ดอกไม้จันทน์ จากกิจกรรมสู่กิจการของความตาย ที่หัวเวียง จ.อยุธยา

ดอกไม้จันทน์ จากกิจกรรมสู่กิจการของความตาย ที่หัวเวียง จ.อยุธยา

เมื่อพูดถึงอยุธยาคนจะนึกถึงขนมสายไหม วัดวาอารามต่างๆ หรือเรื่องเล่าทางประวัติศาสตร์ แต่อีกไกลออกไปในตำบลหัวเวียง อำเภอเสนา มีเรื่องราวของกลุ่มสมาชิกที่รวมตัวกันทำงานฝีมือหัตถกรรมที่สวยงามขึ้นมา และยังเป็นพื้นที่ให้คนได้มารวมตัวกันทำกิจกรรมร่วมกันนั่นก็คือ กลุ่มดอกไม้จันทน์ นอกจากฝีมือที่ฝึกฝนกันมานานแล้ว สถานการณ์ของกลุ่มตอนนี้เป็นอย่างไร หากมองภาพอนาคตแล้วจะเติบโตไปในทิศทางไหน แล้วอะไรคือโจทย์สำคัญที่ต้องแก้ร่วมกันของกลุ่มดอกไม้จันทน์ในตอนนี้

ชุมชนริมแม่น้ำน้อย ต.หัวเวียง อ.เสนา ระยะทางจากตัวเมืองอยุธยากว่า 26 กิโลเมตร
ดอกไม้ ไอคอน ใน Valentine

กลุ่มดอกไม้จันทน์ ก่อตั้งเมื่อปี พ.ศ. 2558 มีครูแก้วพรรษ มีใจเย็น โดยได้งบประมาณมาจากสำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (กศน.) ประมาณ 20,000 บาทมาทำ เริ่มแรกมีการจ้างครูทำดอกไม้จันทน์มาสอนให้กับคนในชุมชน พร้อมอุปกรณ์ในการทำต่างๆ เช่น ดอกกุหลาบ ดอกลีลาวดีและดอกแก้วมาทำเป็นดอกไม้จันทน์ที่สวยงาม และยังประยุกต์นำดอกไม้จันทน์มาทำเป็นพวงหรีดอีกด้วย

พี่ศรี ศศิธร ฤกษ์อุโฆษ และสมาชิกในกลุ่ม

พี่ศรี ศศิธร ฤกษ์อุโฆษ เป็นคนอยุธยาและเคยออกไปทำงานที่กรุงเทพฯ ประมาณช่วงหนึ่งจนปัจจุบันกลับมาที่บ้านเกิดตนเองเมื่อตอนปี พ.ศ. 2545 เห็นมีกลุ่มดอกไม้จันทน์เดิมอยู่แล้วซึ่งเป็นของกศน. และมีกลุ่มสมาชิกแม่บ้านทำกันอยู่ ส่วนพี่ศรีเคยทำเกี่ยวกับขนมไทยมาก่อนแต่อยากเปลี่ยนมาทำอะไรที่เป็นรูปธรรมมากขึ้น เลยหันมาจัดตั้งกลุ่มดอกไม้จันทน์ และเชิญสมาชิกแม่บ้านมาร่วม สอนวิธีการทำดอกไม้จันทน์แบบโบราณ จนต่อมามีสมาชิกประมาณ 20 กว่าคน โดยใช้เงินของกศน. เป็นจุดริเริ่มและทำเรื่อย ๆ มา  นอกจากนี้ มีการลงทุนเองไปเรียนเพิ่มเติมที่จังหวัดสระบุรี นั่งรถตู้ไปกันเองเรียนกับอาจารย์จุ๋ม

พี่ศรีเล่าว่าตอนแรกเขาไม่สอน เลยต้องแอบจำเอา จนตอนหลังติดต่อเขามาเป็นวิทยากร เพื่อเพิ่มศักยภาพวิธีการทำดอกไม้จันทน์และพวงหรีดของคนในกลุ่ม แต่ตอนนี้สมาชิกเริ่มมีอายุกันมากขึ้น ตั้งแต่ 60-70 ขึ้นไป  บางคนชราภาพ บางคนต้องไปเลี้ยงหลาน จนตอนนี้เลยมีทำกันอยู่เหลือไม่ถึง 10 คน ประมาณ 7-8 คน แล้วก็จะเอาไปทำกันที่บ้านตัวเองแทนจากแต่ก่อนที่จะนัดรวมตัวที่อนามัย

“เราอยากได้คนมาสานต่อมากกว่า แต่ใครจะอดทน”

