‘22 ปี พอช.’…. “เปลี่ยนผ่าน สานต่อ สู่ชุมชนเข้มแข็ง” บ้านมั่นคง “บ้านที่ทุกคนร่วมสร้าง” (1)

‘22 ปี พอช.’…. “เปลี่ยนผ่าน สานต่อ สู่ชุมชนเข้มแข็ง” บ้านมั่นคง “บ้านที่ทุกคนร่วมสร้าง” (1)

พิธีเปิดทำการ พอช. เมื่อ  22 ปีที่แล้ว  โดยมีนายธารินทร์  นิมมานเหมินท์  รมว.คลัง (สวมสูทแถวกลางที่ 7 จากซ้ายไปขวา) เป็นประธาน  โดยในช่วงก่อตั้ง พอช.สังกัดกระทรวงการคลัง 

            หากเป็นชีวิตของคนคนหนึ่ง… ในวัย 22 ปี  เขาและเธอคงเพิ่งก้าวพ้นประตูสถาบันการศึกษาออกมาอย่างใหม่หมาด  และคงจะไม่มีเรื่องราวในชีวิตให้ศึกษาเรียนรู้มากนัก  แต่หากเป็นองค์กรหรือหน่วยงานที่ทำงานคลุกคลีอยู่กับชุมชนคนรากหญ้ามาตลอด… ‘22 ปี’ นั้น  ย่อมบรรทุกเรื่องราวต่างๆ เอาไว้มากมาย !!

ย้อนวันวาน…รากเหง้า พอช.

สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) หรือ‘พอช’  สังกัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.)  เป็นหน่วยงานรัฐรูปแบบใหม่  ในรูปแบบของ ‘องค์การมหาชน’  โดยมี ‘พ.ร.บ. องค์การมหาชน พ.ศ.2542’  รองรับ  (ปัจจุบันมีองค์การมหาชนรวม 45 แห่ง) ทำหน้าที่ให้บริการสาธารณะหรือพัฒนาด้านต่างๆ  เพื่อการบริหารงานที่คล่องตัว  แตกต่างไปจากส่วนราชการหรือรัฐวิสาหกิจ 

ในเดือนกรกฎาคม 2543  มีพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนฯ  โดยโอนภารกิจของสำนักงานพัฒนาชุมชนเมือง (พชม.) และสำนักงานกองทุนพัฒนาชนบทเข้าด้วยกัน   ต่อมาในวันที่  26  ตุลาคม 2543  สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนฯ ได้เปิดดำเนินการอย่างเป็นทางการ  โดยในช่วงแรก พอช. สังกัดกระทรวงการคลัง  ปัจจุบัน พอช. ก้าวข้ามปีที่ 22  สู่ปีที่ 23

ปรีดา  คงแป้น  คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ในฐานะที่เคยทำงานใกล้ชิดกับ พอช.มานาน  เล่าย้อนวันวานว่า  ‘พอช.’ ก่อตั้งขึ้นโดยต่อยอดยกระดับมาจากสำนักงานพัฒนาชุมชนเมือง  (พชม.)  ซึ่งเป็นองค์กรที่ตั้งขึ้นในปี 2535  จากการผลักดันของคนจนในเมือง  เพื่อเข้าไปมีบทบาทสำคัญในการแก้ปัญหาและพัฒนาที่อยู่อาศัยของคนจนในเมือง  เพราะในขณะนั้นชุมชนแออัด  ทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัดต่างถูกไล่รื้อจากภาครัฐและเอกชนมาอย่างต่อเนื่อง

(ภาพจาก httpswww.chula.ac.thcuinside2496)

โดยรัฐบาลในยุคนั้น  นายอานันท์  ปันยารชุน  นายกรัฐมนตรี  ได้อนุมัติงบประมาณจำนวน  1,250 ล้านบาท  เพื่อจัดตั้งกองทุนพัฒนาที่อยู่อาศัยของคนจนในเมืองผ่านการเคหะแห่งชาติ   และการเคหะแห่งชาติได้จัดตั้ง ‘สำนักงานพัฒนาชุมชนเมือง’  (พชม.) ขึ้นมาในปี 2535  (สำนักงานตั้งอยู่ใกล้วัดใหม่ช่องลม  ถนนเพชรบุรีตัดใหม่  กทม.) เพื่อบริหารกองทุนดังกล่าว  โดยมีตัวแทนจากชุมชนแออัดเข้ามาเป็นกรรมการทุกระดับ  ร่วมกับผู้แทนของภาคีพัฒนาต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง  ทั้งภาครัฐและเอกชน   

“ถือเป็นมิติสำคัญของการพัฒนาชุมชนแออัดซึ่งไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน  เพราะชาวบ้านได้เปลี่ยนสถานะจากผู้ถูกขับไล่อย่างไม่มีทางเลือกมากนักมาเป็นผู้กำหนดอนาคตของตนเอง”  ปรีดาบอกถึงบทบาทของ พชม. ก่อนจะมาเป็น พอช.

