‘จุติ ไกรฤกษ์’ รมว. พม. ร่วมงาน ‘22 ปี พอช.’ “เปลี่ยนผ่าน สานต่อ สู่ชุมชนเข้มแข็ง”

‘จุติ ไกรฤกษ์’ รมว. พม. ร่วมงาน ‘22 ปี พอช.’ “เปลี่ยนผ่าน สานต่อ สู่ชุมชนเข้มแข็ง”

นายจุติ  ไกรฤกษ์  รมว.พม. พร้อมด้วยผู้บริหาร พอช.  จนท.พอช. ผู้นำชุมชน  ในงาน ‘22 ปี พอช.’

สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนฯ / ‘จุติ  ไกรฤกษ์’ รมว.พม. ร่วมงานครบรอบ ‘22 ปี พอช.’  ปาฐกถาพิเศษ “ 22 ปี พอช. เปลี่ยนผ่าน  สานต่อ  สู่ชุมชนเข้มแข็ง”  ขณะที่ 22 ปีที่ผ่านมา  พอช.สนับสนุนการแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยชุมชนผู้มีรายได้น้อยทั่วประเทศแล้ว 240,000 ครัวเรือน  ส่งเสริมระบบสวัสดิการชุมชนเพื่อช่วยเหลือดูแลคนในชุมชน  โดยมีกองทุนสวัสดิการชุมชนทั่วประเทศ  5,915 กองทุน  เงินกองทุนรวมกันกว่า 20,000 ล้านบาท  ช่วยสมาชิกไปแล้วเกือบ 2 ล้านคน  ด้าน ผอ.พอช. ย้ำก้าวเดินสู่เป้าหมาย “ปี 2579 ชุมชนท้องถิ่นเข้มแข็งเต็มประเทศไทย”

วันนี้ (26 ตุลาคม) เวลา 07.00-12.00  น.  ที่สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) หรือ ‘พอช.’  ถนนนวมินทร์  เขตบางกะปิ  กรุงเทพฯ  มีการจัดงานครบรอบวันสถาปนา พอช. 22 ปี  โดยนายจุติ  ไกรฤกษ์  รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.)  นายอนุกูล  ปีดแก้ว  ปลัดกระทรวง พม. พร้อมผู้แทนหน่วยงานต่างๆ  ผู้นำขบวนองค์กรชุมชน  ผู้นำชุมชน   ภาคีเครือข่าย  และชาวชุมชนต่างๆ เข้าร่วมงานประมาณ 200 คน  โดยมีนายกฤษดา  สมประสงค์  ผู้อำนวยการ พอช.  ดร.กอบศักดิ์  ภูตระกูล  ประธานคณะกรรมการ พอช.  คณะผู้บริหาร  และเจ้าหน้าที่ พอช. ให้การต้อนรับ

ทั้งนี้สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนฯ หรือ พอช. เปิดดำเนินการอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 26 ตุลาคม 2543  อยู่ในการกำกับดูแลของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมฯ  ปัจจุบัน พอช.ดำเนินงานมาครบ 22 ปี   มีภารกิจหลักคือการสนับสนุนและให้การช่วยเหลือแก่องค์กรชุมชนและเครือข่ายองค์กรชุมชน เกี่ยวกับการประกอบอาชีพ  การพัฒนาอาชีพ  การเพิ่มรายได้  การพัฒนาที่อยู่อาศัยและสิ่งแวดล้อม  การพัฒนาชีวิตความเป็นอยู่ของสมาชิกในชุมชนทั้งในเมืองและชนบท  ฯลฯ

(จากซ้ายไปขวา) นายกฤษดา  สมประสงค์  ผอ.พอช.  ดร.กอบศักดิ์  ภูตระกูล  ประธานกรรมการ พอช. นายอนุกูล  ปีดแก้ว  ปลัดกระทรวง พม. ร่วมสักการะศาลพระภูมิ

รมว.พม.ปาฐกถาพิเศษ 22 ปี พอช.”

