หลัง 4 เดือนผ่านไป การผลิตและถ่ายทำภาพยนตร์ทดลอง “ของเครือข่ายกลุ่มเพื่อนคนไร้บ้าน” ใน จ.ขอนแก่น ก็เป็นอันเสร็จสมบูรณ์และได้กางจอฉายเมื่อวันที่ 21 พฤษภาคม 2565 ที่ผ่านมา ณ Columbo craft village ที่พยายามถ่ายทอดเล่าเรื่องชีวิตในวันที่แสนจะธรรมดาของกลุ่มคนเปราะบางที่ซุกซ่อนตัวตามซอกมุมเมืองขอนแก่น ซึ่งเป็นความร่วมมือของทีมผลิตสารคดีอิสระภาคพลเมือง ปิ๊ก องอาจ หาญชนะวงษ์ ที่ติดตามการทำงานของกลุ่มเพื่อนคนไร้บ้านอย่างต่อเนื่อง นับตั้งแต่การผลิตสารคดีใน รายการที่นี่บ้านเรา ตอน โฮมแสนสุข ตั้งหลักชีวิต ออกอากาศเมื่อวันที่ 24 มี.ค. 2021 ที่ผ่านมา
โฮมแสนสุข “โฮม” ภาษาอีสานแปลว่า “รวม” และพ้องเสียงกับ “Home” ที่แปลว่า “บ้าน” ในภาษาอังกฤษ “บ้านโฮมแสนสุข” จึงเป็นอีกพื้นที่ซึ่งตั้งใจจะรวมเอาความเป็นบ้านให้มาเติมพลังแก่สมาชิก “เครือข่ายเพื่อนคนไร้บ้าน” ที่อาศัยในศูนย์ตั้งหลักแห่งนี้ ซึ่งรายการที่นี่บ้านเราโดยผู้ผลิตภาคพลเมือง คุณองอาจ หาญชนะวงศ์ ทีมแฮนดีแคม ได้พาเดินทางไปติดตามการทำงานของกลุ่มเพื่อนคนไร้บ้าน จ.ขอนแก่น “บ้านโฮมแสนสุข” ศูนย์ฟื้นฟูพัฒนาศักยภาพบุคคลและสร้างชุมชนคนไร้บ้านให้มีที่พักพิงอาศัยและเสริมสร้างทักษะให้เพื่อนกลุ่มคนไร้บ้าน สามารถตั้งหลักชีวิตในอนาคตได้
ผู้เขียนเองได้สนทนาพูดคุยกับ ปิ๊ก องอาจ หาญชนะวงษ์ อีกครั้ง ในช่วงพลบค่ำ ณ Columbo craft village ชุมชนขนาดเล็กของเพื่อนในสายงานศิลปะและเป็นสถานที่จัดฉายภาพยนต์คนยาก องอาจ หาญชนะวงษ์ เล่าว่า เขาอยากทำงานภาพยนตร์ร่วมกับพี่น้องคนไร้บ้าน กลุ่มคนที่มีบทบาทในการขับเคลื่อนเมืองให้สามารถใช้เครื่องมือ เพื่อสื่อสารเรื่องราวของตัวเองได้
ซึ่งเย็นวันเสาร์ ที่ 21 พฤษภาคม 2565 ท่ามกลางสายฝนโปรยปรายที่ตกไม่หยุดนั้น เป็นเวลานัดหมายชมภาพยนตร์คนยาก หนังสารคดี ที่มีการบันทึกเรื่องราวชีวิต เพื่อให้รู้จักและเข้าใจโลกของคนไร้บ้าน หนังที่ดูเมือนไม่มีพล็อตเรื่องอะไร ไม่มีการปรุงแต่ง ไม่รู้เรื่องจะจบอย่างไร ไม่มีแม้แต่ตัวละครที่แน่ชัด แต่ฉากตอนที่กำลังฉายทำท่ามกลางสายฝนนั้น สะท้อนภาพความยากเข็ญของการใช้ชีวิต ทั้ง ที่อยู่ ที่กิน พื้นที่หลับนอน สถานที่พักผ่อนหย่อนใจของกลุ่มคนเหล่านี้
หากให้ผู้เขียนลองจินตนาการคงนึกภาพไม่ออก แต่ใจความสำคัญของเนื้อเรื่องในภาพยนต์นี้ช่วยขยายภาพพื้นที่ความทรงจำที่มีทั้งความสุข ความทุกข์ ที่ดูเหมือนเป็นฉากโรแมนติกซึ่งซ่อนตัวอยู่ในความยากของการใช้ชีวิตแต่ละวันของกลุ่มผู้มีรายได้น้อย ได้ฉายภาพเล่าเรื่องให้เห็นในตัวภาพยนตร์ด้วยปัญหาที่ถูกซ่อนไว้ใต้พรม ทิ้งความทุกข์ยากเหลือไว้เพียงบนคราบน้ำตาของกลุ่มคนเหล่านี้