เธอบอกด้วยว่า  จากบทเรียนนี้ถูกนำมาพัฒนาอย่างต่อเนื่องทั้งในเมืองและชนบท  โดยการร่วมกันผลักดันให้เกิดสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนฯ  ด้วยการรวมกองทุนเมืองและชนบทเข้าด้วยกัน  และจัดตั้งเป็นองค์การมหาชน  ตาม พ.ร.บ.องค์การมหาชน พ.ศ. 2542 

นายธารินทร์  รมว.คลัง (ยืนกลาง) เป็นประธานพิธีเปิดแพรคลุมป้ายชื่อสถาบันฯ เมื่อตุลาคม 2543

โดยผู้มีบทบาทสำคัญที่ทำงานร่วมกับองค์กรชุมชนและหน่วยงานต่างๆ คือ อาจารย์ไพบูลย์  วัฒนศิริธรรม’ (อดีตกรรมการผู้จัดการ พชม. ช่วงปี 2535-2540  และประธานบอร์ด พอช. ปี 2543-2547 ปัจจุบันเสียชีวิต) และ ‘นางสาวสมสุข  บุญญะบัญชา’ (อดีตผู้อำนวยการ พอช.)

“หัวใจสำคัญในการทำงานของ พอช. คือ  เคารพบทบาทขององค์กรชุมชนเป็นหลัก  สร้างการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วน  มีความเป็นอิสระ   และความคล่องตัวในการทำงานเพื่อให้ผู้ด้อยโอกาสและกลุ่มเปราะบางเข้าถึงการพัฒนาของ พอช.ได้มากขึ้น”  ปรีดาบอกถึงบทบาทของ พอช.ในช่วงที่ผ่านมา

(จากซ้ายไปขวา) อาจารย์ไพบูลย์  วัฒนศิริธรรม  นายธารินทร์  รมว.คลัง  และสมสุข  บุญญะบัญชา

‘พอช.’ มุ่งสร้างชุมชนเข้มแข็ง

“พอช. เป็นกลไกรัฐ  แต่เป็นเครืองมือของประชาชน”  นี่คือคำพูดของอดีตผู้บริหาร พอช.ท่านหนึ่ง (ปฏิภาณ  จุมผา อดีตรองผู้อำนวยการ พอช.) ที่ให้คำจำกัดความและฉายภาพให้เห็นบทบาทและหน้าที่ของ ‘พอช.’ ได้กระชับและแจ่มชัด

ตลอดระยะเวลา 22 ปีที่ผ่านมา  พอช. ยึดหลักการพัฒนาแบบองค์รวม   เปลี่ยนแนวคิดการพัฒนาจากเดิมแบบ “สั่งการ”  หรือ “จากบนลงล่าง  เป็นล่างขึ้นบน”  โดยชุมชนเป็นแกนหลักในการพัฒนา  สามารถคิด  วิเคราะห์ปัญหา  เสนอโครงการ  และบริหารโครงการต่างๆ  ได้เอง  ไม่ใช่เป็น “ผู้รอรับการพัฒนา”  มีเป้าหมายเพื่อให้ชุมชนและเครือข่ายขบวนองค์กรชุมชนเกิดความเข้มแข็ง  พึ่งพาตนเองได้  

ไมตรี  อินทุสุต  อดีตประธานคณะกรรมการสถาบันฯ

ดังที่ ‘ไมตรี  อินทุสุต’ อดีตประธานกรรมการสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนฯ เคยกล่าวเอาไว้ว่า  “พอช.เราไปสร้างความเข้มแข็งของชุมชน  โดยกระบวนการชุมชน  ให้มีกระบวนการมีส่วนร่วมทุกขั้นตอน  และแสดงความเป็นเจ้าของที่รับผิดชอบร่วมกัน  วันนี้คน พอช.ไปหนุนเสริมให้เกิดพลังแห่งความเปลี่ยนแปลงที่ยิ่งใหญ่  แล้วก็ถอยกลับเมื่อชาวบ้านเกิดความเข้มแข็ง  เกิดความยั่งยืน  และสุดท้ายเกิดเป็นความมั่นคงของมนุษย์”