การจัดงานในวันนี้  ในช่วงเช้ามีพิธีทางศาสนา  พุทธ  คริสต์  และอิสลาม  รวมทั้งการจัดแสดงนิทรรศการผลการดำเนินงานของ พอช. ในด้านต่างๆ  หลังจากนั้นนายจุติ  ไกรฤกษ์  รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์  ได้กล่าวปาฐกถาพิเศษ  เรื่อง “ 22  ปี พอช. เปลี่ยนผ่าน  สานต่อ  สู่ชุมชนเข้มแข็ง”  มีสาระสำคัญว่า

นายจุติ  ไกรฤกษ์  รมว.พม.

22 ปีของ พอช. เป็นพลังองค์กรที่เข้มแข็งและยั่งยืน  แต่วันนี้สิ่งที่น่าเป็นห่วงคือการเปลี่ยนแปลงของโลกที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วฉับพลันในเรื่องของเทคโนโลยี  ซึ่งมีส่วนทำให้เราได้ประโยชน์และตกขบวนไปในเวลาเดียวกัน   ดังนั้น พอช.จะปรับตัว  เช่น  การนำระบบดิจิทัลมาใช้ในการบริหารงาน  บริหารกองทุนสวัสดิการชุมชน  เพื่อตรวจสอบข้อมูลให้เกิดความแม่นยำและมีประสิทธิภาพ  ลดการสูญเสียไปในเวลาเดียวกัน  

ขณะเดียวกันในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา  ประเทศไทยต้องประสบกับปัญหาการแพร่ระบาดของโควิด-19  นอกจากนี้ยังได้รับผลกระทบจากสงครามระหว่างรัสเซียกับยูเครน  ทำให้เกิดวิกฤตพลังงาน  ราคาน้ำมันแพง  ส่งผลต่อต้นทุนสินค้า ราคาปุ๋ย  เกษตรกรได้รับผลกระทบ

“ดังนั้นอยากจะบอกว่าสิ่งที่เกิดขึ้นเหล่านี้เป็นอุทาหรณ์ว่า  สัจธรรมของโลกนั้น  การเปลี่ยนแปลงของโลกเกิดขึ้นทุกวินาที   เราแก่ลงทุกวินาที  ทุกนาที  ทุกชั่วโมง  โลกมีการเปลี่ยนแปลงไป  ถึงแม้ว่าเป้าหมายของเราจะเหมือนเดิม  แต่เราก็ต้องปรับการทำงาน  กระบวนการในการทำงาน  เพื่อให้สอดคล้อง  และให้ก้าวพ้นวิกฤติของโลกไปให้ได้” รมว. พม.กล่าว

รมว.พม.กล่าวต่อไปว่า  รัฐบาลนี้ตั้งใจจะแก้ปัญหาความยากจนแบบพุ่งเป้า  ซึ่งก็อยากจะบอกว่าสมุดพกครัวเรือนของกระทรวง พม.ที่ทำให้กับรัฐบาลนั้น  สมุดพกครัวเรือนคือเข็มทิศและแผนที่ที่จะออกจากวิกฤติ   แต่การที่พูดเช่นนั้นมันต้องใช้เวลาและความอดทนอย่างยิ่งในการแก้ปัญหา  การเรียนรู้ทักษะใหม่ๆ อาชีพใหม่ๆ เทคโนโลยีใหม่ๆ  วันนี้ต้นทุนต่างๆ  เพิ่มขึ้นจากอัตราดอกเบี้ยที่เพิ่มขึ้น  แต่คุณภาพชีวิตของเรายังไม่ได้สูงขึ้นตามต้นทุนที่ขึ้นไป  จึงเป็นโจทย์ที่ท้าทายของ พอช.เป็นอย่างยิ่งว่า  จะทำอย่างไรที่เราจะพัฒนาแบบพุ่งเป้า ?

