ผวจ.อุบลฯ ลั่น เด็กอุบลฯต้องได้ดื่มนมดี
นายสมศักดิ์ จังตระกุล ผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี และประธานคณะกรรมการอาหารจังหวัดอุบลราชธานีเปิดเผยว่า จังหวัดอุบลราชธานี มีสถานที่ผลิตนมทั้งหมด 3 แห่ง อยู่ในโครงการอาหารเสริม (นม)โรงเรียน จำนวน 2 แห่ง เป็นสถานที่ผลิตนมพาสเจอร์ไรส์ ตั้งอยู่ในเขตอำเภอวารินชำราบทั้ง 2 แห่ง โดยสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กำหนดให้มีการตรวจประเมินสถานที่ผลิต และเก็บตัวอย่างนมโรงเรียนตรวจวิเคราะห์คุณภาพ ปีละ 2 ครั้ง (ภาคเรียนละ 1 ครั้ง) ซึ่งผลการตรวจในปี 2556-2558 พบว่า อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน อย่างไรก็ตาม ยังคงพบปัญหาโดยเมื่อพิจารณาข้อมูลเรื่องร้องเรียน ปี 2556-2558 พบทั้งหมด 5 เรื่อง แบ่งออกเป็นเรื่องนมที่ตกมาตรฐานด้านจุลินทรีย์ ที่มีสถานที่ผลิตในจังหวัดอื่น 2 เรื่อง และเรื่องนมตกมาตรฐานในด้านคุณภาพน้ำนมและเชื้อจุลินทรีย์ ที่มีสถานที่ผลิตในจังหวัดอุบลราชธานี รวม 3 เรื่อง จากข้อมูลดังกล่าว สะท้อนให้เห็นถึงปัญหาที่อาจเกิดขึ้นได้ในทุกวงจรของนมโรงเรียนตลอดห่วงโซ่ ตั้งแต่การเลี้ยงโคนมเพื่อให้ได้น้ำนมดิบที่มีคุณภาพมาตรฐาน การเก็บรวบรวมน้ำนมดิบ การขนส่งน้ำนมดิบ กระบวนการผลิต การบรรจุ กระบวนการขนส่ง และการเก็บรักษา ดังนั้น คณะกรรมการอาหารจังหวัดอุบลราชธานี จึงได้กำหนดจัดประชุมเชิงปฏิบัติการการกำกับดูแลคุณภาพนมโรงเรียนขึ้นเมื่อไม่นานมานี้ โดยมีผู้แทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อหารือ และร่วมวางแผนแก้ไขปัญหาดังกล่าว ซึ่งผลจากการประชุมได้ข้อสรุปที่เป็นมาตรการกำกับดูแลคุณภาพนมโรงเรียนในจังหวัดอุบลราชธานี ที่ทุกหน่วยงานต่างมีส่วนร่วมในการกำกับดูแล และเฝ้าระวังให้เป็นแบบแผนเดียวกันทั้งจังหวัด
นายสมศักดิ์ จังตระกุล กล่าวต่อว่าในปี 2559 จังหวัดอุบลฯพร้อมเดินหน้าตามมาตรการที่กำหนดไว้โดยในส่วนของต้นน้ำ ได้แก่ ฟาร์มเลี้ยงโคนม คุณภาพน้ำนมดิบมีสำนักงานสหกรณ์จังหวัด และสำนักงานปศุสัตว์จังหวัด เป็นผู้ดูแล ส่วนช่วงกลางน้ำ มีสำนักงานสาธารณสุขอำเภอ โรงพยาบาล และสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด ดูแลมาตรฐานสถานที่ผลิต การขนส่งและจุดพักนม ศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ที่ 10 อุบลฯ และมหาวิทยาลัยราชภัฎอุบลฯ ควบคุมดูแลมาตรฐาน ตลอดจนบริการข้อมูลวิชาการด้านการควบคุมคุณภาพนม ส่วนช่วงปลายน้ำมีสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาอุบลราชธานี เขต 1-5 สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา เขต 29 และ อบต. ร่วมตรวจสอบคุณภาพนมก่อนถึงมือเด็กนักเรียน ทั้งนี้ ผู้ปกครอง หรือผู้บริโภค สามารถมีส่วนร่วมในการส่งเสริม และสนับสนุนการกำกับดูแลคุณภาพนมโรงเรียนได้ หากมีข้อสงสัย ต้องการแจ้งเบาะแส หรือร้องเรียนเรื่องคุณภาพนมโรงเรียน สามารถแจ้งได้ที่กลุ่มงานคุ้มครองผู้บริโภคและเภสัชสาธารณสุข สสจ.อุบลฯ โทร.045-262699 หรือหน่วยงานสังกัดกระทรวงสาธารณสุขทุกระดับ เช่น โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล สำนักงานสาธารณสุขอำเภอ และโรงพยาบาล ใกล้บ้าน
//////////////////////////////////// กิตติภณ / ข่าว.