ฟังเสียงประเทศไทย : อนาคตการท่องเที่ยวชายหาดชะอำ (คู่กำแพงกันคลื่น)

ฟังเสียงประเทศไทย : อนาคตการท่องเที่ยวชายหาดชะอำ (คู่กำแพงกันคลื่น)

หากพูดถึงชายหาดชะอำ จ.เพชรบุรี คุณนึกถึงอะไร

หลายคนน่าจะนึกถึง น้ำทะเลใส ๆ หาดทรายสีขาว และเตียงผ้าใบเรียงรายตามแนวชายหาดที่ทอดยาว เอกลักษณ์ที่เป็นที่จดจำของนักท่องเที่ยวที่ได้มาเยือน เนื่องจาก “ชะอำ” เป็นทะเลที่อยู่ไม่ไกลจากกรุงเทพฯ มากนัก ใช้เวลาเดินทางเพียงไม่กี่ชั่วโมงก็ถึงที่หมาย แถมยังมีกิจกรรมให้เลือกทำหลากหลาย ที่นี่จึงเป็นสถานท่องเที่ยวยอดนิยมของทั้งชาวไทยและต่างชาติ โดยเฉพาะในช่วงวันหยุดของครอบครัว 

ว่ากันด้วยเศรษฐกิจของพื้นที่ชายทะเลชะอำซึ่งอยู่ภายให้การดูแลของเทศบาลเมืองชะอำ แม้ประชากรกว่า 40,000 คน ส่วนใหญ่จะประกอบอาชีพเกษตรกรรม ค้าขาย และประมง แต่สภาพเศรษฐกิจของที่นี่กลับขึ้นอยู่กับการท่องเที่ยว มีทั้งกลุ่มอาชีพค้าขายและการให้บริการริมชายหาด ไปจนถึงที่พัก และโรงแรมขนาดใหญ่

การท่องเที่ยวหาดชะอำ สร้างเม็ดเงินให้คนในพื้นที่ แม้ในช่วงเวลาของโควิด 19 โดยพบว่า ช่วงวันหยุดยาว เพียงแค่ 4 วัน เมื่อเดือนตุลาคม ปี 2564 มีเม็ดเงินสะพัด มากกว่า 200 ล้านบาท จากการเข้าพักโรงแรม และรับประทานอาหารของนักท่องเที่ยว

นอกจากนี้ ชะอำยังเป็นพื้นที่นำร่องของการพัฒนาการท่องเที่ยวฝั่งทะเลตะวันตก ภายใต้โครงการ Thailand Riviera และแผนส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ Thailand Wellness Sandbox เพื่อให้ไทยเป็นจุดหมายปลายทางการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพแห่งใหม่ เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มด้านการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ตามแนวทางฟื้นฟูการท่องเที่ยวของไทย ในช่วงสถานการณ์โควิด-19

แต่วันนี้สภาพแวดล้อมของชายหาดชะอำด้านทิศใต้ กำลังเปลี่ยนแปลงไป จากการก่อสร้างโครงสร้างแข็งในรูปแบบ กำแพงคอนกรีตขั้นบันได” ตาม “โครงการฟื้นฟูบูรณะและปรับปรุงภูมิทัศน์ เพื่อป้องกันการกัดเซาะชายฝั่งทะเลพื้นที่ชายหาดชะอำ ต.ชะอำ อ.ชะอำ จ.เพชรบุรี” โดยกรมโยธาธิการและผังเมือง 

จากปัญการกัดเซาะที่ลุกลามเข้ามาจนเกือบถึงถนนเลียบชายหาด แม้ที่ผ่านมา ในพื้นที่เคยใช้วิธีป้องกันการกัดเซาะด้วยแนวกระสอบทราย และแนวหินทิ้ง แต่เวลาผ่านไป พบว่าแนวหินทิ้งเกิดการกระจัดกระจาย ไม่สวยงาม และเป็นอุปสรรค์ในการขึ้นลงชายหาด ในปี 2562 เทศบาลเมืองชะอำ จึงประสานกรมโยธาธิการและผังเมืองเข้ามาแก้ไข

การก่อสร้างกำเเพงกันคลื่นความยาวรวม 3 กิโลเมตร แบ่งเป็น 3 ระยะ โดยระยะที่ 1 ความยาว 1,448 เมตร ใช้งบประมาณการก่อสร้าง 102.974  ล้านบาท ระยะที่ 2 ความยาว 1,219 เมตร ใช้งบประมาณการก่อสร้าง 74.963 ล้านบาท และระยะที่ 3 ความยาว 314 เมตร ใช้งบประมาณการก่อสร้าง 48.50 ล้านบาท

