กรณีชาวบ้าน3 จังหวัด ประกอบด้วย จ.พิจิตร จ.เพชรบูรณ์ และจ.พิษณุโลก ซึ่งได้รับผลกระทบจากธุรกิจเหมืองแร่ทองคำ ชาวบ้านหลายร้อยคนต้องประสบปัญหาด้านสุขภาพ และมีความเป็นอยู่ที่ลำบากมากขึ้น เพราะไม่สามารถรับประทานน้ำ และพืชผักสวนครัวริมรั้วตามวิถีเดิม
โดยเมื่อเร็วๆนี้ เครือข่ายภาคประชาชน เข้าพบขอความช่วยเหลือจาก นพ.นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ(กสม.) ให้ส่งผลตรวจสารปนเปื้อนในร่างกายให้คณะรัฐมนตรีและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณาเพื่อหาแนวทางแก้ไขปัญหาอย่างเร่งด่วน ซึ่งนับเป็นครั้งที่ 5 ที่เครือข่ายผู้ได้รับผลกระทบจากการทำเหมืองแร่ทองคำ 3 จังหวัด รวมตัวกันขอความเป็นธรรมจากกสม.
เมื่อทีมข่าวพลเมือง สอบถามถึงแนวคิดการยุบรวมคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติเข้ากับผู้ตรวจการแผ่นดิน นางอารมย์ คำจริง แกนนำเครือข่ายผู้ได้รับผลกระทบจากการทำเหมืองแร่ทองคำ 3 จังหวัด ให้ความเห็นว่า เครือข่ายมีความกังวลว่า หากมีการยุบรวมกสม.จะต้องอยู่ในระบบราชการซึ่งอาจมีผลต่อการตัดสินใจและแนวทางการทำงานจะเปลี่ยนไป ดังนั้นจึงไม่เห็นด้วยต่อการยุบรวมกสม. อยากให้กสม.ทำหน้าที่ด้านกฏหมาย และการละเมิดสิทธิขั้นพื้นฐานของชุมชน ประชาชนในประเทศ สำหรับองค์กรผู้ตรวจการแผ่นดิน ฟังดูเหมือนจะดี แต่บทบทหน้าที่ยังเป็นเพียงการตรวจสอบและให้ข้อคิดเห็น แต่การมารับฟังปัญหาประชาชน แก้ไขดูแลเรื่องกฏหมาย คิดว่ายังทำหน้าที่ไม่ครอบคลุม
“การได้รับผลกระทบของประชาชนในพื้นที่พิจิตร เพชรบูรณ์ พิษณุโลก จากเหมืองแร่ทองคำ เดิมทีเราร้องเรียนมาหลายหน่วยงาน แต่หน่วยงานที่เราร้องขอ และคิดว่าจะช่วยเราได้มากที่สุด คือ กรรมการสิทธิมนุษยชน ซึ่งทำหน้าที่เป็นพี่เลี้ยงเป็นที่ปรึกษาทางกฏหมายให้กับประชาชนรวมทั้งมีบทบาทส่งเสริมให้เปิดเวทีการพูดคุยสร้างความเข้าใจในพื้นที่เพราะถ้าไม่ได้กรรมการสิทธิ การขับเคลื่อนภาคประชาชนสังคมก็อาจจะล้าช้ากว่านี้” นางอารมย์ กล่าว