ทั้งนี้  พอช. มีภารกิจต่างๆ ดังนี้  คือ 1.สนับสนุนและให้การช่วยเหลือแก่องค์กรชุมชนและเครือข่ายองค์กรชุมชน เกี่ยวกับการประกอบอาชีพ  การพัฒนาอาชีพ  การเพิ่มรายได้  การพัฒนาที่อยู่อาศัยและสิ่งแวดล้อม  และการพัฒนาชีวิตความเป็นอยู่ของสมาชิกในชุมชนทั้งในเมืองและชนบท  โดยยึดหลักการพัฒนาแบบองค์รวมหรือบูรณาการ  และหลักการพัฒนาที่สมาชิกชุมชนมีส่วนร่วมเป็นแนวทางสําคัญ   เพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งของชุมชนและประชาสังคม

2.สนับสนุนและให้การช่วยเหลือทางการเงินแก่องค์กรชุมชนและเครือข่ายองค์กรชุมชน  3.สนับสนุนและให้การช่วยเหลือเพื่อการพัฒนาองค์กรชุมชนและเครือข่ายองค์กรชุมชน   ตลอดจนประสานงานการสนับสนุนและให้การช่วยเหลือดังกล่าวจากหน่วยงานต่าง ๆ ทั้งภาครัฐและภาคเอกชน   และ 4. ส่งเสริมและสนับสนุนและสร้างความร่วมมือขององค์กรชุมชนและเครือข่ายองค์กรชุมชนทั้งในระดับท้องถิ่น  จังหวัด  และระดับประเทศ

ส่วนโครงการที่ พอช. ดำเนินการสนับสนุนองค์กรชุมชน  เช่น  ด้านการพัฒนาที่อยู่อาศัย   โครงการบ้านมั่นคงทั้งในเมืองและชนบท  โครงการบ้านพอเพียง  โครงการพัฒนาชุมชนริมคลองลาดพร้าว-คลองเปรมประชากร   คลองแม่ข่า จ.เชียงใหม่   คลองสำโรง  จ.สงขลา (กำลังจะเริ่ม) การพัฒนาชีวิตความเป็นอยู่ของชาวชุมชนเมืองและชนบท  การพัฒนาเศรษฐกิจและทุนชุมชน  การจัดสวัสดิการชุมชน  สภาองค์กรชุมชน  การดูแลสิ่งแวดล้อม  การป้องกันและจัดการภัยพิบัติ  ฯลฯ

ในช่วงสถานการณ์โควิด-19 ตั้งแต่ต้นปี 2563 พอช. ร่วมกับกองทุนสวัสดิการชุมชนทั่วประเทศและภาคีเครือข่ายจัดทำหน้ากากผ้าอนามัยแจกจ่ายพี่น้องชุมชนประมาณ 1 ล้านชิ้น  รวมทั้งใช้สำนักงาน พอช.เป็นที่ตรวจคัดกรองเชื้อโควิดให้แก่ชาวชุมชนต่างๆ

บ้านมั่นคง ทุกคนร่วมสร้าง

                กรุงเทพมหานครเป็นศูนย์รวมของประเทศไทย  และเป็นแม่เหล็กยักษ์ที่ดูดผู้คนจากทั่วสารทิศให้มาอยู่ที่นี่  ประกอบกับการพัฒนาเศรษฐกิจ-การค้า  ทำให้เมืองขยายตัว  เกิดชุมชนแออัด  ชุมชนผู้มีรายได้น้อย  ซึ่งมีทั้งเช่าที่ดินเพื่อปลูกสร้างบ้าน  ห้องเช่า  บ้านเช่า  และชุมชนบุกรุกที่ดินมากมาย  เช่น  ชุมชนในย่านคลองเตย  ชุมชนในที่ดิน รฟท.  ชุมชนในที่ดินราชพัสดุ  สำนักงานทรัพย์สินฯ  ที่ดินเอกชน  ชุมชนใต้สะพาน  ชุมชนริมคลอง  ฯลฯ

จากการศึกษาของ ‘โสภณ  พรโชคชัย’ นักวิชาการ  ในปี 2528  พบว่า  มีสลัมในกรุงเทพฯ และปริมณฑลจำนวน 1,020 แห่ง   

