เช็คเสียงชาวนาพิจิตร – เช่าที่ หนี้สิน น้ำดินแปรปรวน

เช็คเสียงชาวนาพิจิตร – เช่าที่ หนี้สิน น้ำดินแปรปรวน

เช่านา ไม่มีที่ดิน

หนี้สิน ต้นทุนการผลิตสูง

สภาพอากาศเปลี่ยน ฤดูกาลเปลี่ยน ผลผลิตน้อยลง

ชาวนา ผู้เป็นกระดูกสันหลังของประเทศในตอนนี้เจอกับวังวนปัญหาหนี้สิน ต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้นทุกปีแต่รายได้กลับเท่าเดิม รวมถึงสภาพอากาศ ฤดูกาลเก็บเกี่ยวเปลี่ยนไป ส่งผลให้ผลผลิตน้อยลง แม้จะมีนโยบายภาครัฐช่วยเหลือแต่ สิ่งเหล่านี้เป็นสถานการณ์ที่ชาวนาในประเทศไทยส่วนใหญ่เจอ รวมถึงชาวนาในจังหวัดพิจิตรเช่นกัน

พูดถึงจังหวัดพิจิตรแล้วคนจะนึกถึงตำนานชาละวัน แต่พิจิตรเป็นจังหวัดที่มีการปลูกข้าวเป็นอันดับสามในภาคเหนือ มีอาชีพเกษตรกรชาวนาเป็นจำนวนมากในอ.เมือง อ.โพทะเล อ.สามง่าม และอ.ตะพานหิน ทำนาในลักษณะแบบนาปีคือ พึ่งพาน้ำฝนจากธรรมชาติ เพาะปลูกปีละครั้งในช่วงฤดูฝน ใช้วิธีการทำนาหว่านแทนการดำนา แต่สิ่งที่กำลังเจอตอนนี้คือ จำนวนเกษตรกรที่ลดลงทำให้ต้นทุนในการผลิตสูง แต่ราคาข้าวถูก

วงจรการทำนาตั้งแต่ต้นน้ำ-กลางน้ำ-ปลายน้ำ

เมื่อวันที่ 8 กันยายน 2565 ทางทีมงานสื่อพลเมือง ไทยพีบีเอส ลงพื้นที่ตะพานหิน ถ่ายทำรายการฟังเสียงประเทศไทย ตอน อนาคตข้าว อนาคตชาวนาไทยที่ ต.หนองพยอม อ.ตะพานหิน จ.พิจิตร มีตัวแทนเครือข่ายเกษตรกรชาวนาภาคเหนือตอนล่าง มาเล่าสถานการณ์ ปัญหาที่กำลังเผชิญตลอดจนร่วมเสนอทางเลือกและแนวคิดในการแก้ปัญหาของเขาร่วมกัน หลังจากเวทีเสร็จสิ้น พี่อุลัย สุขมณี และ พี่รัศมี ขันทอง บอกเล่าเพิ่มเติมเรื่องปัญหาต้นทุนสูง การเช่าที่ดิน และภาพอนาคตผ่านมุมมองของผู้ประกอบอาชีพชาวนา

Soundcheck ชาวนาไทย ชาวนาไร้ที่ดินส่วนในพิจิตร

พี่อุลัย สุขมณี และพี่รัศมี ขันทอง บอกถึงปัญหาหลักๆ ของชาวนาที่มีร่วมกันคือ ราคาต้นทุนในการผลิตที่สูง เช่น ปุ๋ย ยาฆ่าแมลง เมล็ดพันธุ์ข้าว ค่าจ้างและค่าเช่าที่ดินทำนา ภัยพิบัติธรรมชาติ ซึ่งเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้ตอนนี้ชาวนาในจังหวัดพิจิต อ. ตะพานหิน กำลังเจออยู่

