“นักอนุรักษ์น้อยปกป้องป่าภูผาฮวก” ความหวังแห่งอนาคตชุมชนดงมะไฟ

“นักอนุรักษ์น้อยปกป้องป่าภูผาฮวก” ความหวังแห่งอนาคตชุมชนดงมะไฟ

ขอบคุณภาพ : ค่ายนักอนุรักษ์น้อย ปี 2 โดย SYSI

13 สิงหาคม 2565 นักปกป้องสิทธิมนุษยชนกลุ่มอนุรักษ์ป่าชุมชนเขาเหล่าใหญ่-ผาจันได จัดงาน “ชัยชนะที่ไม่หยุดนิ่ง 2 ปี ดงมะไฟยังไปต่อ” เพื่อเฉลิมฉลองครบรอบการเคลื่อนไหวปกป้องทรัพยากรในชุมชนจนสามารถยุติการดำเนินกิจการเหมืองหินดงมะไฟ ที่หมู่บ้านภูผาฮวกพัฒนาชาวประชาสามัคคี ต.ดงมะไฟ อ.สุวรรณคูหา จ.หนองบัวลำภู พร้อมฟื้นฟูภูผาป่าไม้ให้กลับมาอุดมสมบูรณ์ เพื่อวางรากฐานไปสู่การพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศวัฒนธรรมและอารยธรรมโบราณคดี

2 ปี ปิดเหมืองหินดงมะไฟ

นักปกป้องสิทธิมนุษยชนกลุ่มอนุรักษ์ป่าชุมชนเขาเหล่าใหญ่-ผาจันได กำหนดจัดกิจกรรมระหว่างวันที่ 12 – 13 สิงหาคม 2565  เพื่อฟื้นฟูเป็นแหล่งท่องเที่ยว พร้อมล้อมวงคุยถึงขบวนการเคลื่อนไหวของภาคประชาชนที่ยังไม่หยุดนิ่ง ซึ่งภายในงานมีกิจกรรมร่วมทัวร์ 3 ถ้ำหินผา ต้นแบบแหล่งท่องเที่ยวและความคืบหน้าการฟื้นฟูดงมะไฟ  การทำบุญตักบาตร ครบรอบ 2 ปี ปิดเหมืองหินดงมะไฟ พร้อมเปิดตลาดผาฮวกของดีของเด็ดดงมะไฟ ล้อมวงพูดคุย “2 ปี ปิดเหมืองหินดงมะไฟ เรามาไกลแค่ไหนกับขบวนการเคลื่อนไหวของภาคประชาชน” พร้อมรับชมดนตรีจากนักปกป้องสิทธิมนุษยชนกลุ่มอนุรักษ์ป่าชุมชนเขาเหล่าใหญ่-ผาจันได  และการแสดงสุดพิเศษจากนักอนุรักษ์น้อย

กว่า 2 ปี หลังจากที่ชาวบ้านนักปกป้องสิทธิมนุษยชนกลุ่มอนุรักษ์ป่าชุมชนเขาเหล่าใหญ่-ผาจันได ได้ร่วมกันต่อสู้เคลื่อนไหวต่อเนื่องยาวนานกว่า 26 ปี จนสามารถปิดเหมืองหินและโรงโม่ ในปี 2563 ตามข้อเรียกร้องของกลุ่ม 3 ข้อ คือ  1.ปิดเหมืองแร่หินปูนและโรงโม่หิน 2.ฟื้นฟูภูผาป่าไม้ และ 3.พัฒนาดงมะไฟเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศวัฒนธรรมและแหล่งอารยธรรมโบราณคดี

