เปิดตำราให้เท่าทัน เรียนรู้และเข้าใจกัญ(ชา)ในห้องเรียน

เปิดตำราให้เท่าทัน เรียนรู้และเข้าใจกัญ(ชา)ในห้องเรียน

นับจากแรกเกิดเมื่อวันที่ 9 มิถุนายน 2565 นโยบายที่ถูกเรียกว่า “เสรีกัญชา” หลังประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง ระบุชื่อยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 พ.ศ.2565 ที่มีผลบังคับใช้ซึ่งกำหนดให้ทุกส่วนของกัญชา กัญชง ไม่เป็นยาเสพติด ยกเว้นสารสกัดที่มีสาร THC เกิน 0.2% ก็ดูท่าจะส่อแวววุ่นสังคมไทยเสียงแตกทั้งฝ่ายหนุน ฝ่ายเบรก พร้อมมอบทั้ง“ก้อนหิน” และ “ดอกไม้” ให้ผู้เกี่ยวข้องโดยเฉพาะ “รัฐ” เพราะเจตนาเดิมนั้นหวังตั้งต้นให้ใช้กัญชาทางการแพทย์เพื่อประโยชน์ของผู้ป่วยให้มีการเข้าถึงได้กว้างขวางขึ้น แต่จนแล้วจนรอดเวลาไม่ถึง 2 เดือน ก็ปั่นป่วนชวนตั้งคำถามและหาทางไปของสังคมร่วมกัน

ความรู้ ความเข้าใจกัญ(ชา)ในห้องเรียน

“ในแง่ที่พอทำได้ คือการใช้ความรู้ การให้ภูมิคุ้มกันแล้วก็การเฝ้าระวัง…” สัญญา มัครินทร์ หรือ ครูสอญอ จากโรงเรียนสีชมพูศึกษา จ.ขอนแก่น ย้ำถึงเป้าหมายของห้องเรียนกัญชาในรั้วโรงเรียนซึ่งด้านหนึ่งมองว่าจะเป็นภูมิคุ้มกันที่สำคัญให้กับลูกศิษย์ในโมงยามที่ “กัญชา” อยู่ใกล้วิถีชีวิตรายวันของทุกคนมากขึ้น ๆ

“คือมันอยู่ในกระแสช่วงที่เขาพยายามปลดล็อก แล้วก็มันเป็นช่วงเร็ว ๆ สถานการณ์ที่คนให้คุณค่าเรื่องนี้อยู่ กับอีกส่วนเราเคยสอนอยู่โรงเรียนเทศบาลบ้านโนนชัย เมื่อ 3-4 ปี ที่แล้ว เราว่าบทเรียนนี้มันดีมาก ก็เลยอยากจะเอาลองมาทำกับเด็กมัธยมปลาย เพราะตอนนั้นเราสอนเด็กมัธยมต้น พอเรามีโอกาสสอนมัธยมปลาย เราอยากลองเปิดพื้นที่ อยากรู้จักเขาผ่านเรื่องนี้ด้วยครับ” ครูสอญอ “ปักหมุด จุดประเด็น” บอกเล่าเรื่องราวมากับ C-site ห้องเรียนกัญชา สีชมพูศึกษา ด้วยการสอดแทรกเนื้อหาความรู้เรื่องกัญชาในชั่วโมงบูรณาการ เปิดพื้นที่ให้นักเรียนได้เรียนรู้เรื่อง กัญชา ผ่านการเล่นเกม ออกแบบการเรียนโดยใช้หลัก Authentic learning ซึ่งเป็นวิธีการเรียนการสอนที่ให้นักเรียนสำรวจและได้อภิปรายร่วมกัน

มากกว่า “สอน” ต้อง “ฟัง”