                ชุมชนแออัดและชุมชนบุกรุกต่างๆ เหล่านี้  ไม่มีความมั่นคงในที่ดินที่อยู่อาศัย  หากเจ้าของที่ดินบอกเลิกสัญญาเช่า  หรือต้องการที่ดินเพื่อใช้ประโยชน์  ชุมชนต่างๆ เหล่านี้จะต้องถูกขับไล่  เช่น  ชุมชนบุกรุกที่อยู่ในแนวพัฒนาที่ดินของ รฟท.  แนวก่อสร้างทางด่วนระยะที่ 2  ชุมชนที่รุกล้ำลำคลองของ กทม. รวมทั้งชุมชนย่านคลองเตย  เช่น  คลองไผ่สิงห์โตที่อยู่ใกล้ศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์  ในช่วงปี 2533-2534  ถูกขับไล่ก่อนการประชุมธนาคารโลกในประเทศไทยที่ศูนย์ประชุมแห่งนี้ 

( ภาพจากเว็บไซต์ประชาไท)

ในปี 2546  หลังก่อตั้ง พอช.มาแล้ว 3 ปี  พอช. ได้จัดทำโครงการ ‘บ้านมั่นคง’ ขึ้นมา  เพื่อแก้ไขปัญหาชุมชนผู้มีรายได้น้อย  ไม่มีความมั่นคงในที่อยู่อาศัย  โดยมีโครงการนำร่องในปีนั้นจำนวน 10 แห่งทั่วประเทศ  เช่น  ชุมชนเจริญชัยนิมิตใหม่  กรุงเทพฯ, แหลมรุ่งเรือง จ.ระยอง,  บุ่งคุก  จ.อุตรดิตถ์,  เก้าเส้ง  จ.สงขลา  ฯลฯ  โดยรัฐบาลอนุมัติงบ 146 ล้านบาท  เพื่อให้ พอช.นำไปสนับสนุนชุมชนในการพัฒนาสาธารณูปโภคและสินเชื่อก่อสร้างบ้าน(บางโครงการซื้อที่ดินใหม่ด้วย)

โดยมีแนวทางที่สำคัญคือ “ให้ชุมชนที่เดือดร้อนรวมตัวกันแก้ไขปัญหา  ส่วน พอช.ทำหน้าที่สนับสนุน”     เช่น  ชาวชุมชนร่วมกันจัดตั้งคณะกรรมการขึ้นมาดำเนินงาน  ร่วมกันสำรวจข้อมูล  ปัญหา  ความต้องการ  ร่วมกันจัดตั้งกลุ่มออมทรัพย์เพื่อเป็นทุน  ร่วมกันออกแบบบ้าน  ผังชุมชน  บริหารและดูแลการก่อสร้างบ้าน  ฯลฯ  โดย พอช. จะส่งเจ้าหน้าที่  สถาปนิกชุมชนเข้าไปสนับสนุนกระบวนการรวมกลุ่ม  เป็นที่ปรึกษา

ถือเป็นการพัฒนาชุมชนแนวใหม่ที่ให้ผู้เดือดร้อนเป็นแกนหลักในการแก้ไขปัญหา  นำไปสู่การมีที่อยู่อาศัยใหม่ที่มั่นคง    ไม่ต้องอยู่ในสภาพบุกรุก  บ้านเรือนแออัด  สภาพแวดล้อมเสื่อมโทรม  หรือกลัวว่าจะถูกขับไล่อีกต่อไป !! (ดูรายละเอียดเพิ่มเติมที่ www.codi.or.th)

ในปี 2560 คณะรัฐมนตรีเห็นชอบ ‘แผนแม่บทการพัฒนาที่อยู่อาศัยระยะ 20 ปี (2560-2579)’ ภายใต้วิสัยทัศน์ “คนไทยทุกคนมีที่อยู่อาศัยถ้วนทั่วและมีคุณภาพชีวิตที่ดี” (Housing For All) ซึ่งยึดโยงกับปฏิญญาสากลที่ประเทศไทยให้การรับรอง  คือ  ‘เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน’ เป้าหมายที่ 11 ของสหประชาชาติและวาระใหม่ในการพัฒนาเมือง  โดย พอช. มีเป้าหมายชุมชนผู้มีรายได้น้อยทั่วประเทศทั้งในเมืองและชนบท  รวม 1,050,000 ครัวเรือน เพื่อให้มีความมั่นคงในที่อยู่อาศัย  มีสภาพแวดล้อม  เศรษฐกิจ  และคุณภาพชีวิตที่ดี

กฤษดา สมประสงค์  ผู้อำนวยการ พอช.  กล่าวว่า  การพัฒนาและแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยของ พอช. นับตั้งแต่ปี 2546 จนถึงปัจจุบัน  พอช.ได้ดำเนินโครงการบ้านมั่นคงและแผนแม่บทการพัฒนาที่อยู่อาศัยระยะ 20 ปี  ทั้งในเมืองและชนบทแล้ว  จำนวน 1,486  ชุมชน  รวม 127,920 ครัวเรือน   โครงการบ้านพอเพียงชนบท  จำนวน 4,195 ตำบล  รวม 103,779  ครัวเรือน  ชุมชนริมคลองลาดพร้าวและคลองเปรมประชากร  รวม 45 ชุมชน 3,539 ครัวเรือน  

