กวักน้องมาเรียน : งานจิตอาสาแจกชุดนักเรียนของศูนย์แบ่งต่อ มูลนิธิกระจกเงา ที่ช่วยเเบ่งเบาค่าใช้จ่ายผู้ปกครอง  

กวักน้องมาเรียน : งานจิตอาสาแจกชุดนักเรียนของศูนย์แบ่งต่อ มูลนิธิกระจกเงา ที่ช่วยเเบ่งเบาค่าใช้จ่ายผู้ปกครอง  

“กวักน้องมาเรียน” ส่งมอบชุดนักเรียนมือ 2 แบ่งเบาภาระผู้ปกครอง

หลังต้อนรับเปิดเทอม มีหลายครอบครัวต้องเจอปัญหาภาระค่าใช้จ่าย ทั้งอุปกรณ์การเรียนและเครื่องแบบนักเรียน ล่าสุดบนออนไลน์มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์จากบรรดาผู้ปกครอง เรื่องค่าชุดลูกเสือ-เนตรนารีของลูกหลานว่ามีราคาแพงแตะหลักพันบาท ทั้งที่ใช้เรียนเพียงครั้งเดียวต่อสัปดาห์เท่านั้น

ในช่วงเวลาที่เงินทองเป็นของหายาก สภาพคล่องทางการเงินของหลาย ๆ ครอบครัวมีปัญหามาตั้งแต่ยุคโควิด-19 ระบาด ปัจจุบันยังซ้ำเติมด้วยภาวะเงินเฟ้อ-ของแพง ภาระค่าใช้จ่ายที่ผู้ปกครองต้องแบกรับเพิ่ม จึงเป็นประเด็นที่ไม่ควรมองข้าม เพราะนั่นอาจส่งผลกับความสามารถในการส่งเสียลูกหลานให้ยังอยู่ในระบบการศึกษาต่อไปได้

เรื่อง: ศิริลักษณ์ แสวงผล
ภาพ: จามร ศรเพชรนรินทร์

“เครื่องแต่งกายของลูกหลานราคาแพงมาก แต่ชุดนักเรียนก็ยังมีความจำเป็นอยู่ ดังนั้น ค่าใช้จ่ายส่วนตรงนี้จึงเป็นภาระหนักมากสำหรับผู้ปกครองหลายคน เมื่อผู้ปกครองได้รับชุด จึงเหมือนเป็นการยกภูเขาออกจากอก” ทิรัตน์ ผลินกูล หัวหน้างานศูนย์แบ่งต่อ มูลนิธิกระจกเงา เล่าถึงกิจกรรมกวักน้องมาเรียน

ความต้องการชุดนักเรียนของผู้ปกครอง แต่ไม่มีกำลังซื้อชุดใหม่ ทิรัตน์และทีมงานอาสาสมัครจึงทำกิจกรรมแจกชุดนักเรียนในชื่อโครงการ “กวักน้องมาเรียน” ซึ่งเป็นการนำชุดนักเรียน และอุปกรณ์การเรียนการสอนที่ได้รับจากการบริจาคเข้ามายังศูนย์แบ่งต่อ คัดแยกและนำไปแจกให้กับผู้ปกครองตามจุดต่าง ๆ 

ล่าสุด ทีมงานอาสามัครของมูลนิธินำชุดนักเรียนไปแจกที่จุดขายเสื้อผ้ามือสอง ตลาดโกสุมรวมใจใน เขตดอนเมือง กรุงเทพฯ บรรยากาศเต็มไปด้วยความคึกคัก ผู้ปกครองบางคนทราบข่าวจากประกาศเสียงตามสายของตลาด บ้างมาตามเสียงโทรโข่งของทีมงานมูลนิธิ 

“มาเดินเล่นตลาดแล้วเห็นคนมุงเลือกชุดนักเรียนกัน ก็เลยมาเลือกบ้างเพื่อนำไปแจกลูกหลานที่บ้าน ต้องยอมรับว่าปัจจุบันชุดนักเรียนราคาแพง ประชาชนที่มาเลือก เป็นผู้มีรายได้น้อยและราคาชุดที่ต้องซื้อก็แตะหลักพัน โครงการนี้ดีนะ ได้ช่วยเหลือคนที่รายได้น้อย ยากจน การมาเลือกก็ช่วยประหยัด” พูลศักดิ์ พันแสง ผู้มาเดินตลาดโกสุมรวมใจ เขตดอนเมือง

