟังเสียงประเทศไทย ชวนออกเดินทางมาตั้งวงพูดคุยกันริม ปากคลองสำโรงฝั่งทะเลสาบสงขลา ซึ่งที่นี่เราน่าจะเห็นวิถีประมงพื้นบ้านกับชีวิตริมคลองสำโรงชัดเจนที่สุด เราชวนตัวแทนชาวบ้านริมฝั่งคลองสำโรงจาก 9 ชุมชน นักวิชาการ ผู้ประกอบการท่องเที่ยว คนรุ่นใหม่ และคนที่เกี่ยวข้องกว่า 60 ชีวิตมาล้อมวงคุย เพื่อร่วมออกแบบอนาคตทิศทางการพัฒนา ฟื้นฟูวิถีคน ชุมชน และระบบนิเวศคลองสำโรง
ก่อนที่จะคุยกัน เราชวนอ่านข้อมูลนี้ชุดนี้ที่ทีมงานฟังเสียงประเทศไทยประมวลเรื่องราวที่เกี่ยวข้องกับคลองสำโรงเพื่อคุณได้เข้าใจมากขึ้น
ในอดีตคลองสำโรง เป็นร่องน้ำที่สามารถเดินเรือได้ มีหลักฐานปรากฎในแผนที่เป็นเส้นทางเดินเรือและการค้าสำคัญระดับนานาชาติ สามารถเดินเรือติดต่อระหว่างเมืองต่าง ๆ ช่วยย่นระยะทางได้เกือบ 20 กิโลเมตร
คลองสำโรง หรือชาวบ้านเรียกว่า “คลองโหมง” เป็นคลองธรรมชาติมีสภาพคดเคี้ยวไปมารับน้ำจากตําบลเกาะแต้ว ที่กั้นระหว่าง เทศบาลนครสงขลา และเทศบาลเมืองเขารูปช้าง อ.เมือง จ.สงขลา มีระยะทางประมาณ ประมาณ 5.3 กิโลเมตร แยกเป็น 2 สาย
สายแรกไหลไปทางด้านทิศตะวันออก ออกสู่ชายฝั่งทะเลด้านอ่าวไทย สายที่สองไหลไปทางทิศตะวันตกลงสู่ทะเลสาบสงขลา รวมระยะทางของคลองสําโรงประมาณ 14 กิโลเมตร กลายเป็นสายน้ำสองทะเล
เดิมคลองสำโรงเป็นคลองธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์ ระบบนิเวศน์มีลักษณะพิเศษคือ น้ำจืด น้ำกร่อย และน้ำเค็ม หมุนเวียนผลัดเปลี่ยนกันไปตามฤดูกาล เป็นแหล่งอนุบาลสัตว์น้ำ มีกุ้งหอยปูปลาชุกชุม รวมถึงพันธุ์ไม้นานาชนิด และชาวบ้านได้ใช้น้ำแหล่งนี้ในการบริโภคและอุปโภค การทําเกษตรกรรมต่าง ๆ รวมทั้งการใช้คลองสายนี้เป็นเส้นทาง เดินเรือในการประกอบอาชีพประมง
ในช่วงฤดูฝน ระหว่างเดือนตุลาคมถึงเดือนธันวาคม จะมีมวลน้ำจืดจากเขาเทียมดา เขาสวนตูล เขาสำโรง และทุ่งพรุต่าง ๆ ไหลลงสู่คลองสำโรงเป็นจำนวนมาก และจุดสำคัญ คือ น้ำเค็มจากทะเลอ่าวไทย และน้ำจากทะเลสาบสงขลาสามารถไหลถึงกัน
“ความรุ่งเรืองของสงขลา” จากเมืองศูนย์กลางทางด้านการค้าบริเวณตอนกลางแหลมมลายู
•ปี พ.ศ.2502 ในสมัยจอมพลสฤกษิ์ ธนเริชต์ ขณะนั้นได้มาตรวจเยี่ยมราชการมีบัญชาให้ประชาชนที่อยู่อาศัยในพื้นที่บริเวณแหลมสนอ่อน ย้ายมาอาศัยอยู่ในพื้นที่ราชพัสดุบริเวณชายหาดทะเลอ่าวไทย ปากคลองสำโรงเก้าหรือเก้าแสนจนถึงปัจจุบัน
•ปี พ.ศ.2504 แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ สงขลาถูกกำหนดให้เป็นศูนย์กลางการพัฒนา ควบคู่กับหาดใหญ่สงขลาเป็นหัวเมืองหลักในการลงทุน เนื่องจากที่ตั้งเหมาะสมทั้งในแง่การคมนาคม ขนส่งทางบกและทางทะเล และเป็นศูนย์กลางท่องเที่ยวและอุตสาหกรรมประเภทต่าง ๆ เริ่มเกิดโรงงานอุตสาหกรรมแปรรูปอาหารทะเล ผู้คนเริ่มหลั่งไหลเข้ามาทำงาน เมืองขยายและชุมชนเริ่มหนาแน่นขึ้น
