โต๊ะข่าวพลเมือง สัมภาษณ์ ‘สาทิตย์ วงศ์หนองเตย’ อดีต ส.ส.ตรัง พรรคประชาธิปัตย์ แกนนำคณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (กปปส.) และ ‘ธิดา ถาวรเศรษฐ’ ที่ปรึกษาแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ว่าด้วยเรื่อง พ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะที่กำลังเป็นข้อถกเถียงกันในปัจจุบัน
สาทิตย์ วงศ์หนองเตย
“จริงๆ กฎหมายนี้ก็มีการผลักดันกันมานาน แต่ก็มีข้อกังขา ข้อโต้แย้งกันเรื่อยมาจากภาคประชาชนว่าขัดรัฐธรรมนูญหรือเปล่า เพราะรัฐธรรมนูญให้สิทธิคนในการชุมนุมอย่างสงบ เปิดเผย ปราศจากอาวุธ แต่กฎหมายนี้เหมือนไปรอนสิทธิเขาว่า ถ้าคุณจะจัดการชุมนุม คุณต้องขออนุญาตก่อนนะ แล้วถ้าเกิดคนที่มีอำนาจตามกฎหมายไม่อนุญาตหละ ก็แปลว่าเขาถูกรอนสิทธิใช่ไหม”
“ถ้ากฎหมายนี้จะถูกผลักดันโดย สนช.ในขณะนี้ ผมได้ดูร่างกฎหมายที่ผ่านวาระหนึ่งแล้ว ก็ไม่ค่อยต่างจากเดิมเท่าไหร่ นั่นก็คือว่าประชาชนจะใช้สิทธิชุมนุมจะต้องขออนุญาตก่อน และถูกจำกัดพื้นที่ มีเงื่อนไขเยอะแยะเลย ปฏิกิริยาของภาคประชาชนเองก็ออกมาเหมือนเดิม”
“ความเดือดร้อนคนมันคิดล่วงหน้าไม่ได้ ถ้าเกิดจู่ๆ เขาเกิดมาสร้างโรงงาน มาขุดดิน มาถมดิน มาทำให้คนเดือดร้อนเมื่อคืน จะไปยื่นขออนุญาตอยู่แล้วจะได้เมื่อไหร่ แล้วความเดือดร้อนนั้นใครจะยุติ ใครจะยับยั้ง”
“ผมก็เห็นว่ากฎหมายนี้มันดาบ 2 คม ในทางหนึ่งเหมือนกับว่าเราต้องการรักษาความสงบของบ้านเมือง แต่อีกด้านหนึ่งมันก็เหมือนกับการรอนสิทธิของคน ในกรณีที่เขามีความเดือดร้อนเกิดขึ้น เพราะฉะนั้นการที่กฎหมายฉบับนี้ออกมาใช้ มันไม่ใช่อยู่ๆ กฎหมาย ฉบับเดียวมาบังคับปุ๊บ แล้วเหตุการณ์ทุกอย่างจะจบลง มันมีบริบทหลายอย่างเข้ามาเกี่ยว”
“ถ้ากฎหมายฉบับนี้คิดว่าออกมาใช้กับการเมือง ผมก็คิดว่ามันไม่ถูกต้อง”
ธิดา ถาวรเศรษฐ
“ปัญหาของ พ.ร.บ.ชุมนุม ในทัศนะของดิฉันคิดว่าอันนี้มันไม่เหมาะกับประเทศไทย เราเข้าใจว่าโดยเฉพาะอย่างยิ่งทางตำรวจนั้นเพื่อความสะดวกเขาก็ต้องการให้มี แต่ว่าระหว่างความสะดวกของตำรวจ เจ้าหน้าที่ กับปัญหาที่ยิ่งใหญ่ที่กระทบต่อประเทศ ดิฉันเลือกอย่างหลัง”
“ถ้าหากว่าไม่ติดขัดว่าเป็นรัฐบาลรัฐประหาร พี่น้องสวนยาง พี่น้องชาวนาเขาก็มา แม้อาจบอกว่ามันไม่มั่นคงหรืออะไรก็ตาม แต่ว่านี่มันคือการปิดกั้นนะคะ เพราะว่าจริงๆ เขาต้องการมาสะท้อนความเดือดร้อนของเขา เพราะฉะนั้นผลที่กระทบต่อคนกลุ่มเหล่านั้นมากกว่า แต่ถ้าเป็นผู้ชุมนุมทางการเมือง คุณจะเห็นว่าแม้กระทั่งเขามี พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ถ้ามันเป็นปัญหาหนักขนาดนั้น เขาเดินแล้ว เขาก็ต้องเดินต่อ”
“ถ้ากลไกรัฐ ถ้าการเมืองการปกครองทำไปได้ดี ประชาชนเขาจะออกมาทำไม เพราะการชุมนุมเป็นสิ่งสุดท้ายที่ประชาชนเขาอยากทำนะ เรื่องอะไรเขาจะต้องมาให้ลำบากหละ จริงๆ ถ้าเขาส่งจดหมายหรือว่าพูดแล้วกลไกรัฐสามารถตอบสนองได้ เขาก็ไม่ต้องออกมาชุมนุมสิ”
…
ชมย้อนหลัง พลเมืองข่าว ตอน ล้อมกรอบเสรีภาพ พฤหัสบดีที่ 26 มี.ค. 2558