อยู่ดีมีแฮง : แหนแดงไมโครฟิลล่า พืชน้ำมหัศจรรย์ลดต้นทุนการเกษตร ต่อยอดเกษตรอินทรีย์

อยู่ดีมีแฮง : แหนแดงไมโครฟิลล่า พืชน้ำมหัศจรรย์ลดต้นทุนการเกษตร ต่อยอดเกษตรอินทรีย์

เกษตรกรหลายท่านอาจเคยประสบกับปัญหา เรื่องต้นทุนที่ใช้ในการทำเกษตร ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของปุ๋ยที่มีราคาแพง อาหารสำหรับสัตว์เลี้ยงที่ต้องใช้เงินสำหรับซื้อ ทำให้เรื่องการทำเกษตรเป็นเรื่องที่ต้องมีเงินจึงสามารถทำได้ แต่ท่านรู้ไหมว่า มีพืชที่สามารถช่วยลดต้นทุน และง่ายต่อการขยายพันธุ์  นั่นก็คือ แหนแดงไมโครฟิลล่า ซึ่งกรมวิชาการเกษตรได้พัฒนาพันธุ์และขยายพันธุ์แหนแดงชนิดนี้ เพื่อนำมาพัฒนาการในการใช้ประโยชน์เกี่ยวกับเกษตรอินทรีย์

วันนี้อยู่ดีมีแฮงจะพาทุกท่านไปทำความรู้จักกับพืชชนิดนี้กันค่ะ เราออกเดินทางมาที่บ้านอีเลี่ยน  ตำบลหนองขอนกว้าง อำเภอเมืองอุดรธานี อุดรธานี มาพบกับพี่เบญ เบญจพิศ คอนสเตเบิ้ล  เกษตรกรผู้เลี้ยงแหนแดง ซึ่งก่อนจะมีการเริ่มทำพี่เบญเคยประกอบอาชีพ เป็นแม่ค้าตลาดนัดมาก่อน พอได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ก็เลยหยุดขาย เพราะมีผลกระทบหลายอย่าง เช่น มีการสั่งปิดตลาด ทำให้ไม่มีรายได้ จึงตัดสินใจกลับมาอยู่บ้าน

เริ่มต้นจากความสนใจในการลดต้นทุน

หลังตัดสินใจกลับมาอยู่บ้านเธอจึงมองหาอาชีพที่พอจะช่วยหาเลี้ยงครอบครัวได้ เริ่มด้วยทำเกษตรผสมผสาน ปลูกอ้อยคั้นน้ำ เลี้ยงกบ เลี้ยงเป็ด และไก่ ซึ่งก็พบว่า ในแต่ละเดือนต้องเสียเงินจำนวนมากเพื่อซื้ออาหารสัตว์ จึงคิดว่าทำอย่างไรถึงจะลดต้นทุนลงได้

“ตอนแรกคิดแค่ว่าอยากลดต้นทุนในฟาร์มตัวเองก่อน แบบว่าเราสามารถเลี้ยงเป็ดเลี้ยงไก่เพื่อเอามาเลี้ยงตัวเองด้วย ผลตอบแทนคือเขาจะมาเลี้ยงเรา ถ้าเราเลี้ยงเขาดีแล้ว ก็เลยคิดว่า จะหาอะไรไปเลี้ยงเขาดี ก็เลยนึกถึง แหนแดง พันธุ์วิชาการเกษตร เขาสนับสนุนให้เกษตรกรเลี้ยง เพราะมีโปรตีนสูง ก็เลยสนใจก็เลยศึกษาค่ะ เลี้ยงไปเลี้ยงมา คิดว่ามันดีจริง ๆ ก็เลยอยากแบ่งปันให้เพื่อนที่ทำเกษตรด้วยกัน”

หลังจากได้พืชที่ช่วยลดต้นทุนแล้ว พืชชนิดนี้ยังสามารถเริ่มสร้างรายได้ให้เธออีกด้วย ราคาแหนแดงขายทางออนไลน์อยู่ที่กิโลกรัมละ 100 บาท แต่หากเข้ามาซื้อหน้าฟาร์มราคากิโลกรัมละ 70 บาท ปรากฏว่ามีลูกค้าสนใจและสั่งจองจำนวนมาก ทั้งมารับเองที่สวน และบรรจุขายส่งทางออนไลน์

ปัจจุบันพี่เบญ เพาะเลี้ยงแหนแดงรวมเนื้อที่กว่า 2 ไร่ ซึ่งเธอบอกว่าช่วงนี้เป็นช่วงที่ขายดี เพราะคนหันมาทำเกษตรมากขึ้น และอนาคตหากตลาดมีมากจากการขายแหนแดงสด ก็ยังสามารถแปรรูปเป็นแหนแดงแห้ง ขายเป็นปุ๋ยต่อไปได้

“รายได้ตอนนี้ ไม่ต่ำกว่าวันละ 1,000 บาท ถ้าวันไหนไม่ได้ ก็ประมาณ 500-600 บาทค่ะ ตอนนี้ก็มีเครือข่ายผู้เลี้ยงปู แล้วก็เลี้ยงหอย ที่เขาแนะนำมาให้มาซื้อที่นี่ อยู่ในอุดรคือมาซื้อกับเบญ”