โดยข้อเรียกร้องที่ 1 สำเร็จในปี 2563 และได้มีจัดกิจกรรมปลูกต้นไม้ฟื้นฟูภูผาป่าไม้ให้กลับมาอุดมสมบูรณ์ ตามข้อเรียกร้องที่ 2 ซึ่งชาวบ้านนักปกป้องสิทธิฯ ได้ร่วมกันปลูกต้นไม้กว่า 1,400 ต้น บน “ภูผาฮวก” เมื่อวันที่ 12-13 มิถุนายน 2564 เพื่อวางรากฐานไปสู่การพัฒนาดงมะไฟเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศวัฒนธรรมและอารยธรรมโบราณคดีในอนาคต ตามข้อเรียกร้องที่ 3 หลังได้รับผลกระทบและถูกทำลายจากการระเบิดหินเพื่อทำเหมืองแร่หินอุตสาหกรรมชนิดหินปูน (เพื่ออุตสาหกรรมก่อสร้าง) บนเนื้อที่ 175 ไร่ โดยเมื่อวันที่ 3 กันยายน 2563 ที่ผ่านมาเป็นวันที่ใบอนุญาตเข้าทำประโยชน์หรืออยู่อาศัยในเขตป่าสงวนแห่งชาติ ป่าเก่ากลอยและป่านากลาง เพื่อทำเหมืองหินปูน ได้สิ้นสุดอายุใบอนุญาต

ค่ายนักอนุรักษ์น้อย ปี 2

ขอบคุณภาพ : ค่ายนักอนุรักษ์น้อย ปี 2 โดย SYSI

นอกจากความเคลื่อนไหวของนักปกป้องสิทธิมนุษยชนกลุ่มอนุรักษ์ป่าชุมชนเขาเหล่าใหญ่-ผาจันได ซึ่งมีกลุ่มผู้ใหญ่ เป็นกำลังหลัก เด็กและเยาวชนลูกหลานในพื้นที่ ต.ดงมะไฟ อ.สุวรรณคูหา จ.หนองบัวลำภู ยังนับเป็นอีกความหวังและคนแห่งอนาคตที่จะร่วมฟื้นฟูภูผาป่าไม้ ทรัพยากรธรรมชาติ และวิถีชีวิตของชุมชน

การสำรวจสิ่งมีชีวิตและความหลากหลายทางชีวภาพของเยาวชน ใน ค่ายนักอนุรักษ์น้อย ปี 2 จึงเป็นอีกกิจกรรมการเรียนรู้ที่สมาคมคนรุ่นใหม่กับนวัตกรรมทางสังคม Sociecty of Young Social Innovators หรือ SYSI ร่วมกับ โครงการขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะด้านทรัพยากรแร่ กลุ่มอนุรักษ์ป่าชุมชนเขาเหล่าใหญ่-ผาจันได และกลุ่ม WHAT WILD (สัตว์ไรนิ.) ร่วมจัดขึ้น ในการลงพื้นที่งานครบรอบ 2 ปี ปิดเหมืองหินดงมะไฟ เพื่อเป็นส่วนสำคัญในการปกป้องทรัพยากรธรรมชาติ ภูผาป่าไม้ ที่มีความสมบูรณ์ด้านอาหาร แหล่งโบราณคดีภาพเขียนสี โบราณวัตถุ ร่วมกับกลุ่มเยาวชนและผู้ที่สนใจ