“ด้วยตัวกระบวนการมันทำให้เด็กมีพื้นที่ได้แชร์ ได้แลกเปลี่ยน เด็กก็สนุกเพราะได้เปิดมุมมองใหม่ ๆ ได้รู้จักเพื่อนที่เขามีประสบการณ์ ได้ฟังมุมมองเพื่อน เขามองอย่างไร เห็นมิติของความรู้หรือข้อมูลที่มาจากมุมอื่นบ้าง หรือบางช่วงเราเชิญผู้รู้มาให้ความรู้ หรือตอบคำถาม มันก็ทำให้เด็กได้เปิดมุมมองใหม่ ๆ เกี่ยวกับเรื่องนี้แล้วก็เห็นปัญหา หรือว่าเห็นข้อดี เห็นอนาคต หรือเห็นภาพอันอื่นด้วย”  ครูสอญอ เล่าถึงกระบวนการสำคัญที่ช่วยให้ผู้เรียนไว้วางใจและแบ่งปันเรื่องราวกันและกัญ(ชา)

“ในแง่ที่พอทำได้ คือการใช้ความรู้ การให้ภูมิคุ้มกันแล้วก็การเฝ้าระวัง หรือว่าในช่วงนี้เราก็ให้เขารับรู้ คือในตัวเราเราก็ไม่ได้บอกอะไรผิด อะไรถูก แต่ว่าให้ข้อมูลที่มันหลากหลายมิติ สุดท้ายคุณก็ต้องตัดสินใจเองในเมื่อคุณมีข้อมูล มันมีผลดี ผลเสียแล้ว คุณก็ต้องเอาข้อมูลตรงนี้มาชั่งน้ำหนัก มาตัดสินใจด้วยตัวเขาเอง เราทำได้แค่นี้ เพราะว่าในแง่ของโรงเรียนเขาก็พยายามให้ข้อมูล พยายามที่จะช่วยกันตรวจช่วยกันสำรวจทั้งในห้องน้ำ ทั้งในพื้นที่ที่มันดูล่อแหลมหรือมันสุ่มเสี่ยง เราว่าเราทำได้แค่นี้ กว่าการที่จะสอดส่องให้มันรัดกุมให้มันปลอดภัยได้มากกว่านี้ อาจจะได้ไม่ไหมดเพราะว่าพอเป็นโรงเรียนใหญ่เด็กเกือบสองพันคนที่เราจัดมีนักเรียนสองห้องก็ 40 คน มันไม่มีทางที่เราจะสอดส่องเขาได้ทุกมิติ สิ่งที่เราจะทำได้ คือ เป็นพื้นที่ปลอดภัยให้เขาไว้ใจเราที่จะเล่า ว่าเขามีปัญหาอะไร มีความต้องการอะไรอยากให้ช่วย

ครูสอญอยังเล่าต่ออีกว่า“พอเราจัดกระบวนการเรื่องนี้มีทางหมอ ทางกฎหมายเขาก็มีการทำแคมเปญใน chang.ort ชะลอกัญชาเสรี ขอกฎหมายคุ้มครองไม่ให้เด็กใช้กัญชาออกมาก่อน

ให้คนบอกว่าระงับเรื่องปลดล็อกกัญชาก่อน พอในมุมหนึ่งเขามองเห็นในช่องกฎหมายที่จะถูกเป็นเหยื่อ หลายคนอาจจะไม่มีข้อมูลมากพอ อาจจะไม่ได้มีภูมิคุ้มกันในการประเมินการใช้ของตัวเอง เขาก็บอกว่าให้กระทรวงให้รัฐช่วยชะลอไปทำกฎหมายไปทำการความปลอดภัย ความคุ้มครองจัดการหลังบ้านให้ดีกว่านี้อย่าเพิ่งปลดล็อกเลย ซึ่งในแง่ของกัญชาเพื่อการแพทย์ เขาโอเคมาก แต่ว่าตอนนี้มันเหมือนฟรีเพื่อสันทนาการด้วย มันก็เหมือนกับยิ่งเปิดช่องให้คนที่มองไม่ดีก็จะใช้เจตนาในการนำพาไปเรื่องอื่น ๆ เด็กหลายคนก็ยังไม่มีวุฒิมากพอ ก็เป็นห่วงเรื่องนี้