พี่ศรี ประธานกลุ่มดอกไม้จันทน์หัวเวียง

เมื่อคนหนุ่มสาวไปโรงงาน แล้วใครจะสืบต่อภูมิปัญญาที่มี

เดิมคนในชุมชนตำบลหัวเวียงมีวิถีชีวิตแบบชนบท ประกอบอาชีพเกษตรกรรม ทำนาปลูกข้าวเป็นส่วนใหญ่ และมีอาชีพหัตถกรรมเป็นอาชีพเสริม เช่น การจักสาน ทำเมรุลอย รวมถึงดอกไม้จันทน์กลายเป็นกลุ่มสมาชิกของชาวบ้าน แต่ต่อมาการพัฒนาได้เข้ามา เกิดโรงงานอุตสาหกรรมต่างๆ ในพื้นที่ ทำให้คนหนุ่มสาวเปลี่ยนไปทำงานในโรงงานกันมากขึ้น จนตอนนี้กลุ่มคนที่ยังคงสืบทอดภูมิปัญญาเดิมอยู่นั้นเหลือแต่ผู้เฒ่าผู้แก่

พี่ศรีบอกว่า ตนเองเคยคิดเปิดเพจใน Facebook ขายอยู่เหมือนกันแต่ไม่กล้า เพราะว่าถ้ามีคนเขามาสั่งจำนวนเยอะมากๆ จะทำไม่ทันตามกำหนดส่ง เพราะเราไม่มีคนงานพอที่จะผลิต ปกติปริมาณของออเดอร์ในแต่ละครั้งขึ้นอยู่กับเจ้าภาพ ถ้าเขาสั่งครั้ง 1 จะประมาณ 300-500 ดอก เพราะแขกในงานประมาณ 30 คนขึ้น บางงาน 700-1,000 ดอก จะเป็นงานใหญ่มีแขกประมาณ 50 คนขึ้น ถ้าเจ้าภาพไม่รู้ว่าต้องใช้จำนวนเท่าไหร่กลุ่มพี่ศรีก็จะกะปริมาณให้เขาได้ แต่บางคนกลัวไม่พอก็จะสั่งเพิ่มเราก็ทำได้หรือสำรองไว้ให้ ถ้าคนในพื้นที่ก็จะประมาณ 300 ดอก

พี่ศรีเสริมต่อว่า คิดอยากจะทำควบคู่ไปกับเมรุลอยที่อยู่ในหมู่บ้านอื่น ในพื้นที่ของเราจะไม่มีเมรุลอย เคยถามกำนันอยู่ว่าจะเอาเมรุลอยคู่กับไปดอกไม้จันทน์ ใช้วิธีการแถมไปด้วย แต่มีความกังวลคือการสร้างเมรุมีแต่ผู้ชายและใช้แรงเป็นส่วนใหญ่ แล้วดอกไม้จันทน์เป็นของอ่อน บอบบาง กลัวว่าจะพังหรือจะเก็บของเราได้ดีไหม บางทีเขาไปไกลอีกหรือถ้ามาสั่งจำนวนมากเป็นพันเราก็ทำไม่ทันแน่ๆ อีก อาจจะต้องบรรจุภัณฑ์ให้ดีหรือหาถุงใส่ไว้

ส่วนค่าใช้จ่ายในแต่ละครั้งจะใช้วิธีการหมุนเงินคือ ที่ได้งบประมาณมาจากกศน. ต่อมาเปลี่ยนมาเป็นของโครงการเกษตร เรียกว่า เงินกองกลางที่แบ่งเอาไว้ในการบริหารจัดการ เช่น ขายได้ 3,000 บาท จากงบ 5,000 บาท จะเก็บไว้ 1,000 บาท เข้ากองกลางเพื่อซื้ออุปกรณ์ อันไหนหมดเราก็ซื้อ สั่งของมาเติม แต่ก่อนต้องไปซื้อกระดาษที่วรจักร ต่อมาสั่งออนไลน์แทน

“ช่วงที่บูมๆ เลยตอนช่วงร.9 เราจะมีรับออกไปสอนคนอื่นทำก็ได้อยู่ช่วงนั้น เดี๋ยวนี้ไม้จันทน์แพงขึ้นมาจากแต่ก่อน 35 บาท ขึ้นมาเป็น 150 บาท ส่วนช่วงโควิดไม่ได้มีผลกระทบอะไรกับเรามากเหมือนกลุ่มเมรุลอยที่ออกไปไหนไม่ได้เลย อย่างเราทำกันที่บ้าน จะมีลำบากแค่ช่วงสั่งของนิดหน่อย”