หลังจากที่โครงการฯ ระยะแรก 1,448 เมตร ก่อสร้างแล้วเสร็จ สิ่งที่ปรากฎในพื้นที่คือผลกระทบของผู้ประกอบการริมชายหาด เนื่องจากหาดทรายบางส่วนหายไป อีกทั้งมีสาหร่าย ตะไคร่ขึ้นตามขั้นบันได ขณะที่เสาตอม่อในส่วนของโครงการระยะต่อไปก็มีเหล็กเส้นโพล่ออกมา กลายเป็นภาพที่อันตรายสำหรับนักท่องเที่ยว นอกจากนี้ยังมีข้อกังวลของคนในชุมชนถึงระบบนิเวศในพื้นที่ใกล้เคียงที่เปลี่ยนไปด้วย

ทั้งนี้ มีข้อสังเกตุว่า การก่อสร้างกำแพงกันคลื่นของไทยเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยยะสำคัญ หลังจากมีการประกาศเพิกถอนออกจากโครงการที่ต้องจัดทำรายงานการวิเคาะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) เมื่อปี 2556 เพื่อให้หน่วยงานรัฐสามารถแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งได้อย่างทันท่วงที

กลุ่ม Beach Lover ได้รวบรวมข้อมูลจำนวนกำแพงกันคลื่นใน 23 จังหวัดของประเทศไทยที่มีชายฝั่งทะเล เมื่อเดือนธันวาคม ปี 2562 พบว่ามีทั้งหมด 179 ตำแหน่ง คิดเป็นระยะทางตามแนวชายฝั่ง รวม 164.67 กิโลเมตร 

บทเรียนผลกระทบกำแพงกันคลื่น ชายหาดปากน้ำปราณบุรี 

ไม่ใช่แค่ชะอำที่เจอวิกฤติการกัดเซาะชายฝั่งแล้วแก้ปัญหาด้วย “กำแพงกันคลื่น” ในพื้นที่ใกล้เคียงกัน ชายหาดปากน้ำปราณบุรี จ.ประจวบคีรีขันธ์ มีการก่อสร้างเขื่อนขั้นบันไดก่อนหน้าชายหาดชะอำประมาณ 3 ปี ตามโครงการมีทั้งถนนเลียบหาด บันไดคอนกรีต จุดชมวิว และพื้นที่กิจกรรมหลากหลายรูปแบบที่น่าจะตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์การท่องเที่ยวของคนรุ่นใหม่ แต่ก็หนีไม่พ้นปัญหา คือขั้นบันไดที่ตอนนี้เต็มไปด้วยตะไคร่สีเขียว หอย เพรียง ทำให้อันตรายต่อการลงเล่นน้ำ และเสียสมดุลของระบบนิเวศ

มีมุมมองจากนักวิชาการว่า “กำแพงกันคลื่น” ยังมีจุดอ่อนในเรื่องของจุดสิ้นสุด หรือ End Effect โดยการก่อสร้างโครงสร้างแข็งจะทำให้คลื่นที่มาปะทะกับกำแพงมีความรุนแรงมากขึ้น โดยเฉพาะจุดที่อยู่ด้านซ้ายและขวาของกำแพง ที่จะได้รับผลกระทบจากความรุนแรงของกระแสคลื่นที่หักเห มาปะทะ ส่วนนี้จึงถูกตั้งคำถามว่า การก่อสร้างดังกล่าวอาจไม่ตอบโจทย์ รวมถึงอาจจะทำให้ต้องก่อสร้างไปอย่างไม่รู้จบ

ที่สำคัญยังมองว่าแนวทางการแก้ปัญหาการกัดเซาะชายฝั่ง ยังมีวิธีการแก้ไขแบบชั่วคราวอื่น ๆ เช่น การเติมทราย วางถุงทราย และการใช้ไม้ไผ่ปักชะลอคลื่น

การแก้ไขปัญหาการกัดเซาะในพื้นที่อื่น

หาดจอมเทียน จ.ชลบุรี อีกหนึ่งสถานที่ท่องเที่ยวยอดนิยมในเมืองพัทยา ที่ประสบปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งรุนแรงและต่อเนื่อง ส่งผลให้พื้นที่ชายหาดถดถอยและลดขนาดลงไปทุกปี องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่ภาคพิเศษเพื่อการท่องเที่ยวที่ยั่งยืน (องค์การมหาชน) หรือ อพท. จึงประสานกรมเจ้าท่าดำเนินการแก้ไขปัญหาโดยการเสริมทรายชายหาด เพื่อป้องกันการกัดเซาะชายหาด โครงการฯ แบ่งเป็น 2 ระยะ โดยระยะที่ 1 มีความยาว 3,575 เมตร และระยะที่ 2 มีความยาว 2,855 เมตร