อย่างไรก็ดี  ในโอกาสครบรอบ 22 ปีของ พอช.นั้น  พอช.มีประธานกรรมการคนใหม่ (ดร.กอบศักดิ์  ภูตระกูล) ที่มีวิสัยทัศน์ที่ทันสมัย  รู้ระบบเศรษฐกิจ  รู้ระบบการเงิน  รู้ความเปลี่ยนแปลงเท่าทันของโลก   แต่จะต้องทำงานร่วมกับผู้อำนวยการและทีมงาน พอช. ทั่วภูมิภาค  โดยก้าวเดินไปพร้อมๆ กัน  เพื่อทำให้ทุกคนมีคุณภาพชีวิตที่ดี   มีโอกาสชีวิตที่ดีขึ้น 

“กระทรวง พม.ขอปวารณาตัวว่า  ตอนนี้เรามีเป้าหมายเหมือนกัน  ตั้งใจเช่นเดียวกัน  หวังว่าสิ่งต่างๆ ทั้งหลายเหล่านี้จะประสบความสำเร็จในอนาคตอันใกล้นี้  และก็มั่นใจมากว่า  ทีมงาน พอช. มีความพร้อม  สิ่งที่รัฐบาลตั้งใจหวังก็คือ  เราจะไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง  และเราจะรวบรวมทรัพยากรที่มีอยู่ทั้งหมด  ทั้งๆ ที่มีอยู่จำกัด และเราจะทำงานท่ามกลางความขาดแคลนให้ได้   ขออวยพรให้ 22 ปีของ พอช. เป็น 22 ปีแห่งก้าวที่มั่นคง  ยิ่งใหญ่ ยั่งยืนตลอดไป”  นายจุติไกรฤกษ์  รมว.พม. กล่าวทิ้งท้าย

‘22 ปี พอช.’ แก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยผู้มีรายได้น้อยแล้วกว่า 240,000 ครัวเรือน

ตลอดระยะเวลา 22 ปีที่ผ่านมา  พอช. มีภารกิจที่สำคัญด้านหนึ่ง  คือ  การพัฒนาและแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยของประชาชนและชุมชนผู้มีรายได้น้อยทั่วประเทศ  เพื่อให้มีที่อยู่อาศัยที่มั่นคง  มีคุณภาพชีวิตที่ดี  โครงการสำคัญคือ  ‘บ้านมั่นคง’  โดย พอช.เริ่มดำเนินการตั้งแต่ปี 2546

โดยมีแนวทางที่สำคัญคือ “ให้ชุมชนที่เดือดร้อนรวมตัวกันแก้ไขปัญหา  ส่วน พอช.ทำหน้าที่สนับสนุน”     เช่น  ชาวชุมชนร่วมกันจัดตั้งคณะกรรมการขึ้นมาดำเนินงาน  ร่วมกันสำรวจข้อมูล  ปัญหา  ความต้องการ  ร่วมกันจัดตั้งกลุ่มออมทรัพย์เพื่อเป็นทุน  ร่วมกันออกแบบบ้าน  ผังชุมชน  บริหารและดูแลการก่อสร้างบ้าน  ฯลฯ  โดย พอช. จะส่งเจ้าหน้าที่  สถาปนิกชุมชนเข้าไปสนับสนุนกระบวนการรวมกลุ่ม  เป็นที่ปรึกษา

ถือเป็นการพัฒนาชุมชนแนวใหม่ที่ให้ผู้เดือดร้อนเป็นแกนหลักในการแก้ไขปัญหา  นำไปสู่การมีที่อยู่อาศัยใหม่ที่มั่นคง    ไม่ต้องอยู่ในสภาพบุกรุก  บ้านเรือนแออัด  สภาพแวดล้อมเสื่อมโทรม  หรือกลัวว่าจะถูกขับไล่อีกต่อไป !!

