พันธุกรรมพื้นบ้าน อิสรภาพในการผลิตของเกษตรกร

พันธุกรรมพื้นบ้าน อิสรภาพในการผลิตของเกษตรกร

ถ้าไม่มีเมล็ดพันธุ์ไม่ได้ครับ เมล็ดพันธุ์ท้องถิ่นมันคือชีวิตครับ” หนึ่งในปากคำยืนยันของเครือข่ายเกษตรกร บุญมี ชารีเครือ กลุ่มอีสานวายฟาร์ม ที่ย้ำชัดถึงความสำคัญของเมล็ดพันธุ์พื้นบ้าน ที่มีความสัมพันธ์ข้องเกี่ยวกับวิถีเกษตรกร ตั้งแต่การปลูก การกิน การเก็บ การแบ่งปันเมล็ดพันธุ์ ซึ่งจำเป็นต้องเรียนรู้ การเก็บรักษา และอนุรักษ์พันธุ์พืชพื้นบ้านให้คงอยู่ แต่ปัจจุบันที่ประเทศไทยเข้าสู่สถานการณ์การผูกขาดด้านพันธุกรรม มีการนำเทคโนโลยีมาใช้ในภาคอุตสาหกรรมเกษตรมากขึ้น ซึ่งมีการปรับแต่งพันธุกรรม เหล่านี้อาจส่งผลให้กลุ่มเกษตรกร สูญเสียความหลากหลายของพันธุกรรมพื้นบ้านหนึ่งในทรัพยากรความมั่นคงอาหารในอนาคตอันใกล้

บุญมี ชารีเครือ

“ถ้าไม่มีเมล็ดพันธุ์ไม่ได้ครับ เมล็ดพันธุ์ท้องถิ่นมันคือชีวิตครับ มันคือทุกอย่าง เพราะว่าเติบโตมากับพันธุ์ท้องถิ่น มีภูมิปัญญา มีองค์ความรู้ก็จากพันธุ์ท้องถิ่น คือวิถีชีวิตกับพันธุ์ท้องถิ่นมันเป็นอะไรที่แบ่งแยกกันไม่ได้เลย มันต้องอยู่คู่กับชีวิตเรา ส่วนการที่เราจะนำพันธุ์ใหม่เข้ามานั้นเป็นสิ่งที่เราทำได้ แต่เราไม่ควรที่จะทิ้งพันธุกรรมที่มันเป็นหัวใจของเรา ชีวิตของเรา มันสำคัญมาก” บุญมี ชารีเครือ กลุ่มอีสานวายฟาร์ม เครือข่ายเกษตรกรรุ่นใหม่ในพื้นที่ อ.ศรีเมืองใหม่ จ.อุบลราชธานี คนรุ่นใหม่กลับบ้านทำเกษตรอินทรีย์ อนุรักษ์และแบ่งปันเมล็ดพันธุ์พืชพื้นบ้านได้เล่าถึงความสำคัญในการจัดการเมล็ดพันธุ์พืช

“หัวใจหลักของการจัดการเมล็ดพันธุ์ คือการจัดการมันจะทำให้เรามีเมล็ดพันธุ์ที่ดี และมีคุณภาพตามที่เราต้องการ เพราะว่าเมล็ดพันธุ์ที่เราเลือก มันคือเมล็ดพันธุ์ที่เราต้องใช้ประโยชน์ ไม่ว่าจะใช้ผลิตเป็นอาหาร หรือว่าจะใช้ในการปรับปรุงบำรุงดิน เพราะว่าถ้าเรามีการจัดการที่ดี เป็นขั้นเป็นตอนที่ถูกต้อง ถึงรอบระยะเวลาการเพาะปลูกมาถึง มันจะทำให้งานเราไม่สะดุดเลย ตัวเราเป็นเกษตรกรที่เก็บเมล็ดพันธุ์เอง ถ้าเรานำเมล็ดพันธุ์ที่ไม่มีประสิทธิภาพไปใช้ มันเหมือนกับว่าเราลงทุนลงแรงไปฟรี ๆ แต่ถ้าคนที่ไม่มีเมล็ดพันธุ์ รอบต่อไปเขาก็ต้องซื้อเมล็ดพันธุ์ซ้ำอีก ถ้าหากมีการจัดการเมล็ดพันธุ์ที่ดี และมีประสิทธิภาพ มันจะช่วยให้เกษตรกรทำงานได้ง่ายขึ้นไม่ต้องบวกต้นทุนเพิ่ม จะรับประกันความเสี่ยง ประกันความแน่นอนเราด้วย”

“เมล็ดพันธุ์ท้องถิ่นก็ยังมีความเสี่ยงที่จะสูญพันธุ์ แต่บางพื้นที่ก็ยังมีการโหยหาและมีความต้องการ”

บุญมี ชารีเครือ ยังเล่าต่อถึงคุณค่ามูลค่าเมล็ดพันธุ์พื้นบ้านที่มีความสำคัญทางเศษฐกิจ “เมล็ดพันธุ์ท้องถิ่นก็ยังมีความเสี่ยงที่จะสูญพันธุ์ แต่บางพื้นที่ก็ยังมีการโหยหาและมีความต้องการ พี่มองว่ามันยังอยู่ระดับกลาง ๆ มันอยู่ว่าท้องถิ่นไหน หรือชุมชนไหน ยังมีการปลูกและมีการผลิตเมล็ดพันธุ์ท้องถิ่นนั้นอยู่ ก็จะเห็นว่าท้องถิ่นหรือชุมชนนั้นยังมีการบริโภค ยังมีความต้องการอยู่ และอีกส่วนหนึ่งที่คิดว่ามันน่าจะพัฒนาให้มีความต้องการเพิ่มมากขึ้น เพราะว่าเมล็ดพันธุ์ หรือว่าพันธุ์พืชท้องถิ่นของเรามันมีคุณค่า ยกตัวอย่าง เช่น เมล็ดพันธุ์พืชที่ผลิตอยู่อย่าง แตงกวาพื้นบ้านโบราณ เราก็จะได้ฟังคุณแม่หรือคุณพ่อพูดเรื่องสมัยแต่ก่อน เกี่ยวกับแตงกวาพันธุ์นี้ ซึ่งถ้าเรายกคุณค่าที่อยู่ข้างใน แล้วมาทำให้คนโหยหา อยากสัมผัส ก็จะช่วยเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจ และทำให้คนต้องการเพิ่มขึ้น “