เช่นเดียวกันกับที่หาดบางแสน จ.ชลบุรี และหาดชลาทัศน์ จ.สงขลา ที่ประสบปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งเช่นเดียวกัน แต่เลือกที่จะไม่สร้างกำแพงกันคลื่นคอนกรีต แต่เลือกแก้ไขปัญหาด้วยการเติมทรายทดแทน

วันนี้ คำถามสำหรับคนชะอำ คือชายหาดชะอำที่เปลี่ยนไปจะส่งผลต่อวิถีชีวิตของผู้คน สมดุลธรรมชาติในพื้นที่ รวมถึงอนาคตการท่องเที่ยวชายหาดชะอำอย่างไรหลังจากนี้ แล้วคนชะอำอยากร่วมกันฝันถึงอนาคตและกำหนดความเปลี่ยนแปลงของพื้นที่เมืองชายหาดไปในทิศทางไหน

รายการฟังเสียงประเทศไทยจึงอยากชวนทุกท่านมาแลกเปลี่ยนมุมมอง ที่เป็นทางเลือกให้กับเรื่องนี้ร่วมกัน ใน 3 ฉากทัศน์ อนาคตการท่องเที่ยวหาดชะอำ ซึ่งต้องบอกว่า 3 ทางเลือกนี้ไม่ใช่บทสรุป แต่เป็นเพียงแนวทางที่อยากชวนมาร่วมกันคิดใคร่ครวญด้วยเหตุและผล

3 ฉากทัศน์ ภาพอนาคตการท่องเที่ยวหาดชะอำ

ฉากทัศน์ 1 ศูนย์รวมกิจกรรม – พื้นที่สร้างสรรค์รวมคนหลากหลายวัย –  ยังเดินหน้าโครงการก่อสร้างกำแพงกั้นคลื่นตามแผนงบประมาณ ฯ แต่ก่อนลงมือดำเนินการในเฟสต่อไป ต้องดึงภาคส่วนต่าง ๆ อาทิ ภาคประชาชน ภาคเอกชน ภาควิชาการ และชุมชนท้องถิ่นเข้ามามีส่วนร่วม เพื่อประเมินผลดี ผลเสีย ความเสี่ยงและโอกาสในมิติต่างๆ ทั้งด้านเศรษฐกิจ การท่องเที่ยว สิ่งแวดล้อม สังคม และชุมชน ก่อนกำหนดเป็นมาตรการและรูปแบบของวิธีการจัดการพื้นที่ที่เหมาะสม ทั้งนี้ รัฐต้องมีการจัดสรรงบประมาณและทรัพยากรเพื่อเตรียมแก้ปัญหาหรือเยียวยาผลกระทบที่อาจเกิดขึ้น

ฉากทัศน์ที่ 2 ต้อนรับคนหลายระดับ – จัดสรรแบ่งปันผลประโยชน์ร่วมกันในพื้นที่ –  คงโครงสร้างแข็งเดิมที่สร้างเสร็จแล้วในระยะที่ 1-2 ไว้ โดยมีเงื่อนไขว่า ไม่มีการสร้างเพิ่ม และสร้างการมีส่วนร่วมเพื่อปรับปรุงภูมิสถาปัตย์เพื่อให้สอดคล้องกลมกลืนกับสภาพแวดล้อมและสะท้อนความต้องการใช้ประโยชน์ของท้องถิ่นและสาธารณะ ตลอดจนหามาตรการเยียวยาและแก้ปัญหาตามผลกระทบที่เกิดขึ้น ส่วนระยะต่อไป ซึ่งยังไม่ได้ดำเนินการให้มีการศึกษาวิจัย ฯ โดยชุมชนท้องถิ่นร่วมกับภาควิชาการ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และภาคเอกชนเพื่อพัฒนาความรู้ด้านกัดเซาะ นำมาจัดโซนนิ่งชายหาดและจัดการพื้นที่ตามความเหมาะสม