ในปี 2560 คณะรัฐมนตรีเห็นชอบ ‘แผนแม่บทการพัฒนาที่อยู่อาศัยระยะ 20 ปี (2560-2579)’ ภายใต้วิสัยทัศน์ “คนไทยทุกคนมีที่อยู่อาศัยถ้วนทั่วและมีคุณภาพชีวิตที่ดี” (Housing For All) ซึ่งยึดโยงกับปฏิญญาสากลที่ประเทศไทยให้การรับรอง  คือ  ‘เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน’ เป้าหมายที่ 11 ของสหประชาชาติและวาระใหม่ในการพัฒนาเมือง  โดย พอช. มีเป้าหมายชุมชนผู้มีรายได้น้อยทั่วประเทศทั้งในเมืองและชนบท  รวม 1,050,000 ครัวเรือน เพื่อให้มีความมั่นคงในที่อยู่อาศัย  มีสภาพแวดล้อม  เศรษฐกิจ  และคุณภาพชีวิตที่ดี

นายกฤษดา สมประสงค์  ผู้อำนวยการ พอช.  กล่าวว่า  การพัฒนาและแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยของ พอช. นับตั้งแต่ปี 2546 จนถึงปัจจุบัน  พอช.ได้ดำเนินโครงการบ้านมั่นคงและแผนแม่บทการพัฒนาที่อยู่อาศัยระยะ 20 ปี  ทั้งในเมืองและชนบทแล้ว  จำนวน 1,486  ชุมชน  รวม 127,920 ครัวเรือน   โครงการบ้านพอเพียงชนบท  จำนวน 4,195 ตำบล  รวม 103,779  ครัวเรือน  ชุมชนริมคลองลาดพร้าวและคลองเปรมประชากร  รวม 45 ชุมชน 3,539 ครัวเรือน  

การแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยคนไร้บ้าน   โดยจัดตั้งศูนย์พัฒนาศักยภาพและฟื้นฟูคนไร้บ้านที่กรุงเทพฯ  เชียงใหม่  ขอนแก่น  และปทุมธานี  รวม 1,395 ราย  กรณีเร่งด่วน  ไฟไหม้  โดนไล่รื้อ  รวม  6,041 ครัวเรือน  รวมทั้งหมด 242,674 ครัวเรือน/ราย

นอกจากนี้  พอช.ยังมีแผนงานพัฒนาที่อยู่อาศัยที่สำคัญที่กำลังเริ่มต้นในปีนี้  เช่น  การพัฒนาที่อยู่อาศัยชุมชนริมคลองแม่ข่า  อ.เมือง  จ.เชียงใหม่  จำนวน 22 ชุมชน  กว่า 2,000 ครัวเรือน  การพัฒนาชุมชนริมฝั่งทะเลอันดามัน  6 จังหวัด  กว่า 14,000  ครัวเรือน  ชุมชนในที่ดินการรถไฟแห่งประเทศไทย  และชุมชนริมคลองสำโรง  จ.สงขลา  (ขณะนี้อยู่ในระหว่างการสำรวจข้อมูลชุมชน)

โดยมีแนวทางการพัฒนาที่อยู่อาศัยที่สำคัญ  คือ  ความร่วมมือกับภาคีเครือข่ายทั้งในระดับท้องถิ่นและระดับจังหวัด  รวมทั้งหน่วยงานในส่วนกลาง  เช่น  อบต.  เทศบาล  อำเภอ  จังหวัด  สถาบันการศึกษา  หน่วยงานด้านสาธารณูปโภค  (การประปา  การไฟฟ้า) หน่วยงานเจ้าของที่ดิน  (กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม  กรมธนารักษ์  การรถไฟฯ )  และที่สำคัญก็คือ  ชาวชุมชนที่เป็นแกนหลักในการแก้ไขปัญหาและพัฒนาที่อยู่อาศัย