พี่อุลัย พูดถึงราคาต้นทุนที่ต้องจ่าย และราคาข้าวได้ไม่แพง ไม่พอจ่ายค่าใช้หนี้ ของเราทำเป็นข้าวนาปีมันผลผลิตได้ปีละครั้ง ถ้านาปรังได้ไร่ละเกวียน 2-3 ครั้ง เป็นนาปีต้องมีแหล่งน้ำ แต่เราอะไม่มีแหล่งน้ำทางธรรมชาติ ถ้าปีไหนฝนแล้งเราก็จะแย่ หนี้สินก็ค้าง ผลผลิตน้อยด้วย 

ส่วน พี่รัศมี เสริมว่า ต้นทุนสูงก็ส่วนใหญ่เลยคือ น้ำมันแพงแล้วก็ค่าจ้าง ปุ๋ย ทุกอย่างที่ใช้มันขึ้นราคาสูงขึ้นจากปกติที่แพงอยู่แล้ว ซึ่งเราแย่อยู่แล้วแต่ปีนี้ราคาข้าวของขึ้นแบบก้าวกระโดด ไม่รู้ว่าขึ้นมาได้ยังไงมากมายในขณะที่ข้าวราคาเหมือนเดิม แล้วอีกอย่างหนึ่งคือ เราไม่รู้เลยว่าข้าวที่จะขายปีนี้มันจะราคาเท่าไหร่ เราไม่สามารถกำหนดราคาเองได้ชาวนา ก็ไม่เคยมีใครได้กำหนดราคาตัวเอง

ชาวนามีความเคยชินกับการทำนาลักษณะแบบนี้กันคือทำขายแล้วหวังราคาจากรัฐบาล ซึ่งมันไม่ได้เป็นไปตามที่คิดสักปี  ทำปีไหนก็เหมือนเดิมๆ มันเป็นความคาดหวังของชาวนาที่ว่ารัฐบาลจะให้ราคา

soundcheck ความต้องการและปัญหาในพื้นที่

ชาวนาส่วนใหญ่ในพื้นที่เช่าที่ดินทำนา เป็นอีกหนึ่งเหตุผลที่ทำให้ต้นทุนสูง

พี่อุลัย บอกว่า ชาวนาคนไหนไม่มีที่ดินก็จะเช่านาของคนอื่นเขา แล้วเดี๋ยวนี้ที่ดินก็ขึ้นราคา เมื่อก่อนไม่แพงเท่าไหร่แต่ปัจจุบันไร่ละประมาณหนึ่งพันบาท ถ้าเราได้ผลผลิตน้อยก็ไม่มีเงินให้เขากลายเป็นหนี้สิน

พี่รัศมี เล่าอีกว่า ชาวนาหลายคนที่ต้องการราคาที่หมื่นห้าแล้วมันจะดีขึ้น แต่ส่วนตัวพี่ไม่เชื่ออย่างนั้นเพราะจริงๆ แล้วมันจะดีขึ้นได้แค่บางคน แล้วปัญหามันจะตามาอีกคือ ถ้าราคาข้าวสูงก็จะแย่งกันเช่านา ราคาเช่าก็จะต้องเพิ่มขึ้นแน่นอนแล้วข้าวของก็ต้องเพิ่มตามอีก เห็นมาทั้งชีวิตไม่เห็นความเป็นอยู่ชาวนาจะดีขึ้นจริงๆ ได้เลย นอกจากคนที่รวยอยู่แล้วไปทำนาเขาจะยิ่งมีโอกาสกว่า อย่างคนบางคนทำนาคือ ชาวนาจริงๆ ขายที่ดินนาหลุดลอยกันไปเกือบ 100%แล้ว อันนี้คือความจริงซึ่งมันก็จะอยู่วังวนแบบนี้