กฤษดา  สมประสงค์  ผอ.พอช. เยี่ยมชาวชุมชนบ่อนไก่  กรุงเทพฯ ที่โดนไฟไหม้และมอบความช่วยเหลือเบื้องต้น  เมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา

การแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยคนไร้บ้าน โดยจัดตั้งศูนย์พัฒนาศักยภาพและฟื้นฟูคนไร้บ้านที่กรุงเทพฯ  เชียงใหม่  ขอนแก่น  และปทุมธานี  รวม 1,395 ราย  กรณีเร่งด่วน  ไฟไหม้  โดนไล่รื้อ  รวม  6,041 ครัวเรือน  รวมทั้งหมด 242,674 ครัวเรือน/ราย

นอกจากนี้  พอช.ยังมีแผนงานพัฒนาที่อยู่อาศัยที่สำคัญที่กำลังเริ่มต้นในปีนี้  เช่น  การพัฒนาที่อยู่อาศัยชุมชนริมคลองแม่ข่า  อ.เมือง  จ.เชียงใหม่  จำนวน 22 ชุมชน  กว่า 2,000 ครัวเรือน  การพัฒนาชุมชนริมฝั่งทะเลอันดามัน  6 จังหวัด  กว่า 14,000  ครัวเรือน  ชุมชนในที่ดินการรถไฟแห่งประเทศไทย  และชุมชนริมคลองสำโรง  จ.สงขลา  (ขณะนี้อยู่ในระหว่างการสำรวจข้อมูลชุมชน)

โดยมีแนวทางการพัฒนาที่อยู่อาศัยที่สำคัญ คือ  ความร่วมมือกับภาคีเครือข่ายทั้งในระดับท้องถิ่นและระดับจังหวัด  รวมทั้งหน่วยงานในส่วนกลาง  เช่น  อบต.  เทศบาล  อำเภอ  จังหวัด  สถาบันการศึกษา  หน่วยงานด้านสาธารณูปโภค  (การประปา  การไฟฟ้า) หน่วยงานเจ้าของที่ดิน  (กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม  กรมธนารักษ์  การรถไฟฯ )  และที่สำคัญก็คือ  ชาวชุมชนที่เป็นแกนหลักในการแก้ไขปัญหาและพัฒนาที่อยู่อาศัย  เป็น  “บ้านที่ทุกคนร่วมสร้าง” 

การพัฒนาที่อาศัยชุมชนริมคลองลาดพร้าว (ย่านสายไหม)  สร้างเสร็จไปแล้วกว่า 3 ,000 ครัวเรือน

“นอกจากนี้ในเดือนตุลาคมและพฤศจิกายนนี้  พอช.  ชุมชน  และภาคีเครือข่ายทั่วประเทศ  จะร่วมกันจัดงานเนื่องในวันที่อยู่อาศัยโลกทั่วภูมิภาค  เพื่อเป็นการร่วมเฉลิมฉลองและรณรงค์การมีส่วนร่วมของชุมชน  ภายใต้แนวคิด    ‘ใส่ใจช่องว่าง  ไม่ทิ้งใครและที่ใดไว้ข้างหลัง’  

และเป็นการประกาศจุดเริ่มต้นของขบวนองค์กรชุมชนที่จะร่วมกันแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยและที่ดินทำกินอย่างมียุทธศาสตร์ มีทิศทาง และทำงานเชิงขบวนการที่กว้างขวางมากขึ้น โดยมีภาคีเครือข่ายทั้งในระดับท้องถิ่นและส่วนกลางเข้าร่วม  รวมทั้งการผลักดันนโยบายการแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยและที่ดินทำกินในรูปแบบการแก้ปัญหาระดับเมือง  ตำบล  และภูมินิเวศน์”  ผอ.พอช.บอกถึงแผนงานเรื่องที่อยู่อาศัยที่จะขับเคลื่อนต่อไป

การพัฒนาที่อยู่อาศัยโดยการสนับสนุนของ พอช.จะร่วมกับภาคีเครือข่าย  โดยมีชุมชนผู้เดือดร้อนเป็นแกนหลัก  เป็น “บ้านที่ทุกคนร่วมสร้าง”

เรื่องและภาพ :   สำนักพัฒนานวัตกรรมชุมชนจัดการความรู้และสื่อสาร  สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