เจี๊ยบ นิสาพรรณ์ หมื่นราม

“เราชวนเด็ก ๆ พื้นที่ดงมะไฟไปสำรวจถ้ำรอบ ๆ เหมืองดงมะไฟ ตอนเช้าไปกันสองถ้ำ เราชวนเด็ก ๆ ให้ดูว่าในถ้ำมีสัตว์ชนิดไหนบ้างที่อยู่เพื่อให้เขาได้เรียนรู้ว่าในถ้ำมีสิ่งมีชีวิตไหนบ้าง โดยที่เราเอาแอพพลิเคชั่น iNaturalist เอามาใช้ในกระบวนการร่วมกัน เราให้เด็กดู สังเกต แล้วถ่ายรูปอัปโหลดลงแอปพลิเคชัน” เจี๊ยบ นิสาพรรณ์ หมื่นราม หนึ่งในทีมพี่เลี้ยงอาสา เล่าถึงบางส่วนของกระบวนการเรียนรู้ในค่ายนักอนุรักษ์น้อย ปี 2 ที่เน้นการสังเกต จดบันทึก และเชื่อมโยงสิ่งมีชีวิตกับถิ่นที่อยู่อาศัย ซึ่งเชื่อมโยงถึงความสำคัญของระบบนิเวศและสิ่งมีชีวิตในพื้นที่ชุมชน
“เรามองว่าพื้นฐานของเด็กที่จะนำไปต่อยอดการอนุรักษ์ สิ่งสำคัญ คือ เขาต้องเข้าใจว่าบ้านเขามีอะไรก่อน พอเขาเข้าใจแล้ว เขาจะได้เรียนรู้ แล้วก็ตระหนักว่าเขาต้องทำอย่างไรต่อ เช่น เขาจะอนุรักษ์มันเพื่อให้มันอยู่ต่อ หรือว่าเขาจะเกิดความหวงแหนเพิ่มขึ้น ซึ่งจริง ๆ บริเวณถ้ำเหมืองดงมะไฟตรงนี้ คือเป็นถ้ำที่มีความหลากหลายสูงมาก เราเจอถ้ำบาดาล มุดลงไปแล้วเจอสภาพนิเวศที่อยู่ในถ้ำแล้วก็หน้าผา ลักษณะของถ้ำแถวนี้ มันเป็นถ้ำหินปูน มีหินงอกหินย้อย มีทัศนียภาพที่สวยงามมาก บางถ้ำมีภาพเขียนโบราณด้วย คิดว่าถ้ำของในโซนเหมืองดงมะไฟต้องอนุรักษ์ไว้”


นอกจากนี้ หลังมีการสำรวจพื้นที่ภายในถ้ำ นักอนุรักษ์น้อย ได้บันทึกข้อมูลสิ่งมีชีวิตที่พบเห็น เช่น ผีเสื้อ แมงมุม จิ้งหรีดถ้ำ กิ้งกือกระบอก ค้างคาวหน้ายักษ์ บึ้ง แมงมุมบ้าน และสิ่งมีชีวิตอื่น ๆ อีกหลายชนิด ผ่านภาพวาด และเรียนรู้กับวิทยากรจาก กลุ่ม WHAT WILD (สัตว์ไรนิ.) และนำเสนอแบ่งปันกับเพื่อน ๆ ที่ร่วมสำรวจ รวมถึงผู้ปกครองกลุ่มนักปกป้องสิทธิมนุษยชนกลุ่มอนุรักษ์ป่าชุมชนเขาเหล่าใหญ่-ผาจันได  ซึ่งข้อมูลที่ได้ยังร่วมยืนยันว่าบริเวณดังกล่าวมีความหลากหลายทางชีวภาพในระบบนิเวศของภูเขาหินปูนที่ควรค่าแก่การอนุรักษ์และหวงแหน

ความหวังและคนแห่งอนาคตชุมชนดงมะไฟ

สมควร เรืองโหน่ง

เมื่อก่อนการคัดค้านเมื่อเราไปยื่นหนังสือเสร็จแล้วก็แยกย้ายกลับบ้าน แต่เดี๋ยวนี้เรามารวมกันอยู่ที่นี่จนครบ 2 ปี ถ้าจะพูดถึงชั่วโมง วันที่ 13 สิงหาคม ที่จะถึงนี้ ครบ 17,522 ชั่วโมงเต็ม…” สมควร เรืองโหน่ง นักปกป้องสิทธิกลุ่มอนุรักษ์ชุมชนเขาเหล่าใหญ่-ผาจันได คำนวณตัวเลขรายชั่วโมงอย่างแม่นยำ เพื่อย้ำถึงระยะเวลาความสำเร็จ หลังปิดเมืองหินดงมะไฟ ซึ่งครบรอบ 2 ปี ของชัยชนะจากการปกป้องทรัพยากรสิ่งแวดล้อมในถิ่นฐานบ้านเกิดที่ยังต้องดำเนินต่อไป เพื่อยืนยันถึงรูปธรรมการเคลื่อนไหวที่ยาวนาน กว่า 3 ทศวรรษ และเจตนารมณ์แน่วแน่ที่จะฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติในชุมชนให้กลับมาเป็นแหล่งหาอยู่หากิน แหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติและโบราณคดีของชุมชม โดยทั้งหมดนี้คือความหวังในการส่งต่อมรดกชิ้นสำคัญนี้ไปยังลูกหลานของพวกเขา