ความเหลื่อมล้ำที่สะท้อนผ่านความต้องการเครื่องแต่งกาย 

ทิรัตน์ กล่าวว่า กิจกรรมแจกชุดนักเรียน เป็นหนึ่งในงานอาสาสมัครของศูนย์แบ่งต่อ มูลนิธิกระจกเงาที่ทำมา 3-4 ปีแล้ว ตั้งใจแจกให้กับครอบครัวที่ยากจนพิเศษ, เด็กที่มีภาวะพึงพิง และโรงเรียนขนาดเล็ก แต่ในปัจจุบันพบว่ายังมีอีกกลุ่มที่ต้องการความช่วยเหลือจากการส่งต่อสิ่งของเหล่านี้ คือ คนรายได้น้อยจนถึงชนชั้นกลางค่อนล่าง เพราะหลังจากพิษเศรษฐกิจโควิด-19 ที่เกิดช่วงต้องล็อกดาวน์ หลายคนไม่สามารถออกไปทำงาน หรือโดนเลิกจ้างงานจำนวนมาก ทำให้ครอบครัวที่มีฐานะยากจนถึงปานกลางค่อนล่าง ได้รับผลกระทบทางการเงินระยะยาว

ดังนั้น โครงการนี้จึงเป็นหนึ่งในกิจกรรมที่สนับสนุนให้ครอบครัวที่มีรายได้น้อย และมีความต้องการชุดนักเรียนมือสองจำนวนมาก ทำแล้วมีผลตอบรับจากผู้ปกครองดีมาก เพราะช่วยแบ่งเบาภาระผู้ปกครองได้ 

“สิ่งที่พบจากการจัดโครงการนี้ คือ ครอบครัวชนชั้นกลาง ยังไม่กล้าขอความช่วยเหลือ การที่มาทำโครงการวางแจกเสื้อผ้าตามตลาดแบบนี้ พวกเขาสามารถมาเลือกดูและหยิบไปใช้งานได้เลย เพื่อลดภาระเขา ผมจึงคิดว่ากิจกรรมแบบนี้น่าจะช่วยหลายครอบครัวแบ่งเบาภาระทางการเงิน และผ่อนคลายความตึงเครียดพอสมควร” ทิรัตน์ กล่าว 

ส่วนปัญหาอื่น ๆ ที่สะท้อน คือ ชุดนักเรียนราคาในท้องตลาดสูงมาก เช่น ชุดลูกเสือ-เนตรนารี ถ้าซื้อครบชุดราคาอยู่ที่ 1,500-2,000 บาท (ขึ้นอยู่กับขนาดตัวเด็กและยี่ห้อ) ซึ่งตอนนี้ผู้ปกครองหลายพื้นที่ประสบปัญหาราคาชุดแพง บางครั้งเพจงานศูนย์แบ่งต่อ มูลนิธิกระจกเงา ได้รับข้อความขอความช่วยเหลือ จากนักเรียน นักศึกษา ต่างจังหวัดให้ช่วยส่งชุดให้ 

“เมื่อปัญหาเหล่านี้ยังอยู่ งานศูนย์แบ่งต่อ มูลนิธิกระจกเงา จึงยังต้องทำกิจกรรมเเจกชุดนักเรียนต่อไป เพื่อแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าไปก่อน เพื่อเยียวยาจิตใจเด็ก ๆ ด้วย และตอนนี้ปัญหามันระดับประเทศแล้ว เพราะมีคนประสบกับราคาชุดนักเรียนแพงหลายพื้นที่” ทิรัตน์ กล่าว