ฉากทัศน์ที่ 3 นิเวศยั่งยืนคู่วิถีชุมชน – ท่องเที่ยวเรียนรู้ธรรมชาติเอกลักษณ์ท้องถิ่น – ฟื้นฟูหาดชะอำแบบในอดีต นำหาดทรายกลับมาให้เหมือนเดิมมากที่สุด ยุติการดำเนินโครงการทั้งหมด และทำการศึกษาวิจัยมาตรการการจัดการที่เหมาะสม อาทิ การเติมทรายตลอดแนวชายหาดเพื่อสร้างสมดุลใหม่ การรื้อโครงการเดิมบางส่วนซึ่งไม่สวยงาม ต้องมีการวางแผนให้ครอบคลุมถึงผลกระทบต่อเนื่องและอาจต้องใช้งบประมาณค่อนข้างสูง  หลังจากนั้นให้มีออกแบบ(โซนนิ่ง) พื้นที่โดยจัดสรรและปรับปรุงให้ตรงตามลักษณะการใช้ประโยชน์ รวมถึงปรับสภาพภูมิทัศน์และฟื้นฟูพืชชายหาดเพื่อรักษาสภาพแวดล้อมให้ยั่งยืน

4 มุมมองจาก หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง นักขับเคลื่อน และนักวิชาการต่ออนาคตการท่องเที่ยวหาดชะอำ

ก่อนที่ทุกคนจะไปเลือกฉากทัศน์ ภาพอนาคตการท่องเที่ยวหาดชะอำที่อยากให้เกิดขึ้นจริง เรามีมุมมอง ความคิดเห็นจากแขกรับเชิญ 4 ท่าน ที่มาแลกเปลี่ยนข้อมูลภาพอนาคตการท่องเที่ยวหาดชะอำ ในรายการฟังเสียงประเทศไทยมาฝากทุกคน

ทนาดา วิจักขณะ รองผู้อำนวยการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สำนักงานเพชรบุรี

“ต้องบอกว่า เพชรบุรีมีความโชคดีหลายอย่าง เช่น การได้เป็นเมืองที่สร้างสรรค์ด้านอาหาร (City of Gastronomy) ของยูเนสโก เรามีอาหารทะเลที่สด สะอาด ราคาไม่แพง และก็มีอาหารท้องถิ่น ท่องเที่ยวชุมชนเข้ามา และยังมีแก่งกระจานที่ถูกขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก โดยยูเนสโก”

“ถึงแม้จะมีการกัดเซาะ อยากจะสร้างการรับรู้ว่า มันเป็นการทำ เพื่อจะป้องกันในเรื่องของความปลอดภัย แต่อีกด้านเราก็อยากให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งประชาสัมพันธ์ว่า พื้นที่ตรงไหนกำลังแก้ไขเรื่องการกัดเซาะ และก็พื้นที่ตรงไหนที่ยังไม่ได้ทำ ที่สามารถเป็นแหล่งท่องเที่ยวได้ ทาง ททท. เราสามารถแบ่งโซนการทำงาน เรื่องการประชาสัมพันธ์การท่องเที่ยวได้”

“จะเห็นว่า ปัจจุบัน เราพยายามประชาสัมพันธ์ด้วยการทำให้คนบอกต่อต่อ ผู้ประกอบการทุกคนเป็นเครือข่ายกัน นักท่องเที่ยวมาแล้วประทับใจ ก็โพสต์ขึ้นโซเชียลมีเดียไป เป็นการบอกกันปากต่อปากให้นักท่องเที่ยวเข้ามา”

คุณรชกร วชิรวิโรดม หัวหน้าสาขาวิชาการจัดการชุมชน มหาวิทยาลัยศิลปากร วิทยาเขตสารสนเทศเพชรบุรี

“อนาคตของชะอำ มีโอกาสเปิดพื้นที่การเรียนรู้ การสร้างสรรค์กิจกรรมการท่องเที่ยวต่าง ๆ ที่สร้างประสบการณ์ให้ตัวนักท่องเที่ยว แบบที่อื่นไม่มี แต่สิ่งหนึ่งก็ต้องตั้งคำถามกับคนในพื้นที่เองว่าเรามีความพร้อมแค่ไหน ศักยภาพเรามีมากแค่ไหน เราพร้อมรับมือกับโอกาสที่เกิดขึ้นมาตรงนี้มากน้อยแค่ไหน เราจะมาช่วยกันเพิ่มทักษะให้กับผู้ประกอบการ คนในชุมชนให้เขารับมือกับการท่องเที่ยวที่จะเข้ามาได้อย่างไร”

“อนาคตชะอำสำหรับผม ผมมองเรื่องของคุณค่ามากกว่ามูลค่า เพราะถ้าเราไปหนุนเสริมมิติเชิงคุณค่าได้มากเท่าไหร่ เดี๋ยวมูลค่ามันจะมาเอง”