ความยาว 1 ชั่วโมง 9 นาที ใช้เวลาผลิตและถ่ายทำนานกว่า 4 เดือน โดยกลุ่มเพื่อนคนไร้บ้านรวม 12 คน ที่ได้เรียนรู้การใช้กล้องวิดีโอซึ่งได้รับการสมทบกิจกรรมเป็นครั้งแรก นับเป็นผลงานศิลปะที่พวกเขามีส่วนร่วมทุกขั้นตอน ซึ่ง อาจารย์ถนอม ชาภักดี นักปฏิบัติการทางศิลปะ KHONKAEN MANIFESTO อาจารย์ถนอม ชาภักดี ยังให้มุมมองถึงผลงานหนังสารคดีเรื่องนี้ว่าเป็นการใช้สื่อภาพยนตร์เล่าเรื่องจะช่วยให้คนในสังคมเห็นและเข้าใจคนไร้บ้านเพิ่มมากขึ้น “ผมมองว่าการใช้ปฎิบัติการทางศิลปะไม่ว่าจะเป็นภาพยนต์หรือว่างานศิลปะแขนงอื่นมันเป็นการทำให้เขามี voice มีเสียง เพราะว่าปกติมันก็จะไม่มีเสียงไม่มีใครได้ยิน เขาไม่ได้มีพื้นที่ในการทำให้คนอื่นได้ยิน ฉะนั้นการใช้ภาพยนต์ในการเปิดเผยตัวตนของคนเมืองที่ถูกกดทับด้วยเลเยอร์ของความเป็นเมืองผมคิดว่ามันเป็นอีกทางหนึ่ง มันเป็นอีกสิ่งอีกหนทางหนึ่งที่จะทำให้คนได้เห็นตัวตนของพวกเขา ทำให้เห็นตัวตนว่าความเป็นเมืองมันมีเลเยอร์ กรณีหนังคนไร้บ้านก็เป็นอีกตัวอย่างที่ทำให้เห็น ทำให้ผู้คนได้รับรู้ว่าเสียงของผู้คนในเมืองมันมีอีกเยอะที่เรายังไม่ได้ยิน ไม่เฉพาะคนที่ถูกมองว่าไร้บ้าน แต่คนหาเช้ากินค่ำในเมืองอีกเยอะแยะที่เรายังไม่ได้พูดถึง ดังนั้นการที่ทำให้เขามีเครื่องมือสื่อสารผ่านตัวตนของเขาเป็นอีกทางที่เราได้เห็นว่าจริง ๆ แล้วเขามีชีวิตอยู่ มีตัวตนยังไง”
“ดีใจเพราะว่าไม่เคยจับกล้อง ไม่เคยเห็นกล้อง ภูมิใจดีใจเป็นอะไรที่ตื่นเต้น เป็นสิ่งที่เราไม่ได้ทำมาก่อน เป็นความรู้สึกอีกแบบเราไม่เคยได้ทำแล้วได้มาทำ” ไอคิว กลุ่มเพื่อนคนไร้บ้าน หนึ่งในทีมกำกับที่ถ่ายทำภาพยนตร์คนยาก บอกเล่าความรู้สึกในวันที่หนังของเขาและเพื่อน ๆ จะได้กางจอฉายแม้ท่ามกลางสายฝนในค่ำคืนวันเสาร์ที่ผ่านมา
“ยากอีหลี ยากฮอดมื้อฉาย ฝนตกอีก” ปิ๊ก องอาจ หาญชนะวงษ์ เล่าเรื่องแค่นหัวเราะถึงบรรยากาศในครั้งแรกที่ “ภาพยนตร์คนยากจะอวดโฉมสู่สายตาผู้คนในมุมหนึ่งของมหานครขอนแก่น ซึ่งเขายืนยันว่าจะมีการเปิดฉายอีกแน่นอนต่อจากนี้ เพื่อให้เรื่องราวของกลุ่มเพื่อนคนไร้บ้าน คนยากไร้ และผู้ใช้ชีวิตบนพื้นที่สาธารณะถูกมองเห็นมากขึ้นในสังคมวงกว้าง และหวังให้ผู้คนในสังคมได้รู้จัก เข้าใจ ความแตกต่างหลากหลายเหล่านี้เพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะในเมืองขอนแก่น
ณัฐวุฒิ กรมภักดี เครือข่ายเพื่อนคนไร้บ้านบอกว่า มีการสำรวจข้อมูลจำนวนคนไร้บ้านและผู้ใช้ชีวิตบนพื้นที่สาธารณะในเขตเทศบาลนครขอนแก่น เมื่อเดือนมิถุนายน 2564 พบว่ามีจำนวน 95 ราย ซึ่งหลังเผชิญสถานการณ์โควิด-19 ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ขอนแก่นยังมีแนวโน้มว่าจะมีกลุ่มคนไร้บ้านหน้าใหม่เพิ่มขึ้น ซึ่งแม้จะเป็นเพียงแง่มุมเล็ก ๆ ของผู้คนในเมืองใหญ่ที่กำลังพัฒนาอย่างก้าวกระโดด แต่เรื่องราวในหนังสารคดีภาพยนตร์คนยาก ได้ยืนยันด้วยภาพและเสียงให้เป็นที่ประจักษ์แล้วว่า เธอ เขา และ เรา ต่างมีอยู่จริง และเราต่างมีฉากชีวิตบนความยากไร้ ไม่ต่างกัน