7 /  การพัฒนาที่อยู่อาศัยชุมชนริมคลองลาดพร้าวและคลองเปรมประชากร   ขณะนี้ดำเนินการแล้วกว่า 3,500 ครัวเรือน  เพื่อสนับสนุนนโยบายการเพิ่มประสิทธิการระบายน้ำในคลอง-ป้องกันน้ำท่วมของรัฐบาล

กองทุนสวัสดิการชุมชน “ตาข่ายรองรับทางสังคม” 

นอกจาก พอช.จะมีบทบาทสำคัญในการสนับสนุนการแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยของประชาชนและชุมชนผู้มีรายได้น้อยแล้ว  การสนับสนุนให้มีระบบสวัสดิการชุมชนเพื่อให้สมาชิกในชุมชนช่วยเหลือดูแลกันเองถือเป็นภารกิจอีกด้านที่สำคัญของ พอช. เนื่องจากประชาชนทั่วไป  เกษตรกร  ชาวไร่  ชาวนา  ไม่มีระบบสวัสดิการรองรับเหมือนกับข้าราชการหรือพนักงานบริษัทเอกชนทั่วไป

โดย พอช. สนับสนุนการจัดตั้ง กองทุนสวัสดิการชุมชนตำบล’ ครั้งแรกในปี 2548   มีชุมชนนำร่องทั่วประเทศประมาณ 99  กองทุน  มีหลักการที่สำคัญ   คือ  ให้สมาชิกสมทบเงินเข้ากองทุนวันละ 1 บาท  หรือปีละ 365 บาท  ขณะเดียวกันรัฐบาลจะสมทบงบประมาณผ่าน พอช.เข้ากองทุนในอัตรา 1 ต่อ 1  (ต่อมาภายหลังองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หรือ อปท. จึงร่วมสมทบ) แล้วนำเงินกองทุนนั้นมาช่วยเหลือสมาชิกตามข้อตกลงของแต่ละกองทุน 

เช่น  คลอดบุตรช่วยเหลือ 500-1,000 บาท  นอนโรงพยาบาลช่วยเหลือคืนละ 100-200 บาท  ปีหนึ่งไม่เกิน 10คืน  ช่วยไฟไหม้  น้ำท่วม  ภัยพิบัติ  ไม่เกิน 2,000 บาท  ช่วยสมาชิกที่เสียชีวิต  3,000-20,000 บาท (ตามอายุการเป็นสมาชิกและสถานะการเงินของกองทุน)  ฯลฯ 

ในช่วงน้ำท่วม  หรือเกิดภัยพิบัติต่างๆ  กองทุนสวัสดิการชุมชน  และเครือข่ายองค์กรชุมชนจะมีบทบาทในการช่วยเหลือผู้ประสบภัย

แม้จำนวนเงินที่ช่วยเหลือจะไม่มากนัก  แต่ก็เป็นการช่วยเหลือที่ทันท่วงที  ไม่ต้องรอความช่วยเหลือจากหน่วยงานที่มีระเบียบขั้นตอนมากมาย   ยิ่งเมื่อกองทุนสวัสดิการชุมชนเหล่านี้รวมตัวกันเป็นเครือข่าย  ยิ่งทำให้เกิดพลัง  ช่วยเหลือกันได้มากขึ้น  เช่น  กองทุนสวัสดิการชุมชนในภาคอีสาน  ภาคกลาง  ฯลฯ  ระดมข้าวสาร  อาหารแห้ง  สิ่งของจำเป็นไปช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วมในพื้นที่ต่างๆ ในขณะนี้  รวมทั้งการช่วยเหลือกันในช่วงสถานการณ์โควิด-19 

ถือเป็นตาข่ายทางสังคม (Social Safety Net) รองรับผู้เดือดร้อน  ผู้ยากลำบากที่คนในชุมชนจัดตั้งกองทุนนี้ขึ้นมาเพื่อดูแลกันเอง  และยังเผื่อแผ่ช่วยเหลือผู้เดือดร้อนทั่วไปอีกด้วย !! 