ซึ่งทางหมอนิติเวชที่เขาทำแคมเปญเรื่องนี้ เขาก็เป็นห่วงอยู่ เพราะพอมันพูดถึงฟรีเสรีไทย ฟรีกัญชาตอนนี้ไทยมันฟรีที่สุดแล้ว แม้กระทั่งเนเธอร์แลนด์ อเมริกา หรือว่าแคนาดา เขาฟรีนะแต่เขามีมาตรการที่มันมีเรื่องจัดการคุ้มครองเด็กที่รัดกุมกับเรามาก ซึ่งบ้านเรามันฟรี แต่ยังไม่ได้ถูกทำให้เป็นระบบหรือว่าถูกจัดการให้มันคุ้มครอง อย่างเช่น การนำมาใช้ในโรงเรียน หรือมีการซื้อขายในโรงเรียน” หลากมุมมองที่ครูสอญอแลกเปลี่ยน โดยเฉพาะความห่วงใยต่อนักเรียน ต่อลูกศิษย์ในสถานศึกษา ซึ่งนั่นเป็นแรงขับส่วนหนึ่งให้เขาต้องเปิดห้องเรียนให้ความรู้เพื่อเท่าทันในเรื่องนี้ซึ่งมีอยู่จริงรอบตัวในชีวิตประจำวันทุกคน

ยิ่งควบคุม ยิ่งห้าม ยิ่งอยากลอง

“ถ้าตามที่ได้แชร์อันที่หนึ่งต้องมี Mindset ว่าเราไม่ใช่ผู้ควบคุมเขา ถ้าเรามีวิธีคิดเราไปจัดการมันก็จะเป็นการควบคุมทุกมิติ แต่จริง ๆ แล้วโดยธรรมชาติวัยรุ่นยิ่งควบคุมยิ่งห้ามเขายิ่งอยากลอง แต่เราจะให้ความรู้เขาอย่างไร เปิดพื้นที่อย่างไรเพื่อที่จะฟังเขา หลายเรื่องเราไม่รู้เลย ถ้าเกิดเราไม่ได้ฟังเขา ถ้าเกิดเรารู้จากเขาเราก็รู้ว่าเขาคิดอย่างไร แต่พอมันมีพื้นที่เรียนเรื่องนี้มีพื้นที่แชร์หาทางออกร่วมกันในการช่วยเหลือเพื่อน อยู่กับมันได้ไม่ตกเป็นเหยื่อ อย่างตัวความรู้หลายเรื่อง ครูเองก็จำเป็นต้องรู้ว่ากัญชามันมีข้อดีอย่างไร มันมีข้อเสียอย่างไร มีมุมอื่น ๆ อย่างไรเพื่อจะทำให้ไม่ด่วนตัดสินว่ามันผิดมันแย่ ให้มองในหลายมิติ เพื่อที่จะนำพาผู้เรียนได้ไม่มีอคติ  ถ้ามองว่ากัญชาเป็นตัวร้าย ครูก็จะห่วง ไม่ได้เห็นในมิติอื่น ๆ หมดโอกาสพาผู้เรียนไปไกลกว่ายาเสพติดที่เป็นอันตราย”

นับจากแรกเกิดเมื่อวันที่ 9 มิถุนายน 2565 ของนโยบาย “เสรีกัญชา” หากข้ามไปมากกว่าผลดี ผลเสียต่อผู้ใช้หรือผู้ไม่ได้ การถกเถียงแลกเปลี่ยน การเอาเรื่องที่เคยอยู่ในซอกหลืบมุมมืดของสังคมมาอยู่ในที่โล่งแจ้ง ทำให้เกิดการพูดคุยเรื่องนี้กันในวงกว้าง การให้ความรู้อย่างถูกต้อง รอบด้าน ทั้งคุณและโทษรวมถึงผลกระทบที่จะตามมาในทุกมิติ จึงเป็นเส้นคู่ขนานที่ต้องดำเนินการควบคู่กันไป เพื่อให้เยาวชนคนแห่งอนาคตได้มีโอกาสเลือกรับรู้และมีความเข้าใจกับสิ่งเร้ารอบกายมากขึ้น ๆ ซึ่งเหล่านี้จะเป็นที่ต้องมีห้องเรียนที่ปลอดภัยให้ได้แลกเปลี่ยนแบ่งปันเรื่องราวระหว่างกันและกัญ(ชา)อย่างเท่าทันให้ได้มากที่สุด

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