มหาวิทยาลัยมหาสารคาม เรียกได้ว่าเป็นศูนย์กลางทางการศึกษาในภาคอีสาน มีนิสิตที่หลากหลายถิ่นเข้ามาเรียนซึ่งแต่ละคนที่มาก็จะมีภาษาถิ่นตัวเองติดตัวมาด้วย ทำให้มีหลากหลายภาษาที่นิสิตใช้พูดคุยกัน
แมน นายสุวัฒน์ ใยแก้ว ชายหนุ่มจากอีสานใต้ออกเดินทางตามล่าหาความฝันในแดนตักศิลานคร ตัดสินใจเดินทางเข้ามาศึกษาต่อที่มหาวิทยาลัยมหาสารคาม สาขาภาษาและวัฒนธรรมอาเซียน (เขมร)
แมนเกิดและเติบโตที่จังหวัดสุรินทร์ ซึ่งเป็นจังหวัดชายแดนมีอาณาเขตติดกับประเทศกัมพูชา(เขมร) แมนได้คลุกคลีกับภาษาและวัฒนธรรมเขมรมาตั้งแต่เด็ก ๆ ทำให้เขาหลงไหลในเสน่ห์ของเขมรมีความสนใจที่จะศึกษาเพิ่มเติมในด้านต่าง ๆ จากเจ้าของภาษาและผู้เชี่ยวชาญภาษาและวัฒนธรรมเขมร…
“ภาษาเขมรเป็นภาษาบ้านเกิดของเรา“
ประโยคหนึ่งในบทสัมภาษณ์ของแมน ชายหนุ่มชาวสุรินทร์ หนุ่มจากอีสานใต้ที่เข้ามาเรียนที่มหาวิทยาลัยมหาสารคาม
การตัดสินใจครั้งใหญ่ที่จะเปลี่ยนชีวิตเขาไปตลอดกาล การเดินทางตามล่าความฝันที่ต้องฝ่าฟันอุปสรรคมากมาย วัฒนธรรมด้านภาษาจะไม่ถูกจำกัดแค่เพียงชาติพันธุ์ใด ทุกคนสามารถเข้าถึงแกนลึกของวัฒนธรรมนั้น ๆ ได้
การเรียนรู้และการปรับตัวเพื่อที่จะสามารถใช้ชีวิตในรั้วมหาลัยได้อย่างราบรื่นเป็นอีกส่วนสำคัญในการเดินทางของแมน วัฒนธรรมทางภาษาที่แตกต่างนำพาไปสู่ความเข้าใจอย่างท่องแท้ แมนกล่าวอีกว่า
“ต้องได้ปรับตัวทั้งในเรื่องของภาษา สำเนียง คำศัพท์ การพูดคุย และทักษะการสื่อสารที่ต้องมีมากขึ้น”
การที่ได้พูดคุยกับแมนสื่อให้เห็นถึงความพยายามและความมุ่งมั่นของชายหนุ่มอย่างเด่นชัด ภายใต้แววตาที่มุ่งมั่น ยังมีเบื้องหลังที่แสนเศร้าซ่อนอยู่ แมนไม่เพียงแค่ต้องปรับตัวและเรียนรู้เกี่ยวกับวัฒนธรรมทางภาษา แต่เขาต้องเผชิญหน้ากับกลุ่มคนที่เห็นต่างมากมาย ในยามที่แมนและกลุ่มเพื่อนพูดคุยกันเป็นภาษาเขมร สายตาจากผู้คนที่มองไม่ใช่สายตาที่มองคนอื่นทั่ว ๆ ไป แต่แมนไม่หวั่นกลัวหรือท้อแท้ต่อสายตาที่มองต่างเพราะเขามีอาจารย์ให้คำปรึกษาให้คำแนะนำ มีเพื่อนที่มาจากจังหวัดเดียวกันที่สนใจและหลงเสน่ห์ในภาษาเหมือนกัน คอยอยู่เคียงข้าง
ผศ.ดร.บัญญัติ สาลี อาจารย์ประจำภาควิชาภาษาและวัฒนธรรมอาเซียน (เขมร) เล่าว่า “ความพิเศษของประเทศไทยคือความหลากหลายทางชาติพันธุ์ วัฒนธรรม และภาษา พอความหลากหลายมาอยู่รวมกัน ต้องมีการปรับตัวเพื่อที่จะสามารถใช้ชีวิตอยู่ร่วมกันได้อย่างสันติ”