ปัจจุบันมีการจัดตั้งกองทุนสวัสดิการชุมชนในระดับตำบล/เทศบาลทั่วประเทศ  จำนวน  5,915 กองทุน  สมาชิกกองทุนรวม  6,486,679 ราย   เงินกองทุนรวมกันจำนวน 20,413  ล้านบาท  โดยมีผู้รับสวัสดิการไปแล้วรวม 1,970,314 ราย   เงินจ่ายสวัสดิการรวม 2,399,946,472  บาท

ก้าวย่างต่อไป  สู่เป้าหมาย ‘ชุมชนท้องถิ่นเข้มแข็งเต็มประเทศไทย’

นอกจากผลงานที่เป็นรูปธรรมดังกล่าวแล้ว  พอช. ยังมีภารกิจสำคัญอีกหลายด้าน  เช่น  การส่งเสริม ‘สภาองค์กรชุมชนตำบล’ ให้เป็นกลไกในการพัฒนาชุมชนท้องถิ่นร่วมกับภาคีเครือข่ายทั้งภาครัฐ  เอกชน  และประชาสังคม  และถือเป็นการสร้างประชาธิปไตยจากฐานราก  เพราะสภาองค์กรชุมชนตำบล (หรือเทศบาล ส่วนในกรุงเทพฯ คือสภาองค์กรชุมชนระดับเขต)  จะมีผู้แทนชุมชนจากกลุ่มต่างๆ ในตำบลเข้าร่วมเป็นสมาชิก  และร่วมกันกำหนดทิศทางในการพัฒนาหรือแก้ไขปัญหาในชุมชนท้องถิ่น  รวมทั้งเสนอข้อคิดเห็นเข้าสู่การแก้ไขปัญหาในระดับประเทศ  ผ่านเวทีการประชุม ‘สภาองค์กรชุมชนตำบลระดับชาติ’

ปัจจุบันมีการจัดตั้งสภาองค์กรชุมชนตำบลทั่วประเทศ 7,795 แห่ง  จำนวนกลุ่มองค์กรชุมชนจดแจ้ง 156,280 องค์กร  และมีสมาชิกสภาองค์กรชุมชน   ประกอบด้วย  ตัวแทนชุมชนและผู้ทรงคุณวุฒิรวม 254,945 คน

นายกฤษดา สมประสงค์  ผอ. พอช. 

นายกฤษดา สมประสงค์  ผู้อำนวยการ พอช.  กล่าวว่า  ในโอกาสที่ พอช. ดำเนินงานครบ 22 ปี  และกำลังย่างเข้าสู่ปีที่ 23  พอช.ยังคงมุ่งมั่นที่จะก้าวเดินเพื่อมุ่งสู่เป้าหมายตามวิสัยทัศน์ขององค์กร คือ  “ปี 2579 ชุมชนท้องถิ่นมีความเข้มแข็งเต็มพื้นที่ประเทศไทย”  โดยมีประเด็นการพัฒนาอันเป็นทิศทางสำคัญในช่วงต่อไป  ได้แก่

1.การพัฒนาโดยใช้พื้นที่เป็นตัวตั้ง  สนับสนุนให้ชุมชนท้องถิ่นมีระบบที่พัฒนาไปสู่การจัดการตนเอง  เพื่อให้ชุมชนท้องถิ่นมีความเข้มแข็ง  สามารถจัดการตนเองบนพื้นฐานทุนชุมชนท้องถิ่น  และผู้มีรายได้น้อยในเมืองและชนบทมีความมั่นคงในที่อยู่อาศัยและคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น

2.การสานพลังความสัมพันธ์ของชุมชนท้องถิ่นและภาคีเครือข่ายพัฒนาสู่การเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างและนโยบาย  3. การพัฒนาและเสริมสร้างขีดความสามารถของผู้นำ  คนและขบวนองค์กรชุมชน  4.การพัฒนาระบบบริหารจัดการองค์กรในการเป็นหุ้นส่วนการพัฒนาชุมชน

ผู้แทนหน่วยงาน  ภาคีเครือข่าย  ผู้นำองค์กรชุมชน  ร่วมถ่ายรูปกับ รมว.พม. และผู้บริหาร พอช.