“งานกิจกรรมครบรอบ 2 ปี สิ่งที่เราทำไปแล้ว คือ หนึ่งรวมตัวกันมาเพาะพันธุ์กล้าไม้และนำขึ้นไปปลูก ในปีนี้มาเพาะพันธุ์ไม้นำไปปลูกเหมือนเดิมเพื่อที่จะฟื้นฟูพื้นที่ที่ถูกทำลายกลับคืนมา อันที่สอง คือ เราได้มาทำนารวมเพื่อเอาทุน เอาเงิน เอาข้าว เพื่อที่จะเป็นอาหารการกิน เนื่องจากว่ามันจะไม่ได้รบกวนทางบ้านจนเกินไป นอกจากนี้คือเฝ้าระวังเรื่องประชุมของ อบต. ที่เราต้องขอเข้าร่วมทุกครั้ง เพื่อมีมติเรื่องที่เกี่ยวกับเหมือง อันนี้ทำไปแล้ว อีกอย่างคือการรวมกลุ่มกัน รวมตัวกัน

เมื่อก่อนการคัดค้านเมื่อเราไปยื่นหนังสือเสร็จแล้วก็แยกย้ายกันกลับบ้าน แต่เดี๋ยวนี้เรามารวมกันอยู่ที่นี่จนครบ 2 ปี ถ้าจะพูดถึงชั่วโมง วันที่ 13 สิงหาคม ที่จะถึงนี้ ครบ 17,522 ชั่วโมงเต็ม ในปีนี้ยังไม่ถึงชัยชนะที่ถาวรแต่ได้ความภาคภูมิใจที่ชาวบ้านอยู่ที่นี่ครบ 2 ปีแล้ว

และที่ให้เด็กมาเรียนรู้มันมีผลดีหลายอย่าง เขาต้องรู้ว่าทรัพยากร หรือป่าไม้ที่มีมันมีความอุดมสมบูรณ์ และมีความสำคัญกับเขาในอนาคต อย่างน้อยก็ต้องให้เขาได้รับรู้ ว่าคุณค่าของป่ามันเกิดอะไรขึ้น ให้เด็กเข้ามาศึกษาเรื่องพันธุ์ไม้ศึกษาเรื่องสัตว์ต่าง ๆ ”

28 ปี ของการต่อสู้อย่างยาวนาน ความหวังจากรุ่นสู่รุ่นเริ่มก่อตัวและชัดเจนขึ้นอีกครั้ง  เมื่อเยาวชนลูกหลานในชุมชน ได้ร่วมเรียนรู้ เพื่อรู้จัก เข้าใจ และหวงแหนทรัพยากรธรรมชาติของชุมชนผ่านสิ่งมีชีวิตและความหลากหลายทางธรรมชาติของระบบนิเวศ ซึ่งหวังให้เป็นส่วนหนึ่งที่ทุกคนจะได้ร่วมออกแบบถิ่นฐานบ้านเกิดของพวกเขาในฐานะความหวังและคนแห่งอนาคตของชุมชนดงมะไฟ ที่จำเป็นต้องมีสิทธิเลือกด้วยการร่วมออกแบบและลงมือทำจากทุกคน

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