•ปี พ.ศ.2532 มีการสร้างถนนข้ามคลอง ฝั่งท่อระบายน้ำ ทำให้ลำน้ำตื้นเขิน เรือไม่สามารถแล่นได้อีกต่อไป และในปัจจุบันคุณภาพน้ำมีค่าออกซิเจน เป็นศูนย์ตลอดทั้งลำน้ำ สัตว์น้ำไม่สามารถอาศัยอยู่ได้
•บางชุมชนกลายเป็นชุมชนแออัด ในบางช่วง ประกอบกับปากคลองสำโรงฝั่งอ่าวไทยถูกตะกอนทรายพัดปิดปากคลองในบางฤดูกาล ปัจจุบันคลองสำโรงเป็นประเด็นสำคัญในการแก้ไขปัญหาน้ำเสียงในระดับเมืองสงขลา
จากข้อมูลจากสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน ร่วมกับชาวชุมชนและภาคีเครือข่าย พบว่ามีชุมชนตั้งอยู่ริมคลองสำโรงตลอดแนวฝั่งคลอง สภาพบ้านเรือนแออัด รวมประมาณ 584 ครัวเรือน กว่า 2,400 คน ส่วนใหญ่มีอาชีพรับจ้างทั่วไป และทำประมงพื้นบ้าน และอุตสาหกรรมครัวเรือนเกี่ยวกับสัตว์น้ำ รวมถึงบ้านบางส่วนไม่มีทะเบียนบ้าน และยังเข้าไม่ถึงสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน
โอกาสและข้อท้าทาย “คลองสำโรง” กับทิศทางอนาคตการพัฒนาเมืองสงขลา
•ทำเลที่เหมาะสม ที่ตั้งอยู่ใกล้กับศูนย์กลางเศรษฐกิจ สถาบันการศึกษา
•เป็นศูนย์กลางท่องเที่ยวและการลงทุน สามารถพัฒนาในแง่ประวัติศาสตร์ เศรษฐกิจ และการท่องเที่ยว
•กระแสการท่องเที่ยวในรูปแบบของการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมเชิงนิเวศ มีเส้นทางที่มีคุณค่าทางประวัติศาสตร์ก่อนการสร้างเมืองสงขลา
•ควบคู่กับการพัฒนาที่ เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
ข้อมูลข้อเท็จจริง
จากข้อมูลข้างต้นทีมงานได้ประมวลภาพฉากทัศน์ ที่อยากจะเห็นหรืออยากจะให้เป็น ล้อไปกับวงสนทนา ด้วยการเลือกภาพตั้งต้นจาก 3 ภาพ
ฉากทัศน์ 1 “คลองโอ่งอ่าง” แลนด์มาร์คสีสันการท่องเที่ยวกลางกรุงเก่า
- พัฒนาคลองประวัติศาสตร์ ปรับภูมิทัศน์ให้สวยงาม ชูท่องเที่ยวย่านชุมชนเมือง ถนนคนเดิน ร้านค้ารายเล็กคู่คลองกรุงเก่า สร้างเศรษฐกิจให้คนพื้นที่ เน้นคุณภาพชีวิตและระบบนิเวศคลอง
- หน่วยงานท้องถิ่นเป็นหลักในการบริหาร และจัดการงบประมาณในการดูแลบำรุงพื้นที่ บำบัดน้ำเสียให้ครอบคลุมทั้งระบบ โดยใช้เทศบัญญัติในการควบคุมมลพิษจากน้ำเสียการบำบัดน้ำเสียในอาคารและครัวเรือนอย่างเคร่งครัด
- จัดระเบียบชุมชนและสิ่งก่อสร้าง ถอยร่นจากแนวระยะคลอง มีชุมชนบางส่วนที่รุกล้ำริมคลองต้องย้ายออก รัฐจะต้องเยียวยาและหาสถานที่อยู่อาศัยใหม่ ซึ่งจำเป็นต้องใช้งบประมาณ และการบูรณาการร่วมกันของทุกหน่วยงาน