การจัดการเมล็ดพันธุ์ ถือว่าเป็นปัจจัยสำคัญ ในการบริหารการผลิตโดยที่ตัวเกษตรกรเองสามารถควบคุมทุกขั้นตอนของกระบวนการผลิต ตั้งแต่ต้นทุน การดูแลรักษา และการบริโภคเพื่อจำหน่าย 

บุญส่ง มาตขาว

“หากเกษตรกรไม่มีเมล็ดพันธุ์ในมือของตัวเอง อย่างคำโบราณ หากชาวนาไม่มีข้าวปลูก ไม่เก็บข้าวปลูก ไม่มีพันธุ์ในมือ เกษตรกรก็ต้องสูญเสียอิสรภาพ” บุญส่ง มาตขาว ประธานเครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือกภาคอีสาน เล่าถึงความสำคัญการจัดการเมล็ดพันธ์ที่เชื่อมโยงกับวิถีเกษตรกร “การจัดการเมล็ดพันธุ์มันเป็นวิถีวัฒนธรรมประเพณีของอาชีพเกษตร เพราะการจัดการเมล็ดพันธุ์ หรือว่าการอนุรักษ์เมล็ดพันธุ์ จะบ่งบอกสะท้อนถึงวิถีวัฒนธรรม ของแต่ละพื้นที่ คล้าย ๆ กับว่าผูกไว้กับชีวิตวิถีวัฒนธรรมของคนอีสาน เพราะการจัดการเมล็ดพันธุ์ การรักษาพันธุ์ มันบ่งบอกถึงความยั่งยืนของอาชีพการเกษตร ซึ่งทุกวันนี้ มันคืออาชีพในลักษณะว่าเป็นธุรกิจการเกษตร มันก็เลยจะตัดขาดกับการเชื่อมโยงกับวิถีวัฒนธรรม เพราะฉะนั้นเกษตรกรส่วนหนึ่งเป็นแบบทุนนิยม มองเห็นแต่การผลิต ต้องเปลี่ยนเมล็ดพันธุ์ ต้องซื้อเมล็ดพันธุ์ทุกปี มันก็จะไปสอดคล้องกับธุรกิจเมล็ดพันธุ์ที่เขาทำการค้า ขายเมล็ดพันธุ์ ปรับราคาขึ้นทุกปี  ชาวนาเมื่อไม่มีเมล็ดพันธุ์ในมือตัวเองแล้วก็ต้องไปพึ่งคนอื่น ราคาเมล็ดพันธุ์ก็จะสูงขึ้นทุกปี ทำให้เราสูญเสียอิสรภาพและทำให้ต้นทุนผลิตเราสูงขึ้น”

“เราอยากให้คนหรือเกษตรกรเห็นความสำคัญของเรื่องเมล็ดพันธุ์ อนุรักษ์แล้วก็รักษา การให้ความรู้เทคนิคในการบริหารจัดการเมล็ดพันธุ์ ก็เพื่อฟื้นฟูอนุรักษณ์ ส่งเสริมให้คนได้เห็นความสำคัญ ของเรื่องพันธุกรรมและเป็นยุทธศาสตร์ในการทำงานเผยแผ่ให้กับพื้นที่ของแต่ละชุมชน ให้เกิดความรู้ ความเข้าใจ”บุญส่ง มาตขาว เล่าทิ้งทายก่อนจบบทสนทนา

หากเกษตรกร ไม่สามารถจัดการเมล็ดพันธุ์ได้ ความรู้ภูมิปัญญาในการจัดเก็บรักษาและใช้ประโยชน์จากพันธุกรรมท้องถิ่นอาจจะสูญหายซึ่งนั่นหมายถึงความมั่นคงในการผลิตอาหารที่ออกแบบจัดการเองได้จะน้อยลงและอาจหายไป

ซึ่งในวันที่ 6-7 มิถุนายน 2565 นี้  ในงาน“มหกรรมแลกเปลี่ยนพันธุกรรมพื้นบ้าน” เป็นการรวมตัวของกลุ่มเกษตรกรทั่วประเทศ ที่จะมาแลกเปลี่ยนสร้างความรู้ ความเข้าใจ ด้านการพัฒนาเมล็ดพันธุ์  ในการฟื้นฟูอนุรักษ์ส่งเสริมวิถีภูมิปัญญาท้องถิ่นในการเก็บรักษาเมล็ดพันธุ์พื้นบ้าน เพื่อป้องกันการสูญเสีย รักษาความหลากหลายทางชีวภาพและฐานทรัพยากรด้านความมั่นคงทางอาหาร เป็นแนวทางให้เกษตรกรสามารถผลิตอาหารได้ตลอดทั้งปี  สามารถติดตามได้ที่ เพจ มูลนิธิเกษตรกรรมยั่งยืน

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