ทิรัตน์ ผลินกูล หัวหน้างานศูนย์แบ่งต่อ มูลนิธิกระจกเงา

ด้านธนากร วงศ์ธานี ผู้มาเดินตลาดโกสุมรวมใจ เขตดอนเมือง เสนออีกหนึ่งมุมมองหนึ่งว่า อยากให้รัฐแก้ปัญหาโดยลดจำนวนชิ้นของเครื่องแต่งกายลูกเสือ-เนตรนารีที่มีราคาแพงมาก ๆ เพื่อเป็นการลดค่าใช้จ่าย ส่วนชุดนักเรียนที่มีการเสนอให้ยกเลิก ยังต้องมาถกกันอีกที 


“ล่าสุดซื้อชุดลูกเสือมาให้ลูก 2 คน  แค่เสื้อกับกางเกงก็ 800 กว่าบาท ยังไม่รวมอุปกรณ์ ราคาแล้วแต่ขนาด หลักสูตรก็อยากให้เอาไว้ แต่ชุดไม่จำเป็นแล้ว การแต่งมาเรียนอาจจะเป็นชุดอะไรก็ได้ เช่น ชุดไพรเวท ชุดนักเรียนที่มีแต่ผ้าพันคอ เป็นต้น เพราะบางคนไม่มีเงินซื้อ ในภาวะเศรษฐกิจแบบนี้ กระทบสำหรับคนรายได้น้อย เพราะมันใส่เเค่ 2-3 ปี ก็ต้องซื้อใหม่แล้ว รองเท้าก็ต้องซื้อใหม่ เพราะเป็นสีกากี คนที่ไม่มีกำลังซื้อก็เยอะอยู่ ผมอยากเสนอให้ทางหน่วยงานการศึกษาช่วยสนับสนุนชุดหรืออุปกรณ์ก็ยังดี” ธนากร  กล่าว

บทบาทงานอาสา ที่ส่งต่อชุดนักเรียนเพื่อบรรเทาปัญหาปลายน้ำ 

บทบาทของอาสาสมัครมีความสำคัญมากสำหรับกิจกรรมกวักน้องมาเรียน โดยเฉพาะการจัดการกับของบริจาคและกระบวนการส่งต่อ หัวหน้าศูนย์ศูนย์แบ่งต่อ มูลนิธิกระจกเงา จึงฟอร์มทีมเปิดรับอาสาสมัครมาช่วยคัดแยกและเคลื่อนย้ายแจกจ่ายผู้ที่ต้องการชุดนักเรียนมือสอง โดยหัวใจของงานอาสาสมัคร อยู่ที่สามารถบรรเทาความเดือดร้อนเฉพาะหน้าจากภาระค่าใช้จ่ายด้านการศึกษาของผู้ปกรอง

ผลินกูล เล่าว่า ชุดนักเรียนที่นำมาแจก เป็นชุดที่ได้รับบริจาคมาจากทั่วประเทศ ส่งไปรษณีย์มายังมูลนิธิกระจกเงา จากนั้นเจ้าหน้าที่จึงทำการคัดแยกชุดที่ส่งต่อได้กับส่งต่อไม่ได้ออกจากกัน โดย ชุดนักเรียนที่ส่งต่อได้ จะแยกเป็น 3 ประเภท คือ 1) ชุดที่มีคราบเหลืองตามปกเสื้อจำนวนเยอะจะส่งต่อไปเผาเป็นพลังงานเชื้อเพลิงหรือ RDF  2) ชุดที่สภาพดีจะคัดแยกบริจาคตามจุดต่าง ๆ 3) ชุดที่มีตราปักเป็นโรงเรียนเอกชน จะส่งไปยังพื้นที่ห่างไกล เช่น โรงเรียนบนดอย

ทั้งนี้ กิจกรรมกวักน้องมาเรียนเป็นงานอาสาสมัครที่สะท้อนได้ดีว่างานอาสาสมัครนั้นเป็นประโยชน์ ส่งผลดีต่อตนเองและสังคม และวางตนอยู่ในบทบาทที่หนุนเสริมต่อกลไกการทำงาน ทั้งทางตรงเเละทางอ้อม เพื่อที่จะทำให้เกิดประโยชน์ต่อสาธารณะในวงกว้างต่อไป

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