ครึ่งหนึ่งชาวนาทั่วประเทศมีหนี้สิน

ปัญหาภัยพิบัติธรรมชาติ พี่รัศมี เล่าว่า เป็นสิ่งที่ลำบากสุดเพราะไม่สามารถคาดการณ์ได้ อากาศเปลี่ยนแปลงแล้วทำให้ฤดูกาลเปลี่ยน เรากำหนดอะไรไม่ได้ ทำให้เวลาผลิตต้องใช้ต้นทุนที่เพิ่มขึ้น เช่น  เราหว่านข้าวในช่วงจังหวะที่ฝนตกก็ต้องหว่านใหม่ หรือต้องมีการเพิ่มต้นทุนในการสูบน้ำออกจากนา ไม่งั้นนาก็เน่า

ภาพในฝันที่ชาวนาอยากเห็น

พี่อุลัย สุขมณี บอกว่าอยากให้ ลดต้นทุนพวกปุ๋ยให้ถูกลง ปรับราคาข้าวแพงขึ้น เพราะตอนนี้ชาวนาเราขายข้าวต้องพึ่งพาตลาด ถ้าตลาดให้ราคาที่ดี เราก็พึ่งพาเขาได้ แต่ถ้าเขากดราคาก็ไม่รู้จะทำยังไง เพราะเราตั้งราคาเองไม่ได้ ตลาดให้เราเท่าไหร่ก็ต้องเอา เพราะเราลากข้าวไปแล้ว ตลาดสามารถกดราคาเราได้อีก เช่น มีสิ่งเจือปนจากราคา 8,000 บาท ลดมาเหลือ 7,000 บาท แบบนี้ เราชาวนาไม่มีอะไรจะไปต่อรองกับเขา เพราะเราลากข้าวมาแล้วกลับมาไม่มีที่ตากข้าวเลยต้องขาย

อยากให้ภาครัฐบาลช่วยเหลือราคาข้าว ลดต้นทุนในการผลิตต่ำลงหมายถึงปุ๋ยและพวกยา ถ้าแพงอะไรแพงหมดชาวนาก็แย่ เพราะนาก็เช่าเขามา แต่บางคนที่มีพื้นนาเป็นของตนเองก็จะดีหน่อย

อนาคตข้างหน้า พวกเราก็แก่ๆ กันแล้ว พอเด็กรุ่นหลังๆ เขาก็ไม่ค่อยทำนาแล้วไปเรียน ชาวนาก็มีแต่คนแก่ต้องใช้เทคโนโลยีมาช่วย ต้องเก็บเงินไว้เยอะเผื่อตอนแก่แต่ก็เก็บไม่ได้เพราะมีหนี้สินเยอะ ต้องจ้างคนแต่เดี๋ยวนี้คนก็ไม่ค่อยมีแล้วเดี๋ยวนี้เลยต้องใช้เทคโนโลยีคือ ใช้เครื่องไม้เครื่องมือ เช่นใช้โดรน ถ้าเราทำนาก็ต้องมีตัวช่วย

ส่วน พี่รัศมี ขันทอง เสนอว่า ถ้าจะสรุปในประเด็นรัฐบาลคือคนที่สำคัญที่สุดสำหรับประชาชน ทุกอาชีพจะดีขึ้นถ้าเขาจริงใจที่จะช่วยเหลือ แก้ปัญหากับเราจริงๆ  นโยบายที่ออกมาตอนนี้เหมือนดีแต่ในความเป็นจริงแล้วทำไม่ได้หรือแม้กระทั่งทำได้มันก็ไม่จริง ถ้ารัฐบาลจะช่วยเหลือชาวบ้านต้องให้ชาวบ้านรู้จักพึ่งพาตนเอง อาจจะออกกฎหมายบังคับได้ เช่น การทำบัญชีครัวเรือน ถ้ารัฐบาลบังคับด้วยกฎหมายคนก็ต้องทำอยู่แล้ว แต่ความจริงการปฏิบัติมันไม่ได้เกิดขึ้นจริง