เคล็ดไม่ลับสำหรับการเลี้ยงแหนแดง

แหนแดงเป็นพืชที่สามารเพาะเลี้ยงได้ในภาชนะขนาดเล็ก เช่น กะละมัง กล่องโฟม ไปจนถึงการเพาะเลี้ยงในบ่อดิน หรือทุ่งนา ซึ่งขึ้นอยู่กับความสะดวกของผู้เลี้ยง มีปัจจัยควบคุมการเจริญเติบโตอยู่ 3 อย่าง คือ น้ำ อาหาร และแสงแดด

อันดับแรกเตรียมพื้นที่บ่อในการเลี้ยงแหนแดง  ใส่น้ำลงไปในบ่อ ซึ่งน้ำก็ใช้ได้ทุกประเภท น้ำประปา น้ำบาดาล น้ำธรรมชาติ น้ำฝน แต่ถ้าเป็นน้ำประปาจะต้องพักน้ำไว้ประมาณ 3 วัน เพราะมีคลอรีนสูง หลักจากนั้นใส่ปุ๋ยคอกลงไปแช่น้ำทิ้งไว้ 2-3 วัน เพื่อให้ปุ๋ยคลายความร้อน และมีประสิทธิภาพ กระตุ้นการเจริญเติบโตได้ดี  ก่อนที่จะปล่อยแหนแดง

อันดับสามปล่อยแหนแดงลงในอุปกรณ์ เน้นปล่อย 80 เปอร์เซ็นต์ของพื้นที่ เพราะจะทำให้การขยายตัวดีขึ้น เคล็ดลับสำคัญคือแหนแดงเป็นพืชที่ไม่ชอบแดด และไม่ชอบร่มมากจนเกินไป หรือให้ได้แสงแดดอย่างเพียงพอ ราวๆ 50 เปอร์เซ็นต์ กระทั่งประมาณ 12-14 วัน ก็สามารถเติบโตเต็มที่ และนำไปใช้ประโยชน์ต่างๆ ได้

พืชมหัศจรรย์ต่อยอดสู่การทำเกษตรอินทรีย์

แหนแดง มีความมหัศจรรย์ คือ มันเป็นพืชที่สามารถใช้ร่วมในการปลูกข้าว ใช้ร่วมกับการเลี้ยงสัตว์ ใช้ร่วมกับการต่อยอดไปสู่การเป็นเกษตรอินทรีย์ ในการลดการใช้สารเคมีได้  ข้อมูลจากกรมวิชาการเกษตร ระบุว่า แหนแดง มีอยู่มากมายหลายสายพันธุ์ แต่ที่เหมาะสำหรับประเทศไทย มีอยู่ 2 สายพันธุ์ คือ สายพันธุ์ อะซอลล่า พินนาต้า ซึ่งเป็นสายพันธุ์ดั้งเดิมในประเทศไทย กับสายพันธุ์ อะซอลล่า ไมโครฟิลล่า ซึ่งเป็นสายพันธุ์ที่กรมวิชาการเกษตร นำเข้ามาเพื่อคัดพันธุ์ และปัจจุบันได้พัฒนาจนสามารถส่งต่อให้เกษตรกรได้ใช้ประโยชน์ จนเป็นที่รู้จักในชื่อ แหนแดงพันธุ์กรมวิชาการเกษตร

“เดิมกรมวิชาการเกษตรเราเอง เริ่มมีงานวิจัยในเรื่องของแหนแดง มาตั้งแต่ ปี 2520 เป็นต้นมา เป็นการพัฒนาจากพันธุ์พื้นเมืองขึ้นมา ซึ่งพันธุ์พื้นเมืองมันจะมีขนาดใบที่เล็ก แล้วก็ความทนทาน หรือแม้แต่การขยายพันธุ์ไม่เพียงพอ ซึ่งพันธุ์ไมโครฟิลล่า (microphylla) เป็นพันธุ์ที่เราวิจัย ถือว่า ให้การขยายพันธุ์ที่ดีกว่าพันธุ์พื้นเมือง สูงมากกว่า 10 เท่า เสร็จแล้วเขาสามารถให้โปรตีนได้ที่สูงมาก มากกว่าประมาณ 30 เปอร์เซ็นต์ ให้ไนโตรเจนได้มากกว่า 4-5 เปอร์เซ็นต์ มันเลยเป็นการต่อยอดขึ้นมา งานวิจัยจากอาจารย์หลายๆ ท่าน ที่ท่านทำการวิจัยมาให้กรมวิชาการเกษตรเราเพื่อใช้ประโยชน์ต่อ”  อภิชาต พลปัถพี เจ้าพนักงานการเกษตรชำนาญงาน ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรอุดรธานี กล่าว

หลายคนคงเคยเห็นพืชขนาดเล็กชนิดนี้ที่เมื่อก่อน เราเห็นได้ทั่วไปตามห้วยหนอง คลอง บึงต่างๆ ที่เรามองข้ามความพิเศษของมันไป แต่ปัจจุบันมันกลายเป็นพืชที่มีประโยชน์ สามารถลดต้นทุน และสร้างรายได้ให้กับเกษตรกรได้อย่างงาม

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

Prev

May 2025

Next

Mon

Tue

Wed

Thu

Fri

Sat

Sun

28
29
30
1
2
3
4
5
6
7
8
9
10
11
12
13
14
15
16
17
18
19
20
21
22
23
24
25
26
27
28
29
30
31
1

24 May 2025

Nothing to show.

เข้าสู่ระบบ