- สิ่งที่ต้องทำอย่างสม่ำเสมอ คือ สร้างความเข้าใจและการมีส่วนร่วม ความร่วมมือจากประชาชน คือหัวใจสำคัญ
ฉากทัศน์ 2 เช็กอิน “คลองแม่ข่า” ฟื้นเศรษฐกิจ สร้างคุณภาพชีวิตด้วยการมีส่วนร่วม
- จากคลองโบราณกว่า 200 ปี ที่เคยเสื่อมโทรม พัฒนากลายเป็นย่านเศรษฐกิจควบคู่ไปกับการพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนในพื้นที่
- ชุมชนเป็นตัวตั้งในการเปลี่ยนแปลง ปรับภูมิทัศน์เพื่อการอยู่ร่วมคลอง-คน-ชุมชน โดยมีหน่วยงานท้องถิ่น จังหวัด สถาบันการศึกษา มารวมพูดและหามาตรการ สร้างการมีส่วนร่วมในการดูแลชุมชนและคลองในระยะยาว
- ชุมชนร่วมออกแบบปรับผังชุมชน และออกแบบกติกาในชุมชน ปรับปรุงที่พักอาศัยให้มีความเหมาะสม น่าอยู่กับผังคลองตามข้อบังคับที่ตกลงร่วมกัน
- เพื่อแลกกับคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น การกำหนดระยะการสร้างบ้านให้ห่างจากตัวคลอง ทำให้คนบางส่วนต้องขยับรื้อย้ายออกจากที่อยู่อาศัยเดิม จะมีองค์กรเครือข่ายสร้างความเข้มแข็งร่วมกับชุมชนจัดตั้งกลุ่มออมทรัพย์ชุมชน เพื่อผ่อนชำระที่อยู่อาศัยในอัตราที่ชุมชนสามารถจ่ายได้ มีหน่วยงานรัฐเป็นร่วมรับผิดชอบดูแล
ฉากทัศน์ 3 ปักหมุด “คลองชองเกชอน” พื้นที่พักผ่อนของเมืองใจกลางกรุงโซล เกาหลีใต้
- คลองประวัติศาสตร์อายุกว่า 600 ปี ไหลผ่านกลางกรุงโซล อดีตน้ำเสียและขยะถูกทิ้งลงคลองและมีสะพานยกระดับกลางเมือง
- ทางหน่วยงานรัฐ เปลี่ยนคลองเสื่อมโทรมให้กลายเป็นคลองสวยน้ำใส และพื้นที่พักผ่อนหย่อนใจสำหรับคนเมืองหลวง เน้นการรักษาสิ่งแวดล้อม ชูความเป็นธรรมชาติ มีต้นไม้ตลอดสองฝั่งคลอง และสร้างความรู้สึกผูกพันกันเป็นชุมชนในหมู่คนเมืองใหญ่
- มีโครงสร้างพื้นฐานที่เอื้อต่อผู้พิการและผู้สูงอายุ และคนทุกวัย มีกิจกรรมสอดรับกับการสืบสานศิลปวัฒนธรรมตลอดเส้นทาง จนกลายเป็นแลนด์มาร์กสำคัญของเมือง
- ในการปรับภูมิทัศน์มีการรื้อทางยกระดับ และเวนคืนที่ดินแหล่งชุมชนที่อยู่ติดกับคลอง และรัฐจัดหาที่อยู่รองรับ ที่สำคัญคืองบประมาณจัดทำระบบการบำบัดน้ำเสีย และบริหารจัดการ ซึ่งต้องใช้การลงทุนมหาศาลของรัฐ
- ต้องมีคณะทำงานภาคประชาชน ราชการและฝ่ายการเมือง เพื่อการฟื้นฟูคลอง เป็นส่วนสำคัญของการมีส่วนร่วม และให้ความสำคัญเป็นพิเศษกับการวิจัยและการพัฒนา รวมไปถึงกระบวนการรับฟังความคิดเห็นจากอย่างเป็นระบบ
หลังจากอ่านข้อมูลฉากทัศน์ครบทั้ง 3 แบบแล้ว เราชวนทุกคนมองประเด็นต่อกับผู้เกี่ยวข้องที่มาร่วมแลกเปลี่ยน เพิ่มเติมในการตัดสินใจจาก 3 มุมมอง