พี่ศรีกล่าว

กลับมาครั้งนี้ อยากเห็นบ้านเกิดดีขึ้นกว่าเก่า

การเปลี่ยนแปลงครั้งใหม่กำลังจะเกิด เมื่อคนในพื้นที่เองอยากจะทำให้บ้านตนเป็นพื้นที่ท่องเที่ยว โดยเล็งเห็นถึงต้นทุนเดิมอย่าง วัดโบราณสถาน วิถีชีวิตบ้านริมคลอง อาหารพื้นบ้านและหัตถกรรมภูมิปัญญาเดิม ที่สามารถต่อยอดและสร้างเป็นแลนด์มาร์คการท่องเที่ยวได้ แต่ในส่วนของ ดอกไม้จันทน์ เองก็เป็นโจทย์ที่ท้าทายที่จะเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของการท่องเที่ยวในครั้งนี้

บ้านริมแม่น้ำน้อยในตำบลหัวเวียง อำเสนา จ.พระนครศรีอยุธยา

พี่ศรีเล่าว่า ตอนกลับมาใหม่ๆ คิดเหมือนกัน ถ้าจะทำเป็นพื้นที่ท่องเที่ยวก็น่าสนใจ เพราะมีบ้านริมน้ำเก่าๆ ที่น่าทำซึ่งเป็นบ้านลายไทย เปิดเป็นโฮมสเตย์ก็ได้ อาหารพื้นบ้านอย่างปลาแม่น้ำ ถ้ากุ้งแม่น้ำก็จะหายากนิดนึง ติดตรงที่ว่าตอนนี้คนที่เหลืออยู่ส่วนใหญ่เป็นผู้สูงอายุ วัยรุ่นหนุ่มสาวออกไปทำงานที่กรุงเทพฯ ก็เป็นห่วงว่าเขาจะทำกันได้ไหม หรือบางบ้านก็ยังไม่เปิดใจ และมีข้อเสียอีกอย่างตรงที่ติดช่วงน้ำท่วม เพราะเราจะปลูกต้นไม้อะไรน้ำท่วมมามันก็ไปหมดเลย ไม่รู้ปีนี้จะเป็นยังไง เห็นเขาบอกว่าจะเหมือนเมื่อปี 2561 ขนาดบางบ้านเขาถมจนสูงแล้วก็ยังไม่พ้น กลับมาคืออยากทำอะไรก็ได้ถ้าไม่ติดเรื่องน้ำท่วม

“ดอกไม้จันทน์ก็ยาก ใครเขาจะอยากได้ซื้อกลับไป อาจจะเป็นแบบโชว์ให้เขาดูว่าเรามีทำดอกไม้จันทน์นะ เป็นรูปแบบไหนบ้าง แล้วเดี๋ยวนี้เด็กๆ แถวบ้านเขาไม่มาสนใจกันแล้ว ถ้าจะทำจริงต้องมีใจรักและอยากทำจริงๆ นะถึงจะทำได้มันอาจจะไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของการท่องเที่ยว แต่ถ้าทำมันก็จะเป็นการโปรโมตไปด้วยส่วนหนึ่ง ช่วยเราได้เพราะดอกไม้จันทน์ตราบใดที่ไม่มีคนตาย เราก็ขายไม่ได้”

พี่ศรีกล่าว

ในพื้นที่หัวเวียงจึงมีต้นทุนเดิมอยู่หลายอย่างที่สามารถต่อยอดพัฒนาไปสู่เมืองแห่งการท่องเที่ยวได้ แต่ความท้าทายในครั้งนี้ โจทย์หลักๆ เลยคือปัญหาน้ำท่วมที่ต้องเจอในทุกๆ ปี และอีกโจทย์คือคนหนุ่มสาวที่ออกจากบ้านไปเหลือเพียงผู้สูงอายุที่ยังสืบทอดภูมิปัญญาเก่าๆ ไว้อยู่ ส่วนเรื่องการท่องเที่ยวดอกไม้จันทน์อาจจะไม่ได้เป็นตัวหลัก แต่คนในกลุ่มสมาชิกก็พร้อมที่จะเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนาบ้านเกิดของตน

คนในชุมชนมีความพร้อมที่จะพัฒนาพื้นที่ของตนเอง เพราะรู้จักบ้านตนเองว่ามีของดีของเด่นอะไรและจุดที่ปรับแก้คืออะไร จึงมีข้อเสนอและวิธีการในมุมมองคนในพื้นที่จริง หากมีการสนับสนุนจากฝ่ายเทศบาลหรือหน่วยงานต่างๆ โดยให้พวกเขาไปมีส่วนร่วมก็จะเป็นอีกหนทางหนึ่ง ที่จะนำไปสู่เป้าหมายของการทำให้หัวเวียงเป็นพื้นที่แห่งการท่องเที่ยวได้

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