“ความเข้าอกเข้าใจ รู้ปัญหา ทุกที่มันมีข้อจำกัด แต่พยายามหาโอกาสจากข้อจำกัดเหล่านั้นมาสร้างประโยชน์ สร้างคุณค่าทางด้านเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม แต่ถ้าถามทางออก ตอนนี้ผมยังไม่มีสูตรสำเร็จที่จะเป็นทางออกให้ชาวบ้าน ว่าต้องทำแบบไหน ทุกคนต้องมาช่วยกัน ผมมีความรู้ในส่วนที่ผมช่วยได้ ผมก็ยินดีที่จะมาแชร์ เทศบาลเอื้ออันไหนได้ก็ลงมาช่วยกัน การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยทำอะไรได้ก็มาช่วยกัน อีกหน่อยชะอำใต้อาจจะมีแคมเปญเป็นของตัวเองก็ได้”

ศรีเพชร อินพันทัง รักษาราชการแทนปลัดเทศบาลเมืองชะอำ

“อนาคตเมืองชะอำของเราที่จะต้องรับนักท่องเที่ยวจากทั่วประเทศ และต่างชาติ ดังนั้นการพัฒนาการท่องเที่ยว ทางเทศบาลซึ่งเป็นองค์การปกครองส่วนท้องถิ่น เราคงจะเดินคนเดียวไม่ได้ ต้องอาศัยทุกคนในพื้นที่มาช่วยกันบริการร่วม มีการพูดคุย ทำแผนโดยคณะกรรมการชุมชนในพื้นที่ ตอนนี้เราก็มีแผนอยู่แล้ว ด้วยการให้ทุกคนร่วมกันคิดเสนอเข้าแผนพัฒนาเมืองชะอำของเรา ซึ่งเป็นแผน 4 ปีที่เรามีอยู่แล้ว”

อภิศักดิ์ ทัศนี กลุ่ม Beach For Life 

“เรื่องการรักษาพื้นที่ชายฝั่งธรรมชาติ เป็นเทรนด์ที่กำลังจะเกิดขึ้นในอนาคต ดังนั้นใครที่เก็บรักษาพื้นที่ธรรมชาติได้มาก เมืองนั้นก็จะมีโอกาสด้านการท่องเที่ยวสูงขึ้น แม้ชะอำจะมีการก่อสร้างระยะที่ 1-3 เกิดขึ้นแล้ว ก็ไม่ได้ปิดประตูตาย บอกว่าชะอำจะต้องอยู่แบบนี้ต่อไป คนชะอำยังมีโอกาสพัฒนาด้วยทางเลือกใหม่ ๆ อยู่เสมอ เรามีบทเรียน มีข้อผิดพลาดจากการก่อสร้างกำแพงกันคลื่นแบบขั้นบันได เพราะมันทำให้การท่องเที่ยวเราเสียไป มันทำให้เกิดอุบัติเหตุ ทำให้สภาพสังคมเราแย่ลง แต่ถ้ามีทางเลือกใหม่ เราไปได้”

“ในมุมการท่องเที่ยว ผมยังยืนยันว่า ต่อให้นักท่องเที่ยวปรับวิธีการท่องเที่ยวอยู่กับกำแพงได้จริง แต่คุณค่าเชิงเศรษฐกิจที่ได้รับมันต่างกัน ยกตัวอย่าง นักท่องเที่ยวที่เขายอมจ่ายโรงแรมแพง ๆ เวลาไปเที่ยวทะเลที่ภูเก็ต เพื่อให้ได้โรงแรมติดทะเล ติดชายหาด ดังนั้นการรักษาพื้นที่ธรรมชาติไว้ ยังไงก็เป็นจุดที่ได้เปรียบ”

ทั้งหมดนี้ไม่ใช่บทสรุป แต่เป็นเพียงแนวทางที่อยากชวนทุกคนมาแลกเปลี่ยนข้อมูล ความคิดเห็นร่วมกัน บนพื้นฐานของการรับฟังชุดข้อมูลที่หลากหลายและรอบด้าน 

และอนาคตของชายหาดชะอำ ไม่ใช่แค่เรื่องของคนในพื้นที่ชะอำเท่านั้น เพราะทรัพยากรทางธรรมชาติของชะอำนั้นเป็นสมบัติของคนทั้งแผ่นดิน เราทุกคนสามารถร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการตัดสินใจเลือกภาพอนาคตการท่องเที่ยวหาดชะอำที่อยากจะให้เกิดขึ้น ผ่านแบบสอบถามด้านล่างนี้

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