คุณจักรธร สุริแสง นายกเทศมนตรีเมืองเขารูปช้าง กล่าวว่า ปัญหาที่ทำให้น้ำเสื่อมโทรมในทุก ๆ ปี คือการมีครัวขยายทำให้มีการสร้างบ้านลุกล้ำลงไปในน้ำเรื่อย ๆ เป็นเรื่องธรรมดา เนื่องจากที่ดินในตัวเมืองมีมูลค่าสูงขึ้น พวกเขาเลยใช้วิธีขยายครัวเรือนออกไปในคลองอยู่ทุกปี สิ่งเหล่านี้เรามองว่า ต้องแก้ปัญหาโดยระยะยาว แก้ปัญหาอย่างยั่งยืน ที่ไม่กระทบกับพี่น้องชุมชนเดิม โดยตั้งต้นมาจากปัญหา 3 ข้อ คือ หนึ่งปัญหาสิ่งแวดล้อม น้ำเน่าเสีย น้ำตื้นเขิน และขยะ สอง ปัญหาคนลุกล้ำลำน้ำ เเละสามปัญหาการขาดการมีส่วนร่วมของภาคีเครือข่ายและชุมชน กลายเป็นวาระเร่งด่วนระดับจังหวัดในการดำเนินการของหน่วยงานต่อหน่วยงานต่าง ๆ ที่มีศักยภาพ งบประมาณ แรงงาน และผู้มีประสบการณ์
เมื่อพูดถึงในอดีตคลองสายนี้เป็นแหล่งอารยธรรม เป็นแหล่งทำมาหากิน มีปลาปลากระบอก และมีปลาขี้ตังเข้ามาวางวางไข่ กลายเป็นเเหล่งอาชีพให้กับพ่อค้าแม่ขาย แต่ตอนนี้หน้าที่ของคลองเปลี่ยนกลายเป็นเพียงคูระบายน้ำเสีย ของคนในเทศบาลนครสงขลาหรือว่าเทศบาลเมืองของรูปช้าง ส่วนใหญ่จะไหลลงมาที่คลองสำโรงทั้งหมด
มองว่าต้องเปลี่ยนทัศนะวิสัยของคนริมคลอง “จากหลังบ้านให้เป็นหน้าบ้าน”
เราสามารถพัฒนาเป็นเเหล่งท่องเที่ยวได้ นักท่องเที่ยวสามารถเดินยาว ๆได้ตลอดสาย มีเรือที่พานักท่องเที่ยวชมบรรยากาศ เด็ก ๆ ริมคลองก็มีอาชีพ เเละผมมองว่า ปากอ่าวสามารถทำเป็นเเหล่งอนุบาลสัตว์น้ำ เลี้ยงแบบธรรมชาติ ชาวบ้านสามารถจับได้ ก็จะทำให้คุณภาพชีวิตดีขึ้น จับสัตว์น้ำได้มากขึ้น เเต่ทุกอย่างจะเกิดได้ขึ้นอยู่กับพี่น้องที่อาศัยอยู่ริมคลองสำโรง
คุณปริชาติ เเก้วมหิงส์ เจ้าหน้าที่ปฎิบัติการชุมชนอวุโส สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน กล่าวว่า เรามีประสบการณ์เรื่องการทำเรื่องคลองลาดพร้าว คลองแม่ข่า จนมาถึงคลองสำโรง การแก้ปัญหาเรื่องคลองอาจเป็นเพียงส่วนหนึ่งเท่านั้น แต่การพัฒนาคุณภาพชีวิต และการแก้ปัญหาเรื่องที่อยู่อาศัยให้กับชาวบ้านเป็นเรื่องที่สำคัญ ก่อนหน้านี้เราเคยลงไปคุยกับพี่น้องต่างสะท้อนว่า จะมีการไล่รื้อบ้านเรือน แต่วันนี้ยืนยันว่าทาง พอช.ไม่ได้ทำหน้าที่อย่างนั้น หน้าที่หลักของเรา คือการชวนพี่น้องมาร่วมกันพัฒนาเรื่องกลุ่มเพื่อสร้างความเข้มแข็งในการต่อรองกับหน่วยงานทุกระดับ รวมถึงการออกแบบอนาคตของพี่น้องริมคลองสำโรง ถึงความต้องการอาจจะไม่ใช่ฉากทัศน์ ที่ 1 2 3 แต่เป็นฉากทัศน์ของพี่น้องคลองสำโรงเอง
“หากพัฒนาคลองสำโรงแล้วเขาจะได้อะไร เเล้วถ้าเขาต้องถูกรื้อย้าย จะช่วยพี่น้องยังไง พี่น้องจะอยู่ที่ไหน มีอะไรเป็นหลักประกันรองรับให้กับพี่น้อง ได้บ้าง นี่คือเป็นสองคำถามที่เราลงไปเจอ” ปริชาติกล่าว