อนาคตของชาวนาคิดจากตัวเองคือ ต้องปรับตัว ปรับวิธีคิดถ้าเราไม่เริ่มจากวิธีคิดของคนก็จะเปลี่ยนอะไรค่อนข้างยาก อย่างเรา ชาวบ้านคิดจะทำกลุ่ม มีธนาคารข้าว เก็บเมล็ดพันธุ์เอง แต่จะมีคนคิดแบบเรากี่คนกว่าจะมารวมเป็นกลุ่มและแข็งแรงได้ และบางอย่างต้องใช้ทุนแล้วเราจะไปเอามาจากตรงไหน เราคิดอยากทำ ให้มันเกิดขึ้นแต่การรวมคนมันยากทำให้คนคิดเหมือนกัน

ถามว่าเราอยากได้ไหมราคาสูงๆ ก็อยากได้อยากมีเหมือนคนอื่น เพียงแต่มันเกิดขึ้นยาก อย่างที่บอกถ้ารัฐบาลจริงใจกับประชาชนยังไงก็ดีขึ้นเชื่ออย่างงั้น อนาคตชาวนาหนทางค่อนข้างพูดยากคือการที่เราคุยกันถกกัน มันมีทางออกอยู่แต่ทำยาก มีวิธีอย่างที่เขาบอกคือการช่วยเหลือพึ่งพาตนเอง กระบวนการต่างๆ เหล่านี้ดีถ้ามันทำได้ และรัฐบาลสนับสนุนให้ทำหลักๆ

ถ้าปรับตัวคือเริ่มจากพึ่งพาตนเอง วิเคราะห์สำหรับเรา เพราะต่างคนก็คิดไม่เหมือนกัน แต่สำหรับเราเราเป็นลูกชาวนามาทั้งชีวิต เกิดมาก็เห็นพ่อแม่ทำนา เราไม่รู้หรอกว่าเมื่อก่อนเขาลำบากยังไงแต่รู้แค่ว่าในวันนั้นไม่ได้รู้สึกว่ามันอดอยากหรือลำบากเหมือนตอนนี้ รู้สึกว่าเรามีกินแต่อาจจะไม่โก้นะ พอมาวันนี้เราเห็นพ่อทำให้เราคิดว่าต้องปรับตัว อะไรที่ควรทำเองได้ก็ควรจะทำ ต้องพึ่งตนเองและพึ่งกันเองดีที่สุด

แต่การพึ่งกันเองจะหาคนที่คิดเหมือนอย่างเรามันหายากมีน้อย เลยต้องมีกระบวนการเวทีเหมือนอย่างวันนี้ มีเยอะๆ หลายๆ ครั้งเพื่อให้คนมาคุย เห็นภาพว่ามันคืออะไร เปลี่ยนแปลงยังไง มีผลดีผลเสียอย่างไร กระบวนการเหล่านี้อยากให้เกิดในพื้นที่เยอะๆ คนจะได้มานั่งคุยกันเพราะทุกวันนี้คนไม่ค่อยคุยกัน ต่างคนต่างอยู่

ปัจจุบันชาวนาในไทยผู้อยู่เบื้องหลังการผลิต ส่งออกข้าวที่สำคัญกลับเป็นผู้มีรายได้น้อย จำเป็นต้องกู้ยืมหนี้สินเป็นจำนวนมากเพราะต้นทุนการผลิตสูง และไม่มีที่ดินทำนาเป็นของตนเอง แม้กลุ่มเครือข่ายเกษตรกรร่วมกลุ่มหาวิธีแก้ไขปัญหา ทั้งการพึ่งพาตนเอง หันมาเพาะเมล็ดพันธุ์เอง มีการใช้เครื่องมือเทคโนโลยีมาช่วยทดแทนแรงงานที่มีน้อยลง

แต่สิ่งเหล่านี้ต้องใช้ต้นทุนในการทำ ดังนั้นกลุ่มคนที่จะสามารถช่วยเหลือเกษตรได้คือ รัฐบาล นอกจากออกนโยบายแล้วต้องให้การสนับสนุน ลงพื้นที่ สร้างกระบวนการมีส่วนร่วม เข้ามาพูดคุยกับประชาชนอย่างเต็มที่ถึงจะทำให้ภาคเกษตรกรมีรายได้และคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นกว่าเดิม

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