 “พอช. ให้ความสำคัญกับการสร้างความเป็นหุ้นส่วนกับองค์กรชุมชน  และประชาสังคม  บูรณาการทุกภาคส่วนในการสนับสนุนองค์กรชุมชนและเครือข่าย  ดำเนินงานเพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งของชุมชนและประชาสังคม  การพัฒนาองค์กรที่เอื้อต่อการทำงานของชุมชน  นำไปสู่ชุมชนเข้มแข็งจัดการตนเอง”  ผอ.พอช. กล่าว

นอกจากนี้  ผอ.พอช.  ได้ย้ำว่า  “ชุมชนท้องถิ่นเข้มแข็งคือทางรอดของประเทศไทย”  โดยมี 4 เสาหลัก  คือ  1.การเสริมสร้างประชาธิปไตยของชุมชน  โดยมีสภาองค์กรชุมชนเป็นพื้นที่กลางในการสร้างทิศทางการอยู่ร่วมกันของคนในชุมชนท้องถิ่น

2.การรักษา  พัฒนา  และต่อยอดทุนชุมชน  ทุนทางปัญญา  ทุนทางวัฒนธรรม  วิถีชีวิต  การประกอบอาชีพ  ทั้งการพัฒนาเศรษฐกิจฐานราก  องค์กรการเงินชุมชน  และป่าชุมชน

3.การมีระบบสวัสดิการของชุมชน ที่เกิดขึ้นมาจากการจัดตั้งของชุมชน  เป็นภูมิคุ้มกันของชุมชน  ทั้งการแก้ไขปัญหาที่ดินทำกิน  ที่อยู่อาศัย  และกองทุนสวัสดิการชุมชน  และ 4.การประกอบอาชีพที่ไม่เบียดเบียนผู้อื่น  หรือสัมมาชีพชุมชน

ส่วนการสร้างความร่วมมือขององค์กรชุมชน  และเครือข่ายองค์กรชุมชนในทุกระดับของ พอช. จะดำเนินการผ่าน 6 พันธกิจสำคัญ ได้แก่  1. พัฒนาคุณภาพชีวิตในองค์กร   2.สร้างหุ้นส่วนการพัฒนา  3.เพิ่มช่องทางการเข้าถึงแหล่งทุนที่หลาก หลาย  4.เพิ่มศักยภาพผู้นำองค์กรชุมชน   5. ประยุกต์ใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสม  และ 6. มีระบบข้อมูลที่เชื่อมโยงการพัฒนาและเปิดเผย   

“ทั้งหมดนี้…จะเป็นทิศทางและแนวทางการขับเคลื่อนกระบวนการทำงานที่สำคัญ….สู่เป้าหมายตามวิสัยทัศน์ของพอช.  คือ…ชุมชนท้องถิ่นเข้มแข็งเต็มพื้นที่ประเทศไทย  ผอ.พอช. กล่าวย้ำในตอนท้าย

ผู้นำองค์กรชุมชน  เครือข่ายชุมชน  อดีตผู้บริหาร พอช. ร่วมเสวนาแลกเปลี่ยนประสบการณ์งานพัฒนา
เจ้าหน้าที่ พอช.รับใบประกาศเกียรติคุณ ‘คนดี  ศรี พอช.’ จาก รมว.พม.

                                                ***************

เรื่องและภาพ :  สำนักพัฒนานวัตกรรมชุมชนจัดการความรู้และสื่อสาร  สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน)

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