ที่ผ่านมาเป็นเพียงการคุยกันในระดับหน่วยงาน ยังไม่ถูกนำมาสื่อสารให้กับชาวบ้านเเละชาวบ้านเองยังไม่ได้เข้ามามีส่วนร่วมในการออกเเบบ นี่เป็นส่วนสำคัญที่ตอบได้ว่าการพัฒนาคลองสำโรงที่ทำมาต้องสูญเสียงบประมาณจำนวนมาก และชุมชนริมคลองสำโรงก็ตกเป็นจำเลยที่ถูกมองว่าเป็นคนทำให้ทำน้ำเสีย
แต่จริงแล้วไม่ใช่ เพราะเป็นของเรื่องของคนเมืองสงขลา มองว่ากระบวนการสำคัญคือ ต้องให้ชาวบ้านเป็นคนออกแบบซึ่งเป็นหัวใจสำคัญในการเปลี่ยนแปลง เเละต้องทำควบคู่กันระหว่างคลองกับคน
ปริชาติ กล่าวต่อว่า ชุมชนมาช่วยกันออกแบบอนาคตร่วมของเเต่ละชุมชนแล้วมาต่อเป็นจิ๊กซอว์เป็นภาพอนาคตของคลองสำโรง จะทำให้มีชีวิตชีวาเเละเป็นจริงมากกว่า
คุณจามีกร มะลิซ้อน อาจารย์คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ สาขาวิชาการผังเมือง มทร.ศรีวิชัย กล่าวว่า คุณภาพชีวิตที่ดี เรามุ่งไปที่ความสุขก่อน ตามด้วยเศรษฐกิจดี มีเงินในกระเป๋า ครอบครัวดี รูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส “รูป” เราต้องมองเห็นคลองในสไตล์ของเราผ่านการสร้างสรรค์จากนักออกแบบ “รส” มีพื้นที่นั่งกินกาแฟกินน้ำชา “กลิ่น” แทนที่เป็นกลิ่นน้ำเน่าเสีย เปลี่ยนเป็นกลิ่นดอกไม้ที่เราช่วยกันปลูกแล้วมีกลิ่นหอม “สัมผัส” สามารถจับมือคนที่เรารักได้ พอความสุขเข้าไปที่ใจแล้ว มันคือความสำเร็จแท้จริง ทุกคนรู้สึกเป็นเจ้าของเเละมีส่วนร่วมในความเป็นเจ้าของ เราจะต้องระดมไอเดียจากคนที่อาศัยอยู่ตรงนั้น ว่าเขาจะทำอะไร ดูแลรักษากันอย่างไร นอกจากความสวยงามที่ระดมกันแล้ว ต้องสร้างปฏิสัมพันธ์พูดคุยกัน อาจจะมีพื้นที่ได้ร่วมเเลกเปลี่ยน ลูกหลานได้มีพื้นที่วิ่งเล่นกัน นี่คือสังคมที่ดีขึ้น แล้วค่อยไปเรื่องการปรับภูมิทัศน์ให้มีความสวยงาม
ผมเสนอว่าให้จัดประกวดหาไอเดียดี ๆ จากคนในชุมชนหรือเพื่อน ๆ รอบชุมชนเพื่อให้ได้ไอเดียที่สร้างสรรค์ ที่เป็นสไตล์ของคลองสำโรงมากที่สุด
คุณจามีกร กล่าวต่อถึง ตัวอย่างความพยายามฟื้นคุณภาพชีวิต อย่างคลองชองเกชอน กว่าจะทำได้ต้องผ่านการถกเถียง ผ่านกระบวนการรับฟังข้อดีข้อเสีย และทิศทางว่าจะเป็นอย่างไร ซึ่งกระบวนการนี้มีความสำคัญในการปรับ ทำความเข้าใจผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย เเละมีความยุติธรรมในการชดเชย อย่างที่เคยคุยว่าถ้าวินวิน ท้องถิ่นก็วิน ชาวบ้านก็วิน นักท่องเที่ยวก็วิน สามารถทำให้เกิดสถานที่เที่ยวแห่งใหม่ไว้รับแขกบ้านแขกเมืองได้
“การมีภาคประชาชนสามารถทำได้ตามความสามารถ แต่หากมีหุ้นส่วนทั้งภาครัฐ สถาบันการศึกษาเเละคนที่มีความสามารถด้านต่าง ๆ มาช่วยกันคิดช่วยกันทำ ผมว่า 1,000 เปอร์เซ็นต์ ทำได้
หลังจากอ่านข้อมูลเพิ่มเติมทั้งหมดแล้ว “ภาพอนาคตคน และคลองสำโรง” ที่คุณอยากเห็นเป็นแบบไหน สามารถโหวตฉากทัศน์ได้ที่นี่……